เมืองอู่ทอง
เมืองอู่ทอง
เมืองอู่ทอง หรื อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ในปัจจุบันนั้นมีประวัติว่าเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณกาลเลยทีเดียว
หากไปอ่านจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจะเล่าไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๐ เมืองอู่ทองเกิดกันดารน้ำ
และมีโรคห่าระบาด "พระเจ้าอู่ทอง"
จึงอพยพผู้คนหนีโรคห่าไปตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลเวียงเล็ก จนถึงปี พ.ศ.๑๘๙๓ จึงได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี
แต่หากอ่านจากประวัติเมืองอู่ทอง ที่รวบรวมโดยกรมศิลปากรจะได้ความดังนี้.-
เมืองโบราณอู่ทอง ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจรเข้สามพัน
ลักษณะเป็นรูปวงรีขนาด ๑,๘๕๐ x ๘๒๐ ม. มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทิศตะวันตกเป็นเทือกเขารางกะปิด
เขาคำเทียมและเขาพระ ทิศตะวันออกเป็นที่ราบกักเก็บน้ำ นอกเมืองมีแนวคันดินเป็นถนนโบราณเรียกว่า
"ถนนท้าวอู่ทอง"
และแนวคันดินรูปเกือกม้า เรียกว่า "คอกช้างดิน"
คงจะเป็นเพนียดคล้องช้างโบราณ หรือสระเก็บน้ำในศาสนาพราหมณ์ เมืองโบราณแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย
๒,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้พบเครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผา แวปั่นด้ายดินเผา
เป็นต้น ต่อมาได้พัฒนาตนเองไปสู่สังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์ ทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติในราวพุทธศตวรรษที่
๕ - ๙ เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป มีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่า
ร่วมสมัยกับเมืองออกแก้ว ของประเทศเวียดนาม ได้พบลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์
เหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิ์ดิวิคโตรินุส เป็นต้น ได้รับรูปแบบทางศาสนา ศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย
ได้พบปฏิมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ ๓ องค์ อุ้มบาตร และพระพุทธรูปปั้นนาคปรกศิลปะแบบอมราวดี
เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ซอง บวสเซอริเยอร์ เชื่อว่าเมืองอู่ทองน่าจะเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิ
ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งพระสมณฑูตเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ.๒๗๐
- พ.ศ.๓๑๑ นายพอล วิทลีย์ เชื่อว่าเมืองจินหลิน ตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง เป็นรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมันแห่งอาณาจักรฟูนันปราบได้ในพุทธศตวรรษที่
๙ เมื่ออาณาจักรฟูนันสลายลงในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ รัฐทวาราวดีได้เจริญขึ้นมาแทนที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
และรุ่งเรืองสูงสุดในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ บันทึกของพระภิกษุ เหี้ยนจัง
ได้กล่าวถึงอาณาจักรโตโลโปตี้
หมายถึงทวาราวดีได้พบเหรียญเงินจารึกว่า "ศรีทวาราวดี
ศวรปุณยะ" เป็นการยืนยันว่ามีตัวตนของอาณาจักรทวาราวดี
โดยมีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวง และเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์
วัฒนธรรมทวาราวดี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ ลัทธิเถรวาทเป็นหลัก ใช้ภาษามอญ
ยึดคติทางศาสนารูปแบบศิลปะคุปตะจากอินเดีย โบราณสถานโบราณวัตถุที่พบในเมืองอู่ทองเป็นศิลปกรรมในสมัยทวาราวดี
เช่นเศียรพระพุทธรูป ทองคำ เจดีย์ พระพุทธรูปปางประทานธรรมจักร ในขณะเดียวกันศิลปะศรีวิชัย
ซึ่งนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานได้เผยแพร่เข้ามา ได้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
และพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ
เมืองอู่ทองได้หมดความสำคัญและร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จึงรอดพ้นจากอิทธิพลเขมรที่เข้ามามีอำนาจมากในราว
พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในรัชสมัยของกษัตริย์ขอมนักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ คือพระเจ้าชัยวรมันที่
๗ โดยปรากฏเมืองโบราณสุพรรณบุรีเจริญขึ้นมาแทนที่
เส้นทางไปเมืองอู่ทอง
หรืออำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นไปได้ ๒ เส้นทาง
เส้นทางตรง หากไปจากกรุงเทพ ฯ พอไปถึงนครปฐมให้เลี้ยวซ้าย อย่าตรงเข้าเมือง
เพราะเข้าไปแล้วจะหาทางออกยาก นอกจากคนชำนาญเมืองนครปฐม ให้เลี้ยวซ้ายตามป้ายสุพรรณบุรี
แล้วจะเลี้ยวขวาเข้าเมือง หักออกซ้ายอีกทีข้ามสะพานที่ข้ามทางรถไฟ เข้าสู่ถนนมาลัยแมน
คราวนี้ตรงไปตามถนนเส้นนี้ จนกระทั่งถึงหลัก กม.๑๓๓ ก็จะถึงอำเภออู่ทอง
และถนนสายนี้มีทางแยกไปยัง พระแท่นดงรังได้ไป อ.พนมทวน เพื่อต่อไปยังกาญจนบุรี
โดยผ่านทางแยกซ้ายเข้าราชานุสาวรีย์ ๔๐๐ ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่พนมทวน
และมีอีกทางแยกหนึ่ง ก่อนถึงอู่ทองสัก ๒ - ๓ กิโลเมตร จะมีป้ายบอกไว้ว่า แยกซ้ายไป
อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ๓๙ กิโลเมตร ไปณีวัฒนา (พระนามสมเด็จพระพี่นาง)
มหาวิทยาลัย ไปวนอุทยานพุม่วง ไป "คอกช้างดิน" และไปยังวัดถ้ำเสือได้ ซึ่งที่คอกช้างดินนี้คือโบราณสถานเก่าแก่ของเมืองอู่ทอง
เสียดายวันที่ผมดั้นด้นไปนั้น ปรากฏว่าฝนตกถนนเป็นถนนดิน ผมไปรถกระป๋อง ไม่ใช่โฟร์วีลเลยไม่กล้าเข้าไปและไปกัน
๒ คนด้วย พลาดพลั้งติดหล่มคงต้องกินมูลช้างแทนข้าวก็เป็นได้ เลยต้องถอยทัพกลับออกมาเอาไว้แล้ง
ๆ สักหน่อยจะไปใหม่ เพราะยังติดใจอีกหลายแห่งในเมืองโบราณแห่งนี้
เลยสามแยกไปคอกช้างดิน จะถึงพิพิธภัณฑ์อู่ทอง ซึ่งตั้งอยู่ตรงป้ายที่บอกว่าคันคูดินโบราณ
