ปราสาทเมืองต่ำ
ปราสาทเมืองต่ำ
ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
อยู่ไม่ไกลจากปราสาทพนมรุ้ง บริเวณพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยที่สำคัญไหลผ่าคือ
ลำห้วยจระเข้มาก ลำปะเทีย เป็นต้น และที่สำคัญยิ่งคือ "ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมจากเมืองพระนคร
ศูนย์กลางของอาณาจักรขอม ไปยังเมืองพิมายอีกด้วย"
ปราสาทเมืองต่ำเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ก่อสร้างด้วยวัสดุถึง ๓ ชนิด ปนกันคือ
อิฐ หินทราย และศิลาแลง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีอายุราว ๑,๐๐๐
ปี มาแล้ว คือสร้างตรงกับสมัยราชวงศ์มหินทรปุระแห่งอาณาจักรขอม ชื่อปราสาทเมืองต่ำน่าจะมาจากทำเลที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าปราสาทเขาพนมรุ้ง
ปราสาทเมืองต่ำ นับว่าเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยอาคารสิ่งก่อสร้างจำนวมมาก
และอยู่ในสภาพที่งดงาม สมบูรณ์มาก
เมื่อไปถึงบริเวณปราสาท ตรงข้ามทางเข้าปราสาทจะมีศูนย์ข้อมูลปราสาทเมืองต่ำ
เลยเข้าไปคือ ลานจอดรถ มีร้านค้าของที่ระลึก ร้านแรกทางซ้ายสุด นอกจากมีของที่ระลึกเกี่ยวกับปราสาทแล้ว
ยังมี "พระ" หรือวัตถุมงคลขายในราคาถูก
ปากทางเข้าตัวปราสาท มีซุ้มจำหน่ายบัตรราคาคนละ ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท
มีแม่ค้านั่งขายมะพร้าวเผา เหมาะสำหรับตอนชมปราสาทแล้ว ออกมาซื้อน้ำมะพร้าวดื่มให้ชื่นใจ
ด้านหลังของซุ้มจำหน่ายบัตรมี "หน้าบัน" ที่จำลองมาจากปราสาทองค์กลางตั้งไว้
ใกล้กันมี "ทับหลัง" ของปราสาทจำลอง ตั้งไว้ให้ชมเช่นกัน ผมไม่ได้ไปปราสาทเมืองต่ำมาสัก
๓ ปี ปรากฎว่าการบูรณะเรียบร้อย ยอดเยี่ยมเลยทีเดียว สถานที่สะอาดมาก รอบปราสาทมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น
"บาราย" ที่อยู่ด้านนอกคือ สระน้ำขนาดใหญ่ น้ำเต็มเปี่ยม รอบบารายถากถางหญ้าไม่ให้รกรุงรัง
ก่อนที่จะบรรยายเส้นทางมายังปราสาทเมืองต่ำ ผมขอเล่าเกี่ยวกับตัวปราสาทเสียก่อน
ศูนย์กลางของปราสาทอันเปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาล อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้า
ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู ก่อสร้างเป็นกลุ่มปราสาทอิฐจำนวน ๕ หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
