ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > อุทยานเก้าทัพ
 
อุทยานประวัติศาสตร์เก้าทัพ
| ย้อนกลับ |

อุทยานประวัติศาสตร์เก้าทัพ

            เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ ผมได้รับคำสั่งจากกองทัพบกให้เป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒ กองพลทหารอาสาสมัครไปรบเวียดนาม หรือที่เรียกว่า "พล.อสส." หรือ รุ่นเสือดำ ซึ่งทหารไทยรุ่นแรกเลยทีเดียวที่ส่งไปรบเวียดนามนั้น ส่งไปเพียง ๑ กรมผสม คือ กรมทหารราบ แต่มีพร้อมทั้งทหารม้า (ม้ารถถัง ไม่ใช่ม้าเนื้อ) ทหารปืนใหญ่ ฯ โดยมีทหารราบเป็นกำลังรบหลัก เรียกว่า รุ่นจงอางศึก ท่านที่เป็นกำลังสำคัญในการไปรบครั้งนั้น ล้วนแต่เป็นบิ๊ก ๆ ในโอกาสต่อมา เช่น บิ๊กจิ๋ว บิ๊กเสือ บิ๊กกรต เป็นต้น ดังนั้นเมื่อจงอางศึกรบอยู่ ๑ ปี ขอให้ส่งกำลังไปรบทีละกองพลเลยทีเดียว ซึ่งจะมีหน่วยทหารราบ ๒ กรม ทหารปืนใหญ่ ๑ กรม ทหารม้า ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ทหารเสนารักษ์ เหล่าละ ๑ กองพัน และยังมีหน่วยสนับสนุนอื่น ๆ อีกหลายหน่วย ซึ่งหน่วยสนับสนุนด้านการส่งกำลังเหล่านี้รวมกันเรียกว่า กรมสนับสนุน (กองพลทหารราบที่ ๙ จ.กาญจนบุรี ในปัจจุบันยังมีการจัดแบบเดียวกับกองพลที่ไปรบในเวียดนาม) โดยการส่งกำลังพล อสส.ไปรบนั้นไม่ได้ส่งไปทีเดียวทั้งกองพล แบ่งส่งไปทีละครึ่ง ครึ่งกองพลแรกเรียกว่า ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ มีผู้บัญชาการกองพลนำหน่วยไป พอส่วนที่ ๑ ไป ก็เรียกกำลังพลส่วนที่ ๒ เข้ารับการฝึกและพออีก ๖ เดือน ก็ยกตามไป นำโดยรองผู้บัญชาการกองพล ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ กับ ส่วนที่ ๒ นั้นก็จะรบร่วมกันอยู่ ๖ เดือน จากนั้นผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ ก็เดินทางกลับประเทศไทย ผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ ก็ไปผลัดเปลี่ยน พออีก ๖ เดือน ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ก็เดินทางกลับประเทศไทย โดยมีผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๒ ไปผลัดเปลี่ยน ผมไปปฏิบัติการรบในเวียดนามในฐานะกำลังพลของ ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ กำลังที่นำไปจึงเป็นพวกรุ่นแรกเช่นกัน ซึ่งพวกรุ่นแรกนี้จะเริ่มด้วยการจัดกำลังกองพันที่นำไปเป็นหน่วยใหม่ทั้งหมด เริ่มต้นที่ออกคำสั่งบรรจุมามีแต่ ผู้บังคับกองพัน เช่นทหารปืนใหญ่ก็มี ๕๕๖ คน เต็มอัตรากองพันที่ไปรบเวียดนาม เมื่อบรรจุกำลังพร้อมแล้ว ก็ไปรับอาวุธยุทโธปกรณ์เต็มอัตราของกองพันที่ค่ายฝึก ลาดหญ้า กาญจนบุรี ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นค่ายทหารถาวร เช่นค่ายสุรสีห์ในปัจจุบัน