ตลาดคลองสวน
ตลาดคลองสวน
(ตลาดร้อยปี)
บ้านผมอยู่ห่างจากตลาดคลองสวน ๑๐๐ ปี ไม่ถึง ๕๐ กม. ผมวิ่งตระเวณเที่ยวไป
กินไป รอบประเทศแต่ไม่ได้ไปตลาดคลองสวนสักที สาเหตุสำคัญที่ไม่ได้ไปน่าจะเป็นเพราะทราบแต่ชื่อ
รู้กิติศัพท์ แต่ไม่มีใครบอกเส้นทางที่พอจะเดาถูกให้ผม เพราะหากทราบเส้นทางเอากันแค่พอเดาได้
รับรองว่าผมไปถูกแน่นอนครับ คราวนี้ผมจะบอกเส้นทางให้ท่านผู้อ่านตามผมไปเที่ยว
ไปกิน ที่ตลาดคลองสวนที่มีอายุยืนยาว มาถึง ๑๐๐ ปีเศษ และทำมาค้าขายกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๕ เรียกว่า ค้าขายกันในตลาดนี้มา ๕ แผ่นดินแล้ว และที่ไม่เหมือนใครมีอยู่ตลาดเดียว
ในประเทศไทย คือ ความยาวของตลาดที่ยาวไปตามริมคลองประเวศน์บุรีรมย์ ยาวประมาณ
๑ กม. และข้อสำคัญคือ ยาวจากเทศบาลตำบลคลองสวน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
ไปจนถึงเขตเทศบาล ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ (บ้านโพ) จังหวัดฉะเชิงเทรา ติดตลาดยาวข้ามจังหวัดเช่นนี้
ตั้งแต่ผมเดินทางเที่ยวไป กินไป มากกว่าสามสิบปีก็พึ่งพบ ที่ตลาดคลองสวนเพียงแห่งเดียว
และแม้จะยาวข้ามจังหวัด แต่ชื่อตลาดก็ชื่อเดียวกันคือ คลองสวน
คลองประเวศน์บุรีรมย์
ไม่ใช่แค่คลองธรรมดา มีประวัติการขุด และขุดเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง
เป็นการขุดที่เริ่มต้นจากกรุงเทพ ฯ ไปผ่านจังหวัดสมุทรปราการ ไปบรรจบแม่น้ำบางปะกงที่
ต.ท่าสะอ้าน อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา สาเหตุที่ขุดน่าจะมาจากเมื่อแผ่นดินรัชกาลที่
๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยมีสงครามกับญวน
หรือเวียดนาม และรบกันในดินแดน ลาว และเขมร ทัพไทยนำทัพโดย เจ้าพระยาบดินทร์เดชา
(สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลคู่บารมีของ ร.๓ นำทัพเข้ารบกับญวนเป็นเวลานานถึง ๑๕
ปี และสนามรบก็อยู่ทางตะวันออกของประเทศไทย จึงน่าจะโปรด ฯ ให้ขุดคลองนี้
ขึ้นด้วยเหตุจากสงคราม เพื่อความรวดเร็วในการส่งกำลังบำรุง จากเมืองหลวงไปสู่สนามรบ
เป็นคลองยุทธศาสตร์ ขุดขนาน (เฉพาะช่วงแรก) กับคลองแสนแสบ
เริ่มต้นขุดต่อจากคลองพระโขนง
ที่เป็นคลองที่เกิดตามธรรมชาติ แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตพระโขนง ขุดคลองต่อมาโดยหวังจะขุดไปจน
บรรจบกับแม่น้ำบางปะกง แต่พอผ่านเข้าเขตลาดกระบัง ก็เรียกว่า คลองประเวศน์
