เหมืองปิล๊อก
เหมืองปิล๊อก
เหมืองปิล๊อก คือ บรรดาเหมืองแร่ที่อยู่ในตำบลปิล๊อก บ้านอีต่อง เป็นส่วนใหญ่
มีมากมายหลายเหมือง มีทั้งของเอกชน บริษัท และขององค์การอุตสาหกรรมเหมืองแร่
เริ่มแรกตามประวัติที่เขาเคยจัดนิทรรศการ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ เขาจัด ๒
วัน แต่คนไปชมคงจะน้อย พอผู้ว่าราชการกลับ เจ้าหน้าที่ก็เลยเก็บของเหมือนกัน
ผมไปชมตอนบ่ายยังเหลือให้ชมบ้าง แต่ส่วนใหญ่เก็บไปหมดแล้ว ดีว่ามีเจ้าหน้าที่ใจดีเห็นเราสนใจจริง
ๆ ก็เลยสละเวลาเล่ารายละเอียดให้ทราบ และผมก็เล่าให้เขาฟังบ้างว่า เมื่อ ๑๖
ปีที่แล้ว ผมมาทำงานด้านยุทธศาสตร์พัฒนาตามแนวชายแดนด้านนี้ มาในสมัยนั้นหากมาทางรถยนต์จากอำเภอทองผาภูมิ
ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๖ ชั่วโมง ในระยะทางเพียง ๖๐ กม. เพราไม่มีถนนที่เป็นมาตรฐาน ลูกรังก็ไม่ใช่ หินก็ไม่เชิง พวกทำแร่บอกว่าฤดูฝนนั้นบางทีรถขนแร่เดินทางกัน
๓ วัน ยังไม่ค่อยจะถึงเลย ตอนที่ผมมาทำงานกลุ่มกะเหรี่ยงอิสระตั้งกองกำลังติดชายแดนไทย
ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้วางท่อส่งแก๊สที่ซื้อมาจากพม่า ทหารพม่าตีกะเหรี่ยงอัดเข้ามาจากด้านหลัง หากกะเหรี่ยงถอยก็จะถอยเข้าไทย พม่าอาจจะตามตีเข้ามาในไทยอีก และกระสุนที่ยิงโต้ตอบกันนั้น ตกเข้ามาในตลาดอีต่องทำให้เกิดเพลิงไหม้ ไม่มีเครื่องดับเพลิง ผมได้จัดหาเครื่องดับเพลิงส่งไปให้ จำไม่ได้ในรายงานของลูกน้องเดินทางไปกี่วัน ไปคราวนี้ถามกำนันดูบอกว่า เครื่องดับเพลิงที่ให้ไว้ยังใช้งานได้ และได้ลงไปที่กองบัญชาการกะเหรี่ยง (ก็โตกว่ากะต๊อบหน่อยหนึ่ง) เจรจาไม่ให้เขาถอยเข้ามาในไทย
จะโดนอัดทั้งสองด้าน เขาก็เชื่อฟังแต่พม่าไม่ฟังด้วย พม่ารุกเข้ามาในดินแดนไทยที่มีแต่
ตชด. รักษาการณ์อยู่หมวดเดียว พม่าเข้าตีไทยแล้วตีโอบออกไปกะเหรี่ยงจึงแตกพ่ายไปหมด
ปัจจุบันการวางท่อส่งแก๊สเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก๊าซจากทะเลอันดามันที่อยู่ห่างออกไปประมาณ
๕๐ กม. เริ่มส่งเข้าแดนไทยเพื่อไปยังราชบุรี เริ่มต้นส่งกันที่ปิล๊อกนี้ ได้ความรู้จากเจ้าหน้าที่ว่า แหล่งแร่ในปิล๊อกนี้มีมากถึง
๑๐ ชนิด มากที่สุดคือ แร่ดีบุก ที่อยู่ตามหุบเขา
รองลงมาและมักอยู่ปะปนกันคือ แร่ทังสะเตน และยังมีสายแร่ทองคำปะปนอยู่กับสายแร่ดีบุก
ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หากทำเป็นเหมืองใหญ่ แต่มีแรงงานไปร่อนหาแร่ทองคำกัน
