| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
๑. ปัญหา การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาจะมีผลกระทบต่อเขตแดนไทยตามกลไกของการเป็นมรดกโลก ๒. ข้อเท็จจริง ๒.๑ ก่อนเกิดคดีปราสาทพระวิหาร ๒.๑.๑ ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนเขาพระวิหารในเทือกเขาพนมดงรัก อันเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย - กัมพูชา นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) โดยหนังสือสัญญาสยาม ฝรั่งเศส วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๒ (ค.ศ.๑๙๐๔ หรือ พ.ศ.๒๔๔๗) สำหรับเขตแดนไทย (สยาม) กับกัมพูชา ปรากฏอยู่ในข้อ ๑ ของสนธิสัญญา มีความว่า "เขตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมพูชานั้นตั้งต้นแต่ปากคลองสดุงโรลูออส ข้างฝั่งซ้าย ทะเลสาปเป็นเส้นเขตร์แดนตรงทิศตะวันออกไปจนบรรจบถึงคลองกะพงจาม ตั้งแต่นี้ต่อไปเขตร์แดนเป็นเส้นตรงทิศเหนือขึ้นไปจนบรรจบถึงภูเขาพนมดงรัก (คือ ภูเขาบรรทัด) ต่อนั้นไปเขตร์แดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำ ในระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขง ฝ่ายหนึ่งกับดินแดนน้ำตกน้ำมูนอีกฝ่ายหนึ่งจนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง ตั้งแต่บรรจบนี้ขึ้นไป แม่น้ำโขงเป็นเขตแดนของกรุงสยามตามความข้อ ๑ ในหนังสือสัญญาใหม่ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ " ๒.๑.๒ ในช่วงนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดน ระหว่างสยาม ฝรั่งเศส ทำแผนที่ปักปันเขตแดนขึ้นด้วยมาตราส่วน ๑ : ๒๐๐.๐๐๐ แสดงเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญาปี ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) ไว้ในตอนทิวเขาหลวงพระบาง มีแผนที่ ๕ ระวาง ตอนทิวเขาพนมดงรัก มีแผนที่ ๖ ระวาง และเขตแดนตอนล่าง มีแผนที่ ๓ ระวาง เป็นการเขียนไปตามเขตแดนของเมืองเสียมราฐกับเมืองพระตะบองแล้วตัดเอาจังหวัดตราดไปเป็นของฝรั่งเศส ๒.๑.๓ เพื่อแลกกับอำนาจศาลเมืองด่านซ้ายและจังหวัดตราด ไทย (สยาม) ได้ยอมยกเมือง เสียมราฐกับพระตะบองให้กับฝรั่งเศส จึงได้มีการทำหนังสือสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ.๑๒๕ (ค.ศ.๑๙๐๗ หรือ พ.ศ.๒๔๕๐) เขตแดนไทย (สยาม) กับกัมพูชา ปรากฎอยู่ในข้อ ๑ ของสนธิสัญญา มีความว่า " เขตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้นตั้งแต่ชายทะเลที่ตรงข้ามกับยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูตเปนหลักแล้วตั้งแต่นี้ต่อไป ทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวานแลเปนที่เข้าใจกันชัดเจนด้วยว่า แม้จะมีเหตุการณ์อย่างไรๆก็ดี ฟากไหล่เขาเหล่านี้ ข้างทิศตะวันออกรวมทั้งที่ลุ่มน้ำคลองเกาะปอด้วยนั้นต้องเป็นดินแดนฝ่ายอินโดจีนของฝรั่งเศสแล้ว เขตร์แดนต่อไปตามสันเขาพนมกระวานทางทิศเหนือ จนถึงเขาพนมทม ซึ่งเป็นเขาใหญ่ปันน้ำทั้งหลาย ระหว่างลำน้ำที่ไหลตกอ่าวสยามฝ่ายหนึ่งกับลำน้ำที่ไหลตกทเลสาบอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เขาพนมทมนี้ เขตร์แดนไปตามทิศพายัพก่อนแล้วไปตามทิศเหนือตามเขตร์แดนที่เปนอยู่ในปัจจุบัน ระหว่างเมืองพระตะบองฝ่ายหนึ่งกับเมืองจันทบุรี แลเมืองตราษอีกฝ่ายหนึ่งแล้วต่อไปจนถึงเขตร์แดนที่ข้ามลำน้ำใส ตั้งแต่นี้ต่อไปตามลำน้ำนี้จนถึงปากที่ต่อจากลำน้ำศรีโสภณ แลตามลำน้ำศรีโสภณต่อไปจนถึงที่แห่งหนึ่งในลำน้ำนี้ ประมาณสิบกิโลเมตร ฤาสองร้อยห้าสิบเส้นใต้เมืองอารัญ ตั้งแต่นี้ตีเส้นตรงไปถึงเขาแดงแรกตรงระหว่างกลางทางช่องเขาทั้ง ๒ ที่เรียกว่า ช่องตะโก กับช่องสเมด ได้เปนที่เข้าใจกันว่า เส้นเขตร์แดนที่กล่าวมาที่สุดนี้จะต้องปักปันกันให้มีทางเดินตรงในระหว่างเมืองอารัญ กับช่องตะโกไว้ในเขตร์กรุงสยาม ตั้งแต่ที่เขาแดงแรกที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เขตร์แดนต่อไปตามปันน้ำที่ตกทเลสาบแลแม่โขงฝ่ายหนึ่งกับที่น้ำมูนอีกฝ่ายหนึ่งแล้วต่อไปจนตกลงลำแม่น้ำโขงใต้ปากมูน ตรงปากห้วยดอน ตามเส้นเขตร์แดนที่กรรมการปักปันแดนครั้งก่อน ได้ตกลงกันแล้ว เมื่อวันที่๑๘ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ คฤสตศักราช ๑๙๐๗ ได้เขียนเส้นพรมแดนประเมินไว้อย่างหนึ่งในแผนที่ตามที่กล่าวในข้อนี้ติดข้องไว้ในสัญญานี้ด้วย " ๒.