วัดบางกระเบา
วัดบางกระเบา
วัดบางกระเบา อยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านสร้าง ห่างจากตัวจังหวัดปราจีนบุรีประมาณ
๒๐ กม. ผมทราบกิติศัพท์ของหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา มานานแล้ว ทั้ง ๆ ที่ท่านมรณภาพไปแล้วร่วม
๕๐ ปี คือ มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ก่อนที่จะไปยังวัดบางกระเบา หรือในอดีตคือ
วัดน้อยนางหงส์ ผมขอพากลับไปยังพุทธสถานจีเต็กลิ้ม ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ ผมเคยพาไปแล้วครั้งหนึ่ง
เมื่อไปคราวนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ผู้คนมีศรัทธาไปกันมากขึ้น วันหยุดมีมากถึงขนาดเช่ารถบัสคันโต
ๆ ไปยังพุทธสถานแห่งนี้ จึงขอเล่าให้ฟังอีกที และการไปวัดบางกระเบา เส้นทางที่ผมไปก็อยู่ในเส้นทางที่จะไปยังพุทธสถานจีเต็กลิ้ม
ด้วย
เส้นทางที่ ๑
หากไปกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผมไปในวันนี้ เป็นเส้นทางที่อ้อมไกลไปหน่อยคือ
จากกรุงเทพ ฯ ผ่านรังสิต วังน้อย พอถึงหินกอง เลี้ยวขวาไปตามถนนที่จะไปยังนครนายก
อีกประมาณ ๔๐ กม. ก็จะถึงสี่แยก ยกป้ายว่า สี่แยก รร.จปร. ให้เลี้ยวขวาไปสัก
๑.๕ กม. จะข้ามสะพานมัฆวาน ๒ ที่จำลองมาจากสะพานมัฆวาน ที่กรุงเทพ ฯ ซึ่งสมัยผมเรียน
รร.จปร. ทุกเช้า - เย็น จะต้องเดินจากที่พักที่อยู่ตรงข้ามสนามมวยราชดำเนิน
หรือกองบัญชาการกองทัพบก ในปัจจุบันนี้ มาเรียนยังตึกแดง ที่อยู่ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ
เดินอยู่ ๗ ปี ตั้งแต่เตรียมนายร้อย จนจบนายร้อย ชั้นปีที่ ๕ เมื่อ รร.จปร.
เขาย้ายมาอยู่นครนายก เลยมาสร้างสะพานมัฆวานเอาไว้เป็นอนุสรณ์ เมื่อข้ามสะพานแล้วก็จะมาบรรจบกับถนนสายที่มาจากรังสิต
ให้เลี้ยวซ้ายไปหน่อยจะถึงสี่แยกสามสาว (เลี้ยวซ้ายเข้าเมืองนครนายก) ให้ตรงต่อไป
อีกประมาณ ๒๐ กม. (จะผ่านดงละคร
โบราณสถาน) จะถึงสามแยกน้อย ๆ ให้ตรงต่อไป (เลี้ยวซ้ายตรงนี้ไป อ.บ้านสร้าง
วัดบางกระเบา) ตามถนนลูกรังประมาณ ๑ กม. (มองทางขวาจะมองเห็นบ่อเลี้ยงปลา
เลี้ยงกุ้ง ในพื้นที่หลายร้อยไร่) เลี้ยวขวาข้ามสะพาน ตรงไปอีก ๐.๕ กม. จะถึงพุทธสถาน
ซึ่งไปคราวนี้เปลี่ยนทางเข้าใหม่ ทางเข้าเดิม ไม่มีลานจอดรถ ให้เลยไปอีกนิดเข้าทางที่จะเข้าไปยังที่จอดรถ
แต่หากไปวันธรรมดา รถน้อยก็เข้าทางนี้ได้เลย เมื่อเข้าไปแล้ว ไม่ว่าเข้าทางประตูไหน
จะมีรูปปั้นของพระอรหันต์หลายสิบองค์ ยืนเรียงรายอยู่สองฟากถนน ไปจนถึงวิหาร
เป็นสิ่งใหม่ที่พึ่งเคยเห็นเมื่อไปในคราวนี้
เส้นทางที่ ๒
ไปจากกรุงเทพ ฯ พอข้ามสะพานรังสิต ก็เลี้ยวขวา (ความจริงต้องเลี้ยวซ้ายไปก่อน)
แล้ววิ่งเลาะคลองรังสิต ไปผ่านคลอง ๑๕ ตลาดต้นไม้ราคาถูกที่สุด มากที่สุด
