จากการสำรวจของนักวิชาการหลายสาขา ได้สำรวจร่องรอยของเมืองโบราณในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ผลสรุปว่า นครปฐมมีร่องรอยหลักฐานของเมืองโบราณขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้แก่ เมืองโบราณในเขตอำเภอเมืองนครปฐม กำแพงแสน มีเส้นทางน้ำหลายสายที่เชื่อมต่อไปยังเมืองโบราณอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำ ลำคลองที่เชื่อมโยงได้แก่ แม่น้ำท่าจีน คลองบางแก้ว คลองรังไทร คลองรางพิกุล และยังได้สำรวจพบว่าเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วนั้น ทะเลหรืออ่าวไทยอยู่ลึกเข้ามาถึงชัยนาท เขตลพบุรี สิงห์บุรี ล้วนแต่อยู่ชายทะเลมาก่อน เมืองโบราณในยุคเดียวกันได้แก่เมืองคูบัว (ราชบุรี) เมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) บ้านคูเมือง (อ่างทอง) เมืองอู่ตะเภา (สระบุรี) เมืองดงละคร (นครนายก) เมืองมโหสถ (ปราจีนบุรี) บ้านคูเมือง (ฉะเชิงเทรา) เมืองพระรถและศรีพะโร (ชลบุรี) เป็นต้น โดยติดต่อกันได้ในทางน้ำและทางทะเล เมืองนครปฐมรุ่งเรืองมากในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒) ศาสนาพุทธและอารยธรรมจากอินเดีย เผยแพร่เข้ามาที่นครปฐมเป็นแห่งแรก ชนชาติต่าง ๆ อพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเส้นทางน้ำหลักเปลี่ยนเส้นทางเดิน เป็นผลให้เกิดการอพยพไปตั้งเมืองใหม่ที่ชื่อว่า "นครชัยศรี" หรือ "ศิริชัย" นครปฐมจึงกลายเป็นเมืองร้างไปหลายร้อยปี จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์และยังทรงผนวชอยู่ ไวด้ธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์และทรงเห็นว่าเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ ไม่มีองค์ไหนจะเทียมเท่า เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดให้ก่อเจดีย์ทรงลังกาครอบเจดีย์องค์เดิมเอาไว้ ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ ให้ขุดคลองเจดีย์บูชา เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เริ่มทำรางรถไฟสายใต้ แต่ตัวเมืองนครปฐมในปัจจุบันก็ยังเป็นป่ารกอยู่ จึงโปรด ฯ ให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรีในปัจจุบัน มาตั้งที่บริเวณพระปฐมเจดีย์เหมือนที่เคยตั้งเมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นการย้ายมณฑลนครชัยศรีมาด้วย (เพราะตั้งมณฑลที่นครชัยศรี) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐาน และโปรด ฯ ให้ตัดถนนเพิ่มอีกหลายสาย สร้างสะพานใหญ่ข้ามคลองเจดีย์บูชา พระราชทานนามสะพานว่า "สะพานเจริญศรัทธา" ต่อมาให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครชัยศรีเป็น นครปฐม แต่ชื่อมณฑลยังคงเรียกว่า มณฑลนครชัยศรี อยู่จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว นครปฐมจึงยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด และนครชัยศรีคงเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของนครปฐม การเดินทาง .