เส้นทางที่สองที่จะไปอู่ทอง คือไปตัวจังหวัดสุพรรณบุรีเสียก่อน แล้ววิ่งผ่านเมืองสุพรรณบุรีตรงมาจนข้ามแม่น้ำมาผ่านวัดป่าเลไลยก์มายังอู่ทอง
ระยะทางช่วงนี้ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ซึ่งน่าจะเป็นเส้นทางอ้อมสักหน่อย แต่ได้ผ่านเมืองสุพรรณบุรี
เส้นทางแรกได้ผ่านเมืองนครปฐม
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง
ไปอู่ทองขอให้แวะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ได้ และขอให้ถือเป็นสูตรในการท่องเที่ยวเมืองโบราณสถานไว้เลยทีเดียวว่า
จังหวัดใด เมืองใด มีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอให้แวะชมให้ได้ จะได้ความรู้มากและต้องดูอย่างมีเวลา
ดูให้ละเอียด พยายามอ่าน และชมจึงจะได้ความรู้และเกิดความภาคภูมิใจในชาติไทย
ซึ่งเป็นชาติที่เก่าแก่เช่นกัน ไม่ทราบว่าสมัยใดที่กระทรวงศึกษาธิการ ขอใช้คำว่า
"อุตริ" เอาวิชาชื่อประวัติศาสตร์ออกไปเสียจากหลักสูตร แล้วใช้วิธีตัดเอามาสอนกันเป็นตอน
ๆ เช่น พระนเรศวรมหาราช หรือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังนั้นพอผมเขียนว่า พระเจ้าพรหมมหาราช
เป็นมหาราชองค์แรกของไทย เด็กรุ่นใหม่ รุ่นที่เขาเอาวิชาประวัติศาสตร์ไปไว้ในวิชา
"สปช." จึงไม่รู้เรื่อง ไม่เคยได้ยิน ไม่เหมือนรุ่นก่อน ๆ ที่เขาเรียนกันมาตั้งแต่คนไทยอพยพมาจากจีนไหลลงใต้เรื่อยมา
ซึ่งเวลานี้ก็ชักแตกกันเป็น ๒ พวกแล้ว คือพอกหนึ่งเชื่ออย่างเดิมว่า คนไทยในปัจจุบันนี้มาจากตอนใต้ของจีนทิวเขา
"อัลไต" ซึ่งตอนที่ผมเรียนประวัติศาสตร์ก็เรียนมาอย่างนี้ แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่เริ่มบอกว่าคนไทยไม่ได้มาจากทางตอนใต้ของจีน
แต่กระจัดกระจายกันอยู่นี่แหละ แต่ขาดผู้นำที่เข้มแข็งจึงรวมกันไม่ติดต้องตกอยู่ใต้การปกครองของ
มอญ ของขอม มาหลายร้อยปี จนมารวบรวมกันติดก็เป็นชาติไทย ซึ่งต้องไล่กันมาตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของโยนกเชียงแสน
ผมเองเดินทางมาก ขับรถด้วยตัวเองรอบประเทศมาแล้วหลายรอบ ไปตั้งแต่เขายังไม่มีเส้นทาง
เป็นทางรถลากไม้ เช่นเส้นทางจากระนอง ไปยังตะกั่วป่า เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ไม่มีถนนแม้แต่เมตรเดียว
เป็นทางรถลากไม้ในป่า ผมไปกัน ๔ คน ด้วยรถจิ๊บทหาร มีรถพ่วงบราทุกเสบียง และน้ำมันไป
๒๐๐ ลิตร วิ่งไปวันหนึ่งก็ถึงตะกั่วป่า แล้ววิ่งไปตามถนนที่ไม่ได้ราดยางต่อไปอีกกว่าร้อยกิโลเมตร
เพื่อเอารถลงแพข้ามไปเกาะภูเก็ต จนเดี๋ยวนี้เขามีสะพานข้ามไปเกาะภูเก็ตถึง
๒ สะพานแล้ว ก็ยังไปภูเก็ตอยู่ เมื่อเดินทางมากรู้เห็นมาก สนใจในสภาพพื้นเมืองก็เกิดความรู้และยิ่งบางโอกาสราชการที่ทำ
ทำให้ต้องเดินทางตระเวนไปทั่ว ก็แทรก เที่ยว กิน ทั่วไทยไปด้วย จึงได้ความรู้และวิเคราะห์ว่า
ประวัติชนชาติไทยปัจจุบันนี้เอง แต่กระจัดกระจายกันอยู่เท่านั้น เขียนไปเขียนมาอาจจะโดนเล่นงาน
