สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
คำว่า "อ่างขาง" ในภาษาเหนือหมายถึง อ่างรูปสี่เหลี่ยมตามลักษณะของดอยอ่างขางซึ่งเป็นดอยที่มีรูปร่างของหุบเขายาวล้อมรอบประมาณ ๕ กิโลเมตร กว้างประมาณ๓ กิโลเมตร ตรงกลางหุบเขาเดิมเป็นภูเขาสูง เช่นเดียวกับเขาที่ล้อมรอบอยู่แต่เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูน เมื่อถูกน้ำฝนชะก็จะค่อย ๆ ละลายกลายเป็นโพรงแล้วยุบตัวลงกลายเป็นแอ่ง มีพื้นที่ราบความกว้างไม่เกิน ๒๐๐ เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ ตามลักษณะงานวิจัยอันได้แก่สวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว สวนไม้ผลและผักเมืองหนาว ตัดถนนเป็นรูปวงแหวนใช้เป็นเส้นทางหลักซึ่งจะมาบรรจบกันที่สวนบอนไซ และมีถนนแยกออกไปทางด้านหน้าของสถานี ผมขอย้อนกลับไปสู่การเดินทางมายัง ดอยอ่างขางเสียก่อนแล้วจึงจะกลับมายังโครงการหลวงใหม่ผมคงเดินทางด้วยรถยนต์เช่นเคย ออกจากกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ ๐๖.๐๐ เพราะไปในกลางฤดูหนาวไปเร็วกว่านี้อากาศก็ยังมืดขับรถไม่สนุกนักสำหรับผู้สูงอายุ แต่ไปหกโมงเช้าเริ่มสว่างอากาศเย็นสบาย ขับไม่ต้องรีบร้อน พักกินข้าวกลางวันที่อำเภอเถิน แล้ววิ่งรวดเดียวถึงเชียงใหม่ความจริงแล้วตั้งใจว่าจะออกจากเถินแล้วไปเชียงใหม่ทางอำเภอลี้ บ้านโฮ่ง ป่าซางลำพูน ซึ่งผมไม่เคยไปเส้นนี้มานานร่วมสามสิบปีแล้ว ซึ่งเขาบอกว่าทางดีหมดแล้วราดยางตลอดสายแม้จะขึ้นเขาถนนก็ไม่ลาดชันมาก ไม่เหมือนสมัยเมื่อสามสิบกว่าปี สมัยที่ผมรับราชการอยู่เชียงใหม่ถนนสาย เชียงใหม่ - ลำปาง ยังไม่มีกำลังเริ่มโครงการ ตัองขับรถจิ๊ปทหารพ่วงรถพ่วงเอาน้ำมันใส่ถังสองร้อยลิตรใส่รถพ่วงมาด้วยเพราะตลอดทางนับร้อยกิโลเมตรสมัยนั้นจะไม่มีปั๊มน้ำมันเลย และถนนราดยางก็อย่าไปหาเสียให้ยากเป็นถนนลูกรังแคบ ๆ ทั้งสิ้น แต่วันนี้ยังไม่ได้ไปทางอำเภอลี้อีก เพราะมีธุระทางเชียงใหม่ต้องไปให้ถึงก่อนเวลา๑๗.๐๐ กินข้าวที่เถินแล้วก็ออกเดินทางต่อไปเชียงใหม่ พักค้างคืนที่เชียงใหม่๑ คืน พอรุ่งขึ้นเช้าก็ไปรับคณะใหญ่ ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่คือ คณะเพื่อนร่วมรุ่นของเลขาตลอดกาลของผมคณะศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ฯ รุ่นคุณป้า คุณย่า คุณยายทั้งสิ้น หากมีสาวน้อยมาร่วมด้วยก็คือ รุ่นลูกหลาน ที่ตามมาคอยประคองญาติผู้อาวุโส