ยาวประมาณ ๕๐ กม. จึงจะบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง การขุดคลองยังไม่ทันแล้วเสร็จ
รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคตเสียก่อน การขุดคลองจึงหยุดชงักไป พอมาถึงรัชกาลที่
๔ ฝรั่งเศสแผ่อำนาจจักรวรรดิ์นิยมรุกมายึดได้ญวน และพลอยหาเรื่องมายึดเอา
เขมร และลาว จากไทยไปด้วย ไทยจึงต้องเตรียมรับภัยที่ จะรุกเข้ามาทางตะวันตก
พ.ศ.๒๔๒๐ รัชกาลที่ ๕ จึงโปรด ฯ ให้จ้างชาวจีน ขุดคลองที่ค้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๓ เพื่อให้ไปออกแม่น้ำบางปะกง การขุดคลองนี้ เป็นการขุดอย่างมีการรังวัดแนวคลองเป็นเส้นตรง
ทำให้ย่นระยะทางเดินทางได้เร็ว มีประชาชนบริจาคเงินสมทบในการขุดคลอง เมื่อขุดสำเร็จแล้ว
จึงโปรด ฯ พระราชทานนามคลองว่า คลองประเวศน์บุรีรมย์ แต่ชาวบ้านเรียกกันสั้น
ๆ ว่า คลองประเวศน์
ชาวไทย ชาวจีน ไทยจีน ไทยมุสลิม รามัญ เขมร พากันไปจับจองที่ดินสองฝั่งคลองเป็นที่ทำกิน
กลายเป็นชุมชนริมคลองที่หลากหลายวัฒนธรรม แต่อยู่กินกันอย่างสันติสุขมาจนทุกวันนี้
ถ้าล่องเรือไปในคลองประเวศน์ จะพบคลองที่มาตัดหลายคลองทางด้านเหนือคือ คลองแสนแสบ
ด้านใต้คือ คลองสำโรง ที่สายน้ำของคลองนี้
จะไหลไปออกปากอ่าว
ที่อำเภอคลองด่านสมุทรปราการ ตามริมคลองจะเห็นวัดไทย ศาลเจ้าจีน สุเหร่า วัดมอญ
และวัดเขมร ตั้งเรียงรายอยู่
ตลาดคลองสวน
มีอายุยืนยาวมากว่า ๑๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองประเวศน์บุรีรมย์ แต่เริ่มต้นมาจากการเป็นตลาดน้ำ
ใช้เรือแพ ค้าขายกัน เมื่อกิจการเจริญมากขึ้นตลาดจึงเริ่มย้ายขึ้นมาอยู่บนบก
แต่ย้ายมาแปลกอีก เพราะอยู่ฝั่งเดียวของคลองยาว ไปจนถึงฝั่งคลองด้านฉะเชิงเทรา
ตลาดคลองสวน ในส่วนที่เป็นโบราณแท้ (มีสร้างเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อย) มีทางเดินในปัจจุบันเป็นคอนกรีต
แต่มีหลังคาสังกะสี ต่อเป็นชายคาออกมาจากร้าน จนคลุมทางเดินเท้า ตัวร้านค้าเป็นห้องแถวไม้หลังคามุงสังกะสี
ด้านหลังตลาดมีลำรางขุดเป็นที่ระบายน้ำ ต่อกับลำคลองประเวศน์ และลำคลองนาคราช
ตลาดคลองสวนเป็นทั้งตลาดสด ที่ขายของเพื่อนำไปประกอบอาหาร ขายทั้งผัก และผลไม้
เนื้อสัตว์ ปลาย่าง ปลาแห้ง ปลาเค็ม ไข่เค็ม หมูแดดเดียว กุนเชียง หอยจ้อ
ทำเองขายเอง มีร้านกาแฟโบราณ ๓ ร้าน เดี๋ยวผมจะพาไปชิม บอกกันว่าหากใครมาตลาดคลองสวนแล้ว
