แม่น้ำเพชร
ล่องเรือแม่น้ำเพชร
ผมพาท่านผู้อ่านไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ไปเขาพะเนินทุ่ง
ไปชมทะเลหมอก (มีตลอดปี) ไปดูผีเสื้อมาแล้ว แต่โชคไม่ดีแทนที่จะพบผีเสื้อนับพัน
กลับพบไม่กี่ตัวเป็นเพราะไปในปลายฝนต้นหนาว และยังมีฝนตกอยู่ผีเสื้อเลยไม่ออกมาให้ชม
ต้องฤดูแล้งเช่นปลายเดือนมีนาคม, เดือนเมษายน หรือต้นพฤษภาคม พอฝนตกสัก ๒
- ๓ ครั้ง ผีเสื้อเริ่มฟักตัว พอเป็นตัวก็จะออกมาโชว์ตามแหล่งชุ่มชื้นหรือตามโป่งดิน
(ดินเค็ม) ที่ชุ่มชื้น และจะเริ่มออกมาตอนแดดเริ่มสาดแสงแดงจ้า แต่หากกลางคืนฝนตกก็ไม่ออกมาให้ชมอีก
เอาใจยาก สถานที่ชมผีเสื้อจำนวนมากนับพันอย่างนี้ผมพยายามตามชม มีอยู่ ๒ แห่ง
ที่รถเข้าได้สะดวกคือ อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
จังหวัดเพชรบุรี
ปีนี้พอต้นเดือนเมษายน ผมไปใหม่แต่เนื่องจากไปเขียนไปเล่าเอาไว้มาก คณะลูกทัวร์เจ้าประจำของผมซึ่งก็คือ ครอบครัวของเพื่อนเลขา
ฯ ประจำตัวผมนั่นแหละ ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะผมยังไม่คิดเพิ่มอาชีพไปทำทัวร์ และก็ไม่รับจัดให้ใครด้วย
จัดให้คณะเดียวซึ่งผมเสียสตางค์เท่าทุกคน และเป็นทุกตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการ
ฯ (เว้นผู้จัดการเก็บสตางค์ไม่เป็น) จัดรายการ จัดโปรแกรม จัดสถานที่ท่องเที่ยว
จัดอาหาร รวมทั้งเป็นไกด์ด้วยเสร็จ บางทีก็เป็นเด็กท้ายรถไปด้วย
เที่ยวนี้ตั้งใจว่าจะไปล่องเรือในแม่น้ำเพชรที่ลือกันว่างามนัก (ไม่ใช่ล่องแก่ง
เพราะไม่มีแก่ง) ไปขึ้นเขาพะเนินทุ่งไปชมทะเลหมอก ไปจิบกาแฟ กินอาหารเช้าบนยอดเขาที่สูงกว่าพันเมตร
(ยอดพะเนินทุ่งสูง ๑,๒๐๗ เมตร) ชมพรรณไม้แปลก ๆ โชคดีจะได้พบปูภูเขา ตุ๊กแกบินและเต่าหกขา
ไปดูนก ไปดูฝูงผีเสื้อ ชมเกาะแก่งในทะเลสาบแก่งกระจานที่มีอาณาบริเวณประมาณ
๔๕ ตร.กม. ชมพระอาทิตย์ตกที่งามนัก ตกลับเหลี่ยมเขา ไม่มีที่ใดจะงามเท่า และสุดท้ายไปกินอาหารอร่อยที่แก่งกระจานคันทรี่
แอนด์ รีสอร์ท
ไปกันหลายคน เลยต้องไปรถทัวร์ที่นั่งได้สัก ๔๐ คน แต่คณะที่ไปมีเพียง ๒๑ คน
จึงนั่งไปนอนไปบ้างยังได้ รถออกจากหน้าสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แถว ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เข้าไปจอดได้เพราะนายกสมาคมก็รุ่นเดียวกับเลขา ฯ ของผม ขับรถไปแล้วจอดรถทิ้งเอาไว้
ขึ้นรถทัวร์ ออกจากต้นทางเวลา ๐๗.๓๐ พอขึ้นทางด่วนได้ก็เร็ว ข้ามสะพานพระรามเก้าไปลงพระราม