ซึ่งคณะนี้ได้ยกฐานะให้ผมเป็นหัวหน้าทัวร์ประจำรุ่นวันนี้ให้พาทัวร์อ่างขาง ส่วนผมเองผมมีกิจบนดอยอ่างขาง ตามคำเชิญของผู้ตรวจโครงการหลวงอ่างขางคุณกังวาล เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งภริยาเป็นถึงศาสตรจารย์และอยู่ในรุ่นนี้เช่นกันรถไฟมาถึงเชียงใหม่ตามปกติคือ ช้าไปประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อผมยังรับราชการอยู่ภาคใต้นั้นเขาถือว่าหากรถไฟเข้าตามปกติคือต้องช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ หากเข้าถึงสถานีทุ่งสงตามเวลาถือว่าวันนี้ผิดปกติคนที่เขาอยู่เชียงใหม่เขาบอกว่าคำนี้ยังใช้ได้อยู่ คือตรงเวลาถือว่าผิดปกติวันนี้ช้าไปครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็จับลูกทัวร์ขึ้นรถตู้ที่เช่ามาจำนวน ๖ คันออกเดินทางกันทันที ที่หมายคือ ร้านอาหารคูเจริญชัย อำเภอฝาง ที่เคยเขียนแนะไปแล้วจากเชียงใหม่วิ่งผ่านอำเภอเชียงดาว ถนนที่ผ่านตัวอำเภอจะผ่านร้านขาหมูเสวยพรเพ็ญ ซึ่งกินกันมานานกว่า ๒๐ ปี และอาฆาตไว้ว่าเที่ยวขากลับจะยกขบวนมาชิมที่ร้านนี้จากเชียงดาววิ่งต่อไปไม่มีการพัก พอถึงหลักกิโลเมตร ๙๕.๕ โดยประมาณ ทางขวามือคือร้านของโครงการหลวง ขายพืชผัก ของโครงการ ขายอาหารด้วย ที่ต้องแวะเพราะลูกทัวร์กำลังเกิดอาการหน้าเขียวหน้าเหลืองเพราะกลั้นกันมานานพอสมควรต่อจากนั้นก็จะวิ่งผ่านทางแยกซ้ายที่จะขึ้นดอยอ่างขางไปก่อน เพื่อไปกินอาหารกลางวันที่ร้านคูเจริญชัยในตัวอำเภอฝาง วิ่งตรงเข้าตัวอำเภอผ่านสี่แยกไฟสัญญาณไปแล้ว ร้านอยู่ทางขวามือติดกับร้านทองเยื้องกับวัดเจดีย์งามที่เมื่ออิ่มข้าวแล้วควรไปแวะ เพราะแม้จะเป็นวัดสร้างใหม่คงไม่เกิน๕๐ ปี แต่งามสมชื่อ จบอาหารกลางวันคุณกังสดาลก็พาไปยังสวนสมธนาทร ถามทางเขาดูคงจะง่ายกว่าที่ผมจะบอกให้และผมเองก็ไม่แม่นนักเพราะไม่เคยไปมาก่อนและไม่ได้ขับรถเองแถมนั่งรถตู้มองเห็นแต่หัวของคนขับรถไปตลอดทาง สวนส้มธนาทร มีเนื้อที่ประมาณ ๔๐๐ ไร่ ตกแต่งสวยงามมาก หมายถึงงามด้วยสวนส้มที่ออกลูกเต็มไปหมดสีเหลืองอร่าม มีพันธุ์เบอร์ ๑ พันธุ์สายน้ำผึ้ง โชกุนไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่ที่นี่ให้ชมเท่านั้นไม่ขาย ส่วนขายนั้นอยู่ทางเข้าอำเภอเยื้องกับถนนที่แยกขวาไปอำเภอแม่สรวย จากสวนส้มธนาทร ไปยังวัดพระธาตุเฉลิมพระเกียรติ บอกทางไปไม่ถูกอีกนั่นแหละวัดนี้เจ้าอาวาสวัดเจดีย์งามเป็นผู้นำในการสร้าง ยังไม่เรียบร้อยดี