วัดเขาวงพระจันทร์
วัดเขาวงพระจันทร์ เมืองละโว้ ในอดีตหรือลพบุรีในวันนี้นั้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ยังมีเกจิอาจารย์อยู่หลายองค์ ซึ่งช่วงเวลาไม่กี่ปีก็มรณภาพไปหลายองค์เช่นหลวงพ่อมัง วัดพรหมมาสตร์ พระพุทธวรญาน วัดกวิศ ฯ หลวงปู่บุญตา วัดคลองเกตุฯ ยังมีอีกหลายองค์ผมจำชื่อไม่ได้ เวลานี้เท่าที่ทราบก็มี หลวงพ่อถม วัดเชิงท่าปีนี้ท่านก็อายุ ๙๐ ปี และบอกว่าจะละสังขาร พึ่งฉลองอายุ ๙๐ ปี เมื่อเร็วๆ นี้เอง เหลือหลวงพ่อฟัก วัดเขาวงพระจันทร์ อำเภอโคกสำโรง และหลวงพ่อเพี้ยนวัดเกริ่นกฐิน อำเภอบ้านหมี่ ผมทราบว่าเหลือกันอยู่เท่านี้ วันนี้เลยอยากพาไปวัดเขาวงพระจันทร์ ซึ่งมักจะทราบกันว่ามียักษ์อยู่บนถ้ำยอดเขาแต่บางท่านอาจจะไม่ทราบว่ามี "รอยพระพุทธพระบาทบบนยอดเขาวงพระจันทร์" และการจะขึ้นไปยังยอดเขาวงพระจันทร์นั้นไม่ใช่ขึ้นกันง่าย ๆ แต่หากวัยหนุ่มสาวก็คงไม่เหนื่อยนัก ผมจำไม่ได้ว่ามีบันไดกี่ขั้นแต่เกินกว่า๒,๕๐๐ ขั้นแน่นอน การไปเขาวงพระจันทร์ ต้องไปให้ถึงวงเวียนราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสียก่อน(มีหนังสือดีอยู่เล่มหนึ่ง นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเขียนโดย รศ. คึกเดช กันตามะระ เรื่องท้าวทองกีบม้า อยากให้อนุชนรุ่นใหม่ได้อ่านกันสนุกได้ความรู้ ) เมื่อถึงวงเวียนสมเด็จ ฯ แล้วเลี้ยวขวาไปทางจะไปโคกสำโรงวิ่งเรื่อยไป ถนนหักเหไปทางไหนก็ตามไปจนถึงหลัก กม.๑๖๕ ตรงนี้จะมีเพิงขายอาหารอยู่หน้าสวนศรัณพันธุ์ไม้ ซึ่งสวนนี้เคยแนะนำไปแล้วว่า ขายต้นไม้พันธุ์ไทย นักเลงชอบปลูกไม้ผลต้องระวังปลูกอยู่หลายปี ออกลูกมากกลายเป็นพันธุ์อะไรไปก็ไม่ทราบ แก่งหินเพิงที่ อ.นาดีจ.ปราจีนบุรี ถึงขั้นยกกระท้อนทั้งสวน ให้นักท่องเที่ยวที่มาล่องแก่งหินเพิงกินฟรีไปเลยเพราะกระท้อนที่ปลูกแล้วออกลูกมาไม่ใช่พันธุ์ที่เขานิยมกัน คนซื้อดูไม่เป็นโดนคนขายหลอกเอา ที่สวนตรง กม. ๑๖๕ นี้ เขาขายพันธุ์แท้และที่เพิงที่เขามาตั้งขายอาหาร ของอร่อยและอร่อยมากๆ ด้วยคือ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นหม้อดิน ราคาชามละ ๑๐ บาท พิเศษก็ ๑๕ บาท และยังมียำเอ็นตุ๋นหมูตุ๋นอีก ๒๐ บาท ราคาถูก มีราดหน้าหมูหมัก ๑๕ บาท จะแวะกินเสียก่อนไปเที่ยวเขาวงพระจันทร์ก็ได้เที่ยวแล้วไปกินปลาตะเพียนไร้ก้างต่อเป็นมื้อเที่ยงอีกที ผ่าน กม.