ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > เกาะสีชัง
 
เกาะสีชัง พระจุฑาธุราชฐาน
| หน้าต่อไป |

เกาะสีชังพระจุฑาธุชราชฐาน

   ถิ่นสุขกายสุขด้วยถิ่นดี
จิตโปร่งปราศจากราคีชุ่มชื้น
สองสุขแห่งชาวสีชังเกาะ นี้แฮ
อายุย่อมยืนพื้นแต่ร้อนเรือนริม

           บทพระราชนิพนธ์โคลงชมเกาะสีชัง  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้  เกาะสีชังหรือ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี นั้นเป็นท้องที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสถานที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินถึง 3 พระองค์  คือ รัชกาลที่4  รัชกาลที่ 5  และรัชกาลที่ 6  ซึ่งมีหลักฐานปรากฏจากพระนามาภิไธยหลายแห่ง
           อำเภอเกาะสีชังเดิมขึ้นอยู่กับเขตการปกครองของ อ.เมือง ฯ จังหวัดสมุทรปราการจนถึงปี พ.ศ. 2486  จึงโอนมาขึ้นกับอำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี และได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อ 3 กรกฎาคม 2537  อำเภอนี้ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 8 เกาะ  มีเนื้อที่ประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโขดหิน มีที่ราบเพียงเล็กน้อย มีประชากรประมาณ 5,000 คนเศษ  ราษฎรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและมีนับถือศาสนาอิสลามบ้างเล็กน้อย  อาชีพหลักคือการประมง
           เกาะสีชังยังมีสภาพเป็นท่าเรือสำคัญอยู่  เพราะมองเห็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จอดอยู่มากมาย เพื่อรอการขนถ่ายสินค้าเข้ากรุงเทพ ฯ ทั้ง ๆ ที่เดี๋ยวนี้มีท่าเรือแหลมฉบังแล้วก็ตาม และยังมีเรือโป๊ะไม่มีเครื่องยนต์ของตัวเอง  ต้องใช้เรือยนต์ลากจูง จอดอยู่เป็นกลุ่ม ๆ เขาบอกว่าส่วนมากจะขนเอาปูนซีเมนต์มาลงเรือ  ขนแร่กลับไปหรือสินค้าอื่นๆ  มองดูแล้วยังกับท่าเรือในต่างประเทศที่มีเรือเข้ามาจอดมากๆ และต้องไปดูบนเขาด้วยจึงจะมองลงมาเห็นสวยดี
           การไปเกาะสีชังของผมคราวนี้  ห่างจากครั้งก่อนคงจะประมาณ 22 ปี ภาพที่เห็นจึงแตกต่างกันมาก  สีชังมีถนนคอนกรีตหลายสาย แต่ยังไม่มีถนนรอบเกาะ คงจะได้สักค่อนเกาะ  จุดเด่นที่สำคัญยิ่งและที่อยากไปชมก็คือ "พระจุฑาธุชราชฐาน" ซึ่งเมื่อไปคราวก่อนยังไม่ได้บูรณะเลย  ปล่อยรกร้าง หญ้าท่วมหัว คราวนี้ได้บูรณะองค์พระที่นั่งและพระตำหนักไปแล้วเป็นส่วนใหญ่  แต่ยังไม่ได้บูรณะหญ้าทั้งหลายยังสูงท่วมหัวอยู่  ปิดบังความงามของธรรมชาติจนหมดสิ้น โดยเฉพาะวิวของท้องทะเลสีคราม