อยู่บนยอดเนินและสร้างพระพุทธรูปประทับยืนไว้บรรจุองค์พระธาตุไว้ในองค์พระพุทธรูปมีศาลาเจ้าแม่กวนอิมสร้างไว้งดงามมาก จบจากกินข้าวกลางวัน ไปสวนส้ม ไปวัดพระธาตุเฉลิมพระเกียรติก็ถึงคราวจะขึ้นดอยอ่างขางแต่หากมีเวลาต้องไปให้ได้คือ อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เพื่อไปชมน้ำพุร้อน และธารน้ำเย็นที่ไหลพุ่งลงมาอยู่ห่างจากตัวอำเภอ ๙ กิโลเมตร ย้อนกลับมาอีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตรก็จะถึงทางแยกเข้าถนนขึ้นดอยอ่างขาง ระยะทางถึงโครงการหลวง๒๖ กิโลเมตร โดยประมาณ ถนนราดยางตลอดสายแต่หลายจุดจะหักชันขึ้นเป็นข้อศอกเลยทีเดียวรถต้องกำลังดีจึงไม่มีรถบัสขึ้นได้ แต่รถตู้ขึ้นได้สบาย ก่อนถึงหน้าโครงการหลวงทางขวามือคือรีสอร์ทธรรมดอยอ่างขาง ผมเคยพักที่นี่ เช้า ๆ ออกไปวิ่งหรือเดินไล่งับหมอกได้แต่ราคาก็น่าชมประมาณ ๓,๐๐๐ บาทขึ้นไปต่อคืน ส่วนที่พักในโครงการนั้นจะถูกมากสะดวกพอสมควร หนาวเย็นเท่ากัน มีหมอกให้เดินไล่งับในตอนเช้าและหากหนาวพอเช่นตอนผมไปอุณหภูมิยามเช้าลดเหลือ๒ องศาเซ็นเซียส พอทำให้แม่คนิ้งจับตามกิ่งไม้ผล หน้าประตูเข้าโครงการคือตลาด ขายผลไม้และมากที่สุดคือ ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่มสารพัดชื่อ จำไม่ได้เช่น พลับ ลูกไหม ลูกเชอร์รี่ ลูกท้อ ที่เปลี่ยนชื่อเป็น"พีช" เพราะท้อ คนปลูกจะท้อแท้เลยเรียกว่าพีช ส่วนบ๊วยก็เช่นกัน เลยเรียกว่าบ๊วยแห่งความรัก เขียนชื่อติดไว้ที่โหลหรือปักป้ายเอาไว้ทำให้ต้องซื้อโดยเร็วนอกนั้นมีสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งพวกสมุนไพรนี้ผมว่าจังหวัดเลยชนะ เพราะมีมากราคาถูกเช่นกระชายดำเป็นต้น หลังตลาดหน้าโครงการนี้มีร้านอาหารเช้าแต่ผมยังไม่เคยชิมเพราะ ๓ มื้อผมกินที่ร้านสโมสรอ่างขางซึ่งอร่อยและราคาถูก ผ่านประตูเข้าโครงการรถเสียคันละ ๓๐ บาท ส่วนคนเสียคนละ ๒๐ บาท ให้รีบจ่ายเสียโดยเร็ว เมื่อเข้าไปแล้วเรือนทางขวามือเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่บนพื้นที่๕ ไร่ เรียกว่าชมกันเฉพาะโรงนี้แห่งเดียวก็คุ้มแล้ว ดอกไม้ที่ปลูกพร้อมดอกไม้กระถาง ที่เราจะซื้อหากลับมาได้นั้นเขาจะหมุนเวียนเอาไม้ดอกที่ออกดอกมาวางประดับไว้ตลอดปี ตกแต่งสไตล์อังกฤษที่เน้นถึงการเล่นสีสรรสามารถเดินชมความงดงามได้ตลอดโรงเรือน หากเดินเมื่อยเมื่อไร ตอนในสุดก็จะมีกาแฟชา ที่ผลิตโดยโครงการหลวง ราคาไม่แพง