๑๖๕ ไปแล้ว ไปอีกนิดเดียวก็จะมีทางแยกขวาไปสัก ๕๐๐ เมตร จะถึงวัดเขาพระงามความจริงชื่อว่า วัดสิริจันทรนิมิตรเป็นพระอารามหลวง แต่เนื่องจากบนเขามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สร้างมาเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว ชาวลพบุรีนับถือมาก เลยเรียกว่า พ่อใหญ่หรือพระงาม พลอยติดปากเรียกนามวัดไปด้วย หากไม่เลี้ยวขวาเข้าไปยังวัดเขาพระงาม ก็ตรงไปอีกสัก ๕๐๐ เมตร ถึงสามแยก ให้เลี้ยวขวาตรงนี้ไปจนถึงหลัก กม.๑๗๙.๒๐๐ เลี้ยวขวาไปอีก ๕ กม. จะถึงวัดเขาวงพระจันทร์ซึ่งวัดนี้มีหลวงพ่อฟัก หรือพระครูสมถวิกรม เป็นเจ้าอาวาส ท่านอายุ ๘๕ ปีแล้วยังแข็งแรง และเคยเป็นครูมาก่อนที่จะมาบวช วัดเขาวงพระจันทร์ ไม่ทราบประวัติของวัด แต่มีตำนานที่เล่าขานกันมา๒ เรื่อง เรื่องแรก ตำนานของยักษ์ไปอย่างไรมาอย่างไรจึงเล่ากันว่า มาสถิตอยู่บนถ้ำยอดเขาวงพระจันทร์นี้ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยเห็นฟังมาแต่ตำนาน และเมื่อสมัยผมยังหนุ่ม ๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขาวงพระจันทร์แถมเป็นครูสอนวิชาแผนที่ปืนใหญ่ด้วย สมัยนั้นผมวิ่งขึ้นเขาวงพระจันทร์ที่มีบันไดร่วม๓,๐๐๐ ขั้น ได้ภายในเวลาไม่เกิน ๓๐ นาที เพราะอยากไปดูยักษ์ ขึ้นไปแล้วก็ไม่เห็นยักษ์เพราะเขาบอกว่าอยู่ในถ้ำและปิดปากถ้ำไว้ ยักษ์ที่ว่านี้คือ ท้าว"กกขนาก" ยักษ์ตนสุดท้ายที่ไม่ยอมแพ้พระรามพระรามที่อยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ จึงถูกพระรามแผลงศร โดนยักษ์กระเด็นลอยละลิ่วข้ามมหาสมุทรอินเดียมาตกที่ยอดเขาลูกนี้ แล้วพระรามก็สาปให้ศรปักอกเอาไว้หากวันใดที่ศรเขยื้อนให้หนุมานลูกพระพาย(ลูกลม ถ้าตายเมื่อต้องลมพัดผ่าน จะกลับฟื้นคืนชีพ หนุมานจึงไม่รู้จักตาย) เอาฆ้อนมาตอกย้ำลูกศร ให้ปักอกไว้เช่นเดิม แต่ยักษ์โดนเข้าขนาดนี้ก็ยังไม่ตายนอนรอความตาย ฝ่ายนางนงประจันทร์ลูกสาวยักษ์ก็เหาะตามพ่อมา เพื่อปฎิบัติพ่อ เพราะพ่อยังไม่ตาย นอนแอ้งแม้งอยู่ในถ้ำยอดเขานางพระจันทร์นี้และนางทราบว่าหากได้น้ำส้มสายชูมารดที่โคนศรแล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ แต่หากศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาฆ้อนมาตอกศร ตำนานนี้เป็นผลให้ลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูขายมานาน แต่ไม่ทราบว่านานสักกี่ปีเพราะบิดาของผมรับราชการที่โคกกระเทียมเมื่อ ๕๐ ปีกว่าที่แล้ว ก็เห็นมีน้ำส้มสายชูขายกันเกลื่อนไปเมื่อนางนงประจันทร์ช่วยพ่อยักษ์ไม่ได้ ก็ตรอมใจตาย ฝ่ายยักษ์กกขนากเมื่อลูกสาวตายก็เลยตายตามไปด้วย จากตำนานนี้จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า เขานงประจันต์หรือนางพระจันทร์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ หลวงพ่อโอภาสี