ส่วนการทำแร่ขององค์การนั้น ใช้แรงงานโดยไม่ต้องจ้างกำหนดพื้นที่ให้ แล้วให้เครื่องมือไปขุดหาแร่ เอามาขายองค์การ ฯ ส่วนของเอกชนมีทั้งใช้วิธีทำเหมืองฉีด
(ทั้งตำบลเหลือกระบอกฉีดทิ้งไว้ชม ๑ อัน รูปร่างเหมือนปืนฉีดน้ำ แต่น้ำจะแรงขนาดฉีดรถหงายท้องได้)
หรือกำหนดพื้นที่ให้แรงงานขุดแล้ว คอยรับซื้อห้ามเอาไปขายคนอื่น ๆ เทือกเขาตะนาวศรี
ที่เป็นแหล่งแร่ยาว ตั้งแต่ด่านพระเจดีย์สามองค์ ไปจนถึงจังหวัดระนอง เฉพาะในปิล๊อกแหล่งแร่ยาวประมาณ
๒๐ กม. เมื่อเริ่มทำเหมืองนั้น เริ่มจากคนพม่าข้ามเข้ามาทำแบบเหมืองเถื่อน
ต่อมาทางราชการไทยจึงเข้าควบคุม บ้านอีต่องจึงเต็มไปด้วยประชากรหลายชาติ
หลายภาษา มีไทย พม่า กะเหรี่ยง ทวาย มอญ และลาว
ที่เข้ามาเป็นลูกจ้างขุดแร่ (เหมืองแหม่มเกล็น เคยมีคนงานประมาณ ๖๐๐ คน) เหมืองแร่ต่าง
ๆ เริ่มทยอยปิดเพราะเหตุ ๒ ประการ ราคาแร่วุลแฟรม และดีบุกราคาตกมาก
และส่วนใหญ่ปิดเพราะแร่หมด หรือหมดสัมปทาน จะขอใหม่ก็ช้ามากและยิ่งเป็นที่อุทยานแห่งชาติ
โอกาสจะขอได้แทบจะไม่มี จึงทยอยกันปิดตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๕๓๔ ปัจจุบันไม่มีเหมืองแร่เหลือเลย คงเหลือชาวบ้านอยู่ไม่กี่ร้อยหลังคาเรือน
แต่อีต่องหรือปิล๊อกกำลังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว รีสอร์ทเริ่มเกิดขึ้นหลายแห่ง
อุทยาน ฯ เริ่มสร้างบ้านพัก เสียดายในตลาดอีต่อง ตอนผมไปเมื่อปีที่แล้ว มีโรงแรมเก่าแก่ยังกับในหนังคาวบอย
ยังเปิดอยู่เป็นโรงแรมไม้ ๒ ชั้น ติดป้ายว่าโรงแรม เยื่อง ๆ กันมีป้ายติดว่าโรงหนัง
ไปคราวนี้หายไปทั้ง ๒ ป้าย กลายเป็นรีสอร์ทในตลาดเกิดขึ้นแทน แต่พักในตลาดอย่างนี้ไม่ได้บรรยากาศในป่า
ในเขา ริมน้ำลำธาร เริ่มต้นด้วยการไปชมเหมืองที่เคยเป็นเหมืองขององค์การอุตสาหกรรม
ฯ ที่ให้คนงานรับไปทำแล้วคอยรับซื้อแร่ เขาพัฒนาเอาไว้ให้ชมสะดวก ๑ จุด เป็นการขุดลึกลงไปในดินสัก ๒ เมตร แล้วเจาะเป็นอุโมงค์ตามสายแร่เข้าไป มุดเข้าไปอากาศเย็นเฉียบ
ไม่ร้อนเลย เขาจะเอาเทียนไปด้วยหลาย ๆ เล่ม พร้อมด้วยไฟฉาย เราต้องเกาะกันหน่อย
เพราะไม่ได้เตรียมไฟฉายไป มีกระบอกเดียว เทียนนั้นนอกจากจะให้แสงสว่างด้วยการปักไว้สองข้างทางแล้ว ยังให้รู้ว่าตราบใดที่เทียนติดสว่าง แสดงว่ายังมีอากาศให้เราหายใจ ผมตัวสูงต้องก้มหัวเดิน ตอนนี้อิจฉาคนตัวเตี้ย ๆ สาว ๆ ทั้งหลาย เดินกันสบาย เคยไปมุดอุโมงค์ปิรามิดที่อิจิปต์มาแล้ว เดินไกลกว่านี้ด้วยซ้ำไป แต่เจ็บใจถูกอาหรับหลอก พอไปถึงห้องเก็บมัมมี่ มีแต่ห้องเปล่า