๒ หรือถนนล้านปีตามที่ผมตั้งชื่อให้ เพราะสร้างไม่เสร็จสักที ถึงเพชรบุรีประมาณ
๑๐.๐๐ ยังไม่ถึงเวลาอาหารกลางวัน เลยพาไปเที่ยวพระรามราชนิเวศน์ แล้วจึงกลับมากินอาหารกลางวันที่ร้านน่ำเทียนเจ้าเก่า
พระรามราชนิเวศน์หรือพระราชวังบ้านปืน
เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อแปรพระราชฐานมาประทับในฤดูฝน
เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ร.๕ เสด็จสวรรคตเสียก่อน พอรัชกาลที่ ๖ ขึ้นครองราชย์
ก็โปรดให้สร้างต่อ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ มีพระราชประสงค์ให้ " พระที่นั่งศรเพชรปราสาท"
เป็นอาคารแบบยุโรป จึงโปรด ฯ ให้นายช่างที่ออกแบบคือ สถาปนิกชาวเยอรมัน "นายคารล์
ดอห์ริ่ง" ซึ่งเคยรับราชการในกรมรถไฟมาก่อน ดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง
เมื่อมีพระประสงค์ให้พระที่นั่งเป็นพระราชวังแบบยุโรป ที่กำลังนิยมของเยอรมันในสมัยนั้นคือ
แบบบาโรก ( Baroqe) และแบบอาร์ต บู โว ( Art Nouveau) นายช่างจึงเลือกผู้ร่วมงาน
วิศวกร และมัณฑาการ เป็นชาวเยอรมันทั้งสิ้น การก่อสร้างที่ต่อเนื่องถึง ๒
รัชกาล จึงสร้างแล้วเสร็จเพียงองค์พระที่นั่งศรเพชรปราสาทเท่านั้น แต่ก็นิยมเรียกกันว่า
พระราชวังบ้านปืน ตามชื่อท้องถิ่น มากกว่าชื่ออื่น
เส้นทาง เมื่อถึงเมืองเพชรบุรีจะไปได้ ๒ เส้นทาง เส้นทางแรกคือ เข้าถนนเลี่ยงเมืองที่จะออกไปชะอำ
เมื่อผ่านโรงพยาบาลเพชรรัตน์แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าถนนดำรงรักษ์ (มีป้ายบอกทาง)
ตรงไปประมาณ ๒ กม. แล้วเลี้ยวขวา แล้วเลี้ยวซ้ายอีกที เข้าทางประตูข้างขวา
เส้นทางที่ ๒ ไม่เข้าถนนเลี่ยงเมือง วิ่งไปจนชนสามแยก (ตรงหน้าคือ ศาลหลักเมือง)
แล้วเลี้ยวขวาผ่านเชิงเขาวัง เลี้ยวซ้ายอีกที วิ่งไปจนถึงสี่แยกเลี้ยวขวา
วิ่งเรื่อยไปจนผ่านหน้ากองรักษาการณ์ของจังหวัดทหารบกราชบุรี ทางนี้ไม่อนุญาตให้เข้า
(ทหารบกดูแลพระราชวังนี้ เพราะทหารเข้าไปตั้งหน่วยอยู่ในเขตพระราชวังมานานแล้ว)
เลยไปแล้วเลี้ยวซ้ายไปเข้าประตูข้างรับบัตร ไปจอดที่ลาน ไปที่ประชาสัมพันธ์
ซื้อบัตรเข้าชมคนละ ๒๐ คน (งบซ่อม บำรุงไม่มีให้ทหารต้องดูแลเอง) พระที่นั่ง
ฯ ได้รับการบูรณะและตกแต่งอย่างดีเยี่ยม น่าจะเป็นพระราชวังแห่งเดียวที่เป็นแบบยุโรป
และเยอรมันด้วยอย่างเต็มตัว งดงามยิ่งนัก ตัวอาคารเป็นห้องโถงกลมชั้นล่าง
บันไดเวียนคู่ ห้องโถงกลมชั้นบน ห้องรอเฝ้า ห้องท้องพระโรง ห้องทรงพระอักษร
(ยังมีโต๊ะทรงพระอักษรตั้งอยู่) ห้องบรรทมพระราชินี ห้องบรรทมพระเจ้าอยู่หัว
