อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
ผมเดินทางไปที่อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่ได้ตั้งใจไปเที่ยว
และที่อำเภอนี้มีโบราณสถานสำคัญที่ควรแก่การไปชมอย่างยิ่ง คือ ปราสาทหินเปือยน้อย เลยขอเอามาเล่าไว้ด้วย ปราสาทหินแห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่โตเหมือนปราสาทหินพิมาย แต่ก็ได้รับการบูรณะแล้วจากกรมศิลปากรสวยงามยิ่ง สถานที่ตั้งก็อยู่บนเหนินกลาง
อำเภอเลยทีเดียว โดดเด่นเป็นสง่า และสถานที่โดยรอบก็สะอาดงดงาม แถมนักท่องเที่ยวคงจะยังไปกันน้อยมาก
จึงไม่มีการเก็บสตางค์ค่าเข้าชม ขนาดของปราสาท หากจะเทียบคงจะใกล้กับปราสาทศรีขรภูมิที่จังหวัดสุรินทร์
แต่สถานที่ตั้งปราสาทเปือยน้อยจะได้เปรียบกว่า อำเภอเปือยน้อย พึ่งจะยกฐานขึ้นมาจากกิ่งอำเภอ
ชุมชนรอบที่ตั้งอำเภอจึงไม่ใหญ่โต และยังหาร้านอาหารชาวนชิมไม่ได้ มีแต่ร้านอาหารแก้หิวอยู่เลยปราสาทไป
ขายไก่ย่าง ผมไปเลยขอให้เขาทอดไข่เจียวเพิ่มให้ จะได้กินกับข้าวสวยได้ เพราะผมขับรถทางไกลกินข้าวนึ่งแล้วง่วงนอน เส้นทางไปปราสาทเปือยน้อย ไปจากกรุงเทพ
ฯ จนถึงอำเภอบ้านไผ่ ก็เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางที่จะไปมหาสารคาม ไปอีก ๑๑ กม.
จะมีถนนแยกขวาให้เลี้ยวขวาตามป้ายไปอำเภอเปือยน้อย คราวนี้หลายเลี้ยวตามป้ายเปือยน้อยไปเรื่อย
ๆ ก็แล้วกัน จนพบปราสาทอยู่กลางพื้นที่อำเภอทางขวามือ ตอนกลับจกาเปือยน้อยคงกลับมาผ่านอำเภอบ้านไผ่
แล้วเลี้ยวซ้ายมาตามถนนสาย ๒ หรือมิตรภาพ จนถึงอำเภอพล (ยังไม่ถึงสี่แยกที่จะเลี้ยวไปพิมาย)
พอมาถึงสี่แยกที่มีไฟสัญญาณของอำเภอพล ก็กลับรถมาสัก ๒๐๐ เมตร แวะกินไก่ย่างอร่อย
หากมาจากนครราชสีมาให้วิ่งเลยสี่แยกอำเภอพล (จังหวัดขอนแก่น) ไป ๒๐๐ เมตร
ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือ อาหารอร่อยที่ต้องสั่งก็คือ ไก่ย่างหนังกรอบ หม่ำหมู
(หม่ำอร่อยที่พบคือ ที่ชัยภูมิและ อ.พล) ส้มตำใส้กรอกอีสาน ต้มแซ๊บซี่โครงหมู
ไปปราสาทหินพิมาย จะผ่านแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ตั้งแต่น้ำตกมวกเหล็ก
จังหวดสระบุรี ไปผ่านลำตะคอง
ที่ฤดูน้ำ น้ำจะเต็มอ่างสวยนัก จะไม่สวยก็ตอนที่ปล่อยให้มีการสร้างร้านอาหารริมขอบอ่างจนเต็มไปหมด
แทนที่จะได้ชมความงามในอ่างน้ำลำตะคอง พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะได้ชมแผงปิ้งปลา
ปิ้งไก่แทน เว้นตอนผ่านสีคิ้วไปแล้ว มีจุดชมวิวที่งดงามยิ่งหลายจุดต่อเนื่องกันไป
เช่น สวนท้าวสุรนารี
สวนน้าชาติ ศูนย์บริการของทางหลวง เป็นต้น จะไม่มีร้านอาหารมาบดบัง
ออกไปยืนชมวิวได้สบาย และมีสุขาที่เป็นสากลสร้างไว้บริการ เป็นที่ไชโย โห่ร้องของคนสูงอายุ คนพิการ คนอ้วนและชาวต่างประเทศ ศูนย์บริการของทางหลวงทั้งประเทศไทยมีเพียง