           การไปเกาะสีชังนั้นจะไปเช้าเย็นกลับก็ได้  สดวกสบายดี แต่หากอยากได้บรรยากาศแบบผมก็ไปนอนเสียคืนหนึ่ง ไปเรือเที่ยวสาย ๆ ไปถึงก็เที่ยวได้เลย  สถานที่น่าเที่ยวชมมีดังนี้
        ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เมื่อขึ้นจากท่าเรือไปแล้ว  ก็จะผ่านไปทางชุมชนไปตามถนนสายแคบ ๆ ซึ่งใกล้ ๆ ท่าเรือมีพวกร้านอาหารทะเล เหมาะซื้อติดไม้ติดมือมาตอนขากลับ ส่วนจะไปทางไหน คงให้สารถีสะกายแล๊บเขานำไป  แต่ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่นั้นอยู่บนเขา อยู่ที่หน้าผาสูงเด่น มองเห็นได้ไกล ตั้งแต่อยู่ในทะเล  สร้างเป็นศาลาใหญ่โตมโหฬารเลยทีเดียว เมื่อไปถึงเชิงบันไดแล้ว ต้องเดินขึ้นบันไดไปไม่ทันเหนื่อย ก็ถึงชั้นศาลที่ประทับเจ้าพ่อแล้ว แต่หากจะขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาทก็มีทางขึ้นต่อไปอีก  แต่ผมไม่ได้ขึ้นไปและตรงเชิงบันไดเวลาจะขึ้นไปร้านอยู่ทางซ้ายมือ  มีขนมทองม้วนทำกันสด ๆ ร้อน ๆ หอมน่ากิน รสอร่อยราคาถูกดูเหมือนถุงละ 10 บาท มี 5 อัน หรือถุงละ 5 บาทก็ชักไม่แน่ใจและยังมีขนมอื่นๆ อีกโดยเฉพาะข้าวเหนียวแดงเยี่ยมมากทีเดียว  ไม่กลัวฟันหลุดต้องทดลองชิมทั้งข้าวเหนียวแดงและข้าวเหนียวแก้ว
           เมื่อขึ้นไปบนศาลาแล้ว ห้องโถงแรกซ้ายมือ หรือน่าจะเรียกว่าหลืบถ้ำมากกว่าเป็นพระสังกระจาย แล้วยังมีห้องเจ้าแม่กวนอิม  เจ้าพ่อขุมทรัพย์ แป๊ะกง  เจ้าพ่อเห้งเจีย  ส่วนคูหาถ้ำของเจ้าพ่อเขาใหญ่นั้นอยู่ตอนในเรียกว่าเกือบไม่ได้ไหว้ นึกว่าองค์แรกๆ คือเจ้าพ่อเขาใหญ่  ประวัติมีว่าในอดีตกาลเรือสำเภาที่มาจอดถ่ายสินค้ากันที่เกาะสีชัง  สมัยที่สีชังยังไม่มีผู้คนอาศัย สังเกตุว่าตอนค่ำมืดจะมีแสงจากบริเวณศาลในปัจจุบันส่องสว่างสุกใส  จึงได้พากันมาสำรวจและพบถ้ำซึ่งปรากฏรูปหินของเจ้าพ่อเขาใหญ่ในลักษณะประทับนั่ง  จึงเกิดความศรัทธา พากันกราบไหว้บูชาขอให้การค้ารุ่งเรืองก็ประสพความสำเร็จ จึงเป็นที่เคารพสักการะของบุคคลทั่วไปทั้งไทยและเทศ
           ติดกับทางขึ้นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่  คือวัดที่สำคัญวัดหนึ่งใน 2 วัดของเกาะสีชัง วัดนี้คือวัดจุฑาทิศธรรมสภาราม เป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2435  ภายในวัดได้รับการปฏิสังขรณ์ไว้อย่างดี  อุโบสถ  หอระฆัง พระพุทธบาทจำลอง  และพระประธานปางมารวิชัย ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงามมาก
           และที่วัดจุฑาทิศ ฯ นี้มีสิ่งสำคัญยิ่งที่มีอายุยืนยาวกว่าร้อยปี คือ
           1.  ธรรมมาส  มีตรา จปร.