อร่อยด้วย ชมแล้วก็อยากแบกกลับให้หมดผมไปทีไรดูแล้วก็อาฆาตเอาไว้ พอวันกลับก็ขนซื้อมาเท่าที่จะเอามาได้ แม้อากาศกรุงเทพ ฯจะไม่ช่วยให้ออกดอกก็อยากซื้อ อย่างน้อยเท่ากับเราได้เห็นดอกไม่น้อยกว่า ๗วัน นึกเสียว่าซื้อดอกไม้สดมาปักแจกัน แต่นี่ยังดีกว่า ต้นยังเหลืออยู่ ตอนนอกมีจุดที่ขายของมีผักสดวางจำหน่ายผักของโครงการหลวงทั้งสิ้น ปลอดสารพิษ จบจากโรงเรือนไม้ดอก ไม้ประดับแล้ว ไปสวนบอนไซ และไม้แคระเมืองหนาว มีโดมอนุรักษ์และจัดแสดงพืชภูเขาเขตร้อนเรือนปลูกพืชทะเลทราย จบการชมในเรือนโรงต่าง ๆ แล้วก็ไปตามถนนที่จะเป็นถนนวงแหวนไปยังสโมสรอ่างขาง หากเรายืนหันหน้าออกจากสโมสร ทางซ้ายมือคือสวนไม้ดอกที่สวยเหลือเกินสวยงดงามตลอดปี แค่เอากล่ำปลีสีมาปลูกรวม ๆ กันก็สวยจนอธิบายไม่ถูก ส่วนทางขวามือก็คือสวนผักปลอดสารพิษกินได้จริง ๆแต่ปลูกเป็นไม้ประดับ ตรงหน้าก็สวนไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ไม้โตเร็ว สารพัดต้นไม้งดงามยาวเหยียดไปจนจรดเชิงเขา ซึ่งจะมีถนนวิ่งขึ้นไปยังหมู่บ้านขอบด้ง และนอแลได้ หากมองทางซ้ายบน ก็จะเห็นอาคารของศูนย์อบรม มิตรานุสรณ์ที่ไต้หวันมาสร้างให้และเปิดเป็นที่พักด้วยทางด้านขวาบนก็มีอาคารพัก สโมสร หรือเรียกว่า "เดอะหลิน" (รัฐบาลไต้หวันสร้างให้)มีถนนหลักเป็นวงแหวน จะมีแปลงไม้ผลเมืองหนาว เช่น พีช (ท้อ) บ๊วย (บ๊วยความรัก)พลับ สาลี่ พลัม กีวีฟรุ๊ท ลาสเบอร์รี่ แก้วมังกร (เห็นปลูกแซมไว้) มีการปลูกป่าเพื่อทดแทนเป็นไม้โตเร็วแปลงดอกไม้บริเวณพระตำหนักแปลงรับเสด็จ ทีนี้มาดูจุดท่องเที่ยวรอบ ๆ สถานีบ้าง บ้านขอบด้ง ขึ้นจากทางหน้าศูนย์ฝึกอบรมได้ ซึ่งผมลืมบอกไปว่าที่ศูนย์ฝึกอบรมนี้ใช้เป็นที่พักและหากจะจองก็ต้องจองที่๐๕๓ ๔๕๐๑๐๗ - ๙ ราคาที่พักไม่แพงแต่ผมจำไม่ได้ว่าปรับเป็นเท่าไร ยิ่งเมื่อก่อนตกหัวละ๑๕๐ บาท/คน เดี๋ยวนี้อาจจะปรับขึ้นไปบ้างเพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่รับรองว่าถูกกว่าของเอกชนมากมายรายได้เข้าสถานีทั้งหมด มีห้องพักหลายระดับลองโทรถามดู แต่ต้องจองล่วงหน้าสัก๑๕ วันเป็นอย่างน้อย มีคนไปเที่ยวกันตลอดปี นอนเต้นท์ก็มีให้เช่า เช่าแต่เครื่องนอนก็ได้ฟืนจะก่อกองไฟก็มีขายให้ จะได้ไม่ต้องไปเที่ยวเดินขโมยไม้ของโครงการ ไปขี่จักรยานก็ได้ขี่ไปบ้านหลวง จุดชมนกก็มี เพราะมีนกร่วม ๑,๐๐๐ สายพันธุ์ สถานีชมนกก็ที่ป่าแม่เผอะหรือรอบ ๆ รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขาง หรือจะไปเช่าล่อที่รีสอร์ทขี่เล่นแก้กลุ้มขี่เพื่อชมธรรมชาติก็ได้ กลับมาทางขึ้นเขาสู่บ้านขอบด้งกันใหม่ ขึ้นจากถนนหน้าศูนย์ฝึกอบรมได้เลย แต่ทางชันหน่อยแต่ผมขึ้นตามเส้นนี้ไปประมาณ ๓ กิโลเมตร ผ่านสวนผักของโครงการ ซึ่งเป็นสวนผัก แปลงสตอร์เบอรี่ปลูกตามไหล่เขา พอถึงบ้านขอบด้งอยู่ทางขวามือก็เข้าไปในหมู่บ้าน ได้ส่งเจ้าหน้าที่มานัดแนะกับทางโรงเรียนไว้ก่อนแล้วเพราะมีของมาแจกเด็กพร้อมปัจจัยด้วย บ้านขอบด้ง มีเผ่ามูเซอดำอยู่อาศัย มีโรงเรียนบ้านขอบด้ง มีนักเรียนกว่า ๒๐๐คน มีครู ๙ คน ต้องยกย่องว่าเป็นครูที่เสียสละอย่างสูง เพราะบ้านอยู่พื้นราบเช่นครูสาว (สวย) บ้านอยู่ อำเภอฝาง ครูชายอยู่กาฬสินธ์ สอบบรรจุได้ที่แม่ฮ่องสอนอยู่แม่ฮ่องสอน ๒ ปี ได้มาอยู่ที่นี่ก็ยังห่างบ้านอยู่นั่นเอง ๒ ครูเลยใช้สกุลเดียวกันเสียเลยนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม กะเหรี่ยงปะหล่อง อยู่บ้านนอแล ที่ห่างออกไปประมาณ๓ กิโลเมตร นั้นเรื่องเล็กสำหรับเด็กชาวเขา ที่โรงเรียนมีลานวัฒนธรรมเพื่อการแสดงของนักเรียนหากเราติดต่อไปล่วงหน้า ผมชอบ "ระบำปะหล่อง" วัยรุ่นเหล่านี้เต้นระบำ (ผมเรียกเอง) กันสวยดีแต่งตัวตามเผ่ากันเต็มที่ หนุ่มและสาวหรือเด็ก ปะหล่องนั้น (หากปะด่อง คือกะเหรี่ยงคอยาวอยู่แม่ฮ่องสอนใส่ห่วงทองเหลืองที่คอ)จะสวมกำไลไว้ที่เอว ทำจากหวายยางรักและกำไลโลหะสีเงินสวมไว้ที่เอวผู้หญิงเพราะเขาเชื่อว่าพวกเขาเป็นลูกหลานของนางฟ้าชื่อนางทรอยเงิน ซึ่งนางทรอยเงินได้ลงมาเมืองมนุษย์แล้วมาติดกับดักของมูเซอเข้าเลยกลับขึ้นสวรรค์ไม่ได้ลูกหลานจึงสวมกำไลเอว ส่วนพวกมูเซอนั้น มีกำไลชิบุแค ทำจากก้านดอก "ชิบุแค"ขายกันทั่วไปหมด ให้สังเกตว่ากำไลชิบุแค ราคาวงละ ๕ บาทนี้ให้ซื้อมาสัก ๑๐๐วงก็ได้ แล้ดูลวดลายที่เขาสานเถิดจะไม่เหมือนกัน ๑๐๐ % ต้องถือว่าแปลก ขายกันทั้งเด็กน้อย ๆและผู้ใหญ่อันละ ๕ บาทเท่านั้น อุดหนุนเอามาแจกเด็กทีหนึ่ง บ้านนอแล อยู่เลยบ้านขอบด้งไปสัก ๓ กิโลเมตร อยู่ติดชายแดนพม่าเลยทีเดียว ที่ชายขอบหมู่บ้านนอแลต้องมีกองทหารไทยไปตั้งอยู่๑ กองร้อย และห่างไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร มองเห็นกันเด่นชัด ทหารพม่าตั้งอยู่บนดอยที่มีภูมิประเทศ"สูงข่ม" ฝ่ายเรา แต่เขาก็เป็นพันธมิตรกันดี บ้านนอแลนี้ได้รับการอธิบายว่าจะมีพม่าความจริงคือกะเหรี่ยงปะหล่อง