ไม่ได้ชิมกาแฟแป๊ะหลี ที่ขายมาตั้ง ๗๐ ปี มาแล้ว ก็เหมือนมาไม่ถึงตลาดคลองสวน
ก่อนเที่ยวตลาดตระเวณซื้อ ตระเวณชิม ขอแนะนำเส้นทางไปตลาดคลองสวนเสียก่อน
เส้นทางที่จะตั้งต้นง่ายที่สุดคือ เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุ่งหน้าไปทางตะวันออก
(มาทางตะวันตกมาโรงพยาบาล ฯ) วิ่งลอดอุโมงค์ ตรงต่อไปขึ้นสะพานลอย วิ่งไปจนสุดสะพานลอยเข้าสู่ถนนพระราม
๙ วิ่งต่อไปจนเข้าถนนมอเตอร์เวย์ วิ่งต่อไปอีกจนพบทางแยกเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ
ตรงต่อไปอีกตอนนี้วิ่งช้าหน่อย ก่อนถึงด่านเก็บเงินของมอเตอร์เวย์ ประมาณ
กม.๒๐ จะมีถนนแยกซ้ายให้เลี้ยวซ้ายป้ายบอกว่าไปอ่อนนุช (ลาดกระบัง) เลี้ยวแล้ววิ่งไปประมาณ
๑ กม.จะถึงสามแยกมีป้ายโฆษณา ป้ายใหญ่ปักไว้บอกว่าไปตลาดคลองสวน ๑๕ กม. ให้เลี้ยวขวา
(เลี้ยวซ้ายไปลาดกระบัง) ตรงเลื่อยไปประมาณ ๑๕ กม. จะพบทางแยกซ้ายให้เลี้ยวซ้ายไปสัก
๑๐๐ เมตร ผ่านป้ายที่ยกไว้ว่า "หมู่บ้านชุมชนเข้มแข็ง เทศบาลคลองสวน" ก็เลี้ยวขวาไปย่านตลาด
ที่จอดรถค่อนข้างจะหายาก ต้องพยายามวิ่งแหวกเข้าไปจนนถึงลานจอดหน้าโรงสีข้าวโบราณ
จึงจะมีที่จอด แต่ก็ไม่มากนัก ดีตรงที่ริมลานนี้มีรถสุขาเคลื่อนที่ของเทศบาลคลองสวน
เป็นรถสะอาดได้มาตรฐานจอดรถบริการอยู่มีแห่งเดียว ตามร้านอาหารไม่มีสุขา ไม่มีสุขาสาธารณะ
แต่ดูเขาจะเอื้ออารีกันดีเพื่อส่วนรวมเช่น ผมไปกินอาหารร้านหรือเพิงริมน้ำ
เขาก็พาไปเข้าสุขาร้านที่อยู่ตรงกับร้านของเขา หรือจะเป็นร้านของเขาเองก็ไม่ทราบ
แต่ดูแล้วชาวตลาดช่วยเหลือกันเพื่อส่วนรวมเป็นอย่างดี เดินตลาดไปจนสุดทางในเขตเทศบาลเทพราชแล้วจึงพบว่ามีที่จอดรถที่ดีและ
กว้างขวางอยู่ทางด้านนี้ ซึ่งจะเรียกว่าหัวตลาดหรือท้ายตลาดก็ได้ เพราะเป็นหัวตลาดของเทศบาลเทพราช
แต่เป็นท้ายตลาดของเทศบาลคลองสวน ขอบอกเส้นทางไว้เลย เมื่อวิ่งมาผ่านทางจะแยกซ้ายเข้าเทศบาลคลองสวน
อย่าเพิ่งเลี้ยวซ้ายเข้าไป ให้ตรงไปก่อนจนข้ามสะพานคลองนาคราช เมื่อข้ามสะพานแล้วจึงเลี้ยวซ้ายวิ่งไปจนสุดทาง
แล้วเลี้ยวขวาไปทาง สนง.เทศบาลเทพราช ลานจอดรถกว้างขวาง อยู่ข้าง ๆ เทศบาลนาคราช
ผมมาสำรวจตอนจะกลับบ้าน เห็นกว้างขวางดี แล้วเดินเข้าตลาดทางด้านนี้เลย เข้าทางไหนก็เหมือนกัน
เพราะอย่างไรเสียก็ต้องเดินกันจนจบความยาวของตลาด
แต่ผมไปเข้าทางเทศบาลคลองสวน จึงต้องพาเที่ยทางสมุทรวปราการไปก่อน แล้วไปจบลงที่ฉะเชิงเทรา
