นครนายก
นครนายก
นครนายกอยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ นิดเดียว เป็นเมืองที่น่าเที่ยวเมืองหนึ่ง
ไปสะดวกแต่คงไปได้เฉพาะทางรถยนต์เท่านั้น ยังไม่มีพาหนะอื่นที่จะไปได้นอกเหนือจากเดินไป
หรือเหาะไป นครนายกเป็นจังหวัดในภาคกลาง สันนิษฐานว่า เป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี
หลักฐานที่ยังเหลืออยู่คือ แนวกำแพงเนินดินและสันคู อยู่ที่ตำบลดงละคร
อำเภอเมือง ฯ แต่ชื่อนครนายกนั้นปรากฏหลักฐานในสมัยพระเจ้าอู่ทอง โดยเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งก็นับว่าเก่าแก่กว่า ๖๐๐ ปีมาแล้ว พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้จัดการปกครองในรูปแบบมณฑล
นครนายกได้ไปขึ้นกับมณฑลปราจีนบุรีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ และต่อมาในปี พ.ศ.
๒๔๔๕ ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง ให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นแทน
ต่อมาช่วง พ.ศ. ๒๔๘๖ - ๒๔๘๙ ได้โอนไปรวมกับปราจีนบุรี หลังจากนั้นจึงแยกเป็นจังหวัดอิสระ
นครนายกเดิมชื่อ
บ้านนา
ตั้งอยู่ที่ตำบลดงละคร ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นดินแดนของนครนายก เป็นป่ารกชัฏ
ที่ดอนทำไร่ทำนาไม่ได้ผล แถมยังมีไข้ป่าชุกชุม ทำให้ราษฎรอพยพหนีไปอยู่ที่อื่นถึงขั้นกลายเป็นเมืองร้าง
ความทราบถึงพระมหากษัตริย์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร จึงยกเลิกภาษีค่าทำนา
เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้คนอพยพกลับมาอยู่กันอีก ชาวเมืองจึงเริ่มอพยพกลับมาจนเป็นชุมชนใหญ่
และย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน และเมื่อได้รับการยกภาษีค่านาจึงเรียกว่า
"เมืองนายก" ต่อมาจึงกลายเป็นนครนายก
นครนายกอยู่ในที่ราบของหุบเขา ติดต่อกับป่าดงพระยาเย็น
ภูเขาสำคัญของเมืองคือ
เขาใหญ่ เขาเขียว
เขาชะโงก และเขานางรอง
เป็นต้น ทำให้เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกหลายแห่ง ที่สำคัญคือ
น้ำตกสาริกา
และนางรอง
เมืองนครนายกไม่ใหญ่โตจึงมีอำเภอขึ้นอยู่เพียง ๔ อำเภอ ได้แก่
อำเภอเมือง ฯ อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองค์รักษ์
การเดินทางไปนครนายก ถนนดั้งเดิมตั้งแต่สมัยผมรับราชการอยู่ที่ปราจีนบุรี
ก็มี ๒ เส้นทาง ซึ่งปัจจุบันก็ยังมี ๒ เส้นทางเท่าเดิม แต่สะดวกสบายกว่ากันมากมาย