ๆ เขาบอกว่ามัมมี่เอาไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้ว มาชมอุโมงค์เหมืองวันนี้ไม่มีใครหลอก
เข้าไปสักพักก็ถึงที่เขาทำเสาค้ำยันไว้ และมองเห็นสายแร่ที่ยังหลงเหลืออยู่
ก็เลยบอกว่าพามาชมแค่นี้พอแล้ว เพราะโชคดีอุโมงค์เกิดพังลงมาในวันที่พวกผมเข้าไป
ก็เลยไม่ต้องออกมากัน
จุดชมวิว
จุดนี้รถตู้ขึ้นได้เป็นฐานของ ตชด. ผมมาครั้งแรกมาตรวจเยี่ยม มาทาง ฮ. คราวนี้นั่งโฟวีล
อยู่สูงเด่นขึ้นมาแล้ว มองเห็นทิวเขาและป่า ในเขตของพม่าเพราะอยู่ตรงชายแดนพอดี
เกือบลืมชมตำรวจน่ารักใจดี ที่ สภ.ต.ปิล๊อก ที่เราฝากรถเอาไว้ ๒ วัน ผู้อาวุโสสูงสุดเป็น
พันตำรวจโท มีนายตำรวจ ๕ - ๖ คน แต่ส่วนใหญ่ไม่ต้องมาอยู่ เพราะงานทางอำเภอมากกว่า
ทางนี้ให้นายดาบ (เป็นแฟนหนังสือของผมด้วย) อยู่ประจำ นายดาบบอกว่า อยู่มานาน
๑๓ ปีแล้ว ไม่ขอย้าย สบายดี หาคดียาก จะอยู่ไปจนปลดเกษียณอายุราชการเลย ตร.น่าจะให้ยศนายตำรวจก่อนเกษียณด้วย
ดาบตำรวจ สมศักดิ์ คิดหมาย จะคอยบริการเป็นประจำที่ สภ.ต. แห่งนี้ มีห้องสุขาอย่างดีไว้บริการด้วย
ปักป้ายไว้หน้าแปลงผักว่า โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักคะน้าไต้หวัน ใจดีเสียด้วย
บอกว่าตอนกลับเข้ารีสอร์ทตัดเอาไปผัดได้เลย ผักคะน้าไต้หวันจะกรอบมาก
แต่ต้องปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น หน้าโรงพักเขียนไว้ว่า "โรงพักยิ้ม
โรงพักเพื่อประชาชน" เป็นตำรวจภูธร
ส่วนที่จุดชมวิวเป็นตำรวจตระเวนชายแดน ใกล้ ๆ โรงพักมีร้านโชห่วย ๑ ร้าน เยื้อง ๆ กันไปคราวนี้เห็นมีโรงเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น และมีร้านขายต้นไม้ มีทั้งไม้ดอก
และไม้ประดับ
วัด
ในตำบลปิล๊อกมี ๒ วัด คือ วัดเหมืองอีปู่
อยู่เยื้องสถานีตำรวจ อีกวัดหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านที่อยู่ห่างจาก สภ.ต. ประมาณ
๓ กม. ปากทางเข้าหมู่บ้าน มีศาลเจ้าบนไหล่เขา ส่วนวัดนั้นเป็นแบบวัดพม่า ไม่ใหญ่โตนักแต่มีอุโบสถไม่ใช่ศาลา
หรือวิหารอเนกประสงค์ เหมือนวัดศรีรองเมือง ที่ลำปาง ซึ่งเป็นวัดสถาปัตยกรรมพม่าแท้แน่นอน
โรงเรียน
เห็นมี ๒ แห่งคือ ที่หน้า สภ.ต. ของ ตชด. ดำเนินการ ๑ แห่ง อีกแห่งชื่อ
