บึงสีไฟ
บึงสีไฟ
บึงสีไฟนั้น อยู่ในจังหวัดพิจิตร มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ ๓ ของประเทศ (ลำดับ
๑ คือ บึงบรเพ็ด ลำดับ ๒ ไม่แน่ใจว่าเป็น หนองหาน หรือ กว๊านพะเยา ) จ.พิจิตร
เป็นเมืองเก่าแก่ และสันนิษฐานกันว่า เดิมคือ เมืองโอฆบุรี
หรือเมืองสระหลวง
โดยมีหลักฐานที่กล่าวถึงไว้ดังนี้
พงศาวดารเหนือ ได้กล่าวถึงการสร้างเมืองโอฆบุรีว่า เป็นเมืองที่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก
สร้างขึ้นพร้อมกับเมืองพิษณุโลก แต่มิได้บอกว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
ในสาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบระหว่าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จ ฯ กรมพระยานริศ ฯ ได้สันนิษฐานไว้ว่า ...โอฆบุรี
คือ เมืองพิจิตรเก่า หรือไม่ใช่ คำว่า "โอฆ" เข้าใจว่า หมายเอาบึงสีไฟ "เมืองพิจิตร"
เข้าใจว่าเป็นชื่อเมืองใหม่ ซึ่งย้ายมาตั้งอยู่ที่คลองเรียงถูกหรือไม่ ถ้าถูกอย่างนั้น
เมืองพิจิตรเก่า ก็ควรเรียกอยู่ว่า โอฆบุรี ไม่ควรจะเรียกว่า เมืองพิจิตรเก่า
สมเด็จ ฯ พระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานเรื่องเมืองโอฆบุรีไว้ว่า
...เมืองโอฆบุรี คือ เมืองพิจิตร เป็นเมืองโบราณ มีป้อมปราการอยู่ริมแม่น้ำน่านเก่า
ซึ่งตื้นเขินเสียแล้ว ชื่อเดิมเรียกว่า "เมืองสระหลวง"
คงเป็นเพราะเป็นเมืองมีบึงบางมาก ทั้งในศิลาจารึกสุโขทัย และกฎหมายชั้นเก่าของกรุงศรีอยุธยา
ก็เรียกว่า เมืองสระหลวง ปรับเป็นคู่กับ "เมืองสองแคว"
คือ เมืองพิษณุโลก ซึ่งเดิมมีแม่น้ำน้อย อยู่ทางตะวันออก และมีแม่น้ำน่าน
อยู่ทางตะวันตก แต่แม่น้ำน้อยตื้นเขินเสียนานแล้ว ... และสมเด็จ ฯ ยังได้นิพนธ์กล่าวไว้เรื่องของเมืองโอฆบุรี
และกล่าวถึงเมืองสระหลวง ที่ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง โดยทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง
เที่ยวตามทางรถไฟ และยังมีอีกหลายท่านที่ยืนยันว่า พิจิตรเก่า คือ เมืองโอฆบุรี
หรือเมืองสระหลวง แต่บางท่านก็ว่า เมืองคณฑี คือ เมืองพิจิตรเก่า
จังหวัดพิจิตร อยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง และยังอยู่กลาง ๆ ของภาคอีก เดิมถือว่าอยู่ในภาคกลาง
แต่เวลานี้ภาคเหนือรุกลงมาจนถึงอุทัยธานี ถือเป็นภาคเหนือตอนล่าง การเดินทางไปพิจิตร
มีหลายเส้นทาง แต่ไม่มีถนนสายหลักคือ สายหมายเลขตัวเดียวผ่านโดยตรง ผมไปเมืองพิจิตร
หลายสิบครั้ง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปพักค้างคืน ไปเที่ยว ไปกินข้าวแล้วไปต่อ
เส้นทางที่ ๑
ถนนดี คือ ไปตามถนนพหลโยธิน และถนนสายเอเซีย ซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๕๐ หลังจากขยายถนนสายเอเซีย
(ทางหลวงสาย ๓๒) ให้เป็นถนน ๖ เลน แล้วเกิดปักเสาหลัก กม. ใหม่ยุ่งดีพิลึก
เพราะพอเข้าถนนสายเอเซีย หรือสาย ๓๒ เกิดนับหนึ่งใหม่ แต่กลางถนนมีหลักสูง
ๆ ปักบอกเลข หลัก กม.เดิมเอาไว้ พอถึงศูนย์บริการทางหลวง ชัยนาท เดิม กม.