๕ แห่ง เท่าที่ผมพบคือ ที่ กม.๑๘๕ ทางหลวงหมายเลข ๑ ชัยนาท ที่ กม.๓๓ ศูนย์บริการทางหลวงขุนตาน
อ.ห้างฉัตร ลำปาง ส่วนทางใต้ระยะทางยาวกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร พบแห่งเดียวที่
กม.๔๓๑ ก่อนถึงชุมพร และอีกแห่งก็ที่ริมลำตะคองนี่แหละ มีกับเขาอยู่แค่นั้
หากจะบริการประชาชน จะส่งเสริมการท่องเที่ยวกันให้จริงจัง กรมทางหลวงแผ่นดินควรสร้างทุกเส้นทางหลัก
และทุกระยะ ๑๐๐ กม. เช่นตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๑,๒,๓ และ ๔ เป็นต้น และเปิดจำหน่ายสินค้าโอท๊อปเป็นประจำ ถามแม่ค้าดูบอกว่า เก็บค่าที่แพงไปเลยขายไม่ออก
เพราะต้องขายให้ได้ราคาต่ำกว่าในท้องตลาดด้วย จึงจะขายดี และเป็นแหล่งรวมที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวตั้งใจมาแวะซื้อสินค้าโอท๊อปกัน
ที่ศูนย์บริการทางหลวง ฯ เลยทีเดียว ไม่ต้องไปวิ่งหาซื้อที่ไหน
มีปราสาทอีกแห่งก่อนถึงทางแยกไปปราสาทพิมายคือ ปราสาทพนมวัน
ควรแก่การแวะไปชมอย่างยิ่ง เมื่อเลยสูงเนินมาแล้ว ก่อนเข้าตัวเมืองโคราชก็จะมีทางบายพาส
ยกป้ายว่า ไปขอนแก่น หากเลี้ยวซ้ายมาตามเส้นทางหมายเลข ๒ นี้อีก ๑๒ กม. จะมีทางแยกขวา
เลี้ยวขวาไป ๕ กม. จะถึง ปราสาทพนมวัน ผมไปครั้งสุดท้ายเมื่อสัก ๓ ปีมาแล้ว
ตอนนั้นกรมศิลปากรกำลังเร่งบูรณะเป็นการใหญ่ ขนาดกำลังบูรณะยังงดงาม ผ่านมาแล้ว
๓ ปีคงจะบูรณะเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว จะไปชมพิมายไม่ควรข้ามปราสาทพนมวันไป
และอีกแห่งคือ บ้านปราสาท
ชุมชนเก่าเคยเป็นแหล่งโบราณคดีดั้งเดิม รุ่นเดียวกับบ้านเชียง ที่จังหวัดอุดร
ไปบ้านปราสาทเลี้ยวซ้ายประมาณ กม.๔๔.๔๐๐ ก่อนจะเลี้ยวไปพิมาย ที่บ้านปราสาท
มีพิพิธภัณฑ์ มีชุมชน มีแหล่งโบราณคดี มีหมู่บ้านที่สะอาดเป็นตัวอย่าง
และมีโฮมสะเตย์ ผมไปเมื่อหลายปีมาแล้ว มีโฮมสะเตย์มากถึง ๔๒ บ้าน ป่านนี้คงมีเป็นร้อยแล้วกระมัง
และหมู่บ้านนี้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ พาต้าโกลด์ ประเภทโฮมสะเตย์ดีเด่น
เมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๔ ซึ่งเป็นรางวัลนานาชาติ
จากทางแยกเข้าบ้านปราสาท เลยไปอีกนิดเดียวจะถึง กม.๕๐ มีสี่แยกตลาดแคมีไฟสัญญาณจะไปพิมาย
ให้เลี้ยวขวา พอเลี้ยวขวามาสักหน่อย ทางขวามือจะมีโรงงานทำเกลือ ด้วยการสูบน้ำจากใต้ดินที่เป็นน้ำเค็ม
เพราะเมื่อหลายพันปีมาแล้ว อีสานก็อยู่ใต้ทะเลเหมือนกัน ยิ่งลึก ยิ่งมีเกลือมาก
แต่โรงงานทำเกลือที่นี่ ทำแบบนาเกลือคือ สูบน้ำมาตากให้แห้ง ไม่ใช่แบบทำเกลือสินเธาว์
ที่สูบน้ำเอามาเคี่ยวจนแห้งได้เกลือ เลยโรงงานทำเกลือไปอีกประมาณ ๙ กม. จะถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอพิมาย ก่อนถึงทางซ้ายมือเรียกว่า ติดกับโรงพยาบาลคือ
