บะหมี่ชากังราว
บะหมี่ชากังราว
ผมเคยเล่าเรื่อง เฉาก๊วยชากังราวไปแล้ว ว่าเป็นเฉาก๊วยที่มีโรงงานผลิตอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร
และส่งออกไปขายหลายจังหวัด ซึ่งไปพบครั้งแรกนั้น เขาตั้งรถเข็นขายอยู่ที่ข้าง
ๆ อควาเลี่ยม บึงฉวาก สุพรรณบุรี เป็นเฉาก๊วยที่มีส่วนผสมของ ๓ ประเทศคือ
สั่งใบ หรือเถาเฉาก๊วยมาจากอินโดนิเซีย จีน และเวียดนาม ส่วนเขาจะผสมกันอย่างไรนั้น
เป็นสูตรของเขาเอง รู้แต่ว่าเหนียวหนึบ ดำสนิท ผสมน้ำตาลแล้วหวานกำลังดี พอแช่เย็นดื่มเข้าไปสดชื่นทันที
ก็เลยมาเล่าไว้อีกที ในตัวเมืองกำแพงเพชรมีขายทั่วไป ยกป้ายเอาไว้ในป้ายมีบอกว่า
เที่ยวไป กินไป บ้าง กิน เที่ยวทั่วไทย บ้าง แต่ไม่ได้ลงชื่อผม
ส่วนบะหมี่ชากังราวนั้น ผมชิมครั้งแรกคงจะนานร่วมสิบปีมาแล้ว ร้านเขาไม่ได้ตั้งอยู่ตรงนี้
ส่วนร้านที่จะพาไปชิมวันนี้ เขาว่าเป็นร้านของบิดาเขา ส่วนร้านเดิมของเขานั้น
เมื่อลงสะพานข้ามแม่น้ำปิงแล้ว พอถึงวงเวียนมีต้นโพธิ์ใหญ่ ร้านอยู่ข้าง ๆ
ต้นโพธิ์ พอเขาดังดี หรือบิดาจะยกร้านให้ก็ไม่ทราบเขาก็เลิกร้านตรงต้นโพธิ์
มาอยู่ตรงที่ตั้งปัจจุบันเพียงแห่งเดียว อยู่ตรงไหนอร่อยอย่างไร เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง
พื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่างกรุงเทพ ฯ กับเชียงใหม่
หากผมไปเชียงใหม่ออกจากบ้านสายหน่อย ประมาณเจ็ดโมงเช้า ก็จะพอดีกินอาหารกลางวันที่กำแพงเพชร
แต่หากออกเช้ากว่านี้ รถในกรุงยังไม่มากก็ไปกินกลางวันที่เถิน หรือลำปาง โน่นเลย
จังหวัดนี้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศ ถึงขั้นมีบ่อน้ำมัน
(อยู่ที่อำเภอลานกระบือ
ขุดเจาะได้วันละประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาร์เรล) มีบ่อน้ำพุร้อน
จึงเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีค่าหลายชนิด เช่น ป่าไม้ เชื้อเพลิงธรรมชาติ บ่อบาดาล
แร่เศรษฐกิจ (หินอ่อน ฟลูออไรด์ เหล็ก ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว ทัลก์ ไพโรฟิลไลต์
ทองคำ ) และวัสดุเพื่อการทำอุตสาหกรรมหลายประเภท อีกทั้งยังเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย
มีอุทยานประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกโลก
อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง
กลุ่มชนท้องถิ่นเดิมของจังหวัดกำแพงเพชร ที่ปรากฎในจดหมายเหตุ เรื่องเสด็จประพาสต้น
ในรัชกาลที่ ๕ และเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
ฯ ระบุไว้ว่าชาวกำแพงเพชรเป็นคนที่พูดภาษาไทยภาคกลาง
รักความสงบ มีระเบียบ และทรงกล่าวถึงชาวบ้านพรานกระต่ายว่า บ้านช่องสะอาดเป็นระเบียบ
อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งราษฎรชาวเมืองไตรตรึงษ์ด้วย