หนีเข้าเมืองมาทางด้านนี้แล้วก็หายลงสู่ที่ราบยังไมีมีฝ่ายบ้านเมืองฝ่ายใดมาสนใจ ทหารก็ได้แต่นั่งดูเข้าไปจัดการอะไรไม่ได้เพราะไม่ได้รบกัน ทหารตามแนวชายแดนจะมีอำนาจจัดการได้ ต้องมีประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่นั้นเสียก่อนเช่นที่บ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งพวก "ร้าย ๆ" อยากให้ยกเลิกใจจะขาดแต่ผมไปเยี่ยมไปดูแล้วขอยืนยันว่า คงต้องการประกาศกฎอัยการศึกด้านอำเภอโป่งน้ำร้อนต่อไป"ไม่งั้นพัง" สรุปว่าบ้านนอแลนักท่องเที่ยวไปกันมาก รถขึ้นสบาย ไปบ้านขอบด้งเอาขนมเอาปัจจัยไปแจกเด็กบ้าง แล้วเลยไปนอแลเอาขนมไปฝากทหารบ้างก็ดีหนาวเหลือเกิน บ้านปางม้า ห่างจากสถานีกี่กิโลเมตรไม่ทราบ บ้านนี้เป็นบ้านลูกผสมคือ มีจีนฮ่อ"ม้ง" และมูเซอ อีกหมู่บ้านหนึ่งมี เย้าผสมด้วย บ้านปางม้าคือที่หมายหลักที่ทำให้ผมต้องขึ้นไปตามคำเชิญในครั้งนี้เพราะบ้านปางม้าคนในหมู่บ้านไร้ความสำนึกในความเป็นไทย ทั้ง ๆ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นหมู่บ้านในโครงการหลวง ได้สัญชาติไทยแต่ไม่ได้รักแผ่นดินไทย ได้บรรยายสรุปให้ผมทราบว่าที่นี่คือสถานีขนถ่ายยาเสพติดจุดสำคัญยิ่ง คาราวานจะมาขนถ่ายเปลี่ยนมือกันที่นี่ ชาวเขาแถวนี้ร่ำรวยผิดปกติขี่รถกระบะชั้นดีกันทั้งนั้น จึงจะต้องสร้างโครงการเสริมสร้างจิตสำนึก การพึ่งพาตนเองของชุมชนชาวไทยภูเขา เผื่อจิตใจเขาจะดีขึ้นบ้าง บ้านคุ้ม อยู่ใกล้ ๆ รีสอร์ทเป็นลูกผสม พม่า ไทยใหญ่ จีนฮ่อ บ้านหลวง พวกจีนฮ่ออยู่ที่ผมเคยไปเมา ไปกินหม้อไฟคุนหมิงกับเขามาแล้ว บ้านที่ต้องระวังและติดตามดูกันต่อไปคือบ้านปางม้า และบ้านนอแล ผมพักที่ศูนย์ฝึกอบรม หรือบ้านมิตรอนุสรณ์ ๒ คืน หนาวเย็นและสนุกมาก ไปกันหลายคนมื้อเย็นก็ที่สโมสรสั่งอาหารเขาไว้ อาหารหลักจะต้องเป็นอาหารที่ประกอบด้วยผัก เพราะผักสด หวานกรอบปลอดสารพิษแน่นอน จะผัดกับเนื้อ ผัดกับน้ำมันหอย ยกมาร้อน ๆ อร่อยหมด หรือจะสั่งเป็นผักเทมปุระต้มแกงอะไรอร่อยทั้งนั้น กินอาหารผักแต่ไม่ใช่มังสะวิรัตและมีข้อแม้ว่าต้องตอนยกมาร้อน ๆเพราะอากาศหนาวเย็นตลอดปี ยิ่งหน้าหนาวอย่างวันที่ผมไป ๒ องศา ได้ใส่เสื้อหนาวสมใจลองดูรายการอาหารสักมื้อ ยอดฟักแม้วผัด เทมปุระ ผักทอดมากรอบ จิ้มน้ำบ๊วยเจี่ยยอดถั่วลันเตาผัด ไปซื้อต้นโสมมาจากตลาดหน้าโครงการให้เขาเอามาผัดกับหมู บรูสเซสสะเปราส์ (เหมือนกล่ำปลีจิ๋วเขามีชื่อไทยผมจำไม่ได้) ผัดกรอบอร่อยนัก เห็ดหอมผัดซีอิ้ว