อุทยาน แห่งชาติไทรทอง อยู่ในท้องที่อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเทพสถิต อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 199,375 ไร่ หรือ 319 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงามและอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เป็นผืนป่าบนเทือกเขาพังเหย ในช่วงต้นฤดูฝนนอกจากผืนป่าจะเขียวชอุ่มชุ่มชื้นไปด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่แล้ว ที่นี่ยังงดงามโดดเด่นด้วยดอกกระเจียวที่ผลิบานอยู่เต็มท้องทุ่ง เรียกชื่อว่า ทุ่งบัวสวรรค์ มีน้ำตกไทรทองที่สวยงาม และมีหน้าผาให้ทุกคนท้าพิสูจน์ของความหวาดเสียว ความเป็นมา : เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าเทือกเขาพังเหย และป่านายางกลัก ในท้องที่ตำบลท่าใหญ่ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ตำบลบ้านเจียง ตำบลเจาทอง ตำบลวังทอง กิ่งอำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง ตำบลห้วยแย้ ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว และตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า และภูเขาที่สวยงามยิ่ง เช่น น้ำตกไทรทอง ทุ่งบัวสวรรค์ ฯลฯ สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ นร 0602/723 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2535 ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่า ดังกล่าวข้างต้น และสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ที่ นร 0203/9140 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2535 ว่า บัดนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิกถอนป่าสงวนในส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยาน แห่งชาติ เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการใช้บังคับกฎหมายสองฉบับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือที่ กษ 0713.2/43143 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2535 เห็นชอบ ในข้อสังเกตุดังกล่าวในการเพิกถอนป่าสงวนที่ทับซ้อน สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ที่ นร 0203/855 ลงวันที่ 21 มกราคม 2536 แจ้งว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเทือกเขาพังเหย และป่านายางกลัก ในท้องที่ตำบลท่าใหญ่ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ตำบลบ้านเจียง ตำบลเจาทอง ตำบลวังทอง กิ่งอำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง ตำบลห้วยแย้ ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว และตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติไทรทอง นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 77 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยาน แห่งชาติไทรทองอยู่ในเขตเทือกเขาพระยาฝ่อ และเทือกเขาพังเหย มีลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงต่ำหลายลูกเรียงรายสลับซับซ้อน มีระดับความสูงตั้งแต่ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถึงสูงสุดที่ยอดเขาพังเหย 1,008 เมตร เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลำห้วยโป่งขุนเพชร ลำห้วยเชียงทา ลำห้วยแย้ ลำห้วยยาง ล้ำน้ำเจา ลำน้ำเจียง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำชี
ลักษณะภูมิอากาศ
พื้นที่ ป่าแห่งนี้จัดอยู่ในภูมิอากาศประเภทฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ลักษณะของฝนที่ตกส่วนมากจะเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง อิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นจะได้รับไม่มากนัก ฝนตกมากในช่วงเดือนกันยายน ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพ ป่าของอุทยานแห่งชาติไทรทองสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบแล้ง พบทางตอนเหนือของเทือกเขาพระยาฝ่อ และตอนกลางของเทือกเขาพังเหย พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะแบก กระบาก ตะเคียนหิน มะค่าโมง มะม่วงป่า ประดู นนทรีป่า สาธร และเขล็ง ฯลฯ ป่าเต็งรัง พบมากบริเวณพื้นที่สันเขาและพื้นที่ลอนลาดตอนล่างในเทือกเขาพังเหย พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อ พะยอม เต็ง รัง พลวง ตีนนก กว้าว แดง รัก กระบก ส้าน ไผ่ และหญ้าชนิดต่างๆ และ ป่าเบญจพรรณ พบไม่มากนัก พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก มะค่าโมง และไผ่ชนิดต่างๆ สัตว์ป่า ที่พบเห็นได้ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้แก่ หมูป่า อ้น อีเห็น ชะมด เก้ง กระจง กระรอก กระแต กระต่ายป่า นกตะขาบทุ่ง นกกระปูด อีกา เหยี่ยว ไก่ป่า ตะกวด แย้ ตุ๊กแก กิ้งก่า งู กบ ปาด เขียด อึ่งอ่าง ฯลฯ และพบปลาบางชนิดตามแหล่งน้ำต่างๆ
