ตลาดบางพลีใหญ่
ตลาดบางพลีใหญ่
คลองสำโรง คือ คลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.สำโรงใต้ อ.พระประแดง
กับแม่น้ำบางปะกง เป็นคลองขุดโบราณ มีอายุยาวนานประมาณ ๘๐๐ ปี ยาว ๕๕ กม.
สันนิษฐานว่า ขุดในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจในย่านนี้ เชื่อมระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออก
สามารถเดินทางจากภาคกลางไปยังเขมรได้
ที่มาของชื่อ บางพลี เล่ากันไว้ ๒ ตำนานคือ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ ได้ขุดลอกคลองสำโรง
ได้พบเทวรูปทองสัมฤทธิ์ ๒ องค์ ตรงบริเวณหน้าที่ทำการ อ.บางพลี ในปัจจุบันองค์หนึ่งจารึกชื่อว่า
พญาแสนตา ส่วนอีกองค์จารึกว่า บาทสังขกร จึงได้ทำพิธีบวงสรวง สังเวยเทวรูปที่พบจึงเป็นที่มาของชื่อ
"บางพลี" อีกตำนานหนึ่งสันนิษฐานว่า กองทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
มาพักทัพที่บางพลี และตั้งพิธีบวงสรวงก่อนออกเดินทัพไปตีเขมร จึงได้ชื่อว่า
"บางพลี" และตั้งฐานส่งกำลังที่ตำบลนี้
ตลาดบางพลีใหญ่เป็นตลาดโบราณ สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๐ ถึงวันนี้ พ.ศ.๒๕๕๐
จึงมีอายุได้ ๑๕๐ ปีแล้ว ตลาดโบราณร้อยปีแบบนี้ ยังเหลืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์คือ
ตลาดคลองสวน อ.บางบ่อ ซึ่งตลาดคลองสวน ตั้งอยู่ริมคลองประเวศน์บุรีรมย์
ส่วนตลาดบางพลีใหญ่ตั้งอยู่ริมคลองสำโรง ตลาดริมคลองสำโรงเดิมมีอยู่หลายตลาด
เวลานี้ก็ยังอยู่แต่ทุกตลาดไฟไหม้หมด ไม่คงสภาพเดิมคงมีสภาพเป็นตลาดโบราณเหลือเพียงตลาดเดียวคือ
ตลาดบางพลีใหญ่ ส่วนตลาดริมคลองสำโรงอื่น ๆ เช่น ตลาดหนามแดง ตลาดบางแก้ว
ตลาดบางโฉลง ตลาดบางปลา ตลาดศีรษะจระเข้ใหญ่ ตลาดบางบ่อ และตลาดบางพลีน้อย
ยังคงอยู่แต่ไม่ใช่เรือนแถว เพราะไฟไหม้หมดแล้ว และตลาดบางพลีใหญ่ที่จะไปวันนี้
นอกจากเรือนแถวโบราณอายุ ๑๕๐ ปี สร้างด้วยไม้แล้ว แม้แต่พื้นทางเดินที่ยาวร่วม
๑ กม. ก็ปูด้วยไม้เนื้อแข็งอย่างดี ไม่มีวันผุ หรือให้ปลวกกิน ตั้งแต่เดินเที่ยวตลาดร้อยปีมาก็หลายแห่ง
พึ่งเจอที่ตลาดนี้ที่พื้นทางเดินปูด้วยไม้ บางคนว่าเป็นไม้สัก แต่ไม่แน่ใจว่าไม้อะไร
เพราะหากเป็นไม้สักผมกลัวว่า จะโดนใครแอบมาแบกไปในยามวิกาล การที่ตลาดบางพลีใหญ่
เหลือรอดอยู่ริมคลองสำโรงเพียงตลาดเดียว ชาวบ้านบอกว่า เพราะบารมีของ หลวงพ่อโต
วัดบางพลีใหญ่ใน
วัดบางพลีใหญ่ใน
อยู่ห่างจากตลาดบางพลีใหญ่ ประมาณ ๑๐๐ เมตร มีพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อโต
ประวัติวัดเดิมชื่อ วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม เพราะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ยกกองทัพมาทางทิศตะวันออก เพื่อไปตีเขมร ได้ยั้งทัพที่บางพลี และทำพิธีบวงสรวงและตั้งสัจจะอธิษฐานว่า
ขอให้การศึกครั้งนี้ได้ชัยชนะ ซึ่งในการศึกก็ได้รับชัยชนะ เมื่อเสด็จกลับผ่านมายังบางพลี
จึงทรงโปรดให้สร้างพลับพลาชัยขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์นามว่า "พลับพลาชัยชนะสงคราม"
ต่อมาชาวบ้านจึงได้สร้างวัดขึ้น และให้ชื่อว่า วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม ตำบลที่สร้างวัดก็ชื่อว่า
ตำบลบางพลี เลยพลอยเรียกวัดชื่อยาวนี้ว่า "วัดบางพลี" ต่อมาอีกมีการสร้างวัดใกล้
ๆ กันแต่ไม่ได้อยู่ริมคลองสำโรงชื่อ วัดบางพลีใหญ่กลาง ส่วนวัดบางพลีเดิมได้พระพุทธรูปสำคัญมาหนึ่งองค์
เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เลยเรียกชื่อวัดว่า วัดบางพลีใหญ่ใน หรือวัดหลวงพ่อโต
ซึ่งประชาชนทั่วไปจะรู้จักชื่อนี้มากกว่านามจริงของวัด
พระพุทธรูปสำคัญในวัดบางพลีใหญ่ในคือ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
(หรือ ปางสดุ้งมาร) เนื้อทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ลืมพระเนตร
เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีกว่ามาแล้ว มีพระพุทธรูป ๓ องค์ (บางตำราก็ว่า
๕ องค์) ปาฎิหารย์ลอยน้ำมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าใจกันว่าอยุธยาอัญเชิญท่านลงแม่น้ำ
เพื่อหลบหนีพม่าเมื่อคราวกรุงแตกครั้งที่ ๒ ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ผุดขึ้นมาให้ผู้คนเห็น
จนลอยมาถึงตำบลหนึ่ง ก็ผุดขึ้นมาให้เห็น ชาวบ้านสามแสนคน (น่าจะหลายตำบล)
จึงทำพิธีอาราธนา แล้วฉุดลากองค์พระแต่ไม่สำเร็จ เลยเรียกตำบลนั้นว่า "ตำบลสามแสน
เพี้ยนเป็น ตำบลสามเสน"
และเมื่อผ่านอีกหลายตำบลก็อาราธนาขึ้นฝั่งไม่สำเร็จ องค์หนึ่งได้ลอยเข้ามาในคลองสำโรง
ได้พยายามฉุดขึ้นฝั่งตั้งแต่ปากคลอง ก็ไม่สำเร็จจึงมีความคิดกันว่า ใช้เรือพายจูงท่านให้ลอยมาตามน้ำ
แล้วอธิษฐานว่า หากท่านประสงค์จะโปรดขึ้น ณ ที่ใดขอให้แสดงอภินิหารให้ปรากฎ
เรือจูงก็ลากจูงองค์พระพุทธรูปมาตามลำคลองสำโรง เรื่อยมาจนถึงหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม
คราวนี้จะแจว จะพายอย่างไร ก็ไม่ยอมลอยไปอีก จึงอาราธนาขึ้นจากน้ำสำเร็จ และอัญเชิญอยู่ในวิหาร
ซึ่งเล็กมากเข้าทางประตูไม่ได้ ต้องรื้อฝาผนังเข้ามา และต่อมาจึงสร้างอุโบสถอัญเชิญหลวงพ่อโต
เป็นพระประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน
พระพุทธรูป ที่ลอยน้ำมา ๓ องค์ และถือว่า ๓ องค์นี้ เป็นพี่น้องกันคือ
หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นองค์พี่ (ขึ้นจากน้ำก่อน)
หลวงพ่อโสธร
วัดโสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา (ขึ้นจากน้ำเป็นองค์กลาง)