ห้องบรรทมพระราชโอรส - พระราชธิดา (เป็นความมุ่งหมายให้มีห้องนี้ ตั้งแต่เริ่มสร้าง
เพราะ ร.๖ ไม่มีพระราชโอรส มีแต่พระราชธิดาพระองค์เดียว) ห้องสรง ซึ่งงดงามมาก
เพราะมีสระน้ำเล็กๆ (ว่ายไม่ได้) มีอ่างอาบน้ำและสุขาที่เป็นสากล มีพระบรมรูปของ
ร.๕ และ ร.๖ อยู่ชั้นบน (เดิมผมเคยเห็นอยู่ที่ลานวงกลม ข้างบันได ขึ้น - ลง)
และลานหน้าพระที่นั่ง ประดิษฐานพระบรมรูปพระปิยมหาราช ทั้งสี่ทิศตั้งปืนใหญ่ล้อมพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้
ไว้ด้วยปืนใหญ่ ๔ กระบอกคือ รามสูรขว้างขวาน ยมบาลจับสัตว์ ลอยชายเข้าวัง
และกำลังเพชรหึง ไปถึงถวายบังคมพระบรมรูป ร.๕ และเมื่อขึ้นไปก็ไปถวายบังคลพระบรมรูป
ร.๕ และ ร.๖ ดอกไม้ ธูปเทียน มีขายข้าง ๆ ประชาสัมพันธ์
จบการชมพระราชวังบ้านปืน ก็กลับมาทางเขาวังใหม่ เลี้ยวไปทางจะกลับไปกรุงเทพ
ฯ แล้วเลี้ยวซ้ายเมื่อเลย ธ.กรุงไทย ไปกินอาหารร้านที่ชิมกันมานานกว่า ๔๐
ปี (ร้านเขาตั้งมานานเกิน ๕๐ ปี เดิมอยู่ข้าง ๆ ตลาดสด) สั่งกระเพาะปลาน้ำแดง
ลูกชิ้นกุ้งผัดผักโสภณ แฮ่กึ้น โกยซีหมี่ ข้าวผัดปู แล้วปิดท้ายด้วยเต้าฮวย
นมสด เจ้านี้เป็นต้นตำรับเลยทีเดียว ความอร่อยคงที่
กลับมาเข้าถนนบายพาส ไปออกถนนเพชรเกษมวิ่งไปพอถึงสี่แยก อ.ท่ายาง ก็เลี้ยวขวาผ่านตลอด
ไปจนถึงเขื่อนเพชร เลี้ยวขวาไปทางอำเภอแก่งกระจาน จนถึง กม.๒๐.๕ ทางซ้ายมือ
คือ ที่พักและห้องอาหารชั้นหนึ่ง เขาจัดแพคเกจให้เราเพื่อไปล่องแม่น้ำและไปเขาพะเนินทุ่งให้พร้อม
ราคาไม่แน่นอน คณะผมซื้อแพคเกจ ตอนงานสัปดาห์ท่องเที่ยว ได้ราคาลดคนละ ๑,๔๐๐
บาท ปกติคงจะแพงกว่านี้ ราคานี้รวมที่พักห้องละ ๒ คน อาหาร ๓ มื้อ มื้อสุดเด็ดคือ
มื้อเที่ยงวันกลับ และมื้อเช้าที่ซดกาแฟร้อน กินแซนวิช บนยอดเขาพะเนินทุ่ง
ค่าล่องแพ ค่ารถขึ้นเขาพะเนินทุ่ง
เมื่อเข้าที่พักแล้ว เปลี่ยนเป็นชุดขาสั้นเพื่อไปลงเรือยาง นั่งรถไปยังท่าเรือประมาณ
๔ กม. เขามีรถพาไป หรือจะเอารถของเราไปเองก็ได้ ลงเรือหรือแพยาง (ไม่ต้องจ่ายเงินอีก)
ล่องไปตามลำน้ำเพชร ซึ่งลำน้ำช่วงนี้คือ ตอนต้นน้ำที่ไหลออกมาจากเขื่อนแก่งกระจาน
ต้นน้ำจริง ๆ นั้นอยู่ทางตะวันตกของทะเลสาบแก่งกระจานคือ เทือกเขาตะนาวศรี
ที่กั้นชายแดนไทย - พม่า ไหลมาจนเป็นผลให้เกิดแม่น้ำเพชร ส่วนทางเขาพะเนินทุ่ง
ก็ทำให้เกิดแม่น้ำปราณบุรี ก่อนลงแพยางที่นั่งได้ร่วมสิบคน ก็ใส่เสื้อชูชีพเสียก่อน
ทางแพเขามีเจ้าหน้าที่พายหัวและพายท้ายให้เรียกว่า คอยคัดหัว ท้ายให้ เพราะน้ำไหลค่อนข้างเชี่ยวอยู่แล้ว