ร้านอาหารที่จะพามาชิม จะพามาชิมเป็ดย่าง เพราะเป็ดย่างพิมายนั้น มีเอกลักษณ์ของตัวเองไม่เหมือนใคร
ไม่มีใครย่างเป็ดแบบพิมาย อดใจรอไว้ก่อนเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง
ผ่านร้านเป็ดย่างพิมายไปแล้ว ผ่านโรงพยาบาลแล้วจะมาถึงสี่แยกน้อย ๆ
หากเลี้ยวซ้ายไปอีก ๒ กม. ก็จะได้ชมไทรงาม
เป็นต้นไทรที่มีพุ่ม กิ่งก้านสาขาแผ่ปกคลุมทั่วพื้นที่ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า
๑๐๐ เมตร ตอนนี้สวยน้อยไปหน่อย เพราะร้านอาหารแผงอาหารตั้งกันเต็มไปหมด
ไปปราสาทหินพิมายเสียก่อนแล้ว กลับมากินอาหารอิ่มแล้วค่อยไปไทรงามก็ได้
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย
พอข้ามสะพานไปแล้วก็จะถึงพิพิธภัณฑ์อย่าเลยไปเป็นอันขาด ควรเข้าชมพิพิธภัณฑ์พิมายก่อนไปชมปราสาทพิมาย
จะได้ความรู้ในการไปชมมากขึ้น เรียกว่าเจาะชมได้ถูกจุด
เลยทางเข้าพิพิธภัณฑ์ไปหน่อยก็จะถึงสี่แยก เลี้ยวขวาเข้าที่จอดรถที่อยู่หน้าทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
เมื่อเข้าประตูไปแล้วหากเดินเลี้ยวขวา จะมีร้านขายภาพ ขายหนังสือของกรมศิลปากร
และของที่ระลึก เสียดายที่หนังสือดี ๆ ที่ผลิตโดยกรมศิลปากรราคาก็ไม่แพง มักจะเอามาวางขายตามพิพิธภัณฑ์
หรือโบราณสถานน้อยเกินไป ด้านหลังร้านมีสุขาพออาศัยได้
หากเข้าประตูมาแล้ว เลี้ยวซ้ายก็จะไปยังตัวปราสาทหินพิมาย
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพิมายนี้ เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนา
ลัทธิมหายาน ตั้งอยู่ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ชื่อ พิมาย
น่าจะมาจากคำเดียวกันกับชื่อ วิมาย ที่ปรากฎอยู่ในจารึกภาษาขอม บนแผ่นหินกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทหินพิมาย
คำว่า พิมาย ปรากฎเป็นชื่อเมืองในศิลาจารึก พบในปราสาทขอมหลายแห่ง แม้รูปคำจะไม่ตรงกันที่เดียวนัก
แต่เชื่อกันว่าหมายถึง เมืองพิมาย อันเป็นที่ตั้งของปราสาทพิมาย โดยเรียกว่า
เมืองวิมาย หรือวิมายะปรุะ (จารึกปราสาทพระขรรค์ พุทธศตวรรษที่ ๑๘) ข้อความในจารึกที่กล่าวว่า
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของขอม โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง
(อโรคยาศาล โรงพยาบาลขอม) จากราชธานีมายังเมืองพิมายรวม ๑๗ แห่ง แสดงถึงความสำคัญของพิมาย
ที่เกี่ยวพันกับราชอาณาจักรขอม พระเจ้าชัยวรมันสร้างอโรคยาศาลไว้ทั่วราชอาณาจักร
ของพระองค์มากถึง ๑๐๒ แห่ง
ปราสาทหินพิมาย คงจะเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
และได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในแผ่นดินของพระเจ้าชัยวรมันที่
๗ กำหนดอายุปราสาทจากหลักฐานต่าง ๆ เช่น ศิลาจารึก ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ภาพจำหลักประดับสถาปัตยกรรม