หลวงพ่อโต
วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ อาราธนาขึ้นจากน้ำเป็นองค์ที่ ๓ เส้นทางไปวัดบางพลีใหญ่ใน
และตลาดบางพลีใหญ่ (ชื่อเดิมตลาดโสภณ) หากไปจากกรุงเทพ ฯ ไปตามถนนบางนา -
ตราด จะให้เร็วก็ไปทางด่วนลอยฟ้า ถึงบางนาแล้วตามป้ายไปชลบุรี วิ่งไปจนเห็นป้ายบางพลีก็ลง
จ่ายเด้งนี้ ๒๐ บาท ลงแล้ววิ่งไปขึ้นสะพานกลับรถไปฝั่งเข้ากรุงเทพ ฯ แล้วเลี้ยวซ้ายข้างโรงพยาบาล
ถนนกำลังจะขยาย สร้างค้างเอาไว้ ยกป้ายไว้เป็นระยะ ๆ ว่าสร้างต่อไม่ได้ เพราะประปาไม่มาย้ายท่อน้ำประปาออกไป
จึงไม่มีการก่อสร้างใด ๆ ให้เห็น "รถติด" ระยะทางไม่กี่ กม... แต่จะใช้เวลาช่วงนี้ร่วมครึ่งชั่วโมง
วิ่งไปจนบรรจบกับถนนเทพารักษ์ ที่กำลังขยายถนนกัน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเทพารักษ์ไปสัก
๓๐๐ เมตร จะผ่านบิ๊กซี เลี้ยวซ้ายข้างบิ๊กซี ไปอีกประมาณ ๑๐๐ เมตร เลี้ยวเข้าวัดไปจอดได้ที่ลานจอดรถของวัด
อุโบสถอยู่หน้าลานจอดรถ หากเรายืนหน้าอุโบสถหันหน้าออก เดินตรงไปสัก ๑๐๐ เมตร
คือ ทางเข้าตลาดบางพลีใหญ่ แต่หากวิ่งรถไปทางขวาของโบสถ์ จะเป็นเส้นทางไปยังวัดบางพลีใหญ่กลาง
(ขอผลัดพาไปสัปดาห์หน้า พร้อมกับสำรวจเส้นทางใหม่ ที่รถอาจจะติดน้อยกว่านี้)
เส้นทางที่สองไปตามถนนสุขุมวิท จนถึงสำโรง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเทพารักษ์
ถึง กม.๑๓ ทางแยกเข้าวัดจะอยู่ซ้ายมือ ถนนกำลังขยาย รถติดเช่นกัน
เข้าไปไหว้หลวงพ่อโตในอุโบสถ ซึ่งขนาดผมไปวันเสาร์ศรัทธาก็แน่นขนัด หากเป็นวันอาทิตย์จะยิ่งแน่นมากกว่านี้
ดอกไม้ ธูป เทียนของวัด ขายอยู่หน้าอุโบสถไปจุดบูชาด้านซ้ายของอุโบสถ ในโบสถ์ไม่ให้จุด
ทางขวาเป็นที่จำหน่ายวัตถุมงคลอีกจุดหนึ่งและซื้อเครื่องสังฆทานถวายได้ด้วย
ผู้คนที่มาบนบานแล้วประสบความสำเร็จจะแก้บนด้วย "ไข่ต้ม" หรือ "ไข่หวาน" อย่าตกใจ
เมื่อเข้าโบสถ์แล้วมีหม้อไข่หวานวางเต็ม เสี่ยงเซียมซีแล้วไปรับใบเซียมซีนอกโบสถ์
ผมลองเสี่ยงกับเขาบ้างบอกว่ามีโชค เลยถูกเลขท้าย ๒ ตัว ซื้อกันที่หน้าโบสถ์นั่นแหละ
ขายราคาย่อมเยาคือคู่ละ ๙๕ บาท
จากหน้าอุโบสถ เดินตรงไปถึงริมคลองสำโรงที่น้ำใสสะอาด แล้วเลี้ยวขวาเข้าตลาด
ยังไม่ทันเข้าถึงตัวตลาดก็มีของขายสองข้างทางเดิน แม่ค้าบอกว่าหากมาวันอาทิตย์ของกินจะมีขายมากกว่านี้
และคนมาเที่ยวก็จะมากเช่นกัน ตลาดเป็นเรือนไม้ ขายกันมาตั้ง ๑๕๐ ปีแล้ว สินค้าที่ขายจะต้องไปหาสินค้าเครื่องใช้ต่าง
ๆ ที่ห้างเช่นบิ๊กซีเขาไม่มีขาย จึงจะขายได้ดี หม้อข้าวไฟฟ้าราคาถูกมากยี่ห้อไม่รู้จัก
ซึ้งสำหรับนึ่งก็มีขาย บิ๊กซีจะไม่มีขาย ร้านรวงต่าง ๆ ก็จะจัดร้านแบบโชว์ห่วย
มีขายตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบที่เด็กเล่น บางตอนจะมีสะพานสูงข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งได้
