อุทยาน แห่งชาติน้ำตกพลิ้ว มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมือง อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอขลุง และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย และมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ คือ น้ำตกพลิ้วที่สวยงาม มีน้ำตกตลอดปี เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดจันทบุรีประมาณ 14 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดสายทำให้สะดวกสบายในการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 134.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,062.50 ไร่ ความเป็นมา : ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าเขาสระบาป จังหวัดจันทบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในขั้นแรกกรมป่าไม้ได้กำหนดพื้นที่ที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว-เขาสระบาป ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2505 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2504 และในปี พ.ศ. 2515 ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงบริเวณน้ำตกพลิ้ว จัดตั้งเป็นวนอุทยานน้ำตกพลิ้ว อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานป่าไม้จังหวัดจันทบุรี ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2517 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2517 ได้มีมติให้รีบดำเนินการประกาศพื้นที่ป่าที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 เป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร็ว และจังหวัดจันทบุรีได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ จบ.09/1401 ลงวันที่ 31 มกราคม 2517 ขอให้กรมป่าไม้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำวนอุทยานน้ำตกพลิ้ว เพื่อปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักการจัดการวนอุทยาน ประกอบกับในปี 2517 กองอุทยานแห่งชาติมีแผนงานจัดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นในเดือนมีนาคม 2517 กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 360/2517 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2517 ให้นายสินไชย บูรณะเรข นักวิชาการป่าไม้ตรี และนายประชุม ตัณยะบุตร พนักงานโครงการชั้น 2 ไปทำการสำรวจหาข้อมูลบริเวณป่าน้ำตกพลิ้ว เขาสระบาป ในท้องที่จังหวัดจันทบุรี ปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นน้ำลำธาร เช่น น้ำตก หน้าผา ถ้ำ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0708(อส)/7 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2517 กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในคราวประชุมครั้งที่ 6/2517 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2517 เห็นชอบให้กำหนดที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว-เขาสระบาป ในท้องที่ตำบลพลับพลา ตำบลคลองนารายณ์ ตำบลคมบาง อำเภอเมืองจันทบุรี ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม และตำบลมาบไพ ตำบลวังสรรพรส ตำบลตรอกนอง ตำบลซึ้ง ตำบลตะปอน ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 87 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2518 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 11 ของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า " อุทยานแห่งชาติเขาสระบาป " ต่อมานายผจญ ธนมิตรามณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสระบาป ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0708 (สบ)/พิเศษ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2525 ขอเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติเขาสระบาปเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เนื่องจากน้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติเป็นจุดเด่นของ อุทยานแห่งชาติ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและประชาชนโดยทั่วไปเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2525 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2525 เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเป็น " อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว "
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพ ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มียอดเขาสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 20-924 เมตร ค่อยๆ ลาดลงทางทิศใต้ มีที่ราบแคบๆ ทั่วไปบริเวณไหล่เขา พื้นที่มีความลาดชันสูง จุดสูงสุดของพื้นที่อยู่ที่ยอดเขามาบหว้ากรอก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 924 เมตร ลักษณะทางธรณีวิทยาส่วนใหญ่เป็นหินอัคนีประเภทหินแกรนิต ในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนที่ ประกอบไปด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยตาโบ คลองโป่งแรด คลองนารายณ์ คลองสระบาป คลองคมบาง คลองนาป่า คลองพลิ้ว คลองน้ำแห้ง คลองหนองเสม็ด คลองตะปอนน้อย คลองตะปอนใหญ่ คลองขลุง คลองเคล คลองตรอกนอง และคลองมะกอก กระจายอยู่รอบพื้นที่
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพ อากาศระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน อากาศจะค่อนข้างร้อน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุกปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 3,000 มม./ปี และระหว่างเดือนพฤศจิกายน- กุมภาพันธ์ อากาศจะเย็นสบายที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 26 องศาเซลเซียส
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพ ป่าทั่วไปเป็นป่าดงดิบชื้นที่สมบูรณ์ จัดอยู่ในเขตพฤกษศาสตร์อินโดไชน่าเนื่องจากอิทธิพลของทะเล มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ พุงทะลาย เคี่ยมคะนอง กระบกกรัง พนอง ตะเคียนหิน ยางแดง กฤษณา ตาเสือ พะวา ชะมวง จิกดง ปออีเก้ง และขนุนป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างขึ้นปกคลุมพื้นป่าอีกหลายชนิด เช่น หัสคุณ ฆ้อนตีหมา แก้มขาว หวายลิง กะพ้อ ระกำ เต่าร้าง ไผ่ซี้ เร่วป่า ปุดใหญ่ และกระทือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชอิงอาศัยหลายชนิดเกาะอยู่ตามลำต้นและกิ่งก้าน ได้แก่ ชายผ้าสีดา กระแตไต่ไม้ ข้าหลวงหลังลาย เกล็ดนาคราช และกล้วยไม้นานาชนิด เช่น กะเรกะร่อน เหลืองจันทบูร และเอื้องมัจฉา ไม้เถาเลื้อยที่พบ ได้แก่ พญาปล้องทอง เถาคัน พญาเท้าเอว แสลงพันเถา หวายกำพวน หวายขริง และหวายเล็ก ฯลฯ เนื่องจากสภาพป่าของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วมีลักษณะเป็นผืนป่าธรรมชาติโดด เดี่ยวคล้ายป่าเกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนที่อยู่อาศัย ไม่มีผืนป่าธรรมชาติแห่งอื่นที่ต่อเนื่องหรือใกล้เคียง ประกอบกับพื้นที่มีขนาดไม่มากนัก ความหลากหลายของสัตว์ป่าในพื้นที่จึงมีน้อย ที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ เลียงผา หมูป่า อีเห็นข้างลาย ลิงกัง ชะนีมงกุฎ ลิ่นชวา อีเห็นข้างลาย กระแตเหนือ กระรอกแดง ค้างคาวเล็บกุด ค้างคาวปีกถุงต่อมคาง หนูฟานเหลือง เป็ดแดง ไก่ป่า นกหกเล็กปากแดง นกกระปูดใหญ่ นกเด้าลมหลังเทา นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล นกขมิ้นน้อยสวน นกเขียวคราม นกปรอดทอง นกแซงแซวหางปลา นกกินแมลงอกเหลือง นกกระจิบสวน นกกางเขนดง นกกินปลีคอแดง นกสีชมพูสวน ตุ๊กแกป่าตะวันออก จิ้งจกหางแบน กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลนหลากหลาย ตะกวด งูลายสาบเขียวขวั้นดำ งูเขียวหัวจิ้งจกป่า คางคกบ้าน กบอ่อง เขียดตะปาด และอึ่งอ่างบ้านฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสร้อยขาว ปลากดหิน ปลาค้อ ปลาจิ้งจก ปลาพลวงหิน ปลากระทิง ปลาสร้อยลูกกล้วย เป็นต้น
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
สถูปพระนางเรือล่ม อยู่ ในบริเวณน้ำตกพลิ้ว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2424) เพื่อเป็นที่ระลึกแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี ภายในสภูปพระนางเรือล่มบรรจุพระอังคารของพระนางเจ้าฯด้วย เนื่องจากพระองค์ท่านเคยเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วเมื่อ พ.ศ. 2417 และทรงโสมนัส ชื่นชม ความงามธรรมชาติของน้ำตกพลิ้วยิ่งนัก การที่ทรงโปรดให้สร้างอนุเสาวรีย์รูปปิรามิดก็ด้วยทรงพระราชดำริว่า " ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนภาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพรอันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้นเมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็คงจะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว "
อลงกรณ์เจดีย์ พระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีอัครมเหสี ได้ทรงโปรดปรานให้สร้างเจดีย์ทำด้วยศิลาแลงขึ้นที่บริเวณหน้าผาด้านหน้า น้ำตกพลิ้วเมื่อ พ.ศ. 2419 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วด้วยกัน และพระราชทานนามว่า " อลงกรณ์เจดีย์ " พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดน้ำตกพลิ้วเป็นอย่างยิ่งและ ได้เสด็จประพาสหลายคราว ทรงโปรดมากถึงกับมีพระราชดำรัสว่า " เราได้เห็นน้ำตกอย่างนี้มาสองสามแห่ง คือที่ปีนัง เกาะช้าง และสีพยา เห็นไม่มีที่ไหนจะงามกว่าที่นี่เลย ถ้าจะให้เรานั่งดูอยู่ยังค่ำก็แทบจะได้ด้วยเย็นสบายจริง "
