ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > ศรีสัชชนาลัย
 
ศรีสัชชนาลัย
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ศรีสัชชนาลัย

            ร่วมกับจิตวิญญานแห่งบรรพชนในอันที่จะจรรโลงคุณค่าแห่งศิลปะ อารยธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี บนแผ่นดินที่เรียกขานกันว่า ศรีสัชชนาลัยสุโขทัย
            ผมจะตั้งชื่อเรื่องนี้ให้เต็มยศ จะต้องตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า "งานดนตรีวัฒนธรรมพื้นบ้านแม่ฟ้าหลวง ครั้งที่ ๔ ศรีสัชชนาลัย ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชชนาลัยสุโขทัย" จึงจะได้ใจความจากชื่อเรื่องโดยสมบูรณ์ เอาเป็นว่าผมได้มีโอกาสไปงานที่ ๑ ปีจะมีเพียงครั้งเดียว และปีนี้เป็นปีที่ ๔ ปีที่ครบ ๔ ภาคแล้ว หัวแรงใหญ่ในการจัดงานนี้คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่และส่งพนักงานสาวสวยมาก ๆ และพนักงานที่เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาจัดงาน นอกจากนี้ก็มีกองทัพบก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กรมศิลปากร และจังหวัดสุโขทัยที่เป็นหลักในการจัดงานครั้งนี้ สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์นั้นบอกว่าปีหน้าอาจจะไม่จัดแล้ว เพราะครบทุกภาคแล้ว ถ้าจำไม่ผิดปีแรกดูเหมือนจะจัดที่จังหวัดเชียงราย แล้วก็หมุนต่อไปยังภาคอื่นแต่ผมไม่อยากให้ ธนาคารไทยพาณิชย์เลิกจัด เพราะจัดได้ดีเหลือเกิน ทุนก็หนา (ดูราคาหุ้นไทยพาณิชย์ซี แพงกว่าราคาพาร์ตั้ง ๖๐ เท่าคงจะได้) เหมาะที่จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดงานเพื่อแม่ฟ้าหลวงของพวกเราชาวไทย หมายถึงใครคงไม่ต้องอธิบายกัน ครบทุกภาคแล้วก็ย้อนภาคใหม่แต่เปลี่ยนจังหวัดเสีย ภาคเหนือครั้งก่อนที่เชียงราย ครั้งนี้ลองย้ายไปแม่ฮ่องสอนดูบ้างเป็นไง ส่วนอีสานจากบุรีรัมย์ไปศรีสะเกษ ทำดีแล้วทำต่อไปเถอะ ธนาคารอื่น ๆ ไม่ทำบ้างก็ช่างเขาปะไร
            การจัดงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ เจ้ามือใหญ่ได้จัดงานศิลปดนตรีพื้นบ้านแม่ฟ้าหลวงขึ้น ๔ ครั้งแล้วนั้น ต้องขอยกมากล่าวอีกทีว่า
            ครั้งแรก จัดงานศิลปดนตรีพื้นบ้านแม่ฟ้าหลวง ครั้งที่ ๑ คอนเสิร์ทสุนทรีย์ "ดอกไม้บานหวานเพลงเหนือ" ณ ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
            ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ คราวนี้มีหน่วยงานมาร่วมจัดเพิ่ม คือ กองทัพบก กรมศิลปากร และจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นจินตภาพประกอบดนตรีพื้นบ้านอีสาน "อุษาบารส" ณ ปราสาทหินพนมรุ้ง รมยคีรี จังหวัดบุรีรัมย์
            ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๕ กุมภาพันธ์ หน่วยงานที่ร่วมนอกจากเจ้าเก่าแล้วเพิ่ม จังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และสถาบันทักษิณคดีศึกษา "จินตภาพทะเลทิพย์" จัด ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษาเกาะยอ จังหวัดสงขลา