และทรงกล่าวถึงว่า คนในท้องถิ่นเดิมเหล่านี้ แบ่งเป็นหลายกลุ่ม เกิดจากการผสมผสานกับคนชาติต่าง
ๆ เช่น พม่า ไต ฯลฯ ส่วนการอพยพเข้ามาอยู่ในท้องถิ่นนั้น มาจากที่อื่น ๆ ตั้งแต่
พ.ศ.๒๔๙๓ กลุ่มคนที่อพยพเข้ามาประกอบด้วย ราษฎรจากภาคอีสาน
ที่หนีความแห้งแล้งมาอยู่ในถิ่นที่อุดมสมบูรณ์นี้ มีอยู่แทบทุกอำเภอมีกลุ่มขนาดใหญ่ใน
อำเภอลานกระบือ อำเภอคลองขลุง และอำเภอไทรงาม ส่วนชาวล้านนา
อพยพมาจากเชียงใหม่ ลำปาง ตามสายน้ำปิง ที่ไหลผ่านตัวเมือง
กระจายอยู่ทั่วไปแทบทุกอำเภอเช่นกัน มีมากในเขตอำเภอเมือง อำเภอคลองขลุง อำเภอคลองลาน
ส่วนชาวลาวโซ่ง
อพยพมาไกล คนละทิศคือ มาจากจังหวัดเพชรบุรี อพยมามาหลายครั้ง มีกลุ่มขนาดใหญ่อยู่เขตอำเภอเมือง
และอำเภอลานกระบือ
กลุ่มอพยพเข้ามาอยู่กลุ่มสุดท้ายคือ พวกชาวเขาเผ่าต่าง
ๆ ที่อำเภอคลองลาน ขมุ ที่อำเภอคลองขลุง และอำเภอขาณุวรลักษบุรี
เมื่อคนหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติ เข้ามาอยู่กันมากขึ้น ทำให้เกิดความหลากหลายด้านวัฒนธรรม
ขึ้นในจังหวัดกำแพงเพชร
เจดีย์
รูปแบบเจดีย์ ที่สร้างเป็นประธานวัด ในเขตเมืองนครชุมมี ๒ รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
เจดีย์ทรงดอกบัว หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นแบบเจดีย์ที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย
เจดีย์ทรงกลม หรือทรงระฆัง พบที่วัดหนองลังกา "วัดซุ้มกอ" วัดหนองยายช่วย
ฯ
โบราณสถานสำคัญของเมืองนครชุม
ได้แก่ วัดพระบรมธาตุ วัดซุ้มกอ วัดหนองพิกุล วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองลังกา
วัดหนองยายช่วย "ป้อมทุ่งเศรษฐี" อยู่ริมถนนทางเข้าตัวเมือง
ผมเดินทางจากบ้านลาดพร้าว ออกสายไปนิด สายของผมคือ เกินเวลาเจ็ดโมงเช้า มื้อกลางวันจึงกะเอาไว้ที่กำแพงเพชร
ระยะทางถึงกำแพงเพชรประมาณ ๓๕๐ กม. พอถึงทางแยกขวาเข้าเมือง ยังไม่เลี้ยวเข้าไปเพราะจะไปไหว้พระบรมธาตุก่อน
ไปเลี้ยวกลับรถที่ใต้สะพาน กลับรถมาแล้ว ก็เลี้ยวซ้ายเข้าเขตนครชุม ตรงไปจนถึงสามแยก
ก็เลี้ยวขวาเลาะริมแม่น้ำปิงไปหน่อยก็จะถึงวัดพระบรมธาตุ
เมืองนครชุมเป็นเมืองโบราณกว่าเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง
ส่วนเมืองกำแพงเพชรที่เกิดขึ้นภายหลังนั้น อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง
เมื่อวิ่งรถผ่านเข้ามาแล้ว ก็จะถึงวัดพระบรมธาตุที่อยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำปิง
วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในนครชุม สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ในศิลาจารึกนครชุม หลักที่ ๓
กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) เสด็จ ฯ ไปทรงสร้างพระธาตุและทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์
ที่เมืองนครชุม ในราว พ.ศ.๑๙๐๐ พระธาตุที่กล่าวไว้ในจารึก เชื่อกันว่าอยู่ที่วัดพระบรมธาตุแห่งนี้
เจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุเดิมมี ๓ องค์ องค์กลางเป็นรูปพระเจดีย์ไทย (น่าจะหมายถึง
เจดีย์ทรงดอกบัว หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย แต่เมื่อเข้าไปนมัสการที่วัดพระบรมธาตุ
ในปัจจุบันจะเห็นเป็นเจดีย์แบบพระเจดีย์พม่า เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าชาวพม่า
ที่เขามาทำไม้ชื่อ "พญาตะก่า" ซ่อมแซมปฎิสังขรณ์พระเจดีย์ พญาตะก่า
เลยสร้างเป็นเจดีย์ตามแบบพม่าองค์ใหญ่กว่าเดิม แต่ที่เห็นปิดทองงามอร่ามตา
ในทุกวันนี้นั้น ไม่ใช่พม่าทำไว้ ผมพึ่งเห็นปิดทองงดงามอร่ามตา ไม่กี่ปีมานี้เอง
คงจะปฎิสังขรณ์กันใหม่ แต่คงรูปแบบเดิมเอาไว้ เมื่อเข้าไปในวัดแล้ว พระเจดีย์จะอยู่ทางขวามือ
และมีเต้นท์จำหน่ายวัตถุมงคล
วัดซุ้มกอ
คือ วัดในเขตนครชุมอยู่ในกลุ่มอรัญญิกของเมือง ตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศใต้
มีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม วัดนี้ดังเพราะพบพระพิมพ์
"ซุ้มกอ" ซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงของเมืองกำแพงเพชร
และเป็นหนึ่งในห้าของพระชุดเบญจภาคี
ป้อมทุ่งเศรษฐี
เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง อยู่นอกเมืองนครชุมทางทิศใต้ ริมถนนทางเข้าออกเมืองกำแพงเพชร
ลักษณะป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลง
หากเราวิ่งออกจากวัดพระบรมธาตุ แล้วเลี้ยวซ้ายก็จะพบสะพานข้ามแม่น้ำปิง เลี้ยวขวาข้างสะพานไปกลับรถเข้าเมือง
(หากไปป้อม ฯ เลี้ยวขวาแล้วตรงไป อยู่ทางซ้ายมือ) เมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำปิงแล้ว
ลงสะพานแยกแรกก็จะมีถนนไปอุทยานประวัติศาสตร์ได้
แต่ไม่ผ่านโบราณสถานเมืองกำแพงเพชร แต่จะผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าอร่อยมากอีกเจ้าหนึ่ง
บอกเอาไว้ด้วยว่า อยู่ทางซ้ายตรงข้ามกับราชทัณฑ์ ร้านขนาด ๒ ห้อง จัดร้านสะอาด
โต๊ะ เก้าอี้เปลี่ยนใหม่ กินก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ ต้องสั่งต้มยำ รสเด็ดนัก วิ่งผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวไป
ก็จะไปเลี้ยวเข้าถนนสายไปอุทยานประวัติศาสตร์ได้ แต่หากลงสะพานข้ามแม่น้ำแล้ว
ยังไม่เลี้ยวไป เลี้ยวซ้ายอีกแยกหนึ่ง (มองเห็นศาลากลางอยู่ตรงหน้า) ก็จะไปศาลหลักเมือง
ไปผ่านโบราณสถานสำคัญของเมืองคือ วัดพระแก้ว
(ตามตำนานพระแก้วมรกต บอกว่าประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ด้วย) และวัดพระบรมธาตุ