อย่าโดดข้ามไปน้ำพริกอ่องผักสดและแคบหมู แกงจืดสาหร่าย และที่ขาดไม่ได้คือไข่เจียวหมูสับเอามาแกล้มไวน์กระชายดำที่ถือติดขึ้นไป (ไวน์โด่ก็เอาไปจากจัสโก้) ส่วนใหญ่หนักไปทางเบียร์ดื่มกันได้ตั้งแต่มื้อเที่ยงเพราะอากาศเย็นชวนดื่ม ส่วนมื้อกลางวันเราก็สั่งเขาไว้ตั้งแต่เช้า ข้าวผัด ไข่ดาว เที่ยงกลับมากิน มื้อเช้าสั่งไว้ข้าวต้ม หรือใครจะออกไปกินตลาดหน้าโครงการเป็นฝรั่งก็ได้ แล้วจะได้ซื้อผลไม้แช่อิ่มกับไม้กระถางและพืชผักของโครงการหลวงกลับบ้านได้เลยไปพักต้อง ๒ คืน จึงจะคุ้ม วันกลับแวะกินอาหารกลางวันที่ร้านพรเพ็ญ ขาหมูเสวย ผมกินร้านนี้มากว่า ๒๐ปี เคยเขียนเล่าไปแล้ว วันนี้พาคณะมาแวะชิมอีกยังอร่อยเหมือนเดิม ขาหมูกับข้าวสวยร้อน ๆเอาน้ำพะโล้ราด สั่งคากิ หรือเรียกให้สะใจว่าอุ้งตีนหมูมาอีกจาน อร่อยล้นแกงเผ็ดของเขาก็มี ที่ไม่ควรขาดคือไข่ต้ม ต้มไข่เก่งนัก เอามาวางบนข้าวร้อนแล้วเหยาะด้วยน้ำปลาพริกและที่คู่กันอีกอย่างหากินง่ายแต่หาอร่อยยากของร้านนี้ก็คือ "ผักกาดดองผัดไข่"ต้องสั่งมาชิมพร้อมกับขาหมูที่ไม่มีหม่านโถว อิ่มแล้วงัดเอาส้มสายน้ำผึ้งที่ซื้อตอนลงจากดอยมากินเป็นของหวาน พอกลับเข้าเมืองเชียงใหม่ ข้ามสะพานนครพิงค์แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนไป อำเภอพร้าวจนถึงทางแยกขวาเข้าถนนสันทรายเก่า วิ่งเลาะรั้วมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปจนสุดรั้วเลยไปอีกนิดมีถนนทางซ้ายมือมีป้ายบอกตรงหัวมุมว่าบ้านพัฒนาทรายแก้ว ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปสัก ๑ กิโลเมตร อ่านดูป้ายซอยพอพบซอย๘ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปหน่อย ผมจะให้ไปชมโรงงานศิลาดล ผมนึกว่าเป็นเพียงชื่อที่แท้ศิลาดล เป็นสารประกอบหากมีแร่อะไรปนอยู่สีจะเป็นตามนั้น ผมจำไม่ได้ว่าปนแร่อะไรจึงจะมีสีอะไรปั้นทุกชิ้น แต่ละชิ้นด้วยมือคนทั้งสิ้น พึ่งเห็นนี่เองว่าทำยากแค่ไหนถึงได้ราคาพอสมควรแต่ซื้อที่ร้านได้ลดราคา ไม่มีของขายตามตลาด ส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ขอให้หาเวลาไปชมให้ได้ซื้อเขาด้วยก็ดี เขาจะลดราคาให้ สงสัยโทร ๐๕๓ ๔๙๘๔๒๒ - ๔๙๘๔๑๓ และตรงกันข้ามผ้าบาติคทำแบบเดียวกับอินโดนีเซียผ้าทุกผืน ทุกชิ้น ต้องวาดลวดลายด้วยมือ ๐๕๓ ๓๕๓๖๔๖ ร้านศิลาดล ชื่อสันทรายศิลาดล ร้านผ้าบาติค ชื่อบาติคแอนด์แกลอรี่ ไทยแท้ ๑๐๐ % เต็ม----------------------------------
|