เส้นทางแรก หรือเส้นทางหลักซึ่งจะไกลกว่าอีกเส้นทางหนึ่ง และคงไม่ค่อยจะมีใครใช้เส้นทางนี้กันแล้ว
คือสายพหลโยธินพอถึงสี่แยกหินกองก็เลี้ยวขวา (ความจริงเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพาน)
เข้าถนนสุวรรรณศร ไปยังนครนายกประมาณ ๔๐ กม. ถนนกำลังสร้างเพื่อขยายเป็นสี่เลน
หากฤดูฝนคงจะลื่นพอสมควรเพราะสร้างพร้อมกันทั้งสาย อีกเส้นทางหนึ่งคือสายเลียบคลองรังสิตซึ่งเป็นคลองชลประทาน
จึงมีถนนของชลประทานเลียบ ลำคลองนี้จากรังสิตไปจนถึงนครนายก แต่สมัยก่อนไม่มีใครเขาไปกันนอกจากคนอุตริอย่างผมที่ครึ้ม
ๆ ขึ้นมาเวลากลับจากปราจีนบุรีถิ่นที่ผมรับราชการอยู่ ๕ ปี เมื่อ ๔๓ ปีที่แล้ว
บางทีก็กลับทางสายเลียบริมคลองสายนี้ ซึ่งเป็นถนนดิน หากฤดูแล้งมาได้แต่ภูมิประเทศสวย
ข้างหนึ่งเป็นลำคลองน้ำเต็มเปี่ยม อีกข้างหนึ่งก็เป็นทุ่งนาและมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นร่มรื่น
แต่หากเขาไปปราจีนบุรีไม่ไปเส้นนี้ เพราะสมัยนั้นผมเป็นพวก จปร.รุ่นใหม่
มีรุ่นเดียวกันอยู่ปราจีน ๒ คน เขามีครอบครัวแล้ว เขาก็ไม่ไปไหนในวันหยุด
ส่วนผมและรุ่นน้อง ๆ (รุ่นพี่เหนือผมไม่มี) พอวันศุกร์เย็น ๆ ก็เข้ากรุงเทพ
ฯ กัน โดยห้อยโหนกันมา เพราะผมเป็นนายทหารคนเดียวที่อยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่า
"ฝอ.๓" หรือนายทหารยุทธการและการฝึกของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒ จึงมีรถจิ๊บใช้ได้
๑ คัน สมัยนั้น นายทหารมีรถจิ๊บขี่ก็โก้ตายแล้ว ปกติก็เดิน
ดีขึ้นมาหน่อยก็จักรยาน เรื่องมอเตอร์ไซด์หรือรถเก๋งนั้นได้แต่มอง
ไม่เหมือนสมัยนี้รถกลายเป็นความจำเป็นไปแล้ว ใครไม่มีรถส่วนตัวกับเขาก็เห็นจะน้อยหน้าเพื่อนฝูงเต็มที
แต่จะไปกู้ใครมาซื้อนั่นอีกเรื่องหนึ่ง สรุปว่าเส้นทางเลียบริมคลองรังสิตนี้
พอถึงรังสิตก็เลี้ยวขวา (ความจริงเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานกลับมา) เข้าถนน
๓๐๕ เลียบริมคลองเรื่อยไป พอถึง กม.๔๒ ก่อนถึงอำเภอองค์รักษ์ ทางขวามือคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์
มีโรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
ซึ่งสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จากนั้นก็จะถึงอำเภอองค์รักษ์ซึ่งจะมีทางแยกไปยังอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
ไปฉะเชิงเทราได้ ริมถนนย่านองค์รักษ์นี้จะอุดมไปด้วยแผงไก่ย่าง ๓ ตัว
ร้อยบาทบ้าง สองตัวร้อยบาทบ้าง รสชาดพอใช้และยังมีส้มขายราคาย่อมเยาว์