จุดชมทิวทัศน์ จุด ชมทิวทัศน์อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เป็นจุดที่สามารถมองเห็นสภาพป่าที่สมบูรณ์ในเขตอุทยานแห่งชาติ เห็นสวนผลไม้ สวนยาง และเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน และเห็นทะเลในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส
น้ำตกคลองนารายณ์ อยู่ ที่ตำบลคลองนารายณ์ ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร น้ำตกอยู่ห่างจากถนนใหญ่สายจันทบุรี-ตราด ประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พล.3 (คลองนารายณ์) จากนั้นเดินเท้าไปอีก 2.5 กิโลเมตร ผ่านป่าดิบชื้นก็จะถึงน้ำตกคลองนารายณ์ ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดกลางไหลลดหลั่นจากผาชันสูง 25 เมตร น้ำใสสะอาดและมีน้ำมากตลอดปี เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการเดินป่าชมความงามของพฤกษาชาติและน้ำตก อ่างศาล อยู่เลยจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติมาประมาณ 300 เมตร บริเวณข้างลำธารจะพบศาลตั้งอยู่ ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของปรำที่ประทับและจุลสีห์จุมพต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างไว้กลางลำธารเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ปัจจุบันเหลือเพียงร่อยรอยบริเวณที่เคยเป็นพระเจดีย์ เพราะได้ถูกระแสน้ำพัดพังไปเมื่อปี 2517 อ่างสรงหรืออ่างหงส์ อยู่เลยจากอ่างศาลประมาณ 200 เมตร มีลักษณะเป็นน้ำตกเล็กๆ ไหลลงมาจากหน้าผาหินเป็นทางคล้ายหางหงส์ ในอดีตบริเวณแอ่งน้ำกว้าง ในหลวงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทั้งสองพระองค์ทรงลงสรงน้ำ ณ อ่างสรงแห่งนี้ ถ้ำพระนารายณ์ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นถ้ำที่มีลำธารน้ำใสบริสุทธิ์ไหลออกมา แหล่งน้ำแห่งนี้ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 18 แห่งของประเทศที่ใช้ในพิธีมูรธาภิเษกในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ปัจจุบันหินได้ถล่มลงมาปิดปากถ้ำแต่ยังคงมีน้ำไหลออกมาอยู่ตลอดปี อุทยานแห่งชาติได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร ผ่านจุดศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจ เช่น ถ้ำนารายณ์ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ มาสิ้นสุดที่อ่างศิลา นอกจากนี้ยังมีน้ำตกที่สวยงามซึ่งอยู่สูงขึ้นไปจากน้ำตกคลองนารายณ์อีก 2 แห่ง คือ น้ำตกกลาง และน้ำตกอัศจรรย์
น้ำตกตรอกนอง อยู่ ที่ตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง การเดินทางใช้เส้นทางแยกเข้าน้ำตกพลิ้วไปทางจังหวัดตราด ถึงสี่แยกเข้าอำเภอขลุงแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสาย ขลุง-มะขามอีก 10 กิโลเมตร ถึงตลาดตรอกนอง เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางเข้าสู่น้ำตกตรอกนองอีก 2 กิโลเมตร ถึงบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พล.1 .(ตรอกนอง) ต่อจากนั้นเดินเท้าขึ้นไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกชั้นล่างสุดซึ่งเรียกว่า น้ำตกไม้ซี้ ถัดไปเป็นน้ำตกกลางและชั้นบนสุดเรียกว่า น้ำตกตรอกนอง มีความสวยงามตามธรรมชาติมาก มีน้ำไหลตลอดปี ในระหว่างการเดินทางขึ้นน้ำตกจะเพลิดเพลินกับความสวยงามของลำธารและสภาพป่า ที่ร่มรื่นและเขียวขจีตามธรรมชาติมาก และในบริเวณนี้มีสัตว์ป่าชุกชุม โดยสังเกตเห็นรอยเท้าของสัตว์ป่าที่ลงมากินน้ำตามลำธาร เช่น หมี หมูป่า ชะมด หมูหริ่ง พังพอน และเก้ง ฯลฯ พร้อมทั้งสัตว์จำพวกนกก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน และในบริเวณนี้ก็ยังมีถ้ำพระเจดีย์อยู่บนไหล่เขาพระเจดีย์ลักษณะเป็นก้อนหิน ใหญ่คล้ายเจดีย์ ตั้งอยู่บนไหล่เขาชาวเขาเรียกว่า " เขาพระเจดีย์ " เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น หมี เลียงผา และค้างคาว ฯลฯ อุทยานแห่งชาติได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าดงดิบชื้น ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร
น้ำตกพลิ้ว น้ำตก พลิ้วเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม มีน้ำตลอดปี ประกอบด้วยสายธาร 2 สาย สายหนึ่งไหลลดหลั่นผ่านซอกหินผา อีกสายหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ทิ้งตัวลงมาจากผาสูง 20 เมตร ทั้งสองสายไหลมารวมกันในแอ่งน้ำใสสะอาด มากสามารถมองเห็นพื้นล่างซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินและทรายในระดับลึกกว่า 2 เมตร ภายในบริเวณน้ำตกและลำคลองมีปลาใหญ่น้อยหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่ตื่นตาตรึงใจกับฝูงปลาแก่ผู้ที่ไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะปลาพลวงหินเหล่านี้ น้ำตกพลิ้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดอื่นๆ รู้จักกันดี และไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจมากที่สุด รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้หลายครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2417-2424 และทรงยกย่องว่าเป็นน้ำตกที่งดงามที่สุดในบรรดาน้ำตกที่พระองค์เคยเสด็จ ประพาส อุทยานแห่งชาติได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นอยู่ตรงข้ามที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สิ้นสุดอยู่บริเวณด้านหน้าอลงกรณ์เจดีย์ ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง
น้ำตกมะกอก อยู่ เลยทางเข้าน้ำตกตรอกนองไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตรตามถนนสาย ขลุง-มะขาม จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พล.4 .(น้ำตกมะกอก) เดินเลียบลำธารไปอีกราว 600 เมตร น้ำตกมะกอกเป็นน้ำตกขนาดเล็กมี 2 ชั้น สายน้ำไหลจากผาสูงชัน น้ำใสเป็นสีเขียวอมฟ้า มีน้ำตลอดปี มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 2.1 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นบริเวณด้านหลังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ
อ่างเก็บน้ำห้วยตาโบ อยู่ ทางตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติบริเวณตำบลมะขาม อำเภอมะขาม การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกมะกอก โดยเลยทางแยกเข้าน้ำตกประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยตาโบประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พล.2 (บ้านอ่าง) ในบริเวณอ่างเก็บน้ำนี้มีนกเป็ดแดงจำนวนมากมาอาศัยอยู่ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 2.4 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นบริเวณสันอ่างเก็บน้ำ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกพลิ้ว อุทยาน แห่งชาติจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกพลิ้ว เป็นที่ศึกษาธรรมชาติ สภาพป่า พรรณพืชต่างๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
ห้องน้ำ-ห้องสุขารวม มีห้องน้ำ-ห้องสุขารวมให้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ใกล้จุดชมทิวทัศน์ การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ พล.3 (น้ำตกคลองนารายณ์) การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ พล.4 (น้ำตกมะกอก) การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ พล.1 (น้ำตกตรอกนอง) การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ค่ายเยาวชน บริเวณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีค่ายพักเยาวชนให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา หรือนักท่องเที่ยวทั่วไป ลักษณะค่ายพักมีห้องโถงกลาง แยกเป็นห้องพักชาย 15 คน ห้องพักหญิง 15 คน มีห้องน้ำ - ห้องสุขารวม แยกชาย - หญิง อยู่ภายนอกอาคาร
ค่ายเยาวชน บริเวณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ พล.1 น้ำตกตรอกนอง (โซนที่ 2) ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 23 กิโลเมตร มีค่ายเยาวชนให้บริการ จำนวน 2 หลัง ภายในอาคารค่ายเยาวชนแต่ละหลัง ประกอบไปด้วย 2 ห้องนอน ห้องนอนที่ 1 พักได้ 2 คน เหมาะสำหรับครู อาจารย์ หรือผู้ที่ไดรับมอบหมายให้ดูแลนักเรียน นักศึกษา ห้องพักห้องที่ 2 เป็นห้องนอนรวมพักได้ 28 คน เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษา มีห้องเก็บของ 1 ห้อง ห้องโถง 1 ห้อง สำหรับห้องน้ำ-ห้องสุขา มี 8 ห้อง
ที่จอดรถ เนื่อง จากในพื้นที่โซนบริการ เป็นพื้นที่ลาดชัน ทำให้มีที่จอดรถให้บริการได้เฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการบ้านพักและพัก กางเต็นท์เท่านั้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ ทางอุทยานแห่งชาติขอความร่วมมือให้จอดรถภายนอกนอกเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นลานจอดรถของเทศบาลและของเอกชนโดยต้องเสียค่าบริการรับฝากรถ และหากนักท่องเที่ยวขับรถเลยขึ้นมาจอดรถบริเวณร้านค้าของเอกชน ทางร้านค้าจะให้ท่านจอดรถได้ฟรี แต่ท่านจะต้องซื้อของจากร้านนั้นๆ ภาพที่ 1-2 : แสดงพื้นที่จอดรถซึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็ก ใช้เป็นที่จอดรถของเจ้าหน้าที่ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักค้างคืน ภาพที่ 3-9 : แสดงพื้นที่จอดรถของเทศบาลและของเอกชน ซึ่งอยู่ภายนอกเขตอุทยานแห่งชาติ จากนั้นต้องเดินผ่านร้านค้าของเอกชนเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว
ร้านขายเครื่องดื่ม มีร้านขายเครื่องดื่ม กาแฟ ไว้บริการนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
เต็นท์ มี เต็นท์และเครื่องนอนเต็นท์ให้บริการ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ พล.1 (น้ำตกตรอกนอง) สนใจใช้บริการเต็นท์ขอให้ติดต่อโดยตรงกับอุทยานแห่งชาติ