ตลาดคลองสวนนี้เป็นตลาดเก่าแก่จริง ๆ ร้านรวงแบบที่หายไปจากกรุงเทพ ฯ ธนบุรี
หรือชนบทแห่งอื่น ๆ ที่นี่ยังมีอยู่พร้อม ร้านประเภทคนอายุน้อยกว่าห้าสิบปีหรือจะหกสิบปีด้วยซ้ำไป
จะไม่เคยเห็นมาก่อน รีบมาชมเสียก่อนที่จะหายไปอีกแห่งหนึ่ง สารพัดสินค้าที่มีขายและมีขายทุกวันตั้งแต่เช้ายันเย็น
หากเป็นวันหยุดก็จะมีขายเพิ่มขึ้นอีกตามแผง ตามซุ้ม วันธรรมดาแผง หรือซุ้มเหล่านี้จะไม่มี
คงมีขายแน่นอนในร้านที่มีมากกว่าร้อยร้าน ในความยาวร่วม ๑ กม. ถามแม่ค้าตามซุ้มดูบอกว่ามีงานประจำทำ
จึงมาขายแต่เฉพาะวันหยุดเท่านั้น และเป็นสินค้าของคนมีฝีมือ คงแบบเดียวกับตลาดน้ำบางน้ำผึ้งที่แม่ค้า
พ่อค้ามาขายได้เฉพาะวันหยุดเพราะวันธรรมดามีงานประจำทำกัน ร้านค้าประจำในตลาดคลองสวน
จึงมีสารพัดสินค้าเช่น ร้านโชว์ห่วยที่กำลังจะหายสูญพันธ์ไปหมด เพราะห้างสรรพสินค้าเข้ามาบริการชนิดครบวงจร
ผู้คนจึงนิยมไปเข้าร้านสรรพสินค้าพวกนี้มากกว่า เดินเย็นสบาย สะดวก ราคาพอสมควร
ร้านโชว์ห่วยกำลังจะตายจากไป แต่โชว์ห่วยในตลาดคลองสวนยังมีให้เห็น ขายตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ
(ของเด็กเล่น) ที่มีกระทั่งขนมหวาน ขายมาร่วม ๖๐ ปีแล้ว ร้านขายอาหารสดพืชผักนำไปประกอบอาหารก็มี
ส่วนร้านกาแฟโบราณมีหลายร้าน มีตู้โชว์แก้วเก่า ขวดเก่าให้ชมด้วย ส่วนร้านกาแฟที่เก่าแก่ที่สุดที่ขายมา
๗๐ ปี ร้านขายเครื่องมือจับสัตว์น้ำก็มี ขายปุ๋ย ขายเครื่องมือเกษตร แต่ขายกุนเชียงที่ร้านทำเองอร่อยนัก
บอกว่าเปิดมากว่าร้อยปี รุ่นก๊งตัดเสื้อผ้า รุ่นเตี่ยขายเนื้อสุกรชำแหละ มารุ่นปัจจุบันขายกุนเชียง
(ทำเอง สูตรโบราณ) ร้านรับซ่อมเครื่องไฟฟ้ารวมทั้งรับตัดปะเสื้อกางเกง และซ่อมนาฬิกาด้วย
ร้านขายยาที่จัดร้านแบบร้านขายยาตอนที่ผมยังหนุ่มก็มีหลายร้าน ไม่ได้ไปถามว่ามียากินแล้วอายุยืนเกินร้อยปีมีบ้างไหม
ร้านนี้เคยขายของชำ ขายกาแฟปัจจุบันขายยา ร้านขายหนังสือแต่เคยตัดเสื้อผ้า
ใครร่ำรวยอยากได้สร้อยใส่ ไม่ต้องไปเยาวราชร้านขายทองตลาดคลองสวนก็มีอีก จารไนไม่หมด
มากเหลือเกิน ไปเที่ยว จะได้เห็นร้านเก่า ๆ ที่เขายังค้าขายเป็นปกติในตลาดแห่งนี้
ยิ่งสมัยโบราณจริง ๆ มีโรงยาฝิ่น โรงหนัง (บ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อค ทองผาภูมิ
ยังเคมมีโรงหนังและโรงแรม)
ทีนี้มาดูอาหารการกินบ้าง เป็นตลาดที่ชวนให้ไปจับจ่ายรวมทั้งไปชิม ไปตลาดคลองสวนขอแนะนำว่าให้ไปตั้งแต่ตอนเช้า