แต่ส้มคงจะมีเป็นฤดูน่าจะไม่มีทั้งปี
เมื่อผ่านองค์รักษ์ไปแล้วถนนก็คงเลียบริมคลองเรื่อยไปจนสุดทางสี่แยก
หากเลี้ยวขวาไปทางดงละคร ถ้าเลี้ยวซ้ายจะเข้าเมืองนครนายก ผมไปตอนสงกรานต์พอดีเขาสาดน้ำกันทั้งเมือง
ผมและคณะซึ่งมี ๒ คน เฒ่าเกินไปที่จะลงไปเล่นน้ำด้วย พอพ้นสี่แยกไฟสัญญาณเจอร้านอาหารลงไปกินทันที
ขายขาหมู เป็นพะโล้ ทำนองนี้ รสพอใช้แต่ราคานั้นแพงเยี่ยมมาก
ปกติผมไม่ตำหนิราคาอาหารของใคร เขาขายแพงไปแต่อร่อยก็เฉยเสีย
แต่ร้านนี้นอกจากแย่แล้วยังแพงมากด้วย ร้านขนาด ๒ ห้อง พอเลยร้านนี้ไปสักหน่อย
๕๐ เมตร เป็นสี่แยกอีก คราวนี้ก่อนถึงสี่แยกมี ๒ ร้าน ร้านแรกขึ้นป้ายไว้ว่ากาแฟโบราณ
ร้านนี้ตกแต่งร้านโบราณดีแท้ เช่นเอาจักรเย็บผ้ามาทำขาโต๊ะ กาแฟเย็นแก้วละ
๑๐ บาท อร่อยมาก หรือกาแฟสดของเขาก็ไม่แพง เช้าหน่อยน่าจะไม่เกินสิบโมงเช้า
ไม่งั้นหมดเช่นวันที่ผมไปนี่เป็นต้น อาหารอยู่ในตู้ประเภทข้าวแกง
ขนมจีน แกงที่อร่อยมากคือแพนงหมู ยกนิ้วให้ทั้งมือเลย กินข้าวแกง
หรือขนมจีนของเขาแล้วสั่งกาแฟมาซดพร้อมกับเดินไปซื้อขนมครกร้านติดกันมาแกล้มกาแฟ
ขนมครกของเขาอร่อยราคาถูก ร้านอยู่ติดกันกับร้านกาแฟเสวย หรือกาแฟโบราณ
ดูเหมือนจะชื่อร้านกาแฟนายหมู แต่ยกป้ายกาแฟโบราณ
จากนั้นผมวิ่งตรงไปทางน้ำตกสาริกา เมื่อไปได้สัก ๙ กม.จะมีทางแยกขวาเพื่อไปยังน้ำตกนางรอง
ไปคราวนี้พักที่สีดารีสอร์ทซึ่งเขาลดราคาพิเศษ ช่วงสงกรานต์ ตกคืนละ ๑,๔๐๐
บาท สถานที่ของเขาดีร่มรื่นมาก เพราะเก็บไม้ใหญ่เอาไว้ได้
ทำให้ดูเหมือนอยู่ในป่าใหญ่ มีทั้งแบบบ้านพักและอาคารโรงแรม มีกิจกรรมหลายอย่างเช่นขี่ม้า
เดินป่า ล่องแก่ง (ต้องฤดูฝน) ขี่จักรยาน ชมวิว ไต่หน้าผา
ฯลฯ โทร ๐๓๗ ๓๑๓๕๖๐
หลวงพ่อเศียรนคร
ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบุญนาครักขิตาราม (วัดต่ำ) ตำบลนครนายก อำเภอเมือง ฯ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยพระร่วง ขุดพบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ณ บริเวณโรงกลั่นสุรา
ตอนที่ขุดได้นั้นพบแต่เศียรไม่มีองค์พระ จน พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงมีศรัทธาสร้างองค์พระและอุโบสถถวาย
รอยพระพุทธบาทจำลองเขานางบวช อยู่ในมณฑลบนยอดเขานางบวช
ท้องที่ตำบลสาริกา
ถ้ำสาริกา ไปทางเดียวกับน้ำตกสาริกา พอเลยทางแยกไปน้ำตกนางรองไปนิดเดียวอยู่ทางซ้ายมือ
ถ้ำสาริกาเป็นสถานที่ที่พระอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต เคยมาบำเพ็ญศาสนธรรมสถานที่นี่