ได้ขึ้นมาบนเขานี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง๔ ด้าน เป็นรูปเขาโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า "เขาวงพระจันทร์" แต่เนื่องจากบนยอดเขาก็มีรอยพระพุทธบาทเก่าแก่ ไม่ทราบว่าค้นพบกันเมื่อใดแต่ก็มีตำนานซึ่งตำนานนี้เล่าโดย หลวงพ่อองค์หนึ่ง (น่าจะเป็นหลวงพ่อโอภาสี) ท่านได้เล่าให้หลวงพ่อฟักเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ทราบ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ มีหลวงพ่อองค์หนึ่งมาขึ้นเขาและมีลูกศิษย์ติดตามมาหลายคนหลวงพ่อฟักก็ตามขึ้นไปด้วย จนเวลาประมาณสี่ทุ่ม ลูกศิษย์ของท่านก็ขอให้ทุกคนที่ตามมาเพื่อหาหลวงพ่อองค์นั้นกลับไปพักผ่อนหลวงพ่อจะได้จำวัดบ้าง แต่พอหลวงพ่อฟักจะลงไปบ้าง หลวงพ่อก็บอกว่าอย่าเพิ่งไปมีเรื่องจะคุยด้วย เริ่มแรกท่านบอกกับหลวงพ่อฟักว่า เขานางประจันต์นี่สูงต้องคนมีความเพียรจึงจะขึ้นมาได้(ผมขึ้นครั้งหลังเมื่อ ๓ - ๔ ปี มานี้ ได้ใช้ความเพียรตะกายขึ้นมาได้ในเวลา๒ ชั่วโมง) ต้องมีความมานะอดทนจึงจะขึ้นได้ แต่หากตั้งใจและศรัทธาจริง ถึงจะเหนื่อยสักปานใดก็ต้องขึ้นให้ถึง แล้วหลวงพ่อก็เล่าต่อไปว่า สมัยพุทธกาลมีพ่อค้าคนหนึ่งนำสินค้าไปขายต่างแดนโดยไปทางเรือ คราวหนึ่งเกิดเดินเรือผิดทางจนไปพบเกาะเข้าเกาะหนึ่ง จึงแวะขึ้นำไปบนเกาะเห็นว่าไม่มีผู้คนอยู่อาศัยแต่มองเห็นต้นไม้จันทร์หอมเต็มไปทั้งเกาะ และไม้จันทร์หอมนี้เป็นไม้ราคาแพงมากพ่อค้าเลยคิดว่าหากขนสินค้าลงจากเรือ ทิ้งเอาไว้บนเกาะนี้ แล้วตัดไม้จันทร์หอมบรรทุกกลับบ้านแทนจะขายได้ราคาสูงกว่าสินค้าที่ขนมาจึงทำตามความคิด ฝ่ายภูติปีศาจที่อยู่บนเกาะต่างโกรธแค้นที่มาตัดไม้โดยไม่บอกเจ้าที่เจ้าทางจึงพากันติดตามเรือไปกระทำฤทธิ์ ให้เกิดคลื่นลมให้เรือล่ม จะได้เป็นผีเฝ้าทะเลให้จงได้ พ่อค้าตกใจมาก ทันใดนั้นก็คิดถึงพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระอยู่ กล่าวคำรำลึกถึงพี่ชายว่าขอให้บารมีของหลวงพี่ช่วยให้รอดตายจากภัยครั้งนี้ด้วยเถิด หากรอดแล้วหลวงพี่ต้องการสิ่งใดก็จะถวายให้ดังประสงค์ขอให้หลวงพี่บันดาลให้คลื่นลมสงบด้วย พระพี่ชายซึ่งจะต้องมีญานสูงมาก จึงทราบคำรำลึกของพ่อค้าน้องชายก็คิดว่าหากไม่ช่วยน้องม้วยแน่ พระพี่ชายจึงมาปรากฏให้ภูตผีได้เห็นตัว และชี้แจงโดยดีพวกผีเห็นพระท่านมาดีก็เลยได้สติพากันกลับไปยังเกาะไม้จันทร์หอม คลื่นลมที่เกิดจากอิทธิฤทธิ์ผีก็สงบลงน้องชายก็นำเรือพร้อมทั้งไม้หอมกลับไปยังบ้านเมืองได้ เมื่อไปถึงก็รีบไปหาพระพี่ชายพระพี่ชายจึงสอนว่าจะทำอะไร ให้คิดถึงจิตใจของผู้อื่นด้วย อย่าทำเอาแต่ใจอย่างนี้อีก