ๆ ก่อนอาหารเช้า แล้วไปกินอาหารเช้าที่ตลาดแห่งนี้ ต่อจากนั้นเดินเที่ยว จะไปไหว้พระก็มีวัดพุทธ
ละหมาดก็มีมัสยิด หรือจะไหว้เจ้าก็มีศาลเจ้าแม่เทียนโหว เซี๊ยะบ๊อ หรือศาลเจ้าพ่อคลองสวน
ก็มีให้ไปไหว้ขอพร คิดไม่ออกว่าจะเดินสำรวจหรือทำอะไรดีก็นั่งกินก๋วยเตี๋ยว
ดูเรือวิ่งในคลอง
เมื่อเดินเข้าตลาดช่วงแรกที่มีการต่อเติมใหม่บ้าง ยังไม่โบราณแท้ ช่วงนี้ยาวสัก
๑๐๐ เมตร พอเริ่มต้นปากทางเข้าเลยทีเดียว กล้วยแขกแม่ซิมทอดขายอยู่ในซุ้ม
มีขนมกงด้วย ขนมแปลก ๆ ทั้งไทย จีน แขก หากินยาก ๆ นั้น ที่ตลาดนี้มักจะมีขาย
เริ่มต้นก็พบขนมกงแล้ว ต่อมาอาหารจานเดียวเช่นข้าวหมูพะโล้ ข้าวหมกไก่ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด
น่องไก่ตุ๋น ห่อหมก ทอดมัน ข้าวแกง มีโต๊ะ เก้าอี้ เพิงหลังคากันแดด กันฝนให้นั่งกินริมคลองได้
เดินต่อมาพบข้าวหมูแดง ไข่เค็มเจ๊ศรี ฯ สุดตลาดช่วงแรกหากเลี้ยวขวาเข้ามาจะเป็นตลาดโบราณดั้งเดิมแท้
แต่หากเลี้ยวซ้ายไปนิดหนึ่งจะไปสุดทางที่ร้านขายข้าวเหนียวมะม่วง คิดจะซื้อกลับต้องซื้อเลย
ซื้อแล้วฝากเขาไว้ช้าหมด
สุดช่วง ๑๐๐ เมตรแรก เลี้ยวขวาเข้าตัวตลาดโบราณ คงมีร้านค้าโบราณและตามหน้าร้าน
หรือฝั่งตรงข้ามริมทางเดินก็จะเป็นซุ้มหรือแผงขายอาหาร ร้านแรก ๆ ทางขวายกป้ายไว้ว่า
"ขนมชั้นหอม" ให้อาฆาตเอาไว้กลับมาต้องซื้อให้ได้ ขนมชั้นอร่อยมาก หอมด้วย
และยังมีพวกทองหยิบ ตะโก้นั้นทั้งหวานทั้งมัน ผมขนซื้อมาจนไม่แน่ใจว่าน้ำตาลในเส้นเลือดจะขึ้นหรือเปล่า
แต่ขึ้นก็ไม่กลัวประเภทน้ำตาลสูง ยูริคสูง คลอเรสโตรอลสูง ความดันไม่ปกติ
"พญาวานร" หรือฮว่านง็อก (ผมเคยเขียนไปแล้ว เพราะเกิดกับตัวของผมเอง) จะปราบให้หมด
ผมเตรียมตัวไม่กินอาหารเช้า และตอนเข้าตลาดช่วงวแรก ๆ ก็ไม่ได้ชิมอาหารจานเดียว
ได้แต่มองหมายตาแล้วผลัดเอาไว้ก่อน พอเดินมาได้ค่อนตลาดคลองสวน ยังอยู่ด้านหน้าตลาดคลองสวนก็หิวแล้ว
ร้านอยู่ทางด้านซ้ายของทางเดิน ริมคลองมีโตะ เก้าอี้พอให้นั่งได้ ฝั่งคลองตรงข้ามร้านคือมัสยิด
ราดหน้า ผัดซีอิ้ว ผัดไทย ข้าวผัดปู หอยจ้อ ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่น้ำ คะนี้หมูกรอบ
เส้นเล็กต้มยำ หมูกระเทียมพริกไทย
ต้องสั่งคือ ข้าวผัดปู ผัดมาส่งกลิ่นหอม โรยด้วยผักชี มีจานใส่ ต้นหอมต้นอวบ
แตงกวา น้ำพริกมาให้พร้อม อย่าโดดข้ามจานนี้ไป
ไม่ได้สั่งก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก แต่ให้เขาทำต้มยำให้แทน ไว้ซดตามข้าวผัดปู
