อุปสรรคที่หนักที่สุด ของการลงทุนในลาวคืออะไร?

0

คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง
โดย ธีรภัทร เจริญสุข
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน

 

เวลาที่มีผู้มาขอคำแนะนำจากผู้เขียนในการลงทุนที่ สปป.ลาว

มักจะถามคำถามนี้ปิดท้ายเสมอ ซึ่งเป็นคำถามที่หากไม่ได้มาประสบพบเจอจริงๆ คงจะหาคำตอบได้ยาก

ผู้เขียนเอง เมื่อได้ข้ามไปมาทำธุรกิจอยู่ใน สปป.ลาว พบว่า อุปสรรคปัญหาหนักที่สุดในการมาลงทุนที่ สปป.ลาวคือ การหาบุคลากรที่มีคุณภาพมาดำเนินการตามแผนงานที่ตั้งเป้าไว้

ต้องบอกกันตามตรงอย่างไม่กลัวมิตรสหายชาวลาวโกรธเลยว่า มาตรฐานคุณภาพการศึกษาของลาวนั้นยังต่ำอยู่มาก

มาตรฐานการศึกษาที่ต่ำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเนื้อหาการเรียนการสอนที่ไม่ดี หรือครูอาจารย์ไม่ดี เพราะเมื่ออ่านตำราแล้วถือว่าตำราเรียนมีเนื้อหาครอบคลุมและกว้างขวาง หลักสูตรก็ใช้ได้ แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่การวัดผลประเมินผลและการฝึกปฏิบัติอบรมจริง ที่สุดท้ายแล้วปล่อยนักเรียนที่ไม่ได้คุณภาพให้สำเร็จการศึกษาออกมา แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการของลาวยังยอมรับผลการประเมินว่า นักเรียนนักศึกษา โดยเพาะนักเรียนนักศึกษาระดับชั้นสูง (มัธยมปลาย หรือ วิทยาลัยวิชาชีพ) จบออกมาแล้วมีคุณภาพเหมาะสมกับตลาดงานจริงเพียง 15% ของจำนวนที่จบการศึกษาทั้งหมด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถาบันการศึกษาเอกชนที่เปิดกันเป็นดอกเห็ดในสี่ห้าปีหลัง ผลิตนักเรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพออกมามาก แต่นักเรียนที่จบไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะทำงานได้

เว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กของชุมชนชาวลาว ได้นำเสนอวิธีกลโกงในการสอบ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ภาครัฐเข้าไปมีบทบาทในการแก้ปัญหา และเข้มงวดกวดขันเพื่อให้การวัดผลประเมินผลผ่านการสอบ หรือที่ภาษาลาวเรียกว่า “เส็ง” ให้ได้คุณภาพมากที่สุด รวมถึงกำจัดการหลอกลวงฝากเข้าเรียน หรือหลอกลวงเสียเงินทุจริตเพื่อให้สอบผ่าน

ผลที่ได้คือรีเซปชันโรงแรมไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีพอ พนักงานบัญชีคำนวณบัญชีไม่เป็น บางครั้งถึงกับคิดเลขง่ายๆ โดยไม่ใช้เครื่องคิดเลขไม่ได้ ช่างไฟ ไม่สามารถต่อสายไฟและจัดการอย่างซับซ้อน ช่างอินเตอร์เน็ตและผู้ดูแลระบบไม่สามารถตั้งค่าและแก้ไขปัญหาในระบบได้

การให้แรงจูงใจโดยการให้เงินเพิ่ม หรือโบนัสโอทีล่วงเวลา ใช้ได้ยากใน สปป.ลาว เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว แรงงานลาวจะเห็นความสบายเป็นสำคัญ อยากกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวสบายๆ มากกว่าความก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือรายรับที่จะได้เพิ่มเติม ถ้าให้ฟรีจะเอา แต่ให้ทำงานเพิ่มไม่เอา

ที่แย่ที่สุด คือการไม่มีความเป็นมืออาชีพ รับปากแล้วไม่ทำตามที่ให้สัญญาหรือกำหนดไว้ แล้วไม่ตอบกลับมาว่าเกิดเหตุขัดข้องอะไรหรือมีปัญหาอะไรจนถึงเส้นตายหรือวันที่จำเป็นต้องทำงานส่งงานจริงๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการทำงานอย่างมาก ทำให้ต้นทุนความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และต้องเผื่อส่วนความไม่แน่นอนไว้อย่างสูง เนื่องจากเมื่อเราติดตามงาน มักจะพบกับการตอบคำถามแบบปัดภาระไปให้พ้นๆ ตัว มากกว่าการกระตือรือร้นหาคำตอบที่แท้จริงมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้เสร็จลุล่วงลงไป

หลายครั้งที่ผู้เขียนพบกับปัญหาทางเทคนิคของสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ และต้องติดต่อเพื่อซ่อมแซมและแก้ไข กลับต้องล่าช้าและเสียเวลาไปหลายวันเพื่อตามหาผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งการที่แท้จริง จากพนักงานที่ปัดความรับผิดชอบไปมาโดยไม่มีใครสนใจถึงความเดือดร้อนของผู้บริโภค คนลาวนั้นใจดีพร้อมจะให้ความช่วยเหลือโดยไม่ได้ร้องขอ แต่หน้าที่ที่ควรจะทำนั้นกลับไม่ค่อยยอมทำกัน เป็นเรื่องปริศนาที่มิตรสหายชาวต่างชาติที่มาทำธุรกิจทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และชาวตะวันตกต่างงุนงงสงสัย

ทางที่ดี ระยะแรกที่มาเปิดกิจการในลาว ให้หาพนักงานบุคลากรชาวไทย หรือชาติอื่นที่มั่นใจว่าทำงานได้มาทำงาน ก่อนที่จะค่อยๆ ฝึกอบรมจิตบริการให้แก่พนักงานลาวอย่างเข้มข้นสักระยะ จะดีกว่ามาหาพนักงานลาวเกือบทั้งหมดในตอนแรกครับ มิฉะนั้น การเริ่มธุรกิจของท่านคงต้องเหนื่อยหนักถึงขั้นเสียศูนย์แน่นอน

ขอบคุณเนื้อหาจาก ประชาชาติธุรกิจ

เชิญแสดงความคิดเห็น