“ดร.พิเชฐ” เดินหน้าตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกทั่วทุกภูมิภาครวบรวมฐานข้อมูลนักวิจัยภาครัฐมากที่สุดในประเทศกว่า 30,000 คน จัดงานใหญ่ เชิญ SMEs จับคู่ความร่วมมือกับนักวิจัยภาครัฐ และมหาวิทยาลัยต่อยอดผลงานจากหิ้งสู่ห้าง พร้อมโชว์โครงการที่ประสบความสำเร็จจากการจับคู่ความร่วมมือและโครงการที่มาจากการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเพื่อแก้ปัญหากว่า 20โครงการ เช่น การพัฒนานำโปรตีนจากรังไหมซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย นำมาพัฒนาเป็นน้ำยาบ้วนปาก หรือ ครีมบำรุงผิวที่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ การพัฒนาระบบฟาร์มอัจฉริยะด้วยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลออนไลน์ในการควบคุมดูแลสุขภาพสัตว์ เป็นต้น
เมื่อเร็วๆนี้ที่ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท/ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน Talent Mobility Fair 2015 โดยมีผู้แทนจากภาคเอกชนทั้งจากบริษัทใหญ่และเอสเอ็มอี เข้าร่วมเสวนา นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการบทเรียนและความสำเร็จ รวมทั้งจัดกิจกรรมจับคู่นักวิจัยภาครัฐกับภาคเอกชน พร้อมเปิดตัวศูนย์อำนวยความสะดวกในการจับคู่ความร่วมมือ TM Clearing House ทุกภูมิภาค รวมข้อมูลนักวิจัยภาครัฐกว่า 30,000 คน
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ นโยบายส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) ซึ่งเป็นการปลดล็อกให้นักวิจัยและนักเรียนทุนมาทำงานในภาคเอกชนแบบเต็มเวลาโดยสามารถนับอายุงานและการใช้ทุนได้ อีกทั้งยังสามารถนำผลการปฏิบัติงานในภาคเอกชนในการขอตำแหน่งทางวิชาการ ตามเกณฑ์การตกลงจากต้นสังกัด นั้น กระทรวงวิทย์ฯ ได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Talent Mobility โดยมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) นำร่องจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกTalent Mobility หรือ Talent Mobility Clearing House เพื่อจับคู่ความร่วมมือนักวิจัยภาครัฐกับสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลนักวิจัยภาครัฐกว่า 30,000 คน ซึ่งมากที่สุดในประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ SMEs ในการจับคู่ความร่วมมือกับนักวิจัยภาครัฐสาขาต่างๆได้ ปัจจุบัน สวทน. ได้ขยาย TM Clearing House ไป ในมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ครอบคลุมไปทุกภูมิภาค ได้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเตรียมเพิ่มจำนวนหน่วยงานพันธมิตรไปสู่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งสิ้น 12 แห่งภายในปีนี้
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า จากโครงการนำร่องที่ สวทน.ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่ง มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เห็นได้จากจำนวนนักวิจัยภาครัฐที่เคลื่อนย้ายไปในสถานประกอบการเกือบ 100 คน ที่เข้าไปจับคู่ความร่วมมือใน 4 บริษัทขนาดใหญ่ และอีก 28 SMEs และยังมีบริษัทที่ให้ความสนใจในโครงการ Talent Mobility ที่ยังอยู่ในระหว่างการจับคู่ความร่วมมืออีกเกือบ 150 โครงการ โดยมีสถานประกอบการภาคเอกชนที่ได้เข้าโครงการจับคู่ความร่วมมือ Talent Mobility และโครงการที่มาจากการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาด้านการผลิต การบริการ และการตลาด ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อาทิ
การนำงานวิจัยมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากโครงการรับคู่ความร่วมมือ Talent Mobility อีกหนึ่งงานคือ การพัฒนาสารสกัดจากรังไหมหม่อนสีเหลือง โดยบริษัท เพียรกุศล จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการวิจัยและพัฒนานำโปรตีนจากรังไหมซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากในท้องถิ่นภาคเหนือ มาศึกษาหาประโยชน์และพบว่าโปรตีนจากรังไหมสามารถมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ได้เป็นอย่างดี จึงมีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านเวชสำอาง เช่น น้ำยาบ้วนปาก หรือ ครีมบำรุงผิวที่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ เป็นต้น
โครงการจัดการฟาร์มไขไก่มาตรฐาน โดยบริษัท สยามภาคินฟาร์ม จำกัดที่ได้จับคู่ความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการส่งนักวิจัย และนักศึกษา เข้าไปพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์ในการควบคุมดูแลสุขภาพสัตว์ การจัดการควบคุมการใช้ยารักษาโรคภายในฟาร์มซึ่งจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากปริมาณยาตกค้างและการดื้อยา การประมวลผลจัดทำรายงานการซื้อขาย ตารางการปฏิบัติงาน ข้อมูลรายรับ รายจ่าย ได้อีกด้วย ระบบดังกล่าวยังสามารถรองรับการทำงานในโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท้ปเล็ต ซึ่งอำนวยความสะดวกอย่างมากต่อเจ้าของฟาร์มสัตวแพทย์ และการจัดการบัญชี เป็นต้นและในอนาคตงานวิจัยนี้กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบฟาร์มอัจฉริยะอีกด้วย