๑.๔ คณะกรรมการปักปันก็ได้เขียนเส้นเขตแดนใหม่บนแผนที่ทั้ง ๘ ฉบับ ส่วนอีก ๓ ฉบับ ยังคงปล่อยไว้เช่นเดิม แผนที่ทั้ง ๑๑ ฉบับ พิมพ์เสร็จในปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) และได้ส่งมาให้ไทย ๕๐ ชุด ๒.๑.๕ สนธิสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ระบุไว้ว่าเส้นเขตแดนไปตามสันปันน้ำของทิวเขาพนมดงรักแต่ตรงบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหาร และเส้นเขตแดนระวาง DANGREK กลับเขียนผิดสภาพความเป็นจริง ตามสภาพภูมิศาสตร์กันเอาส่วนที่เป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารไปไว้ในเขตอินโดจีนของฝรั่งเศสซึ่งที่ถูกต้องแล้ว จะต้องอยู่ในเขตไทย ๒.๑.๖ ฝ่ายไทยไม่เคยสังเกตว่าแผนที่ระว่างดังกล่าวนั้น เขียนไปอย่างไรแต่ไทยก็เข้าครอบครองเขาพระวิหารตลอดมา จังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของไทย เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๘ (ค.ศ.๑๙๒๕) ๒.๑.๗ ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ จากกรณีพิพาทอินโดจีนไทยได้ดินแดนมณฑลบูรพา ที่เคยเสียไปในรัชกาลที่ ๕ กลับคืนมาตามสนธิสัญญาโตเกียว แต่หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาไทยต้องคืนดินแดนดังกล่าวให้ฝรั่งเศสไปแต่ยังคงครอบครองปราสาทพระวิหารมาโดยตลอด แม้ฝรั่งเศสจะประท้วงไทยหลายครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ๒.๒ คดีปราสาทพระวิหาร ๒.๒.๑ ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ รัฐบาลได้รับรายงานจากสถานทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญว่าฝ่ายกัมพูชากำลังรวบรวมหลักฐานที่จะฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าไทยได้ยึดปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ๒.๒.๒ ฝ่ายไทยคณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการเตรียมเรื่องพระวิหาร ตามกฎหมาย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรก เมื่อ ๑ ก.ย.๐๑ และได้มีการประชุมกันติดต่อโดยต่อเนื่อง เตรียมการสู้คดีอย่างทุกแง่ ทุกมุม การประชุมได้กระทำถึง ๗๓ ครั้ง ประชุมครั้งสุดท้าย เมื่อ ๒๗ ธ.ค.๐๔ ๒.๒.๓ ๖ ต.ค.๐๒ รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อสำนักทะเบียนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อนำข้อพิพาทระหว่างกัมพูชากับไทยขึ้นสู่ศาลโดยขอให้ศาลพิพากษาและแถลงไม่ว่าประเทศไทยจะปรากฏตัวหรือไม่ ๒.๒.๓.๑ ว่าเป็นประเทศไทยจะอยู่ภายใต้พันธกรณีที่จะถอนกำลังทหารที่ได้ส่งไปประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๕๔ (พ.ศ.๒๔๙๗) ในปราสาทพระวิหาร ๒.๒.๓.๒ ว่าอธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ๒.๒.๔ กัมพูชาได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใน ๒๓ ม.ค.๐๓ สรุปคำฟ้องได้ดังนี้ ๒.๒.๔.๑ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒ กัมพูชาได้ประท้วงทางสายการทูตต่อไทยหลายครั้งว่าไทยยึดครองเขตแดนกัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหารแต่ไม่ได้ผลเพื่อป้องกันสิทธิอันชอบธรรม จึงต้องยื่นคดีนี้ต่อศาล ๒.๒.๔.๒ สิทธิของกัมพูชามีหลักฐานสนับสนุน ๓ ประการ - อาศัยสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างฝรั่งเศสและสยาม - กัมพูชาไม่เคยสละอำนาจเหนือดินแดนที่อ้างถึง - ไทยไม่ได้กระทำใดๆในทางใช้อำนาจเหนือดินแดนที่อ้างงถึงมาก่อน พร้อมกับรายละเอียดประกอบอีก ๓๐ หัวข้อ ๒.๒.๕ ฝ่ายไทยได้แถลงคำค้านเบื้องต้น เมื่อ ๒๓ พ.ค.