ซึ่งในปราสาทขอมนิยมแกะสลักลงในเนื้อหินส่วนต่าง ๆ ของอาคาร เช่น หน้าบัน
ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู และเสาประดับผนัง ภาพจำหลักเหล่านี้ นอกจากจะแสดงลักษณะทางศิลปะ
ที่ช่วยในการกำหนดอายุขัยแล้ว ยังสามารถศึกษาคติทางศาสนา ขนบธรรมเนียม
ประเพณี ตลอดชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น ๆ ด้วย
การดำเนินงานของกรมศิลปากร
พ.ศ.๒๔๗๙ ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมาย เป็นโบราณสถาน
พ.ศ.๒๕๐๗ - ๒๕๑๒ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส ดำเนินการบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส
โดยมี นายแบร์นารด์ ฟิลลิปป์ โกรล์ลิเยร์ และศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจ
จิตรพงศ์ เป็นผู้อำนวยการบูรณะ
พ.ศ.๒๕๑๙ - ๒๕๓๒ กรมศิลปาการจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้น
เพื่อทำการบูรณะและปรับปรุงเมืองพิมาย จนแล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้
วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๒ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จ ฯ พระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
บริเวณที่ตั้งของปราสาทพิมาย หากดูจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นได้ชัดเจนว่า
เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูและกำแพงเมืองล้อมรอบ
มีศาสนสถานอยู่กลางเมือง ล้อมรอบไปด้วยชุมชนใหญ่น้อย ตัวเมืองตั้งอยู่ในทำเลที่สมบูรณ์ด้วยน้ำ
เพราะมีลำน้ำไหลผ่านรอบเมือง ได้แก่ ลำน้ำมูล ไหลผ่านทางทิศเหนือ และทิศตะวันออก
ลำน้ำเค็มไหลผ่านทางทิศใต้ ลำน้ำจักรราชไหลผ่านทางทิศตะวันตก แล้วไหลไปบรรจบกับลำน้ำมูลที่ท่าสงกรานต์
ภายในตัวเมืองมีแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ ได้แก่ สระแก้ว
สระพลุ่ง สระขวัญ ส่วนภายนอกเมืองก็มีสระน้ำขุดไว้อีก
คือ สระเพลง สระโบสถ์ สระเพลงแห้งทางทิศตะวันตก
และยังมีอ่างเก็บน้ำบาราย ทางทิศใต้
ถ้าจะชมกันให้ทั่วเมือง อาจะจะชมก่อนมาชมปราสาทพิมายก็ได้ แต่บอกทิศทางยากสักหน่อย
เพราะผมจับเส้นทางหลักไม่ค่อยจะถูกเหมือนกัน เวลาไปหาเพื่อชมนั้น ทราบว่ามีอะไรบ้าง
ใช้วิธีถามชาวเมือง แล้ววนรถหาดู เช่น หากจะกลับไปยังโคราช โดยไม่ซ้ำเส้นทางที่มาก็ไปได้
เส้นนี้จะผ่านโบราณสถานที่ชื่อว่า ท่านางสระผม
อยู่ในเส้นทางโบราณที่ตัดมาจากเมืองพระนคร แห่งอาณาจักรขอมโบราร มาสิ้นสุดที่ริมฝั่งแม่น้ำเค็ม
ท่าน้ำแห่งนี้มีชื่อพื้นเมืองว่า ท่านางสระผม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่
๑๘ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