ไปผ่าน อ.องค์รักษ์ เลียบลำคลองเรื่อยไป จนถึงสี่แยกสามสาว ก็ไปตามเส้นที่
๑
เส้นทางที่ ๓
ไปจากกรุงเทพ ฯ ตามถนนรามอินทรา ถึงมีนบุรีเลี้ยวซ้ายไปทางจะไปแปดริ้ว จนถึงทางแยกซ้ายป้ายบอกว่า
ไปบางน้ำเปรี้ยว เลี้ยวไปตามเส้นนี้ ถึงบางน้ำเปรี้ยวแล้วเลี้ยวไปทางบางขนาก
ผ่านวัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง เลยอำเภอไปอีกหน่อย ก็จะถึงทางแยกที่เลี้ยวซ้ายไปยังพุทธสถานจีเต็กลิ้ม
ถ้าเข้าพุทธสถานจีเต็กลิ้ม ทางประตูแรก พอเข้าไปทางขวามือคือ วิหารยู่อี่รุ้ง
กวนอิม - ไฉซิ้งเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ปางเศรษฐีซัมภล บูชาเพื่อขอโชคลาภ
เทพเจ้าแห่งโชคลาภ จัดแบ่งได้เป็นสามปางคือ ปางมหาเศรษฐีซัมภล เก่าแก่กว่า
๑,๐๐๐ ปี ปางบู๊ และปางบุ๋น แวะนมัสการเสียก่อน ในวิหารมีองค์รูปหยก
แล้ววิ่งต่อไปจนสุดทาง ทางซ้ายมือจะมีสถานที่จำหน่ายวัตถุมงคล เป็นอาคาร ๒
ชั้น ชั้นล่างจำหน่ายวัตถุมงคล เช่น รูปท่านไฉ่ซิ้งเอี้ย ขนาดบูชาหน้าตัก
๙ นิ้ว มีเต่า และพังพอนโชคลาภ ให้ไปลูบขอลาภ เวลาลูบเอาประเป๋าสตางค์ รองรับเงินไว้ด้วย
มี "ซำปอกง" หรือหลวงพ่อโตจำลองแต่องค์นิดเดียว และทางซ้ายจะมีรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทรงม้าและรูปปั้น ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับยืน ชั้นบนของอาคารนี้
มีเจ้าแม่กวนอิม ประทับนั่งเสวย สง่างามมาก ข้าง ๆ อาคารวัตถุมงคล มีศาลเทพให้ทำบุญต่ออายุ
ผมไม่ได้อ่านละเอียด เคยต่อแล้วอายุผมยืนไปถึง ๑๒๕ ปี ไปคราวนี้เลยไปขอใหม่หากจะยืนไปถึง
๑๒๕ ปี ตามคำขอครั้งที่แล้ว ขอให้มีชีวิตอย่างกินได้ เดินได้ ยังไปไหนด้วยตนเอง
และความจำยังมีอยู่ ไม่ใช่อยู่อย่างนอนอยู่ และความจำเสื่อม อย่าอยู่เลย
อาคารตรงข้ามกับอาคารวัตถุมงคล เป็นวิหารใหญ่ ซ้อนกันสองหลัง หลังสูงคือ วิหารที่ประดิษฐาน
"พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า"
พระพุทธองค์ผู้ทรงคุ้มครองดวงชะตาชีวิตมนุษย์ วิหารนี้เรียกว่า วิหารนพเคราะห์
ชันษาไภษัชยราชา แห่งเดียวในตะวันออกเฉียงใต้ ใครที่เกิดในปี "ชง" คือ ปีมีเคราะห์
เช่น พ.ศ.๒๕๕๐ คนเกิดปีชงคือ เกิดปีขาล มะเส็ง วอก และปีกุน ใครจะขอความคุ้มครองดวง
ก็ไปที่วิหารนี้ มีเครื่องบูชาจำหน่ายและเมื่อบูชาแล้ว ก็จารึกชื่อไว้ในวิหาร
จะนำแผ่นดวงไปติดไว้ที่ฝาผนัง ในวิหารเป็นเวลา ๑ ปี มีไฟจุดบูชา ปีต่อไปที่ไม่ใช่ปีชงของเรา
จะมาทำพิธีจุดไฟบูชาต่อก็เสียค่าไฟบูชาอีกปีละ ๒๐๐ บาท เพื่อขอให้ได้พบกับความเจริญรุ่งเรือง
ในชีวิตหน้าที่การงาน ธุรกิจการค้าราบรื่น ร่ำรวย
ด้านหน้า ของวิหารหลังนี้เป็นวิหารของเทพหลายองค์ องค์สำคัญสำหรับคนเกิดปีมะแมคือ
เทพกวนอู ให้คนเกิดปีมะแม ไปเคารพขอพรจากเทพกวนอู อยู่ขวาสุด