รับยุทโธปกรณ์ใหม่เอี่ยมจากสหรัฐ ฯ เต็มอัตราศึก เรียกว่ารับแล้วหน่วยรบในที่ตั้งปกติของกองทัพอิจฉาก็แล้วกัน เพราะยุทโธปกรณ์พร้อมรบจริง ๆ จากนั้นก็อยู่ในโรงเรือนที่พักชั่วคราวในค่ายฝึก ฝึกกันอย่างหนัก หามรุ่งหามค่ำ หาเวลาพักไมได้เลย เอากันให้แข็งแกร่งจริง ๆ ใครทนไม่ได้ก็ต้องออกไป เรียกกำลังพลมาทดแทนใหม่ ฝึกอยู่ ๖ เดือน ก็บรรลุเป้าหมายคือความพร้อมรบของกำลังพล หน่วยของผมโดนย้ายที่อยู่คือพอฝึกได้สัก ๒ - ๓ เดือน จัดที่พักเข้าระเบียบดี โดนย้ายที่พักระหว่างการฝึก และผมเป็นคนสติเสียเรื่องต้นไม้ อยู่ที่ไหนปลูกที่นั่น ก่อนมาเป็นผู้บังคับกองพันไปรบเวียดนาม ผมกำลังทำหน้าที่ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่อยู่ถึง ๒ กองพันในเวลาเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่มียศเพียงพันตรีคือ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหน่วยในที่ตั้งปกติ และได้รับคำสั่งให้นำกำลังออกไปตั้งหน่วยในสนามเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์  เป็นทหารปืนใหญ่หน่วยแรกที่ อำเภอเชียงคำ อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ ของจังหวัดเชียงราย (ยังไม่ได้ตั้ง จังหวัดพะเยา) ผมจึงต้องวิ่งรอกระหว่างเชียงใหม่กับ เชียงราย ต่อมาก็ได้รับคำสั่งให้มาเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่กองพลอาสาสมัครที่กาญจนบุรีอีก ทีนี้สนุกพิลึกเพราะวิ่งรอก ๓ จังหวัดเลย วิ่งรอกอยู่พักหนึ่งจึงมีการตั้งผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ มาแทนผม ซึ่งจะต้องเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ ส่วนหน้าในการรบที่เชียงรายด้วย ผมจึงพ้นหน้าที่ตั้งหน้าตั้งตาฝึกลูกน้องในค่ายทหารกาญจนบุรีเพียงประการเดียว
            ที่ว่าอยู่ที่ไหนปลูกต้นไม้ที่นั่น เช่นที่กองพันที่เชียงใหม่ ปลูกจนไม่มีที่จะปลูก เดี๋ยวนี้ก็ยังเหลืออยู่แยะ แต่ที่ปลูกไว้ด้านหลังโดนการสร้างอ่างเก็บน้ำ และสนามกีฬา ๗๐๐ ปี เอาพื้นที่ไป จึงเสียต้นไม้ไปแยะ แต่ที่เหลืออยู่ก็โตมาก ส่วนที่กาญจนบุรีนั้นหากไปดูให้ทั่วจะเห็นมี ๒ พื้นที่ที่ต้นไม้โตใหญ่กว่าที่อื่น เพราะกองพันของผมปลูกเอาไว้นั่นเอง นาน ๆ ผมก็ไปชมของผมเสียทีหนึ่ง ด้วยความภาคภูมิใจชี้ให้ลูกหลานดูนี่คือต้นไม้ที่พ่อ (ปู่) ปลูกไว้เมื่อ ๓๔ ปีผ่านมาแล้ว