ปัจจุบันเป็นวัดถ้ำสาริกา
และเวลาท่านมาบำเพ็ญธรรมนั้น คณะผู้ติดตามซึ่งคงจะมีทั้งพระและฆราวาส
จะไปพักอยู่อีกแห่งหนึ่งห่างกันประมาณสัก ๕ - ๖ กม. คือ ณ ที่ตั้งของวัดนางรองในเวลานี้
เมืองโบราณบ้านดงละคร อำเภอเมือง ฯ ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ
๙ กม. เป็นเมืองโบราณมาตั้งแต่สมัยขอมมีอำนาจประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖
มีแนวกำแพงดิน คูเมืองปรากฏอยู่ เดิมชาวบ้านเรียกว่าเมืองลับแล
ต่อมาวันดีคืนดีเกิดได้ยินเสียงมโหรีขับกล่อมคล้าย ๆ กับกำลังมีละคร
เลยเรียกว่าดงละคร
|
พระพุทธฉาย ตั้งอยู่ที่เขาชะโงกในบริเวณโรงเรียนนายร้อย
จปร. เป็นภาพเขียนติดอยู่บนชะโงกผา โรงเรียนนายร้อย จปร. อยู่ติดกับเขาชะโงก
เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เข้าชมและเข้าร่วมกิจกรรมได้ ผมไม่เคยไปร่วมกิจกรรมกับเขา
โทรถามได้ ๐๓๗ ๓๙๓๐๑๐ - ๔ ต่อ ๖๒๙๖๐ - ๑
ธุดงค์สถานถาวรนิมิต บ้านบุ่งเข้ ตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี
มีกุฏินับร้อยหลังสำหรับพระและอุบาสก อุบาสิกา ร่วมปฏิบัติธรรม ๐๓๗ ๓๑๓๕๙๖ |
วังตะไคร้
ทางไปน้ำตกนางรอง เป็นอุทยานที่งดงามด้วยพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับ
ในเนื้อที่ถึง ๑,๕๐๐ ไร่ มีที่พักที่สะดวกสบาย วิ่งเข้าไปชมก็ได้แต่ต้องเสียค่าผ่านประตู
โทร ๐๓๗ ๓๑๒๒๗๕
|
น้ำตกสาริกา
เป็นน้ำตกในเขตอุทยานเขาใหญ่ เมื่อก่อนนี้พอวันหยุดที่ไม่ได้เข้ากรุงเทพ
ฯ ผมและพรรคพวกซึ่งล้วนแต่โสด ๆ ทั้งนั้น มักจะพาสาวไปเที่ยวไม่น้ำตกสาริกาก็น้ำตกนางรอง
หรือน้ำตกเขาอีโต้ปราจีนบุรี เที่ยวกันไปเที่ยวกันมาจนเรียบร้อยไปหลายคู่
เว้นผมเอาตัวรอดไปได้ น้ำตกสาริกาเมื่อก่อนสวยมาก มีน้ำตลอดปี
แต่เดี๋ยวนี้หากเป็นฤดูแล้งไม่มีน้ำเลย สถานที่สกปรกไม่สะอาด แถมเก็บเงินยุบยั่บไปหมด
พอเข้าไปจะเจอป้อมตั้งกลางถนนเลยเก็บค่ารถคันละ ๓๐ บาท บอกว่าค่าจอดรถ
เรียกว่าจะจอดหรือไม่จอดหากผ่านป้อมต้องจ่าย ๓๐ บาท เข้าไปแล้วจะเข้าห้องสุขาจ่ายอีก
๕ บาท ราคานี้ไม่ยุติธรรมเพราะบางคนอาจจะอยากเพียงวนรถเข้าไปดูแค่หน้าน้ำตกไม่เข้าไป
ไม่น่าเก็บเงินเขา แต่หากจอดไม่ว่ากันและบอกว่าเก็บเพื่อบำรุงชมรมประชาคมรักษ์สิ่งแวดล้อม
ทางบ้านเมืองทราบไหมว่าเก็บแล้วเงินเข้าใคร เมื่อเข้าไปแล้วจะเข้าบริเวณอุทยานน้ำตกสาริกา
จะพบด่านของป่าไม้เก็บอีกคนละ ๒๐ บาท รายการนี้ถูกกฎหมาย ป่าไม้มีสิทธิ์เก็บได้ไป
