danmaelamao
ด่านแม่ละเมา
กรุงศรีอยุธยานั้นต้องเสียกรุงให้แก่พม่าข้าศึกถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกคือ เมื่อปี
พ.ศ.๒๑๑๒ และในครั้งหลังซึ่งเป็นครั้งที่ย่อยยับไปทั้งเมือง จนไม่อาจฟื้นกลับมาเป็นราชธานีได้อีก
คือ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ในการศึกระหว่างพม่ากับไทยนั้น หากได้ติดตามเส้นทางเดินทัพของทั้งสองฝ่าย
จะเห็นว่าเส้นทางด่านที่พม่ายกเข้ามามากที่สุดคือ ด่านเจดีย์สามองค์
ที่เมืองกาญจนบุรี รองลงไปก็เป็นด่านแม่ละเมา
ที่เมืองตาก (พื้นที่อำเภอแม่สอด) นอกจากนี้ก็มีด่านบ้องตี้
กาญจนบุรี ด่านสิงขร
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเส้นทางเดินทัพ แต่จะเห็นว่าเมื่อยกมาเป็นทัพใหญ่กำลังพลเป็นแสน
จะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมามากกว่าเส้นทางอื่น
เส้นทางเดินทัพด่านเจดีย์สามองค์นั้น ผมไปแล้วหลายครั้ง รวมทั้งเป็นการไปราชการสมัยที่ยังรับราชการอยู่
ก็จะเห็นว่าเส้นทางนี้จะไม่สะดวกในการเดินทัพ หากยกมาเป็นทัพใหญ่กำลังพลมาก
ๆ เช่น เมื่อคราวสงครามเก้าทัพในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่า ยกพลมา ๑๔๔,๐๐๐ คน จัดกระบวนทัพเป็น
๙ ทัพ ยกมาทั้งทัพบก ทัพเรือ เข้ามาหลายทางด้วยกัน
ทัพที่ ๑ มีทั้งทัพบกและทัพเรือ ทัพบกตีลงไปตั้งแต่ชุมพร ทัพเรือตีหัวเมืองชายฝั่งตะวันตก
ทัพที่ ๒ ตีเมืองทวายแล้วเข้าไทยทางด่านบ้องตี้
ตีราชบุรี เพชรบุรี แล้วไปบรรจบกับทัพที่ ๑
ทัพที่ ๓ ถือพล ๓๐,๐๐๐ ยกมาตีทางเมืองเชียงแสน แล้วตีลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพ
ฯ
ทัพที่ ๔ ถือพล ๑๑,๐๐๐ เป็นทัพหน้ามาตีกรุงเทพ ฯเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ ๕ ถือพล ๕,๐๐๐ เป็นทัพหนุนของทัพ ๔
ทัพที่ ๖ เป็นทัพหน้าที่ ๑ ถือพล ๑๒,๐๐๐ เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ ๗ เป็นทัพหน้าที่ ๒ ถือพล ๑๑,๐๐๐ เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ ๘ พระเจ้าปดุงเป็นจอมทัพ ถือพล ๕๐,๐๐๐ เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ ๙ ถือพล ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา
ให้ตีลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ
ทัพที่เดินผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์มีกำลังพลมากถึง ๘๙,๐๐๐ คน ตีเข้ามาจากทางเหนือ
๓๕,๐๐๐ คน และตีหัวเมืองทางปักษ์ใต้ ๒๐,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๔๔,๐๐๐ คน