           2.  ตู้พระไตรปิฎก
           รัชกาลที่ 5  ได้พระราชทานเนื่องในโอกาสสมโภชศิริราชสมบัติรัชฎาภิเศกรศ. 112  ตู้พระไตรปิฎกนั้นมีถึง 39 เล่ม  และวัดยังมีหนังสือคัมภีร์วิภังค์พ.ศ. 2500 อีกจำนวนมากอีกด้วย  ในคำนำของพระไตรปิฎกนั้นกล่าวว่า "พระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลได้ทรงสร้างพระปริยัติธรรมครั้งนี้แก่มหาชนนิกรทั่วไป"
           แต่ทางวัดยังไม่มีที่เก็บที่เหมาะสม  จึงนำไปเก็บไว้ที่ห้องอยู่ใต้หอระฆัง ไม่ได้เปิดให้เข้าชมกันได้ทั่วไป  วันที่ผมไปผมได้ขอกับรักษาการเจ้าอาวาสพระสวัสดิ์  อุตตมงโส  ขอชมท่านก็จัดการให้ (เจ้าอาวาสมรณภาพนานแล้วยังไม่มีการแต่งตั้ง วัดร้างเจ้าอาวาสไม่มี)  ซึ่งห้องนี้ก็เหมือนห้องเก็บของ ไม่ได้ปรับอุณหภูมิหรือรักษากันเป็นพิเศษอย่างไร น่าที่กรมศิลปากรจะได้เข้าไปช่วยเหลือ ด้วยการสร้างห้องเก็บรักษาให้ และให้คนไปเที่ยวได้ชมได้  แต่อย่าไปยึดของวัดมาก็แล้วกัน  แล้วยังมีธรรมมาสกับพระบรมฉายาลักษณ์เก่าแก่คู่กับวัดอยู่ในพระอุโบสถอีกด้วย  เช่นเดียวกัน ธรรมมาสนั้นมีตรา จปร.ที่พนักพิง
         ศิลาจารึก รัชกาลที่ 5 เป็นแผ่นหินใหญ่ตั้งอยู่ในโรงเรียนเกาะสีชัง  จารึกประวัติที่มา
         สำนักสงฆ์ถ้ำจักรพงษ์ ซึ่งสำนักสงฆ์แห่งนี้ขึ้นกับวัดจุฑาทิศ  มีพระเหลืองประทับนั่งเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพุทธพากันมากราบไหว้
         เก๋งจีนประกอบพิธีต่าง ๆ ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้
         ช่องเขาขาด ยอดเขาสำหรับชมวิวที่งดงามมาก  ซึ่งเขาแห่งนี้รัชกาลที่ 5 จะเสด็จมาประทับชมความงดงามของท้องทะเล ที่มีลักษณะเป็นอ่าว  เมื่อไปถึงแล้วก็เดินขึ้นไปยัง พลับพลาที่ประทับซึ่งเดี๋ยวนี้เขาสร้างหลังคาคลุมแท่นประทับไว้ แต่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ทางเทศบาลไม่รู้ซึ้งถึงความงดงามตามธรรมชาติ ไปจัดการสร้างสะพานเชื่อมช่องเขาขาดแห่งนี้  เพื่อให้คนเดินไปชมวิวได้สดวก แต่ไม่มองกลับทางว่า หากมองมาจากทะเลความงดงามในอ่าวนี้จะหมดไปทันที รวมทั้งเมื่อมองยังพลับพลาที่ประทับก็จะมองเห็นเป็นเหมือนสะพานทอดข้ามอยู่ เหมือนกำแพงก็เหมือนวันที่ผมไปยังสร้างไม่เสร็จ  เสร็จเมื่อไรความอัปลักษณ์คงจะโชว์ออกมามากกว่านี้ ถามชาวบ้านดูบอกว่าเป็นการสร้างของฝ่ายเทศบาล ไม่ใช่อำเภอสร้าง  น่าเสียดายอย่างยิ่งไม่ทราบว่าตอนจะสร้างได้มีการขออนุญาต หรือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ไปช่วยตรวจ ช่วยดูกันบ้างหรือเปล่า  สถานที่ตรงนี้จะเหมือนอ่าวที่สวยที่สุดในนิวซีแลนด์ที่เขาไปดูนกกัน เรียกว่าไปดูตรงนี้ไม่ต้องไปดูนิวซีแลนด์ยังไหว
           ทีนี้มาถึงจุดสำคัญที่ผมยังไม่ได้เล่าความเป็นมาเลยคือ  พระจุฑาธุราชฐานอายุถึง พ.ศ. 2544  นี้ก็มีอายุ 109 ปี  ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเสด็จมายังเกาะสีชังเป็นประจำโดยเรือกลไฟ  ชื่อพระที่นั่งสยามอรสุมพลและประทับแรมบนเรือพระที่นั่งโดยมิได้สร้างพลับพลาที่ประทับ แต่ในเวลานั้นก็มีเรือนไม้พักผ่อนริมทะเล  ปลูกสร้างอยู่แล้วหลังหนึ่งคือ "เรือนเขียว" ปัจจุบันยังอยู่และมีสภาพที่เรียบร้อยสมบูรณ์
           มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5  ก็โปรดเสด็จมาประทับที่เกาะสีชัง และเวลาเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ก็ถือเอาเกาะสีชังนี้ เป็นระยะที่พักทอดเรือพระที่นั่งและเป็นที่ตากอากาศ ตลอดจนอยู่ไม่ไกลจากพระนคร  และยังมีเจ้านายหลายพระองค์ เสด็จมาทรงรักษาอาการประชวรอยู่เสมอ
           ในปี พ.ศ. 2431  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่6)  ทรงพระประชวร ทางแพทย์หลวงได้ถวายการเสนอแนะให้ไปรักษาพระองค์ที่เกาะสีชัง ซึ่งเวลานั้นคงไม่มีพลับพลาที่ประทับ คงมีแต่เรือนเขียว  และในปีเดียวกันนั้นสมเด็จพระบรมราชินีก็่ทรงพระประชวร  แพทย์ก็ให้แปรพระราชฐานมาประทับที่เกาะสีชังอีกและเสด็จมาอย่างกระทันหัน ต้องประทับที่กระโจมพักใต้ต้นมะขาม
           ในปี พ.ศ. 2434  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางเดชาวุธ  ทรงพระประชวรหนักได้เสด็จมาประทับที่เกาะสีชัง ครั้งนี้รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาด้วยจึงทรงมีพระราชดำริว่า
" ที่เกาะสีชังมีอากาศดีมีภูมิสถานเป็นที่สบาย  ควรตั้งพระราชฐานให้มั่นคง เพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อน เพราะมีความสำคัญด้วยเป็นพระนครที่ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมาประทับ และเป็นเมืองท่าใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงสยาม"
           ในปี พ.ศ. 2436  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้น ณ ตำบลเทววงษ์ อยู่ตรงกลางของเกาะสีชัง  มีพระที่นั่ง4 องค์ พระตำหนัก 14 องค์ ศาลา 1 หลัง  ประตูพระราชฐานชั้นใน 3 ประตู ทางในพระราชฐาน 26 ทาง  บันได 21 บันได  น้ำตก 5 แห่ง  สระน้ำ3 สระ  น้ำพุ 4 แห่ง  ธารน้ำ 2 ธาร  ถ้ำ 3 ถ้ำ  และบ่อน้ำ13 บ่อ  เพราะเกาะสีชังขาดแคลนน้ำจืดมาจนถึงปัจจุบันนี้  เพราะยังไม่มีการเดินท่อน้ำประปามายังเกาะ ไม่มีการเดินสายไฟมายังเกาะแบบเกาะช้าง  ชาวบ้านต้องขุดบ่อทำที่เก็บน้ำกันใต้ถุนบ้านพักของตน หากฤดูแล้งกักเก็บน้ำไม่พอ  จะต้องซื้อจากเรือที่ขนน้ำเอาไปขาย ยิ่งโรงแรมยิ่งต้องสร้างที่เก็บน้ำให้ใหญ่มากและต้องซื้อน้ำเพิ่มเติม ไฟน้ำโรงแรมต้องดำเนินการเอง  ทำให้ค่าโรงแรมแพงตามไปด้วย  ส่วนน้ำบาดาลในปัจจุบันนี้ขุดแล้วไม่ประสบความสำเร็จน้ำกร่อย  อ่างเก็บน้ำสร้างแล้วพึ่งเก็บน้ำได้ในปี พ.ศ. 2542  ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างให้เก็บน้ำได้มากพอทำน้ำประปาได้  แต่บ่อและสระน้ำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นนั้นมีน้ำเพียงพอใช้ในพระราชฐาน
           รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกาะสีชังมาก  จึงมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่ประสูติของพระราชกุมารในพระองค์และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนามพระราชฐานให้ต้องด้วยพระนามแห่ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  คือพระราชกุมารนั้นทรงพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก  ส่วนพระราชฐานให้เรียกว่าพระจุฑาธุชราชฐาน  พระราชทานนามพระที่นั่งทั้ง 4 ว่า  พระที่นั่งโกสีสุภัณฑ์ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์  พระที่นั่งโชติรสประภาต์ และพระที่นั่งเมขลามณี ส่วนพระตำหนักทั้ง 14 องค์ พระราชทานนามว่า  วรสตรีก่องเก็จ  เพชรระยับ ทับทิมสด  มรกฏสุทธิ์  บุศราคำ  กำโกมิน  นิลแสงสุก มุกดาพราย  เพทายใส  ไพฑูรย์กลอก  ดอกตะแบกละออ  โอปอล์จรูญ มูลการเวก  และเอกฟองมุก  คล้องจองกันไปหมด
           การก่อสร้างไม่เสร็จตามพระราชประสงค์  เพราะเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนไปในปี พ.ศ. 2437  ปีที่ฝรั่งเศสยกกองเรือมาปิดอ่าวไทย การก่อสร้างจึงหยุดชะงักไป  จนกระทั่งปี พ.ศ. 2444  พระองค์จึงได้เสด็จประพาสหัวเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันออกและได้ทอดพระเนตรเห็นพระที่นั่งธาตุรัตนโรจน์  ที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จมีสภาพรกร้าง และสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังจึงโปรดเกล้า ฯ ให้รื้อไปสร้างขึ้นในพระราชวังสวนดุสิต พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ โดยให้พระราชโยธาเทพเป็นแม่กอง  ทีนี้ต้องวิเคราะห์กันละเพราะเมื่อผมเขียนเรื่องเมื่อผมหน้าแตกนั้น ได้เขียนไว้ว่าผู้ที่รื้อและไปสร้างพระที่นั่งวิมานเมฆคือพลเรือตรี พระยาราชสงคราม (กร  หงสกุล)  แต่ตามหลักฐานที่อ่านพบใหม่บอกว่าพระราชโยธาเทพ (กอน  หงสกุล) จึงชี้ลงไปได้เลยว่าท่านทั้งสองนี้คือบุคคลท่านเดียวกันคือท่านกร หรือ กอน  หงสกุล  ซึ่งตอนที่ไปรื้อพระที่นั่ง ธาตุรัตนโรจน์  ท่านอาจจะยังมีบรรดาศักดิ์เป็น "พระ" ก็ได้  ผมเลยขอส่งหลักฐานที่ได้มาใหม่นี้ให้คุณอาหะริน  หงสกุล  ของผมได้กรุณาวิเคราะห์ด้วย  แต่นามจริง กอนหรือ กร นั้นคนเดียวกันแน่นอน  เอกสารนี้ผมอ่านพบในหนังสือ "น้ำใจ" ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เขาอ้างอิงถึงหนังสือ 100 ปี  สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช  และหนังสือพระที่นั่งประตูและป้อม  กองสถาปัตยกรรม และกองโบราณคดีกรมศิลปากร  ผมก็เลยอ้างเข้าไปทั้งหมดทุกเล่มที่อ่านมา แสดงว่าท่าน พล.ร.ต.พระยาราชสงคราม (กร  หงสกุล) นี้เป็นช่างเอกคู่พระทัยของรัชกาลที่5  ผลงานก่อสร้างของท่านจึงมากมายหลายแห่ง  พระที่นั่งวิมานเมฆ เศกดุสิต  วัดเบญจมบพิตร  ซ่อมพระปรางค์วัดอรุณ ฯ สร้างเรือสุพรรณหงส์ในรัชกาลที่6  ล้วนแต่เป็นฝีมือของท่านทั้งสิ้น  และในเขตพระราชฐานนี้ ยังมีวัดซึ่งกำลังบูรณะอยู่ ลักษณะที่แปลกคืออุโบสถ (น่าจะเป็นพระอุโบสถ) เหมือนของแบบยุโรปและอาณาบริเวณวัดดูไม่ออกว่ามีแค่ไหน พระเจดีย์อยู่องค์หนึ่ง  ชื่อวัดก็ไม่มีป้ายเขาว่าชื่อวัดอัษฎางค์ ในหนังสือน้ำใจ  หนังสือสีชังไม่มีการกล่าวถึงวัดนี้ไว้เลย แต่เจ้าของโรงแรมศรีราชาล็อดย้ำนักย้ำหนาว่าให้ผมปีนขึ้นไปชมวัดนี้ให้ได้  ก็เลยพยายามปีนป่ายขึ้นไปไม่สูงนักพอหอบ
