ผาตั้ง
ผาตั้ง
ผาตั้ง หรือ บ้านผาตั้ง อยู่ในเขตอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ส่วนภูชี้ฟ้ากลับไปอยู่ในเขตอำเภอเทิง
จังหวัดเชียงราย ซึ่งให้เดาผมคงว่าอยู่ในเขตอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ไปเที่ยวผาตั้งไปที่จุดชมวิวที่ผาตั้ง มองดูลาวที่อยู่ต่ำลงไป หรือจะเดินผ่านช่องเขาขาดที่ลักษณะเมือนประตู
เรียกว่าประตูสยาม
พอเดินผ่านออกไป ก็กลายเป็นป่าประเทศลาว และข้อสำคัญคืออาหารยูนานที่ผาตั้งอร่อยโดยเฉพาะ
ขาหมู หม่านโถว เด็ดจริง ๆ
ทบทวนเส้นทางไปภูชี้ฟ้าอีกที ถ้าไปจากกรุงเทพ ฯ เส้นทางที่จะไปยังภูชี้ฟ้า
และผาตั้งเส้นที่สะดวกที่มนุษย์ธรรมดาเขาไปกัน (ผมประเภทมนุษย์อุตริ)
เส้นทางแรก จากกรุงเทพ
ฯ ไปลำปาง ต่อไปอำเภองาว ไปจังหวัดพะเยา เลียวขวาไปอำเภอคำใต้ ไปอำเภอเชียงคำ
ไม่เข้าอำเภอเลี้ยวซ้ายไปเลี้ยวเข้าถนนสาย ๑๐๙๓ ไปยังกิ่งอำเภอภูซาง ผ่านน้ำตกภูซาง
บ้านฮวก เกษตรที่สูงดอยผาหม่น อุกฤ ฟาร์ม (๐๑ ๙๙๒๘๓๘๔) ที่คณะของผมพักเมื่อไปภูชี้ฟ้าเมื่อตอนปีใหม่
ตรงต่อไปจะพบทางแยกไปผาตั้ง และภูชี้ฟ้าห่างจากอุกฤษ์ฟาร์ม ๖ กม.
เส้นทางที่สอง สะดวกสบายดว่าเส้นทางแรก แต่น่าจะไกลกว่า
คือไม่เลี้ยวเข้าดอกคำใต้ที่พะเยา ตรงต่อไปยังเชียงรายก่อนถึงตัวเมือง มีทางแยกขวาไปอำเภอเทิง
ถึงเทิงแล้วมีทางแยกขวาไปเชียงคำ แยกซ้ายไปอำเภอเวียงแก่นและเชียงของ เราไปทางอำเภอเชียงของ
ซึ่งถนนสาย ๑๑๒๙ ช่วงเวียงแก่นมาเชียงของนั้นเลียบลำน้ำโขงซึ่งเกาะแก่ง กลางลำน้ำสวยงามมาก
จากเวียงแก่นลงมาตามสาย ๑๑๕๕ มายังบ้านปางหัด แล้วแยกไปผาตั้งอีก ๑๑ กม.
