ขนมจีนโบราณ
บ้านคุณตา
ขนมจีนโบราณ
บ้านคุณตา
ผมไปภาคเหนือมาอีกแล้วครับ เที่ยวนี้ไปไกลสุดถึงแค่ อ.เวียงป่าเป้า ไปไม่ถึงตัวเมืองเชียงราย
และไปตั้งฐานอยู่ที่เชียงใหม่ เช้าก็ออกเร่ร่อนเรื่อยไป และที่ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาดคือการไปเที่ยวงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ
ฯ ราชพฤกษ์ ๒๕๔๙ ที่จังหวัดเชียงใหม่ งานมีตั้งแต่วันที่ ๑ พ.ย.๒๕๔๙ ไปสิ้นสุดเอาวันที่
๓๑ ม.ค.๒๕๕๐ ผมไป ๒ ครั้ง แต่ไปตอนปลายงานแล้ว จึงเอากลับมาเขียนเล่าให้ทราบไม่ทัน
แต่เชื่อว่าบริเวณจัดงานที่มีมากถึง ๔๗๐ ไร่ และปลูกตกแต่งอย่างดี อาคารหลายหลังเป็นอาคารถาวรคงไม่รื้อ
คงต้องเก็บบริเวณงานและพืชสวนต่าง ๆ เอาไว้ให้ชมกันต่อไป เว้นสวนของนานาชาติ
ที่ได้มอบให้แก่รัฐบาลไทยไว้แล้ว เราจะเก็บรักษาเอาไว้อย่างใด ส่วนบริเวณสวนที่จัดงานทั้งหมด
ภาครัฐบาลคงได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะให้เป็นสวนอะไรเช่น เป็นสวนพฤกษศาสตร์
ซึ่งเรามีสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์อยู่แล้ว ๒ แห่ง คือที่อำเภอแม่ริม
จังหวัดเชียงใหม่ ๑ แห่ง กับที่ถนนกำแพงเพชร ไม่ไกลจากสวนจตุจักรอีก ๑ แห่ง
และมีสวนหลวง ร.๙ ในกรุงเทพ ฯ หากสวนนี้จะตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ชื่อว่า สวนหลวงรัชกาลที่
๙ หรือสวนพฤกษศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ก็คงจะเหมาะสมกับขนาดของสวนและความยิ่งใหญ่ในการจัดสวนระดับโลกเช่นนี้
น่าจะสมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์นักเกษตรของโลก จากไปงานสวนโลกคราวนี้ไม่เขียนเลยไม่ได้แน่
เพราะยิ่งใหญ่เหลือเกิน และชาตินี้ผมไม่มีโอกาสไปงานสวนโลกแบบนี้อีกแล้ว เพราะอายุใกล้ร้อยเข้าไปทุกที
เอาแต่ขับรถไปเชียงใหม่คราวนี้ก็ช้ากว่าที่เคยทำเวลาเอาไว้หลายชั่วโมง และใช้วิธีวิ่งอ้อมโลกไป
จะได้หาเรื่องมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบไปด้วย
ผมออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ตอนเช้าวันเสาร์ถนนออกต่างจังหวัดไม่แน่นนัก เพราะจะไปแน่นมากในตอนเย็นวันศุกร์มากกว่า
จากกรุงเทพ ฯ มาผ่านสระบุรี เลยต่อไปยังสามแยกพุแค เดี๋ยวนี้ถนนสายจากสระบุรี
- สามแยกพุแค ได้ขยายเป็น ๖ เลนแล้ว ทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ๑๕ กม.จะถึงสามแยกพุแค
เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๒๑ ซึ่งสายนี้จะไปถึง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ พอวิ่งมาสัก
๓๐ กม. ทางซ้ายก็จะเป็นทุ่งทานตะวัน