            ครั้งที่ ๔ ซึ่งหวังว่าคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย (ขอให้จัดหมุนเวียนกันตลอดไป) จัดที่ จังหวัดสุโขทัย อำเภอศรีสัชชนาลัย (โปรดสังเกต"สัช") เรียกว่า "ศรีสชชนาไลย" จัดขึ้น ณ อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีสัชชนาลัยสุโขทัย เมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๒ มกราคม ๒๕๓๕
            การเดินทางไปชมงานนี้นั้น มีการจัดกันหลายทาง ผมไม่ทราบว่าใครจัดอะไรกันที่ไหนบ้าง ส่วนผมเองนั้นไปกับการจัดของ ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดเป็นคณะใหญ่ เมื่อไปถึง พิษณุโลกแล้วก็มีขบวนรถมากถึง ๒๒ คัน ส่วนราคาบัตรนั้น ทราบว่าหากไปกันเอง จะต้องจ่ายค่าบัตรคนละ ๒,๕๐๐ บาท ราคานี้รวมถึงค่าผ่านประตูเข้าไปในอุทยานประวัติศาสตร์ ค่าอาหาร (เพื่อมิให้คนไทยมีนิสัย ชอบขะโมย จึงยกภาชนะใส่อาหารให้ด้วย ดังจะเล่าต่อไป) ค่าชมการแสดง และยังแถมผ้าตีนจก สำหรับพันคอแก้หนาวอีกท่านละ ๑ ผืน (แค่ราคาผ้าผืนนี้ก็เป็นร้อยแล้ว)
            ผมไปเครื่องบินที่ทางทัวร์เขาจัด ดูเหมือนจะใช้บริการของเถกิงทัวร์ (ตอนนี้คุณเถกิงชัก ไปเอาดีทาง ทำรีสอร์ท ขายที่ดินอีกงานหนึ่งแล้ว) ไปเครื่องบินจากดอนเมือง พอลงที่สนามบินพิษณุโลก เมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ โดยมีอาหารเช้าบนเครื่องบิน ที่เมื่อก่อนผมเคยตื่นเต้นกับอาหารบนเครื่องบินว่า เขาจะจัดอะไรให้เรากิน แต่ตอนหลัง ๆ ไม่ตื่นเต้น เพราะอาหารจะเป็นมื้อหลัก หรืออาหารว่างดูจะอ่อนอร่อยไปหน่อยหนึ่ง เมื่อลงเครื่องบินแล้ว ก็มีรถทัวร์อย่างดีมารับไปชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของ จ.ส.อ.ดร.ทวี  บูรณเขตต์ กันก่อน ตัวย่อนั้นหากให้ขยายก็คงต้องเขียนว่า "จ่าสิบเอก ดอคเตอร์" ซึ่งเดิมก็สร้างและสะสมภายในบ้าน จนเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง คุณจ่าเลยได้รับ ดุษฎีบัณฑิต กิติมศักดิ์เสียเลย และควรอย่างยิ่งแก่การให้แก่บุคคลท่านนี้ ขณะนี้ ดร.ทวี กำลังขยายพิพิธภัณฑ์ออกไปให้ใหญ่โตสมกับเป็น พิพิธภัณฑ์ที่จะเรียกกันต่อไปในภายหน้าว่าระดับชาติก็ไม่ผิดนัก เพราะเห็นมีแบบนี้อยู่แห่งเดียว ที่อื่นก็มีแต่ยังห่างไกลกับ ดร.ทวีมาก กว่าท่านจะอ่านถึงตอนนี้ พิพิธภัณฑ์คงเสร็จเรียบร้อยแล้ว
            ดร.ทวี ได้พยายามรวบรวมของพื้นบ้านที่ใช้กันตามบ้านจริง ๆ มาเก็บไว้แนะนำออกแสดง มีมากมาย ยกตัวอย่างสักหน่อยคงพอไหว เช่นกับดักสัตว์ต่าง ๆ สัตตวงข้าว กระโปรง (เหมือนกระบุง แต่สานละเอียด) กระบาย (ก็เหมือนกระบุง แต่สานหยาบ) กระเฌอ (เหมือนกระจาด) กระบุง กระทาย เอากันแต่พวกภาชนะ "กระ"เท่านั้น ยังมีปืน ผาหน้าไม้ เครื่องนวด เช่นแบบเป็นเต้านมไม้ ผมเคยเห็น คุณยายของผมท่านใช้ เสียดายที่ผมไม่ได้ขอไว้เป็นมรดก นอกจากนี้ที่ว่ามีเครื่องดักสัตว์นั้นไม่น่าเชื่อว่า คนโบราณจะรอบคอบถึงขนาดมีเครื่องดังแมลงสาป ส่วนดักทั่ว ๆ ไป เช่นหนู งู นก อย่างนี้ธรรมดา แต่เครื่องดังลิงต้องถือว่าไม่ใช่ธรรมดา เพราะคนสมัยนี้ผมว่ายังคิดไปเป็น นอกจากจะเอาปืนไล่ยิงเอา เครื่องดักลิงใช้ลูกมะพร้าวแห้งใส่ไข่เทียมเข้าไว้ เอาไปตั้งล่อลิง ลิงที่ว่าฉลาดนั้นความจริง ขี้งกเลยโง่ พอเห็นไข่เทียมในลูกมะพร้าวก็เอามือล้วงเข้าไปหยิบไข่ กำไว้แน่นไม่ยอมปล่อยไข่เด็ดขาด เลยเอามือออกมาไม่ได้ ติดกับลูกมะพร้าวอยู่อย่างนั้น แม้คนดักจะมาจับก็ยังไม่ปล่อยไข่เทียม เลยเอามือออกไม่ได้ มือโตขนาดลูกมะพร้าวเลยวิ่งหนีไม่ไหว ถูกคนจับเอาไว้ได้ อีกแบบใช้ปล้องไม้ไผ่ ใส่กล้วยตรงกลาง เหมือนลอบแต่ใส่ทั้งหัวและท้าย กลวิธีเหมือนกัน แต่หากลิงแยะจะดักได้ทีละ ๒ ตัวเลยทีเดียว คือล้วงเข้าไปในกระบอกหยิบล้วงแล้วเอามือออกไม่ได้ติดแหง็กชักคะเย่อกันอยู่นั่นแหละ จนคนดักมาจับเอาไป
            จบรายการพิพิธภัณฑ์ ดร.ทวี ที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบินนัก (ปกติเก็บค่าดู ๑๐ บาท มีตู้บริจาค ) ก็ไปยังโรงหล่อพระ ดูเหมือนจะอยู่ด้านหลังของโรงแรมเทพนคร จากสถานีรถไฟ เลี้ยวซ้าย ผ่านโรงแรมเอเซียแล้วข้ามทางรถไฟจะไปถึงโรงหล่อพระได้ ดูกิจการและวิธีหล่อพระ แถมยังมีพวกเครื่องเซรามิคมาขายกับสุนัขพันธุ์ "บางแก้ว" ที่เป็นสุนัขไทยที่ดีอีกพันธุ์หนึ่ง ราคาขนาดลูกมาตัวประมาณ ๔,๐๐๐ บาท เขาบอกว่า "ดุ" เพราะเป็นพันธุ์มหาป่าผสมหมาบ้าน บางแก้วอยู่ใน จังหวัดพิษณุโลก ผมมีความรู้เรื่องหมาบางแก้วเพียงเท่านี้ และมีโอกาสเอารถไปเองจะไปซื้อมาเลี้ยงสักตัว กลัวอย่างเดียวว่าผมไปชนบทบ่อย อยู่บ้านก็ไม่ค่อยมีเวลาเดินทักทายหมา ดีไม่ดี หมาอาจจะไม่กัดขะโมย แต่กัดเอาผมเข้าแทน
            จบรายการ จากโรงหล่อพระ ไปนมัสการพระพุทธชินราช ที่วัดพระบรมธาตุ ซึ่งหากใครไปพิษณุโลก และเป็นพุทธศาสนิกชน ไปแล้วไม่ไปนมัสการ พระพุทธชินราชละก็อย่าไปเสียจะดีกว่า ทางวัดได้ปรับปรุง เรียบร้อยเป็นสัดส่วนแยกอาคาร จำหน่ายวัตถุมงคลออกไปทางหนึ่ง ทางขายอาหาร และสินค้าพื้นเมืองของทุกภาคอีกทางหนึ่งขายไป ธูปเทียนบูชา และล็อตเตอรี่ ไปอีกทางหนึ่ง ทำให้ไม่เกิดความรำคาญของพวกวิ่งไล่ล่าขาย ธูปเทียนล็อตเตอรี่เหมือนที่วัดโสธร แปดริ้ว ท่านเจ้าคุณธรรม ฯ ท่านเจ้าอาวาส ท่านบอกว่า ยังแก้ไม่ตกในการที่จะห้ามพวกไล่ล่าเหล่านี้ แถมต้องระวังพวกหลอกไปซื้อนก ปลาปล่อยอีก ผมโดนมาแล้ว มาบริการ แล้วชวนไปซื้อนกปล่อย อ้ายความที่ขี้สงสารมนุษย์เลยโดนเขาหลอกสบายไป ราคานกที่ซื้อนั้น โดนเข้าไปชนิดที่ไปซื้อที่อื่นได้สักกรงกระมัง ส่วนที่พิษณุโลกนี่ มีที่ขายอยู่ปากประตู ไม่มีใครมาเซ้าซี้ แต่ผมขอแนะนำหากจะซื้อนก ปลา เต่าปล่อยละก็ให้ซื้อนกปล่อยตรงนั้นเลยได้ แต่พวกปล่อยลงในแม่น้ำน่าน หน้าวัดทุกชนิดให้ถือติดมือขึ้นรถไปปล่อยที่ แหล่งน้ำอื่นเพราะบุญที่หวังจะได้นั้น จะหมดไปตอนเอาสัตว์น้ำลงไปปล่อยนี่แหละ เพราะพอเดินพ้นประตูวัดเขตคุ้มครองที่วัดจะคุ้มได้ จะมีบรรดาสาวใหญ่ สาวน้อย สาวเฒ่า เด็กชายทุกวัย ไปจนถึงชายชราร่างร้าย จะกรูเกรียวกันถือถุงพลาสติกบรรจุสัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น ปลา เต่า ปลาไหล แย่งกันมาขายและอ้อนวอน "ตื้อ" กันอยู่นั่นแหละ โดยลืมไปว่า ฝ่ายเราผู้ซื้อนั้นมีเพียง ๒ - ๓ คน แต่ฝ่ายขายมีมากกว่า ๒๐ ดีไม่ดีคนที่ขาแข้งชักอ่อนแอไปตามวัยอย่างผมอาจจะโดนเบียดตกน้ำไปเลย ตอนที่ไม่ซื้อเขาทุกเจ้านี่แหละ จึงขอบอกกันไว้
