อุทยานแห่งชาติสิรินาถ |
|
|
อุทยาน
แห่งชาติสิรินาถมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอถลาง
จังหวัดภูเก็ต
เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลบริเวณชายฝั่งด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ
ภูเก็ต ประกอบด้วยป่าสนทะเลธรรมชาติ หาดทรายขาวสะอาด
แนวปะการังที่สวยงาม และที่วางไข่ของเต่าทะเล
กับจักจั่นทะเลจำนวนมาก ตลอดจนหอยทะเลที่หายากหลายชนิด
อุทยานแห่งชาติสิรินาถอยู่ห่างจากสนามบินภูเก็ตเพียง 1
กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 56,250 ไร่ หรือ 90
ตารางกิโลเมตร
เดิมพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์บ้านสาคู
กรมป่าไม้ได้มีหนังสือที่ กส. 0801/3326 ลงวันที่ 1 มีนาคม
2520 ถึงจังหวัดภูเก็ต
ส่งสำเนาหนังสือสำนักเลขาธิการรัฐมนตรีที่ สร.0202/1305
ลงวันที่ 31 มกราคม 2520 เรื่อง
การพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยว
ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2520
ลงมติให้ความเห็นชอบกำหนดนโยบายในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว
และจังหวัดภูเก็ตได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ภก.09/7211
ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2520
ขอให้กรมป่าไม้จัดพื้นที่บริเวณชายหาดในท้องที่อำเภอถลางเป็นวนอุทยานทาง
ทะเล โดยเริ่มจากหาดทรายแก้ว หาดไม้ขาว
เลียบริมทะเลลงไปทางใต้จนถึงหาดในยางมีความยาวประมาณ 13
กิโลเมตร
ประกอบกับในท้องที่จังหวัดภูเก็ตมีหาดทรายที่สวยงามอยู่มาก
และ นายเสน่ห์ วัฒนาธร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
ให้การสนับสนุนอย่างดียิ่ง
ป่าไม้จังหวัดภูเก็ตได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ภก.09/484
ลงวันที่ 23 กันยายน 2520
ส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้นป่าสนทะเล หาดไม้ขาว หาดในยาง
อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้กรมป่าไม้พิจารณาจัดตั้งเป็นวนอุทยาน
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้
จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจ ปรากฏว่า
เป็นพื้นที่ที่มีสภาพเหมาะสมสำหรับจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว
มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติและจุดเด่น เช่น ป่าสนทะเลธรรมชาติ
หาดทรายขาวสะอาด แนวปะการัง และโขดหินที่สวยงาม
ประกอบกับบริเวณชายหาดบางตอนเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล
และจักจั่นทะเลจำนวนมาก
เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ
กรมป่าไม้ จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
ซึ่งได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2523 เมื่อวันที่ 8
มกราคม 2523
เห็นสมควรกำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ
โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าสนทะเล ป่าเขารวก
ป่าเขาเมือง และบริเวณหาดในยาง ในท้องที่ตำบลไม้ขาว
ตำบลสาคู และตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต พื้นที่
90 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98
ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
โดยให้ชื่อตามที่ชาวภูเก็ตเรียกขานว่า