- ทางรถไฟ มีรถไฟไปนครปฐมทุกวัน วันละหลายเที่ยว โทร. ๐๒ ๒๒๓ ๗๐๑๐ ทางรถยนต์มี ๒ เส้นทาง .- เส้นทางแรก ทางสายเก่า กรุงเทพ ฯ - ไปตามสายเพชรเกษมหรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ ผ่านบางแค อ้อมใหญ่ สามพราน นครชัยศรี นครปฐม รวมระยะทางประมาณ ๕๖ กิโลเมตร เส้นทางที่ ๒ หรือที่เรียกว่าสายใหม่ กรุงเทพ ฯ พุทธมณฑล นครชัยศรี นครปฐม ประมาณ ๕๑ กิโลเมตร หากเรามาจากสะพานปิ่นเกล้า มาตามถนนสายพุทธมณฑล วิ่งกันเรื่อยมาจนถึงทางแยกซ้ายเข้าพุทธมณฑลสาย ๔ จุดนี้เป็นชุมนุมของแหล่งเที่ยว แหล่งกินทีเดียว ถ้าเราเลี้ยวซ้ายแต่ชิดขวาเข้าไว้ก็จะข้ามสะพานซึ่งจะเป็นสะพานข้าถนนไปยังฝั่ง ม.มหิดล ตรงสี่แยกนี้ยังไม่ได้เป็นถนนสี่เลน พอถึงสี่แยกแล้วก็เลี้ยวขวาไปยัง ม.มหิดล ได้เลย แต่เมื่อเป็นถนนสี่เลนก็ต้องเลี้ยวซ้ายแล้วชิดขวาวิ่งข้ามสะพานไป พอลงอีกฝั่งหนึ่งทางซ้ายคือ ม.มหิดล ซึ่งเมื่อก่อนที่ผมจะเข้าไปเที่ยวผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่าม.มหิดล นั้นมีคณะต่าง ๆ มากถึง ๑๕ หรือ ๑๖ คณะ มีแม้กระทั่งคณะดุริยางค์ ขอใช้คำว่าดูเหมือนจะเรียกว่า วิทยาลัยดุริยางค์ศิลป์ ซึ่งจะร่ำเรียนกันทั้งเครื่องดนตรีประเภทดีด สี ตี เป่า เขย่า และดูด ซึ่งผมไม่ชำนาญหรือมีความรู้พอ เครื่องอะไรบ้างที่เขย่า เครื่องดนตรีอะไรที่ต้องดูดจึงจะมีเสียงดังออกมา ถ้าดีด สี ตี เป่า อย่างนี้พอเดากันได้ และห้องเรียนนั้นเป็นห้องเรียนอย่างดี มีเวทีแสดงหรือบรรเลงกันกลางแจ้ง ยังกับเวทีแสดงโบราณของชาวโรมัน สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) เปิดให้ชมได้ตั้งแต่วันจันทร์ ถีง ศุกร์ ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ ในสวนนี้มากมายไปด้วยสมุนไพร ร่มรื่นไปหมด มีสมุนไพรหลายชนิดล้วนแต่มีสรรพคุณทางยาแตกต่างกันออกไปและจัดเป็นสวนอย่างสวยงาม ใครสนใจจะจำไปจัดที่บ้านก็คงไม่มีใครว่าอะไร และยังมีสมุนไพรที่เก็บมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มาใส่ขวดแก้วไว้ให้ศึกษาอีกด้วย ผมเคยเห็นที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ จังหวัดปราจีนบุรี ตึกพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งที่นี่เป็นสถานที่ผลิตยาต่าง ๆ จากสมุนไพรมากกว่าที่แห่งอื่น ๆ ได้เห็นการเก็บเอาสมุนไพรทั้งที่ปลูก และเก็บตัวอย่างมาไว้ในห้องหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แต่ไม่ได้ใส่ขวดแก้ว ใส่ไว้ในลิ้นชักไม้และมีชื่อบอกไว้ ส่วนที่มหิดล ใส่ในขวดโหล การเข้าชมสวนสมุนไพรต้องเข้าไปในมหาวิทยาลัย แล้วดูจากป้ายจะนำทางไปยังสวนสมุนไพร และผมก็พึ่งทราบเหมือนกันว่า ม.