๐๓ สรุปว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องนี้ แต่ในที่สุดศาลก็ยกคำร้องของไทยและและสั่งการให้ประเทศไทยไปแก้คดี ฝ่ายไทยได้ยื่นคำให้การแก้ข้อกล่าวหาเมื่อ ๒๙ ก.ย.๐๔ และตั้งคณะทนายความเพื่อแก้ต่างในศาลคือ หม่อมเจ้าวงศ์ มหินชยางกูร เอกอัครราชทูตไทย ประจำเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ๒.๒.๖ คำแก้ข้อกล่าวหาของไทย สรุปได้คือ ๒.๒.๖.๑ ไทยครอบครองปราสาทพระวิหารมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) โดยฝรั่งเศสหรือกัมพูชาไม่เคยโต้แย้งหรือขัดขวางเลย ๒.๒.๖.๒ ตามที่กัมพูชาอ้างหลักฐานสนับสนุน ๓ ประการ - ประการแรก ฝ่ายไทยเห็นพ้องทุกประการที่จะต้องใช้สนธิสัญญาระหว่าง สยาม - ฝรั่งเศส ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๐๔ เป็นบทบังคับในคดีนี้ สนธิสัญญาระบุว่า ให้สันปันน้ำเขาพนมดงรักเป็นเส้นเขตแดน และสันปันน้ำนี้ได้กันเอาปราสาทพระวิหารไว้ในเขตไทย - ประการที่สอง ตามที่กัมพูชาอ้างว่าไม่เคยทอดทิ้งอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดนนี้ ราษฎรกัมพูชาได้ไปทำศาสนกิจธุดงค์ที่ปราสาทนี้เสมอมานั้น คนเขมรนับถือพระพุทธศาสนาจะไปทำศาสนกิจในเทวาลัยของศาสนาพราหมณ์ได้อย่างไร การเดินทางจากกัมพูชามายังปราสาท จะต้องไต่หน้าผาสูงชัน ยากจะปีนป่ายขึ้นมาได้ - ประการที่สาม กัมพูชาอ้างว่าไทยไม่เคยอ้างสิทธิเหนือปราสาทพระวิหาร มาก่อนนั้น ฝ่ายไทยทราบดีว่า เขตแดนไทยอยู่ ณ ที่ใด ไม่จำเป็นต้องประกาศอีก ปราสาทพระวิหารในสนธิสัญญา ก็ไม่มีระบุไว้เกี่ยวข้องกับเขตแดนอย่างไร กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้ค้นพบปราสาทแห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๒ ในครั้งนั้น ไม่มีผู้ใดสนใจกันมากนัก เพราะยังอยู่ในป่าดงดิบ ต่อมาจังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๒๕ (พ.ศ.๒๔๖๘) ฝ่ายไทยได้แก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายกัมพูชาทุกข้อ โดยเฉพาะแผนที่ตามเอกสารท้ายคำฟ้อง หมายเลข ๑ คือแผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนที่ฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียวไม่มีการเสนอให้คณะกรรมการปักปันเขตแดนตรวจสอบและให้คำรับรองก่อน สรุปแล้วแผนที่ชุดนี้ไม่มีผลบังคับใช้ ๒.๒.๗ ฝ่ายกัมพูชาได้เสนอคำคัดค้าน โดยอ้างว่า - จากรายงานของกรมแผนที่ทหารบก ในการสำรวจมณฑลนครราชสีมา ในปี ค.ศ.๑๙๒๘ (พ.ศ.๒๔๗๑) ระบุว่า บริเวณนั้นเป็นป่าทึบมีบ้านเรือนอยู่กระจัดกระจาย ส่วนใหญ่ประชาชนเป็นชาวเขมรแสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความปกครองของกัมพูชา - ปราสาทพระวิหาร กษัตริย์สมัยนครวัด เป็นผู้สร้าง ดังนั้นจึงต้องเป็นของกัมพูชา - แผนที่ตามคำฟ้องของกัมพูชาชุดดังกล่าวพิมพ์ขึ้นตามสนธิสัญญา ปี ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) และแก้ไขตามสนธิสัญญา ปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ซึ่งแสดงเขตแดนปัจจุบันของไทย กัมพูชา และลาว - การกำหนดเขตแดนตามสนธิสัญญา ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน แต่สันปันน้ำไม่ใช่เส้นเขตแดนตามธรรมชาติ ที่เห็นได้ด้วยตาจึงต้องกำหนดเขตแดนที่แน่ชัดไว้บนแผนที่ - การพิมพ์แผนที่ตามคำฟ้องหมายเลข ๑ นั้น หัวหน้าคณะกรรมการปักปันเขตแดนฝ่ายฝรั่งเศสร่วมกับหัวหน้าคณะกรรมการปักปันเขตแดนฝ่ายไทยเป็นคณะกรรมการผสมตามสนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ปี พ.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) พิมพ์เสร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๙๐๘ (พ.ศ.๒๔๕๑) และได้กันแผนที่ ๕๐ ชุด ไปให้รัฐบาลสยาม และอีก ๑๙ ชุด ให้คณะกรรมการทั้งสองฝ่ายอีก ๑๕ ชุด ไปแจกจ่ายตามหัวเมืองต่าง ๆ ฝ่ายไทยไม่ได้แสดงเอกสารใด ๆ ที่แสดงความสงสัยในความถูกต้องแท้จริง ๒.๒.๘ กัมพูชาขอให้ศาลพิจารณาตัดสินให้ คือ - ยกคำให้การของประเทศไทย รวมทั้งเหตุผลอย่างอื่นที่จะยกมาภายหลังด้วย - ขอให้ศาลพิจารณาว่า ไทยต้องถอนทหารออกไปจากเขาพระวิหารและอธิปไตยทางดินแดนที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่เป็นของกัมพูชา ๒.