อุทยานแห่งชาติหาดในยาง นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 31
ของประเทศไทย
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2533
ให้ประกาศพื้นที่ราชพัสดุบริเวณท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว
อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 4.48 ตารางกิโลเมตร
ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
เพื่อน้อมเกล้าถวายเนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลสมัยในการที่สมเด็จพระนาง
เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 5
รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2535
กรมป่าไม้จึงได้เข้ามาดำเนินการผนวกพื้นที่เข้ากับอุทยานแห่งชาติหาดในยาง
โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่และพื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่อง
เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไป
พร้อมทั้งขอพระราชทานชื่อใหม่ที่เหมาะสม
ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า อุทยานแห่งชาติสิรินาถ
|
|
ลักษณะภูมิประเทศ |
|
|
อุทยาน แห่งชาติสิรินาถประกอบด้วยผืนน้ำประมาณ 76
เปอร์เซ็นต์ และผืนดินประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์
มีลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ คือ ป่าเขารวกเขาเมือง
เขาใสครู ซึ่งมีลักษณะธรณีสัณฐานเป็นภูเขาหินแกรนิต
และเชิงเขาซึ่งถูกกระบวนการผุพังและกัดกร่อน
โดยมียอดเขาใสครูความสูง 335 เมตร
และยอดเขาเมืองหรือเขาม่วงสูง 295 เมตร
ธรณีสัณฐานที่ชายฝั่ง
ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนชายฝั่งทะเลรูปแบบต่างๆ
โดยสามารถจำแนกเป็น หาดทราย ได้แก่ หาดท่าฉัตรไชย
หาดทรายแก้ว หาดไม้ขาว
ซึ่งยาวต่อเนื่องจากทิศเหนือลงมาถึงหาดในยางทางทิศใต้
ซึ่งมีลักษณะเป็นหัวแหลมยื่นไปในทะเลเนื่องจากการงอกของทรายด้านหลังแนว
ปะการังซึ่งลดความรุนแรงของคลื่นมากกว่าบริเวณอื่น
ความยาวรวมกันประมาณ 13 กิโลเมตร
ต่อมายังหาดทรายที่อ่าวทุ่งหนุงซึ่งเป็นที่ราบทราย-ทรายแป้ง
กว้างประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร
และมีระดับเหนือน้ำในเวลาน้ำลง
เป็นทางออกของคลองพะม่าลงหรือเรียกว่า ปากคลองปากบาง
ซึ่งแต่เดิมในบริเวณทางออกจะเป็นพื้นที่ราบน้ำขึ้นถึงของปากคลองและมีสภาพ
เป็นป่าชายเลนและที่ลุ่มน้ำกร่อยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ
แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกถมดินทำให้หมดสภาพไป
นอกจากนี้ในอุทยานแห่งชาติ ยังมีหาดทรายสั้นๆ
ระหว่างหัวแหลมผาชัน
เกิดจากการสะสมของทรายจากการกร่อนของหน้าผาหินโดยคลื่นและกระแสน้ำเลียบฝั่ง
ได้แก่ หาดในทอน หาดในทอนน้อย หาดที่อ่าวหินกรวย
ส่วนบริเวณเกาะทะทางทิศใต้เป็นหาดทรายที่ต่อเนื่องขึ้นมาจากหาดบางเทาพบว่า
กำลังเกิดลักษณะของสันดอนทรายงอกเชื่อมจากแผ่นดินไปยังเกาะทะ
ส่วนชายทะเลบริเวณเขาใสครูและเขาม่วงมีลักษณะส่วนใหญ่เป็นหน้าผาหิน
หาดหิน และลานตะพักหิน ที่เกิดจากการกระทำของคลื่น
|
|
ลักษณะภูมิอากาศ
|
|
|
อุทยาน
แห่งชาติสิรินาถอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรด้านชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตก
จึงเป็นบริเวณที่มีฝนตกชุกตลอดปี และมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง
เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
นำลมร้อนชื้นมาจากมหาสมุทรอินเดีย
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ในช่วงนี้จึงมีฝนตกมาก
และในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อ่อน
ตัวก็จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นฤดูหนาวพัดเข้ามาแทนที่
อุณหภูมิในช่วงนี้ไม่ลดมากแต่ยังมีฝนที่พัดผ่านอ่าวไทยมา
อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน 29 องศาเซสเซียล
อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม 27 องศาเซสเซียล
|
|
พรรณไม้และสัตว์ป่า |
|
|
พืชพรรณธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถสามารถแบ่งออกได้เป็น
ป่าชายหาด เป็นป้อมปราการป้องกันลมพายุในฤดูมรสุม
พบเป็นแนวแคบๆ ตลอดแนวชายหาดของอุทยานแห่งชาติ
สภาพเป็นป่าโปร่งมีพรรณไม้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ได้แก่
จิกเล หว้าหิน ไทร กระโดน กระทุ่มน้ำ งิ้วป่า กระทิง
สนทะเล โพทะเล หูกวาง มะนาวผี ส้าน เสม็ด โคลงเคลง ฯลฯ
พืชพื้นล่างประกอบด้วย มะเม่า หวาย สาบเสือ ลำเจียก
ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และพืชอิงอาศัยหลายชนิด เช่น เฟิน
กล้วยไม้ และกระช่อน เป็นต้น
ป่าชายเลน พบตามริมคลองที่น้ำทะเลท่วมถึง
พันธุ์พืชที่สำคัญได้แก่ โกงกางใบเล็ก โปรงแดง ฝาดแดง
ตะบูนดำ แสมดำ แสมขาว ถั่วขาว สมอทะเล ตีนเป็ดทะเล
พืชพื้นล่างได้แก่ จาก และเหงือกปลาหมอ
ป่าดงดิบ
พบตามบริเวณที่เป็นภูเขาทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติ
บริเวณเขารวก เขาเมือง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ไข่เขียว
หลุมพอ กระแซะ เหรียง พลา ตีนนก ยอป่า เป็นต้น
ในบริเวณแหลมใสครู ตามแอ่งน้ำด้านหลังแนวปะการังพบหญ้าทะเล
2 ชนิด ได้แก่ หญ้าชะเงา ซึ่งเป็นชนิดเด่น
และหญ้าชะเงาใบสั้น ซึ่งพบอยู่เพียงเล็กน้อย
สำหรับในบริเวณท่าฉัตรไชยและปากคลองท่าหยิดพบหญ้าทะเล 5
ชนิด คือ หญ้าชะเงาใบยาว หญ้าชะเงา หญ้าชะเงาใบสั้น
หญ้ามะกรูดใบใหญ่ และหญ้ามะกรูดใบเล็ก
สัตว์ป่าที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็กประกอบ
ด้วย กระแตธรรมดา กระรอกดินหลังลาย กระรอกข้างลายท้องแดง
กระรอกปลายหางดำ นกนางนวล เหยี่ยวแดง นกกางเขนบ้าน
นกกะเต็นอกขาว นกกระปูดใหญ่ นกเอี้ยงสาริกา นกเขาใหญ่
นกเขียวคราม และนกเด้าลมดง กิ้งก่าบินปีกส้ม กิ้งก่าหัวแดง
แย้ จิ้งเหลนบ้าน ตุ๊กแกบ้าน เหี้ย งูเขียวดอกหมาก
คางคกบ้าน กบหลังขีด ปาดบ้าน อึ่งอ่างบ้าน เป็นต้น
บริเวณคลองหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
และบริเวณพรุน้ำจืดมีปลาและสัตว์อยู่หลายชนิด
ที่พบเห็นโดยทั่วไปได้แก่ ปลาดุกอุย ปลาแขยงใบขาว ปลาสลิด
ปลากระดี่หม้อ ปลาตะเพียนขาว ปลากริม หอยขม หอยโข่ง
ปลิงเข็ม ปลิงควาย และกุ้งฝอย เป็นต้น
สัตว์ทะเลที่พบในบริเวณหาดทรายและแนวปะการัง ได้แก่
เต่ามะเฟือง เต่ากระ เต่าหญ้า ปูลม จักจั่นทะเล หอยทับทิม
ปลากะพงเหลือง ปลาอมไข่ ปลาใบปอ ปลามงแซ่ ปลากะรัง
ปลากระบอก ปลากระเบน ปลาปักเป้า ปลาเก๋า ปลาไหลมอเรย์
ปลาสิงโตปีกจุด ปลาปากแตร ปลาผีเสื้อลายแปดขีด ปลาสินสมุทร
ปลาการ์ตูนส้มขาว ปะการังเขากวาง ปะการังโขด ปะการังสมอง
ปะการังเคลือบ ปะการังเห็ด ปะการังอ่อน พรมทะเล
และดอกไม้ทะเล เป็นต้น
จักจั่นทะเล มีชื่อสามัญว่า Mole crab หรือ Sand crab