มหิดล มีกิจการโรงแรมเพื่อให้นักศึกษาคณะกิจการโรงแรมได้ฝึกงาน ซึ่งตึกนี้คือ ศาลายา พาวิเลี่ยน โฮเตล (SALAYA PAVILIAN HOTEL) เมื่อเข้าประตูมหาวิทยาลัยไปแล้ว ให้เลี้ยวซ้ายไปสัก ๒๐๐ เมตร ตึกใหญ่ทางขวามือคือโรงแรม หากจะเข้าพักก็เข้าไปที่ห้องล๊อบบี้ ซึ่งกว้างขวางตกแต่งสวยเหมือนโรงแรม มีนักศึกษาประเภทพูดภาษาอังกฤษไฟแล๊บ คอยต้อนรับ ห้องพักแสตนดารด์ และห้องสูท เทียบสภาพของห้องกับราคาแล้วถือว่าไม่แพง ตึกหลังนี้นอกจากมีโรงแรมแล้วยังมีห้องชั้นเยี่ยมอยู่ด้วย ให้ขึ้นไปที่ชั้น ๒ จะเห็นห้องอาหารใหญ่ประเภทจะต้องซื้อคูปอง มีอาหารมากมาย สังเกตดูเป็นห้องที่มีนักศึกษามากินกัน หากเดินเลยไปนิดหนึ่งหรือถามเขาดูจะมีอีกห้องหนึ่ง ชื่อห้องอาหาร "HERB " เป็นห้องอาหารนานาชาติ วันจันทร์ - พฤหัสบดี เป็นอาหารบุฟเฟต์ราคาเพียงหัวละ ๑๑๐ บาท และหมุนเวียนไป อาจจะเป็นอาหารอิตาลี ฝรั่งเศส จีน หรือญี่ปุ่น แต่หากเป็นวันศุกร์มื้อเที่ยง จะเป็นอาหารฝรั่งเศสเมนูเซท ราคาเพียงหัวละ ๑๕๐ บาท กินกันอิ่มเลยทีเดียว ซึ่งจะเริ่มต้นที่ สลัด ๑ จาน ต่อมาก็เสริฟซุป วันที่ผมไปชิมนั้นเป็นซุปหัวหอมน้ำใส แบบฝรั่งเศส รสเยี่ยม ซดร้อน ๆ ชื่นใจ มีขนมปัง เนย เสริฟมาไม่อั้น หมดขอใหม่ได้ ต่อมาจึงถึงอาหารจานหลัก วันที่ชิมก็เป็นสะเต็กหมู ราดน้ำแกรวี่จนชุ่มฉ่ำ เคียงขอบจานด้วยมันฝรั่งบด และแครอทรสเยี่ยมจริง ๆ สะเต็กนั้นนุ่ม ชุ่มไปด้วยน้ำแกรวี่ที่ราด แล้วปิดท้ายด้วยของหวานคือกล้วยหอมทอด ตามด้วยกาแฟหรือชา ทั้งหมดนี้ราคา ๑๕๐ บาท ไปชิมกันครั้งหนึ่งแล้วติดใจต้องไปอีก เสียดายที่ยังไม่เปิดบริการวันเสาร์ -อาทิตย์ แต่จะมีการสอนถ้ามีนักศึกษาถึง ๒๐ คน ขึ้นไปด้วยการสอนการจัดอาหาร จัดโต๊ะ วิธีรับประทานอาหารทำนองนี้ โทร.๐๒ ๔๔๑ ๐๕๖๘ - ๙ ฝั่งตรงข้ามกับ ม.มหิดล เป็นหมู่บ้านชื่อหมู่บ้านศรีสุวรรณ หากเข้าไปหาอาหารอร่อยชิมก็เข้าไปในหมู่บ้านแล้วเลี้ยวซ้ายตามป้ายนำไป ก็จะได้กินอาหารอร่อยหลายอย่างเช่น หอยหลอดผัดฉ่า ไข่น้ำ ปิดท้ายด้วยขนมเค้กและไอศกรีมของเขา อาหารร้านศรีสุวรรณมีมากและอร่อยทั้งสิ้น วิ่งผ่าน ม.