ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > พระธาตุแม่เจดีย์
 
วัดพระธาตุแม่เจดีย์
| ย้อนกลับ |

วัดพระธาตุแม่เจดีย์

            ผมเดินทางจากเชียงใหม่เพื่อจะไปยังอำเภอเวียงป่าเป้าปีละหลายครั้ง และได้ผ่านป้ายบอกทางเข้าวัดพระธาตุแม่เจดีย์ที่อยู่ทางซ้ายมือไม่ทราบว่ากี่ครั้ง ไม่ได้นับเอาไว้ ไม่รู้เลยว่าพระธาตุแม่เจดีย์นั้น เป็นพระธาตุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมานานแล้วและในปัจจุบันยังมีศูนย์สาธิตพุทธศาสนากับป่าไม้ที่ ๙ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดพระธาตุแม่เจดีย์อีกด้วย
            การเดินทางไปยังวัดพระธาตุแม่เจดีย์ หากเดินทางมาจากกรุงเทพ ฯ ไปได้ ๒ เส้นทาง เส้นทางแรก ไปผ่านจังหวัดลำปาง แจ้ห่ม วังเหนือ แล้วไปออกแม่ขจานย้อนกลับมาบ้านแม่เจดีย์
            เส้นทางที่สอง คือไปเชียงใหม่ก่อน เมื่อถึงเชียงใหม่แล้วก็ไปทางอำเภอดอยสะเก็ด ไปตามถนนสายดอยสะเก็ด - เชียงราย จะผ่านร้านขาหมูภูเก็ตที่อยู่บนเขาทางขวามือประมาณกิโลเมตร ๕๓ ต้องเลี้ยวขวาแล้วขึ้นเขาไปนิดหนึ่ง ผมเขียนชิมไว้นานหลายปีแล้ว จนเขาขยายร้านซึ่งเป็นเพิงออกไปเต็มยอดดอย และจะมาถึงทางเข้าวัดพระธาตุแม่เจดีย์ ที่ประมาณกิโลเมตร ๗๔.๕ ซึ่งในเส้นทางนี้จะเข้าสู่
            วัดพระธาตุแม่เจดีย์
            ศูนย์สาธิตพุทธศาสนากับป่าไม้ที่ ๙
            อ่างเก็บน้ำห้วยย่าคำมา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่งดงาม ยิ่งในฤดูหนาวจะสวยนัก
            ประวัติ ตำนานกล่าวว่า พระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์แห่งพุกาม ได้อัญเชิญพระไตรปิฎก พระบรมธาตุ และพระแก้วมรกต จากศรีลังกามายังพุกาม ระหว่างการเดินทางกลับ เรือสำเภาเกิดพลัดหลงไปยังอ่าวของกรุงกัมพูชา พระเจ้ากรุงกัมพูชาจึงยึดเรือเอาไว้ พระเจ้าอโนรธามังช่อได้ส่งฑูตไปขอคืน คงได้คืนมาแต่พระบรมสารีริกธาตุและพระไตรปิฎก ส่วนพระแก้วมรกตนั้นไม่ได้กลับคืนมา เมื่อเดินทางกลับมาจนถึงตำบลแม่เจดีย์ ในเขตเมืองเวียงป่าเป้า เมื่อ พ.ศ.๑๕๘๓ จึงโปรดให้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมธาตุ และพระไตรปิฎกไว้ ณ แห่งนี้ ตำนานเล่าไว้เพียงเท่านี้ แต่ภายในวัดพระธาตุแม่เจดีย์นั้นเมื่อขึ้นไปถึงแล้วจะเห็นมีอุโบสถหลังเล็ก ๆ อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งอุโบสถแบบนี้ผมชอลให้มีเพราะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง ไม่ฟุ่มเฟือย โอ่อ่าจนต้องรบกวนต่อฆราวาสให้ช่วยสร้าง ช่วยซ่อมกันเรื่อยไปเหมือนที่ปีนี้ ๒๕๔๕ หลังทอดผ้าป่าเมื่อเดือนกันยายนผ่านไปแล้ว (ต้องขอบคุณท่านผู้อำนวยการศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้) ก็จะเริ่มสร้างหลังคาหอสวดมนต์เอนกประสงค์คือ ใช้เป็นกุฏิของเจ้าอาวาสและพระสงฆ์ เป็นสถานที่อบรมธรรมะแก่นักเรียน เป็นหอสวดมนต์ เป็นหอฉัน เป็นสารพัดที่จะมีงานจะต้องใช้ ผมจึงเรียกว่าหอสวดมนต์เอนกประสงค์ และเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ แต่ได้เงินจากการทอดผ้าป่าไม่มากพอที่จะให้แล้วเสร็จทั้งหลังได้ ปีนี้ผมจึงทอดผ้าป่าอีกครั้ง ได้เงินมากพอที่จะสร้างหลังคาหอสวดมนต์เอนกประสงค์ของวัดทองเลื่อน ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง และจะรื้อหลังคาสังกะสีที่เป็นหลังคาโบสถ์ออก เพื่อเปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้องและทาสีโบสถ์เสียใหม่ให้งดงาม น่าเลื่อมใสศรัทธาและสมกับมีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์พระประธานในโบสถ์คือ "หลวงพ่อแดง"
            คุยกันเรื่องอุโบสถวัดพระธาตุแม่เจดีย์อยู่ดี ๆ เผลอหลุดไปจังหวัดอ่างทองขออภัย
            เมื่อผ่านหน้าอุโบสถไปแล้ว ก็จะมองเห็นองค์พระบรมธาตุเจดีย์อยู่ตรงหน้า งดงาม
            ลักษณะขององค์พระเจดีย์นั้นงดงาม แต่คงจะขาดการบูรณะใหญ่มานานแล้ว เป็นผลให้สีที่เป็นเสมือนความสะอาดนั้นลดน้อยลงไป หากได้บูรณะใหญ่สักครั้งก็คงจะดี
            ภายในวัดในเส้นทางที่จะเดินไปยังหลักอุโบสถได้นั้น มีศาลาประดิษฐานแม่นางพระธรณี ซึ่งการบูชาแม่นางพระธรณีนั้น อาจจะยังไม่ทราบกัน ต้องบูชาด้วยคาถา ๔ คำ ด้วยการตั้งนโมสามจบเสียก่อน แล้วบูชาด้วยคาถาว่า "เม กะ มุ อุ" กล่าวบูชา ๔ คาบ คาถานี้ผมได้มาจากพระอาจารย์องค์หนึ่ง ว่าเมื่อจะบูชาแม่นางพระธรณี ณ ตำบลใด แห่งใดก็ตามให้กล่าวคำบูชาว่า เม กะ มุ อุ ๔ ครั้ง แล้วจึงขอพรก็จะสมปรารถนา ผมก็เลยถือโอกาสเอามาบอกกล่าว ผู้ใดเกิดความศรัทธาในแม่นางพระธรณี ก็นำคาถานี้ไปบูชาได้ และวัดที่มีแม่นางพระธรณีให้เช่าบูชา เพราะสร้างไว้เป็นประจำจนมีชื่อเสียง ผมพบที่วัดเดียวคือ วัดพัฒนาธรรมาราม อยู่หน้าอำเภอ พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ใกล้จะถึงเทศกาลทุ่งดอกทานตะวันของจังหวัดลพบุรี และสระบุรี แล้ว (ลพบุรีมีมากในอำเภอพัฒนานิคม และอำเภอเมือง ฯ) ไปเที่ยวทุ่งทานตะวันลอง แวะเข้าไปที่ศาลาวัตถุมงคลของวัดพัฒนา ฯ ก็ได้ ที่น่าเช่าบูชาคือ หลวงพ่อเพชร และแม่นางพระธรณี
            และเมื่อเดินสูงขึ้นไปในทางเดินที่ร่มรื่นก็จะไปยังกุฏิเจ้าอาวาส แต่หากผ่านทางหลังโบสถ์ ซึ่งรถขึ้นไปได้ก็จะมีพระเจดีย์ที่ครูบาศรีวิชัยมาสร้างไว้ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๗ -  ๒๔๗๖ และคุ้มครูบาศรีวิชัยต้องเดินต่อไป
            จบการนมัสการพระบรมธาตุแล้ว ก็กลับลงมาที่ศูนย์สาธิตพุทธศาสนากับป่าไม้ที่ ๙ ผมอยากอธิบายสักเล็กน้อย ท่านที่ไม่ทราบจะได้ทราบเพราะใช้กันผิด ๆ เสมอ คือ การใช้เรียกโบสถ์นั้นเป็นภาษาสามัญเรียกกันทั่วไป แต่เมื่อเราจะเรียกให้ไพเราะเป็นภาษาราชการต้องระวัง ว่าพระอุโบสถนั้นต้องเป็นพระอารามหลวง เช่นวัดไชโยวรวิหาร อย่างนี้ โบสถ์คือพระอุโบสถ แต่หากเป็นโบสถ์วัดทองเลื่อนที่ผมทอดผ้าป่าในปีนี้ ต้องเรียกว่า อุโบสถ ใช้กันผิด ๆ นึกว่าเพื่อยกย่องโบสถ์หลังที่เรากำลังจะกล่าวถึงก็ไปใช้ว่า พระอุโบสถ ต้องใช้ให้ถูกต้องด้วย พระอารามหลวงจึงจะเป็นพระอุโบสถ