นอกจากนี้ ด้านล่างหน้าวิหาร ยังมีเจ้าแม่กวนอิม ประทับยืน มี "เห้งเจีย"
มีศาลต่าง ๆ ที่กำลังก่อสร้าง และทราบว่าจะสร้างเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ ประทับยืนอีกด้วย
เข้าไปในพุทธสถานแห่งนี้มีแต่ความสุขใจ เจ้าหน้าที่เป็นแฟนหนังสือของผมหนึ่งคน
เลยแนะว่าให้พยายามปลูกไม้ใหญ่ ให้มาก ๆ จะได้ร่มรื่นตามธรรมชาติ ไปแล้วจะสุขใจ
พอออกจากประตู เห็นมีป้ายเชิญชวนไปชิมอาหาร บอกว่า อิ่มบุญแล้วไปอิ่มท้อง
ป้ายเข้าตา ผมเลยพาพรรคพวกดั้นด้นไป และการไปร้านอาหารทำให้ไปยังวัดบางกระเบาได้สำเร็จอยากไปมานานแล้ว
เคยผ่านวัด แต่ไม่เคยแวะเข้าไปสักที รู้แต่ว่าเป็นวัดหลวงพ่อจาด เส้นทางไปร้านอาหาร
ออกจากพุทธสถาน ฯ กลับมายังสามแยก เลี้ยวขวา (ตรงหัวมุม มีร้านชาวบ้าน อาหารอร่อย
ก๋วยเตี๋ยว ผัดกระเพรา ขาหมู ฯ ) ไปอีก ๖ กม. ก็ข้ามสะพานแม่น้ำบางปะกง เข้าตัว
อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี พอลงสะพานเลี้ยวซ้ายทันที มาผ่านสามแยก หากเลี้ยวขวาเข้าตลาด
ตรงต่อไป จะพบป้ายทางซ้ายมือเป็นระยะ ไปไม่ไกลจะพบทางเข้าร้าน มีป้ายใหญ่
เลี้ยวขวาเข้าไปมีถนนเลียบสระน้ำขนาดใหญ่ไปอีกไกล แต่อยู่ในเขตของร้าน สุดสระก็เลี้ยวซ้ายเข้าจอดในโรงรถ
หรือลานจอดของร้าน ขึ้นไปห้องอาหารแล้วตกใจ ร้านกลางทุ่ง แต่ใหญ่โตมหาศาล
กว้างขวาง สะอาดตา มีห้องอาหาร ห้องจัดเลี้ยง ห้องสุขาแบบผสม สะอาดเอี่ยม
อาหารเยี่ยม ราคาย่อมเยา เชื่อว่าชาวปราจีนต้องแห่กันมากินที่นี่ สมัยผมอยู่ปราจีนเมื่อ
๔๙ ปี ที่แล้ว อย่าไปหาร้านอาหารแบบนี้เลย หากมีผมคงยกพวกมากินอาหารที่นี่
เพราะห่างตัวเมืองปราจีนบุรีแค่ ๒๐ กม. แต่สมัยนั้น กลางทุ่งจริง ๆ ไม่มีทางให้รถยนต์มาได้
นอกจากจะล่องเรือมา "สั่งอาหาร"
เมี่ยงปลากรอบ รองจานมาด้วยใบชะพลู มันด้วยมะม่วงหิมพานต์ เปรี้ยวด้วยมะนาวหั่นชิ้นน้อย
ๆ ปลากรอบ ใบมะกรูด พริกทอด จบแล้ว จานนี้ไม่มีอะไรเหลือ
ทอดมันกุ้ง ชิ้นโต เหนียวหนึบ หนุบหนับ แนมด้วยผักสลัดข้างจาน
แกงป่าปลา สั่งมาปลาเค้า อย่าโดดข้ามจานนี้ไป เผ็ดอร่อย ร้อนสะใจ ต้องซด
ปลากรายผัดฉ่า ใส่เครื่องแกงผัดเหมือนแกงป่า น้ำขลุกขลิก คลุกข้าวเด็ดนัก
เชิงปลากรายทอดกระเทียมพริกไทย ไร้ก้าง มีแต่เนื้อเคี้ยวสนุก ไม่ต้องกลัวก้าง
เสียดายมีอีกหลายรายการไม่ได้สั่ง เพราะพุงรับไม่ไหว ได้แต่มองโต๊ะอื่น เช่น
ขาหมู หมั่นโถว ปลากระพงนึ่งบ๊วย ซี่โครงหมูอ่อนอบผัก
ปิดท้ายด้วย ทับทิมกรอบ กับซื้อสาหร่ายรสเค็ม อร่อยเอาไปฝากหลาน
ทางเข้าร้านจริง ๆ ของเขา เข้าด้านหน้าจะอยู่ติดถนนสายจาก บางน้ำเปรี้ยว -
ปราจีนบุรี ร้านจะอยู่ประมาณ กม. ๔๓.๕ ทางซ้ายมือ เลยร้านไป ๒๐ กม. คือ ปราจีนบุรี