แบ่งออกได้เป็น ๒ แถว แถวหน้า ๓ องค์ แถวหลัง ๒ องค์ แต่ปราสาทองค์กลางแม้จะบูรณะแล้ว
ก็เหลือเพียงฐานส่วนล่าง ส่วนอีก ๔ องค์นั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก
บรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าของกลุ่มปราสาท
บรรณาลัยคือ อาคารที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนามีจำนวน ๒ หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคด
มีซุ้มประตูทางเข้า - ออกขนาดใหญ่ ด้านละ ๑ ประตู ในส่วนของทับหลัง หน้าบัน
เสาติดผนัง มีการสลักภาพเทพเจ้า ลวดลายประดับอย่างสวยงาม เช่น พระกฤษณะปราบนาคกาลียะ
พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ลายก้านต่อดอก เป็นต้น ต้องทำความเข้าใจสำหรับท่านที่ยังไม่ทราบว่า
หน้าบัน นั้น จะเป็นรูปเกือบสามเหลี่ยมสลักภาพต่าง ๆ เอาไว้ และได้หน้าบัน
คือ ทับหลัง เป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งแบบจำลองตั้งไว้ให้ชมที่หลังซุ้มจำหน่ายบัตร
ซึ่งผมเห็นที่ปราสาทเมืองต่ำเพียงแห่งเดียว ที่จำลองเอาไว้ให้ชมว่าหน้าบัน
ทับหลัง รูปร่างเป็นอย่างไร และมักจะอยู่เหนือกรอบประตู หน้าต่างของปราสาท
มุมระเบียงคดทั้ง ๔ มุม มีสระน้ำขนาดใหญ่อย่างละ ๑ สระ ทุกสระมีลักษณะเหมือนกันคือ
มีแผนผังเป็นรูปตัว L ผนังสระและพื้นสระกรุด้วยศิลาแลง ขอบสระมีรูปพญานาคราช
๕ เศียร มีบันไดทางขึ้น - ลงสระ ๒ บันได
จากลักษณะของสระน้ำดังกล่าว เชื่อกันว่าสระน้ำทั้ง ๔ สระนี้ ต้องเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์
จะได้นำน้ำไปใช้ในบริเวณศูนย์กลางของปราสาท นอกจากนี้แล้วยังมีจารึกเอาไว้ด้วยว่า
สระน้ำเหล่านี้คือ สิ่งที่คุ้มครองดูแลรักษาปราสาท
กำแพงล้อมรอบปราสาท ก่อด้วยศิลาแลง สูงประมาณ ๒ เมตร อยู่ถัดจากสระน้ำออกไปบนสันกำแพงประดับด้วย
บราลีหินทราย มีซุ้มประตูทางเข้าออกตรงกึ่งกลางกำแพงทั้ง ๔ ด้าน ก่อด้วยหินทรายขนาดใหญ่
ด้านละ ๑ ประตู มีทับหลัง และหน้าบัน เสาติดผนัง ล้วนแต่มีการสลักรูปเทพเจ้า
และลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปพระกฤษณะปราบนาคกาลียะ ลายประจำยามก้ามปู แกะสลักเป็นภาพนูน
เป็นภาพที่มีรายละเอียด และสมบูรณ์มาก ยากที่จะหาชม
บาราย หรือ อ่างเก็บน้ำสำหรับใช้สอย ชาวบ้านเรียกว่า "ทะเลเมืองต่ำ" อยู่ทางทิศเหนือของปราสาท
ห่างออกไปสัก ๒๐๐ เมตร บาราย กว้าง ยาว ประมาณ ๕๑๐ - ๑,๐๙๐ เมตร สันนิษฐานว่าบารายแห่งนี้