โรงเรียน "เหมืองแร่ อีต่อง" ซึ่งอยู่ในโครงการของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา
ฯ
ตลาดอีต่อง
เป็นตลาดโบราณ หลังคาสังกะสี อยู่สองฟากของถนนแคบ ๆ ที่รถพอวิ่งเข้ามาได้
ไม่คึกคักเหมือนสมัยที่มีเหมืองแร่เปิดกิจการ โรงแรมโบราณ และโรงหนังเคยอยู่ในตลาดแห่งนี้
มีร้านอาหารเล็ก ๆ ไม่ได้ชิมแต่มองดูแล้วน่าจะใช้ได้ ที่ไม่ได้ชิม
สินค้าที่ขายในตลาดมีอาหารแห้งเช่น บะหมี่สำเร็จรูป ฝ่ายไทยเราให้ทหารพม่าขับรถข้ามช่องเขาขาด
เข้ามาซื้ออาหาร เครื่องใช้ได้ แต่ฝ่ายเขาไม่ให้เราเข้าไป
ปลากระป๋อง มาม่า จึงขายดี ของกินของใช้ราคาถูกจากฝั่งพม่า เช่น ถั่วคั่วหลายชนิด
หอม กระเทียม ปลาแห้ง หอยแห้ง กุ้งแห้งตัวโต ๆ จากทะเลอันดามัน เมื่อก่อน
กั้งทะเล กุ้งมังกร กุ้งสด ก็มีเข้ามาขาย และยังมีพวกเสื้อผ้า โสร่ง
ชุดทหารพม่า หรือฟลุ๊ค จะมีปูทะเลข้ามแดนเข้ามาเพื่อเข้าไปขายถึงทองผาภูมิ
ผมไปไม่ฟลุ๊คเจอปูราคา กก. ละ ๕๐ บาท จะซื้อเอาไปปิ้งสักเข่งหนึ่ง ทำน้ำจิ้มให้รสแซ๊บคงอร่อยพิลึก
เนินเสาธง
เลยตลาดอีต่องขึ้นไป เนินนี้อยู่ชายแดน คนละเนินกับเนินจุดชมวิว อยู่ในท้องที่บ้านหินกอง
เนินเสาธง เป็นพื้นที่ยอดเขา ที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย
กับสหภาพพม่า ทางไทยจัดตั้งเสาธงขนาดใหญ่คู่กันคือ
ธงไทย และธงเมียนม่า เพื่อแสดงว่าจุดนี้คือ ชายแดนไทย พม่า และหน่วยที่จัดตั้งคือ
หน่วยทหารไทย และให้ชื่อเนินนี้ว่า "เนินเสาธง" อนุญาตให้ประชาชนขึ้นไปชมได้
ขึ้นไปจะเห็นภูมิประเทศในแดนพม่า และทางเนินในด้านพม่า เขาปลูกบ้านรับรองเอาไว้หนึ่งหลังสำหรับนายทหารเขามาพัก
เพราะเขามีหน่วยทหารอยู่ทางช่องเขาขาดที่อยู่ถัดไป และตรงทางขึ้นเนินเสาธง
มีชาวบ้านตั้งโต๊ะขายสุราประเทศพม่า ขวดสวยมากราคาขวดละร้อยบาทเท่านั้น แต่กินแล้วจะเมาตาย
หรือเปล่าผมไม่รับรอง ไม่กล้าซื้อมาดื่ม
ช่องเขาขาด
อยู่เลยเนินเสาธงไปหน่อยหนึ่งจะเป็นช่องเขาที่ระเบิดเขาให้เป็นช่องเพื่อทำทางให้รถยนต์วิ่งผ่านเข้าออกได้
และจะลงไปยังหน่วยทหารพม่า ทางไทยไม่มีหน่วยทหารแล้ว คงมีแต่ตำรวจ ตชด.รักษาการณ์อยู่เดินลงไปได้
แต่อย่าเข้าไปมากนัก มองเห็นเจดีย์ติดกับหน่วยทหารสร้างขึ้นใหม่ และหากมองกลับลงมาก็จะเห็นสถานีส่งแก๊สของไทย
ที่เมื่อรับแก๊สจากฝั่งพม่าแล้วก็จะมายังตำบลส่งแก๊ส ณ จุดนี้และแก๊สจะถูกส่งทางท่อไปจนถึงราชบุรี
ส่งต่อไปไหนอีกไม่ได้ซักถามผู้รู้ดู