๒.๙ ฝ่ายไทยได้เสนอคำท้วงติง คือ - ฝ่ายไทยได้ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่า แผนที่หมายเลข ๑ นั้น ฝรั่งเศสเป็นผู้ทำฝ่ายเดียว และเส้นเขตแดนที่ปรากฏตามโครงวาดดังกล่าว ไม่อาจนำมาใช้ผูกพันแทนสนธิสัญญาได้ - ปัญหาเชื้อชาติที่กัมพูชาอ้างนั้นปัจจุบันก็ยังมีคนเขมรมากมายในเขตไทย และคนเขมรเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพลเมืองไทย - ตัวปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นฝีมือของชาวขอมเช่นเดียวกับปราสาทนครวัด ดังนั้น จึงต้องเป็นของกัมพูชานั้นอารยธรรมของขอม ได้แพร่เข้ามายังประเทศไทยอีกมากมาย เช่น ปราสาท หินพิมาย ปราสาทหินที่ลพบุรี เป็นต้น การอ้างดังกล่าว จึงไม่เป็นการถูกต้อง - ฝ่ายไทยได้สรุปที่มาของแผนที่ ประกอบคำฟ้องหมายเลข ๑ อีกมากที่จะชี้ให้เห็นว่า เป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศส ทำแต่ฝ่ายเดียว - ตามที่กัมพูชาอ้างแผนที่กรมแผนที่ทหารบกทำนั้นฝ่ายไทยได้เสนอหลักฐานว่า กัมพูชาบิดเบือนความจริงที่ถูกต้อง แผนที่ดังกล่าวสำรวจในปี ค.ศ.๑๙๓๔ (พ.ศ.๒๔๗๗) ได้แสดงว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตไทย - ฝ่ายไทยได้เสนอแผนที่ทันสมัยที่เขียนจากรูปถ่ายทางอากาศ ซึ่งได้รับการรับรองจาก ศาสตราจารย์ สเกมา ฮอน คณบดีศูนย์ฝึกการสำรวจทางอากาศระหว่างประเทศ ณ เมืองเดลฟท์ ว่าแนวสันปันน้ำอยู่ทางทิศใต้ของปราสาทพระวิหาร - สรุปแล้ว ประเด็นที่ใช้ในการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเหลือประเด็นเดียว ที่มีผลตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ สนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) และ ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ที่กำหนดไว้ว่า "จากจุดบนภูเขาพนมดงรักที่ว่านี้ไป เส้นเขตดินแดนตามสันปันน้ำ ............" ๒.๒.๑๐ คำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อ ๑๕ มิ.ย.๐๕ ได้ตัดสินโดยการลงคะแนน ดังนี้ - เก้าเสียง ต่อสามเสียง ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา - เก้าเสียง ต่อสามเสียง ลงความเห็นว่า ไทยต้องถอนทหารและตำรวจที่ประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารออกให้พ้นเขตกัมพูชา - เจ็ดเสียง ต่อห้าเสียง ให้ไทยคืนวัตถุโบราณต่าง ๆที่โยกย้ายไปจากปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา - มีสามเสียง ที่มีความเห็นแย้งคือ นายมอเรโน กินตานา ชาวอาร์เจนตินา นายเวลลิงตัน คู ชาวจีน (ไต้หวัน) และเซอร์ เพอซี เสปนเดอร์ ชาวออสเตรเลีย ๒.๒.๑๑ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่ได้ระบุในคำตัดสินถึงแนวเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง แน่ชัดในพื้นที่ดังกล่าว เพราะแม้ศาลโลกได้สรุปว่า ต้องใช้แผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม - อินโดจีน ฝรั่งเศส มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ เป็นเหตุผลในการวินิจฉัย แต่ศาลก็ชี้ชัดว่า ข้อเรียกร้องของกัมพูชาที่ขอให้ศาลประกาศนิติฐานะของเส้นเขตแดน ตามแผนที่ดังกล่าวนั้น ศาลสามารถพิจารณาให้ได้เฉพาะในขอบเขตที่เป็นเครื่องแสดงเหตุผลเท่านั้น และไม่ใช้ฐานเป็นข้อเรียกร้องที่จะตัดสินให้ในข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ๒.๓ การปฏิบัติของรัฐบาลไทย ๒.๓.๑ รัฐบาลไทยได้แถลงว่า ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว แต่ในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ไทยก็จะปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ อันเป็นผลมาจากคำพิพากษาตามข้อ ๙๔ ของกฎบัตรสหประชาชาติ โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๑๐ ก.ค.