ที่ ทำการอุทยานแห่งชาติไทรทอง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 70 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอหนองบัวระเหว ประมาณ 37 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 สายชัยภูมิ - นครสวรรค์ จะมีทางแยกขวามือเข้าไปน้ำตกไทรทองอีก 7 กิโลเมตร
นั่งเครื่องบินจากดอนเมือง ไปลงขอนแก่น และก็ต่อรถโดยสารสาย นครสวรรค์ - ขอนแก่น มาลงที่บ้านท่าโป่ง กิโลเมตรที่ 123
มี รถด่วนและรถเร็วสายกรุงเทพฯ - อุดร - หนองคาย ผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลงที่สถานีจัตุรัส นั่งสามล้อไป บขส.จัตุรัส ต่อรถไปหนองบัวระเหว เมื่อถึงระเหวแล้วต่อรถ สายชัยภูมิ-บึงสามพันหรือสายขอนแก่นนครสวรรค์ ลงที่ป้อมยามตำรวจบ้านที่โป่ง แล้วขึ้นมอร์เตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไปที่อุทยานแห่งชาติ
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
อุทยาน แห่งชาติไทรทองได้จัดให้มีกิจกรรมพายเรือศึกษาธรรมชาติในบริเวณอ่างเก็บน้ำ เขื่อนวังน้ำเขียว หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบผจญภัย ประลองความกล้า ท้าความเสียว เที่ยวพิชิตหน้าผา โดยเป็นกิจกรรมปีนหน้าผา และโรยตัวลงหน้าผาในบริเวณผาพ่อเมืองและผาหำหด บนยอดเขาพังเหย นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวที่แวะมาเยี่ยมชม ได้สัมผัสกับธรรมชาติอันสวยงาม ดังนี้
จุดชมวิวเขาพังเหย อยู่ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 (ชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณกิโลเมตรที่ 70 เป็นที่แวะพักรถยนต์และชมทิวทัศน์ของผืนป่าและแนวสันเขาสลับซับซ้อนของเขา พังเหย เมื่อมองลงไปเบื้องล่างจะเห็นที่ราบภาคกลางในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นบริเวณ กว้าง โดยเฉพาะในช่วงยามเย็นที่อาทิตย์จะอัสดง
จุดชมวิวหลังสัน เป็น จุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหย สูงจากระดับน้ำทะเล 1,008 เมตร อากาศหนาวเย็นตลอดปี มีสถานที่กางเต็นท์พักแรมและบ้านพักรับรอง เพื่อสัมผัสความหนาวเย็นของอากาศ
ถ้ำแก้วและถ้ำพระ อยู่ในเทือกเขาพระยาฝ่อ ภายในมีหินงอกหินย้อยงดงาม
ทุ่งบัวสวรรค์ ทุ่ง บัวสวรรค์ หรือทุ่งดอกกระเจียว มีทั้งดอกสีชมพูและดอกสีขาว อยู่บริเวณสันเขาพังเหยด้านทิศตะวันตก มีทั้งหมด 5 ทุ่งใหญ่ๆ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 10 กิโลเมตร จะออกดอกสวยงามเต็มทุ่งประมาณปลายเดือนมิถุนายน - กลางเดือนสิงหาคมของทุกปี ทางอุทยานแห่งชาติไทรทองจัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือ จัดเจ้าหน้าที่นำทางพาผู้สนใจเดินขึ้นไปตั้งแค็มป์พักแรมบนทุ่งบัวสวรรค์ ในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคมบริเวณทุ่งบัวสวรรค์ทั้ง 5 ทุ่ง จะมีพรรณไม้ดอกแข่งขันกันออกดอก มีทั้งดุสิตา สร้อยสุวรรณา จุกนารี กระดุมเงิน กระดุมทอง เอื้องนวลจันทร์ หงอนไก่แจ้ สามพันตึง ดาวเรืองภู เป็นต้น
น้ำตกคลองไทร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านอำเภอภักดีชุมพล ตัวน้ำตกเป็นชั้นเล็กๆ ภายใต้ร่มไม้ที่ร่มรื่น จะมีน้ำมากในช่วงฤดูฝน
น้ำตกชวนชม อยู่ เหนือน้ำตกไทรทองขึ้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทางเดินศึกษาธรรมชาติ สูงประมาณ 20 เมตร กว้าง 50 เมตร อยู่ภายใต้ร่มไม้ที่ร่มรื่น
น้ำตกไทรทอง อยู่ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติไทรทอง สูงประมาณ 5 เมตร ลานหินกว้าง 80 เมตร ยามน้ำหลาก สายน้ำแผ่กว้างตกลงมาเป็นม่านน้ำงดงาม มีแอ่งน้ำใหญ่อยู่บริเวณหน้าน้ำตก สามารถลงเล่นน้ำได้ เรียกว่า วังไทร เหนือน้ำตกขึ้นไปมีวังน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า วังเงือก แล้วไหลลงตามความลาดชันของลานหินลงสู่น้ำตกไทรทองยาวประมาณ 150 เมตร
ผาพ่อเมือง อยู่ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 10 กิโลเมตร เป็นแนวหน้าผาหินทรายยาว 3 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเส้นทางไปทุ่งบัวสวรรค์ บนสันเขาพังเหยด้านทิศตะวันตกสูงจากระดับน้ำทะเล 800-908 เมตร มองลงไปด้านล่างจะเห็นตัว อำเภอภักดีชุมพล และเส้นทางเดินเท้าลัดเลาะไปตามแนวหน้าผา มีจุดชมวิวเด่นๆ อยู่ 4 จุดคือ ผาอาทิตย์อัสดง ผาสวนสวรรค์ ผาเพลินใจ ผาหำหด ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหน้าผาที่หวาดเสียวสุดๆ เมื่อขึ้นไปนั่งบนชะง่อนหินนั้น
ผาหำหด เป็น สันเขาตรงจุดสูงของเทือกเขาพังเหย สูงจากระดับน้ำทะเล 864 เมตร มองเห็นทิวทัศน์สวยงามรอบด้าน อากาศหนาวเย็นตลอดปี มีสถานที่กางเต็นท์พักแรม เพื่อสัมผัสความหนาวเย็นของอากาศ และกิจกรรมปีนหน้าผา
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ลานกางเต็นท์นี้จะอยู่ระหว่างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อาคารเอนกประสงค์ และอ่างเก็บน้ำ (อยู่ริมน้ำ) การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีที่จอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.