เป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับกุ้ง ปู คือ มีลักษณะกึ่งกุ้งกึ่งปู
ร่างเป็นรูปไข่ ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ 2 เท่า
อาศัยอยู่ในทรายบริเวณชายน้ำที่มีคลื่น
โผล่เฉพาะตาและหนวดขึ้นมาดักแพลงก์ตอนเป็นอาหารเข้าสู่ปาก
จักจั่นทะเลที่พบที่หาดไม้ขาวมี 2 ชนิด คือ จักจั่นควาย
(Mole asactyla) ซึ่งมีขนาดใหญ่ หายาก และจักจั่นธรรมดา
(Emerita emeritus)
เป็นจักจั่นที่พบมากกว่าชนิดแรกและมีขนาดเล็กกว่า
|
|
|
|
ด้านธรรมชาติที่สวยงาม |
|
เกาะกะทะ เกาะกะทะ
หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะทะ เป็นเกาะกลางน้ำ
เมื่อเวลาน้ำลงจะมีชายหาดสามารถเดินลงไปเที่ยวหรือลงเล่นน้ำได้ |
|
กิจกรรม :
กิจกรรมชายหาด
ชมทิวทัศน์
|
|
เกาะแวว เป็นลักษณะของกองหินกลางทะเล
บริเวณรอบๆ
เกาะมีแนวปะการังและปลาทะเลสวยงามให้นักดำน้ำชมปะการังได้ทั้งแบบดำน้ำลึกและดำผิวน้ำ |
|
กิจกรรม :
ดำน้ำลึก
ดำน้ำตื้น
|
|
หาดทรายแก้ว อยู่
บริเวณสะพานสารสินและสะพานเทพกษัตรี
ซึ่งเชื่อมเกาะภูเก็ตและจังหวัดพังงา ที่บ้านท่าฉัตรไชย
เป็นหาดที่สวยงามและเงียบสงบ ชายหาดยาวประมาณ 3 กิโลเมตร
แต่ลึกชัน ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ
แต่เหมาะแก่การพักผ่อนรับประทานอาหาร
นอกจากนี้ยังมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ปกคลุมพื้นที่ลึกเข้ามาใน
ชายฝั่งทางทิศตะวันออกของหาด
มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเข้าไปในป่าชายเลนระยะทางประมาณ 600
เมตร โดยทำเป็นสะพานไม้ยกพื้นสูง
มีป้ายความรู้เกี่ยวกับป่าและสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน
ตามจุดที่น่าสนใจต่างๆ |
|
กิจกรรม :
กิจกรรมชายหาด
ชมทิวทัศน์
|
|
หาดในทอน อยู่
ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศใต้ ประมาณ 6
กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ในทอนใหญ่ซึ่งเป็นหาดเปิดออกสู่ทะเล จึงมีคลื่นลมแรง
กับในทอนน้อย มีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวที่งามแปลกตา
หาดทรายขาวทอดโค้งออกจากตัวเกาะ
เป็นเกราะกำบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี
นับเป็นมุมสงบเหมาะสำหรับการพักผ่อน เล่นน้ำทะเล
บนฝั่งร่มรื่นด้วยทิวสน |
|
กิจกรรม :
กิจกรรมชายหาด
ชมทิวทัศน์
|
|
หาดในยาง เป็น
ที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
บ้านพักนักท่องเที่ยว ลานกางเต็นท์ ร้านอาหาร
และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
ชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสนธรรมชาติและพรรณไม้ป่าชายหาด
ชายหาดที่มีทรายขาวสะอาด น้ำทะเลสะอาดเหมาะแก่การเล่นน้ำ
ชายฝั่งทะเลมีแนวปะการังน้ำตื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก
มีปลานานาชนิด |
|
กิจกรรม :
กิจกรรมชายหาด
ชมทิวทัศน์
แค้มป์ปิ้ง
|
|
หาดไม้ขาว เป็น
หาดที่ยาวที่สุดในจังหวัดภูเก็ต
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 8 กิโลเมตร
แนวหาดเริ่มจาก หาดในยาง
ผ่านสนามบินเรื่อยไปจนจดหาดทรายแก้ว
มีทรายขาวติดต่อกันตลอดเกือบเป็นเส้นตรง
เป็นหาดที่มีจักจั่นทะเลซึ่งเป็นสัตว์ทะเลขนาดตัวเท่าแมลงทับ
เปลือกและขาลักษณะเหมือนกุ้ง
จักจั่นทะเลมีสีกลมกลืนกับสีของหาดทราย |
|
กิจกรรม :
กิจกรรมชายหาด
ชมทิวทัศน์
|
|