๐๕ รัฐบาลไทยได้คืนตัวปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชา โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่คืนให้แก่ฝ่ายกัมพูชาทางทิศเหนือที่ระยะ ๒๐ เมตร จากบันไดนาค ไปทางทิศตะวันออกจนถึงช่องบันไดหัก และทิศตะวันตกที่ระยะ ๑๐๐ เมตร จากแกนของตัวปราสาทไปทางทิศใต้ จนจรดขอบหน้าผา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้แจ้งการปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว แก่เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อ ๑๓ ก.ค.๐๕ และยึดถือเขตแดนบริเวณนี้ ตามที่กำหนดข้างต้นตลอดมา ๒.๓.๒ ข้อสงวนของรัฐบาลไทย ในหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติดังกล่าวได้แจ้งด้วยว่าไทยขอตั้งข้อสงวนสิทธิใด ๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจจะมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่ หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ข้อสงวนที่รัฐบาลไทยได้ตั้งไว้มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมถึงธรรมนูญศาลทั้งหมด รวมทั้ง ข้อ ๖๐ ซึ่งไม่มีการจำกัดเวลา ๑๐ ปี เช่นข้อ ๖๑ นอกจากนั้นยังคลุมถึงกฎบัตรสหประชาชาติทั้งฉบับ โดยเฉพาะข้อ ๓๓ ที่เปิดโอกาสให้คู่กรณีแสวงหาช่องทาง ระงับกรณีพิพาทโดยสันติวิธี เช่น อนุญาโตตุลาการ คณะกรรมการไกล่เกลี่ย ฯลฯ ๒.๔ การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ระหว่างไทย - กัมพูชา ๒.๔.๑ ลักษณะแนวเขตแดนทางบกไทย กัมพูชา แนวเขตแดนตลอดแนว มีความยาวประมาณ ๗๙๘ กิโลเมตร แบ่งเป็นตามแนวเส้นตรงประมาณ ๕๘ กิโลเมตร ตามแนวลำน้ำประมาณ ๒๑๖ กิโลเมตร และตามแนวสันปันน้ำประมาณ ๕๒๐ กิโลเมตร แบ่งออกเป็น - เริ่มตั้งแต่จุดร่วมเขตแดนสามประเทศคือไทย - กัมพูชา - ลาว บริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานีไปตามทิวเขาพนมดงรักผ่านจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์จนถึงรอยต่อจังหวัดบุรีรัมย์กับจังหวัดสระแก้ว (บริเวณหลักเขตแดนที่ ๒๘) เขตแดนใช้แนวสันปันน้ำของทิวเขาพนมดงรักเป็นเส้นเขตแดน รวมความยาวประมาณ ๓๖๔ กิโลเมตร - เริ่มตั้งแต่หลักเขตแดนที่ ๑๘ เส้นเขตแดนไปตามลำคลองสลับกับแนวเส้นตรงไปจนถึงต้นน้ำของทิวเขาบรรทัดทอง (ใกล้หลักเขตที่ ๖๘) ผ่านจังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรี รวมความยาวประมาณ ๒๗๓ กิโลเมตร - เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคลองน้ำใส (รอยต่อจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราด)เส้นเขตแดนไปตามแนวสันปันน้ำของทิวเขาบรรทัดในเขตจังหวัดตราดผ่านหลักเขตแดนที่ ๖๙ ไปจนถึงหลักเขตแดนที่ ๗๒ ความยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร และจากหลักเขตแดนที่ ๗๒ เขตแดนเป็นเส้นตรงจนถึงหลักเขตแดนที่ ๗๓ อำเภอ คลองใหญ่ จังหวัดตราด ความยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร ๒.๔.๒ การปักปันเขตแดนไทย - กัมพูชา ในอดีต เขตแดนไทย - กัมพูชา ได้เคยมีการปักปันเขตแดนร่วมกันในภูมิประเทศ โดยมีหลักฐานทางกฎหมายที่ผูกพันมาถึงปัจจุบัน ดังนี้ - อนุสัญญา ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสแก้ไขเพิ่มเติมข้อบทสนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒ (ค.ศ.๑๘๙๓ หรือ พ.ศ.๒๔๓๖) ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๒ (ค.ศ.๑๙๐๔ หรือพ.ศ.๒๔๔๗) - สนธิสัญญา ระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฉบับลงนาม ณ กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ.๑๒๕ (ค.ศ.๑๙๐๗ หรือ พ.ศ.๒๔๕๐) กับพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดนแนบท้ายสนธิสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ.๑๒๕ -แผนที่ ที่จัดทำตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ จำนวนเจ็ดระวาง ซึ่งจัดทำขึ้นตามอนุสัญญา ฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) สองระวาง และสนธิสัญญา ฉบับปี พ.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ห้าระวาง และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญา ฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) และสนธิสัญญา ฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส - หลักเขตแดน ได้มีการจัดทำหลักเขตแดนในภูมิประเทศร่วมกันให้เป็นไปตามสนธิสัญญา ฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ลักษณะของเขตแดนเป็นหลักไม้โดยเริ่มปักตั้งแต่ช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ (รอยต่อระหว่างจังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดศรีสะเกษ เป็นหลักเขตแดนที่ ๑ ไปตามสันปันน้ำของทิวเขาพนมดงรักไปจนถึงอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นหลักเขตแดนที่ ๗๓ รวมปักปันเขตแดนจำนวน ๗๓ หลัก และหลักเขตแดนย่อยอีก ๒ หลัก (เสริมระหว่างหลัก ๒๒ และ ๒๓) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ทั้งสองฝ่ายได้สร้างหลักเขตแดนใหม่หมดเป็นคอนกรีตทั้ง ๗๓ หลัก แต่ไม่ได้สร้างตรงตำแหน่งเดิมมีการขยับไปตำแหน่งใกล้เคียงที่เหมาะสมและได้ทำบันทึกวาจาการปักหลักหมายเขตแดน (Proces - Verbal ) ของแต่ละหลักเขตไว้ด้วย ๒.๔.๓ การสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบกร่วมไทย - กัมพูชา ไทย- กัมพูชา ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ ( Memorandum of Understanding ) ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก เมื่อ ๑๔ มิ.ย.๔๓ ให้มีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกตลอดแนวร่วมกันให้เป็นไปตามหลักฐานทางกฎหมายที่ผูกพันมาในอดีตทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้มีการดำเนินการดังนี้ - แต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Boundary Commission JBC ) ฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายกัมพูชามีนายวาร์ คิม ฮอง เป็นประธาน เพื่อรับผิดชอบให้การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้เป็นไปตามหลักฐานทางกฎหมาย - แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเทคนิคร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Technical Sub - Commission JTSC ) ฝ่ายไทยมีเจ้ากรมแผนที่ทหารฝ่ายกัมพูชามีนายลอง วิสาโล เป็นประธาน เพื่อรับผิดชอบในแนวการปฏิบัติงานของคณะ JBC จัดทำแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดน (Term of Reference : TOR ) เพื่อใช้เป็นกรอบทางเทคนิคในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในครั้งนี้ ๒.๔.๔ ขั้นตอนการสำรวจ มีอยู่ ๕ ขั้นตอนด้วยกันคือ - ขั้นตอนที่ ๑ ค้นหาที่ตั้งหลักเขตแดนทั้ง ๗๓ หลัก เมื่อตกลงที่ตั้งของแต่ละหลักได้แล้ว จะทำการซ่อมแซมในกรณีที่ชำรุด และสร้างขึ้นใหม่ในกรณีที่สูญหายหรือถูกเคลื่อนย้าย - ขั้นตอนที่ ๒ จัดแผนที่ภาพถ่าย (Orthophoto Map ) เป็นการทำแผนที่ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศตามแนวเขตแดนทางบกตลอดแนว โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพดาวเทียม เพื่อช่วยในการสำรวจตามแนวเขตแดนในภูมิประเทศ โดยอาจจะใช้เวลาจัดทำประมาณหนึ่งปี โดยการจ้างประเทศที่สาม - ขั้นตอนที่ ๓ กำหนดแนวที่เดินสำรวจลงบนแผนที่ภาพถ่ายทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกำหนดแนวทางในการเดินสำรวจตามหลักฐานทางกฎหมายลงบนแผนที่ภาพถ่าย เพื่อเป็นแนวทางในการเดินสำรวจหาแนวเขตแดนจริงในภูมิประเทศ ให้สะดวกรวดเร็ว และมีความถูกต้อง - ขั้นตอนที่ ๔ เดินสำรวจตามแนวเขตแดนในภูมิประเทศทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเดินสำรวจในภูมิประเทศจริง เพื่อกำหนดแนวเขตแดน โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายที่เป็นตัวช่วยแบ่งเป็นตามสันปันน้ำ ตามลำคลอง และเป็นเส้นตรง พร้อมทั้งกำหนดจุดที่จะก่อสร้างเขตแดนไปด้วย (ทุกระยะ ๕ กม.