๕ คน จะต้องจ่ายก่อนฉี่รวมค่าจอดรถ ๑๓๐ บาท ฉี่อีกต่างหาก
ทางน้ำตกนางรองก็ทราบว่าเก็บเช่นเดียวกัน ไปแล้วไม่มีน้ำ ผมเลยไม่ได้ไปนางรอง
และของขายตามแผงก็วางกันเกะกะไม่สวยงามเลย ของถูกคือพวกดอกไม้ ต้นไม้ประดิษฐ์
ราคาถูกมากจริง ๆ สวยด้วย อุดหนุนชาวบ้านด้วยรวมทั้งเครื่องจักสาน
กล้วย ผลไม้ |
อนุสรณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗
อยู่ที่วัดพราหมณี วัดนี้อยู่ทางขวามือเมื่อจะไปน้ำตกสาริกา ตรง
กม.ที่ ๕ จัดสร้างโดยสมาคมสหายสงครามกองพลญี่ปุ่นที่ ๓๗ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕
เพื่อระลึกถึงวิญญาณของทหารญี่ปุ่น ที่มาตายในระหว่างสงครามเอเซียบูรพา เมื่อ
พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ โดยการนำอัฐิที่ขุดได้มาฝังไว้รอบแท่น ตัวอาคารอนุสรณ์เป็นศาลามีพระพุทธรูปปางมารวิชัยและคำจารึก
ทหารญี่ปุ่นกองพลนี้ตายไป ๗,๙๒๐ คน ม้าตายไป ๔,๓๗๖ ตัว ภายในวัดร่มรื่นงดงาม
มีศาลเจ้าแม่กวนอิม ศาลเจ้าแม่ตะเคียน ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระศิวลี
อาคารอนุสรณ์ นั้นคือ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ กองพลญี่ปุ่นมาตั้งอยู่ที่บริเวณวัดพราหมณีในสมัยสงคราม
และส่งหน่วยออกไปปฏิบัติการรบในที่ต่าง ๆ
นครนายกนั้น มีน้ำตกมากสวย ๆ ทั้งนั้น นอกเหนือไปจากน้ำตกสาริกาและนางรองแล้ว
ยังมีน้ำตก กะอาง วังม่วง ลานรัก และน้ำตกบนเขาใหญ่ เช่น
เหวนรก กองแก้ว เหวสุวัต เหวไพร ผากล้วยไม้ ฯ
วัดนางรอง
ผมอยากให้ท่านรู้จักวัดเล็ก ๆ อยู่บนยอดเนินแห่งนี้ว่ามีความสำคัญอย่างไร
เป็นความสำคัญที่ซ่อนเร้นอยู่ชนิดที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ผมเคยได้ยิน
ได้ทราบมาก่อนเลยว่าวัดนี้มีราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๘ ซึ่งสมเด็จย่าได้สร้างขึ้นแล้วนำพระบรมรูปมาถวายไว้ที่วัดนี้
ทางวัดได้สร้างแท่นประดิษฐานขึ้นเอง ตามกำลังทรัพย์ของวัดเล็ก ๆ เท่าที่พอจะทำได้
วัดนางรองอยู่ในเส้นทางไปน้ำตกนางรอง ทางเดียวกับจะไปวังตะไคร้ที่ผมพักคือสีดารีสอร์ท
ผมจะไปที่พักต้องวิ่งผ่าน แต่วัดอยู่บนยอดดอยหรือยอดเนินมองไม่เห็น
เห็นแต่ป้าย เมื่อผ่านวังตะไคร้แล้วก็จะข้ามสะพานข้ามลำธารพอพ้นสะพาน
ทางซ้ายมือจะเห็นบันไดขึ้นสู่วัดนางรอง แต่ต้องเดินขึ้นบันไดไป รถจะขึ้นไม่ได้
แต่พอเลยไปอีกนิดเดียวจะมีถนนพอรถขึ้นได้ ไม่ทราบว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดมาดลใจ
ให้ผมหักพวงมาลัยรถเลี้ยวซ้ายขึ้นเขาไปดื้อ ๆ อย่างนั้นแหละ ขึ้นไปถึงยอดดอยเข้าไปในวัดเขากำลังมีการสรงน้ำพระกันอยู่
กำลังจะจบพิธีพอดี มีคนมาเชิญผมไปสรงน้ำพระ (ทราบทีหลังว่าพระกำลังจะลุกขึ้นอยู่หรือแล้ว)
ผมก็ลงไปเห็นมีคน ในลักษณะคนป่วยหรือหายป่วยมากันแยะ ก็เข้าไปสรงน้ำพระเป็นคนสุดท้ายเพราะพอผมสรงแล้ว
ท่านก็ลุกขึ้นกลับขึ้นศาลา แต่ก่อนที่จะลุกขึ้น ท่านได้สวดชยันโตให้พรด้วย
จากนั้นมีผู้เชิญ (ก็อีตาคนเดิม ได้ความว่าเป็นถึงบุตรอดีต อตร. เคยมบวชที่วัดนี้)
ขึ้นบนศาลาการเปรียญซึ่งทำเป็นกุฏิที่พักด้วย ศาลาการเปรียญนี้สร้างค่อมหินใหญ่มาก
รูปคล้ายช้างและหินนั้นโผล่พ้นพื้นศาลาขึ้นมา ทางวัดจึงใช้ปูนปั้นช้างพลายเอาไว้
สักครู่เจ้าอาวาสเดินมาบอกว่าจะรดน้ำมนต์ให้ ผมก็รอที่หน้าอาสนะของท่าน
ท่านก็มารดน้ำมนต์ให้ และที่ข้างหน้าท่านมีกระดานเขียนบอกไว้ว่ารักษาโรค
วันพฤหัส เสาร์ อาทิตย์ (โทร ๐๑ ๘๖๒๔๘๗๕) ถามท่านว่ารักษาโรคอะไร
ท่านบอกว่ารักษาทางจิต คนไข้ต้องทำตามที่ท่านบอกในการรักษาด้วยธรรมะ และไม่ต้องมารักษาที่วัด
แบบส่งโทรจิตไปรักษา โรคที่ตายแน่ ๆ มี ๒ โรค คือ เอดส์และ (ท่านห้ามไม่ให้โฆษณาให้ท่าน)
โรคที่ท่านรักษาได้นั้น คนไข้ที่หายป่วยหรือจวนจะหาย ได้มาเป็นพยานคือมาสรงน้ำพระในวันนี้มีไม่น้อยเลย
ท่านเล่าให้ฟังถึงผู้ติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มาพักที่นี้และได้บูรณะวักนางรองขึ้นมาใหม่ยกฐานะเป็นวัดเมื่อ
พ.ศ. ๒๕๑๔ และท่านกลับไปมรณภาพที่วัดเพลงวิปัชสนา อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
สังขารของท่านไม่เน่าเปลื่อย แต่ต้องหยอดน้ำผึ้งทุก ๗ วัน ภายในวัดมีพระศิวลี
พระสังกัจจายน์ ศาลปลัดจ่าง อดีตปลัดอำเภอ
|
เมื่อผมกลับรถออกมาจึงเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ ๘ และรุ่งขึ้นผมไปใหม่เพื่อไปถวายสังฆทาน
จึงทราบว่าสมเด็จย่าสร้างแล้วนำมาถวายไว้เมื่อ ๑๔ เมษายน ๒๕๑๔ ไม่ทราบพระประสงค์ว่าทำไม จึงทรงเจาะจงทึ่จะถวายไว้ที่วัดนี้
ถวายวัดแล้วไม่ได้โปรดให้สร้างแท่นประดิษฐาน ทางวัดจึงเก็บไว้จนเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
มาเป็นเจ้าอาวาส จึงได้สร้างแท่นประดิษฐานพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๘ เป็นพระบรมรูปที่สวยงามมาก
ผมเคยเห็นแบบนี้ก็ที่วัดสุทัศน์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลอานันท์
(ที่ ร.พ. เล็กกว่า) ผมถามท่านเจ้าอาวาสว่าหากผู้มีทรัพย์มีความเคารพในพระองค์ท่านอย่างสูง