            เมื่อฝึกครบ ๖ เดือนแล้ว ก็นำอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งสิ้น ขนลงเรือที่มารับที่ท่าเรือกรุงเทพ ฯ ออกเดินทางไปเวียดนามค้างคืนในเรือ ๒ คืน ขึ้นบกที่ท่าเรือเมืองไซ่ง่อน หรือโฮจิมินท์ในปัจจุบันนี้ ส่วนทหารผลัดที่ ๒ ที่มารับหน้าที่จากพวกผลดที่ ๑ นั้น ไปสบายกว่า อยู่ก็สบายกว่าเพราะพวกผมไปถึงก็รบทันที และต้องสร้างที่พักก็คือบังเกอร์นั่นเองไปด้วย รบไป สร้างไป พอผลัดที่ ๒ เข้ามารับ เข้าแบกถุงทะเลตัวเปล่าขึ้นเครื่องบินมารับหน้าที่จากพวกผลัดที่ผม รวมทั้งรับบังเกอร์ต่าง ๆ ที่พัก ที่อาศัยอย่างดีไปด้วย ใครมารับหน่วยของผมก็รับ ข่า ตะไคร้ ใบโหระพา ฯ ที่ผมขนพันธุ์จากเมืองไทยไปปลูกเอาไว้ด้วย สารพัดผักที่ปลูกเพื่อเป็นอาหารของทหาร เพราะอาหารที่เขาแจกให้นั้นเป็นอาหารสูตรเดียวกันหมด ทั้งฝรั่ง ไทย เกาหลี ต้องมาดัดแปลงเอา มันฝรั่ง ฝรั่งกินมากเขาก็แจกมาก แต่ไทยกินน้อยเราก็ต้องเอามาทำมันเชื่อม มันแกงบวด แกงมัสหมั่น เอามาฝานบาง ๆ ตากแดดแล้วทอดให้กรอบกลายเป็นกับแกล้มยังได้ เพราะไม่ได้รบกัน ๒๔ ชั่วโมง จึงมีเวลาพอพักกันได้บ้าง หนึ่งปีนั้นหากอยู่บ้านก็ไม่มากนัก แต่ ๑ ปีในสนามรบที่ตายกันแทบทุกวันไม่ใช่เรื่องสนุก แต่เมื่อเป็นทหารก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง
            ที่ผมเอามาเล่านอกเรื่องนอกราวเพราะผมไปกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันหน่วยทหารคือ กองพลทหารราบที่ ๙ ซึ่งกองพลนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อเราเลิกส่งกำลังไปรบที่เวียดนาม สหรัฐ ฯ จึงยกอาวุธยุทโธปรณ์ที่ใช้ในการฝึกและการรบทั้งหมดให้กองทัพไทย เราก็เอามาตั้งเป็นกองพลทหารราบได้ ๑ กองพล โดยคงรูปการจัดเอาไว้เช่นเดียวกับการจัดกำลังรบในเวียดนาม กองพันทหารปืนใหญ่ที่ผมจัดตั้งและเป็นผู้บังคับกองพันคนแรกก็แปรสภาพจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒ กองพลอาสาสมัคร มาเป็นกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๙ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๙ กองพลทหารราบที่ ๙
            ผมไปกาญจนบุรีคราวนี้ไปเพื่อตรวจการฝึกผู้นำเยาวชนชายแดน ซึ่งกาญจนบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่นำยุวชนที่อายุระหว่าง ๑๒ - ๑๖ ปี จากหมู่บ้านป้องกันตนเองตามแนวชายแดนมาทำการฝึกให้เป็นผู้นำ เพื่อมุ่งหวังให้ยุวชนเหล่านี้เลี่ยงจากภัยยาเสพติด และในเวลาเดียวกันที่จังหวัดตราด ก็ฝึกเช่นเดียวกัน ทางกาญจนบุรีทางกองพล ฯ มอบหมายให้กองพันทหารม้าที่ ๑๙ รับผิดชอบในการฝึกซึ่งทำการฝึกได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อฝึก ๓ คืน ๔ วันแล้ว ก็นำยุวชนทั้งหมดไปทำการฝึกที่โรงเรียนนายร้อย จปร. อีก ๒ คืน ๓ วัน โดยทางตราดก็มาฝึกร่วมกัน จบการฝึกแล้วได้ผลอย่างดียิ่ง และยุวชนเกิดความกระตือรือร้น เกิดความภาคภูมิใจที่เขาได้กินในโรงเลี้ยงเดียวกันกับนักเรียนนายร้อย ได้นอนบนที่นอนของนักเรียนนายร้อย หากการฝึกนี้มีต่อไปก็อาจจะไปกิน ไปนอน ไปฝึกร่วมที่โรงเรียนนายเรือ หรือนายร้อยตำรวจ ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในกรุงเทพ ฯ จะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จะมาจากการสนับสนุน เวลานี้พวกผมพ้นหน้าที่ของที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.