ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > กองพล ๙๓
 
kongpon93
กองพล ๙๓

            ก่อนที่จะทราบประวัติของกองพล ๙๓  ซึ่งเราจะได้ยินเสมอและจะเข้าใจว่า เป็นกองทหารจีนคณะชาติ ของชาติที่ผลัดถิ่นเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ผมอยากจะบอกกล่าวเสียก่อนว่า ผมไปดอยดุง และดอยแม่สลองมา  ซึ่งดอยแม่สลองนี่แหละคือหมู่บ้านที่ตั้งชื่อกันในภายหลังว่า หมู่บ้าน "สันติคีรี" และราษฎรในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่คือ อดีตทหารจีนของกองทัพที่ ๓ และกองทัพที่ ๕ พร้อมด้วยครอบครัว
            เส้นทางเดินทางของผมคราวนี้ ผมไปจากลำปาง โดยนอนที่ลำปางคืนหนึ่ง นอนที่ไร่ชวนฝัน จากไร่ชวนฝัน เดินทางต่อไปผ่านอำเภองาว แวะเข้าไปไหว้พระเจ้าตนหลวงที่วัดศรีโคมคำ ต่อจากนั้นก็วิ่งรวดเดียวไปถึงอำเภอเชียงแสน นัดกับพรรคพวกในขบวนคาราวาน (ผมเรียกให้โก้ ๆ ไปอย่างนั้นแหละ) ที่ร้านเกี๊ยวเซี่ยงไฮ้ ซึ่งร้านนี้ตั้งแต่ผมเขียนให้เมื่อหลายปีมาแล้วก็เจริญรุ่งเรือง ถึงขั้นสามารถปลูกบ้าน ปลูกร้านหน้าบ้านได้ จากที่เคยอยู่เพิงเช่าที่ดินของเขา ร้านใหม่ของเขาก็อยู่ใกล้ ๆ กับร้านเดิมคือ หากเรามาจากอำเภอแม่จัน มุ่งหน้ามาจนถึงอำเภอเชียงแสน วิ่งมาจนชนแม่น้ำโขง ก็เลี้ยวซ้ายมาสัก ๑๐๐ เมตร จะผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน เลยมานิดเดียวก่อนถึงป้ายกรมทาง ร้านเกี๊ยวเซี่ยงไฮ้จะอยู่ทางซ้ายมือ ตรงข้ามตามริมถนน ริมแม่น้ำโขงก็จะเป็นเพิงขายผลไม้จากจีน เช่น แอปเปิล สาลี ฯ ซึ่งราคาจะถูกมาก เพราะเป็นแหล่งขนผลไม้เหล่านี้เข้ามาขายในกรุงเทพ ฯ และจังหวัดอื่น ๆ ร้านเกี๊ยวเซี่ยงไฮ้ ก็มีเกี๊ยว บะหมี่ ขนมจีบ ซึ่งเขาจะเริ่มจีบ เริ่มนึ่งเมื่อเราสั่งจึงจะช้าหน่อย ซดเกี๊ยวเซี่ยงไฮ้ก่อน และในรังถึงนั่งร้อน ๆ ของเขาก็มีอาหารอย่างเช่น หมูยูนาน สั่งมากินกับข้าวได้ หรือจะสั่งเซี่ยงจี๋ผัดกับหินร้อน ที่เอาหินร้อนใส่ในอ่างน้ำมัน ความร้อนจากหินจะไปผัดเซี่ยงจี๋ที่ใส่ลงไปจนสุกพอดี เอาตะเกียบคีบพุ้ยข้าวสวนร้อน ๆ ตามไปอร่อยนัก
            จากเชียงแสน ผมไปยังดอยตุง โดยวิ่งย้อนกลับมาทางอำเภอแม่จัน ซึ่งความจริงแล้วยังมีเส้นทางที่เลาะเลียบริมโขง จากหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสนไปอีก ๓๗ กิโลเมตร ก็จะถึงสบรวกหรือสามเหลี่ยมทองคำ หากมาเส้นนี้อย่าลืมแวะชมพิพิธภัณฑ์ฝิ่น แต่ผมไม่ได้มาเพราะผมจะไปซื้อ "ส้มเวียงเชียงรุ้ง" ที่ประมาณกิโลเมตร ๑๓ - ๑๔ ของถนนสายเชียงแสน - แม่จัน (สาย ๑๐๑๖) ขากลับมาอยู่ซ้ายมือ ส้มสวนนี้เป็นส้มที่ได้พันธุ์ใหม่โดยพันธุ์เดิมคือ สายน้ำผึ้ง แต่ส้มสวนเวียงเชียงรุ้ง ที่ไม่ได้อยู่ตรงที่ตั้งแผงขายนี้ น่าจะผสมได้พันธุ์ใหม่ ส้มจึงหวานมาก ผิวบาง ไม่ติด เปลือก และชาวเชียงรายเองก็ไม่ค่อยได้กิน เพราะเขาส่งขายที่กรุงเทพ ฯ หมด ผมเคยได้ชิมเมื่อเจ้าของรีสอร์ท เคียงดอย ที่เชียงราย ซื้อมาให้ผมชิม ชิมแล้วก็ติดใจแต่หาซื้อไม่ได้ จนวันนี้ผ่านมาเชียงแสนจะไปดอยตุงเข้า จึงลงทุนวิ่งกลับมาซื้อส้มเวียงเชียงรุ้ง ส่วนคณะพรรคให้นำขบวนคาราวานไปรอผมที่พระตำหนักดอยตุง โดยพวกเขาจะไปทางสบรวก และไปเที่ยวอำเภอแม่สาย หากเราไปซื้อสินค้าที่แม่สาย ที่ตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ ต้องตาดี ๆ เลือกของเก่ง ๆ และรู้ราคาพอสมควร มิฉะนั้นจะเหมือนผมที่ซื้อนาฬิกาปลุกเรือนละ ๑๘ บาท ขนซื้อมาหอบโต จะเอามาแจก ปรากฏว่า นาฬิกาเรือนสวยกล่องสวย ปลุกให้ฟังได้โดยใช้มือหมุนเข็ม แต่ให้ปลุกเอง ปลุกไม่ได้เพราะมัน "ไม่เดิน"
            ซื้อส้มเวียงเชียงรุ้งจนพอใจคือ ขนเอากลับกรุงเทพ ฯ กินกลางทาง และเผื่อพรรคพวกที่ล่วงหน้าไปแล้ว ซื้อส้มเวียงเชียงรุ้งแล้ว ก็วิ่งต่อมาถึงอำเภอแม่จัน ก็เลี้ยวเข้าถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าไปทางอำเภอแม่สาย พอถึงกิโลเมตร ๘๕๙.๕ จะมีทางแยกซ้ายตรงข้ามปั้มน้ำมัน ปตท. ขึ้นดอยแม่สลอง แต่ผมยังไม่ขึ้นไปเพราะ จะไปดอยตุงก่อน วิ่งเลยต่อไปอีกจนถึงกิโลเมตร ๘๗๐.๕ ก็จะมีทางแยกซ้ายขึ้นไปดอยตุง มีป้ายบอกว่าไปอำเภอแม่ฟ้าหลวง
            จากปากทางไปอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายไปยังอำเภอแม่ฟ้าหลวง และหากรถดีเชื่อมือ ก็จะลัดไปบรรจบกับถนนที่มาจากปากทางขึ้นดอยแม่สลอง ไปดอยแม่สลองได้ใกล้กว่าย้อนลงมา แต่ถนนแคบและชัน คดเคี้ยว

            จากปากทางมาดอยตุง ๑๕ กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าสวนสมเด็จย่า หรือสวนแม่ฟ้าหลวง จะถึงพระตำหนักดอยตุง และหากขึ้นต่อไปอีก ๒ กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าพระธาตุดอยตุง และหากต่อไปอีก ๙ กิโลเมตร ก็จะถึงดอยช้างมูบ ที่ตั้งของสวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง
            ผมไปเที่ยวสวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวงก่อนที่จะกลับลงมาเที่ยวสวนที่พระตำหนักดอยตุง หรือสวนแม่ฟ้าหลวง ส่วนสวนนี้ที่ดอยช้างมูบคือ สวนรุกขศาสตร์แม่ฟ้าหลวง ชื่อผิดกันแต่ผู้สร้าง ผู้ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาดอยตุงก็คือ "สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย" ด้วยมีพระราชกระแสรับสั่งกับราชเลขานุการในพระองค์ว่า จะไม่เสด็จไปปะทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีก ภายหลังที่มีพระชนมายุ ๙๐ พรรษาแล้ว และมีพระราชดำริที่จะสร้าง "บ้านดอยตุง" และการเสด็จมาประทับ จะต้องมีงานให้ทรงด้วย จึงพระราชกระแสว่า "ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง"
            ดอยช้างมูบคือ ป่าเสื่อมโทรมผืนแรกที่ทรงเริ่มการปลูกป่า ด้วยการชลอเอาต้นไม้ต้นโต ๆ มาปลุกเลยทีเดียว ซึ่งผมเห็นมาตั้งแต่ต้นตั้งแต่ผมยังปฏิบัติราชการในหน้าที่ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ ซึ่งมีท่านองค์มนตรี พอ.อ.พิจิตร  กุลละวนิชย์ เป็นผู้อำนวยการ โดยตำแหน่ง (ตำแหน่งหลักของท่านคือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก) ป่าที่สมเด็จย่า ฯ ให้ชลอเอาต้นไม้โต ๆ มาปลูกนั้น บัดนี้หาไม่เจอแล้วเพราะ กลายเป็นไม้ยืนต้น ใหญ่โต ไม่ต้องมีไม้มาล้อมพยุงเอาไว้ แข็งแรงทุกต้น และระหว่างต้นก็กลายเป็นป่าที่อุดมด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ไปหมดแล้ว เป็นป่าธรรมชาติอย่างแท้จริง
            จอดรถแล้ว ที่ลานจอดที่กว้างขวางมาก จอดฟรี เดินเข้าประตูสวน ซื้อบัตรผ่านคนละ ๕๐ บาท พอเข้าไปแล้วจะเดินลงสู่ฟื้นล่าง เหมือนเดินลงสวนสวรรค์เลยทีเดียว เอาแค่ได้ชมดอกกุหลาบพันปีก็งามเหลือล้นแล้ว โดยเฉพาะกุหลาบพันปีพม่าจะสีแดงสด เป็นพุ่มใหญ่มาก และเป็นพันธุ์ที่สมเด็จย่าทรงโปรด นอกจากนี้ยังมีต้นพญาเสือโคร่ง ไม้หัวที่ออกดอกทั้งปี เดินลัดเลาะไปตามทางเดินไหล่เขา ลงสู่ลานปิคนิค ศาลานั่งพักผ่อน ระเบียงชมวิว ซึ่งจะมองเห็นดินแดนฝั่งพม่า แม่น้ำโขง และยาวไปถึงฝั่งลาว เมื่อลงไปถึงลานหญ้าข้างล่างจะพบ "น้ำผุด" ที่มีชื่อว่า "น้ำพระทัย" อันหมายถึง น้ำพระทัยของสมเด็จย่า ที่หลั่งไหล ไม่มีวันจะเหือดแห้ง ประดุจน้ำที่ไหลจากยอดดอยลงสู่ที่ราบ ให้ความชุ่มชื้น ร่มเย็น
            จากดอยช้างมูบลงสู่พระธาตุดอยตุง เลี้ยวซ้ายเข้าไปนิดเดียว เพื่อนมัสการพระบรมธาตุ
            จากพระธาตุดอยตุงลงมสู่ทางแยกซ้ายเข้าสู่พระตำหนักดอยตุง ซึ่งหน้าพระตำหนักทางด้านซ้ายมีร้านอาหาร ซึ่งเป็นอาหารที่รสชาติใช้ได้ เรียกว่าหากไปชมดอยช้างมูบลงมา ก็พอดีได้เวลาอาหารกลางวัน ไม่ถึงขั้นชวนชิมแต่ก็แก้หิวได้อย่างดี