            วันนั้น ตาไกด์ได้แนะนำก๊วยเตี๋ยวห้อยขา เมื่อก่อนสร้างร้านเป็นศาลาอยู่ตรงที่ปล่อยปลานี่แหละ นั่งกับพื้น เอาชามก๊วยเตี๋ยว วางไว้บนม้านั่ง แล้วห้อยขาลงไปในแม่น้ำที่อยู่เบื้องล่างต่ำลงไปอีกหลายเมตร แล้วฟังป้าผินที่ปรุงก๊วยเตี๋ยว บ่นลุงที่กำลังหั่นผักต่าง ๆ ไปพราง ๆ ก่อนที่ก๊วยเตี๋ยวของป้าผินจะยกมา พอทางวัดปรับปรุงขนานใหญ่ตรงท่าน้ำก็กลายเป็น ท่าบันไดคอนกรีต ตกแต่งสวยงาม ป้าผินย้ายร้านเลาะไปตามริมน้ำไปอีกร่วมกิโลเมตร ไปสร้างแบบเดิม แต่คราวนี้ไม่ได้อยู่ในแม่น้ำ ห้อยขาลงไปทิ่มดินแทน รสชาติก๊วยเตี๋ยว ไม่ประทับใจเมื่อกินกับความแปลกของศาลาก๊วยเตี๋ยว กับเสียงบ่นน่าลุงที่ประทับใจ เพราะไม่มีหยุดปากบ่นกันอยู่ได้ทุกวัน ผมจะข้ามไปเรื่องของอร่อยของเมืองพิษณุโลก แต่หากใครหาข้าวต้มแป๊ะโอ้วไม่เจอ เมื่อก่อนอยู่ที่หน้าปั๊มตราดาว ถนนที่จะไปโรงแรมน่านเจ้า ขายตั้งแต่เช้าไปจนยันเที่ยงก็หมดกัน ข้าวต้มที่ไม่ขายกลางคืน ตอนนี้ย้ายร้านไปอยู่หน้าโรงแรมเทพนคร ออกจากโรงแรมเลี้ยวซ้ายไปสัก ๒๐ เมตรก็ถึง ร้านห้องเดียวสะอาดน่านั่งกินกว่าที่เดิม ฝีมือพะโล้ ทุกชนิดคงเดิม อาหารอร่อยไม่เปลี่ยนแปลง จะกินข้าวต้มร้านนี้ให้ไปกันหลาย ๆ คน อย่างน้อยสัก ๔ - ๕ คน ไปบอกเอาทุกอย่างที่มีในตู้เอามาให้หมด เว้นพวกไก่ตอน หรือหมูแดง ไม่จำเป็นให้ระดมพะโล้ทุกชนิด แล้วพวกปลา พวกจั๊บฉ่าย ส่วนใส้พะโล้กับหมูทอดนั้น ให้ถือสูตรสั่งสองจานเข้าไว้ จะได้ไม่เสียเวลาไม่งั้นแย่งกันพรึบเดียวหมด ต้องเสียเวลาคอยตอนสั่งใหม่ โดยเฉพาะเวลาที่เขามีคนมานั่งกินแยะ ๆ ส่วนร้านอื่น ๆ เช่น ข้าวสวยร้อน ๆ กับเลือดหมู นั้นยังอยู่ที่เดิม แต่เปลี่ยนความอร่อย คือร้านอร่อยเดิมอยู่ฝั่งขวา เมื่อหันหน้าไปทางแม่น้ำและหันหลังให้หอนาฬิกา ตอนนี้กลายเป็นร้านอร่อยมาอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน และร้านอร่อยใหม่นี้ขึ้นร้านโรงไปเรียบร้อยไม่ขายในรถเข็นอีกแล้ว ผักบุ้งลอยฟ้าเดี๋ยวนี้ลอยกันหลายเจ้า เจ้าเก่าริมแม่น้ำ ไปเปิดอีกร้านหนึ่งแล้ว แต่หากจะกินผักบุ้งผัดให้อร่อยจริง ๆ อย่าไปกินเลยลอยฟ้า แพงเปล่า ๆ แถมน้ำที่ผัดมาแสนอร่อยจะหกหายไปด้วย ที่พัทยามีเจ้าหนึ่งลอยฟ้า ๔๐ บาท ไม่ลอย ๒๐ แถมลอยฟ้าไม่มีน้ำเหลือมาคลุกราดข้าวอีกด้วย ขอทบทวนแค่นี้จะรีบไปศรีสัชชนาลัย
            ก่อนที่จะไปยัง ศรีสัชชนาลัย ในตอนเย็นทางทัวร์ ได้รีบพาไปกินอาหารกลางวันที่บริเวณใกล้ อุทยานประวัติศาสตร์ของสุโขทัยเสียก่อน ก่อนถึงอุทยานให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปสัก ๕๐๐ เมตรคงจะได้ มีร้านอาหารชื่อร้าน "สินวนารีสอร์ท" อยู่ทางขวามือของถนน ปลูกเป็นศาลาไทย ชื่อรีสอร์ทพ่วงท้าย แต่เดือนที่ไปยังไม่มีที่พักเปิดมาได้ ๑ ปีแล้ว สถานที่ดี บรรยากาศดี การบริการดีมาก อาหารให้ถึงขั้นดี เรียกว่าไปชมเมืองเก่าของสุโขทัย เชื่อว่าเลือกร้านนี้คงไม่ผิดหวัง เพราะตรวจดูร้านอื่น ๆ แล้วเรดาร์ประจำตัวไม่กระพริบเลย หรือถ่านจะหมดก็ไม่ทราบ
            อาหารที่เขาจัดเลี้ยงมื้อนี้ คือ แหนมสดทอด รายการนี้ดี แต่คิดว่ายังดีไม่เท่าร้านเจือจันทร์โภชนาที่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งที่ร้านเจือจันทร์นี้ได้แนะนำให้เอาซี่โครงหมูชิ้นใหญ่ขึ้น จึงจะได้รสชาดความสุนทรีในการแทะโครงหมูอ่อน ที่ทำเป็นแหนมแล้วเอามาทอดมากขึ้น ยำลูกชิ้นปลาลูกโต ๆ ก็ดีนั่นแหละ หมูป่าเอามาทอดเสียก่อนจึงเอามาผัดเผ็ดรสชาดนั้นวิเศษพิลึกละ แต่ต้องมีการแทะอีกเหมาะสำหรับฟันหนุ่มสาว ส่วนฟันผมนั้นเหมาะต่อการเอาพริกแกงที่ผัดมาแสนอร่อยนั้นคลุกข้าวกิน สั่งไข่เจียวร้อน ๆ มาเพิ่มเติมแล้วซดน้ำ เป็ดตุ๋นตามเข้าไปวิเศษนักแหละ
            ยังมีอีกปลาดิ้น รายการนี้มีหลายจังหวัด บางภาคก็เติมน้ำขุ่นลงไปด้วย อาจจะเผ็ดมากขึ้นปลาเลยดิ้นจนน้ำขุ่น ความจริงก็คือเอาปลาช่อนทั้งตัวทอด แล้วใส่จานรูปปลาตั้งมาบนเตา แบบแป๊ะซะยุคปัจจุบัน ที่อุดมไปด้วยน้ำแกงจนซดได้ ส่วนปลาดิ้นก็มีน้ำแกงราดมาเช่นกัน และขอเพิ่มเติมได้ รสน้ำซุปออกไปทางเปรี้ยว คล้ายต้มโคล้ง เพราะเปรี้ยวด้วยรสมะขาม ติดตามมาด้วย ผัดผัดรวม มีตั้งแต่ เห็ด ถั่วลันเตา ข้าวโพด ฯลฯ ไปเลยทีเดียว ปิดท้ายด้วย ลอดช่องน้ำกะทิ
            อุทยานประวัติศาสตร์ของสุโขทัยนั้น ยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียน "มรดกโลก" แล้วควรแก่ความภาคภูมิใจของพวกเราคนไทยที่มีส่วนในความเป็นเจ้าของ จากนั้นพาชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และพาไปวัดศรีชุม ที่บอกว่าพระพูดได้ ความจริงพระพุทธรูปท่านไม่ได้พูด แต่พ่อขุนรามคำแหงนั้นท่านเป็นยอดนักปราชญ์ และยอดของนักรบด้วย ท่านจึงทำทางเดินภายในกำแพงไว้ เวลาชุมนุมทัพจะออกศึก ก็เข้าไปกล่าวข้างในให้เสียงออกมาทางองค์พระ อาจจะกล่าวพระราชทานพร ว่าไปรบครั้งนี้จะชนะ นำชัยกลับมาไพร่พลก็เกิดความคึกฮึกเหิมที่จะจับดาบออกศึก
            ผมพึ่งได้ความรู้จากการไปชมอุทยานประวัติศาสตร์ ที่ไปมาแล้วจนนับครั้งไม่ถ้วนว่า เจดีย์มีสามแบบด้วยกันคือ แบบที่เก่าที่สุด เรียกว่า เจดีย์ทรงลังกา คือเอาแบบอย่างมาจากลังกา เพราะตามประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าในแผ่นดินพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ขอพระเถระจากลังกา มาเผยแพร่พุทธศาสนา จึงได้เจดีย์แบบแรกมาจากลังกา เป็นทรงลังกา ทรงต่อมาเป็นแบบของไทยเอง คือ แบบข้าวบิณฑ์ และแบบทรงปราสาท ซึ่งสันนิษฐานกันว่า ทรงปราสาทมาทีหลังทรงข้าวบิณฑ์ เพราะบางองค์ก็มีทรงปราสาทอยู่ข้างในของทรงข้าวบิณฑ์ ส่วนผิดกันตรงไหน ต่างตรงไหน ผมไม่ได้ลงรูปให้ดู ถอดร่างไปชมกันเองก็แล้วกัน อยู่ใกล้ ๆ กันในเมืองโบราณนั่นเอง
            จบรายการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แล้วก็ไปเข้าที่พักโรงแรมน้ำค้างอยู่ที่บริเวณเมืองเก่า พอใช้ได้สร้างห้องเรียบง่าย สะอาด แต่เขาว่าตุ๊กแกชุม ไม่ถึงขั้นเข้ามาในห้อง ส่งแค่เสียงมารบกวน ผมไม่ถูกโรคกับเสียงตุ๊กแกนัก ไม่แน่ใจว่าคืนนี้จะหลับไหม แต่ปรากฏว่าหลับสบายตลอดคืน เพราะมีเครื่องช่วยให้หลับไปเสียโดยดีนั่นเอง จะเป็นอะไรลองเดาดูครับ อากาศหนาวอะไรจะแก้หนาวได้ดีเล่า

            พอเวลาสี่โมงเย็น ก็ออกเดินทางไปยัง ศรีสัชชนาลัย ที่อยู่ห่างออกไปสัก ๗๐ กิโลเมตร ไปถึงบริเวณงานเอาเมื่อเวลากว่าห้าโมงเย็น เริ่มต้นจากสาวไทยพาณิชย์หลายคนสวย ๆ ทั้งสิ้น แต่งกายไทยห่มสะไบเฉียงมาคอยต้อนรับ และมอบพวงมาลัยมะลิให้เดินต่อไปอีกนิด สาวไทยพาณิชย์ คนละชุดกันแต่การแต่งกายเหมือนกัน สวยไม่ยิ่งหย่อนกันคนหนุ่ม ๆ ไปคงมองกันชื่นใจไปเลย คนแก่ก็มองนานไม่ได้เขาจะว่าเอาว่าเป็นอ้ายเฒ่า..... ชุดนี้เลี้ยงน้ำหวานและกล้วยตากเล็ก ๆ ห่อใบตองทำให้ถือไม่เปื้อนมือ จากนั้นเดินต่อไปตามถนนที่ร่มรื่น เพื่อชมโบราณสถานทั้งหลาย เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดพระปรางค์ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว และโบราณสถานอีกมากมาย ควรจะต้องอ่านหนังสือแล้วเดินชมเอาจะเหมาะที่สุด
            อำเภอสวรรคโลก และอำเภอศรีสัชชนาลัย ณ ที่ตั้งในปัจจุบันนั้น ถือว่าเป็นเมืองใหม่ ตัดขาดแยกส่วนกับเมืองเก่า ศรีสัชชนาลัยและสวรรคโลก ที่ได้พัฒนาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในบริเวณแก่งหลวงแล้ว
            เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าน้อยเมืองพวน ได้จับเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์บุรีศรีสัตนาคนหุต ถวายแก่กษัตริย์แห่งไทย ทำให้ญวนโมโห จึงยกทัพมาปราบเมืองพวน ญวนไล่ตีเมืองพวนบ้านแตกสาแหรกขาด"แสงจันทร์"ต้นสกุล "วงศ์วิเศษ" มีตำแหน่งเป็นขุนนางฝ่ายกลาโหมของเมืองพวน ได้อพยพเครือญาติ ราษฎร และ "ข่าแจะ" ออกจากประเทศลาว มาตามลำน้ำอู เหนือเมืองหลวงพระบาง แล้วข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งที่เมืองปากแบง เดินเข้าสู่ห้วยโก๋น ผ่านเมืองปัวน่าน ไทยพวนบางส่วนเริ่มตั้งรกรากที่ ที่ทุ่งโฮ้ง (ปัจจุบันพวกนี้ผลิตเสื้อหม้อฮ่อมชื่อดังของแพร่) บางส่วนแยกไปตั้งที่บ้านปากฝาง อำเภอเมือง ฯ จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนขบวนใหญ่ของแสงจันทร์นั้น มีบางไพร่แบกคานหามมาด้วย มาตั้งรกรากที่ แขวงเมืองสวรรคโลก  เหนือแก่งหลวงประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ปัจจุบันคือ ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชชนาลัย และเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๔ นี้เอง นางเนื่อง วงศ์วิเศษ ได้มอบไม้คานหามที่หามแสงจันทร์ต้นตระกูลวงศ์วิเศษ ไม้คานยาว ๓.๓๐ เมตร ให้แก่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเมืองสวรรคโลก
            จบประวัติของชุมชนเพียงเท่านี้ ส่วนโบราณสถานที่ชมหรือบริเวณที่จัดงานวันนี้นั้น ล้วนแล้วแต่สร้างมานานมากกว่า ๗๐๐ ปีแล้ว
            จบรายการชมโบราณสถานที่นี้มาถึงรายการอาหารมื้อเย็นที่เฝ้ารอคอยกันละ แต่ต้องกล่าวถึงการแต่งกายของผู้ไปร่วมงานสักเล็กน้อย ว่าฝ่ายหญิงจำนวนมากของผู้ที่ไปในงานแต่งกาย นุ่งซิ่นใส่เสื้อกระบอกห่มผ้าสะไบทับเสื้อดูสวยดีเหมือนกัน ชายแต่งหม้อฮ่อมก็มี แต่รวมแล้วยังน้อยไปไม่มากเหมือนงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ที่ลพบุรี งานนั้นหากใครไม่แต่งชุดไทยสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ หรือชุดฝรั่ง แขกไปเลย แล้วเข้าไปในงานก็เรียกได้ว่าเชยสบัด ส่วนที่นี่ยังไม่ถึงขนาด ปีต่อไปหากมีจัดที่ใดอีก น่าจะประชาสัมพันธ์ชักชวนคนไปเที่ยวงาน รวมทั้งประชาชนในเมืองนั้น แต่งกายโบราณแบบลพบุรีกันทั้งเมืองสัก ๒ - ๓ วัน ตลอดเทศกาลที่จัดงานก็จะดูเข้ากับบรายากาศของโบราณมากยิ่งขึ้น มางานนี้แต่ผ่าไปปรบมือให้กับการแต่งกายที่ลพบุรี แล้วผมจะเล่าให้ฟัง
            การจัดอาหารของที่นี่ นั้นเยี่ยมยอด ทั้งการบริการและรสชาดอาหาร ชนิดอย่าบอกใครเชียว อาหารถูกเสริฟทันทีที่ก้นหย่อนลงบนเสื่อที่ปูลาดเอาไว้ โดยบริการชุดเสื้อแดงแต่งโบราณแต่คงไม่พ้นทหาร ไม่จากค่ายในพิษณุโลก ก็อุตรดิตถ์ เพราะเจอท่านผู้บัญชาการ จากอุตรดิตถ์บอกว่าคุมมาเอง มาเที่ยวด้วยอาหารจัดในภาชนะสังคโลกที่ใช้ภาชนะมีคำว่า ศรีสัชชนาลัย และจัดทำขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ และเพื่อไม่ให้ลำบากใจในการต้องหยิบเม้มกลับไป ก็จัดการหากระดาษ หาถึงดินสอเขียนชื่อ และคนยก (เฉพาะทัวร์คันของผม) ยกให้ทั้งจานชามเหล่านั้น รวมทั้งโต๊ะและพานใส่กับแกล้ม ให้แบกกลับเอาไปเป็นของที่ระลึกได้ทั้งหมด ผมแบกโตกมาด้วย ๑ ตัว เพราะอีกตัวเอามาไม่ไหว แต่คว้าพานกับแกล้มของวงอาหารมาแทน ไปกัน ๒ คน จึงได้จานชามมา ๒ ชุด โตก ๑ พาน ๑ เอามาตั้งโชว์โก้ไปเลย โดยเฉพาะพานที่แสดงถึงความว่องไว ที่คว้าเอามาได้ ทั้งวงที่ผมนั่งไม่รู้จักกัน แต่เมื่อเขาใจดีเสริฟอาหารคนละโตก จึงไม่ต้องมากระดากกัน
            ก่อนอื่นมารู้จักกับประเพณี กิน ๔ ถ้วยของเขาก่อนที่ผมจะลืมเล่าไป เพราะมัวเพลินกับรสอาหารประเพณี กิน ๔ ถ้วย หมายถึงการเลี้ยงฉลองใหญ่ ที่จะจัดขึ้นที่บ้านของเจ้าสาว ซึ่งจะนิยมจัดกันมากในเดือน พฤษภาคม บ่าวสาวจะต้องปลูกต้นไม้สี่ชนิดลงในดินในวันแต่งงาน คือมะพร้าว ๑ คู่ หมาก ๑ คู่ หน่ออ้อย ๑ คู่ หน่อกล้วยน้ำว้า ๑ คู่ เพื่อให้ลูกน้อย ๆ ที่จะเกิดมาในอีก ๙ เดือนข้างหน้ากิน (มะพร้าวคงไม่ทัน) ส่วนขนมที่จัดมาให้นั้น ในวันนี้เขาจัดรวมมาในถ้วยเดียวกัน เลยไม่ทราบว่าโบราณเขาจัดใส่มา ๔ ถ้วย และในถ้วยเดียวกันเป็นขนมสี่อย่างหรือ ขนม ๑ อย่างใส่ถ้วย ๑ ถ้วย แต่ขนมที่ใส่ถ้วย ๑ ถ้วยมาในวันนี้มี ลอดช่อง เมล็ดแมงลัก และเผือกน้ำกะทิ นับแล้วไม่ได้สี่อย่างประเพณีกินสี่ถ้วยคงหมายถึง การเลี้ยงฉลองการแต่งงาน
            อาหารในโตกมีดังนี้ ข้าวสวยไข่เค็ม ๒ ฟอง ไข่แดงน่ากิน ข้าวเหนีว ๑ กระติบ ผักสด ๑ ถ้วย หมูหวาน หมูทอด แกงหยวกกล้วย และปลาทอด มีอาหารเพียงเท่านี้ จัดมากำลังพอดีให้กินจุอย่างไรก็กินไม่หมด ขอรับรองว่าอร่อยถึงใจทุกอย่าง ไม่ทราบว่าจ้างใครทำ เพราะการทำอาหารหลายอย่างเลี้ยงคนเป็นพัน อย่างนี้และต้องอร่อยด้วยไม่ใช่จะประกอบกันง่าย ๆ สงสัยนิดเดียวว่าคนไทยที่อยู่ในแถบเมืองสวรรคโลกนี้ ไม่น่ากินข้าวเหนียว แต่หากดูจากประวัติว่าอพยพกันมาจาก ลาวก็อาจจะเป็นไปที่คนใน อำเภอศรีสัชชนาลัย และสวรรคโลกกินทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าว ลืมถามไถ่ชาวบ้านดู ไม่เป็นไรผมไปเหนือแทบจะทุกเดือน จะศึกษามาเล่าสู่กันฟังในภายหลัง
            จบรายการอาหาร จัดการเอาภาชนะสังคโลกที่เขาสั่งทำมาเฉพาะงานนี้ และมีคำว่าศรีสัขชนาลัยอยู่ใต้ภาชนะทุกใบ เก๋ดี จัดการห่อด้วยกระดาษที่เขาเตรียมไว้ให้ เอาปากกาเขียนชื่อใส่ถุง ล้วนแต่เขาเตรียมไว้ให้ทั้งสิ้น ต้องตีมือกันอย่างแรงเลยทีเดียว ที่รอบคอบอะไรอย่างนี้ แถมรถกลุ่มผมนั้นยังวิเศษกว่าคันอื่น คือไกด์และคนขับยังอนุเคราะห์แบกถุงสังคโลกและโตก เหล่านี้ไปขึ้นรถให้ทุกคน คันอื่นไม่มีบริการอย่างนี้ เขาบริการให้ตอนเราไปดูการแสดงที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว
            การแสดง ก่อนเข้าชมก็แวะรับผ้าพันคอตีนจกก่อนคนละผืน ผู้ชายนั้นหากไปกับแม่หญิงดูจะเสียเปรียบเพราะเธอยึดหมด รวมทั้งตัวของผมด้วย การแสดงแสงและเสียง แสดงเป็นตำนานของเมืองจะขอไม่เล่าว่าเรื่องที่เขาแสดงนั้นเป็นเรื่องราวอย่างไร เพราะผมไม่เคยได้ยิน หรือเคยอ่านตำนานนี้มาก่อนเลย มาฟังมาดูเอาวันนี้เอง แต่ขอยกย่องว่าการจัดการแสดงกลางแจ้งด้วยจำนวนคน หลายร้อย ทั้งแสงและเสียงนับว่ายอดเยี่ยมสุดที่จะพรรณากันทีเดียว ผมเคยดูการแสดงแสงและเสียง ที่สะพานข้ามแม่น้ำแควนั่นก็เยี่ยมยอด แต่หนักไปในทางตื้นเต้น เยี่ยมคนละแบบกัน แต่การแสดงคืนนี้หนักไปในทางงดงาม และแบบธรรมเนียมต่าง ๆ ยิ่งตอนแห่นางพญามาบนเสลี่ยงสูง โดยที่เธอผู้นั้นยืนมาดงดงามเป็นสง่าอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องความงามของเธอ ก็คงสวยไม่งั้นไม่ไปขึ้นเป็นปกของลลนา ดูเหมือนจะฉบับเดือน กุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ๒๕๓๕ นี่แหละ ซึ่งถ่ายจากวันซ้อมใหญ่ที่นี่เอง
            จบการแสดง กลับมาขึ้นรถเดินทางอีก ๗๐ กิโลเมตร  เพื่อกลับมานอนที่เรือนน้ำค้างที่สุโขทัย ทีนี้ละนึกขึ้นมาได้ที่เขาบอกว่าตัวตุ๊กแกชุม มีหวังนอนไม่หลับตลอดคืนเพราะไม่ถูกกับโรคกันกับเสียงสัตว์ประเภทนี้ เลยจัดการกับยาน้ำนอนหลับ ทีนี้พอตัวเอียงได้ ๔๕ องศาก็กรนคร่อกไปเลย


........................

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |

ศรีสัชชนาลัย: ข้อมูลศรีสัชชนาลัย ท่องเที่ยวศรีสัชชนาลัย ข้อมูลเที่ยวศรีสัชชนาลัย


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์