มหิดล ไปนิดหนึ่งจะต้องเลี้ยวซ้าย พอเลี้ยวแล้วก็จะพบทางแยกขวา ถ้าเลี้ยวขวาตามป้ายไปอีก ๒๔ กิโลเมตร จะถึงวัดลำพญา ที่วัดนี้มีตลาดน้ำหน้าวัด มีเฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ เท่านั้น เดิมเขามีแพ ชนิดตั้งโต๊ะขายอาหาร ตั้งโต๊ะให้คนกินอาหารนับได้ ๔ แพ ต่อมาได้มาเชิญให้ผมไปเที่ยว ผมไปพบอาหารอร่อยเข้าหลายอย่าง เช่น หมูสะเต๊ะ เจ้านี้อยู่ในเรือลำใหญ่ จอดติดแพหลัง ๒ ด้านแม่น้ำ หมูสะเต๊ะอร่อยมากจริง ๆ และราคาถูกด้วย พบแม่ค้าหน้าหวานขนมก็หวานเช่น เม็ดขนุน เรือเธอเกาะอยู่ข้างแพหลังแรก ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว พอลงแพแรกก๋วยเตี๋ยวก็อยู่ด้านในของแพทางขวามือ เดินข้ามต่อไปยังแพหลัง ๒ หลัง ๓ ได้อีก มีลอดช่องสิงคโปร์ มีปลาตะเพียนต้มเค็มเหมาะซื้อกลับมา มีผลไม้ ขนมอีกมากมายก่ายกอง รวมทั้งมีเรือข้าวลำโต มีเรือลากจูงแพ วิ่งชมชีวิตสองฝั่งลำน้ำนครชัยศรี เก็บสตางค์คนละ ๕๐ บาท และเมื่อขึ้นจากแพเดินเลาะเลียบริมแม่น้ำไปสัก ๕๐๐ เมตร ก็จะพบตลาดเก่าแก่คือ ตลาดลำพญา เป็นตลาดโบราณ หลังคาสูง ยังเหลือร้านค้าอีกไม่กี่ร้าน ซึ่งวันธรรมดา ร้านหมูสะเต๊ะจะอยู่ในตลาดเก่าแก่นี้ พอวันเสาร์ - อาทิตย์ ก็ลงเรือมาขายที่ตลาดน้ำลำพญา และในตลาดยังมีข้าวเกรียบปากหม้อ ไส้แปลกกว่าข้าวเกรียบปากหม้อทั่วไป รวมทั้งแบบไส้หมูธรรมดาก็มี มีป้านั่งขายข้าวต้มผัดอยู่เจ้าหนึ่งอร่อยอีกนั่นแหละ ขายกาแฟอีกเจ้าหนึ่ง นอกนั้นในตลาดคงเหลือร้านประเภทโชห่วยอีก ๒ - ๓ ร้าน แต่เดี๋ยวนี้จำนวนแพเพิ่มมากขึ้นอีกหลายหลัง ซึ่งผมเคยแนะนำกำนันผู้ก่อตั้งตลาดน้ำแห่งนี้ไว้ว่า หากแพยังมีไม่มากพอที่จะยาวไปถึงตัวตลาดเก่าลำพญา ให้เอาถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตร ถังเปล่ามาทำเป็นทุ่นแล้วปูไม้กระดานให้คนเดินสะดวก จะเป็นการล่อใจให้คนเดินต่อจากแพไปยังตลาดเก่าลำพญา ส่วนพวกลงเรือเที่ยว เรือจะพาไปตามศาลเจ้าเม่ทับทิม ซึ่งการไปศาลที่อยู่เลยตลาดไปนิดหนึ่งนั้น จะให้สวยเท่ก็ต้องลงเรือแจว คอยรับคนโดยสารอยู่แถวแพนั่นแหละ ราคาบริการคิดกันเป็นรายหัว คนละ ๒๕ บาท แจวไปส่งยังศาลเจ้าแม่ทับทิม แล้วก็รับกลับมา ศาลเล็ก ๆ นี้เป็นแบบจีน แต่ชาวลำพญาให้ความเคารพนับถือสูงและเมื่อไหว้เจ้าแม่แล้วก็เลยเดินเที่ยวตลาดเก่าลำพญาเสียเลย จากนั้นนั่งเรือมาดแจวกลับมาขึ้นที่แพ หากกินอาหารก่อนไปก็เดินบนแพเสียอีกรอบ คราวนี้จะได้ของฝากมากมายจากเรือชาวสวนที่นำสินค้ามาขายราคาถูกเช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด สายบัว มะดัน ซื้อมะดัน ซื้อปลาทู ซื้อสายบัว ซื้อมะพร้าวขูดมาแกง ต้มสายบัวกับปลาทูอร่อยนัก พริกขี้หนูสวนก็มี มะเขือ ฟักทอง สารพัดผักมีขายมากมาย รวมทั้งต้นไม้ที่มีขายบนตลิ่งด้วย ที่ผมเล่ามานี้คือเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว และผมไม่กล้าไปอีกรวมทั้งตลาดดอนหวายด้วย แล้วผมจะเล่าให้ฟัง ส่วนเรือลากจูงพาชมแม่น้ำนั้นจะไปยังวัดกลางบางพระ สมัยที่หลวงพ่อเปิ่นยังมีชีวิตอยู่ เรือก็จะคอยให้ไปนมัสการหลวงพ่อเปิ่น ตอนนี้หลวงพ่อมรณภาพไปแล้ว คงไปนมัสการรูปเหมือนของท่าน และเช่าบูชาวัตถุมงคลของหลวงพ่อ นอกจากนี้ก็ยังมีการพาชมวัดบางภาษี ซึ่งเป็นวัดเก่าและให้อาหารปลา บางเที่ยวเขามีเวลาบอกไว้ผมไม่ได้จำมา จะพาไปยังวัดสุขวัฒนาราม ให้อาหารปลาที่หน้าวัดสนุกดี กลับมายังหน้า ม.