แต่อุตริอย่างผม พอมาผาตั้งแล้วผมไม่ไปทางเวียงแก่น พอถึงปางหัดก็แยกซ้ายมายังบ้านเชงเม้ง
บ้านปางค่า ตามถนนสาย ๑๑๕๕ และมาออกเทิง ที่อตริมาเพราะอยากดูพื้นที่ที่เคยเอากองร้อยปืนใหญ่กองร้อยแรกเข้ามาตั้งยิง
ผกค. ที่บ้านค่านี้เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๑ อยากดูแค่นั้น ก็ได้ดูสมใจคือ
ได้ดูแต่หมู่บ้านปางค่าที่เจริญเติบโตไม่มีแววของปางค่าเมื่อ ๓๓ ปีก่อนเหลือให้เห็นเลย
ผมได้ดูภูชี้ฟ้าก่อนและพักที่อุกฤษ์ ฟาร์ม ๑ คืน โทร ๐๑ ๙๙๒๘๓๘๔ เช้ามืดก็ไปชมทะเลหมอก
ที่สวยที่สุดที่เคยเห็นมา ชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่ภูชี้ฟ้า ส่วนพระอาทิตย์ตกนั้นก็ดูตรงที่พักนั่นแหละสวยดีเช่นกัน
ส่วนที่ผาตั้งก็จะชมทะเลหมอกให้ชมเช่นกัน แต่ไม่งามและกว้างใหญ่เท่าที่ภูชี้ฟ้า
จากภูชี้ฟ้า กลับลงมากินข้าวที่ที่พัก แล้วไปเกษตรที่ดอยผาหม่น (สูง ๑.๐๓๐
เมตร) ชมไม้ดอก ไม้ประดับ ดอกไม้เมืองหนาว โดยเฉพาะดอกทิวลิป และ ลิลลี่จะออกดอกบานในเดือนพฤศจิกายน
ถึงเดือนกุมภาพันธ์ หาชมได้แห่งเดียวในเมืองไทย ดอยผาหม่นนี้รวมถึงภูชี้ฟ้าเอาไว้ด้วย
ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากชมทะเลหมอกได้แล้ว ยังได้ชมเทศกาลทุ่งเสี้ยวบาน
หรือชงโคป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติบานงามยิ่งนัก ส่วนในเดือนธันวาคม ปลายเดือนถึงต้นเดือนมกราคม
ก็จะได้ชมเทศกาลปีใหม่ของชาวเขาม้ง สวดมนต์โดยหมอผี ๓ วัน ๓ คืนยังไม่เลิก
เขาบอกว่าเสน่ห์ของดอยผาหม่นคือ "ภูชี้ฟ้า ทะเลหมอก ดอกทิวลิป และเทศกาลดอกเสี้ยวบาน"
เส้นทางจากทางแยกที่ไปภูชี้ฟ้ามายังผาตั้งนั้นจะมีทางแยกขึ้นภูชี้ฟ้าได้อีกทางหนึ่งและจะผ่านที่พักอีกหลายต่อหลายแห่ง
และผ่านศูนย์ศิปาชีพ ร่มฟ้าทอง เมื่อเข้าเขตบ้านผาตั้งเห็นหลัก
กม.๙๓๓ ผาตั้งห่างจากศูนย์เกษตรที่สูงดอยผาหม่น ๓๗ กม. (ตามเลข กม, ในรถของผม)
ทางขวามือก่อนเข้าหมู่บ้าน จะเห็นตึกหลังใหญ่อยู่ทางขวามือ และบ้านหลังโต
ๆ แบบบ้านในเมืองอีกหลายหลังวึ่งบ้านเหล่านี้คือบ้านของคนไทย เชื้อสายจีน
หรือที่เรียกกันว่าจีนฮ่อนั่นเอง ลองมาทบทวนประวัติย่อ ๆ ของเขาซึ่งเวลานี้ได้สัญชาติไทย
ชื่อไทย เป็นคนไทยไปหมดแล้ว และหลายพวกที่เข้าพักการรบร่วมกับทหารไทย เพื่อต่อสู้กับ
ผกค.ที่ยึดอยู่ที่เข้าค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ มาแล้ว ล้มตายไปก็ไม่ใช่น้อย จนมีอนุสาวรีย์เล็ก
ๆ ของจีนฮ่ออยู่บนเขาค้อ ตลอดจนการสู้รบกับ ผกค. เพื่อช่วยแย่งยึดแผ่นดินไทยจากอิทธิพลของ