ที่มีลักษณะเป็นวัดในวังคือ ไม่มีเขตสังฆาวาส ผมเคยเล่ารายละเอียด ของกลุ่มโบราณสถานและอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรไปแล้ว
และที่ควรไปอีกแห่งคือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกำแพงเพชร
หากสังเกตวัสดุก่อสร้างของกำแพงเพชรกับนครชุม จะเห็นว่าแตกต่างกันคือ ทางฟากนครชุมสร้างด้วยอิฐ
แต่ฝั่งเมืองกำแพงเพชรสร้างด้วยศิลาแลง และการสร้างจะสร้างขนาดใหญ่ เพราะแหล่งศิลาแลงที่นำมาสร้างโบราณสถาน
มีอยู่บริเวณอรัญญิก นอกเมืองด้านทิศเหนือ
ศิลาแลง
นั้นเป็นหินชนิดหนึ่ง เมื่ออยู่ในดินมีลักษณะอ่อนแต่พอถูกลมแล้วแข็งมีสีแดง
หรือน้ำตาลเข้ม และเป็นรูพรุน เกิดเป็นพืดอยู่ใต้ดิน เมื่อเปิดหน้าดินลงไปถึงชั้นศิลาแลง
จะไม่แข็งมากนัก สามารถนำขวานหรือชะแลงเซาะ เป็นร่องและงัดออกมา เป็นแท่งสี่เหลี่ยมใหญ่
ๆ ได้ เมื่อยกขึ้นมาแล้วต้องรีบถากออกด้วยขวาน หรือมีดให้ได้รูปร่างตามต้องการก่อนที่จะแข็งตัว
ศิลาแลงมีสารประกอบเคมีที่สำคัญคือ เหล็กออกไซด์ อลูมิเนียมและซิลิกอนออกไซด์
หากไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ ปล่อยให้ดินที่อยู่ด้านบน ถูกฝนชะล้างออกไปตามธรรมชาติ
จนเป็นผลให้ศิลาแลงโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดิน ศิลาแลงจะเปื่อยยุ่ย กระจายออกไปกลายเป็นดินลูกรัง
หากขับรถมุ่งหน้าเข้าหาศาลากลางจังหวัดติดกันคือ ศาลจังหวัดและจะมีถนนไปด้านหลังของศาลากลางจังหวัดได้
หลังศาลจังหวัดจะมีศาลพระอิศวร
ซึ่งศาลนี้อยู่ภายในกำแพงเมืองด้านตะวันออก หรือด้านหน้าของวัดพระธาตุ เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์
ฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๙ เมตร ก่อด้วยศิลาแลง
เป็นแบบฐานหน้ากระดานชั้นเดียว หันหน้าไปทางด้านตะวันออก มีบันไดเล็ก ๆ ขึ้นไปบนฐานชั้นบน
ข้างบนมีแท่นประดิษฐานเทวรูป ศาลพระอิศวรแห่งนี้เคยประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรสำริดขนาดใหญ่
มีจารึกที่ฐานเทวรูปว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๐๕๓ ซึ่งตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา นอกจากเทวรูปพระอิศวรแล้ว ยังมีเทวรูปพระนารายณ์ และพระอุมา
(หรือพระลักษมี) แต่สันนิษฐานว่า นำไปไว้ในภายหลัง เพราะลักษณะประติมากรรมขององค์พระนารายณ์
และพระอุมา เป็นลักษณะศิลปกรรมแบบสุโขทัย แต่ปัจจุบันเทวรูปทั้ง ๓ องค์ จำเป็นต้องนำไปประดิษฐานไว้ที่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกำแพงเพชร
(เพราะเคยโดนฝรั้งอุ้มแต่จับได้) แต่ตรงที่ตั้งศาลดั้งเดิม ก็ยังมีเทวรูปพระอิศวรประทับยืน
ผู้คนไปเคารพกราบไหว้บูชากันมากมาย
บะหมี่ชากังราว เส้นทางไปร้านนี้ไปได้สองเส้นทาง ทางสะดวกไปถูกแน่ ๆ คือ พอลงสะพานข้ามแม่น้ำปิงแล้ว
ให้เลี้ยวขวากลับหลัง วิ่งขนานกับสะพานไปจนชนแม่น้ำแล้วเลี้ยวซ้าย วิ่งเลียบแม่น้ำไปสัก
๑ กม. จะมีทางแยกซ้าย เลี้ยวซ้ายไปจะผ่านหน้าโรงแรมนวรัตน์ พ้นหน้าโรงแรมไปพบสามแยก
เลี้ยวซ้ายไปสัก ๕๐ เมตร มีสี่แยกน้อย ๆ ร้านบะหมี่ชากังราวอยู่มุมขวามือ
เลี้ยวซ้ายจอดรถได้สบาย แต่ป้ายชื่อร้านติดเอาไว้สูงบนชั้น ๓ ต้องแหงนคอดู
จำร้านหัวมุมคนนั่งเต็มไว้ก็แล้วกัน อีกเส้นทางหนึ่งวิ่งไปเกือบชนศาลากลาง
เลี้ยวขวาไปถนนรถเดินทางเดียว ร้านจะอยู่ทางมุมซ้ายมือ ไปเส้นนี้อาจจะงงได้
เพราะผ่าเข้าไปกลางเมือง แหล่งจับจ่ายใช้สตางค์
ให้สั่งแห้งก่อน แล้วตามด้วยน้ำต้มยำ บะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยวชากังราว ที่ผิดกับก๋วยเตี๋ยวธรรมดาที่เห็นได้ชัดคือ
ไม่ใส่ถั่วงอก แต่ใส่ถั่วฝักยาวลวก หั่นเฉียง ๆ แทน และจะมีจานใบน้อยใส่ถั่วฝักยาวลวก
ถั่วงอกดิบ และมะนาวฝานมาให้อีกจานหนึ่ง อย่าปรุงก่อนชิมเป็นอันขาด จะไปทำให้เสียรสของเขาหมด
ปรุงเก่งมากถูกปากคนกินจากทั่วสารทิศ ผมไม่เคยปรุงอะไรเลย เค็มหวาน มีรสเปรี้ยวนิด
ๆ พอดี หากแห้งมีถั่วลิสงป่น เคี้ยวมันดีพิลึก ราคาชามละ ๒๐ บาท เตรียมท้องไปดี
ๆ จะได้ชิม ๓ ชาม แห้ง น้ำต้มยำ ปิดท้ายเสียด้วยแห้ง ปิดท้ายอีกทีด้วยเฉาก๊วยชากังราว
ขอปิดท้ายด้วยร้านอาหารจีน และเวียดนามในกรุง ร้านนี้ผมไปชิมของเขาแทบทุกปี
เพราะเขาจะมีอาหารใหม่ ๆ มาชวนชิม เส้นทางหากไปทางด่วนลงพระราม ๔ แล้วตรงเข้าถนนมหานคร
หรือหากมาจากสามย่านพอจะถึงหัวลำโพง (อยู่ทางขวา) ก็เลี้ยวซ้าย วิ่งตรงไปเรื่อยจนพบถนนสี่พระยา
ตรงต่อไปอีกประมาณ ๔๐๐ เมตร (หากเลยจะไปพบสี่แยกอีก) ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือ
จอดรถให้ตรงบริเวณหน้าร้าน จะจอดได้เป็นกรณีพิเศษ ร้านคือ บ้านเก่ามาดัดแปลงใหม่
ข้างในร้านจึงดูใหม่ทันสมัย ดูข้างนอกคือ บ้านโบราณ อาหารที่มีใหม่ในปีนี้คือ
ปลากะพงทะเลนึ่งน้ำแดง เนื้อปลาสีขาวจั๊วะ นุ่ม หวานในตัว น้ำที่นึ่งมากจนซดได้เลย
อาหารใหม่อีกอย่างคือ ปูเนื้อผัดพริกไทยดำ ปูตัวโตมากเนื้อแยะ ผัดอร่อย และตบท้ายด้วยเต๋าเต้ย
ซึ่งการกินปลาจารเม็ดสีเทานี้ จะต้องได้ตัวขนาด ๑.๒ - ๑.๕ กก. จะอร่อยสุด
ๆ ราคาตกขีดละ ๑๐๐ บาท จะทำอะไรถามเขาดู ซดน้ำ เอาเนื้อปลาจิ้มเต้าเจี้ยว
วิเศษนก แล้วปิดท้ายด้วย ข้าวผัดปู กับต้มยำกุ้งน้ำข้น นอกจากมีอาหารจีนแล้ว
ยังมีอาหารเวียดนามอร่อย ๆ อีกด้วย เช่น ต้นหอมม้วนทรงเครื่อง หมูย่างเส้นหมี่
หรือบั่นหอย จบแล้วอย่าลืมสั่งเอาไว้ล่วงหน้า จะได้ไม่ต้องคอยคือ "เผือกหิมะ"
ทอดเผือกแล้วคลุกน้ำตาลจนเป็นเกล็ดหิมะจับ แต่หวานชื่นใจ สั่งเผือกหิมะอย่าลืม
สั่งชาจีนมาซดสักกา ความหวานจะได้ไม่จับคอ
.......................................
|