            ส่วนทางขวา หรือตรงข้ามร้านอาหารมีทางลงสู่สวนแม่ฟ้าหลวง หรือมักจะเรียกว่า สวนสมเด็จย่า มีห้องขายบัตรหากจะชมพระตำหนักด้วย ซื้อบัตรเหมาทั้งพระตำหนักและชมสวนได้เลย มีสุขาที่สะอาดเป็นสากล มีร้านขายของที่ระลึก ขายพันธุ์ไม้ ซึ่งบางครั้งจะมีกุหลาบพันปีจำหน่วยด้วย หากไม่มีและอยากได้กลับไป ต้องไปซื้อที่ตลาดคำเที่ยง เชียงใหม่ หรือที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้า ฯ  ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที้งสองแห่งนี้มีแน่นอน
            ในสวนแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รับรางวัลจาก พาต้า โกล์ด อะวอร์ด ของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคแปซิฟิค ในนามประเทศไทย ประเภทรางวัลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สวนนี้เป็นสวนไม้ดอก ไม้ประดับเมืองหนาว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕  บนพื้นที่ประมาณ ๑๒ ไร่ ต่อมาได้ขยายเป็น ๒๕ ไร่ ออกแบบให้ไม้ดอก ออกดอกงดงามตลอดปี ตลอดทั้ง ๓๖๕ วัน ไปฤดูไหนก็งามทุกภาค อากาศหนาวเย็นตลอดปี และเมื่อเดินไปก็จะผ่านแปลงไม้ดอก ไม้ประดับ ธารน้ำ น้ำตก น้ำพุ และสุดท้ายที่งามสุดพรรณาคือ ลานดอกไม้ และมีประติมากรรมเด็กต่อตัว ซึ่งสมเด็จย่าพระราชทานนามไว้ว่า "ความต่อเนื่อง" หมายถึง ทำอะไรต้องมีความต่อเนื่อง เป็นประติมากรรมของ คุณ มิเชียม ยิบอินซอย
            พระตำหนักดอยตุงเป็น "บ้านหลังแรก" ของสมเด็จพระศรีนครินทรทราบรมราชชนนี ที่สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทำพิธีลงเสาเอก ที่ทางเหนือเรียกว่า "พิธีปกเสาเฮือน" เมื่อ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ พระตำหนักดอยตุง ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนา กับพื้นบ้านของสวิตเซอร์แลนด์ และบ้านไม้ซุง ตัวอาคารมี ๒ ชั้น และชั้นลอย ภายในเพดานดาว ทำด้วยสนแกะสลักเป็นกลุ่มดาวรูปต่าง ๆ การตกแต่งภายในพระตำหนักส่วนใหญ่เป็นไม้ลัง ที่ใส่สินค้ามาจากต่างประเทศ และรอบตำหนักบานสะพรั่งไปด้วยไม้ดอกเมืองหนาว จุดเด่นที่สุดจะงดงามน่าจะได้แก่ ผนังเชิงบันได แกะสลักเป็นพยัญชนะไทย ราวบันไดเป็นลายเลขไทย และมีบทอาขยานภาษาไทย และสลักบนผนังในห้องโถงท้องพระโรง มีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จย่า มีภาพเขียนพระธาตุดอยตุงยามตะวันพลบ และภาพพระธาตุดอบตุงยามราตรี
            สมเด็จย่าได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดตั้งศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรภาพผู้ติดยาเสพติดขึ้น ที่บริเวณดอยผาหมี ปัจจุบันเป็น "ศูนย์ฝึกอาชีพผาหมี" ศูนย์นี้ไปตามเส้นทางสวนรุกขชาติ ฯ ที่จะลงไปยังอำเภอแม่สายคือ เส้นทางไปศูนย์ ฯ