ผกค. และเพื่อเป็นที่ตั้งหมู่บ้านของพวกเขาตามที่ทางการไทยยินยอมให้จัดตั้งหมู่บ้านได้
ผลของการสู้รบตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ - ๒๕๑๗ ทหารจีนชาติ (ทจช.) ล้มตายไปถึง ๘๑ นาย
และบาดเจ็บอีกกว่า ๒๐๐ คน มาดูความเป็นมาของพวกเขาที่กลายมาเป็นคนไทย
๒๔๘๔ สงครามมหาเอเซียบูรพา เริ่มสงครามโดยกองทัพญี่ปุ่น กองพล ๙๓ จากจีนเข้ามาประจำแคว้นเชียงตุง
มีกำลัง ๓ กรม
๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่น ตีโต้กลับเข้าไปตั้งอยู่ภาคใต้ของมณฑลยูนาน
๒๔๘๔ ๒๔๘๘ กองพล ๙๓ คงตั้งอยู่ในสิบสองปันนา ภาคใต้ของยูนาน มีการปะทะกับทัพไทยบ้างเพราะขณะนั้นทหารไทยยึดอยู่ในแคว้นเชียงตุง
๒๔๘๘ ญี่ปุ่นแพ้สงคราม กองพล ๙๓ ได้รับคำสั่งให้ไปปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น
๒๔๘๙ กองพล ๙๓ ถอนกำลังจากลาวกลับไปยูนาน ขึ้นกับกองทัพที่ ๒๖
๒๔๙๒ กำลังพลบางส่วนประมาณ ๗๐๐ คนเศษ หลบภัยคอมมิวนิสต์ในจีน
มาตั้งอยู่ที่บริเวณจังหวัดขี้เหล็กของพม่า
๒๔๙๓ พม่าโจมตีขับไล่ ย้ายจากท่าขี้เหล็กไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองสาดในพม่า
ทางไต้หวันได้ส่ง นายพล หลี่หมี อดีตแม่ทัพที่ ๘ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในการรบ
หลบหนีมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปอยู่ในไต้หวัน ให้มาเป็น ผู้บัญชาการทหารจีนพลัดถิ่น
ตั้งกองบัญชาการที่เมืองสาด
๒๔๙๓ - ๒๔๙๗ นายพล หลี่หมี สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่กองกำลังทหารที่เมืองสาด
จนเป็นผลให้มีทหารจากอาสาสมัครพลเรือนที่ลี้ภัยคอมมิวนิสต์มาร่วมด้วย
ทำให้มีกำลังมากถึงสองหมื่นคน
๒๔๙๘ - ๒๕๐๓ ช่วงสุดท้ายของสงครามเกาหลี สหรัฐ ฯ ต้องการตรึงกำลังจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ให้ช่วยเกาหลีได้ถนัด
จึงสนับสนุนกองกำลังทหารจีนพลัดถิ่น ด้วยการจัดตั้งบริษัทตะวันตก
ส่งกำลังบำรุงให้ทหารจีนพลัดถิ่น ทหารจีนพลัดถิ่นย้ายไปตั้งมั่นใหม่
ณ ที่เชียงลับ ติดต่อกับเขตลาว
๒๔๙๘ ถูกไต้หวันเรียกตัวกลับ เพราะมีความขัดแย้งกับรัฐบาลไต้หวัน และตั้งให้
นายพลหลิว เหยียน หลิง อดีตนายทหารคนสนิทของ จอมพล เจียงไคเช็คซึ่งเป็น
"รอง" อยู่แล้วขึ้นเป็น ผู้บัญชาการแทน
๒๕๐๓ เป็นต้นมา พม่าเริ่มปราบปราม ผลักดันทหารจีนพลัดถิ่น หรือ ทจช.อย่างรุนแรง
๒๕๐๔ การสู้รบกับพม่าเป็นผลให้กำลังที่ เชียงลับ แตกพ่าย
คุมกันไม่ติด บางส่วนหลบเข้าไปในลาวและบางส่วนของ นายพล "ต้วน"
ซีเหวิน เข้ามายึดที่มั่นที่ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย
พม่าร้องขอต่อ สหประชาชาติให้ขนทหารจีนพวกนี้กลับไปเสียที แต่พวกนี้ไม่ยินยอม
เมื่อปี ๒๔๙๖ มีการขนย้ายทหารจีนพลัดถิ่นรุ่นแรกกลับไต้หวัน ๗,๗๘๕ คน
๑ ในผู้แทนทหารไทย ที่เข้าประชุมกรรมการ ๔ ชาติ (ไทย จีน พม่า และสหรัฐ
ฯ) คือ พันโท ชาติชาย ชุณหวัน
๒๕๐๔ พม่าร้องเรียนต่ออีก คราวนี้ขน ทจช.กลับไปได้ ๔,๓๔๙ คน ทจช.เริ่มอพยพหลบหนีการกวาดล้างของพม่าอย่างจริงจัง
เข้าสู่ประเทศไทย พวกนายพล ต้วน มีกำลังที่เข้มแข็งที่สุด รองลงมาคือกลุ่ม
นายพล ฟู จนหยัน นายพล วู จิน หน่าน เริ่มเข้ามาอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงคำ
อำเภอแม่จัน ถืออาวุธแต่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบทหารจีนอีกแล้ว และที่สำคัญคือกลุ่ม
วู จิน หน่าน นั้น ทำการค้าผิดกฎหมาย (ฝิ่น) และเชื่อว่าค้ากันทุกกลุ่ม
เพื่อหาเลี้ยงชีพของตนเอง ค้าขายผิดกฎหมาย รับจ้างคุมกองคาราวานฝิ่น
เก็บค่าคุ้มครอง ค่าผ่านทาง ค่าลำเลียงฝิ่นของกลุ่มอื่น เช่นจากพวกขุนส่า
จากการเก็บภาษีเถื่อนจากกองลำเลียงฝิ่น (ส่วนใหญ่ ลำเลียงจากรัฐโกกั้ง
ถิ่นที่มีฝิ่นดีที่สุดในโลก) จ้าวฟ้าเมืองดอยหม่น รัฐฉาน เป็นไทยใหญ่
เชื้อชาติจีน ชื่อขุนส่า เป็นพวกของหนุ่มศึกหาญ มีกำลังติดอาวุธจำนวนมากจะลำเลียงฝิ่นไปยังแหล่งอื่น
ๆ เสมอเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ขุนส่านำกองลำเลียงประมาณ ๒๐๐ คน ลำเลียงฝิ่นจากแสนหวี
ไปยังห้วยตั้งในลาวและเลี่ยงการจ่ายภาษีเถื่อนแก่ ทจช. พวกนี้แค้นจึงไปรอดักตอนกลับจากส่งฝิ่นที่บ้านกว้าน
เขตลาว เกิดปะทะกันอย่างหนัก รบกันในพื้นที่ลาว ลาวเลยส่งเครื่องบินฝึก
ที.๒๘ เอาระเบิดมาโยนใส่ทั้ง ๒ พวก การสู้รบจึงยุติ แต่กองพล ๙๓ ก็ไม่สามารถสกัดกั้นมิให้
ขุนส่าเข้าพม่าได้ และจีนเองต้องถอนกำลังอย่างเร่งด่วน เข้าเขตไทยอย่างเปิดเผยทางอำเภอ
เชียงแสน เพื่อกลับเข้าที่ตั้งที่อำเภอแม่จัน ไทยไม่สามารถล่วงรู้แผนของเขาว่าจะเอาอย่างไร
และพิจารณาว่าอาจจะเข้ามาสู่พื้นที่ราบของไทยได้ ผู้บังคับการกรมผสมที่
๗ พร้อมด้วยผู้บังคับกองพันทหารราบที่เชียงราย และผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่
๗ จากเชียงใหม่ (คนที่ชื่อ โอภาส นั่นแหละ) ขึ้น ฮ. พร้อมทั้งมีเครื่องขยายเสียง
มีคนประกาศภาษาจีนได้ขึ้น ฮ. ดูการเคลื่อนที่ของทหารจีน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนและประกาศให้กลับขึ้นเขาไปโดยด่วน
ตอนนั้นลงมาเดินในพื้นที่ราบแล้ว หากไม่นำกำลังกลับไปจะยิงด้วยปืนใหญ่