ที่จัดที่ไว้ให้ชมกันเลยทีเดียว เดี๋ยวนี้ทุ่งทานตะวันในจังหวัดลพบุรี และสระบุรีมีที่ชมหลายแห่ง
จุดนี้เป็นทุ่งทานตะวันทุ่งใหญ่มากทุ่งหนึ่งของลพบุรี แต่ต้องไปชมในเดือนพฤษจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมจึงจะมีให้ชม
เลยต่อมาก็จะมาถึงสี่แยกที่เลี้ยวซ้ายจะไปชมทุ่งทานตะวันได้อีก และไปลพบุรีได้
เลี้ยวขวาจะมาอำเภอพัฒนานิคมและไปยังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
หากไปเที่ยวแค่เขื่อนเวลากลับไม่ควรย้อนกลับมาตามเส้นทางเดิม
พอออกจากเขื่อนให้เลี้ยวซ้ายกลับไปทางน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
น้ำตกมวกเหล็ก แล้วกลับมาสระบุรีตามถนนมิตรภาพ
จะได้ท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่ปลายทางของผมวันนี้คือเขาค้อ จึงไม่ได้เลี้ยวมาทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
มุ่งหน้าต่อไปตามถนนสาย ๒๑ จะมาพบสี่แยกอีก จุดนี้หากเลี้ยวซ้ายไป อ.โคกสำโรง
ลพบุรี เลี้ยวขวาไปวัดหลวงพ่อคูณได้ วิ่งต่อไปอีก ๒๐ กม.จะถึงสามแยก หากเลี้ยวขวาเข้าตัวอำเภอชัยบาดาล
แล้ววิ่งต่อไปอำเภอเทพสถิต ไปป่าหินงามไปชัยภูมิได้
โดยเส้นทางจะข้ามเขากระพังเหย
ภูมิประเทศสวยดี จะไปเขื่อนจุฬาภรณ์ไปตามเส้นนี้ก็ได้
จากชัยบาดาล วิ่งต่อไปจะถึงอำเภอศรีเทพ หากเลยไปจนถึงสี่แยกแล้วเลี้ยวขวาไป
๗ กม. ก็จะถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งคือ ปราสาทศรีเทพ
ปราสาทขอมที่เก่าแก่ เลยต่อไปตามถนนสาย ๒๑ คราวนี้จะถึงดงไก่ย่างที่ลือชื่อคือ
ไก่ย่างวิเชียรบุรี
มีร้านไก่ย่างมากกว่า ๒๐ ร้าน ไม่นับประเภทใส่ถาดเร่ขาย เลยสามแยกเข้าตัวอำเภอวิเชียรบุรีไปสัก
๒๐ เมตร จะเห็นไก่เมืองยักษ์ยืนกระพือปีกอยู่หน้าร้านไก่ย่าง
ตรงสามแยกหากเลี้ยวขวาก็จะไปยังตัวอำเภอวิเชียรบุรี จะมีพระพุทธไสยาสน์วิเชียรศรีรัตนมิ่งมงคล
ที่วัดวิเชียรบำรุง ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ด้วย
เลยวัดไปผ่านตลาดตรงไป ก็จะไปยังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งศาลนี้สร้างถวาย
เพราะสมัยที่พระองค์ยังทรงเป็นพระมหาอุปราชเคยเดินทัพผ่าน เพื่อไปตีทัพพม่า
จากวิเชียรบุรีหากไปตามถนนสาย ๒๑ ก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทีบ่อน้ำร้อนบ้านพุขาม
มีถ้ำเทพบันดาล
อำเภอบึงสามพัน สุสานหอยล้านปี อุทยานเสาหินโบราณ
ทั้งสองแห่งนี้อยู่ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี แต่ต้องไปเลี้ยวขวาที่สี่แยกราหุล
เขตอำเภอบึงสามพัน ขอผลัดไว้เล่าวันหลัง ขอไปสำรวจขออีกที