มหิดล กันใหม่ วิ่งผ่านหน้า ม.มหิดลไปแล้วเลี้ยวซ้าย คราวนี้ตรงเรื่อยไปไม่เลี้ยวขวา ไปยังตลาดน้ำลำพญา ไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จะผ่านสถานที่ราชการหลายแห่งเช่น สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง เป็นต้น แล้วสังเกตป้ายไว้จะมีป้ายบอกไปวัดงิ้วราย และสถานีรถไฟงิ้วราย พอพบป้ายทางขวาให้เลี้ยวขวา (หากเลยจะไปพบ อบต.งิ้วราย) เมื่อเลี้ยวขวาแล้วก็จะข้ามทางรถไฟ แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าวัดงิ้วราย มาจอดที่ลานจอดรถหลังสถานีรถไฟงิ้วราย เมื่อก่อนนี้ใครจะไปยังวัดลำพญา (ตลาดน้ำเพิ่งมีเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒) จะต้องขึ้นรถไฟจากสถานีบางกอกน้อยมาลงที่สถานีงิ้วรายแล้วลงเรือที่ท่าเรือที่อยู่ท้ายตลาด เป็นเรือแดง ๒ ชั้น ซึ่งชื่อเรือมักจะเหมือนในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น ศรีประจันต์ ขุนไกร เป็นต้น ที่ผมไปรู้มาก็เพราะเลขา ฯ ประจำตัวของผม บิดามีพื้นเพเป็นชาวลำพญา แต่บ้านอยู่สี่พระยา เวลาจะไปเยี่ยมคุณย่า "คหปตานี" แห่งลำพญา จะต้องเดินทางแบบนี้ โดยตั้งต้นจากสี่พระยา มาลงเรือข้ามฟากแล้วนั่งรถไฟจากสถานีบางกอกน้อยไปลงเรืออีกที จึงจะไปถึงลำพญาได้ กว่าจะถึงก็เสียเวลาเกือบทั้งวัน ออกจากสี่พระยาเช้ามากินกลางวันคือข้าวแกงที่งิ้วราย พอเราจอดรถหลังสถานีรถไฟงิ้วราย ก็เดินเข้าตลาดทางขวามือ เป็นตลาดเก่าแก่ร่วมร้อยปีเหมือนกันแต่ไม่เก่าเท่าลำพญา แค่ดูประตูก็ยังเป็นบานเฟี้นมอยู่ กลายเป็นที่อยู่อาศัยมากกว่าเป็นตลาด แต่ยังพอมีร้านโชห่วยขายของอยู่ เมื่อเดินเข้าไปในตลาดตามถนนแคบ ๆ พอให้จักรยานขี่ได้ ไปสัก ๒๐๐ เมตร ก็สุดทางถึงท้ายตลาด ตรงสุดทางนี้แหละตรงหน้าคือคฤหาสน์หลังโต ไม่ใช่ท่าเรือแดง แต่ยังมีทางข้าง ๆ คฤหาสน์ให้เดินลงไปยังท่าน้ำได้ แต่ไม่มีเรือแดงมาวิ่งแล้ว ไปรถเร็วกว่า ทางซ้ายของสุดทางคือท้ายตลาดนี่แหละที่ทำให้ผมต้องดั้นด้นมาตามคำเล่าลือคือก๋วยเตี๋ยวไก่ อร่อยนัก แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวร่างท้วม ตั้งแผงขายอยู่ในเพิงที่ต่อออกมาจากบ้าน มีโต๊ะนั่งพอรับคนกินได้สัก ๒๐ คน ข้างหน้าแม่ค้ามีหม้อใหญ่อยู่ ๓ ใบ ใส่น้ำลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว ๑ ใบ ใส่ไก่รวน ๑ ใบ ราคาชามละ ๒๐ บาท แต่ให้เนื้อไก่มากเหลือเกิน มีเส้นเล็ก เล็กอย่างทั่ว ๆ ไป มีเส้นใหญ่แต่ไม่เป็นเส้นใหญ่ธรรมดา แต่เป็นเส้นของก๋วยจั๊บซึ่งเส้นจะโตเหนียวเคี้ยวสนุกนัก ผมไปถึงกำลังหิว "จัด" เลยสั่งเส้นเล็กแห้ง ๒ ชาม (เลขา ฯ ไม่เกี่ยว) เส้นใหญ่น้ำ ๑ ชาม ปรากฎว่าพอเล็กแห้งยกมาไม่ได้ปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น จัดการเรียบหมดชามในเวลาวอันรวดเร็ว ตามด้วยน้ำเส้นก๋วยจั๊บ ให้เขาต้มยำมาให้ ปรุงแต่งมาเก่งนักอย่าปรุงเอง ต้องสั่งให้เขาปรุงต้มยำให้กลมกล่อม เนื้อไก่นั้นมากมายเหลือเกิน ขาวอยู่ในชามทีเดียว จบแล้วชามที่ ๒ ได้แต่นั่งมองก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กแห้งอีกชาม ที่ตะกละสั่งมาเพราะกลัวจะขาดตอน ตัดสินใจสั่งห่อ พร้อมทั้งซื้อกลับบ้านทั้งเกาเหลาต้มยำและก๋วยเตี๋ยวแห้ง คุ้มค่าที่ถ่อร่างมาชิมจนถึงงิ้วรายกลับออกมาจากงิ้วราย ผมลองเลี้ยวขวากลับไปก็จะไปผ่านร้านไก่ย่างตรงหัวมุมเลย อบต.ไปและไปออกยังตลาดท่านา นครชัยศรีได้ ซึ่งตลาดนครชัยศรีเดี๋ยวนี้กลายเป็นแหล่งของกินแหล่งใหญ่ ผลัดเอาไว้ก่อน ผมมีร้านชวนชิมที่ตลาดนครชัยศรีแห่งนี้หลายร้านด้วยกัน ถ้าเราเลี้ยวซ้ายก็จะกลับมายัง ม.มหิดล ตามเดิม ข้ามสะพานตรงไปยังพุทธมณฑล ซึ่งตรงหัวมุมซ้ายมือคงจะจำกันได้ว่าผมเคยชวนชิมก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา "นายเงี๊ยบ" เอาไว้ ซึ่งนายเงี๊ยบนี้ผมชิมเขามานาน ตั้งแต่ร้านของเขาอยู่ที่ถนนบางขุนนนท์ เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ มาเปิดสาขาที่พุทธมณฑลสาย ๔ ซึ่งไปมาสะดวกกว่าบางขุนนนท์ ที่จอดรถไม่สะดวก วิ่งผ่านพุทธมณฑลไปหรือแวะพุทธมณฑลเสียก่อน ตรงข้ามกับทางเข้าพุทธมณฑลคือ ถนนโฆษะ ซึ่งสวยงามมากและใช้เวลาสร้างกันนานนับสิบปี ตอนนี้กลางคืนกลายเป็นตลาดกลางคืน ร้านอาหารย่านนี้เปิดขายกลางคืนแทบทั้งสิ้น กลางคืนจะสว่างไสวไปทั่ว ดูสภาพร้านแล้วเสีดายถนนที่สวย ๆ กว่าร้านเหล่านี้ที่สร้างเป็นเพิงก็มี วิ่งไปจนสุดถนนสาย ๔ ก็ออกสู่ถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ จัดการเลี้ยวขวามุ่งหน้าไปทางนครปฐมจะผ่าน "สามเณราลัย" ทางซ้ายมือ พอสุดรั้วและรอดใต้สะพานคนเดินข้ามถนนแล้วก็จะมีซอยเลี้ยวซ้าย ซอยเทศบาล ๑๕ หรือถนนข้างวัดเทียนดัด วิ่งไปสัก ๑ กิโลเมตร จะถึงปากซอยแยกเข้าหมู่บ้านเทียนดัด วิลเลจ ตรงปากซอยนี้มีร้านอาหารอร่อย บอกไว้ด้วยชื่อ ครัวลายไม้ ขายพวกอาหารจานเดียว ติด ๆ จะเป็นฝรั่งสักหน่อย เช่น ผัดสปาเก็ตตี้ วิ่งตรงต่อไปจะถึงสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี หากจะกินอาหารก่อนให้เลี้ยวเข้าข้างสะพานทางซ้าย จะมีลานจอดรถของร้านแพเรือนน้ำ หากจะกลับมากินขอแนะนำว่าให้ข้ามสะพานแล้ววิ่งตามป้ายไปยังวัดหนองนกไข่ เจ้าอาวาสองค์เดิมคือ หลวงพ่อคับ เป็นเกจิอาจารย์ บวชตั้งแต่เป็นเณร พอบวชพระก็เป็นเจ้าอาวาสเลย เพราะที่ดินที่สร้างวัด การสร้างวัดเป็นของบิดาของท่าน เสียดายที่ท่านเพิ่งมรณภาพ ไปเมื่อสัก ๒ - ๓ ปี มานี้เองอายุสัก ๖๐ ปี คงจะได้ หลวงพ่อคับกับผมสนิทสนมกันมานาน และท่านเป็นผู้ที่มีญาณเข้าถึงองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านจึงสร้างอะไรต่ออะไร ถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไว้มากมาย ไม่มีเงินก็สร้าง สร้างอย่างดีด้วย เพราะท่านบอกว่าสร้างแล้วบอกสมเด็จเงินมาเอง ผมเคยไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ อาคารเอนกประสงค์ให้ท่าน วางแล้วถามท่านว่า ๕ ปีเสร็จไหม ท่านว่าน่าจะเสร็จ แต่พอลงมือสร้างเข้าจริง ๆ ๒ ปี เสร็จ อุโบสถจตุรมุข มีพระพุทธชินราชจำลองเป็นประธาน มีวิหารเจ้าแม่กวนอิมใหญ่โตมาก ส่วนด้านริมแม่น้ำ เดิมสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประทับยืน ต่อมาสร้างทรงม้าหันพระพักตร์สู่แม่น้ำ ต่อมาสร้างตำหนักหรือวังประทับนั่ง ต่อมาสร้างอีก วิหารสี่ทหารเสือและสมเด็จ ฯ ผนวชเป็นพระสงฆ์ มีผู้คนเคารพบูชาไปกราบไหว้ศาลสมเด็จกันมาก และศพของหลวงพ่อคับเองแม้จะมรณะภาพไปแล้วหลายปี ก็ยังไม่เน่าเปื่อย ใส่โลงแก้วตั้งไว้ที่กุฎิเดิมของท่าน ที่ท่านสร้างค้างไว้คือ ศาลาการเปรียญใหญ่โต เลยแนะท่านรักษาการเจ้าอาวาสว่า รอให้ท่านช่วยสร้างศาลาการเปรียญของท่านเสร็จเสียก่อน ค่อยขอพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อ ขอเชิญชวนไปช่วยหลวงพ่อคับ สร้างศาลาการเปรียญ ไปกราบเคารพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดหนองนกไข่ กลับมากินอาหาร ร้านแพเรือนน้ำ ลงข้างทางเข้าร้านที่ข้างซ้ายของสะพานข้ามแม่น้ำ หน้าเรือนแพ กลายเป็นวังมัจฉาไปแล้ว เคยเห็นแต่วังมัจฉาหน้าวัด คราวนี้มาอยู่หน้าแพอาหาร พอเห็นข้าวเขาเหลือก้นจาน บริกรกวาดลงน้ำให้ปลา น่าจะเป็นเหตุให้ปลาติดที่นี่ และอาหารปลาเขาก็มีขายซื้อโยนให้ปลาตอนเรารออาหารก็เพลินดี จานเด็ดคือ กุ้งใหญ่ กุ้งแม่น้ำผัดมะขาม รสเปรี้ยมอมหวาน น้ำผัดซึมเข้าเนื้อกุ้ง เนื้อกุ้งแน่นเหนียว อร่อยนัก ต้มยำกุ้งใหญ่ ในลูกมะพร้าวอ่อน หอม หวานด้วยกลิ่นและรสของมะพร้าวอ่น ซดร้อน ๆ ชื่นใจ ห่อหมกมะพร้าวอ่อน สามพรานดินแดนมะพร้าวอ่อน หอมหวาน ต้องสั่งห่อหมกในมะพร้าวอ่อน เป็ดอบยอดผัก ผัดมากับถั่วลันเตา แครอท เห็ดหอม ข้าวโพด เป็ดทอดก่อนแล้วราดด้วยน้ำผัด ปลาคังลวกจิ้มน้ำจิ้มรสเจ็บ ปิดท้ายด้วยไอศครีม ตามด้วยผลไม้และขาดไม่ได้คือน้ำมะพร้าวสามพรานขนานแท้