๑๘๕ ตอนนี้น่าจะเป็น กม.๑๓๑ พอเลยหลักนี้ไปถนนพหลโยธิน มาบรรจบ (ถนนพหลโยธิน
คือ กรุงเทพ ฯ รังสิต วังน้อย สระบุรี ลพบุรี โคกสำโรง ตาคลี ชัยนาท) หมายเลขหลัก
กม. จะกลับไปเหมือนเดิม ผมว่าเขียนหมายเลขอย่างเดิมน่าจะดีกว่า ไปเส้นทางนี้ไปเลี้ยวขวา
ที่กำแพงเพชร เข้าสาย ๑๑๕ ไปผ่าน อ.สามง่าม เข้าตัวเมืองพิจิตร
เส้นทางที่ ๒
ซ้ำกับเส้นทางที่ ๑ จนเลย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ไปแล้ว จะมีทางแยกขวาคือ
สาย ๑๑ ไปผ่านตากฟ้า ไพศาลี แยกซ้ายเข้าพิจิตร ที่ อ.สากเหล็ก
เส้นทางที่ ๓
สายนี้จะตรงและใกล้ที่สุด ไปตามถนนพหลโยธิน จนถึงนครสวรรค์ ตรงเข้าตัวเมือง
(อย่าเลี้ยวซ้าย ออกเลี่ยงเมือง) เมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสี่แยกแล้ว
จะมีทางแยกขวาเข้าถนนสาย ๑๑๗ ระยะทาง ๑๓๑ กม. จะถึงตัวเมืองพิษณุโลก แต่เราไปพิจิตร
พอถึงทางแยกที่ป้าย ให้เลี้ยวขวาเข้าพิจิตร ก็เลี้ยวขวาไปตามถนนสาย ๑๑๕ ผ่านสามง่าม
เส้นทางที่ ๔
ผ่านสระบุรี ถึงพุแค แล้วเลี้ยวขวาเข้าสาย ๒๑ ไปทางเพชรบูรณ์ ไปจนถึง วังชมภู
(หากเลี้ยวขวาไปเพชรบูรณ์) ตรงไปจะไปผ่านตะพานหิน เลี้ยวขวาไปพิจิตร
เส้นทางที่ ๕
ที่ผมไปในวันนี้ เพราะตั้งใจจะไปบึงสีไฟก่อน คงไปตามเส้นทางที่ ๓ ผ่านนครสวรรค์ไป
จนถึงแยกหนองหัวปลวก ก็ไปกลับรถมาเพื่อเลี้ยวขวาเข้าถนนตามป้าย ไปโพธิประทับช้าง
ถนนสายนี้ตั้งแต่ขยายถนนเป็นสี่เลนแล้ว สร้างแปลกคือ ไม่มีสี่แยก เช่น จะเลี้ยวขวาจะต้องวิ่งเลยไป
กลับรถมาแล้วเลี้ยวซ้าย แทนที่จะสะดวกกับจะเผลอวิ่งเลย
ที่ไปตามเส้นนี้ก็จะเป็นเส้นที่ตรงเข้าเมือง และก่อนถึงจะมีทางแยกซ้ายไปยังวัดโพธิ์ประทับช้าง
วัดเขารูปช้าง พิจิตรเมืองเก่าได้ แต่หากไม่แยกซ้ายตามป้าย
ไปเรื่อย ๆ ก็จะไปยังบึงสีไฟ ขอเล่าถึงวัดโพธิ์ประทับช้าง วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา
เสียก่อน ระยะทางจากหนองหัวปลวก ถึงโพธิประทับช้าง ๒๔ กม. ที่มีชื่อดังนี้เพราะ
เป็นสถานที่ประสูติของพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์หนึ่งคือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่
๘ หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จมายังเมืองพิษณุโลก
พระเพทราชา (ครองราชย์ พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง) ได้พานางสนมที่ได้รับพระราชทานมาด้วย
ขณะนั้นนางตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด เมื่อถึงบ้านโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร
ได้คลอดบุตรเมื่อ พ.ศ.๒๒๐๑ แล้วฝังรกไว้โคนต้นมะเดื่อ บุตรนั้นจึงได้ชื่อว่า