เพราะโดนมาครั้งหนึ่งแล้วเรียกผมว่า "อ้ายนักแก้ประวัติศาสตร์" คนนี้อ้างว่าจบ
รร.จปร. รุ่นก่อนผมหลายรุ่นไปเป็นทหารเรือ และปลดเกษียณนานแล้ว ขึ้นต้นจดหมายที่ไม่กล้าลงนามถึงผมว่า
"อ้ายนักแก้ประวัติศาสตร์" เรียกว่าไม่แน่จริง แน่จริงต้องบอกชื่อจริง ที่อยู่
เบอร์โทรศัพท์มาเลย จะได้คุยกัน วิเคราะห์กันออกมาด้วยเหตุผลไม่ได้แก้ประวัติศาสตร์
เช่นที่อำเภอฝางตรงกำแพงเมืองเก่ามีป้ายบอกว่าอะแซหวุ่นกี้ ยกทัพพม่ามาตีได้ฝางเมื่อ
พ.ศ.๒๓๓๐ ผมก็เขียนวิเคราะห์ค้านไป เพราะทุกเล่มจะตรงกันหมดว่า อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าของพระเจ้าปดุง
ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก ซึ่งเวลานี้เจ้าพระยาจักรีรักษาเมืองอยู่ เข้าตีเมืองอยู่นานก็เข้าเมืองไม่ได้
จึงขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี เมื่อเห็นตัวแล้วชมว่ารูปก็งาม รบก็เก่ง ให้รักษาตัวไว้ให้ดีนานไปจะได้เป็นกษัตริย์
ซึ่งเจ้าพระยาจักรีคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่
๑ แห่งราชวงศ์จักรีนั่นเอง ซึ่งในประวัติศาสตร์ทุกเล่มจะตรงกันว่าอะแซหวุ่นกี้
วันที่ขอดูตัวนั้นอายุ ๗๒ ปี ใน พ.ศ.๒๓๑๘ และพอถึง พ.ศ.๒๓๓๐ ก็ต้องอายุ ๘๔
ปี ขอให้พิจารณาดูว่า คนโบราณที่การแพทย์ยังไม่เจริญเลย อายุ ๘๔ ปี จะขี่ม้ารำทวนไหวหรือ
ให้นอนเปลหามมาเพื่อบัญชาการรบเพียงอย่างเดียวก็คงมาไม่ไหว ผมเลยเขียนวิเคราะห์ไปอย่างนี้เลยโดนเล่นงานว่าเป็น
อ้ายนักแก้ประวัติศาสตร์ ผมวิเคราะห์ตามความคิดของผม ทำไม่ได้หรือ จะได้เกิดความสนุกเมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง ตั้งอยู่ที่อำเภออู่ทอง ก่อนถึงวงเวียนนาฬิกา
ขอยกย่องในความน่ารักของเจ้าหน้าที่ทั้งชายและหญิง ที่ตั้งใจให้ความรู้และพยายามอธิบายให้ผู้เข้าชมได้ทราบดีจริง
ๆ น่ารักทุกคนทั้งหญิงและชาย ก็ขอชมเชยเอาไว้อยากให้ทุกแห่งของพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างนี้
อย่ามานั่ง มายืนหน้างอไม่น่ารักเลย พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ริมคูเมืองอู่ทอง ถนนมาลัยแมน
มีพื้นที่ ๒๕ ไร่ อยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาเมืองโบราณท้าวอู่ทอง
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จมาอีกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ พ.ศ.๒๔๗๖ ราชบัณฑิตยสภาได้มาทำการสำรวจทำผังเมืองอู่ทอง
และได้โอนงานนี้ให้กรมศิลปากรดำเนินการต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๘ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
ได้สร้างอาคารชั่วคราวของพิพิธภัณฑ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ทำการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานในปี
พ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งในการขุดแต่งโบราณสถานในครั้งนี้ได้พบสถูปเจดีย์ และโบราณวัตถุทวาราวดีจำนวนมาก