ประตูและกำแพงเมือง
มีประตูเมือง ๔ ประตู ตั้งอยู่ตรงกันตามแนวเหนือ - ใต้ และแนวออก
- ตก
ปัจจุบันนี้เหลือไว้ให้ชม ๓ ด้านคือ ประตูทางทิศใต้ ทิศตะวันตก
และทิศเหนือ เรียกชื่อว่า ประตูชัย ประตูหิน
และประตูผี ตามลำดับ
ต่อจากซุ้มประตูต่อออกไปด้วยศิลาแลงเป็นกำแพงยาว ๒๐ เมตร สูง ๓ เมตร ต่อจากนั้นเป็นกำแพงดิน
ประตูทิศใต้จะสำคัยที่สุดคือ ประตูชัย เพราะเป็นประตูด้านหน้า
กลับเข้ามาในบริเวณปราสาทหินพิมาย เมื่อเข้าประตูมาแล้ว หากเดินเลี้ยวซ้ายมาอาคารแรกที่พบ
ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวปราสาทคือ พลับพลาเปลื้องเครื่อง
หันหน้าไปทางตะวันออก เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด กว้าง ๒๖ เมตร ยาว ๓๕.๑๐
เมตร ระหว่างขุดแต่งพบกระเบื้องมุงหลังคาจำนวนมาก แสดงว่าหลังคาเครื่องไม้
มุงกระเบื้อง และพบเหรียญสำริดจำนวนหนึ่ง บางทีเลยเรียกว่า คลังเงิน
ศาลานี้ภายหลังคงจะใช้เป็นสถานที่ให้กษัตริย์เปลื้อง หรือเปลี่ยนเครื่องทรงกษัตริย์ออกก่อนเสด็จ
เข้าประกอบพิธีทางศาสนาในปราสาท และสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่
๑๗
สะพานนาคราช
ถนนที่ทอดตรงจากท่านางสระผม มาผ่านประตูเมืองด้านหน้าจะมาสิ้นสุดที่สะพานนาคราช
ซึ่งสะพานนี่จะอยู่เลยพลับพลาเปลื้องเครื่องมานิดเดียว เป็นทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาทยาวประมาณ
๓๒ เมตร ราวสะพานโดยรอบทำเป็นลำตัวนาคราช ชูคอแผ่พังพานมี ๗ เศียร หันหน้าออกไปยังเชิงบันไดทั้ง
๔ ทิศ ที่เชิงบันไดมีประติมากรรม รูปสิงห์สลักด้วยหินทราย
ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว
เดินมาตามสะพานนาคราช จะมาถึงซุ้มประตู หรือที่เรียกว่า โคปุระ
ซุ้มประตูก่อด้วยหินทราย มีห้องกลาง มีมุข ด้านข้างชักปีกออกไป ต่อกับกำแพง
มีเสาหินทรายภายในซุ้มประตู
บรรณาลัย
พื้นที่บริเวณลานชั้นนอกของระเบัยงคด ด้านตะวันตกและซุ้มประตูมีอาคารขนาดใหญ่เชื่อว่าเป็น
บรรณาลัย ซึ่งหมายถึง สถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ต่าง ๆ ทางศาสนา
สระน้ำ
ที่มุมทั้ง ๔ ของลานชั้นนอก มีสระน้ำอยู่มุมละ ๑ สระ สระเหล่านี้ไม่ได้ขุดขึ้นพร้อมกับการสร้างปราสาท
มาขุดขึ้นภายหลัง สังเกตุได้จากขนาดของสระไม่เท่ากัน และที่ตั้งไม่อยู่ในแนวเดียวกัน
ภายในสระกรุด้วยแท่งหิน และบริเวณนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของวัดต่า งๆ ที่สร้างขึ้นภายหลัง
และต่อมาได้ย้ายออกไปสร้างนอกปราสาทหมดแล้ว คือ วัดสระเพลง ที่เคยอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
วัดพระปรางค์ใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ วัดเหล่านี้จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน
แต่จากการที่อุโบสถมีชื่อพื้นเมืองว่า โบสถ์เจ้าพิมาย ประกอบกับได้พบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลายจำนวนหนึ่ง
จึงเชื่อกันว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย สระน้ำ ทั้งหลายก็คงจะเป็นสระน้ำที่ต่างวัดต่างขุดขึ้นมาไว้
เป็นแหล่งน้ำของวัดนั่นเอง
ซุ้มประตูและระเบียงคด
ลักษณะของระเบียงคดก่อเป็นห้องยาว ต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบปราสาทชั้นใน
เป็นทางเดินที่มีผนังกั้นและมีหลังคาคลุม ภายในสามารถเดินทลุถึงกันได้ตลอด
ระเบียงคดทั้ง ๔ ด้านจะก่อด้วยหินทรายสีแดง ซุ้มประตูระเบียงคดทางทิศใต้ มีหลักฐานสำคัญ
ให้ทราบถึงประวัติส่วนหนึ่งของปราสาทพิมาย นั่นคือ จารึกบนกรอบประตูห้องกลางด้านทิศตะวันออก
จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมรระบุชื่อ "กมรเตงชคตวิมาย" และกล่าวถึงการสร้างรูปเคารพสำคัญ
ชื่อ "กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย" ใน พ.ศ.๑๖๕๑ และเมื่อตอนบูรณะ
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ ได้พบแผ่นทองดุนลายรูปดอกบัว ๘ กลีบ บรรจุไว้ในช่องที่ทำไว้เฉพาะที่พื้นห้องของซุ้มประตู
แผ่นทองเหล่านี้บรรจุไว้ เพื่อความเป็นศิริมงคล ในการสร้างปราสาท และเคยพบในปราสาทอื่น
ๆ เช่น ปราสาทตาเหมือนธม กิ่งอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทพนมรุ้ง
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย
จังหวัดบุรีรัมย์
ปราสาทประธาน
ภายในวงล้อมของระเบียงคด บริเวณลานชั้นในเป็นที่ตั้งของอาคารศาสนสถานหลายองค์ด้วยกัน
ที่ตั้งอยู่ตรงกลางลานคือปราสาทประธาน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมหลัก และเป็นศูนย์กลางของศาสนสถานแห่งนี้
ปราสาทประธาน สร้างด้วยหินทรายสีขาว หันหน้าไปทางทิศใต้สูง ๒๘ เมตร ด้านหน้ามีมณฑปคือ
ห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมต่อกับองค์ปราสาท โดยมีฉนวนคั่น มณฑปหรือห้องโถงดังกล่าวมีมุขเล็ก
ๆ ๓ ด้าน ทั้งองค์ปราสาทและมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ประกอบด้วยฐานเขียงและฐานบัวเป็นชั้น
ๆ แต่ละชั้นสลักด้วยลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายกลีบบัว ลายประจำยาม ลวดลายจะสลักมาจนถึงผนังปราสาท
องค์ปราสาทหรือเรือนธาตุ มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีมุขยื่นออกไปทางทิศตะวันออก
ทิศเหนือและทิศตะวันตก หน้ามุขทั้ง ๓ ด้าน มีบันไดขึ้นและประตู ภายในอาคารมีห้องสี่เหลี่ยม
ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดของศาสนาสถาน รูปเคารพดังกล่าวได้สูญหายไปแล้ว