คะน้าหมูกรอบ ทำหมูกรอบเก่ง ผัดแล้ว ยังได้เคี้ยวหมูกรอบจริง ๆ ไม่ใช่หมูเหนียว
หอยจ้อปู ตลาดนี้มีหลายเจ้า นั่งกินเสียก่อนที่จะไปซื้อกลับมา กรอบนอกนุ่มใน
หมูกระเทียมพริกไทย ทอดเค็มไปนิด แต่หากกินกับข้าวกำลังพอดี
ของหวานเขาไม่มี ให้เขาสั่งกาแฟเย็นมาชิม ร้านนี้ชงขายมา ๖๐ ปี
อิ่มแล้วเดินต่อ ยังไม่ถึงตลาดเทศบาลเทพราช เลยกุยฉ่ายสูตรโบราณ ซื้อมาชิมตอนกินข้าวแล้วอร่อย
จนต้องซื้อกลับ ยังมีฮอยจ๊อ ขนมสามเหลี่ยม สาคูไส้หมู ร้านมีฮอยจ๊อ ต้องซื้อกลับมา
ไส้ปูล้วนลูกละ ๑๕ บาท ปูผสมลูกละ ๙ บาท หมูแดดเดียวเห็นที่เขาวางไว้ ก็เดาได้ว่าอร่อย
กุนเชียง ขนมเปี๊ยะมี ๑๑ ไส้ ขนซื้อมาแต่ไส้เผือก ร้านรตนพร เดินมาจนสุดทางคลองสวน
เขายกป้ายไว้ หากข้ามสะพานสูงไปก็จะเป็นฝั่งเทศบาลเทพราช แต่เรียกว่า ตลาดคลองสวนเหมือนกัน
เชิงสะพานหากพุงพร่องน่ากินอีกคือ ก๋วยเตี๋ยวเป็ดพะโล้ วางเป็ดพะโล้ปีกเป็ด
เลือดเป็ดพะโล้เอาไว้ เลยซื้อกลับมา มีหัวหมูพะโล้ด้วย แต่ขายยกหัว หัวละ
๓๕๐ บาท เลยต้องซื้อเจ้าที่ใกล้กันเขาแบ่งขาย
ข้ามสะพานสูงมาแล้ว จะพบร้านไอศครีมแบบโบราณคือ ใส่ในหลอดสังกะสี ใส่ถังล้อมด้วยน้ำแข็งโรยเกลือ
แล้วเขย่าจนแข็งตัว ตลาดนี้ยังมีขาย หอยจ๊อ เจ๊เหมา ก๋วยเจ๋ง ลูกชิ้นปลาทอด
บอกว่ามีแห่งเดียว สะเต๊ะ กระเพาะปลา กุ่ยฉ่ายเจ๊ณา ขนมไชเท้า หากินยากมาก
ยิ่งอร่อย ๆ อย่างนี้ ยิ่งหายากรวมทั้ง บ่ะจ่าง ร้านตัดผมโบราณ มีตู้ไปรษณีย์โบราณ
ตั้งที่หน้าร้านเขียนไว้ที่กระจกว่า ร้านแต่งผมออกแบบทรงผม สุดทางฝั่งตรงข้ามคือ
วัดคลองสวน และปิดท้ายด้วยไข่เค็ม เทียนเจริญที่หอบกลับมา
ตอนลงสะพานสูงมาได้สัก ๓๐ เมตร ร้านห้องเดียว กาแฟโบราณ ๗๐ ปี แป๊ะอายุ ๘๔
ปี (พ.ศ.๒๕๕๐) แข็งแรงมาก เดินมาบริการลูกค้าเอง โฆษณาเอง บอกว่าใครมาตลาดคลองสวน
หากยังไม่ได้กินกาแฟแป๊ะหลี ถือว่ายังมาไม่ถึงตลาด แป๊ะเดินมาคุยด้วย และบอกว่ามีสมุดเซ็นเยี่ยม
มี ๓๗ เล่มแล้ว ผมยังไม่ได้เซ้นให้ และแป๊ะก็ไม่รู้จักว่าผมเป็นใคร สั่งกาแฟร้อนใส่นมมาซด
เยี่ยมจริง ๆ รสเข้มข้น กลิ่นหอมชื่นใจ นั่งได้บรรยากาศ โต๊ะกลมหินอ่อน รุ่นสั่งจากอิตาลี
เก้าอี้พนักพิงแบบโบราณ ซดกาแฟร้อนแล้ว ต้องซื้อกาแฟที่แป๊ะชงใส่ขวดเอาไว้ขายขวดละ
๒๐ บาท กลับมาอีก ๕ ขวด มีทั้งชา และกาแฟ กลับมาบ้านแล้ว เสียดายว่าซื้อมาน้อยไป
................................................................
|