กำลังพล ๘๙,๐๐๐ คน เดินทัพผ่านเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จึงไม่สะดวกและยากต่อการหาเสบียงอาหารและลำเลียงเสบียงอาหารมาจากพม่า
และยังยากที่จะยุทธบรรจบกันที่กรุงเทพ ฯ
ฝ่ายไทยมีกำลังพลที่รวบรวมได้ทั้งหมดเพียง ๗๐,๐๐๐ คน จัดแบ่งออกเป็น ๔ ทัพ
ทัพที่ ๑ มีกำลังพล ๑๕,๐๐๐ ยกไปสกัดทัพพม่าที่จะมาจากทางเหนือ ตั้งรับที่นครสวรรค์
ทสัพที่ ๒ เป็นทัพที่สำคัญที่สุด มีกำลังพล ๓๐,๐๐๐ คน กรมพระราชวังบวร ฯ เป็นจอมทัพ
ยกไปตั้งรับที่กาญจนบุรี รับทัพ ๘๙,๐๐๐ คน ของพระเจ้าปดุงที่ยกมาทางนี้
ทัพที่ ๓ ถือพล ๕,๐๐๐ ตั้งรับที่รชบุรี
ทัพที่ ๔ เป็นกองทัพหลวง แต่มีพลเพียง ๒๐,๐๐๐ คน เตรียมไว้ในกรุง ฯ เพื่อเป็นกองหนุน
การสู้รบที่สำคัญจะแพ้หรือชนะอยู่ที่กาญจนบุรี ทัพพม่าถูกเส้นทางเดินทัพบีบ
ภูมิประเทศเป็นห้องภูมิประะทศทางลึก เกื้อกูลประโยชน์แก่ฝ่ายตั้งรับคือฝ่ายไทย
ฝ่ายเข้าตีคนมากก็เหมือนมีน้อย เพราะใช้กำลังจำนวนมากโถมเข้าโจมตีไม่ได้ เส้นทางบังคับ
พม่ารุกไม่ได้ เอาปืนใหญ่ตั้งยิงไทย แต่พม่าก็เสียเปรียบอีก เพราะต้องลากปืนใหญ่มาตามทางช่องเขา
ปืนใหญ่ขนาดปากลำกล้องกว้างมาก ๆ มาไม่ได้ ส่วนไทยได้เปรียบ เอาปืนใหญ่ลงเรือมาก่อนแล้วมาขึ้นบกทีหลังก็มาได้
แถมกรมพระยาราชวังบวร ฯ ท่านรู้จักการใช้ปืนใหญ่เป็นอย่างดี (ผู้เขียน เป็นนายทหารปืนใหญ่)
จึงตั้งปืนใหญ่ยิงหอรบ ยิงค่ายพม่าจนพังลงมา แถมท่านประกาศเสียอีกว่าตราบใดที่ไม้ยังไม่หมดป่าเมืองกาญจนบุรี
กระสุนปืนใหญ่ของท่านไม่มีวันหมด เพราะท่านเอาไม้ในป่าคงจะตัดไม้เนื้อแข็งมาทอนเป็นท่อน
แล้วใช้เป็นกระสุนปืนใหญ่ได้ เพราะกระสุนปืนใหญ่สมัยนั้นยิงไปแล้วไม่ระเบิดแตกออกไป
ที่เห็นยิงออกไปแล้วมีไฟไหม้ลุกขึ้นมานั้นเขาเอาผ้า เอาฟางชุบน้ำมันเสียก่อนแล้วหุ้มตัวกระสุนปืนใหญ่ซึ่งเป็นเหล็กทั้งดุ้น
พอยิงตูมความร้อนจากดินระเบิดจะจุดไฟ กระสุนวิ่งออกไปไฟลุกไปแล้วตกที่ไหนก็ไหม้ที่นั่น
กระสุนไม้ของกรมพระราชวังบวร ฯ ก็แทนกระสุนแหล็กได้เพราะท่อนไม้หนัก ๆ จะทำกระสุนเพลิงก็ได้
กระสุนระเบิดได้ ท่อนไม้ยิงไปแล้วอาจกระทบ แล้วแตกออกเป็นชิ้นสังหารได้อีก
แล้วท่านก็ตั้งกองโจรตีตัดเสบียงพม่า ผลที่สุดพม่าห้าท่อน ๘๙,๐๐๐ คน ก็ติดอยู่ในช่องเขาลงมาสู่ที่ราบไม่ได้
สุดท้ายทัพที่ ๔ และทัพที่ ๕ ที่เป็นทัพหน้าถูกตีแตก พระเจ้าปดุงเลยถอดใจยกทัพกลับ
ทีนี้มาดูทางด่านแม่ละเมาบ้าง ผมไม่เคยไปเลย ได้แต่ผ่านไปแม่สอดหลายครั้ง
ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ผ่านทางแยกเข้าด่านแม่ละเมาไปยังแม่สอด ไปคราวนั้นหวิดตายไปกับรถทหารด้วยกันเรียกว่ารถจิ๊บกลาง
หรือรถที่มีขนาดบรรทุกได้ ๓/๔ ตัน และไม่มีหน้าที่ด้วย รับราชการอยู่ลพบุรี
ไปเที่ยวหาเพื่อนพิษณุโลก เขากำลังจะไปราชการกันที่แม่สอด ซึ่งไปแม่สอดสมัยนั้นยากมาก
ถนนจากจังหวัดตากไปแม่สอดเป็นทางรถที่ไม่ได้ราดยางแม้เต่เมตรเดียว สะพานกิตติขจรยังไม่ได้สร้าง
ต้องข้ามแม่น้ำด้วยความลำบาก และถนนจะผลัดกันวิ่งคือวันคี่รถวิ่งเข้าแม่สอด
วันคู่รถวิ่งกลับตาก เช่นวันที่ ๑ เราเข้าแม่สอด วันที่ ๒ หรือ ๔ จึงจะกลับออกมาได้
แต่หากวันที่ ๒ ฝนตกหนักทางจะปิด ต้องเลื่อนไปกลับวันที่ ๔ โรงแรมที่แม่สอดสมันนั้นโรงแรมเล็ก
ๆ พอซุกหัวนอนได้เท่านั้น เกิดพอถึงวันกลับทางปิดจึงต้องนอนพักต่อไปอีก
๒ คืน กลับมาได้วันเดียว กะเหรี่ยงเข้าปล้นตลาดแม่สอด เผาตลาดเป็นจุลรวมทั้งโรงแรมกระจอกที่พวกผมพักกันด้วย
หากอยู่ก็คงตายกันเรียบร้อย เพราะคนอื่นเขาไปราชการ มีปืนผาหน้าไม้ไปกันทุกคน
ส่วนผมก็มีเหมือนกันเขายัดใส่มือให้ไว้เป็นปืนคาร์บีน ปืนประจำตัวนายทหารปืนใหญ่สมัยนั้น
และกำลังหนุ่มห้าวจบมาใหม่เอี่ยม กำลังคึกรับรองว่าทุกคนสู้แน่และก็ตายแน่เช่นกัน
จากนั้นก็ไปแม่สอดอีกหลายครั้ง ไปเพื่อเดินทางไปในเส้นทางที่เขาไม่ไปกันก็ไป
คือไปแม่สอดแล้วไปออกทางแม่ละมาด ท่าสองยาง สบเมย แม่สะเรียง ขุนยวม แม่ฮ่องสอน
สนุกพิลึก ทางดีตลอด แต่แคบหน่อย แต่ไม่เคยเลี้ยวเข้าไปยังด่านแม่ละเมาสักที
เห็นแต่ป้ายบอกไว้ที่ปากทาง คราวนี้ตั้งใจจะไปศึกษาเส้นทาง ที่พม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา
และทัพไทยก็เคยยกออกไปพม่าเช่นกัน เส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์และเส้นทางด่านอื่น
ๆ ที่กล่าวมาแล้วผมไปศึกษามาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะด่านพระเจดีย์สามองค์ ศึกพม่าครั้งสำคัญที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา
ที่เป็นศึกใหญ่จริง ๆ มี ๒ ครั้ง
ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๖ หลังจากที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้
ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ ตรงกับแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์
และในการรบครั้งนั้นไทยเสียสมเด็จพระสุริโยทัย ขาดคอช้าง และพระเจ้าตะเบงชเวตี้
ตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ จึงยกทัพกลับไปตามทางเดิม จากนั้นก็เว้นว่างศึกไทยพม่ามาเป็นเวลาถึง
๑๔ ปี พระเจ้าบุเรงนองขึ้นเป็นกษัตริย์ปราบพวกพม่าด้วยกันเรียบร้อย
แล้วจึงหาเรื่องยกมาตีไทย ครั้งแรกเห็นว่าไทยมีช้างเผือกมากถึง ๗ เชือก แกล้งขอ
๒ เชือก ไทยเห็นว่าให้พม่าก็คงหาเรื่องมารบ ไม่ให้ก็รบอีก ไม่ให้เสียดีกว่า
พม่ายกพลมามากถึงห้าแสนคน ไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร การส่งกำลังบำรุงกองทัพต้องเยี่ยมยอดมาก
ถึงมีอาหารเลี้ยงคนตั้งห้าแสนในเวลาหลายเดือนได้ โดยศึกครั้งนี้บุเรงนอง ไม่ได้ส่งทัพมาเตรียมเสบียงไว้ก่อนเลย
ต้องขอยกย่องในการส่งกำลังบำรุงของทัพบุเรงนอง บุเรงนองตีไทยไม่ได้ แต่ไทยก็เหมือนแพ้
เพราะสุดท้ายก็ต้องให้ช้างไปยอมเป็นไมตรีกับพม่า
ครั้งที่ ๒ ครั้งเสียกรุง เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๒ บุเรงนองยกทัพมาอีกห้าแสน ตรงกับไทยในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์และพระมหินทราธิราช
พม่าส่งทัพเข้ามาเตรียมเสบียงล่วงหน้า และยังได้หัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยไว้หมดแล้ว
จัดทัพแบ่งออกเป็น ๗ ทัพ คือทัพพระเจ้าแปร ทัพพระมหาอุปราชา ทัพพระเจ้าตองอู
ทัพพระเจ้าอังวะ ทัพพระราชบุตร และหัวเมืองเชียงใหม่, เชียงตุง ทัพหลวงพระเจ้าหงสาวดี
ทัพพระมหาธรรมราชาฝ่ายไทยจากพิษณุโลก (อยู่ในอำนาจพม่าแล้ว) ทุกทัพจากพม่าจะเข้ามาทางด่านแม่ละเมา
และมาชุมนุมทัพพร้อมกันที่กำแพงเพชร กรุงศรีอยุธยาต้องตั้งรับในกรุงเพราะเสียหัวเมืองฝ่ายเหนือไปหมดแล้ว
ผลของสงครามไทยต่อสู้เป็นสามารถ พม่าตีหักเอากรุงศรีอยุธยาไม่ได้ แต่ไทยด้วยกันทรยศผลจึงต้องเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่บุเรงนอง
เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๒
ผมจึงต้องขอไปดูด่านแม่ละเมาสักที ผ่านไปผ่านมาหลายเที่ยวแล้ว ออกเดินทางไปจากกรุงเทพ
ฯ ผ่านกำแพงเพชร แวะกินก๋วยเตี๋ยวที่อำเภอขลุง จะแวะก๋วยเตี๋ยวเจ้านี้พอถึง
กม.๓๑๕ ให้วกรถกลับมาแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางอำเภอขลุงเข้าไปสัก ๒ กม.ทางซ้ายมือ
มีร้านก๋วยเตี๋ยว จัดเป็นร้านสะอาดน่านั่งกิน มีเกี๊ยวกรอบวางไว้บนโต๊ะหน้าร้าน
สั่งบะหมี่แห้งหมูแดงหรือทีเด็ดคือลูกชิ้นปลานครสวรรค์ ลูกเล็ก ๆ เหนียวหนึบ
เคี้ยวหนุบหนับ เกาเหลาเครื่องในหมู วุ้นเส้น ฯ อิ่มแล้วไปต่อก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำปิง
คือสะพานกิตติขจรจะมีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดิน ๑๐๕ เส้นทางนี้จะไปยังอำเภอแม่สอด
พอเลี้ยวซ้ายเข้า ๑๐๕ ไปสัก ๑๒.๕ กม. จะมีทางแยกซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติลานสาง
กม.๒๕ - ๒๖ แยกขวาเข้าอุทยานตากสินมหาราช เข้าไปอีก ๑.๕ กม.จะถึงที่ทำการอุทยาน
ฯ ต่อไปจนถึง กม.๒๗ - ๒๘ ทางซ้ายคือ ตลาดมูเซอ ชาวเขามาขายของ แต่จุดนี้สินค้าน้อย
กม.๒๙ - ๓๐ เป็นตลาดมูเซอเก่าแก่กว่า อยู่ทางขวา จอดรถสะดวกทั้งสองแห่ง ตลาด
กม.๒๙ - ๓๐ นี้ มีของขายมาก ตอนกลาง ๆ ตลาด แถวหน้ามีไก่ทอด หมูทอด ไส้อั่วอร่อย
น่าซื้อติดมือไปไม่ว่าเที่ยวไปหรือเที่ยวกลับ นอกจากนี้ยังมีสารพัดผักเมืองหนาว
ราคาถูกมาก เช่นปีนี้กระชายดำเหลือกิโลกรัมละ ๑๐ บาท ซื้อ ๑๐ กก.คิดราคาเพียง
๙๐ บาท เอามาปลอกเปลือกหั่นเป็นแว่นดองน้ำผึ้งแท้ ๆ สัก ๒ ปีขึ้นไป เป็นยาอายุวัฒนะที่วิเศษนัก
กม.๕๔ - ๕๕ จะมีป้ายบอกว่าไปบ้านด่านแม่ละเมา ๘ กม. ให้เลี้ยวขวาเข้าไปตามเส้นทางนี้
ถนนจะราดยางตลอดระยะทางกว่า ๘ กม. และสองข้างทางล้วนเป็นหมู่บ้านไปตลอดทาง
เป็นบ้านของครอบครัวที่อยู่ในขั้นมีฐานะที่ดีพอควร มีเศษฐกิจพอเพียง
ตำบลแม่ละเมา
เป็นตำบลที่ไม่ได้อยู่ตรงชายแดน จะถึงตำบลนี้ก่อน ต้องวิ่งต่อไปจนข้ามลำน้ำแม่ละเมา
ก็จะเข้าเขตตำบลพะวอ หมู่บ้านที่อยู่ปลายสุดของแดนไทยคือหมู่บ้าน "แม่ละเมา"
บ้านแม่ละเมา ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ต้องเขียนกันให้เต็มยศอย่างนี้
กลางหมู่บ้านมีป้ายไม้เก่า ๆ ทำอย่างง่าย ๆ ปักไว้บอกว่า "แนวด่านแม่ละเมา"
แนวนี้ทอดยาวมาจากวัดเชตะวันคีรี เป็นวัดอยู่บนเนินเขาไม่เก่านัก
บ้านแม่ละเมา ตำบลพะวอ นี้หากข้ามลำน้ำกลับไปก็จะเป็นบ้านแม่ละเมาไหล่ท่า
ตำบลแม่ละเมา สับสนดีพิลึก ต้องไปค่อย ๆ แกะดู ตำบลพะวอนั้นขนาดมีร้านอาหารหนึ่งร้าน
ตุ๊กตาโภชนา มีมินิมาร์ท์หนึ่งแห่ง เยี่ยมไปเลยแต่ไม่มีคือด่านแม่ละเมาหาไม่เจอ
ไม่รู้ว่าตรงไหนที่ออกนอกด่านไปพม่า ไม่รู้ว่าตั้งด่านตรวจศุลกากรหรือตรวจคนเข้าเมืองกันตรงไหน
หาไม่เจอวนไปวนมากลัวจะหลุดออกไปพม่าไม่รู้ตัว เลยต้องวนเวียนอยู่ในหมู่บ้าน
ผิดหวังอย่างยิ่งที่ไม่มีใครสนใจด่านสำคัญแห่งนี้เลย ทางจังหวัดตากซึ่งเคยกรุณาตอบชี้แจงผมมาว่า
"พะวอ" นั้นท่านเป็นนายด่านของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
แต่การท่องเที่ยว ฯ ยกป้ายไว้ว่าเป็นนายด่านของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ป้ายเคยอยู่ใกล้
ๆ กันแต่ไม่เหมือนกัน ผมเขียนประท้วงไป ทางตากกรุณาตอบชี้แจงมา คราวนี้ผมขอใหม่ว่าขอให้ทางจังหวัดตาก
(คงพึ่ง อบต.ไม่ได้) ลองสำรวจเส้นทางเดินทัพใหม่ และปักป้ายบอกแนวด่านให้แน่นอนว่าแนวใดที่เป็นฝั่งไทย
และแนวไหนหลุดเข้าพม่าไปแล้ว เสียดายที่ให้ความสนใจกับด่านแม่ละเมาน้อยไป
รวมทั้งพระเจ้าอญองพญา มาสิ้นพระชนม์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช
ควรค้นคว้ากันให้ได้ว่าสิ้นพระชนม์ตรงไหน และแหล่งโบราณคดีอายุพันปีในอุทยานแห่งนี้อยู่ตรงไหน
มีทางให้รถวิ่งเข้าไปได้หรือไม่ คราวตะเบงชะเวตี้ยกทัพมาเมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ และตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้
ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แต่ยกทัพกลับทางด่านแม่ละเมา
หากให้ผมวิเคราะห์ภูมิประเทศทางด่านแม่ละเมา จะเห็นว่าภูมิประเทศเป็นห้องภูมิประเทศทางกว้าง
จะเกื้อกูลแก่ฝ่ายเข้าตี กำลังพลมากก็จะเดินทัพสะดวก พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
ยกพลมา ๒ ครั้ง ใน พ.ศ.๒๑๐๖ และ ๒๑๑๒ ยกมาแต่ละครั้งมีกำลังพลมากถึงห้าแสน
จึงเลือกเส้นทางเดินทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เข้าไปแล้วก็ได้ความรู้มาแค่นี้เอง
ทางกว้างเดินทัพสะดวก ภูมิประเทศสวยน่าเข้าไปเที่ยว
จากทางแยกเข้าด่านแม่ละเมา ตรงไปอีกประมาณ ๒๐ กม. จะถึงวงเวียนก่อนเข้าแม่สอด
มีถนนมายังวงเวียนนี้ ๔ สาย สายแรกคือสายที่มาจากตาก คือ สายที่กำลังวิ่งเข้ามานี้
วนไปสายที่ ๒ จะไปยังอุ้มผาง ไปยังน้ำตกทีลอซุ
(สวยติดอันดับ ๖ ของโลก) ไป อ.พบพระ มีน้ำตกพาเจริญ
สูง ๙๗ ชั้น รถเข้าถึงลานน้ำตก
เส้นที่ ๓ คือเส้นเข้าสู่อำเภอแม่สอด ยกประตูมีป้ายบอกว่าเข้าเทศบาลแม่สอด
เส้นที่ ๔ เลี้ยวเข้าไปก็ผ่านโรงแรมเซ็นทรัล ไปผ่านทางแยกขวาไปยัง อ.แม่ระมาด
(วัดดอนแก้ว พระพุทธรูปศิลาอ่อนในโลกนี้มี
๓ องค์) ไปแม่ฮ่องสอนก็ได้ ตรงมุมเลี้ยวคือ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
หากผ่านทางแยกนี้ไปอีก ๖ กม. ก็จะถึง "ริมเมย"
หรือริมแม่น้ำเมียววดี
ข้ามสะพานไปก็คือพม่า อย่าไปดีกว่าไม่มีอะไรชวนเที่ยว ชวนชิม จะซื้อของใช้ก็ให้ซื้อฝั่งไทยนี่แหละ
ของดีราคาถูกไม่ต้องกลัวตอนผ่านด่านด้วย เดี๋ยวนี้ตลาดริมเมยสร้างใหญ่โต มีแผงขายของนับร้อยแผง
ส่วนอาหารการกินริมเมยมีร้านอร่อยเหมือนกันแต่ขายดีจนขึ้นราคาไปแพงลิ่ว เลยเลิกกินกลับมากินในตัวอำเภอแม่สอดดีกว่า