ชวลิต  ยงใจยุทธ พ้นตามท่านไปแล้ว แต่รัฐมนตรีท่านปัจจุบัน ยังอนุมัติให้ทำการฝึกได้ตามงบประมาณที่มีหรือหาได้ ซึ่งหากกองสลากกินแบ่งยังคงสนับสนุนงบประมาณให้การฝึกผู้นำยุวชนชายแดนก็ยังคงมีต่อไป การเตรียมการในเวลานี้คือการฝึกร่วมของจังหวัดตราด (ที่เต็มใจขอฝึกอีก) จังหวัดตาก และ จำหวัดสุรินทร์ รวมพร้อมกันทีเดียว ๓ จังหวัด ก็ฝากความหวังไว้กับพ่อเมืองทั้ง ๓ และกองสลาก ฯ ด้วย เสียงบประมาณไม่มากเท่าไร แต่ผลที่ตามมานั้นมากและหากภาครัฐ ฯ เห็นดีเห็นงามก็ฝึกยุวชนทั้งประเทศได้เลย  ไม่ต้องไปทำการฝึกเฉพาะชายแดน ซึ่งนโยบายเดิมของ พล.อ.ชวลิต ฯ นั้นจะตั้งหน่วยบัญชาการยุวชนทหาร เป็นหน่วยปกติขึ้นรองรับการฝึกนี้จากพวกผม และดำเนินการตลอดไปแต่ยังเป็นนโยบาย ยังไม่ได้จัดตั้ง
            เมื่อตรวจการฝึกแล้ว ผมก็มีเวลาได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม ซึ่งมีอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเวียดนามตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ ขอฝ่ายทหารเข้าชมได้ พิพิธภัณฑ์ผ่านศึก ฯ แห่งนี้มีนายตลอดกาลของผมคือ ฯพณฯ องคมนตรี พล.อ.พิจิตร  กุลละวณิชย์ เป็นประธานในการก่อสร้าง และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จมาเปิดอนุสาวรีย์เมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๓๙ ส่วนพิพิธภัณฑ์นั้นกำลังพัฒนาไปเรื่อย ๆ แต่ที่ผมภาคภูมิใจไปจนถึงขั้นลูกหลานเหลนของผมก็คือ มีชื่อของผมปรากฏอยู่ในฐานะ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒ กองพลอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ เห็นข้อความแค่นี้ก็อ่านเสียหลายเที่ยวด้วยความครึ้มใจ
            จากพิพิธภัณฑ์ผ่านศึกเวียดนาม ทีนี้ก็ออกนอกค่าย ฯ ท่านที่มาเที่ยวเมืองกาญจนบุรี หากท่านไม่ได้วางแผนมาก่อนโดยละเอียดแล้ว ขอให้แวะที่การท่องเที่ยว เมื่อเวลามาจากกรุงเทพ ฯ หากไม่ได้มาทางเลี่ยงเมือง ก่อนถึงสี่แยกที่เลี้ยวขวาไปพนมทวนจะมีที่ทำการการท่องเที่ยวอยู่ทางขวามือ ให้แวะขอคำแนะนำ และเอกสารการท่องเที่ยวเสียก่อน เพื่อหาแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากที่ผมแนะนำในวันนี้ เพราะกาญจนบุรีนั้นสถานที่ท่องเที่ยวมากเหลือเกิน หากให้ผมแนะนำทั้งหมดเท่าที่ทราบก็คงได้แต่แค่เอามาเขียนเข้าแถวให้ดู เพราะเมื่อตอนผมมาฝึกอยู่ ๖ เดือนนั้น กาญจนบุรีคือ "ป่าไผ่" เขาตัดไม้ไผ่เอาไปทำกระดาษ ไม่มีรีสอร์ทสักแห่งเดียว โรงแรมเล็ก ๆ มี ๒ - ๓ โรงแรม ยังไม่มีเขื่อน น้ำตกรู้จักกันแต่ไทรโยค และไปด้วยความยากลำบาก ปราสาทเมืองสิงห์ยังล้มยังพังอยู่ เข้าไปอาจจะโดนเสือกัดเอาก็ได้ เพราะยังเป็นป่าทึบ นี่คือสภาพของกาญจนบุรีเมื่อ ๓๕ ปีที่แล้ว ไม่ใช่วันนี้ที่ขยายออกไปกว้างขวาง สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เขียนกัน ๓ วันไม่จบ จึงได้แต่เขียนแนะนำเจาะเป็นจุด ๆ ทำได้แค่นั้น
            จากในเมืองกาญจนบุรี หากวิ่งตรงไปก็จะไปผ่านสถานีรถไฟกาญจนบุรี ซึ่งในวันหยุดมีรถไฟนำเที่ยวไปน้ำตกเขาพังหรือไทรโยคน้อย ติดต่อรถไฟดูค่าบริการไม่แพง จากสถานีรถไฟทางขวา ทางซ้ายก็เป็นสุสานของทหารพันธมิตร ที่มาตายเมื่อตอนญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟสายมรณะนับจำนวนมากถึง หกพันกว่าคน ต่อจากนั้นก็จะข้ามทางรถไฟ (ซึ่งร้านอาหารที่จะชิมวันนี้จะเลี้ยวซ้ายตรงนี้) ต่อไปอีกก็จะเจอสี่แยกเลี้ยวซ้ายจะไปยัง อำเภอไทรโยค ทองผาภูมิ สังขะบุรี และด่านเจดีย์สามองค์ หากตรงไปก็จะไปผ่านค่ายสุรสีห์ของกองพลทหารราบที่ ๙ ตรงต่อไปอีกก็จะผ่านวัดลาดหญ้าของหลวงพ่อลำใย ตรงต่อไปอีก หลักกิโลเมตรที่ ๓ (หลัก ๑ มาเริ่มที่ลาดหญ้า) ก็คือ อุทยานเมืองเก่ากาญจนบุรี ซึ่งหลวงพ่อลำใยเกจิอาจารย์องค์สำคัญ ได้มาริเริ่มบูรณะขึ้น ที่อุทยานเมืองเก่านี้ยังมี วัดขุนแผน วัดนางพิม วัดป่าเลไลยก์  วัดแม่หม้าย ซึ่งแต่ละวัดอายุเกินกว่า ๒๐๐ ปี ความแก่การชม


            เลยต่อไปอีก คือ ศาลเจ้าพ่อเขาชนไก่ ทางขวามือ และสถานฝึกเยาวชนหรือรักษาดินแดนของกรมการรักษาดิน ซึ่งมีที่พักของเยาวชนที่มารับการฝึก เลยต่อไปอีกจนถึง กิโลเมตร ๒๔ ทางซ้ายมือคือที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์เก้าทัพ ซึ่งเวลานี้หน่วยจังหวัดทหารบกกาญจนบุรีรับผิดชอบอยู่ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน มีเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับและนำชม หากจะมากันเป็นหมู่เป็นคณะให้ทำหนังสือถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบกกาญจนบุรี
            อุทยานประวัติศาสตร์ ๙ ทัพนี้ สร้างขึ้นจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ และเมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เสด็จมาเปิดเมื่อ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๓ ทบทวนอีกที จากในเมือง ๓๓ กิโลเมตร แต่ที่ตั้งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒๔ เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามป้าย ๒.๖๙๔ กิโลเมตร เมื่อเข้าไปแล้วในโดมทางขวามือจะมีโต๊ะทรายจำลองภูมิประเทศ และมีผู้บรรยายให้ทราบเป็นอย่างดียิ่ง
            เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ๓ ปี พม่าเกรงไทยจะเติบใหญ่ จนยากต่อการปราบปรามจึงยกทัพใหญ่มาหวังตีไทยให้ได้เหมือนตีกรุงศรีอยุธยา โดยพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่านำทัพมาเอง และจัดทัพมาเป็น ๙ ทัพ เข้ามาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๓๒๘
            กองทัพที่ ๑ - ๒ ให้เข้าตีทางภาคใต้เป็นทัพเรือ
            กองทัพที่ ๓ กำลังพล ๓๐,๐๐๐ คน เข้ามาทางเชียงใหม่ ตีล่องลงมา
            กองทัพที่ ๙ เข้ามาทาง จังหวัดตาก ด่านแม่ละเมา
            กองทัพที่ ๔,๕,๖,๗ และ ๘ กำลังพล ๘๙,๐๐๐ คน พระเจ้าปดุงนำทัพมาเอง ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ เขตอำเภอสังขะบุรีในปัจจุบัน กองทัพที่ ๘ คือทัพหลวง ทุกทัพที่พระเจ้าปดุงคุมมานี้มุ่งตีกรุงเทพ ฯ
            กำลังฝ่ายไทยน้อยกว่ากำลังฝ่ายพม่าครึ่งหนึ่ง ของพม่ามีกำลัง ๑๔๐,๐๐๐ คน ฝ่ายไทยมี ๗๐,๐๐๐ คน
            ฝ่ายไทยจัดทัพเป็น ๔ ทัพ คือ
            กองทัพที่ ๑ มีกำลังพล ๑๕,๐๐๐ คน ขึ้นไปรับศึกทางนครสวรรค์ ทัพพม่าจะเข้ามาจากทางเชียงใหม่ และตาก
            กองทัพที่ ๒ มีกำลังพล ๓๐,๐๐๐ คน ไปรับทัพพม่าที่กาญจนบุรี ทัพพม่าเข้ามาด้านนี้ ๘๙,๐๐๐ คน
            กองทัพที่ ๓ มีกำลังพล ๕,๐๐๐ คนไปรับศึกทางราชบุรี
            กองทัพที่ ๔ มีกำลังพล ๒๐,๐๐๐ คน เป็นทัพหนุน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นำทัพเป็นทัพหนุน ส่วนทัพที่ไปรับศึกทางกาญจนบุรีนั้น กรมพระราชวังบวรสุรมหาสิงหนาท เป็นจอมทัพ นำกำลัง ๓๐,๐๐๐ คน ไปรับศึก นำทัพมาทางเรือเป็นส่วนใหญ่ จึงเดินทัพได้เร็วและมาตั้งรับก่อนทัพพม่าจะมาถึง ๑๕ วัน จึงยันกองทัพพม่าไว้ในช่องเขา ทำให้กำลังพม่ามีมากกว่าแต่ก็เหมือนมีน้อย เพราะแผ่ขยายกำลังไม่ได้ ติดกันอยู่ในแนวยาวและทรงใช้ยุทธวิธีคนน้อยลวงให้เห็นว่าคนมาก เช่นกลางวันให้กองทหารเดินเข้ามาในค่าย กลางคืนหลบออกไปจากค่าย กลางวันเข้ามาใหม่เหมือนมีการเสริมกำลังทุกวัน และพม่าเองเมื่อติดล้อมในช่องเขา ในที่แคบเช่นนี้ถือว่าเป็นการอำนวยประโยชน์ให้แก่ฝ่ายตั้งรับ เสบียงอาหารก็จะอัตคัต ต้องส่งกำลังมาจากพม่าทางเดียวเท่านั้น และประการสำคัญที่สุดศึกนี้ชนะด้วยปืนใหญ่ กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงใช้ต้นไม้ในป่ามาตัดเป็นท่อน ๆ ซึ่งไม้เนื้อแข็งแต่ละท่อนก็หนักเอาเรื่องอยู่ เอามาทำเป็นกระสุนปืนใหญ่ บางลูกจะทำเป็นกระสุนเพลิงคือ เอาผ้าชุบน้ำมันมัดไม้กระสุน เมื่อยิงไฟก็จะติดไปเผาค่ายพม่าได้ อีกประเภทก็เอาลูกกระสุนไม้หนัก ๆ นั่นแหละยิงไปกระสุนปืนใหญ่สมัยนั้น เมื่อตกลงดินแล้วไม่ระเบิดต่อแม้จะเป็นลูกเหล็กก็ตาม