คงจะพาเที่ยวตำบลปิล๊อกได้แค่นี้ เสียดายที่เส้นทางเข้าน้ำตกหลายแห่งยังไม่ได้พัฒนา
ซึ่งชาวอีต่องบอกว่าหลายแห่งเขาเคยเห็นมาแล้ว
กลับมายังรีสอร์ทของแหม่ม ซึ่งหากกลับจากตลาดก็จะมาถึง สภ.ต.ปิล๊อกก่อน เลย
สภ.ต.มาสัก ๓๐๐ เมตร ทางขวามือจะมีเส้นทางลงไปยังรีสอร์ท เมื่อเลี้ยวลงไปแล้ว
เส้นทางจะเป็นถนนที่เหมืองเก่าใช้และลงหินเอาไว้ให้พื้นแข็ง แต่จะเป็นหินก้อนโต
เพราะให้รถบรรทุกแร่วิ่ง ไม่ได้เตรียมไว้ให้รถเก๋งวิ่ง ปัจจุบันจึงต้องเป็นรถโฟวีล
จึงจะวิ่งได้ ผ่านหมู่บ้านเล็ก ๆ มีไม่กี่หลังคาเรือน มาผ่านสามแยก แยกนี้ไปน้ำตกจ๊อกต่อง
ได้แต่ทางจะลำบากมาก และเลาะเหวไป อันตราย และต้องลงเดินอีก ก็เลยยังไม่ขอไปเยี่ยมจ๊องต่อง
เลยต่อไปใกล้จะถึงรีสอร์ทมีลำธาร ไม่มีสะพานแต่พื้นแข็งมากรถข้ามได้ทุกฤดูกาล
ทางขวาริมลำธารมีโรงไฟฟ้าเรียกให้โก้ ๆ ไปอย่างนั้น ความจริงเป็นเพิงที่ปลูกเพื่อบังแดด
บังฝน ให้เครื่องไฟฟ้าที่ใช้พลังน้ำ ในตอนค่ำจะเปิดเครื่องเดินประมาณสามทุ่ม
แต่หากเป็นฤดูฝนอาจจะเปิดได้ทั้งวันก็ได้ ที่รอเปิดสามทุ่มเพราะต้องรอน้ำในลำธารที่ไหลมาจากเขามากักสะสมอยู่ที่ฝายทดน้ำที่อยู่ข้างบังกะโลที่ผมพัก
(ปล่อยปลาคารฟ์ไว้ด้วย) รอให้น้ำมากพอ จึงปล่อยให้ไหลมาหมุนใบจักร ไปหมุนไดนาโมปั่นไฟฟ้ามาใช้กันถึงเช้ามืด
ส่วนก่อนหรือหลังนี้จะทำไฟจากเครื่องปั่นไฟ
เมื่อข้ามลำธารมาแล้วเป็นทางแยก หากเลี้ยวซ้ายไปสัก ๑๐๐ เมตร มีสำนักสงฆ์มีพระพม่าอยู่องค์หนึ่ง
กับลูกศิษย์วัดที่เป็นเด็กลูกคนงานของแหม่มอยู่คอยรับใช้ พระฉันมื้อสาย ๆ
มื้อเดียว พอสักสามโมงเช้า เด็กจะเดินนำหน้าพระตีกังสดาลแบบพระทางล้านนา ให้ชาวบ้านรู้ว่าพระมาแล้ว
ลูกบ้านของแหม่มมีอยู่ ๖ - ๗ ครัว ก็จะเตรียมอาหารไว้ใส่บาตร และพระจะมาบิณฑบาตถึงที่พักแหม่ม
แหม่มไม่ได้ใส่บาตรเอง แต่ให้แม่ครัวทำอาหารใส่บาตรทุกวัน พวกคณะผมไม่ทราบมาก่อน
มาครั้งก่อนก็กลับไปก่อนที่พระจะมา วันนี้ได้เห็นพระเลยรวมเงินใส่บาตรแทน
เลยถือโอกาสบอกบุญเอาไว้ด้วย หากใครไปเที่ยวรีสอร์ทแหม่มละก็เตรียมข้าวสาร
อาหารแห้งไปถวายพระด้วยก็จะได้กุศลแรงนัก เป็นพระป่าจริง ๆ
อาหารมื้อเย็นวันนี้อร่อย และสนุกสุด ๆ ข้อแรกเพราะอากาศหนาวเย็นเหลือประมาณ
แต่มีน้ำแก้หนาวช่วยให้คลายหนาวและเพิ่มความสนุก ข้อสองอาหารจานเด็ดคือ บาบีคิว
พอได้เวลาที่เราบอกไว้แหม่มก็ส่งสาวมอญมา
๑ คน สาวพม่า
๑ คน และสาวทวายอีก