พระพี่ชายถามว่า จะถวายอะไร พ่อค้าบอกว่าถวายทุกอย่างที่หลวงพี่ปรารถนา หลวงพี่จึงบอกว่า"เจ้าเสียสละไม้จันทร์หอมที่ขนมา" แล้วเลื่อยไม้จันทร์หอม ปลูกเป็นปราสาททั้งหลังให้สำเร็จเมื่อสำเร็จเรียบร้อยเมื่อใด พระพี่ชายจะไปอัญเชิญพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประทับในปราสาทไม้จันทร์หอมที่พ่อค้าสร้างขึ้น พ่อค้าก็เร่งสร้างปราสาทจนสำเร็จ เมื่อเสร็จแล้วไปบอกพระพี่ชายพระพี่ชายจึงไปเฝ้าพระพุทธองค์ ขอให้เสด็จไปประทับที่ปราสาทไม้จันทร์หอม และโปรดน้องชายด้วยพระพุทธองค์ก็รับว่าจะไปและมีพระดำริว่า การเดินทางครั้งนี้เราจะไปทางอากาศและจะต้องผ่านที่อยู่ของพระ "สัจจพรรณฤาษี"ซึ่งเป็นฤาษีที่กระทำกิจได้ดีแล้ว แต่ยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ เราจะแนะนำให้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฐิซึ่งก็คงไม่ยากเพราะกิเลสบางเบามากแล้ว เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปยังปราสาท จึงเสด็จโดยทางอากาศ เมื่อถึงยอดเขานางพระจันทร์(นางพระจันทร์, นางประจันต์ คนเดียวกัน) พระองค์ก็เสด็จลงยอดเขาทันทีฝ่ายสัจจพรรณฤาษีเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาจนถึงที่จึงเข้าไปกราบพระบาทและทูลถามว่าพระองค์เสด็จไปแห่งใด พระองค์ตรัสตอบว่าเรามาครั้งนี้ก็เกี่ยวข้องกับที่นี่ด้วยพระพุทธองค์จึงเทศนาให้สัจจพรรณฤาษีได้เข้าใจ ในเรื่องมิจฉาทิฐิและควรตั้งตนอยู่ในทิฐิประเภทไหนสัจจพรรณฤาษีสดับเทศนาแล้ว ก็มีสติระลึกชอบด้วยสัมมาทิฐิว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อตนเองเมื่อเทศนาโปรดแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จต่อไป เพื่อไปยังปราสาทของพ่อค้า สัจจพรรณฤาษีก็ขอตามเสด็จเมื่อไปประทับที่ปราสาทตามคำอัญเชิญแล้ว ก็เทศนาให้น้องชายพระได้ฟังธรรม เมื่อเสร็จกิจที่ได้รับนิมนต์มาแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับ ฤาษียังตามเสด็จมาด้วยเมื่อถึงยอดเขานางประจันต์ ฤาษีก็ขอตามต่อไปอีก พระพุทธองค์จึงตรัสว่าเรารู้จักกันใกล้ชิดแล้วไม่ต้องตามไปแม้อยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้ พระฤาษีจึงอาราธนาขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยฝ่าพระบาทไว้บนยอดเขาเมื่อยามคิดถึงพระองค์จะได้มากราบไหว้บูชาเป็นกิจประจำวัน พระพุทธองค์จึงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกแล้วแยกพระบาทเหยียบบนยอดหินที่สูงที่สุดของเขานางพระจันทร์ เกิดเป็นรอยพระบาทที่ได้เห็นอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ รอยพระพุทธบาทนี้ พระบาทยาว ๑.