คงมีอยู่แต่ร่องน้ำมนต์ที่มุมห้องด้านทิศตะวันออก ซึ่งได้ต่อท่อลอดออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ถัดจากเรือนธาตุขึ้นไปคือ ส่วนยอดหรือเรือนยอด ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นหลังคา
แต่เป็นหลังคาที่ทำเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันขึ้นไปที่เรียกว่า ชั้นเชิงบาตร รวม
๕ ชั้น ที่เชิงหลังคามีรูปสลักเป็นรูปครุฑแบกอยู่ตรงกลางทั้ง ๔ ทิศ รูปสลักเหล่านี้งดงามมาก
ขอให้ชมอย่างตั้งใจ อย่าเพียงแต่มองผ่าน
ส่วนประกอบของปราสาทประธานได้แก่ มุขปราสาทและมณฑป การแกะสลักลวดลายต่าง ๆ
ไว้บนประสาทประธานนี้จะแกะสลักอย่างปราณีต และงดงามมาก เช่น ส่วนฐานองค์เรือนธาตุ
เสาประดับผนัง เสาประดับกรอบประตู กรอบหน้าบัน ส่วนต่าง ๆ เหล่านี้มีจำหลักเป็นลวดลายพันธ์พฤกษาเช่นลายใบไม้ม้วน
ลายประจำยาม ลายเฟื่องอุบะ ลายกรวยเชิง ลายก้านต่อดอก ส่วนที่หน้าบันและทับหลังจะจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่อง
ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ทั้งในคัมภีร์ในศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
มีหลักฐานว่าปราสาทประธานสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ เพื่อให้เป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน
(นิกายวัชรยาน) ไม่ใช่เทวสวถานดังเช่นปราสาทอื่น ๆ ในระยะเวลาใกล้เคียงกันเช่น
ปราสาทพนมรุ้ง หรือปราสาทนครวัดที่เสียมราฐ หลักฐานสำคัญคือ ศิลาจารึกที่พบภายในบริเวณปราสาทพิมาย
ที่มุขทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ที่ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.๑๕๗๙ และ พ.ศ.๑๕๘๙
มีข้อความสรรเสริญพระพุทธเจ้าและพระราชาพระนาม "ศรีสุริยะวรมะ" ผู้ทรงนับถือพุทธสานามหายานหรือพระเจ้าสุริยวรมันที่
๑ และเมื่อพุทธศาสนามหายานเฟื่องฟูสุดขีดในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในพุทธศตวรรษที่
๑๘ ปราสาทพิมายจึงได้รับการบูรณะและก่อสร้างเพิ่มเติมอีกมากมาย
นอกจากนี้ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย มีปรางค์หินแดง
ซึ่งยังมีทับหลังเหลืออยู่คือที่เหนือกรอบประตูด้านทิศเหนือ เล่าเรื่องตอนพระกรรณะล่าหมูป่า
ในเรื่องมหาภารตะ หอพราหมณ์เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง
ตอนขุดแต่งพบแท่งศิวลึงค์ทำด้วยหินทราย จึงเชื่อกันว่าอาคารหลังนี้ สำหรับใช้ในพิธีพราหมณ์
จึงเรียกว่า หอพราหมณ์ ปรางค์พรหมทัต
อยู่ด้านหน้าของปราสาทประธาน สร้างด้วยศิลาแลง สูงประมาณ ๑๖ เมตร จำหลักลวดลายที่ทับหลัง
และกรอบประตูพลับพลาอยู่ในลานชั้นใน ทางทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด
ยังมีอีกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของปราสาทหินพิมายไปสัก ๑๐๐ เมตร มีซากเจดีย์ขนาดใหญ่