เว้นก๋วยเตี๋ยวไทยใหญ่อยู่ก่อนถึงตัวตลาดสัก ๖๐๐ เมตร เป็นบ้านไม้ ๒ ชั้น
ใต้ถุนสูง ยกก๊วยเตี๋ยวไปขายอยู่บนชั้นบน ตรงข้ามกับร้านนี้คือ ถนนที่จะไปยังวัดไทยวัฒนาราม (วัดไทยใหญ่) ไปพระฐาตุหินกิ่ว,
โบราณสถานคอกช้างเผือก
กลับเข้ามาตัวเทศบาลแม่สอด มีวัดที่ควรชมและไปนมัสการคือ .-
วัดชุมพลคีรี เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า
๒๐๐ ปี มีเจดีย์ที่จำลองมาจากชเวดากองของพม่า แค่คงจะเหมือนน้อยไปหน่อย ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
และในวิหารเก็บกลองโบราณ อายุกว่า ๒๐๐ ปี
วัดมณีไพรสณฑ์ วัดนี้มีเจดีย์วิหารสัมพุทเธ
บนองค์เจดีย์มีเจดีย์เล็ก ๆ ล้อมรอบถึง ๒๓๓ องค์ และมีพระพุทธรูปบรรจุอยู่มากถึง
๕๑๒,๐๒๘ (ผมยังไม่เคยนับสักที)
วัดไทยวัฒนาราม ขอย้อนกลับไปอีกที
อยู่ห่างจากตลาดริมเมย ๖๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไป แล้วเลี้ยวขวาอีกที สวยตั้งแต่ประตูวัด
เป็นศิลปะพม่า สร้างโดยชาวไทยใหญ่ ๑๐๐ ปีเศษ มาแล้ว ปัจจุบันหลวงพ่อเจ้าอาวาสอายุ
๘๔ ปี เป็นชาวไทยใหญ่ บอกว่าขโมยชุกชุมมาก เลยต้องปิดสถานที่สำคัญไว้หมด ไม่ปิด
เปิดตลอดก็เห็นพระพุทธไสยาสน์ ศาลาการเปรียญ เดิมอยู่กลางแจ้งตอนนี้มีศาลาบังไว้
ยาว ๖๓ เมตร นอกนั้นมีศาลาการเปรียยญ มีพระพุทธรูปศิลาอ่อน มีวิหารพระพุทธมหามณี
ที่จำลองและสร้างมาจากมัณฑเลย์ สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ ห้องพุทธประวัติเยี่ยมยอดมากและวิหารพระพุทธมหามณีศิลาอ่อน
ทุกแห่งปิดใส่กุญแจหมด ไม่ปิดก็มีพระพุทธไสยาสน์กับเจดีย์ชเวดากอง จำลองบนหลังคาวิหารนั่นแหละ
แม่น้ำเมย เป็นเส้นกั้นเขตแดนไทย
พม่า ต้นน้ำอยู่ที่อำเภอพบพระ ไหลผ่านแม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง ไปจนถึงแม่ฮ่องสอน
แปลกที่เป็นแม่น้ำไหลขึ้น ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน แล้วไหลเข้าเขตพม่าลงอ่าวมะตะบัน
อาหารการกิน แม่สอดมีร้านอาหารมาก ร้านเล็ก ๆ อร่อย ๆ ทั้งนั้น ตามเส้นทางเข้าเมืองแม่สอด
จากวงเวียนเลี้ยวเข้าเส้นที่สาม ผ่านประตูต้อนรับของเทศบาลแม่สอด ตรงเรื่อยไปสัก
๕๐๐ เมตร จะผ่านร้านยุพายาดอง อย่าเพิ่งแวะเข้าไปจะเมาเสียก่อน เลยไปอีกสัก
๕๐๐ เมตร คือร้าน ป.ปลาสด มีปลาแม่น้ำเมย เลยไปอีกสัก ๕๐๐ เมตร ทางซ้ายคือร้านขายยา
ทางขวายกป้ายไว้คือร้านข้าวต้มยามค่ำไปยันดึก จำทางไว้ดี ๆ เดี๋ยวผมจะกลับมากินข้าวต้มที่ร้านนี้
อาหารอร่อย ราคาถูกมาก บริการดี