กลิ้งไปโดนใครเท่าไรก็เจ็บล้มตายกันแค่นั้น ลูกไม้ก็เหมือนลูกเหล็กเพราะหนัก ตกแล้วก็ยังกลิ้งต่อไปได้ ลงไปกลางทัพก็ตายกันทีละหลายคน กรมพระราชวังบวร ฯ ถึงกับทรงประกาศว่า "ตราบใดป่าไม้เมืองกาญจนบุรียังไม่สิ้นกองทัพไทยก็ยังมีกระสุนปืนใหญ่" ไทยจึงไม่ต้องไปลำเลียงลูกกระสุนปืนใหญ่มาจากกรุงเทพ ฯ ส่วนพม่านั้นย่อมใช้ปืนใหญ่ไม่เต็มที่เพราะปืนที่เอามาไกลเป็นร้อย ๆ กิโล ลากด้วยช้าง ด้วยม้า แค่นั้นยังขึ้นเขามาอีกไม่รู้ว่ากี่ลูกย่อมเอามาได้แต่ขนาดปืนไม่โตนัก ผิดกับกองทัพไทยที่ลำเลียงมาได้สะดวกกว่า โดยเฉพาะยังมาทางเรือได้อีกด้วย อำนาจการยิงจึงสูงกว่า ผลสุดท้ายพม่าก็อ่อนระโหยโรยแรงลงไปทุกวันจนต้องถอยทัพกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๓๒๘ นั่นเอง และจากนั้นทัพไทยก็ใช้ยุทธวิธีเดินเส้นในเข้าตีโต้ทัพพม่าทางทิศอื่น จนแตกพ่ายถอยไปหมด
            ไปชิมอาหารอร่อยที่ริมแม่น้ำแคว ซึ่งร้านนี้หากเป็นปลายเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งมีสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว จะนั่งชมแสงและเสียงที่จัดแสดงที่สะพานข้ามแม่น้ำแควได้สบาย "คือร้านโสฬส"
            จากในเมืองกาญจนบุรี ผ่านสุสาน ผ่านสถานีรถไฟกาญจนบุรี ตรงเรื่อยมาจะมาข้ามทางรถไฟ พอข้ามทางรถไฟให้เลี้ยวซ้าย วิ่งตรงเรื่อยไปจนชนสามแยกเลี้ยวขวามานิดเดียว ร้านโสฬส ติดกับร้านไทรโยค มองเห็นป้ายชัดเจน อยู่ริมแม่น้ำแคว ร้านโอ่โถงนั่งรับลมแม่น้ำเย็นสบายนัก และหากมื้อค่ำยังมีเพลงไพเราะ ๆ ให้ฟังอีกด้วย โทร ๐๓๔ ๕๑๓๗๒๖,๕๑๑๓๑๓
            ปลาเค้าทอดน้ำปลา จัดเคียงมาด้วยผักสลัด กะหล่ำ มะเขือเทศ ค่อยแกะเนื้อปลามาจิ้มน้ำจิ้มรสแซ่บ
            ต้มยำเห็ดโคน อย่าโดดข้ามไป เขามีเห็ดโคนทั้งปี เป็นเห็ดโคนธรรมชาติดอกโต เห็ดโคนต้มยำ ใส่มาในหม้อไฟร้อนโฉ่ ควันฉุย มีรสเผ็ดนิด ๆ ชวดซดรสกลมกล่อม
            กุ้งทอดสามรส ใช้กุ้งใหญ่ชุบแป้งทอด ราดด้วยน้ำที่ปรุงแต่งรสได้สามรส ออกหวานนำ มีน้ำขลุกขลิก เนื้อกุ้งแน่นเหนียวหนับ เคี้ยวสนุกนักเพราะเป็นกุ้งแม่น้ำ น้ำผัดขลุกขลิกจะคลุกข้าวก็ได้
            ทางร้านเขาแนะนำว่าข้างร้านเขามี ไก่ต้มยำอร่อยนัก หากจะชิมเขาจะสั่งให้ ลองสั่งมาดู เป็น "ตีนไก่" (ขออภัย) ต้มยำ ต้มจนเปื่อยไม่ยุ่ย ได้เคี้ยว ทุบพริกสดใส่มาด้วย ทำให้หอมเลยเกิดการซดกันเป็นการใหญ่ ทั้งต้มยำเห็ดโคน และต้มยำไก่รสเลิศทั้งสองต้มนั่นแหละ ปิดท้ายด้วยบัวลอยไข่หวาน

.................................................


| ย้อนกลับ | บน |

อุทยานเก้าทัพ: ข้อมูลอุทยานเก้าทัพ ท่องเที่ยวอุทยานเก้าทัพ ข้อมูลเที่ยวอุทยานเก้าทัพ


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์