คงขุดขึ้นพร้อมกับการสร้างปราสาทหินเมืองต่ำ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู
และใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในสมัยนั้น
การชมปราสาทหินนั้น อย่าไปมุ่งชมแต่ตัวปราสาท ให้เน้นที่หน้าบัน และทับหลังให้มาก
ดูอย่างมีเวลา อย่าดูเพียงเดินผ่านไป จะได้อะไรหลาย ๆ อย่างจากการชม เพราะฝีมือในการก่อสร้างที่แสดงถึงความงดงามนั้น
จะแสดงอยู่ที่ภาพบนหน้าบัน และทับหลัง ทับหลังที่งดงามที่สุดที่ปราสาทเมืองต่ำนี้น่าจะเป็น
"ทับหลังภาพอุมามเหศวร" ภาพที่เกิดจากการแกะสลักเมื่อพันปีที่แล้ว และได้รับการบูรณะให้สดใส
เด่นชัดขึ้น ให้คงสภาพของภาพเมื่อพันปีที่แล้ว (อายุปราสาทอยู่ระหว่าง
พ.ศ.๑๕๑๐ - ๑๖๓๐ ) ผมไม่มีความรู้พอที่จะบรรยายได้ว่า ภาพแกะสลักในเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง
ที่รู้จักแน่ ๆ และมีแทบจะทุกทับหลังคือ ภาพของเกียรติมุข ที่หิวโหยกินได้แม้แต่ตัวเองจนเหลือแต่หน้าปรากฎอยู่
ซึ่งจะแกะสลักหน้าเกียรติมุขไว้ตรงกลางด้านล่างของทับหลัง แทบจะทุกแห่ง
หากวิ่งผ่านหน้าทางเข้าปราสาทเมืองต่ำ ไปถนนก็จะหักข้อศองเลี้ยวซ้ายเลียบ
"บาราย" ไป พ้นกำแพงปราสาทเมืองต่ำไปแล้วนิดเดียว จะมีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้ายไปยัง
" กุฎิฤาษีเมืองต่ำ" และเส้นทางนี้จะไปยังปราสาทพนมรุ้งได้ กุฎิฤาษีเมืองต่ำ
หรือกุฎิฤาษีบ้านโคกเมือง เป็น "อโรคยาศาล หรือจะเรียกให้ทันสมัยคงจะต้องเรียกว่า
"สถานีอนามัย" อโรคยาศาล หรืออนามัยของขอมนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของขอม
กษัตริย์ผู้สร้างนครธม (องค์ที่สร้างนครวัดคือ สุริยวรมันที่ ๒) ได้สร้างอโรคยาศาลเอาไว้มากถึง
๑๐๒ แห่ง และที่สร้างอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทย ในปัจจุบันมีจำนวน ๒๗ แห่ง
กุฎิฤาษีเมืองต่ำ และกุฎิฤาษีหนองบัวราย (อยู่ไม่ไกลกัน) คือ อโรคยาศาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่
๗ สร้างขึ้นไว้และคงจะต้องมีพราหมณ์ อยู่ประจำทำหน้าที่แพทย์ และเป็นที่พักคนเดินทางไปด้วย
ตัวปราสาทประกอบด้วยปรางค์ศิลาแลง มีกรอบประตูเป็นหินทราย ด้านหน้าทำเป็นมุขยื่นออกมา
ส่วนประตูอีกสามด้าน ทำเป็นประตูหลอกเอาไว้ มีบรรณาลัยทรงสี่เหลี่ยมสร้างด้วยศิลาแลงอยู่ภายในกำแพง
ประดับด้วยหินสลักรูปนาค
การเดินทาง เส้นทางไปผมไปผ่านทางจังหวัดสระแก้ว ส่วนเส้นทางกลับผมกลับมาผ่าน
ทางอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ชอบใจไปทางไหน เลือกเอา สะดวกทั้งสองทางสนุกไปคนละแบบ
แต่เส้นทางกลับผมขอผลัดไปบอกในตอนหน้า ตอนไปปราสาทเขาพนมรุ้ง
ผมออกเดินทางจากบ้านลาดพร้าว ขึ้นทางด่วนรามอินทรา - เอกมัย แล้วไปเข้าทางด่วนสายไปชลบุรี
(จะไปตามถนนอินทรา ๓๐๔ ไปออกแปดริ้วเลยก็ได้) พอจวนสุดทางก็ลงเสียที่บางปะกง
หรือเผลอไปลงสุดทางก็ต้องย้อนกลับมา เพื่อเข้าถนนสายบางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ไปเส้นนี้สะดวกและเร็วมาก เสียค่าทางด่วนสองเด้ง ๓๐ + ๕๕ บาท ต่อจากนั้นก็ไปผ่านแปดริ้ว
แต่ไม่ได้เข้าตัวเมืองไปตามถนนสายไป กบินทร์บุรี (ไปนครราชสีมาได้) โดยจะผ่าน
อ.พนมสารคาม เลยไปก็จะผ่าน "สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก
(เขาหินซ้อน)" อยู่ทางขวามือ เลยต่อไปอีกนิดเดียว
ก่อนจะเลี้ยวขวาเข้าถนนไปสระแก้วคือ
ศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ควรแก่การแวะถวายสักการะ เลยศาลไปแล้วก็จะมีถนนแยกขวาไปยัง อ.เมืองสระแก้ว
เลยต่อไปยังอรัญประเทศ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ ไม่กี่ปีมานี้เอง ตอนนี้เริ่มชำรุดเพราะทนน้ำหนักของรถบรรทุกไม่ไหว
น่าเสียดาย วิ่งไปตามถนนสายนี้ จนพบป้ายบอกไป สระแก้วก็เลี้ยวซ้าย
คืนแรกผมนอนที่สระแก้ว ที่สระแก้วถนนเข้าไปสู่เทศบาลเมืองสระแก้วคือ ทางไปโรงแรม
พี พี และไปยังสระแก้ว สระขวัญ ไปวันนี่ไม่มีควายเข้ามาเลี้ยง หญ้าไม่รกรุงรัง
ทราบว่าจะเตรียมงานลอยกระทง กินกลางวันกันที่ร้านบ้านก๋วยเตี๋ยวปลา อยู่ริมถนนสาย
๓๓ ทางไปวัฒนานคร ก่อนถึงทางแยกขวาไปจันทบุรี เยื้องดงขายเฟอร์นิเจอร์จากไม้
ร้านใหญ่โต อาหารดี ขนมอร่อย
จการ้านบ้านก๋วยเตี๋ยวปลา พาไปเที่ยวอุทยานน้ำตกปางสีดา
กลางคืนชิมอาหารร้าน ที่ผมเคยเขียนเล่ามาแล้ว แต่ไปคราวหลังสองครั้ง มื้อเที่ยงเห็นเขาปิดร้านใส่กุญแจ
นึกว่าเขาย้ายร้าน ไปคราวนี้จึงทราบว่าเขายังอยู่ที่เดิม แต่หากวันไหนขายดึกถึงเที่ยงคืน
กว่าจะเปิดร้านได้ก็บ่าย เพราะเป็นร้านประเภททำกันเองในครอบครัว แต่เก่าแก่กว่าสามสิบปีมาแล้ว
จากสระแก้ว ไปวัฒนานคร ถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ไปทำบุญ
ถวายสังฆทาน ที่วัดนครธรรม "หลวงพ่อขาว" วัดนี้มีที่พักสำหรับคณะใหญ่
ๆ ด้วย
ไปพักค้างคืนที่อรัญประเทศ กินอาหารกลางวันร้านเวียดนาม อยู่ในซอยข้างธนาคารกรุงไทย
อิ่มแล้วไปตลาดโรงเกลือ ให้ขบวนการนักจ่ายได้ใช้เงิน