ล่องแม่น้ำได้ตลอดปี น้ำจะไหลแรงมาก หรือน้อยเท่านั้น น้ำลึก พื้นน้ำสีเขียวใส
สะอาด ส่วนตอนที่เป็นน้ำตื้น พื้นน้ำจะใสจนมองเห็นเป็นพื้นกรวด น้ำจึงใสมาก
ตลอดสองข้างทาง ธรรมชาติสวยมาก สองฝั่งร่มรื่นไปด้วยไม้น้อยใหญ่ ไม้แปลก ๆ
ต้นโต ๆ ที่หาชมได้ยาก คนประจำแพเขาจะคอยอธิบายให้ทราบ และมาล่องแพจึงได้เห็นว่ารีสอร์ทสองฟากฝั่งน้ำ
มีมากมายคงจะเป็นร้อยรีสอร์ท มีตั้งแต่ก่อนลงแพ และเรื่อยมาตามสองฝั่งของแม่น้ำ
เห็นแล้วน่าเที่ยว มาล่องแพจริง ๆ
อากาศในแม่น้ำเย็นสบาย
บางรีสอร์ทมีเครื่องเล่น เช่น เชือกที่ขึงระหว่าง ๒ ฝั่งแม่น้ำ ให้นักเล่นน้ำได้ห้อยโหนกัน
หรือลอยตามกระแสน้ำแล้วไปขึ้นฝั่งเดินกลับมา มีรอกให้โหนข้ามแม่น้ำได้ น่าสนุก
เสียดายผมหมดวัยที่จะไปโหนรอกข้ามแม่น้ำเสียแล้ว ไม่งั้นคงได้ไปโหนกับเขาบ้าง
ทัวร์ ส.ว. คณะนี้จึงของดการเล่นผาดโผนทั้งหลาย รวมทั้งลงเล่นน้ำ เอาแค่ชมนก
ชมไม้ ชมปลา (จะเห็นเป็นบางจุด) ชมรีสอร์ท แค่นี้ก็คุ้มค่า และเป็นบุญตาแล้ว
การล่องแพระยะทางประมาณ ๗ - ๘ กม. ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ ๆ เหมาะสำหรับ
ส.ว. แต่หากหนุ่มสาวเขาก็จะมีจุดให้ลงน้ำ ลงเล่นต่าง ๆ ได้ หรือแค่ว่ายน้ำตามแพ
นำหน้าแพก็สนุกแล้ว จบการล่องแพตามลำน้ำเพชรสำหรับ ส.ว. จากนั้น แพก็จะส่งขึ้นที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง
ที่รถของเรามารับ
อาหารเย็น เขาจัดสถานที่ให้เป็นพิเศษ เพราะผู้จัดการรู้จักชื่อแล้ว แต่ตอนจองมาใช้ชื่อคนอื่น
เพราะไม่อยากให้ไปยุ่งกับเขา ใช้สิทธิ์แบบคณะทั่วไปเขามีสิทธิ์กัน แต่พอพบหน้าเขาก็เรียกท่านโอภาส
ไม่รู้ว่าเป็นคณะของท่าน (จ่ายสตางค์เรียบร้อยตั้งแต่ซื้อแพคเกจในงานแล้ว)
ขอบริการให้พิเศษ เพราะในห้องอาหารมีคณะวัยรุ่น เขามีดนตรีมาเล่นด้วย เกรงจะรบกวนคนแก่
(ที่ชอบร้องเพลง) จึงจัดศาลาที่ใช้เป็นห้องประชุมให้ และไม่ไกลจากบ้านพักอยู่ริมสระน้ำ
จัดอาหารเปลี่ยนที่นั่งโต๊ะกลม มาเป็นแบบบุฟเฟต์ แถมจัดคาราโอเกะให้ด้วย
เช้าวันรุ่งขึ้น ต้องตื่นเวลา ๐๔.๐๐ ออกเดินทางโดยรถที่เขาจ้างมาพิเศษอีก
๓ คัน คันผมคราวก่อนลูกขับ คราวนี้พ่อมาขับเอง เขามีรถ ๓ คัน คันพ่อปกติชำนาญเรื่องพาฝรั่งหรือนักดูนกไปชมนก
จากที่พักถึงยอดเขาพนมทุ่งประมาณ ๖๐ กม.เศษ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง ผ่านดังนี้
ด่านเข้าอุทยาน
เดี๋ยวนี้ไม่ต้องขอล่วงหน้า มาจ่ายคนละ ๒๐ บาท (ทัวร์จ่าย) กันที่นี่เริ่ม
กม.๑
แคมป์บ้านกร่าง