นายเดื่อ และต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๒๔๖ จึงขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่
๘ แต่ทั่วไปรู้จักกันในนามว่า พระเจ้าเสือ เมื่อครองราชย์แล้ว เสด็จไปคล้องช้างที่เมืองพิจิตร
ทรงแวะเยี่ยมชาติภูมิที่หมู่บ้านโพธิ์ประทับช้าง จึงโปรดให้สร้างพระอาราม
ประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร เจดีย์ ศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ และพระราชทานนามวัดว่า
วัดโพธิ์ประทับช้าง
พิจิตรยังเป็นถิ่นกำเนิดของบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งคือ พระมหาราชครู กวีเอก
แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และบุตรของท่านคือ จอมปราชญ์ ที่รู้จักกันในนาม
ศรีปราชญ์ รัตนกวีของชาวไทย ที่หายใจเป็นกาพย์ กลอน ถือว่าเป็นชาวพิจิตรคนหนึ่ง
บึงสีไฟ
เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวเมืองพิจิตร อากาศเย็นสบาย ทางเข้าบึงเข้าทางประตูสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
(รถยนต์ ต้องจอดหน้าประตู) เลยประตูนี้ไปเป็นประตูเข้าบึงเช่นกัน รถเข้าได้ป้ายหน้าประตูบอกว่า
สถานแสดงพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ ผมไปวันเสาร์ ริมบึงชาวเมือง ปูเสื่อ
นั่งก๊งกันริมบึง ลมพัดเย็นสบาย อาหารขายมากมาย ส่วนร้านประเภทของฝากที่มีชื่อ
ร้านอยู่หน้าทางเข้าสวนสมเด็จ ฯ คือ เม็ดบัวอบกรอบ บรรจุกล่อง เคี้ยวมัน หมดกล่องไม่รู้ตัว
และยังมีมะขามแก้วสี่รส ส้มโอสี่รส เมี่ยงคำ ที่ห่อเสียบไม้ ไม้ละ ๕ บาท "เมี่ยงคำบ้านป่า"
ซื้อมา ๒ ไม้เสียดาย อยากวิ่งกลับไปซื้ออีก
เมื่อเข้าประตูทางสวนสมเด็จ ฯ ริมบึงคือ จระเข้ยักษ์
เพราะเมืองพิจิตร ต้นตำนานเรื่องชาลวัน กับไกรทอง จึงสร้างจระเข้ใหญ่ มีห้องภายในเอาไว้ริมบึง
เป็นสัญญลักษณ์ของเมือง
ออกจากสวน มาถึงวงเวียน หากเลี้ยวขวาไปตะพานหิน ตรงไปจะผ่านโรงพยาบาล ย่านของกินอีกแห่งหนึ่ง
ตรงต่อไปอีก ชาวพุทธจะเลยไปไม่ได้เป็นอันขาดคือ
หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง
อยู่ริมแม่น้ำน่าน วันที่ผมไปตรงกับวันแข่งเรือประจำปีของพิจิตร ร้านค้า ผู้คนแน่น
จนเข้าไปในวัดไม่ได้ ห้ามจอดรถด้วย ได้แต่ยกมือไหว้อยู่ในรถ หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะสมัยเชียงแสน หล่อด้วยทองสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๔๐ เมตร สูง ๑.๖๐
เมตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญ คู่เมืองพิจิตร
พระพุทธรูปสำคัญของพิจิตรมีหลายองค์ เช่น หลวงพ่อหิน วัดท่าช้าง พระชินสีห์
วัดห้วยเขน พระพุทธรูปไม้แกะสลัก วัดบางลำภู ล้วนอยู่ใน อ.บางมูลนาก ส่วน