รุ่งเช้าออกเดินทางต่อ พาคณะไปปราสาทสด๊กก๊อกธม
ดีใจที่ไปคราวนี้เห็นป้ายบอกชื่อปราสาททุกป้าย ที่มองเห็นเขียนเหมือนกันหมดคือ
สด๊กก๊อกธม จากปราสาทไปยังละลุ
ซึ่งได้เล่าไปแล้ว ไปคราวนี้ยิ่งสวยเพราะต้นข้าวออกรวง แก่ใกล้เกี่ยวสีเหลืองอร่าม
จากละลุ กลับมาขึ้นถนน ๓๔๘ ใหม่มุ่งหน้าตามป้ายไปบุรีรัมย์ ไปผ่านโนนดินแดง
ที่มีอนุสาวรีย์ "เราสู้"
ที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร สู้เพื่อชิงมวลชน ชิงพื้นที่จาก " ผกค." จากโนนดินแดงไปต่อผ่านอำเภอละหานทราย
แล้วไปตามถนนที่บอกว่า ไปเขาพนมรุ้ง จะพบป้ายให้เลี้ยวขวาไป ปราสาทเมืองต่ำที่บ้านยายแย้ม
เลี้ยวขวาไปตามถนนแคบ ๆ อีก ๖ กม. ก็จะถึงปราสาทเมืองต่ำ หากไม่เลี้ยวขวาระยะทางละหานทรายไปอีก
๓๐ กม. จะถึงเขาพนมรุ้ง ผมพาคณะเดินทางไปตามเส้นทางนี้ ระยะทางไม่ผิดกันมากนัก
กับเส้นทางกลับทางผ่าน อ.โชคชัย แต่ได้เที่ยวมากแห่ง
ขอพากลับมาชิมอาหาร ที่อำเภอเมืองสระแก้ว จะเลยมาชิมมื้อกลางวันก็ต้องไปชิมกันที่บริเวณลานจอดรถ
หน้าทางเข้าปราสาทยังไม่เคยชิม วันนี้ขอแนะร้านหนึ่งที่ไปนึกว่าเขาย้ายร้านไปแล้ว
และเป็นร้านเก่าแก่ อาหารอร่อยมากพอ ๆ กับราคาที่ถูกมาก เส้นทางไปร้านหนึ่ง
หากมาจากกบินทร์บุรี เข้าตัวเมืองสระแก้ว ให้ดูซอยทางซ้ายมือ ซอย "เทศบาล
๑๙" เลี้ยวซ้ายเข้าซอยนี้ไปสัก ๒๐๐ เมตร ตรงข้ามกับ สภ.อ.สระแก้ว ร้านอยู่ซ้ายมือ
ความเก่าแก่ของร้าน ขนาดพื้นร้านปูด้วยไม้กระดานทั้งแผ่น ช่วยกันแบบอุตสาหกรรมในครอบครัว
ผัวเมีย ลูกสาวช่วยเสริฟ
แกงป่า ร้านนี้เก่งนัก ซดร้อน ๆ ชื่นใจ ไม่เผ็ด เรียกว่าเผ็ดแต่ เผ็ดอร่อย
สั่งแกงป่าปลาเนื้ออ่อน สั่งแกงป่า ต้องสั่งอาหารประจำชาติด้วยคู่กัน คือ
"ไข่เจียว"
กับแกล้ม ชั้นดี คือ หมูแดดเดียว เคี้ยวสนุก
ยำถั่วพู รายการนี้ฝ่ายหญิงจะชอบมากเป็นพิเศษ เพราะรสจัดถึงใจ
ไส้ตัน แทนที่จะให้ทอดกระเทียมพริกไทย ร้านแนะให้ลองผัดน้ำพริกแกง กินกับข้าวอร่อย
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ผัดไก่ เคี้ยวเล่น เคี้ยวจริงสนุกหมด
และร้านนี้เป็นอีกร้านหนึ่งที่ทำไข่ตุ๋นอร่อยนัก ลองสั่งมาชิมดู ไข่ตุ๋นรสดี
ยกมาวางต้องซดกันร้อน ๆ จึงจะถึงใจ
ของหวานเขาไม่มี งัดเอาข้าวหลามรสดีของแม่บาง ที่ซื้อมาจากวัฒนานครตอนไปไหว้หลวงพ่อขาว
ที่วัดนครธรรม เอามาเป็นของหวาน ร้านข้าวหลามแม่บางออกประตูหลังวัดไปอยู่ทางซ้ายมือ
หากมากันคณะใหญ่คิดจะพักวัดนครธรรม ราคาย่อมเยา ได้บุญติดต่อ ๐๑ ๕๗๓๕๙๒๒
|