๑ คน ๓ คนนี้พูดไทยได้และพวกเขาเองก็ต้องพูดไทยเพราะภาษาต่างกัน สามสาวปิ้งบาบีคิวโครงหมู
กับบาบีคิวขาไก่หมัก จนได้ที่รสเข้าเนื้อ เมื่อปิ้งแล้วจึงอร่อยนักเจอบาบีคิวเข้าคนละ
๓ ไม้ ก็อิ่มแล้ว ยังมีข้าวสวยกับข้าวอีกหลายอย่าง แต่พุงรับน้ำเข้าไปก็มาก
บาบีคิวก็แยะ เลยสนใจอาหารกันน้อย บอกกล่าวไว้อีกอย่าง น้ำแข็งแหม่มพอมีให้แต่จะให้ดี
ก่อนเข้ารีสอร์ทเตรียมไปให้พร้อม เพื่อประกอบการดื่มได้แก่สุรา โซดา เบียร์
และน้ำแข็งก้อน รวมทั้งน้ำอัดลม แต่น้ำดื่มแหม่มเตรียมเอาไว้ให้พอเพียง
จบรายการท่องเที่ยวรีสอร์ทแหม่มบ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ แต่ยังไม่จบการท่องเที่ยวสำหรับไปคราวนี้
พอสาย ๆ วันกลับใส่บาตรกันแล้วก็กลับออกมา เอารถจาก สภ.ต.ปิล๊อก ขอบคุณนายดาบที่บริการอย่างดี
รับรถตู้จาก สภ.ต.แล้วก็มาทองผาภูมิ มาแวะซื้อใส้อั่ว ใส้กรอกที่ซุ้มคุณนงเยาว์อยู่เยื้องปั๊มบางจาก
เลยน้ำตกไทรโยคน้อยมาหน่อยหนึ่ง ซุ้มไส้อั่วอยู่ฝั่งขวามือ
ซื้อไส้อั่วแล้ววิ่งต่อมาจนเลยทางแยกซ้ายที่จะไปบรรจบกับถนนสายไปเขื่อนศรีนครินทร์
และกลับเมืองกาญจน์ ทางอำเภอลาดหญ้าได้ ก็จะถึงทางแยกขวาเข้าตัวอำเภอไทรโยค
วิ่งเลี้ยวขวาไปสัก ๕ กม. จะข้าทางรถไฟ หากเลี้ยวขวาจะมาถึงสถานีรถไฟและตลาด
เลี้ยวซ้ายมีป้ายบอกว่าไป "ด่านบ้องตี้"
รถผมเลี้ยวซ้ายไปอีก ๒๕ กม. ก็จะถึงด่านบ้องตี้ ซึ่งที่ด่านบ้องตี้นี้ผมเคยมาครั้งหนึ่ง
เมื่อสัก ๔ ปีที่แล้ว มาเพื่อสำรวจเส้นทางเดินทัพของพม่าให้ครบทุกด่าน ซึ่งเส้นทางเดินทัพของพม่าที่คุ้นหูกัน
ก็มีแต่ด่านพระเจดีย์สามองค์
ที่อำเภอสังขละบุรี และด่านแม่ละเมา ที่อำเภอแม่สอด
จังหวัดตาก อีกด่านพอจะเคยได้ยินกันคือ ด่านสังขร
อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ส่วนด่านบ้องตี้นั้นคงจะไม่เคยได้ยินกัน ไปวันนี้ตั้งใจจะไปเที่ยวตลาดชายแดน
ที่เคยถามเขาบอกว่าติดทุกวัน ไปวันนี้ผิดหวังเพราะ ตชด.บอกว่าคนมาเที่ยวกันน้อยเลยติดเฉพาะวันเสาร์ต้นเดือน
ถนนไปยังด่านดีมาก ลาดยางต่อไปจนเกือบถึงเส้นเขตแดน มีหน่วย ตชด.ตั้งรักษาการณ์อยู่
และต้องเลย ตชด.ไปอีกหน่อย รถไปได้ถึงจะถึงตลาดชายแดน ที่สินค้าส่วนใหญ่จะมาจากพม่า
ส่วนของกินของใช้ก็มาจากฝั่งไทยที่พม่าอาศัยมาซื้อกิน ด่านนี้ออกไปยังทะวาย
ตะนาวศรีได้ ช่องบ้องตี้เกี่ยวพันกับเส้นทางเดินทัพของพม่าเพียงครั้งเดียวคือ