๖๒ เมตร กว้าง ส่วนกลาง ๖๒ ซม. เมื่อเข้าไปในวัดเขาวงพระจันทร์แล้ว ทางซ้ายจะเห็นศาลารูปเหมือนของเกจิอาจารย์หลายองค์ประทับนั่งอยู่ในศาลา ศาลาพระพุทธรูป และศาลาแม่ชี ฟากตรงกันข้ามกำลังสร้างศาลา เพื่อระบายสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ที่มีมากเหลือเกินมาไว้โดยเฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕
ดังนั้นเมื่อมายังวัดนี้ขอให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ของหลวงพ่อฟักให้ได้ ไปถึงวัดแล้วเดินเลยศาลแม่ชีไปแล้วก็จะถึงบันไดขึ้นกุฎิหลวงพ่อ ขึ้นไปได้เลยไม่ต้องกลัวสุนัข หลวงพ่อเลี้ยงสุนัขจรจัดเอาไว้สัก๓๐๐ ตัว ป่านนี้อาจจะมากกว่านี้แล้ว แจ้งพระลูกวัดขอนมัสการหลวงพ่อหากท่านไม่จำวัดก็เข้านมัสการได้ เมื่อนมัสการหลวงพ่อแล้วให้ขออนุญาตไปสักการบูชา พระบรมธาตุซึ่งเป็นพระทันตธาตุของพระพุทธองค์ ประดิษฐานอยู่ในพานแก้ว ในครอบแก้วในห้อง ตรงกันข้ามกับกุฎิหลวงพ่อและในห้องนี้หากได้เข้าไปแล้ว จะรู้สึกทันทีว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในห้องนี้ พระบรมธาตุองค์นี้หลวงพ่อได้พาผมเข้านมัสการเมื่อสัก ๑๒ ปีผ่านมาแล้ว แต่พอได้มาเห็นในวันนี้องค์ใหญ่กว่าเดิมร่วมสองเท่าขอให้เชื่อเถอะว่าพระบรมธาตุคือ อัฐิของพระพุทธองค์ พระธาตุคือ อัฐิของพระอรหันต์เช่น ของหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เป็นต้น พระบรมธาตุ, อัฐิธาตุจะขยายโตได้ เกิดเพิ่มขึ้นได้และหายไปเองก็ได้ หากคนชั่วไม่รู้จักสักการบูชาทำแต่ความเลวท่านก็หนีหายไปได้ และกลับมาเองก็ได้ ผมขอยืนยันความจริงข้อนี้เพราะประสบมากับตนเอง จากห้องประดิษฐานพระบรมธาตุ ก็เดินเลี้ยวซ้ายไปยังห้องพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะผ่านแท่นพระพิฆเนตรผ่านแท่นบูชาเทวดา ซึ่งบนแท่นประดิษฐาน พระนารายณ์ พระยม พระกาฬ พระอิศวรผ่านต่อไประหว่างเทวรูปที่สร้างใหม่ประดับไว้สองข้างทางเดินไปจนถึงทางเข้าห้องพิพิธภัณฑ์ชั้นล่าง ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด๓ ชั้น ทางเข้าชั้นแรกมีรากไม้สีดำ จากยอดดอยอินทนนท์ ที่เจ้าอินทนนท์ณ เชียงใหม่ ประทานไว้ และยังมีจระเข้ผัวเมีย จากวัดสามปลื้ม ซึ่งสตาฟเอาไว้ตัวเบ้อเริ่มเลยทีเดียวทั้ง ๓ ชั้นของพิพิธภัณฑ์คุ้มค่าต่อการเข้าชม โดยเฉพาะนักเลงพระแค่เห็นสมเด็จทั้งพิมพ์วัดระฆังบางขุนพรหม วัดไชโย ก็คงจะคลั่งตาย เพราะหลวงพ่อเลี่ยมทองใส่จานวางไว้ในตู้และยังมีของโบราณอีกมากมาย แม้แต่ไม้เท้าของเกจิอาจารย์ดัง ๆ หลวงพ่อฟักก็ไปหามาไว้บานประตู บานหน้าต่างของหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า เป็นบาย่อขนาดแกะสลักสวยมีค่ามากหลวงพ่อก็มีไว้ ชั้นที่ ๓ เป็นชั้นที่สะสมพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕เอาไว้มากที่สุด เห็นตื่นเต้น เพราะไม่เคยเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่๕ มีที่ไหนมากเท่าที่พิพิธภัณฑ์ของหลวงพ่อฟักเลย วัดเขาวงพระจันทร์ มีงานไหว้พระบาทประจำปีในเดือนกุมภาพันธ์ประมาณใกล้ ๆ ตรุษจีน ซึ่งยังมีลมหนาวพัดพา ไปเที่ยววัดเสียก่อน แล้วไปกินอาหาร ที่ผมกำลังจะพาไป ตกค่ำมาขึ้นเขาวงพระจันทร์ กว่าจะขึ้นไปถึงและกลับลงมาก็ตกประมาณตี๓ ตี ๔ ซึ่งเมื่อถึงเวลานี้ทางวัดจะนิมนต์พระสงฆ์และนางชี จากวัดต่างๆ ให้หมุนเวียนกันมารับบาตร ซื้ออาหารใส่บาตรได้ ทีนี้จะพาไปชิมอาหารหลังจากพากินก๋วยเตี๋ยวรองท้องที่ กม. ๑๖๕ มาแล้ว ไปกินปลาตะเพียนไร้ก้างซึ่งผมชิมมาทั่วยังไม่เจอร้านไหนที่ทอดปลาตะเพียน รวมทั้งมีน้ำจิ้มปลาตะเพียนที่เด็ดเหมือนที่ร้านนี้แต่แม่ครัวเอก ชื่ออะไรไม่เคยถามกันสักที ออกจากวัดเขาวงพระจันทร์ ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนที่จะไปยังอำเภอโคกสำโรงจนถึงหลัก กม. ๑๘๘.๒๐๐ ทางซ้ายมือคือปั๊ม ปตท. ทางขวาคือร้าน ปลาตะเพียนไร้ก้าง ไม่มีร้านไหนทอดได้เหมือน เขาจะดึงก้างฝอยออกหมดจนเหลือแต่ก้างใหญ่ ซึ่งโอกาสจะติดคอ ติดลิ้นมีน้อยมาก ๒ คนต่อหนึ่งตัวเป็นสูตรที่ควรสั่งและจะให้ดีก่อนไปถึงร้านของเขา ทรสั่งอาหารสั่งจองเสียก่อน ๐๓๖ ๖๒๔๘๑๐ จะได้ไม่เกิดโมโหหิว เพราะทอดปลาตะเพียนให้กรอบไร้ก้างนั้น เร่งไม่ได้ต้องทอดด้วยไฟพอเหมาะพอดี เพื่อให้ปลาออกมาสีเหลือง โรยกระเทียมเจียวสีเหลืองอ่อนหอมฟุ้งกลิ่นจะไม่ติด บรรจงตักปลา โรยด้วยน้ำจิ้ม จะกินกับข้าวสวยร้อน ๆ หรือกินเปล่าๆ ก็วิเศษนัก ไปเกิน ๓ คน ต้องสั่งสัก ๒ ตัว ไม่งั้นแย่งกัน สั่งใหม่ก็หมดอร่อยเพราะต้องรอนาน ต้มยำปลาตะเพียน ต้องสั่งเช่นกัน ยากที่จะหาใครต้มยำได้เหมือนรสของยายเมคอมเปรี้ยวอมหวานนิด ๆ กลมกล่อม ปลาช่อนผัดคื่นฉ่ายมีขิงโรย ผัดมีน้ำขลุกขลิก น้ำผัดเข้าเนื้อปลาทำให้เนื้อปลามีรสซดน้ำผัดยังได้ ใครชอบปลาไหล เจ้านี้ผัดเผ็ดปลาไหลเก่งนัก ผมไปกับเขาทีไรไม่ต้องเปิดเมนู สั่งเป็นกับเขาอยู่แค่นี้ อิ่มแล้วจะเลยไปวัดคลองเกตุที่เลยตัวอำเภอไปหน่อยหนึ่งไปไหว้รูปเหมือนของหลวงปู่ บุญตา ก็ได้ ท่านมรณภาพไป ๕ ปีแล้ว ของหวาน ไม่มีแต่หากเย็น ๆ รถเข็นไอศกรีมกะทิแถว ๆ วงเวียนโคกสำโรงอร่อยนัก....................................................
|