ต่อมาได้สร้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทองอย่างถาวร ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
อู่ทอง เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
การจัดแสดงอาคารที่ ๑
จัดแสดงอารยธรรมเมืองอู่ทองสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวาราวดี ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ
รับรูปแบบศาสนา ศิลปะแบบอมราวดี และแบบคุปตะจากอินเดียตลอดจนศิลปะศรีวิชัยจากภาคใต้
เป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ มีโบราณวัตถุจัดแสดง เช่น เครื่องมือหันขัด
แวปั่นด้ายดินเผา "เหรียญกษาปณ์ เหรียญสมัยจักรพรรดิ์วิคโตรินุส" ซึ่งแสดงว่ามีการติดต่อกับต่างประเทศ
และต้องเป็นเมืองชายทะเล เช่น วัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ยังได้พบเปลือกหอยนับจำนวนล้าน
จนขุดเอามาสร้างเจดีย์หอย แสดงว่าเป็นทะเลหอยมาตายทับถมกัน
ห้องโถงก่อนที่จะเดินผ่านไปยังอาคาร ๒ คือ ศาลาธรรมจักร
อาคาร ๒
แสดงลูกปัดเมืองอู่ทอง และเมืองอู่ทองสมัยอยุธยา
อาคาร ๓
เป็นสถาปัตยกรรมเรือนลาวโซ่ง จัดแสดงขนบธรรมเนียมประเพณี เครื่องมือเครื่องใช้
การทอผ้าของลาวโซ่ง แถมเจ้าหน้าที่ที่อาคาร ๒ บอกว่าเป็นสาวลาวโซ่ง แต่การศึกษานั้นจบขั้นปริญญา
พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันจันทร์ - อังคาร
จบการชมพิพิธภัณฑ์ดูกันจนอิ่มตาอิ่มใจแล้ว สำหรับผมอิ่มจริง ๆ เพราะไปถึง
๒ ครั้งในเวลาที่ห่างกันเพียง ๑ สัปดาห์ ออกจากพิพิธภัณฑ์แล้วเลี้ยวซ้ายมาผ่านหอนาฬิกา
แล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีตรงเข้าไปยังวัดเขาชื่อ วัดเขาพระศรีสรรเพชร
มีทางขึ้นเขาสู่มณฑปที่กำลังสร้างอยู่บนยอดเขา และใกล้จะเสร็จแล้วถามช่างเขาดูบอกว่าเสร็จเรียบร้อยปี
๒๕๔๖ และภายในมณฑปก็มีพระพุทธบาทจำลองที่สร้างขึ้นใหม่ ด้านหลังมีเจดีย์โบราณแต่ยังไม่ได้บูรณะ
อยู่บนยอดดอยแห่งนี้มองเห็นโบราณสถานหลายแห่ง ด้านหลังเป็นสุสานคนจีน และเมื่อกลับออกมาผมไม่ได้กลับทางเดิมออกมาทางด้านข้างที่มีถนนมาออกถนนใหญ่ได้เช่นกัน
ซึ่งจะผ่านคูคันเมือง และโบราณสถานหลายแห่งที่ยังไม่ได้บูรณะให้งดงามน่าชม
ออกจากวัดเขาพระศรีสรรเพชร เลี้ยวซ้ายไปอีกสัก ๒ กิโลเมตร จะเห็นโรงงานน้ำตาลอยู่ทางซ้ายมือ
พอถึงกำแพงโรงงานน้ำตาลก็เลี้ยวซ้ายเลาะกำแพงโรงงานวิ่งไปอีก ๙ กม.ก็จะไปถึง
"วัดเขาดีสลัก"
จะมีลานกว้างอยู่ข้างโบสถ์ และริมลานด้านที่มีกุฏิมีเรือขุดโบราณอยู่ลำหนึ่ง
บอกไว้ว่าเจ้าแม่ตะเคียน น่าจะเป็นเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้น
วิ่งรถผ่านหน้าอุโบสถไปแล้วเลี้ยวซ้าย ไปอีกหน่อยทางจะขึ้นเขาตลอด วิ่งไปตามเส้นทางที่สอง
ข้างทางร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่ยังกับเป็นวนอุทยาน ไปจนถึงยอดดอยเขาดีสลัก จะสร้างมณฑปเอาไว้สวยงาม
มีบริเวณกว้างขวาง มีศาลอยู่ด้านหน้า มณฑปอยู่ด้านหลัง ขึ้นไปแล้วมองเห็นวิวของทุ่งนาป่าเขาที่งดงามน่าชม