            สวนสัตว์ดอยตุง  อยู่เหนือพระตำหนักดอยตุงขึ้นไปประมาณจุดชมวิวกิโลเมตร ๑๔ เป็นพระราชดำริของสมเด็จย่าในการฟื้นฟูป่า และได้นำสัตว์ที่เคยอยู่รอบบริเวณนี้มาเลี้ยง มาเพาะขยายพันธุ์ เช่น ไก่ฟ้า พญาลอ นกยูง หมี เกง กวาง เนื้อทราย และเปิดให้เข้าชมได้
            ผมลงจากดอยตุงเย็นแล้วประมาณ ๑๗.๐๐ เลยไม่เสี่ยงที่จะไปยังดอยแม่สลอง ตามเส้นทางลัดที่ผ่านไปทางอำเภอแม่ฟ้าหลวง เพราะ "ตา" ของผมหากเป็นเวลากลางวันขับรถ กรุงเทพ ฯ ยันแม่สายก็ขับไปได้ เมื่อยก็พักตอนเข้าสุขาตามปั้ม ง่วงจอดนอนทันที อย่าขับรถเร็วมาก หากไม่ผิดกฏจราจร ผมจะขับด้วยความเร็วเฉลี่ยเพียง ๑๐๐ กิโลเมตร ต่อชั่วโมง การขับความเร็วสม่ำเสมอ จะไม่ทำให้เมื่อยเร็ว และไม่เหนื่อยจึงไม่ต้องพักบ่อย ๆ คนขับรถเร็วขนาด ๑๔๐ กิโลเมตร ต่อชั่วโมงขึ้นไป รับรองว่าขับไกลยากที่ชนะผม
            ผมลงจากดอยตุง ลงสู่ถนนพหลโยธินที่ประมาณกิโลเมตร ๘๗๐.๕ จึงจะถึงที่พัก แต่พอขับได้นิดเดียวก็มืดสนิท ต้องขับฝ่าความมืดขึ้นไปจนถึงหมู่บ้านสันติคีรี หากเป็นเวลากลางวันจะผ่านไร่ชา ๑๐๑ ไร่นี้กว้างขวางใหญ่โตมีชงชาจีนให้ชิม มีซาละเปาอร่อย ๆ ขายด้วย ชิมแล้วยกนิ้วให้ เลยไร่ชา  ๑๐๑ ไปหน่อยก็จะเข้าเขตหมู่บ้านที่ปลูกบ้านส่วนใหญ่แบบชาจีนในชนบทของจีน เดี๋ยวนี้มีมากทั้งร้านค้า ร้านใบชา ที่พักรีสอร์ทมากมาย แต่ผมเคยพักอยู่เพียง ๓ แห่ง คือ ที่แม่สลองวิลล่า และคุ้มนายพล ส่วนอีกแห่งจำชื่อไม่ได้เพราะพักตั้งแต่ ๒ แห่งแรกนั้นยังไม่ได้ตั้ง ขึ้นไปจนถึงทางแยก แยกขวาไปยังตลาดขายสินค้าที่ระลึก สินค้าต่าง ๆ ของดอยแม่สลองและบ้านเกรียงศักดิ์ (หมายถึง บ้านที่ชาวจีนปลูกให้ พลเอก เกรียงศักดิ์  ชมะนันท์) หากแยกซ้ายจะไปจนถึงธนาคารทหารไทย อยู่ทางซ้าย คุ้มนายพลอยู่ทางขวา และหากเป็นตอนเช้าก็จะเริ่มมีสินค้าชาวเขามาขายที่แผงหน้าคุ้มนายพล และหากเดินเลยต่อไปก็จะถึงย่านขายสินค้า ที่จัดแบบตลาดนัดไม่ไกลจากคุ้มนายพล เลยจากตลาดนัดไปจนถึงโรงเรียน จะมีทางแยกขวาขึ้นไปยังพระธาตุศรีนครินทร์ ขอให้ไปนมัสการให้ได้ และควรไปเที่ยวตอนกลับ เพราะลงมาแล้วก็เลี้ยวขวาไปออกถนนที่มาจากอำเภอแม่อาย ไปอำเภอแม่จัน กลับลงจากดอยแม่สลองไปได้เลย ส่วนบนดอยที่เป็นร้านคุ้มนายพลนี้ ด้านหน้าคือห้องอาหารคุ้มนายพล ไม่จำหน่ายสุรา และเบียร์ต้องหิ้วขึ้นไปเอง มีโซดา น้ำแข็ง และมีโรงแรม ส่วนด้านหลังมีบังกาโล ที่พักเข้ากับธรรมชาติพักสบาย เลยไปตามถนนที่ขึ้นสู่สุสานนายพลต้วน มีบ้านนายพลต้วน เรียกว่า คุ้มนายพล และหากเป็นเดือนมกราคม - กุมภาาพันธ์ ดอกซากุระสีชมพูจะบานสองฝั่งถนนงามนัก