ดังนั้น เมื่อออกจากครัว ฯ ทางด้านหน้า ไม่ย้อนมาทางเดิมก็เลี้ยวขวาไปเส้นทางไป
บางน้ำเปรี้ยว เส้นทางนี้ไปอีกเพียง ๔ กม. จะถึง "วัดบางกระเบา" และห่างไปจากร้านประมาณ
๒๐ กม. จะถึงโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ กลับกรุงเทพ ฯ ทางเส้นนี้จะห่างจากร้านถึงมีนบุรี
ประมาณ ๖๘ กม. อยู่บ้านผมลาดพร้าว วิ่งมาสักชั่วโมงเศษ ๆ ก็ถึงแล้ว วัดบางกระเบา
เป็นพระอารามหลวง มาจากร้านอาหารประมาณ ๔ กม. จะถึงซุ้มประตูเข้าวัดอยู่ทางขวา
เลี้ยวเข้าไปประมาณ ๑ กม. จะถึงประตูเข้าวัด ประตูสวยมาก วัดอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง
สมัยก่อนต้องมาทางน้ำ เมื่อเลี้ยวเข้าไปในวัดทางซ้ายมือ
คือมณฑปหลวงพ่อจาด ภายในมณฑป มีรูปหลวงพ่อจาด และพระเกจิอาจารย์อีก ๒ องค์
เวลานี้เป็นวัดของเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี หลวงพ่อจาด ดังเมื่อคราวสงครามอินโดจีน
เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๑ จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ได้ขอให้หลวงพ่อจาด สร้าง "เสื้อยันต์สีแดง และสีขาว" เพื่อเตรียมไว้แจกทหาร
ตำรวจ ที่กำลังเตรียมไปสู่สงครามอินโดจีน (บิดาของผมได้รับ ๑ ตัว สีแดง) กองพันที่เข้ารบในศึกอินโดจีนใส่เสื้อยันต์กันแทบทุกคน
เมื่อปะทะกับทหารอินโดจีน ที่ทหารส่วนใหญ่คือ เขมร ลาว อาจจะมีญวนด้วย คุมโดยทหารฝรั่งเศส
ทหารไทยถูกยิงล้มลง แต่แล้วกลับลุกขึ้นมาสู้รบต่อไป ทหารอินโดจีนเห็นแล้ววิ่งเปิดหนีกันแนบ
เพราะนึกว่าผีหลอก เลยตั้งชื่อกองพันทหารไทยที่เข้ารบว่า "กองพันทหารผี
" วัตถุมงคลที่วัดบางกระเบารุ่นหลวงพ่อจาด หรือพระครูสิทธิสารคุณ สร้างไม่มีเหลือแล้ว
ที่วางจำหน่ายคือ หลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์ต่อ ๆ มา ช่วยกันสร้างไว้ วัดนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จ
หลวงพ่อจาดครองวัดตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๑ - ๒๔๙๙ มรณภาพเมื่ออายุได้ ๘๕ ปี
เมื่อเลี้ยวเข้าประตูวัดมา ทางขวามือมีรถยนต์เอามาดัดแปลง ต่อเติมเป็นร้านขายอาหารตามสั่ง
เช่น ก๋วยเตี๋ยว อาหารจานเดียว ที่อร่อยสุด ๆ คือ กาแฟ แถมแขวนป้ายคลีน ฟู๊ด
กู๊ดเทสท์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อยไว้อีกด้วย "ก๋วยเตี๋ยวบางกระเบา (เต่า)"
ส่วนด้านหลังของวัดด้านที่ติดแม่น้ำ คณะศิษย์หลวงพ่อจาด สร้างกระเช้ารถไฟฟ้า
แขวนสลิงไว้สำหรับข้ามแม่น้ำ และมีเรือข้าวตกแต่งเป็นเรือนำเที่ยวชื่อ เรือสมบูรณ์ทรัพย์นาวา
หากย้อนกลับทางเดิม จะมานครนายก ข้ามสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายไปไหว้พระธาตุ ที่วัดบ้านสร้าง
เสียอีกแห่งจะได้เป็นมงคล
..........................................
|