อ.ตะพานหิน มีพระพุทธเกตุมงคล วัดเทวประสาท พระพุทธรูปหลวงพ่อพระพุทธพิชัย
วัดตะพานหิน พระเครื่องหลวงพ่อเงิน ที่โด่งดังยิ่ง วัดบางคลาน อ.โพทะเล พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
ที่วัดนครชุม
ถ้าวิ่งจากบึงสีไฟตรงมาผ่านโรงพยาบาล ผ่านวัดท่าหลวง สุดกำแพงวัด หากเลี้ยวขวาจะไปแม่น้ำ
ถ้าเลี้ยวซ้ายจะเข้าถนนจันทร์สว่าง พอเลี้ยวซ้ายทางขวามือคือร้านอาหาร ห้องแอร์เย็นสบาย
แกงป่าปลาเค้า ใส่มาในจานเปล น้ำขลุกขลิก ไม่พอให้ซด แต่ราดข้าวเด็ดนัก ใส่เม็งมะพร้าว
ใส่ผักเยอะแยะจนเป็นป่าน้ำท่วมนั่นแหละ รสเด็ด เสียดายน้ำไม่พอซด ต้องราดข้าว
ขาหมูพะโล้ มันน้อย เนื้อมาก นุ่ม ขอกระเทียมสดมากินชูรสด้วย
สลัดกุ้ง อาหารชวนชิม กุ้งชุบแป้งทอด น้ำสลัดน้ำข้น ทางร้านบอกว่าเป็นน้ำสลัดมะนาวสด
เป็นสินค้าโอท๊อปของพิจิตร
ไส้หมูทอด ทอดเก่ง จิ้มซีอิ๊วดำ
ออกจากร้านแล้วเลี้ยวขวา วันนี้วันแข่งเรือด้วย มากทั้งคนเดิน และรถมอเตอร์ไซด์
ต้องขับด้วยความระวัดระวัง ไปจนสุดถนนแล้วเลี้ยวขวา พอถึงสามแยกหากเลี้ยวขวาไป
อ.สากเหล็กให้เลี้ยวซ้ายตามป้ายไปกำแพงเพชร ถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายเข้า ๑๐๖๘
ประมาณ ๖ กม. จะถึงวัดโรงช้าง
(หากไปวัดโพธิ์ประทับช้าง ๒๑ กม.) ที่วัดนี้มีพระเจดีย์ทรงหมวกเก็บพระไตรปิฎก
มีศาลสมเด็จโต เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา เคยเป็นที่พักของกองช้าง ต่อมาเพี้ยนเป็นคลองช้าง
พอเปิดโรงเรียนเลยเรียกว่าวัดโรงช้าง
อุทยานเมืองเก่า พิจิตร
อยู่เลยวัดโรงช้างไปประมาณ ๑ กม. เลี้ยวซ้ายเข้าไปจะร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย
ร่มเย็นไปหมด พอเข้าไปศาลหลักเมืองจะอยู่ทางขวามือเลย
ต่อไปเป็นสวนรุกขชาติ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (งดบริการ) วัดมหาธาตุ
โบสถ์เก่า และถ้ำชาละวัน วิ่งออกไปกำแพงอุทยานไปด้านหลังคือ วัดนครชุม
เป็นวัดโบราณที่ยังมีพระจำวัด ส่วนวัดมหาธาาตุไม่มีพระจำวัด วัดนครชุมมีโบสถ์เก่าแก่
นมัสการพระพุทธรูปโบราณแล้วกลับออกถนนสาย ๑๐๖๘ ทางประตูวัดนครชุมได้เลย ไม่ต้องย้อยมาออกทางเข้าอุทยาน
กลับจากอุทยาน กลับมาทางเดิมมาเลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๑๑๕ เพื่อจะไปเลี้ยวขวาเข้าถนน
๑๑๗ ไปยังพิษณุโลก เพราะคืนนี้จะพักที่พิษณุโลก ก่อนเดินทางขึ้นเหนือต่อไป
ขอบอกข่าวการกุศลที่วัดวิชมัย ปุญญาราม บ.เขาค้อ ต.เขาค้อ เพชรบูรณ์
ส่งไปที่วัด พระครูวิชมัยปุญญารักษ์ วัดนี้ไม่มีพุทธพาณิชย์ เป็นวัดธรรมยุต
ยากจน
และเป็นวัดที่ต้องดูแล บำรุงรักษา พระบรมธาตุเจดีย์ กาญจนาภิเษกเขาค้อ เชิญร่วมการกุศล
............................................................
|