เลยร้านข้าวต้มถนนจะพาวิ่งไปเอง เพราะเส้นทางบังคับจนไปถึงวงเวียนน้อยที่มีทางแยกเข้าที่ว่าการอำเภอ
หากไม่เข้าเส้นเข้าอำเภอจะตรงไปตลาดเทศบาล วิ่งไปจนพบสี่แยกมีไฟสัญญาณ หากเลี้ยวซ้าย
(ตรงไปจะไปตลาดสด) จะเป็นย่านของอาหารอิสลาม มีร้านข้าวแกง ร้านมะตะบะ ร้านโรตี
แต่ร้านที่ผมแนะนำคือร้านไม่มีชื่อ ปิ้งโรตีด้วยการปะเข้าข้างโอ่งดินที่ใส่ไฟไว้ที่ก้นโอ่ง
ร้านนี้ขนาดสองห้อง เปิด ๐๕.๐๐ - ๐๘.๐๐ ก็หมดแล้ว อยู่หัวมุมซอย ตรงข้ามกับสำนักงานปศุสัตว์แม่สอด
สั่งโรตีแผ่นละสองบาท จะให้ดีแวะร้านข้าวแกงซื้อแกงกะหรี่ไก่มาด้วย จะได้เอาโรตีจิ่ม
สั่งชาร้อนหรือกาแฟ แต่ชานั้นจะหอมกรุ่น
เลยสี่แยกไฟสัญญาณไปร้านโรตี ตรงต่อไปจะถึงตลาดสด เข้าซอยตลาดจะมีขนมเส่งเผ่
(แป้งข้าวเหนียว) กับขนมอาละหว่า (แป้งข้าวเจ้า) ข้าวเหนียวงาดำ อร่อย ๆ ทั้งนั้น
หน้าตลาดก็มีข้าวหมกไก่ และใกล้ ๆ กันมี ๓ ร้าน หน้าตาหน้าร้านเหมือนกัน ขายข้าวหมูกรอบ
หมูแดง
ผ่านตลาดสดไปอีกสัก ๕๐๐ เมตร ทางซ้ายต่อหลังคาจากตัวบ้านคือ ร้านก๋วยเตี๋ยว
เป็นก๋วยเตี๋ยวเอกลักษณ์ของตาก ตืดกันคือน้ำพริกพม่าจรรย์สุดาและมีขนมหวานไทย
ๆ ด้วย หลายร้านที่ชวนชิมเขาเจริญเติบโตดีเขาก็ย้ายร้าน แต่เขาไม่รู้จักผม
เขาก็เลยไม่ได้ส่งข่าวให้ผมทราบ
ร้านข้าวต้ม ขายข้าวถ้วยละบาทเดียว ร้านขนาด ๓ ห้อง ไฟสว่างไสว บริการดีแท้
อย่าไปอ่านรายการบนกระดานที่แขวนไว้ เขาเขียนไว้บอกชาวแม่ฮ่องสอดเช่น หมูพันอ้อยสั่งมาแล้ว
ปรากฎว่าเป็นแบบแพ๊คอยู่ในถุงแช่เย็นไว้ บิ๊กซีหรือซูเปอร์ทั้งหลายมีขาย ไม่ต้องมาถึงแม่สอด
ต้องสั่งคือ .-
ปลาแม่น้ำเมยผัดฉ่า (ถามเขาดูว่าวันนี้มีปลาอะไร) ผมสั่งปลาคังผัดฉ่า ร้อนฉ่ามาแต่ไกล
ผัดมากับข้าวโพดอ่อน พริกไทยดำ กะหล่ำดอก แครอท กระชายหั่นฝอย และโรยด้วยโหระพาทอดกรอบ
เอาน้ำผัดคลุกข้าวเหยาะน้ำปลาพริกเสียนิดก็ได้ เด็ดนัก เป็นอาหารที่แพงที่สุดของร้านคือ
๘๐ บาท
กระเพาะหมูผัดเกี๊ยมฉ่าย อย่าโดดข้ามไป ไปหลายคนสั่ง ๒ จานเลย จานนี้ ๔๐ บาท
ผัดเก่งจริง ๆ
คะน้าหมูกรอบ และผัดผักทั้งหลาย จานละ ๒๐ บาท สั่งมาชิมหลาย ๆ ผัก สนุกดี
ขาหมูพะโล้ ชาวเมืองเขาสั่งกันทุกโต๊ะ สั่งบ้างไม่ผิดหวัง รวมทั้งจับฉ่ายในอ่างไปชี้เอา
อยากกินกุ้ง ที่มีกุ้งถูกเพราะเป็นกุ้งพม่า เนื้อสู้กุ้งไทยไม่ได้แต่ก็ผัดอร่อย
ให้เขาผัดข้าวผัดมาชิม จานละ ๓๐ บาท หากสั่งตามสูตรต้องไม่ลืมข้าวสวย แล้วตามด้วยข้าวต้ม
ขนมไม่มี วิ่งไปหากินในตลาดได้
.............................................................
|