โดยประมาณ) - ขั้นตอนที่ ๕ สร้างหลักเขตแดน โดยแบ่งตามลักษณะของแนวเขตแดนคือ ส่วนที่เป็นสันปันน้ำ สร้างหลักบนสันปันน้ำ ส่วนที่เป็นลำคลองสร้างหลักบนตลิ่งของลำคลองส่วนเป็นที่เป็นเส้นตรง สร้างหลักตามแนวเส้นตรง ๒.๔.๕ ลำดับพื้นที่การสำรวจร่วมไทย - กัมพูชา - ตอนที่ ๔ เริ่มจากหลักเขตแดนที่ ๔๙ - ๒๓ - ตอนที่ ๓ เริ่มจากหลักเขตแดนที่ ๕๐ - ๖๖ - ตอนที่ ๒ เริ่มจากหลักเขตแดนที่ ๖๗ - ๗๑ - ตอนที่ ๕ เริ่มจากหลักเขตแดนที่ ๗๒ - ๗๓ - ตอนที่ ๖ เริ่มจากหลักเขตแดนที่ ๑ ถึง เขาสัดตะโสม - ตอนที่ ๗ เริ่มจากเขาสัตตะโสม ถึงช่องบก ๒.๕ เขตแดนระหว่างประเทศ ๒.๕.๑ นิยามศัพท์ - เขตแดน ( Boundary ) มีความหมายเป็นสามนัยคือ ขอบเขตเส้นแบ่งเขตและเขตแดนระหว่างประเทศ ในความหมายของเขตแดนระหว่างประเทศหมายถึง เส้นที่สมมุติขึ้นโดยประเทศทวิภาคี เพื่อกำหนดเป็นขอบเขตให้รู้ว่าอำนาจอธิปไตยของตนมาสิ้นสุดที่เส้นนี้ เส้นสมมุติดังกล่าวอาจเขียนขึ้นบนแผนที่ หรือแสดงด้วยถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ จะแสดงหลักฐานบนพื้นดิน เช่น ปักหลักเขตแดนด้วยหรือไม่ก็ได้ - แนวพรมแดน ( Frontier) เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวของสองประเทศไปตามเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไม่มีข้อกำหนดว่า จะลึกเข้าไปด้านละเท่าไร - ชายแดน ( Border ) คือพื้นที่ที่ซึ่งนับจากเส้นเขตแดนระหว่างประเทศเข้าไปในดินแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่มีข้อกำหนดว่าจะลึกเข้าไปเท่าใด - ดินแดน ( Territorial ) คือพื้นที่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งถูกกำหนดขึ้นด้วยเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ ผู้มีอำนาจปกครองมีอธิปไตยเหนือดินแดนนั้น ทุกประการ - เส้นปันน้ำ ( Watershed ) คือลักษณะของพื้นดินที่สูงกว่าบริเวณอื่นที่ต่อเนื่องกันเมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำออกเป็นสองส่วน เช่น สันเขาที่ต่อเนื่องกันโดยไม่มีลำน้ำตัดผ่าน - สันเขา ( Ridge ) คือ ลักษณะของทิวเขาในส่วนที่สูงที่สุดซึ่งยาวต่อกันเป็นพืด จะขาดตอนเป็นช่วง ๆ หรือต่อกันเป็นพืดยาวก็ได้ถ้าต่อเป็นพืดยาวจะเรียกว่า สันปันน้ำ - ร่องน้ำลึก ( Thalweg) เป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วนภาษาอังกฤษใช้คำว่า Deepest water chanel คือ ร่องน้ำลึกที่สุดและต่อเนื่องกันในท้องน้ำ - กลางลำน้ำ ( Mid river ) คือจุดกลางของแนวที่ลากจากฝั่งลำน้ำหนึ่ง มายังอีกฝั่งหนึ่งในลักษณะที่ทำมุมกับฝั่งใกล้เคียงมุมฉากมากที่สุด - การเปลี่ยนทางเดินของลำน้ำอย่างฉับพลัน ( Avulsion ) คือการที่ลำน้ำที่ใช้เป็นเส้นเขตแดนเปลี่ยนร่องน้ำไปจากเดิมในลักษณะคุ้งน้ำถูกตัดขาดหรือช่วงใดช่วงหนึ่งของลำน้ำเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างฉับพลันในช่วงน้ำหลากในฤดูเดียว ลักษณะเช่นนี้ เส้นเขตแดนยังไม่เปลี่ยนแปลง - การเปลี่ยนทางเดินแบบค่อยเป็นค่อยไป ( Erosion ) คือการที่ลำน้ำที่ใช้เป็นเส้นเขตแดน เปลี่ยนร่องน้ำไปจากเดิมในลักษณะน้ำกัดเซาะฝั่งให้พังทลายไปทีละเล็กละน้อย ถ้าประเทศเจ้าของชายฝั่งไม่ทำการอนุรักษ์ฝั่งสภาพเส้นเขตแดนก็เป็นไปตามลำน้ำที่ปรากฏในปัจจุบัน - หลักเขตแดน ( Boundary Pillar ) คือสิ่งที่แสดงไว้บนเส้นเขตแดน ในลักษณะเป็นหลัก โดยเจ้าหน้าที่ของประเทศทั้งสองได้รับมอบหมายให้ทำขึ้นเพื่อแสดงให้รู้ว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน - หลักอ้างอิงเขตแดน ( Boundary Reference ) คือหลักในลักษณะของหลักเขตแดน แต่ไม่ได้ปักไว้บนเส้นเขตแดนแต่สามารถใช้อ้างอิงให้รู้ว่า เส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน ๒.๕.