           บริเวณเขตพระราชฐานกำลังมีการบูรณะตกแต่งหลายแห่ง  แต่พระที่นั่งหรือพระตำหนักส่วนใหญ่ก็เรียบร้อยดี ที่ไม่เรียบร้อยคือ "หญ้า" สูงจนบดบังความงดงามหมด  โดยเฉพาะเมื่อมองจากทะเลและในเขตต้นลั่นทมเก่าแก่อยู่มากมาย  หากมีการถากถางหญ้าให้โล่งเตียนให้หมด พระที่นั่งจะตระหง่านขึ้นมาทันที  รวมทั้งดอกลั่นทมสีขาวที่บานสพรั่งด้วย หากคิดจะถากถางหญ้าให้เร็วโดยไม่ใช้งบประมาณขอให้ท่านนายอำเภอ  ที่ได้กรุณาจัดรถให้ผมเที่ยวได้ขอจากฐานทัพเรือสัตหีบ ทหารเรือเขาก็มีเรือเขาก็เอาเรือ เอาทหาร เอาเครื่องมือมาจัดการเสียสามวันก็เหมือนเนรมิตเกาะใหม่หรือพระราชฐานใหม่ขึ้นมาทันตาเห็น ขอทหารบกไม่มีเรือ  ทหารบกต้องไปขอเรือทหารเรือมาสีชังอีก  ขอนาวิกโยธินทหารเรือนั่นแหละผมว่าเขาช่วยได้ ออกคำสั่งฝึกอะไรสักอย่างก็พาทหารลงเรือมายกพลขึ้นบกที่เกาะสีชังสบายไป
           อาหาร มาเจอร้านถูกใจอยู่หน้าทางเข้าเขตพระราชฐานนี่แหละ  ร้านคุณเล็ก หน้าเบนซ์เขาเรียกกันอย่างนั้น  เพราะอยู่ตรงกันข้ามกับโรงแรมเบนซ์ซึ่งราคาไม่แพง แต่วิวทะเลไม่สวยเหมือนสีชังพาเลซ  ร้านนี้ไม่มีป้ายชื่อมีร้านเดียว ออกมาจากพระราชฐานก็อยู่ทางซ้ายมือ  โรงแรมอยู่ทางขวามือเวลาออกมาสกายแล๊บรู้จักดีกุ้ง ปู ปลาสดจริง ๆ  ใครเถียงไม่ได้เพราะใส่ตู้ไว้ยังว่ายอยู่เลย เราก็ไปชี้ประหารชีวิตเสีย
           ปูม้านึ่งสั่งเขาทีเดียว 2 กก. ความจริงอยากสั่งมากกว่านี้ กลัวอดอย่างอื่น ปูสด ๆ อย่างนี้ไม่ต้องจิ้มอะไรเลยก็ได้  กินแบบที่ผมเคยเล่าให้ฟังนานยี่สิบปีแล้ว คือไปกินอาหารที่สเปญ เขาพาไปกินบนร้านบนหน้าผาสูง  เขาบอกว่าอาหารชั้นยอด พอยกมาก็ยกอ่างล้างมือมาก่อน แล้วยกกาละมังใส่อาหารทะเลที่สด ๆ ทั้งหลาย เขาแค่เอามานึ่งมาลวกแล้วใส่อ่างมา  มีแค่นั้น ไม่มีน้ำจิ้มน้ำอะไรทั้งนั้นนอกจากอ่างล้างมือ ทีแรกนึกว่าคงไม่เอาไหน แต่พอลองบิปูทะเลใส่ปาก รสหวานออกมาทันที  มีรสด้วยความสดของตัวเอง วันนี้เหมือนกัน ปูม้านึ่งไม่ต้องจิ้มอะไรอร่อยจริง ๆ
           ไข่เจียวหอยนางรม ทอดไข่เก่ง ทอดได้นุ่ม  ไม่ยุบตัวหอยนางรมตัวโต สั่งแล้วต้องสั่งเพิ่มอีกจาน เอามาจิ้มซ๊อสศรีราชา
           ต้มยำกุ้งร้อนโฉ่  ซดชื่นใจ
           ปลาหมึกผัดน้ำพริกเผา  อาหารสดทำอะไรก็อร่อยไปหมด
           ผัดผักกับกุ้ง  อร่อยอีกเพราะผักของเขาก็สด  ผัดเก่ง  กรอบ กุ้งก็สดเลยไปกันใหญ่
           ไม่มีของหวาน งัดขนมทองม้วนที่ซื้อมาจากเชิงบันไดทางขึ้นศาลาเจ้าพ่อเขาใหญ่ออกมากิน แต่ยังไม่กล้ากินข้าวเหนียวแดง  พลาดพลั้งฟันหลุดออกมาจะยุ่งกันไปใหญ่น่ะซี

| หน้าต่อไป | บน |

เกาะสีชัง: ข้อมูลเกาะสีชัง ท่องเที่ยวเกาะสีชัง ข้อมูลเที่ยวเกาะสีชัง


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์