ของกินที่น่าซื้อกลับบ้านเช่นหอยดอง ปลาสลิดบางบ่อที่มีชื่อเสียง ร้านของกินนั้นมากมายหลายสิบหลายร้าน
จะมีที่นั่งกินด้วย ท่าทางอร่อยมากเมื่อเข้ามาคือกล้วยแขก ข้าวเม่าทอด ป้าสำเนียง
(เจ้าเก่า) เล็งเอาไว้ กะกลับมาจะซื้อเหลือแต่รถเข็น ป้าหายไปแล้ว ร้านค้านั้นมีสารพัดสินค้าจริง
ๆ เครื่องมือเกษตร ประมง เครื่องใช้ในครัวเรือน ของชำ ขนมก็หน้าตาแปลก ๆ ชนิดที่ห้างไม่มีขาย
เดินไปเรื่อยจะผ่านศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตรงข้ามมียาล้างพิษ "คลอโรฟิลด์
อย.รับรอง" จำหน่ายด้วย พบร้านก๋วยเตี๋ยว ยกป้ายขวางทางเดินว่าก๋วยเตี๋ยว
ท่าทางอร่อย คนนั่งเต็ม เดินไปจนสุดทาง ทางซ้ายจะมีรถเข็นขายสาคูไส้หมู บอกว่าขายมาสี่สิบปีแล้ว
ถามทางหาความรู้จากป้า ได้ความว่าเป็ดพะโล้บางพลีเจ้าทีเด็ดย้ายออกไปอยู่ข้างนอกริมถนนบางนา
- ตราด นานแล้ว เหลือร้านในซอยที่หน้าป้าสาคูไส้หมู ทำเป็ดพะโล้ขาย แต่ป้าบอกว่าเขาเคยเป็นลูกจ้างของร้านดังเก่า
เดินจากป้ามาสิบก้าว ร้านขายปลากัด และอาหารปลา อัทธยาศัยดี ถามอะไรช่วยอธิบายให้ทราบ
เลี้ยวซ้ายตรงร้านปลากัด ข้ามสะพาน ข้ามคลองไปอีกฟากหนึ่งเป็นตลาดเช่นกัน
ข้ามไปแล้วทางขวามีป้ายบอกว่าบ้านขนมไทย ขายแต่วันอาทิตย์ เลยไปมีขนมชั้นเจ้านี้อร่อยมากขนซื้อกลับมา
เดินไปจนสุดทางล้วนแต่ร้านของกินเป็นส่วนใหญ่ ผ่านร้านขนมจีนทางซ้าย เลยไปอีกนิดก็สุดทางเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวบะหมี่
ข้าวหน้าต่าง ๆ เช่น หน้าไข่เจียว, หมูแดง หมูกรอบ
ร้านขายขนมจีน (ป้านิรมล) เสียงคุ้น ๆ ถามไถ่ได้ความว่าเป็นชาวสุราษฎร์ธานีมาปักหลักอยู่บางพลี
มีโต๊ะ เก้าอี้ให้นั่งริมคลอง กินไป ได้ดูเรือ ภาชนะที่ใส่อาหารสะอาดมองอาหารในหม้อแล้วน่ากิน
บนโต๊ะ ตั้งผักกินกับขนมจีน - น้ำยา ไว้หลายอย่างเช่นถั่วงอกดิบ กล่ำปลีหั่นฝอย
ผักกาดดอง ใบแมงรัก และยังมีผักสำหรับเป็นเหมือนของน้ำพริกคือ ผักบุ้ง หัวปลี
มะระต้ม ป้านิรมล จะเปิดขาย "เฉพาะวันหยุดราชการเท่านั้น"
สั่งอาหารมาดังนี้ "คั่วกลิ้งไก่" ถามแล้วไม่เผ็ดขนาดกินไปร้องไห้ไป ไม่ได้สั่ง
ข้าวสวย แต่สั่งข้าวคลุกกะปิกับน้ำพริกลงเรือ กินคั่วกลิ้งไก่กับข้าวที่สั่งมา
อร่อยแปลกดี "แกงเขียวหวาน" เอามาราดขนมจีนราดให้ชุ่ม รสเข้ม ไม่ต้องเติมน้ำปลาพริก
สั่งน้ำยากะทิ ไม่สั่งน้ำยาปักษ์ใต้และน้ำพริก อร่อยยังกับกินที่เมืองนคร
และต้องไม่ลืมแกงไตปลา เอามาเยาะอร่อยนัก อย่าลืมไข่ต้ม อิ่มแล้วให้คิดเงินไปกัน
๕ คน ป้าบอกว่า "๑๔๕" บาท น้ำแข็ง น้ำดื่มฟรี ต้องบอกให้ป้าคิดเงินใหม่ก็ยืนยัน
๑๔๕ บาท
......................................................
|