ขุดแต่งเรียบยร้อยแล้ว ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนเนินดินเรียกว่า เมรุพรหมทัต
เพราะนำไปเชื่อมโยงกับนิทานพื้นบ้าน เรื่องของท้าวปาจิตกับนางอรพิม ซึ่งรักกันแต่ถูกท้าวพรหมทัตนำนางไปกักขังเอาไว้
เล่าว่าตรงนี้คือที่ถวายพระเพลิงท้าวพรหมทัต และแห่งสุดท้ายที่ควรชมคือ ๑
ใน ๗ แห่งของอโรคยาศาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างเอาไว้ในเส้นทางจากพิมายไปสู่พระนครเขมร
อโรคยาศาลหรือกุฎิฤาษีแห่งนี้ อยู่นอกเขตกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ของปราสาทพิมาย
ระหว่างกำแพงเมืองกับท่านางสระผม ซึ่งทั่วราชอาณาจักรของพระเจ้าชัยวรมันที่
๗ สร้างเอาไว้มากถึง ๑๐๒ แห่ง
ก่อนไปชิมเป็ดย่างพิมาย ขอแนะนำของฝากจากโคราช ย่านหน้าอนุสาวรีย์ย่าโมมีขายหมด
ได้แก่ กุนเชียง หมูยอ ใส้กรอกอีสาน หมูแผ่น หมูหยอง แหนม เส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งที่เรียกกันว่าหมี่โคราช
เส้นหมี่พิมาย "เป็ดย่างพิมาย" แต่เป็ดย่างพิมายกับเส้นหมี่นั้นต้องซื้อจากตัวอำเภอพิมาย
ในตัวเมืองโคราชยังไม่เคยเจอ
เป็ดย่างพิมายอยู่ติดกับโรงพยาบาลพิมาย หากเลี้ยวขวามาจากถนนสาย ๒ มาอีก ๙
กม. ก่อนเข้าตัวเมืองพิมายร้านจะอยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ที่เรียกว่า เป็ดย่างพิมาย
เพราะเขาไม่ได้ย่างเหมือนเป็ดย่างที่แขวนอยู่ในตู้ตัวแดง ๆ หรือเป็ดย่างหนังกรอบคนละแบบกัน
เป็ดย่างพิมายเขาย่างแบบไก่ย่าง แต่เอาคีมมาประกบตัวเป็ด แล้วรัดที่หัวคีมเอาไว้
เป็นเป็ดหนุ่มสาวก่อนย่างก็ต้องหมักเช่นเดียวกับไก่ย่างอีสาน รสชาติออกจะคล้ายกัน
แต่หากให้ผมเลือกเอาเป็ดย่างพิมายมาร้านนี้ ต้องสั่งคำแรกเลยทีเดียวว่าเป็ดย่าง
หากกลัวแย่งกันก่อนเข้ามาไปดูที่แผงที่เขากำลังย่างที่หน้าร้านว่าตัวขนาดไหน
หากให้ผมสั่ง ผมสั่งเกณฑ์ฝ่ายชายคนละตัวเลยทีเดียว ฝ่ายหญิงพออนุโลม ๑ ตัวต่อ
๒ คน ย่างแล้วเป็ดจะนุ่ม มีรส ไม่จิ้มน้ำจิ้มก็ยังได้ เพราะก่อนย่างเขาหมักเกลือมาแล้ว
เตาย่างอยู่หน้าร้าน คนสับเป็ดก็สับอยู่หน้าร้าน คนซื้อกลับบ้านก็ซื้อที่หน้าร้าน
เตานั้นย่างได้คราวละสัก ๒๐ ตัว ผมถึงบอกว่าให้ดูขนาดตัวเป็ดเขาก่อนแล้วจึงสั่ง
ไม่งั้นหมดแล้วรอนาน
ต้มยำยวงไข่ หรือเรียกว่าเครื่องในไก่ ไข่อ่อน สั่งควบกันไปเลยหากมาหลายคน
คือ ต้มยำยวงไข่ และผัดเผ็ดเครื่องในไก่ไข่อ่อน แต่ร้านนี้เขาเรียกว่า ยวงไข่
ต้มยำจะเสริฟมาในหม้อไฟซดร้อน ๆ ชื่นใจ
ลาบหมู ปกติเวลากินลาบอีสานผมกลัวความเปรี้ยว แต่ที่ร้านทิวไผ่ไม่เปรี้ยวจัด
เปรี้ยวอร่อย
แกงเผ็ดเป็ดย่าง น้ำแกงข้น รสเข้ม ต้องสั่งข้าวสวยเอาแกงวราดข้าวน่าจะอร่อยกว่าข้าวนึ่ง
ปิดท้ายด้วยไอศครีมเผือก รสหวานมัน ถูกใจ
......................................................
|