(ก็ของกองพันผมนั่นแหละ) เขาก็เชื่อฟังดี ยอมเสียเวลาเดินกลับด้วยการเดินขึ้นเขาไปตามแนวชายแดนไทย
พม่า อิทธิพลของ ทจช.เริ่มหมดไป ขุนส่าเริ่มเข้มแข็งมากขึ้น
ทหารไทยต้องตรึงกำลังชายแดน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ฝ่าย ทจช. ยินยอมมอบฝิ่นในครอบครองทั้งหมดกว่า
๔๐ ตัน ให้รัฐบาลไทย นำเอาไปเผาที่หลังกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗
(ตอนนั้นผมไปรบเวียดนามและกลับมาเป็นอาจารย์ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก) และนายพล
ต้วน ให้สัญญาต่อนายกรัฐมนตรีไทย คือ จอมพล ถนอม กิตติขจร ว่า
"จะไม่ทำการค้าและลำเลียงฝิ่นต่อไป"
รัฐบาลไทยเริ่มควบคุมการอพยพ การตั้งถิ่นฐานในไทย อพยพ ทจช.ออกจากดอยผาหม่น
ดอยหลวง ทำให้พื้นที่ว่าง ผกค.แทรกซึมเข้ามาแทนที่และแผ่อิทธิพลลงมายังน่าน
แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ฯ ไทยจึง ตกลงที่จะแบ่งกำลังของ
ทจช.ให้ไปตั้งถิ่นฐานในดอยผาหม่น ดอยยาว ดอยหลวง ในเขตอิทธิพลของ
ผกค.คราวนี้รบกันแหลก ติดอาวุธให้ ทจช. และ ทจช. ต่อสู้จนได้ชัยชนะ
จึงปลดอาวุธจัดที่ทำกินให้ ให้เขาเลี้ยงชีพอย่างสามัญชนคนไทย
เช่นปลูกต้นชา ปลูกลูกท้อ เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เลิกสอนภาษาจีน
เรียนอย่างไทย ผาตั้งเกิดขึ้นในตอนนี้ คือ วันนัดพบ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๓
(ผมเล่าย้อนไปหน่อย) กำลังจาก กองทัพ ๓ และ ๕ ได้เดินทางโดยรถยนต์ทหารไทย
เข้าสู่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยหลวง
เพื่อจัดตั้งหมู่บ้านแม่แอบ
และ "บ้านผาตั้ง"
ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของ ผกค. และต้องทำการรบราฆ่าฟันกับ ผกค.จนบ้านเมืองสันติสุข
ส่วน ทจช. อีกหลายด้านเช่นที่ดอยแม่สลอง ก็ในทำนองคล้าย ๆ กัน
คือไม่ต่อสู้กับไทย ยอมอยู่อย่างสันติและกลายเป็น คนไทยไป
ผาตั้งจึงเริ่ม
"ตั้ง"กันตั้งแต่ปี
๒๕๑๓ เป็นต้นมา
ดังนั้นเมื่อเราไปเยี่ยมเอาปี ๒๕๔๔ ผาตั้งจึงมีตึก มีบ้านหลังโต เป็นผาตั้งที่เจริญแล้ว
รถเข้าถึงอย่างสะดวกสบาย มีไฟฟ้าใช้ เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่โตติดกับลาว
และเมื่อวิ่งรถเข้าเขตหมู่บ้านหลังมหึมาแล้วก็จะมีทางชันลิ่วเลี้ยวขวาหักขึ้นสู่จุดชมวิวและไปยังประตูสยามของช่องเขาขาดได้
ต้องตั้งหลักขึ้นให้ได้ไม่งั้นอดดูความงดงาม
รวมทั้งทะเลหมอกยามเช้า แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่าทะเลหมอกที่ภูชี้ฟ้า
บนยอดดอย ณ จุดชมวิวมีศาลา มีพระพุทธรูปประทับนั่ง แต่ฐานของพระพุทธรูปนั้นสร้างยื่นเข้าไปในเขตลาว