จากบึงสามพันมาผ่านหนองไผ่และมาถึงตำบลวังชมพู ก่อนถึงมีทางแยกขวาไปยังวัดช้างเผือก
นมัสการสังขารหลวงพ่อทบ ที่ไม่เน่าเปื่อย เลยไปถึงสามแยกวังชมภู (ตรงไปจะไปยัง
จ.พิจิตร) พอเริ่มเลี้ยวขวาจะไปยังเพชรบูรณ์ ควรแวะร้านกำนัลจุล
จะแวะเที่ยวไปหรือแวะเที่ยวกลับก็ได้จ่ายสตางค์แท้แน่นอน โดยเฉพาะวันเดินทางกลับร้านอยู่ทั้งสองฟาก
ร้านใหม่อยู่ทางขวา ไปอาศัยสุขาที่สะอาดและแบบผสม มีขายทั้งผ้าไหมและพืชผัก
รวมทั้งปลาส้มกำนัลจุลที่ลือชื่อ กับดื่มน้ำผลไม้ต่าง ๆ พร้อมดื่มและบรรจุกระป๋อง
จากวังชมพูประมาณ ๒๐ กม.จะถึงตัวเมืองเพชรบูรณ์ เข้าเมืองไปวัดไตรภูมิ
วัดมหาธาตุ ศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ที่สมัยสงครามโลกครั้งที่
๒ รร.นายร้อย จปร.ต้องอพยพมาปลูกเพิงเรียนหนังสือกันที่นี่ ต้องพวกรุ่นก่อนผมเกินสิบปีจึงจะทันเป็นนักเรียนรุ่นป่าแดง
ออกจากตัวเมืองมุ่งหน้าไปทาง อ.หล่มสัก ซึ่งจะไปเขาค้อต้องไปตามเส้นทางนี้
และเลี้ยวขึ้นเขาที่ กม.๒๓๖ แต่พอถึง กม. ๒๓๐ จะถึงร้านขนมจีนโบราณบ้านคุณตา
เลยขอเล่าเสียเลย ร้านขนมจีนโบราณบ้านคุณตา เลยจากตัวจังหวัดเพชรบูรณ์มาประมาณ
๙ กม. (ก่อนถึง ต.นางั่ว) ตรงหลัก กม.๒๓๐ อยู่ทางซ้ายมือ จอดรถสะดวกเป็นศาลาโถง
โปร่งเย็นสบาย ต้องรีบบอกเสียก่อนว่า นอกจากจะอร่อยมากแล้ว ยังขายราคาถูกมากอีกด้วย
มีน้ำราด ๕ น้ำด้วยกันคือ น้ำยาป่า น้ำยากะทิ น้ำพริก แกงเขียวหวาน
และอร่อยสุด ๆ คือ น้ำเงี้ยว น้ำราดขนมจีนราคาถ้วยละ ๑๐ บาท น้ำเงี้ยวถ้วยละ
๒๐ บาท ผมสั่งมาชิมทุกวัน เว้นแกงเขียวหวานสั่งแล้ว เขาบอกว่าหมดเลยอดชิม
แต่เจอเข้าไป ๔ น้ำก็พุงกางแล้ว ขนมจีนจับมาเป็นก้อนกลมมี ๓ สีใส่มาในกระจาด
สีสลับกันสีสวยน่ากินตั้งแต่มองเห็น ส่วนน้ำใส่มาในชาม มีกระจาดใส่ผัก นับดูมีผักสดถึง
๗ อย่างคือ ถั่วงอกขาวอวบ ถั่วฝักยาว หัวปลี ผักบุ้งลวก กล่ำปลี สด - ลวก
ผักกาดดอง (กินน้ำเงี้ยวแนมด้วยผักกาดดอง จะเข้ากัน) ใบแมงลักและพริกขี้หนูแห้ง
สำหรับคนชอบเผ็ด ยังมีอีกคือ ส้มตำ มีส้มตำทะเล ส้มตำปลาร้า ส้มตำไข่เค็ม
ผมสั่งส้มตำไข่เค็ม รสดีถูกใจ และมีทอดมันปลากราย เหนียวหนึบ เคี้ยวกหนุบหนับเลยทีเดียว
ของหวานคือ ขนมถ้วยวางไว้บนโต๊ะ แคะเมื่อไรจึงจะเสียสตางค์ หวานมัน และมีโบราณอีกอย่างคือ
กาแฟ ,ชาร้อน - เย็น สั่งมาดื่มคือ กาแฟเย็น
ยกให้ทั้งห้านิ้วคือ ขนมจีน - น้ำเงี้ยว และยกให้อีกสำหรับราคาสั่งมาเต็มโต๊ะ
ไม่ถึง ๑๕๐ บาท หากไม่แวะกินขนมจีนโบราณ เลยไปถึงนางั่วมีร้านยุพาและโกเข่ง
เมื่อวิ่งรถเลยนางั่วไปประมาณ ๑ กม. ที่หลัก
กม.๒๓๖ ก็เลี้ยวซ้ายขึ้นเขาค้อ ที่หลัก กม.