เมื่อคราวสงครามเก้าทัพ ที่พระเจ้าปดุงยกทัพมาเก้าทัพและบัญชาการกองทัพด้วยพระองค์เอง
ให้กองทัพที่ ๒ มีอนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นแม่ทัพ ถือพลหนึ่งหมื่นเดินทัพเข้ามาทางด่านบ้องตี้
แล้วตีลงไปทางราชบุรีเพื่อบรรจบกับทัพที่ยกมาทางใต้ ที่ชุมพร และทุกทัพแตกพ่ายไปหมด
เมื่อทัพหลวงโดนกลยุทธของกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ที่ลาดหญ้า ที่ยิงสกัดทัพพม่าไม่ให้ออกมาจากช่องเข้าได้
ใช้ยุทธวิธีเดินเส้นใน คนน้อยสู้กับคนมาก เอาไม้เนื้อแข็งในป่าเมืองกาญจน์มาตัดทำเป็นลูกกระสุนปืนใหญ่
ลูกกระสุนปืนใหญ่สมัยนั้น เป็นลูกเหล็ก หรือโซ่ ยิงไปแล้วไม่ระเบิดแตกออกไปอีก
กลิ้งไปโดนใครเข้าก็ตายลูกเดียว เพราะลูกเหล็กหนัก ที่เป็นโซ่เอาไว้ยิงเมื่อข้าศึกเข้ามาระยะใกล้ยิงให้กวาดออกไปเลย
หรือกระสุนเพลิงก็เอาเชื้อเพลิง เช่น หญ้าแห้งชุบน้ำมันพันลูกกระสุน
พอยิงออกไปได้ความร้อนจากดินระเบิดก็จุดเพลิงวิ่งแดงโร่ไปเลย กรมพระราชวังบวร
ฯ โปรดให้เอาไม้ทำลูกกระสุนก็แข็งเหมือนเหล็ก จึงประกาศว่าตราบใดไม้ไม่หมดป่าเมืองกาญจน์
กองทัพไทยก็ไม่มีวันหมดกระสุนปืนใหญ่ ส่วนพม่าลากปืนใหญ่ข้ามช่องเขาเข้ามา
ไม่มีปืนระยะยิงไกลเท่าไทย จึงโดนยิงอยู่ข้างเดียว แถมตกค่ำทรงโปรด
ฯ ให้ทหารลอบออกหลังค่าย เช้าแต่งชุดใหม่เดินทัพเข้าค่ายด้านหน้า พม่านึกว่ากำลังไทยมาเสริมอีกแล้ว
ทนอดอยากไม่ได้ ทนกระสุนไม้ไม่ได้ จึงถอยทัพกลับไป การทัพครั้งนี้ปืนใหญ่จึงมีบทบาทสำคัญมาก
เมื่อทัพพระเจ้าปดุงถอยทุกทัพก็ถอยหมด รวมทั้งทัพที่เข้ามาทางด่านบ้องตี้
สงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ พอปี พ.ศ.๒๓๓๐ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เช่นกัน ทัพไทยเข้มแข็งมากจึงโปรดให้ทัพไทย ไปตีทวายเรียกว่า ศึกไทยตีทวาย
เสด็จนำกองทัพไปเอง แต่พอดีเกิดศึกทางเหนือจึงแบ่งกำลังส่วนใหญ่ ให้กรมพระราชวังบวร
ฯ ยกไปช่วยทางเหนือ พระองค์นำกำลังเพียงสองหมื่น มาเพื่อข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปตีทวาย
การเดินทัพเริ่มด้วยเดินทัพไปตามลำน้ำแควน้อย
เมื่อขึ้นบกแล้วให้กองหน้าที่มีกำลังพลหนึ่งหมื่น เดินทัพล่วงหน้าไปก่อน เส้นทางเดินทัพ
เพื่อไปตีทวายนั้นมี ๒ เส้นทางคือ ข้ามเทือกเขาตะนาวศรี
ไปทางด่านบ้องตี้เป็นเส้นทาาด้านใต้ แต่เมื่อผ่านด่านบ้องตี้แล้ว