คงจะไม่เกินฟุต เพราะพระองค์ไม่โต ลาวประท้วงหาว่าาล้ำแดนเขา
แหมน้องลาวเราก็นับถือพุทธด้วยกัน คนสร้างไม่เห็นแนวสันเขาเรียกว่าไม่รู้จักเลยสร้างฐานพระล้ำไปไม่น่าบ่น
ลงจากจุดชมวิวแล้ววิ่งเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อหาข้าวกินมื้อกลางวัน วิ่งเรื่อย
ๆ ตามทางที่จะลงจากผาตั้ง ถึงสามแยกเลี้ยวขวามาหน่อยหนึ่งจะเห็นทางซ้ายมือมีที่พัก
มีร้านอาหารอ่านชื่อได้ความว่า "ผาตั้งฮิลล์" ประมาณ กม.๙๓๙.๔ โทร ๐๑ ๙๕๐๘๙๘๒
สอบถามแล้วเขาบอกว่าร้านของเขามีอาหารขายทั้งปี แต่เป็นประเภทตามสั่งอย่างง่าย
ๆ เพราะคนเดินผ่านมีน้อยเว้นช่วงมาชมทะเลหมอกกันคนเดินทางผ่าน หรือมาพักจึงจะมีมาก
เขาก็จะทำอาหารจานเด็ดของเขาไว้คือ ขาหมู หม่านโถว หากพ้น
๔ เดือน หน้าหนาวอยากกินให้โทรขึ้นมาบอกล่วงหน้า มาพักยิ่งได้กินแน่
ห้องพักของเขาในเกณฑ์ดี สะอาด พักได้ห้องละ ๔ คน สุขามาตรฐานเสียด้วย
ห้องละ ๕๐๐ บาท และยังมีที่กางเต๊นท์วันที่พวกเราไปถึงนั้นตรงที่กางเต๊นท์มี
๓ - ๔ สาวใจเด็ด มากางเต๊นท์พักและกำลังทำอาหารกันอยู่ บอกว่าออกจากกรุงเทพ
ฯ เวลา ๑๗.๐๐ ผลัดกันขับมาตลอดคืนจนถึงภูชี้ฟ้าชมทะเลหมอกแล้วมาเช่าที่กางเต๊นท์พักที่ผาตั้งฮิลล์
(เรียกว่า ๕๐๐ บาท ไม่ยอมเสีย) น่ารักมากแถมยังหมักหมูมาจากกรุงเทพ ฯ
ตอนเราแวะเข้าไปเยี่ยมกำลังปิ้งหมูหอมทีเดียว แถมยังมีน้ำใจให้เราชิมเสียอีก
อาหารจานเด็ดของร้านผาตั้งคือ ขาหมู ใส่เครื่องเทศจนหอม ไม่มีพะโล้
ใช้หมูขาหน้ามันไม่มีเนื้อนุ่มหนึบ เคี้ยวสนุกอร่อยมาก โดยเฉพาะน้ำจิ้มของเขาเด็ด
หม่านโถวสีน้ำตาลอ่อน ๆ ร้อนโฉ่ บิจิ้มขาหมู หมูผัดขิง ก็ผัดเก่ง
ถั่วลันเตาผัด กรอบ เขาปลูกเอง และผัดบร๊อคเคอรี่ปลูกเองอีกนั่นแหละจึงสด
หวานกรอบ เมื่ออิ่มแล้วรถผมคันเดียวคงแยกลงมาทางปางหัด ไปออกปางค่าตามที่ตั้งใจไว้
ส่วนรถในคณะอีก ๓ คัน ลงปางหัดแล้วไปทางเวียงแก่น เลาะริมโขงไปเชียงของ
เชียงแสน ไปนอนกันที่แม่สลอง ผมมานอนเชียงใหม่จบการไปชมทะเลหมอก
ของปี ๒๕๔๔
ต้องขอขอบคุณอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา พ.อ.กาญจนะ ประกาศวุฒิสาร
ซึ่งได้หาข้อมูลและเอกสาร เกี่ยวกับทหารจีนชาติหรือกองพล ๙๓ ให้
นายทหารผู้นี้เกาะติดอยู่กับหน่วยงานที่เรียกว่า บก.หน่วยเฉพาะกิจ ๓๒๗ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการควบคุมและพัฒนาสังคมอาชีพผู้อพยพอดีต
ทจช. มานานตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ จึงได้ข้อมูลที่ละเอียดและถูกต้องจริง ๆ ขอบคุณนะน้อง
|