ผู้ประกอบการ ภาชนะจากมันสัมปะหลัง
อีกหนึ่งตัวอย่างของการจับคู่นักวิจัยภาครัฐเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในภาคการเกษตร คือโครงการ พัฒนาระบบและอุปกรณ์ตรวจวัดและความคุมสำหรับฟาร์มอัจฉริยะ ในการตรวจวัดค่าความชื้น และอุณหภูมิในดิน ของบริษัท เอพซิลอน โซลูชั่นแอนคอนซัลแทนท์ จำกัด ซึ่งได้เข้าโครงการจับคู่ความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำนักวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในการจัดทำระบบต้นแบบการวัดและควบคุมฟาร์มอัตโนมัติ เข้าไปแก้ปัญหาด้านทางการเกษตรและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการบริหารทรัพยากรน้ำแก่เกษตรกร
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นภาคใต้จากมังคุด จากความร่วมมือของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก ควอลิตี้ เทรด และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นการศึกษาประโยชน์จากน้ำหมักจากมังคุดสุกซึ่งสารสำคัญจากเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ การลดผลกระทบจากการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด การลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคเบาหวานและหลอดเลือดหัวใจ งานวิจัยที่ได้จะสามารถต่อยอดเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปมูลค่าจากมังคุดออกสู่ตลาดในและต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยด้านไอทีจากโครงการTalent Mobility ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดอีกหนึ่งโครงการคือ การใช้สื่อ 3 มิติ หรือ Augment Reality (AR)ในการพัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับลูกค้าในการเลือกซื้อสินค้า เป็นความร่วมมือจับคู่โครงการของ บริษัท อี.พี.เดคอร์ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งร่วมมือกันจัดทำระบบการนำเสนอสินค้าแบบ 3 มิติหรือ AR สำหรับลูกค้าในการเลือกซื้ออุปกรณ์ผ้าม่าน เป็นต้น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์
ตัวอย่างแอพฯ
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทน.ได้จัดงาน Talent Mobility Fair 2015 เพื่อเป็นการเดินหน้าการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SMEs ภายในงานมีการจัดศูนย์อำนวยความสะดวกTalent Mobility หรือTM Clearing House ทุกภูมิภาค เพื่อให้สถานประกอบการสามารถยื่นความประสงค์ในการขอรับการจับคู่ความร่วมมือรับคำแนะนำจากนักวิจัยด้าน วทน. จากศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility พร้อมทั้งชมผลงานจากภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการจับคู่ความร่วมมือ และโครงการที่มาจากการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาที่เข้ามาจัดแสดงภายในงานกว่า 20 โครงการ สำหรับผู้ประกอบการที่พลาดโอกาสมาร่วมงานในครั้งนี้สามารถเข้าร่วมโครงการ ได้ที่ www.talentmobility.or.th หรือ ศูนย์อำนวยความสะดวกตามภาคต่างๆ ดังนี้
- ภาคเหนือ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP)
อาคารวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ชั้น 2 ,คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
อีเมล์ tm.north@workgroup.in.th เบอร์โทร 053-942088 ต่อ310 แฟกซ์ 053-942088 ต่อ 413 - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสำนักงานของศูนย์ประสานงานเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, อาคารพิมล กลกิจ ชั้น 4 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น 40002 อีเมล์ tm.ch.northeast@gmail.com โทรศัพท์/โทรสาร: 043202697
- ภาคใต้ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชั้น 12 อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (LRC) อาคาร 1,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
อีเมล์ tm.ch.southern@gmail.com เบอร์โทรศัพท์: 074 – 289333 โทรสาร : 074 – 289339 - ภาคกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อาคารสัมมนา ชั้น 4
126 ถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. 10140 อีเมล์ talent@kmutt.ac.th
โทรศัพท์ 02-4709299 โทรสาร 02-4709298 - สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพฯ อีเมล์ talentmobility@sti.or.th
โทรศัพท์ 02-160-5432 ต่อ 222 โทรสาร 02-160-5439