บอกว่าไปอีก ๒๔ กม. ระยะทางนี้ไปถึงแค่สี่แยกสะเดาะพง ยังไม่ถึงตัวอำเภอ จะผ่านไปคือ
เนินมหัศจรรย์ กม.๑๗.๕
จอดรถที่เส้นสีขาว รถจะถอยหลังขึ้นเนินได้
กม.๑๙ มีร้านขนมจีนหล่มเก่า และผลผลิตเกษตรจำหน่าย เช่น ฟักแม้ว พาสชั่นฟรุ๊ท
ฯ
สี่แยกสะเดาะพง ตรงไปจะไปยัง โครงการพระราชดำริ
เกษตรอุตสาหกรรมเขาค้อ ผมมีส่วนร่วมกับท่านองคมนตรี
พลเอก พิจิตร กุลละวนิชย์ ก่อตั้งบริษัท ฯ มาตั้งแต่ต้น ผมมีหุ้นหนึ่งหุ้น
เป็นรองประธานบริษัท กรรมการบริษัทไม่มีเงินปันผล เงินตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น
รับซื้อผลผลิตทางเกษตรจากชาวไร่บนเขาค้อ นำมาผลิตน้ำผลไม้กระป๋อง และพร้อมดื่ม
ควรแวะไปอุดหนุน
ทางขึ้น พระตำหนักเขาค้อ
เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกสะเดาะพง หากเลี้ยวขวาไปอำเภอ ไปตามถนน ๒๑๙๖ สายสะเดาะพง
- แคมป์สน เส้นนี้จะผ่านที่ว่าการอำเภอ โรงพยาบาลห้องสมุดนานาชาติ ที่ทุกไปบรรดาทูตจะมาชุมนุมกัน
ในเดือนธันวาคม สวนดอกไม้ที่หน้าห้องสมุดนี้จะงามมาก งามตลอดปี เยื้อง ๆ กันทางเข้าห้องสมุดคือ
ทางแยกไปยังอนุสรณ์สถานผู้เสียสละ ที่เสียชีวิต
จากการสู้รบบนเขาค้อ และจะผ่านพิพิธภัณฑ์อาวุธ
ปากทางขึ้นไปจะมีศาลเจ้าพ่อเขาค้อ
กม.๑๙ วัดวิชมัยปุญญาราม
ซึ่งผมขึ้นไปเขาค้อคราวนี้ ก็เพื่อไปตรวจการก่อสร้างตกแต่ง ศาลสองมหาราช
ที่ได้สร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ - ๒๕๔๗ หาสตางค์ให้หลวงพ่อตกแต่งเพิ่มเติม
ซึ่งทางวัดได้จัดฉากหลังของสองมหาราช ด้วยสีแดงเข้ม เป็นศาลเดียวในประเทศไทย หรือในโลกที่มหาราชสององค์นี้ประทับอยู่ในศาลเดียวกัน
ส่วนด้านหลังคือ ศาลของสมเด็จพระปิยมหาราช
และศาลเจ้าแม่กวนอิมพันมือ ปางธิเบต
เลยไปนิดเดียวคือ พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก
ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ ๙ องค์ ให้มาบรรจุเอาไว้
กม.๑๗ มีถนนแยกซ้ายไปอีก ๙ กม. ก็จะถึงทางแยกขวา เข้าน้ำตกศรีดิษฐ
ฤดูฝนหรือปลายฝนจะสวยมาก ฤดูแล้งน้ำน้อยไปหน่อย เขาค้อเวลานี้ถนนแทบจะทุกสาย
จะมีรีสอร์ทเกิดขึ้นมาก แต่ส่วนมากขาดต้นไม้ใหญ่
เมื่อแยกไปทางน้ำตกศรีดิษฐแล้ว ผ่านทางแยกเข้าน้ำตกไปจนสุดทางเป็นสามแยก หากเลี้ยวซ้ายจะอ้อมขึ้นไปยังพระตำหนักได้