ต้องไปเดินทัพผ่าน หรือตีผ่านตะนาวศรีไปก่อน จึงจะไปตีทวายได้ ส่วนเส้นทางเหนือพอข้ามเขาตะนาวศรีก็จะถึงตัวเมืองทวายเลย
จึงใกล้กว่าทางใต้ แต่เส้นทางกันดารแสนสาหัส เส้นทางเหมาะสำหรับทหารราบที่เดินเท้า
ช้างจะเดินลำบากมากต้องใช้งวงเกี่ยวต้นไม้ดึงตัวเองขึ้นไป ช้างตกเหวตายเป็นอันมาก
ยิ่งปืนใหญ่ยิ่งลากข้ามเขาไปด้วยความยากลำบาก ใกล้กว่าทางด่านบ้องตี้ก็จริง
แต่ไปยากกว่า ใช้เวลานานกว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา ฯ ถึงกับตรัสว่า
ไม่รู้ว่าทางเดินยากอย่างนี้ พาลูกหลานมาได้ความลำบากหนักหนา การศึกครั้งนี้ล้อมเมืองทะวายอยู่ครึ่งเดือน
การส่งกำลังทำได้ยาก เสบียงอาหารก็เบาบางลง พอดีกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จตามขึ้นไปเฝ้ากราบบังคมทูลให้เสด็จกลับพระนคร
ส่วนพระองค์จะยั้งทัพมาอยู่ที่นี่ ไม่ให้ตามตีทัพไทยเวลาถอยทัพได้ จึงเสด็จกลับพระนคร
กองทัพกรมพระราชวังบวร ก็ทยอยถอยทัพ พม่าตามมาจนสิ้นแดนเมืองทะวาย ก็ยั้งทัพอยู่แค่นั้นมิได้ตามตีเข้ามาในแดนไทย
ด่านบ้องตี้ จึงมีชื่อในการเดินทัพเพียงครั้งเดียวของทัพพม่าในสงคราม ๙ เก้าทัพ ส่วนทัพไทยยกผ่านออกไปเหนือด่านบ้องตี้ ทางใกล้กว่าแต่ไปลำบากกว่า ไม่ได้ผ่านตรงช่องด่านบ้องตี้ แม้จะมีความสำคัญน้อย แต่ระยะทางก็ไกลจากตัวอำเภอไทรโยคเพียง ๒๕ กม. สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาเคยเสด็จมาแล้ว นักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์น่าตามไปดู ไปเห็นว่าพม่าเข้ามาได้อย่างไร
ไปเสาร์ต้นเดือนก็จ่ายตลาดชายแดนได้ ติดกันตั้งแต่เช้าไปจนถึงบ่าย หากไปแล้วไม่มีตลาดชายแดนก็อย่าโทษผม
เพราะตอนผมไปครั้งแรก ยังมีตลาดชายแดนติดทุกวัน ไปอีกทีคนไปเที่ยวน้อยตลาดติดเดือนละครั้ง พอท่านผู้อ่านตามไปบ้าง อาจจะไม่มีการติดตลาดชายแดนเลยก็เป็นไปได้ ก็ให้นึกว่าไปเที่ยวดูเทือกเขา
ช่องเขาประวัติสาสตร์ชมภูมิประเทศ ป่าเขาที่งดงาม และยังบริสุทธิ์ และไปเยี่ยม
ตชด. หิ้วไก่ย่างไปฝากแกจะได้ดีใจ แต่ขนาดกลางดงพงไพรเช่นนี้ ก่อนถึงด่านบ้องตี้สัก
๑๐ กม. ยังอุตสาห์มีรีสอร์ทชั้นดีของคุณมีชัย สร้างไว้รับรองนักท่องเที่ยว และรับรองหน่วยราชการ
ที่ไปจัดสัมมนา เพราะจัดที่นี่ดีอย่างยิ่งไม่มีใครขาด นับยอดทีไรครบทุกที
ตกค่ำก็อยู่สังสรรค์กันครบจำนวน เพราะกลางป่าจริง ๆ ออกไปเดิน เพ่นพ่านเสือจะกัดเอา
..................................................
|