จะมาขอสร้างแท่นประดิษฐานใหม่ได้หรือไม่ ท่านเจ้าอาวาสบอกว่าไม่ขัดข้องแต่ต้องสร้างกันอย่างดี
หากใครประสงค์จะสร้างลองติดต่อกับเจ้าอาวาสท่านดู แล้วออกมาสร้างหน้าประตูวัดเลยก็จะงดงามยิ่ง |
กินอาหาร มาเที่ยวนี้อาหารเช้ากินของโรงแรม เพราะเขารวมไว้กับค่าที่พักแล้ว
อาหารกลางวันตระเวณชิม และไปเยี่ยมสวนมะยงชิดที่เคยซื้อเขามาปลูกไว้สัก
๖ - ๗ ปีมาแล้ว สวนนี้อยู่ทางเข้าโรงเรียนนายร้อย จปร. จากปากทางเข้าไปประมาณสัก
๑ กม. อยู่ทางขวามือ มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าลูกโตมากประกวดได้ที่ ๑ ปี
๒๕๔๓ เปรี้ยวอมหวานอร่อยมาก สวนชื่อ บุญสม การเกษตร หรือจะไปซื้อมะยงชิดทูลเกล้านี้ที่ลพบุรี
สวนศรัณพันธุ์ไม้ ไปทางโคกสำโรง สวนอยู่ตรงหลัก กม.๑๖๕ พอดี
มื้อเย็นผมอาศัยร้านประเภท "โชห่วย" กินอาหารร้านนี้แล้วนึกถึงเรื่องชุด "เฒ่า"
ของมนัส จรรยงค์ นึกถึงภาพเฒ่าโพล้ง เฒ่าอะไรต่ออะไรนั่งกินเหล้าขาว
แกล้มมะขามเปียกหรือปลากระป๋อง และร้านต้องมีขายหมด แปรงสีฟัน
ยาสีฟัน สบู่ ของใช้ อาหาร เหล้า ขนม
ร้านโชห่วยร้านนี้เขียนหน้าร้านตัวโตว่า ปลาตะเพียนไร้ก้าง ลาบปลาตะเพียน
ยกป้ายไว้อย่างนี้ไม่มีชื่อร้าน ไปทางน้ำตกนางรอง ก่อนถึงสีดารีสอร์ท
"กม.๑๕" ขาไปร้านอยู่ทางซ้ายมือ ปากทางเข้าวัดบ้านคง ไปสั่งข้าวผัดกระเพราไข่ดาวกิน
อีกวันลองสั่งอาหารดูใช้ได้ทีเดียว
ทีนี้มาร้านชวนชิม ร้านประณอม ต้องไปตามถนนที่จะไปปราจีนบุรี
จากตัวเมืองนครนายกไป ๖ กม. ทางซ้ายมือคือ วัดเกาะหวาย ป่ากทางเข้าวัดเกาะหวายคือร้านประณอม
อยู่ในพื้นที่อำเภอปากพลี ร้านกว้างขวาง
อาหารจานเด็ดคือ "ขาหมู หม่านโถว" ขาหมูนั้นเป็นขาหมูน้ำแดง ใส่จานมาทั้งขา
สีเหลืองอ่อน หนังนุ่ม เนื้อนุ่มเกือบจะไร้มัน หนังอร่อยจริง ๆ น้ำพะโล้ให้มาแยะ
ต้องเริ่มต้นด้วยการเอาหม่านโถว ที่กำลังร้อน สีขาว นุ่ม
เนื้อแน่นเหนียว บิมาจิ้มน้ำแดงให้ชุ่มส่งเข้าปากเสียก่อน หม่านโถวหมดแล้วจึงเอาน้ำแดงราดข้าว
เหยาะน้ำปลาพริกนิดหนึ่งเพื่อเอาความเผ็ด น้ำส้มอีกนิดจึงส่งเข้าปากแล้วตามด้วย
"ต้มยำปลาช่อน" ที่ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด รสจัด ร้อนซดชื่นใจนัก "ตำถั่ว"
หมูกรอบของเขาก็ดี แทนที่จะใช้มะละกอ ใช้ถั่วฝักยาว ส่วนหมูกรอบมีรสในตัว
และตามด้วยเครื่องในไก่ ไข่อ่อนผัดเผ็ด อิ่มจนแทบจะไม่อยากลุกก็แล้วกัน
กลัวช้า ไม่ทันใจหรือสงสัยร้าน ถาม ๐๓๗ ๓๙๙๕๕๐ โทรสั่งอาหารให้ร้านเขาเตรียมไว้ได้เลย
|