และจะตื่นตาสำหรับชาวกรุงที่รักธรรมชาติ ในกรุงหาดูไม่ได้แล้ว
พระพุทธบาทบนเขาดีสลักนี้
เป็นพระพุทธบาทโบราณแต่พึ่งค้นพบเมื่อ ๑๐ กว่าปีมานี้เอง ประดิษฐานอยู่ในมณฑปและไม่ให้ปิดทอง
มีพระพุทธบาทจำลองอยู่ในศาลาข้างหน้ามณฑปอีกรอยหนึ่ง รอยนี้จำลองขึ้นมาให้ปิดทองได้
เสียดายตอนสร้างศาลาไปสร้างไว้ข้างหน้ามณฑป ทำให้ภาพของมณฑปไม่สวยงามเท่าที่ควร
เวลาถ่ายภาพศาลาจะบังมณฑป ทั้ง ๆ ที่สร้างไว้งดงามมากทีเดียว
จบการชมพิพิธภัณฑ์อู่ทอง และโบราณสถานตลอดจนได้ไหว้พระพุทธบาทเขาดีสลัก แล้วก็ไปหาอาหารกิน
เริ่มแรกหากกลับจากพิพิธภัณฑ์แล้วเลี้ยวขวาไปทางจะไปสุพรรณบุรี พอเลี้ยวขวาจะพบปั๊มเชลล์
ติดกับปั๊มเชลล์ทางขวามือมีตึกแถว มีร้านอาหารอยู่ติดกัน ๓ ร้าน ผมชิมร้านชื่อ
"โกฮิ้น" ขายข้าวหน้าเป็ด ข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ และเกาเหลาเครื่องในหมู ชิมแล้วอร่อย
ขอพามาชิมก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ที่กรุงเทพ ฯ "ก๋วยเตี๋ยวห้องแอร์" ราคาแสนถูก
ส่วนความอร่อยนั้นก็ยกให้ทั้ง ๕ นิ้วเลยทีเดียว ร้านก๋วยเตี๋ยวเครื่องยาจีน
ชื่อดูจะไม่แน่นอน เพราะเขาไม่ได้ยกป้ายชื่อเอาไว้ให้แน่ ๆ ว่าชื่อร้านอะไร
ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ก๋วยเตี๋ยวห้องแอร์ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นเครื่องยาจีน
เส้นทางไปก๋วยเตี๋ยวห้องแอร์ มาจากหลักสี่ข้ามสะพานที่ข้ามทางรถไฟ และถนนวิภาวดีลงสู่ถนนแจ้งวัฒนะ
พอลงถนนแจ้งวัฒนะให้เลี้ยวขวากลับหลังทันที เลี้ยวกลับรถแล้วให้ชิดซ้ายเลี้ยวเข้านำโชคพลาซ่า
ซึ่งจะพบป้ายที่ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ปากทางเข้า พอเข้าไปก็พบป้ายอีกร้านจะอยู่ทางขวามือ
ร้าน ๒ ห้องกว้างขวางโอ่โถง มีห้องแอร์จุคนได้มาก และยังมีห้องแอร์พิเศษสำหรับมาเป็นหมู่เป็นคณะ
ร้านนี้เน้นสุด ๆ ในเรื่องความสะอาด และราคาถูกคือชามละ ๑๒ บาท มีลูกชิ้นปิ้ง
เฮง เฮง ที่ผมเคยเขียนชวนชิมไว้นานกว่า ๖ ปีแล้ว ยังอร่อยมากเหมือนเดิม เหนียวหนึบ
เคี้ยวหนุบหนับ และเด็ดที่น้ำจิ้มของเขาไม่มีใครเหมือน สั่งมาชิมก่อน สั่งเล็กแห้ง
มาตามธรรมเนียมการชิมก๋วยเตี๋ยวของผม ไม่ต้องเติมอะไรเลย อร่อยถูกปากจริง
ๆ ตามเสียด้วย หมี่น้ำ ที่น้ำซุปเข้มข้น ร้อน ซดชื่นใจเหลือประมาณ ตามอีกทีด้วยเส้นเล็กน้ำ
แต่หากเป็นสาว ๆ ๒ ชามก็จุกแล้ว สำหรับผมต้อง ๓ และหอบกลับบ้านอีกพวงหนึ่ง
และได้แนะเขาว่าให้มีชามพิเศษ ขึ้นราคาอีกสักหน่อยก็ไม่มีใครว่าอะไร นั่งกินในห้องแอร์
อร่อย เย็นสบายอยู่แล้ว
บนโต๊ะ ยังมีถั่วงอกดิบ ขาวอวบ และใบโหระพา วางไว้ให้เติมตามใจชอบ
มีหนังไก่ทอดกรอบ ไม่เปิดถุงไม่เสียสตางค์ แคบหมูก็มี
ข้าวกระดูกหมูอบ ก็ดี สั่งมาแล้วตามเสียด้วยเกาเหลา
ปิดท้ายด้วย เฉาก๊วย ชากังราว เฉาก๊วยธัญพืช กินแล้วอร่อยชื่นใจ ลดความดัน
บำรุงเลือด ลดไข้ ระบบขับถ่ายดี ขับปัสสาวะ แก้อ่อนเพลีย คือสรรพคุณของ "เฉาก๊วย"
............................................
|