ถ้าเลี้ยวขวาตรงสามแยกหนองแม่นา ก็จะมาผ่านตลาด และมีตลาดนัดทุกเย็นวันอังคาร
ถ้าเลี้ยวขวาข้างตลาดนี้ตรงเรื่อยไป จะเข้าไปยังหน่วยพิทักษ์ป่า ของอุทยานแห่งชาติแสลงหลวง
ไปชมทุ่งหญ้าแบบ
"สะวันนา"
จะชมทุ่งหญ้าแห่งนี้ ต้องชมตอนปลายฝนจะดีที่สุด ผมไปวันนี้ต้นหนาวหญ้าตายเรียบหมดแล้ว
เหลือแต่ภาพของทุ่งโล่ง ๆ มาให้ชม และที่อุทยานจุดนี้ ตอนนี้ได้สร้างที่พักเพิ่มเติมจากเคยเห็น
๒ หลังเป็น ๘ หลัง มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีที่กางเต็นท์นอน มีสุขาและห้องน้ำรวม
อาหารคงต้องติดต่อที่ศูนย์บริการ หรือออกมาหากินแถวตลาดหนองแม่นา ไม่เช่นนั้นก็เตรียมเอาไป
ประกอบกันเอง
หากเราไม่เลี้ยวข้างตลาดไปอุทยาน ตรงต่อไปนิดเดียวจะมีทางแยกซ้าย ไปยังแก่งบางระจัน
มีฤดูท่องเที่ยวคือ ช่วงเดือน พ.ย. - มี.ค. ติดต่อ ๐๕๖ ๗๑๑ ๓๖๔ เพื่อล่องแก่งในลำน้ำเข็ก
จะล่องไปตามลำน้ำประมาณ ๗ กม. มีแก่งหินขวางทางน้ำเป็นระยะ ฤดูฝนน้ำจะแรงมาก
กลับมาขึ้นถนนสายสะเดาะพง - แคมป์สน กันใหม่ ลงเขาต่อไปจะผ่านรีสอร์ทสวย ๆ
หลายแห่ง ผ่านจุดขายผลผลิตทางเกษตร ทั้งของชาวบ้านและชาวเขา ผ่าน กม.๑๖ จะมีทางแยกซ้ายไปยังหมู่บ้านท่องเที่ยวของชาวดอยคือ
ชาวม้ง สมัยผมยังรับราชการ จะนำสิ่งของอาหารมามอบให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของชาวม้งเป็นประจำ
แต่เวลานี้ชาวม้งจะครองเขาค้ออยู่แล้ว
สามแยกแคมป์สน เดี๋ยวนี้เป็นชุมชนใหญ่ มีที่พักราคาย่อมเยา แต่เห็นจะไม่มีบรรยากาศที่ดีให้ชม
มีร้านอาหารหลายร้าน หรือใครจะทำบุญก็มีวัด เลยสามแยกลงไปก็จะถึงทางแยกซ้ายเข้าไร่บีเอ็น
ที่มีผลิตผลเกษตรจำหน่าย ลงต่อไปอีกจะผ่านสวนสนทางซ้ายมือ และสุดทางถนนจะไปบรรจบกับถนนสายหล่มสัก
- พิษณุโลก คือ ทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๒ ที่ยาวตั้งแต่จังหวัดตากไปจนถึงขอนแก่น
จุดบรรจบของถนนจะอยู่ที่หลัก กม.๑๐๐ จากพิษณุโลกพอดี
หากลงเขาแล้ว เลี้ยวขวาไปอีก ๓ กม. ที่ กม.๑๐๓ แล้วเลี้ยวขวาอีกที จะเข้าถนนแคบ
ๆ ที่มีป้ายบอกชื่อรีสอร์ทหลายแห่ง ซึ่งอาหารเยี่ยม บรรยากาศแจ่มแจ๋ว อากาศเย็นตลอดปี
เหมือนบนเขาค้อ กลางคืนนอนไม่ต้องเปิดแอร์ มีอะไรชิมบ้างอร่อยอย่างไร
คงต้องขอผลัดเอาไว้เล่าตอนหน้า จึงจะได้ชิม "หมูหลบแดด " มีขายที่นี่แห่งเดียว
...................................................
|