            กองพล ๙๓ มีความเป็นมาโดยย่อดังนี้
            เริ่มตั้งแต่  จีนล้มล้างระบบการปกครองที่มีกษัตริย์ (ฮ่องเต้) มาเป็นการปกครองด้วยระบบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และถูกล้มล้างจากประชาธิปไตร มาเป็นการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้สู้รบจนขับไล่ฝ่ายประชาธิปไตร ที่นำโดย จอมพล เจียงไคเช็ค ต้องหนีข้ามทะเลไปยังเกาะฟอร์โมซา หรือ เกาะไต้หวัน โดยไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๒ พร้อมด้วยกำลังบางส่วนของกรมที่ ๑๙๓ กองพลที่ ๒๖ กองทัพภาคที่ ๘ ของนายพล หลี หมี ได้หลบมาตั้งอยู่ที่บ้างฮ่องลึก ซึ่งเป็นช่องทางที่ท่าขี้เหล็กในฝั่งพม่า และแม่สายในฝั่งไทย
            พ.ศ.๒๔๙๓  กองกำลังทหารพม่า ได้เข้าโจมตีขับไล่ทหารจีน จึงย้ายไปตั้งที่เมืองสาดของพม่า
            พ.ศ.๒๔๙๓ - ๒๔๙๗  นายพล หลี หมี สร้างเสริมกำลังที่เมืองสาด ได้กำลังสมทบจากจีนอพยพ จนมีกำลังเพิ่มเป็นประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน ถึงขั้นมีขีดความสามารถส่งกำลังไปโจมตีจีนคอมมิวนิสต์ได้
            พ.ศ.๒๔๙๖  พม่าได้ร้องเรียนต่อสหประชาชาติ ขอให้จีนอพยพเหล่านี้อกกไป สหประชาชาติลงมติให้อพยพจีนพวกนี้ออกไป โดยผ่านทางประเทศไทย แต่พวกจีนชาติเหล่านี้ยอมกลับไปเพียง ๗,๗๘๕ คน ที่เหลือขออยู่ต่อสู้ต่อไป ซึ่งในการอพยพกลับครั้งนี้ พองพล ๙๓ ที่เรารู้จักกันดีนั้น อพยพกลับไปเกือบหมด คงเหลือแต่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูง และกำลังทหารของกองพล ๙๓ แท้ ๆ อีกไม่เกิน ๓๐๐ คน และกลับฟื้นคืนชีพตั้งขึ้นมาอีก ซึ่งความจริงกองพล ๙๓ แท้ ๆ ไม่มีแล้ว กองพลนี้จึงเป็นกองพบปีศาจที่ไม่รู้จักตาย
            กองพล ๙๓  กลับรวมกำลังกันขึ้นมาใหม่ แถมยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ตะวันตก (ของสหรัฐ) ที่สนับสนุนการส่งกำลังบำรุงให้ฟื้นตัว เพื่อดึงไม่ให้ทหารจีนคอมมิวนิสต์ ส่งกำลังไปช่วยรบในสงครามเกาหลีมากขึ้น กองทหารจีนจึงย้ายไปตั้งที่มั่นใหม่ที่เมืองเชียงลับ จัดกำลังใหม่เป็นรูปหมู่กองทัพ มีกองทัพที่ ๑,๒,๔ กองทัพสำคัญที่จะมาเกี่ยวกับดอยแม่สลอง คือ กองทัพที่ ๓ ของนาพล หลี เหวิน ฝาน และกองทัพที่ ๕ ของนายพลต้วน ซี เหวิน
            พ.ศ.๒๕๐๓  ทหารพม่าได้เข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ทำสนธิสัญญากับจีนคอมมิวนิสต์ จนจีนคอมมิวนิสต์ส่งกำลังมาช่วยกวาดล้างถึง ๓ กองพล (ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน) จึงเป็นผลให้กองทหารที่เชียงลับแตกพ่าย
            พ.ศ.๒๕๐๔  พม่าได้ร้องเรียนองค์การสหประชาชาติอีกขอให้อพยพใหม่ จึงมีการถอนกำลัง และอพยพกองทัพที่ ๑,๒ และ ๔ กลับไปไต้หวัน เว้นกองทัพที่ ๓ และ ๕  ไม่ยอมกลับหนีเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย
            รัฐบาลไทยยินยอมให้อยู่ เพื่อเป็นกำลังกันชนตามแนวชายแดน และป้องกันการแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ กองทัพที่ ๓ อยู่ที่บ้านถ้ำง๊อบ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กองทัพที่ ๕ ของนายพล "ต้วน" คุมพื้นที่ตั้งแต่ บ้านหัวเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ยาวไปจนถึงดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งดอยแม่สลองนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพของนายพลต้วน
            ผมซึ่งปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับคำสั่งให้ส่งหนึ่งกองร้อยปืนใหญ่ ซึ่งเป็นปืนใหญ่กระบอกแรกออกไปปราบปราม ผกค. ที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย (ยังไม่ได้จัดตั้งจังหวัดพะเยา) เมื่อ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ และพอ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๑ ก็จัดส่งออกไปตั้งเป็นกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ ส่วนหน้า ซึ่งผมจะต้องออกไปคุมกำลัง คุมการปฏิบัติการด้วยตนเอง
            พ.ศ.๒๕๑๓ เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น (ตอนนี้ผมถูกส่งให้ไปเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ รบในเวียดนามแล้ว) ทาง บก.ทหารสูงสุด จัดตั้ง บก.ส่วนหน้า เพื่อช่วยเหลือให้ที่อยู่อาศัยแก่พวกจีนชาติให้อยู่อย่างถูกกฏหมายในเมืองไทยมากขึ้น และในปีนี้ได้ให้ทหารจีนชาติหรืออดีตกองพล ๙๓ (ส่วนน้อย) จัดกำลังไปรบกับ ผกค. และเคลื่อนย้ายกำลังเข้าสู่ดอยหลวง ดอยยาว ดอยผาหม่น ตามเส้นทางถนนเทิง - เชียงของ (กองพันทหารปืนใหญ่ ของผมสนับสนุนการรบในพื้นที่อำเภอเทิง - เชียงของ และเชียงคำ) ทหารจีนชาติสามารถรุกจนยึดที่มั่นใหญ่ดอยดินขาวได้ และกวาดล้างอิทธิพลบนดอยหลวง ดอยยาว ดอยผาหม่นได้สำเร็จสิ้นในปี ๒๕๑๗ และจัดตั้งหมู่บ้านแม่แอบ และบ้านผาตั้ง (ใกล้ ๆ กับภูชี้ฟ้า) ส่วนกำลังของกองทัพภาคที่ ๓ เดิมทางถ้ำง๊อบ ก็จัดกำลังเป็นกองกำลังอาสาสมัครในปี พ.ศ.๒๕๒๔ เข้ารุกกับกองทัพภาคที่ ๓ ในการเข้าตีฐาน ผกค. บนเขาค้อ จนประสบความสำเร็จ และได้สร้างอนุสาวรีย์เล็ก ๆ ไว้บนเขาค้อ
            จากผลงานทำให้รัฐบาลไทยยินยอมให้สัญชาติแก่กำลังจีนชาติเหล่านี้ ในโอกาสต่อมา จนในเวลานี้อดีตทหารจีนกองพล ๙๓ กลายเป็นคนไทย ถือสัญชาติไทยไปหมดแล้ว ไม่มีกองพล ๙๓ ในเมืองไทย
            ผมมีส่วนทำให้ จคม. ทางใต้ออกมอบตัว ๒ ครั้งในปี ๒๕๓๐ รวมกำลังพล ๖๔๔ คน สัญญาที่ผมให้เขาไว้จะช่วยให้เขาได้สัญชาติไทย ๑๔ ปีผ่านไป ครม.อนุมัติให้เมื่อ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๕ แต่กระทรวงมหาดไทยยังไม่ดำเนินการต่อไป นายพลต้วนผู้นำทัพ ๕ ตายไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ตายอย่างตาหลับ เพราะแกช่วยลูกน้องแกได้หมด แต่นายจางจงหมิง ขุนพล จคม. ตายเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ แต่ตาไม่ปิดสนิท เพราะแกห่วงลูกน้องของแกได้แต่ฝากผมไว้ ซึ่งผมก็อายุใกล้ร้อยเข้าไปทุกที
            จบประวัติกองพล ๙๓ ฉบับย่อสุด ๆ อยากทราบรายละเอียดแนะนำให้ซื้อหนังสือของ พ.อ.กาญจนะ ประกาศวุฒิสาร อดีตผู้ใต้บังคับบัฐชาของผมเอง คลุกคลีอยู่กับจีนชาตินานกว่า ๒๐ ปี เขียนหนังสือเรื่องทหารจีนก๊กมินตั๋ง ตกค้างทางภาคเหนือของประเทศไทย ต้องสั่งซื้อไปที่ ๒ ถนนสิงหราช ซอย ๑ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐ ราคาเล่มละ ๓๕๐ บาท หรือโทรถาม คุณกานต์ชนก ๐๑ ๖๗๑๕๖๗๖ จะได้รู้ละเอียด
            คุ้มนายพล ที่ห้องอาหารที่ผมนั่งกินกับคณะพรรพวก ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นของเดือนมกราคม แต่หากท่านจะตามไปตอนนี้ ตกค่ำก็หนาวเย็น ดอยตุง ดอยแม่สลอง ดอยอ่างขาง อย่าห่วงเย็นตลอดปี
            ขาหมู หมั่นดถว น้ำพะโล้ เข้ม บิหมั่นดถวร้อน ๆ จิ้มให้ชุ่ม แล้วตามด้วยขาหมู ๒ จาน ยังแย่งกัน
            เป็ดกรอบยูนนาน กรองทั้งตัวจบแล้วเหมือนแต่จานเปล่า
            กระเพาะปลาผัดแห้ง กินเล่น กินจริงอร่อยหมด ยิ่งเห็ดหอมที่ปลุกบนดอยนี้ สด หวานนัก สั่งให้เขาผัดน้ำมันหอยมา ๒ จาน (คนกิน ๑๐ คน สั่งเห็ดหอมอบซีอิ้วมาอีก ๒ จาน "ไม่เหลือ"
            สั่งมาปิดท้าย ยอดระมะหวานผัดน้ำมันหอยอีก ๒ จาน ร้อน ข้าวก็ร้อน เอาตะเกียบพุ้ยข้าว สนุกอร่อยนัก

....................................................................................



| บน |

กองพล ๙๓: ข้อมูลกองพล ๙๓ ท่องเที่ยวกองพล ๙๓ ข้อมูลเที่ยวกองพล ๙๓


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์