            อีกคำหนึ่งคือ พระธาตุ กับพระบรมสารีริกธาตุ ก็ใช้กันผิดเสมอ พระธาตุนั้นหมายถึง อัฐิ ของพระอรหันต์ที่แปรสภาพกลายเป็นพระธาตุแล้ว จะมีลักษณะเป็นเหมือนแก้วใส หากใครอยากเห็นชัด ๆ เพราะวางไว้ให้ชมได้ คือ อัฐิธาตุของ หลวงปู่มั่น แห่งวัดป่าสุทธาวาส ที่ อำเภอเมืองสกลนคร จะเห็นได้ชัดเจนว่า ที่กลายเป็นพระธาตุแล้ว ก็จะใสประดุจแก้วหรือเพชร แต่ที่กำลังจะกลายจะเห็นว่าครึ่งหนึ่งอาจจะใสแล้ว อีกครึ่งหนึ่งยังไม่ใส อัฐิของพระองค์ใดที่แปรสภาพได้อย่างนี้เรียกว่า พระธาตุ และพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุต้องเกิดเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งผมขอรับรอง เพราะเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ผมกับนายวิวัฒน์  พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพียง ๒ คน เป็นผู้เจรจากับโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา ให้เขาออกมามอบตัว เพียง ๒ คน ฝ่ายเขามากัน ๑ คันรถ เคราะห์ดีไม่ถูกพวกเขาฆ่าตายแบบผู้ว่า ฯ เชียงราย ผู้กำกับ ตำรวจและทหารใหญ่อีก ๒ คน ถูก ผกค.ลวงไปเจรจาแล้วฆ่าเสียเมื่อสัก ๓๐ ปีมาแล้ว ผมกับผู้ว่ายะลา และล่ามจากสันติบาลอีกคนหนึ่งที่เจรจาและประสบความสำเร็จในการนำโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา ออกจากป่าได้หมดตั้งแต่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๐ แต่น่าเสียดายที่ทางตำรวจยังขัดขวางการให้สัญชาติเขาอยู่ทั้ง ๆ ที่ผ่านไปแล้ว ๑๕ ปี อย่างไปจุดไฟใต้เพิ่มขึ้นอีกกองหนึ่งเลย
            ล่ามจากสันติบาลท่านนั้น เกิดชอบใจผมขึ้นมาก็ได้นำพระธาตุของพระอรหันต์  ไม่ทราบว่าขององค์ใดมามอบให้ในการพบกันในคราวต่อมา  ให้ผมคนเดียวไม่ได้ให้ท่านผู้ว่า ผมเก็บไว้อย่างดี ไว้บนหิ้งรพระ กราบไหว้บูชาเป็นประจำ และเปิดดูเสมอก็คงอยู่เท่าเดิมคือ ๒ องค์ แต่พอ ๔ ปีผ่านไป ไม่ได้เปิดดูนานแล้ว ไปเปิดดูปรากฏว่าองค์พระธาตุเพิ่มขึ้นคงจะเป็นร้อย และในปีนั้นผมก็ได้รับพระราชทานยศพลเอก และผมได้แบ่งไปประดิษฐานไว้ที่พระธาตุม่วงคำ ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า ที่ผมนำสร้างและบรรจุที่โมฬีของพระแก้วมรกต จำลองแต่มีขนาดเท่าองค์จริงซึ่งเช่าบูชามา ไม่ช้าองค์พระธาตุในโมฬีที่เปิดปิดได้นั้นก็มีพระธาตุเต็มอีก ต่อมาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ได้บอกผมว่ามนุษย์ธรรมดาจะมีบุญไม่ถึง องค์พระแก้วมรกต จำลองที่มีขนาดเท่าองค์จริง ให้นำมาให้นำไปถวายวัดที่เป็นพระอารามหลวงเสีย ผมเทียวหาวัดที่จะถวายอยู่หลายวัดที่รู้จักชอบพอกับท่านเจ้าอาวาส แต่ปรากฏว่าหาไม่ได้เลย จนอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาแนะว่าไปหาเจ้าคุณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่กันเถอะ พอไปหาเล่าให้ท่านฟังเท่านั้น ท่านบอกว่ากำลังอยากได้พระพุทธรูปสักองค์ เพื่อประดิษฐานระหว่าง พระประธานในพระอุโบสถกับโต๊ะหมู่บูชา มีคนถวายหลายคนแล้วไม่ชอบใจเลยยังไม่รับไว้ แต่พอฟังของผมท่านบอกนึกพอใจทันทีให้นำมาได้เลย ผมจึงนำบรรทุกรถยนต์ไปจากกรุงเทพ ฯ จัดพิธีรับที่พระอุโบสถ ก่อนจะมาเข้าวัดก็แห่รอบเมืองเสียก่อน และประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนที่ผมสร้างถวาย ขอจารึกชื่อไว้ที่ฐานด้านหลังนิดเดียว คนมาภายหลังจะได้ทราบประวัติ และตั้งแต่ไปประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดพระสิงห์ ฯ เสมือนท่านยิ้มได้ ผิดกับอยู่ในห้องพระที่บ้านของผม แต่ไปกราบเยี่ยมเวลานี้ผมไม่กล้าไปเปิดโมฬีดูว่าพระธาตุเพิ่มมากขึ้น จนล้นแล้วหรือยัง หรือใครควักเอาไปหมดแล้ว ไปวัดพระสิงห์ ฯ นั้นต้องทราบเสียก่อนว่า ที่เห็นข้างหน้าเมื่อเข้าประตูไปคือพระวิหาร ส่วนพระอุโบสถมีขนาดเล็ก ๆ อยู่ด้านหลัง และปกติไม่เปิดให้ใครเข้าไป นอกจากจะมีกิจกรรมทางศาสนา เช่น วันพระ เป็นต้น ไปกราบไหว้บูชาได้ครับ อย่าลืมว่าในอดีต เมื่อ ๔๐๐ กว่าปีมาแล้ว พระแก้วมรกตองค์นี้อยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่พระไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์ ๒ แผ่นดิน จะนำไปไว้ที่เวียงจันทน์ แต่บางตำนานบอกว่าผู้ที่นำไปคือ พระเจ้าโพธิสาร พระราชบิดาของพระเจ้าไชยเชษฐา ฯ นำไปตอนยกทัพมาส่งพระโอรสขึ้นครองเชียงใหม่ เอาไปทั้งพระแก้วมรกต พระแซกคำ แต่พอมาถึง พ.ศ.๒๓๑๘ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ยกทัพไปตีลาว เมื่อตีลาวได้แล้ว (ได้ทั้งประเทศ) ก็ยกทัพกลับมาพร้อมกับ พระแก้วมรกต พระสิงห์ และพระบาง (พระบางคืนกลับไปในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒)
            ดังนั้น เมื่อนำพระแก้วมรกตจำลองขนาดเท่าองค์จริงคือหน้าตัก ๑๙ นิ้ว ไปถวายไว้ที่พระอุโบสถ วัดพระสิงห์ ฯ น่าจะเป็นการดลบันดาลให้ไปถวาย ณ ที่วัดนี้ อาจจะมีเทวดาที่รักษาองค์พระพุทธรูปดลบันดาลให้เป็นไปก็ได้ เพราะผมไม่รู้จักท่านเจ้าคุณวัดพระสิงห์มาก่อนเลย ที่รู้จักสนิทสนมคือท่านเจ้าคุณวัดเจดีย์หลวง ซึ่งบัดนี้ท่านดำรงสมณศักดิ์เป็นชั้น รองสมเด็จ ฯ แล้ว
            ส่วนอัฐิของพระพุทธเจ้า จึงเรียกว่าพระบรมสารีริกธาตุ
            กลับมายังวัดพระธาตุบ้านเจดีย์ใหม่ เลาะ ๆ ออกนอกทางไปเสียยาว แต่ก็คงมีประโยชน์
            เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ พระครูไพบูลพัฒนาภิรักษ์ ได้เข้ามาปฏิบัติธรรม พัฒนาพื้นที่ ปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุแม่เจดีย์ และองค์พระธาตุของครุบาศรีวิชัย ให้มีสภาพคงเดิม สร้างเสนาสนะต่าง ๆ เช่น วิหาร ศาลาเอนกประสงค์ กุฏิ ฯ เป็นต้น และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การปลูกต้นไม้จนร่มเย็นไปทั่ว
            เมื่อกลับลงมาจากวัด ประมาณ ๕๐๐ เมตร มีทางแยกซ้าย เส้นทางนี้จะไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยย่าคำมา
            เมื่อไปตามเส้นทางนี้ประมาณ ๒ กิโลเมตร  ถนนลูกรังแต่รถวิ่งได้สบาย จะผ่านพื้นที่ของวัดที่เป็นภูเขาสูงชัน สภาพเดิมคือป่าเสื่อมโทรม เนื่องจากถูกบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย ต้นไม้ถูกตัดฟันไปทำประโยชน์ส่วนตัว เช่น เผาถ่าน สร้างที่อยู่อาศัย แต่บัดนี้ทางป่าไม้ร่วมกับทางวัด ร่วมกับการปิโตรเลียมและประชาชน ได้ทำนุบำรุงป่าให้เริ่มฟื้นสภาพ ดังนั้นเมื่อใกล้จะถึงอ่างเก็บน้ำจึงมีต้นไม้สวย ๆ ดอกบานบุรีสีม่วงนั้นสวยนักเพราะดอกใหญ่ บานชูช่ออยู่ริมอ่างเก็บน้ำ มีศาลาฝึกอบรมพระสงฆ์ เยาวชนทั้งทางธรรมะและป่าไม้ มีเรือนไม้ มีสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนาอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ และมีภาพตามธรรมชาติงาม ๆ ให้ถ่ายภาพกัน
            กรมป่าไม้ได้อนุมัติให้วัดพระธาตุเจดีย์ช่วยงานของกรมป่าไม้ได้ตั้งแต่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ป่าไม้ต้องการที่จะขยายศูนย์สาธิตพุทธศาสนากับป่าไม้ให้มี ๒๑ ศูนย์ ๒๑ เขต เวลานี้พึ่งมีเพียง ๘ ศูนย์ และศูนย์ที่วัดบ้านเจดีย์นี้คือศูนย์ที่ ๙ โดยได้จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้นมา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปูนน้อย ป่าแม่ปูนหลวง และป่าห้วยโป่งเหม็น สถานที่ตั้งคือบริเวณวัดพระธาตุแม่เจดีย์ ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่รับผิดชอบในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา
            ลักษณะของศูนย์นี้ เป็นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง ป่าไม้ พระ และประชาชน เพื่อป้องกันมิให้พระเข้าไปใช้พื้นที่ในป่าไม้โดยไม่ถูกต้อง การส่งเสริมให้พระช่วยงานด้านป่าไม้ร่วมกับศูนย์ ฯ
            กิจกรรมของศูนย์ คือการเผยแพรความรู้ด้านป่าไม้ ควบคู่กับด้านศีลธรรม ฝึกอบรม ร่วมมือกับพระส่งเสริมให้วัดหรือสำนักสงฆ์ดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ปรับปรุงให้เป็นแหล่งสมุนไพรแหล่งท่องเที่ยว ประสานงานแก้ไขปัญหาที่พักสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ และสำรวจข้อมูลด้านพระสงฆ์กับป่าไม้ เพราะหากพระบุกรุกป่าแล้ว จะแก้ไขยากมาก เพราะประชาชนจะร่วมด้วย ยิ่งมีหลวงพ่อ หลวงปู่ ที่ชาวบ้านนับถือเป็นผู้นำด้วยละก็ ยากนักที่จะให้ท่านถอนไปง่าย ๆ ซึ่งในข้ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้นั้น ผมขอเลยโดดข้ามไปนึกถึงวันแสนตุ่ม ที่จังหวัดตราด ที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ต้นใหญ่ ๆ และยังมีแท่งศิลาโบราณอยู่อีก ตอนที่ไปก็เห็นวัดรุกพื้นที่ป่าเข้ามาทุกทีแล้ว ยังห่วงว่าป่านนี้ไปโค่นต้นไม้ลงบ้างหรือเปล่า เพราะอยู่ในป่าแต่ไม่ทำบรรยากาศของวัดให้เป็นวัดป่า ผมเองก็พึ่งมีความรู้เมื่อได้มาทราบว่า ป่าไม้เขามีศูนย์สาธิตพุทธศาสนากับป่าไม้นี้แหละ
            ทีนี้ไปกินข้าว ผมไปชิมมื้อกลางวัน ถ้ามาจากเชียงใหม่ก็จะผ่านวัดพระธาตุแม่เจดีย์ไปก่อน ประมาณกิโลเมตร ๗๔.๕ ต่อไปก็จะผ่านชุมชนแม่ขจาน เลยไปนิดก็จะผ่านทางแยกขวาไปยังอำเภอวังเหนือ (มีน้ำตกวังแก้ว) ไปยัง จังหวัดพะเยาได้ แต่หากไม่เลี้ยวขวา ตรงต่อไปประมาณกิโลเมตร ๙๔ ก็จะถึงอำเภอเวียงป่าเป้า ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ ๆ มองทางขวามือไว้ดี ๆ ก่อนจะถึงที่ดินอำเภอเวียงป่าเป้า ก็จะเห็นร้านอาหารชื่อร้าน "เจือจันทร์" ยกป้ายไทยรัฐ และเชลล์ชวนชิมไว้ป้ายโตทีเดียว ดูเหมือนจะเอาชื่อของผมไปตีตราประกันความอร่อยไว้ด้วย ไม่ว่ากันเพราะชิมของเขาจริง หลายครั้งแล้วด้วยและอร่อยจริง
            จากร้านที่เหมือนใต้ถุนบ้านบ้านใต้ถุน นานหลายปีมาแล้วผมเขียนไว้ในหนังสือต่วยตูนคงร่วมสิบปี บัดนี้ร้านของเขากลายเป็นศาลาโถงกว้างขวาง สะอาดตา เย็นสบาย สุขาสะอาดสะอ้าน จอดรถสะดวก เรียกว่ามองแล้วเข้าตากรรมการทีเดียว ร้านเจือจันทร์ กินอาหารร้านนี้หากได้ไวน์โด่ไม่รู้ล้ม หรือไวน์กระชายดำของโรงงานเชียงรายไวน์เนอรี่ มาซดด้วยจะเข้ากันนัก
            โรงงานเชียงรายไวน์เนอรี่นั้น ทางเข้าอยู่ก่อนถึง อำเภอแม่สรวย เลยเวียงป่าเป้าไปประมาณกิโลเมตร ๑๒๑.๕  หรือที่กรุงเทพ ฯ เขาก็มีขาย ต้องโทรถามดูที่ โทร ๐๑ ๙๑๔๙๑๖๓ กรุงเทพ ฯ มีขายที่จัสโก้ฟู๊ดแลนด์ ทราบแค่นั้น ที่เผลอเอาเรื่องไวน์มาพูดเพราะเป็นไวน์สมุนไพร ให้ประโยชน์และผลิตโดยคนไทย ได้มาตรฐานทุกประการ โรงงานที่แม่สรวย ขอเข้าชมได้ ๐๕๓ ๙๕๐๒๕๗
            สั่งอาหารที่ร้านเจือจันทร์.-
            ไข่เจียวหมูสับ ซึ่งเข้ากันดีนักกับการดื่มไวน์กระชายดำ หรือไวน์ขาวโด่ไม่รู้ล้ม เขาจะทอดมาริมกรอบสีน่ากิน หอมฟุ้งมาแต่ไกลเลยทีเดียว
            แกงป่าปลาดุก หรือแกงป่าไก่ใส่ผักมาสารพัดผัก ทำให้น้ำแกงมีรสหวานเพราะผัก ใส่ผักลงไปแม้จะสุกแต่คงสีของผักไว้ ซดน้ำแกงป่าชื่นใจนัก จะราดข้าวแล้วตามด้วยไข่เจียว หรือกินข้าวกับไข่เจียวแล้วซดแกงป่าร้อน ๆ ตามก็วิเศษเช่นกัน
            ไส้หมูทอด ร้านนี้ทอดเก่งยังกับร้านอาหารจีน ไส้หมูทอดสุก กรอบนอกข้างในนุ่ม ไม่เกรียม จิ้มซี่อิ้วหวาน ไปหลายคนให้สั่งมาสัก ๒ จาน จะได้ไม่แย่งกัน
            ผมไปทีไรก็สั่งของเขาอยู่แค่นี้ อาหารอื่นเปิดเมนูสั่งเอา อร่อยแทบทุกอย่าง

----------------------------------


| ย้อนกลับ | บน |

พระธาตุแม่เจดีย์: ข้อมูลพระธาตุแม่เจดีย์ ท่องเที่ยวพระธาตุแม่เจดีย์ ข้อมูลเที่ยวพระธาตุแม่เจดีย์


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์