ประมาณ กม.๑๕ มีห้องสุขา มีพื้นที่กางเต็นท์นอน มีโป่งเทียมให้ชมผีเสื้อ
แคมป์พะเนินทุ่ง
ประมาณ กม.๓๐ มีบ้านพักเจ้าหน้าที่ มีร้านอาหารขายเสาร์อาทิตย์ หรือตามสั่งจอง
มีห้องสุขา พื้นที่สวย อยู่สูง ใกล้ยอดเขาแล้ว มีพื้นที่กางเต็นท์ และให้เช่าเต็นท์
กม.๓๐ จุดชมวิว
มีห้องสุขา มีลานชมวิว ชมหมอกยามเช้า
กม.๓๖ จุดชมวิว
ที่ทัวร์คณะนี้จะพาไป ทัวร์ทั่วไปจะพามาแค่ กม.๓๐ หากมาวันปีใหม่ หรือหยุดยาว
รถจะขึ้นมาเป็นพันคัน แล้วก็จะติดกันอยู่บนเขา เวลาขึ้นลง เป็นเวลา เวลาลงต้องลงหลัง
๑๐.๐๐ เส้นทางที่ผ่านมาจะได้ชมพรรณไม้ ชมสัตว์ป่า ที่ตัดหน้ารถ หรืออยู่ข้างทาง
เช่น ไก่ป่า พังพอน ลิง ค่างแว่น "ขี้ช้าง" นกต่าง ๆ ที่หนีหนาวมาจากต่างทวีป
ฝรั่งนักดูนกจะถือหนังสือคู่มือมาดูนกกันทั้งวัน และมาครั้งหนึ่งเขาจะมาพักดูหลาย
ๆ วันด้วย เช่น นกกระเต็นลาย นกบั้งรอกแดง นกพญาปากกว้างสีดำ แหล่งดูนกระหว่าง
กม.๒๗ - ๓๖ พรรณไม้ป่า เช่น ดอกเอนอ้า นางแย้มป่า
อาหารมื้อเช้า ก่อนขึ้นรถจะจัดพิเศษให้คือ กาแฟ ปาท่องโก๋ ที่ห้องอาหาร ส่วนอาหารที่ไปกินกันบนยอดเขา
ที่ศาลาตรง กม.๓๐ หรือ กม.๓๖ นั้น สั่งไว้ล่วงหน้าเอาข้าว หรือแซนวิช แต่ที่ซดไปประทับใจนักคือ
ตามองทะเลหมอก กายรับอากาศเย็น และจิบกาแฟ หรือซดร้อน ๆ บนยอดเขา
๑๐.๐๐ จึงจะอนุญาตให้รถแล่นกลับลงมาได้ แวะดูผีเสื้อตามลำธารน้ำที่ไหลผ่านถนนไปสู่แม่น้ำปราณบุรี
มีหลายจุดหรือที่แคมป์บ้านกร่าง "โป่งเทียม"
กลับมาถึงที่พักพอดีอาหารกลางวัน
ไปชมเขาว่า หัวปลายี่สกนึ่งซีอิ๊ว ที่เคยกินอร่อยมาก เขาขอจัดแถมให้ผม แต่ถ้าท่านจะสั่งอาหารจานนี้
ต้องสั่งล่วงหน้าใช้เวลาทำนาน หัวปลาใหญ่มาก มีเนื้อปลา ที่ชุ่มไปด้วยน้ำซีอิ๊ว
ที่จะออกรสหวานนิด ๆ ด้วยความหวานจากหัวปลา ยกมาร้อน ๆ มีน้ำพอซดได้ ปลาจากเขื่อนไร้กลิ่นคาว
น้ำพริกกุ้งสด เผ็ดอร่อย มีผักลวก กล่ำปลี ถั่วฝักยาว ข้าวโพดอ่อน ฯ
ต้มยำปลายี่สก เนื้อปลาขาวน่ากิน ใส่เห็ด เนื้อนุ่มแน่ ได้เคี้ยว รสเข้มข้น
ปลาตะเพียนแดดเดียว ทอดแล้วกรอบ กินได้หมดไม่ต้องกลัวก้าง โรยใบมะกรูด กลิ่นหอม
ปลากดผัดฉ่า จานนี้ต้องกินกับข้าวสวยร้อน ๆ อร่อยนัก
กุ้งผัดเห็ด กุ้งตัวโต ผัดกับพริกชี้ฟ้า สีสวย น่ากิน ผัดอร่อยด้วย
อาหารตามเมนูที่จัดให้มี ๕ อย่าง ปิดท้ายด้วยผลไม้มีแตงโม และสัปปะรด
ห้องอาหารนี้ผู้ที่ไม่ได้เข้าพักก็ไปแวะชิมได้ เปิดทุกมื้อ อร่อยและไม่แพง
นักตีกอล์ฟก็มีสนามให้ประลองฝีมือ อยู่ด้านในไกลเข้าไปสักสิบ กม.
................................................
|