๒ วิธีกำหนดเส้นเขตแดน - เส้นเขตแดนที่ยอมรับกันโดยพฤตินัย ( Non Agreement Boundary ) คือ เส้นเขตแดนระหว่างประเทศสองประเทศที่เกิดขึ้นและยอมรับโดยพฤตินัย ประเทศคู่ภาคีไม่เคยมีการทำความตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างกันเจ้าหน้าที่และราษฎรในท้องถิ่นเท่านั้น จะรู้ว่าเส้นเขตแดนของตนอยู่ที่ใด - เส้นเขตแดนที่กำหนดอย่างเป็นทางการ ( Agreement Boundary ) คือ เส้นเขตแดนที่ทวิภาคี ที่มีดินแดนต่อเนื่องทำความตกลงกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีความตกลงนั้นจะทำในรูปของเอกสารประกอบข้อตกลง เส้นแสดงเขตแดนบนแผนที่ ( Boundary on Map) และสร้างหลักเขตไว้ในภูมิประเทศ ( Boundary Pillars on Terrain Feature ) การกำหนดเขตแดนเป็นทางการนี้ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลจะต้องมีการแลกเปลี่ยนหนังสือมอบอำนาจ ( Credentials ) ก่อนจึงจะมีอำนาจในการลงนามในเอกสาร หรือแผนที่ดังกล่าว แต่ยังไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศจนกว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน ( Ratify ) กันอีกครั้งหนึ่ง ๒.๕.๓ หลักนิยมในการกำหนดเขตแดนบนพื้นดิน - ใช้สิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ ( Natural Barrier ) ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง ลำห้วย โดยมีหลักนิยมว่า ถ้าเรือเดินได้นิยมใช้ร่องน้ำลึก ถ้าเรือเดินไม่ได้ อาจใช้กลางลำน้ำ หรือร่องน้ำลึกก็ได้ หรือตามแต่จะตกลงกัน - กำหนดโดยสภาพสังคม เช่น มีการแบ่งเขตแดนกันตามเผ่าพันธุ์ของประชาชน ที่ครอบครองพื้นที่เหล่านั้นอยู่ - กำหนดโดยใช้คณิตศาสตร์ เป็นการขีดเส้นเขตแดนเป็นเส้นตรงตามค่าพิกัดภูมิศาสตร์ ซึ่งได้แก่ค่าเส้นรุ้ง (Latitude ) และเส้นแวง (Longitude ) ๒.๖ องค์กรระหว่างประเทศ ไทย - กัมพูชา ในการแก้ปัญหาชายแดน ๒.๖.๑ คณะกรรมาธิการร่วมไทย - กัมพูชา (Thai Cambodian Joint Commission JC ) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม ฝ่ายไทยมีอธิบดีกรมเอเซียตะวันออกเป็นเลขานุการ มีภารกิจในการแก้ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาทุกเรื่อง ยกเว้นด้านความมั่นคง ๒.๖.๒ คณะกรรมาธิการชายแดนไทยร่วมไทย - กัมพูชา ( Thai Cambodian Joint Boundary Commission JBC )ไทยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมกับที่ปรึกษารัฐบาลรับผิดชอบกิจการชายแดนของกัมพูชา ฝ่ายไทยมีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นเลขานุการรับผิดชอบในการกำหนดแนวทางในการสำรวจจัดหาทำหลักเขตแดนไทย กัมพูชาทางบก ๒.๖.๓ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee GBC ) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทั้งสองฝ่ายเป็นประธานกรรมการร่วม ฝ่ายไทยมีเจ้ากรมยุทธการทหาร เป็นเลขานุการ ๒.๖.๔ คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนไทย กัมพูชา ฝ่ายไทยมี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธานร่วมกับประธานคณะเสนาธิการกองทัพอากาศแห่งชาติกัมพูชาเป็นประธานฝ่ายกัมพูชา ฝ่ายไทยมีหัวหน้าศูนย์อำนวยการร่วม บก.ทหารสูงสุดเป็นเลขานุการ ๒.๖.๕ คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคด้านกองทัพภาค ๑ ของไทยและภูมิภาคทหารที่ ๕ ของกัมพูชา ฝ่ายไทยมีแม่ทัพภาคที่ ๑ เป็นประธานร่วมกับผู้บัญชาภาคทหารที่ ๕ เป็นประธานฝ่ายกัมพูชา ฝ่ายไทยมีเสนาธิการกองทัพภาคที่ ๑ เป็นเลขานุการ ๒.๖.๖ คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคด้านกองทัพภาคที่ ๒ ของไทยและภูมิภาคทหารที่ ๔ ของกัมพูชา ฝ่ายไทยมีแม่ทัพภาคที่ ๒ เป็นประธาน ฝ่ายกัมพูชามีผุ้บัญชาการภาคทหารที่ ๔ เป็นประธาน ฝ่ายไทยมีเสนาธิการกองทัพภาคที่ ๒ เป็นเลขานุการ ๒.๖.๗ คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคด้านกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรี ตราด ของไทย กับด้านภูมิภาคทหารที่ ๓ ของกัมพูชา ฝ่ายไทยมีผู้บัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรี - ตราด เป็นประธานร่วมกับผู้บัญชาการภาคทหารที่ ๓ ของกัมพูชา ฝ่ายไทยมีเสนาธิการกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรี - ตราด เป็นเลขานุการ
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |