อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ 1
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ๑
จังหวัดกาญจนบุรี ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีอุทยานแห่งชาติมากจังหวัดหนึ่งคือ
มีมากถึง ๗ แห่ง ผมจะขอทบทวนเอาไว้ให้ทราบคือ
อุทยานแห่งชาติเอราวัณ
อยู่ในท้องที่อำเภอศรีสวัสดิ์
อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
อยู่ในท้องที่อำเภอบ่อพลอย
อุทยานแห่งชาติไทรโยค
อยู่ในท้องที่อำเภอไทรโยคและอำเภอ "ทองผาภูมิ"
อุทยานแห่งชาติเขาแหลม
อยู่ในท้องที่อำเภอสังขละบุรี "อำเภอทองผาภูมิ"
อุทยานแห่งชาติลำคลองงู
อยู่ในท้องที่อำเภอ "ทองผาภูมิ"
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
อยู่ในท้องที่อำเภอ "ทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี
จะเห็นว่าอำเภอทองผาภูมิ มีพื้นที่ไปอยู่ในอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ มากถึง ๕
แห่งคือ อุทยานแห่งชาติไทรโยค ซึ่งผมมีเรื่องจะเล่าถึง ด่านบ้องตี้ เส้นทางเดินทัพของพม่า
เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ ในอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม
อุทยานแห่งชาติลำคลองงู และอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ส่วนใหญ่จึงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยเขย่ง
และป่าเขาช้างเผือก ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในอำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี
มีเนื้อที่ประมาณ ๗๐๐๐,๐๐๐ ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติไทรโยค
อุทยานแห่งชาติเขาแหลม และทิศตะวันตก จะจรดกับชายแดนไทย - พม่า พื้นที่ทอดยาววางแนวเหนือ
- ใต้ จึงทำให้เกิดสภาพป่าชนิดต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เช่น
ป่าดิบชื้น พันธ์ไม้สำคัญเช่น เตย ปาล์ม หวาย เฟิร์น ยางตะเคียน ยางขาว ฯลฯ
ป่าดิบแล้ง พันธ์ไม้สำคัญเช่น ยางขาว ยางแดง ตะเคียน มะม่วงป่า ฯ
ป่าเบญจพรรณ พันธ์ไม้สำคัญเช่น ประดู่ ตะแบก เสลา มะค่าโมง มะเกลือ สมอภิเภก
ไผ่รวก ไผ่หนาม กระบาก มะกอก อินทนิล "ตุ้มแต๋น" ตะคร้อ กระพี้เขาควาย ฯ
ป่าดิบเขา พันธ์ไม้สำคัญเช่น ก่อชนิดต่าง ๆ เสือโคร่ง มณฑาป่า พระเจ้าห้าพระองค์
กำยาน อบเชย ทะโล้ เป็นต้น
สัตว์ป่า
มีมากมายหลายชนิดเพราะเป็นป่าผืนเดียวกับป่าพม่า มีราษฎร์อยู่ในพื้นที่ป่าน้อย
ไม่รบกวนการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า สัตว์ป่าข้ามไปมาได้ระหว่างแผ่นดินไทยกับพม่า
สัตว์ที่อยู่อาศัยได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น ช้าง เลียงผา กวาง เก้ง
กระจง หมูป่า หมี ลิงค่าง บ่าง ชะนี อีเห็น ชะมด เสือโคร่ง เสือลายเมฆ เสือไฟ
เสือปลา แมวป่า หมาใน เม่น เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน
เช่นงูชนิดต่าง ๆ ตะกวด ลิ่น ตุ๊กแกป่า กิ้งก่าบิน ตะขาบ แมงป่องฯ
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
เต่าชนิดต่าง ๆ ตะพาบน้ำ กบ เขียด คางคก อึ่งอ่าง
ปลา
ประกอบด้วยปลาเวียน ปลาซิว ปลาก้าง ปลาซ่อน ปลาไหล ตะเพียน ชะโด ฯ
นก
มากมายหลายร้อยชนิดเช่นนกเงือก นกเขาชนิดต่าง ๆ เหยี่ยว นกกะสา นกอินทรี ฯ
สถานที่ท่องเที่ยว
ก็เช่นเดียวกันมีหลายแห่ง แต่เส้นทางเข้ายังไม่สดวกนัก หากหนุ่มสาวกว่าผมมาก
ๆ หน่อย คงไปท่องได้สดวก อุทยานแห่งชาติมาประกาศเอาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ผมอายุใกล้ร้อยแล้ว
เลยบุกสำรวจได้ไม่มากนัก ส่วนมากไปตามสถานที่เดินน้อยหน่อย และรถเข้าได้มากหน่อย
เป็นหลักในการท่องเที่ยวป่า และอุทยานของผมในเวลานี้ แต่แนะนำได้ ไม่เคยบุกเข้าไปก็สอบถามเอาจากที่ทำการอุทยาน
เพราะพอแนะนำตัวเองบรรดาแฟนทั้งหลายมักจะรู้จักยินดีให้คำแนะนำ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
เช่น
น้ำตกเขาใหญ่
อยู่ในท้องที่บ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก ต้องเดินเท้าประมาณ ๔ กม.
น้ำตกน้ำดิบใหญ่
ต้องเดินเท้าเช่นเดียวกัน ไปเส้นทางเดียวกันกับน้ำตกเขาใหญ่
น้ำตกจ๊อกกระดิ่น
ผมขอเล่ารายละเอียดในภายหลัง เคยเข้าไปมาแล้วเดินนิดเดียว สวยด้วย
น้ำตกบิเต็ง
อยู่หมู่บ้านอีต่อง ไปฤดูแล้งรถเข้าเกือบถึง
น้ำตกห้วยเหมือง
บริเวณเขาเจ็ดมิตร ห่างหมู่บ้าน ๒๕ กม.ไปตามเส้นทางรถขนแร่
นอกจากนี้มีเนินเสาธง จุดชมทิวทัศน์เขาขาด ตลาดอีต่อง เหมืองแร่ ขอเล่าทีหลัง
เส้นทาง ผมไปอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิคราวนี้ไปตามเส้นทางนี้ คือ
จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งไปจนถึงสี่แยกที่มีไฟสัญญาณ หากเลี้ยวซ้ายก็จะไปตามถนนสาย
๓๒๓ จะไปผ่านอำเภอไทรโยค น้ำตกเขาพัง หรือไทรโยคน้อยน้ำพุร้อนหินดาษ ผ่านอำเภอทองผาภูมิ ไปเขื่อนวชิราลงกรณ์ และหากไปเลี้ยวขวาก่อนเข้าอำเภอ และคงไปตามสาย
๓๒๓ ก็จะไปยังสังขละบุรี ไปสุดทางที่ด่านเจดีย์สามองค์ แต่วันที่ไปผมไม่ได้ไปตามเส้นทางนี้ คือ พอถึงสี่แยกยังไม่เลี้ยวซ้ายแต่ตรงไป
ไปตามถนนสาย ๓๑๙๙ ซึ่งเป็นถนนที่ปลายทางจะอยู่ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ (ผ่านเขื่อนศรีนครินทร์)
ไปตามถนนสาย ๓๑๙๙ จากสี่แยกก็จะไปผ่านค่ายทหารสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ ๙ ผ่านอำเภอลาดหญ้า ผ่านเมืองเก่ากาญจนบุรี ผ่านเจ้าพ่อเขาชนไก่ และจะผ่านอุทยานประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพ ผมไปเส้นนี้เพราะจะไปเมืองเก่า และไปอุทยานประวัติศาสตร์ เมื่อพ้นอุทยานประวัติศาสตร์ไปแล้ว
ก็จะมีทางแยกซ้ายเข้าถนนสาย ๓๔๕๗ ซึ่งจะไปข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ข้ามสะพานไปแล้ว ร้านอาหารอร่อยอยู่ฝั่งซ้ายมือ ริมแม่น้ำ บรรยากาศดี อาหารอร่อยราคาย่อมเยา
กินร้านนี้สั่งอาหารปลาเข้าไว้เป็นดีแท้แน่นอน ไปต่อตามสาย ๓๔๕๗ จะไปบรรจบกับสาย
๓๒๓ ก็เลี้ยวขวาจะไปซ้ำกับเส้นทางแรก ไปยังอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ซึ่งผมจะให้รายละเอียดเข้าอุทยานอีกที
ตอนนี้ไปตามสาย ๓๑๙๙ กับผมก่อน ขอแนะนำว่าควรแวะดังนี้ แต่หากไปจากรุงเทพ
ฯ ต้องออกประมาณ ๐๗.๐๐ หรือก่อนเวลานี้จึงจะทันไปนอนที่ทองผาภูมิ หรือกลับมาค่อยแวะก็ได้
คือ ด่านบ้องตี้
เส้นทางเดินทัพที่พม่าเคยเดินทัพเข้ามาเพียงครั้งเดียว คือ ศึกเก้าทัพ เมื่อปี
๒๓๒๘
เมื่อผ่านอำเภอลาดหญ้า มาจนถึง กม.๔ ทางซ้ายมือคือ ถนนแคบ ๆ ที่เข้าสู่บริเวณวัดในเมืองเก่า
ของกาญจนบุรีเป็นกลุ่ม วัดหลายวัดได้แก่ วัดแรกทางขวามือ ซึ่งจะเห็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่
แบบพระอจนะที่สุโขทัย เมืองเก่าแต่ขนาดเล็กกว่า คือ วัดป่าเลไลย์ มีพระพุทธรูป มีเจดีย์ มีวิหาร ยังเหลือให้ชม และได้รับการบูรณะแล้ว และมีศาลพ่อขุนแผน
เลยเข้าไปอีกหน่อย คือ วัดขุนแผน
อยู่ทางขวามือ ตรงกันข้ามคือ
วัดแม่หม้าย ๒ วัดนี้ เหลือให้ชมน้อยเต็มที ตรงต่อไปจนถึงสามแยก หากเลี้ยวขวาไปแม่น้ำ
ไปรีสอร์ท หากเลี้ยวซ้ายก็จะมายังวัดนางพิม ที่ไม่เหลือความเก่าแก่ไว้ให้ชมแล้ว เพราะเป็นวัดที่มีพระจำพรรษาได้รับการบูรณะไปแล้ว
ที่วัดนี้มีของดีคือ หลวงพ่อประทานโชค อยู่ในวิหารเปิดให้ขอพรได้ตลอดเวลา
เดินทางต่อไปจากกลุ่มวัดเมืองเก่ากาญจนบุรี อีกประมาณ กม.๒๕ ทางซ้ายมือจะมีป้ายบอกไว้ว่าอุทยานประวัติศาสตร์เก้าทัพ
ดำเนินการโดยกองพลทหารราบที่ ๙ มาจัดตั้งขึ้นไว้ เปิดให้เข้าชมได้ขอใช้คำว่า
ดูเหมือนตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ เข้าไปชมแล้วจะได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นอันมาก
เส้นทางเดินทัพของพม่านั้นส่วนใหญ่ ที่มาตีกรุงศรีอยุธยา หรือตั้งใจจะมาตีกรุงเทพ
ฯ แต่เข้ามาไม่ถึงก็จะข้ามมาทางด่านเจดีย์สามองค์ เดินทัพมาผ่านลาดหญ้าแทบจะทุกทีไป
แม้จะยกมาหลายทัพ หลายเส้นทางก็มักจะมีทัพหนึ่งที่เข้ามาทางเส้นทางนี้
แต่คราวสงครามเก้าทัพนั้น ยกมาทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ เป็นส่วนใหญ่ ที่อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้
เมื่อเข้าไปชมแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ทหารบรรยายให้ความรู้ ยิ่งทหารยิ่งรู้เรื่องมาก
เพราะมีทั้งแสง เสียง และโต๊ะทราย แสดงการตั้งทัพ เดินทัพไว้ให้ชม พลเรือนก็ชมเข้าใจง่าย
อยากให้ไปชมกัน
จากอุทยาน ฯ ก็ออกถนนสาย ๓๑๙๙ แล้วมาเลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๓๔๕๗ วิ่งไปจนบรรจบกับถนนสาย
๓๒๓ หากจะไปเที่ยวด่านบ้องตี้ก็เลี้ยวซ้ายไปนิดเดียว จะถึงทางแยกขวาเข้าตัวอำเภอไทรโยค
(ไม่ใช่น้ำตกไทรโยค เข้าน้ำตกไทรโยคไปอีก)
ก่อนไปด่านบ้องตี้ ผมขอเล่าเรื่องสงครามเก้าทัพ แทรกเอาไว้ด้วย เพื่อคนรุ่นใหม่จะได้ทราบ
เมื่อไรกระทรวงศึกษาธิการ จะพิจารณาให้นักเรียนสมัยนี้ ได้รู้จักวิชาประวัติศาสตร์เหมือนสมัยที่ผมเรียน
คือ เรียกวิชาก็เรียกว่า วิชาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ชื่อ ครอบจักรวาลอย่างทุกวันนี้
และให้นักเรียนได้เรียนต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ชาติไทยได้เริ่มรวมกันเป็นปึกแผ่น
เป็นชาติอย่างแท้จริงคือ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนก่อนหน้านั้นที่ว่าชนชาติไทยมีถิ่นบานอยู่แถวทิวเขาอัลไตแล้ว
ถูกจีนไล่ตีรุกราน จนอพยพลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งข้อนี้ผมไม่ค่อยจะเชื่อนัก ดูเหมือนจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งช่วยเขียน
ผมเชื่อว่าคงมีไทยส่วนหนึ่งที่ถูกจีนรุกราน จนถอยร่นลงมา เช่น ไทยอาณาจักรน่านเจ้า
แต่ไทยส่วนใหญ่น่าจะกระจัดกระจายกันอยู่ในแผ่นดินไทย ปัจจุบันนี้แหละ แต่ตกอยู่ใต้การปกครองของชาติอื่นเช่น
ขอม เพราะยังรวมกันไม่ติด กระทรวงศึกษาธิการน่าจะค้นคว้าหาความจริงในข้อนี้ว่า
ไทยเรามาจากไหน อยู่ที่ไหน ไม่ใช่หยิบเอาพ่อขุนรามคำแหงมาให้ศึกษา แล้วโดดมาพระเจ้าอู่ทอง
ไม่ติดต่อกัน ทำให้นักเรียนไม่รู้จักความเป็นมาของชาติตัวเอง ชาติไทยเป็นชาติควรแก่ความภูมิใจ
รอบบ้านเขาเสียชาติ เสียเอกราช กันหมดแต่ไทยอยู่รอดมาได้ คงความเป็นเอกราชมานานกว่าแปดร้อยปีแล้ว
ไม่ภูมิใจหรือ กรุงศรีอยุธยาแตก ๒ ครั้ง แต่ไม่ได้แตกทั้งประเทศ ยังมีไทยที่เป็นเอกราช
ไม่ได้อยู่ใต้การปกครองของพม่าอีกมาก
เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ กษัตริย์พม่าคือ พระเจ้าปดุง มีกรุงอังวะเป็นเมืองหลวง
เมื่อแผ่ขยายอาณาเขตในดินแดนพม่า ครอบครองไว้ได้หมดแล้ว ก็คิดจะแผ่อาณาเขตมาตีไทย
ซึ่งศึกพม่ากับไทยนั้นว่างเว้นมาหลายปี ครั้งสุดท้ายพม่ายกมาตีเชียงหใม่ เมื่อปี
พงศ.๒๓๑๙ แล้วก็ว่างเว้นไม่ได้ยกมาตีไทยอีก เพราะพม่าเองก็ผลัดแผ่นดินใหม่ติดต่อกัน
จากพระเจ้ามังระ ก็มาเป็นพระเจ้าจิงกูจา เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ แล้วมาต่อด้วยพระเจ้าปดุง
พม่ามาตีเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ นั้น พระยาจ่าบ้าน หรือพระยาวชิรปราการ
เจ้าเมืองเชียงใหม่ สู้ไม่ได้จึงทิ้งเมืองมาหลบอยู่ที่เมืองสวรรคโลก พระเจ้าตากสินจึงโปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์
คุมกองทัพเมืองเหนือไปสมทบกับ ทัพพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเอาเชียงใหม่คืนกลับมา
เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปพม่าก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่หนีกลับไป ที่ผมเอามาเล่าแทรกไว้เพราะ
เวลานี้ไทยเรายังมีกำลังน้อย พระเจ้าตากสินเกรงว่าหากถอยทัพไทยลงมา พม่าก็จะหวนกลับมาตีเชียงใหม่อีก
จึงโปรด ฯ ให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่เสีย เมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองร้างเป็นเวลานานถึง
๑๕ ปี จนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงกลับมาเป็นเมืองที่มีผู้คนเช่นเดิม
และสถาปนาพระยากาวิละ เป็นกษัตริย์เชียงใหม่
นับตั้งแต่ศึกครั้งนี้ พม่าก็ไม่กล้ายกมาตีไทยอีก จนพระเจ้าปดุงขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงอังวะ
ปราบชนเผ่าต่าง ๆ ในดินแดนพม่าไว้ในอำนาจได้หมดสิ้นแล้ว จึงคิดมาตีไทย คงจะทำเช่นเดียวกับสมัยพระเจ้าตะเบงชเวตี้
ที่รวบรวมเผ่าต่าง ๆ ไว้ได้ในอำนาจหมด เช่น มอญ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ไทยใหญ่
หรือเงี้ยว ยะไข่ และเผ่าพม่า ได้หมดแล้วก็มาตีไทย
พระเจ้าปดุง ยกทัพมาครั้งนี้มีกำลังพลมากถึง
๑๔๔,๐๐๐ คน จัดกระบวนทัพเป็น ๙ ทัพ
คือ
ทัพที่ ๑ แมงยี แมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพถือพล ๑๐,๐๐๐ เป็นทั้พทัพเรือ
และทัพบกมีเรือกำปั่นรบ ๑๕ ลำ ลงมาตั้งที่เมืองมะริด ทัพบกตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้
ไม่ได้บอกว่ายกทัพเข้ามาทางด่านใด ขอเดาเอาว่าทัพบกน่าจะเข้ามาทางด่านสิงขร
จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ไปด่านสิขรเลี้ยวขวาที่ หลัก กม.๓๓๒ เลยประจวบไป ไปอีก
๘ กม. ถึงอุทยานหินเทิน ต่อไปอีก ๔ กม. ถึงด่าน ฯ )
ทัพที่ ๒ ให้ อนกแฝกคิดหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๐,๐๐๐ เข้ามาทางด่านบ้องตี้
ตีหัวเมืองไทยฝั่งตะวันตก ราชบุรี เพชรบุรี แล้วไปบรรจบกับทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร
ทัพที่ ๓ ให้ หวุ่นเคยีสะโดะศิรีมหาอุจจะนา ถือพล ๓๐,๐๐๐ ยกเข้ามาทางเชียงแสนตีลำปาง
และหัวเมืองตามลำแม่น้ำยม เช่น สวรรคโลก สุโขทัย มาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพ
ฯ
ทัพที่ ๔ เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพถือพล ๑๑,๐๐๐ เข้มาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
เป็นทัพหน้าที่ ๓ ที่จะยกมาตีกรุงเทพ ฯ
ทัพที่ ๕ เมียนเมหวุ่น เป็นแม่ทัพถือพล ๕,๐๐๐ เป็นทัพหนุน
ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ
ทัพที่ ๖ ให้ตะแคงกามะ หรือศิริธรรมราชา (เป็นราชบุตร) ถือพล ๑๒,๐๐๐
มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหน้าที่ ๑ ของทัพหลวงที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพ
น
ทัพที่ ๗ คะแคงจักกุ หรือสะโดะมันซอ (ราชบุตรองค์ที่ ๓) เป็นแม่ทัพถือพล
๑๑,๐๐๐ เป็นทัพหน้าที่ ๒ ของกองทัพหลวง มาตั้งทัพที่เมืองเมาะตะมะ
ทัพที่ ๘ เป็นกองทัพหลวง จำนวนพล ๕๐,๐๐๐ พระเจ้าปดุงเสด็จมาเป็นจอมทัพ
ลงมาตั้งทัพที่เมืองเมาะตะมะ
ทัพที่ ๙ ให้จอข่องนรทา เป็นแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา
ตีหัวเมืองเหนือที่อยู่ตามลำน้ำแม่ปิง เช่น เมืองตาก กำแพงเพชร ลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพ
ฯ
สรุปการเดินทัพ ๕ ทัพ นำโดยพระเจ้าปดุงตรงมาตีกรุงเทพ ฯ เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
มีกำลังพล ๘๙,๐๐๐
ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ เข้ามาทางเชียงแสน และด่านแม่ละเมา มีกำลังพล ๓๕,๐๐๐
คน
ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เข้ามาทางด่านสิงขร และด่านบ้องตี้ มีพล ๒๐,๐๐๐ คน และมีทัพเรือ
พระเจ้าปดุง ยกมาทุกเส้นทางด่านที่ทัพพม่าในอดีตเคยยกมา เป็นทัพใหญ่หลวงแต่ลืมไป
๒ ข้อคือ การยุทธบรรจบของการเดินทัพหลายเส้นทางเช่นนี้ จะทำได้ยาก ยากที่จะให้มาถึงกรุงเทพ
ฯ พร้อมกัน อีกข้อคือ เสบียงอาหารจะหาจากท้องถิ่นยาก เพราะไทยจะรู้หลักเก็บหมด
จะขนเอามาจากเมืองพม่าก็ยากอีก เพราะไกล
ทัพไทย มีกำลังพลน้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุใาโลกมหาราช
จึงจัดกองทัพที่จะต่อสู้เพียง ๔ ทัพ
ทัพที่ ๑ ให้กรมพระราชวังหลัง ถือพล ๑๕,๐๐๐ ไปขัดตาทัพอยู่นครสวรรค์
ยันทัพพม่าทางเหนือเอาไว้ เพื่อไม่ให้มาสมทบกับทัพพม่า ที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ได้
ทัพที่ ๒
ให้ กรมพระราชวังบวรสุรสิงนาท (อดีตคือ เจ้าพระยาสุรสีห์ ทหารเสือพระเจ้าตากสิน)
ถือพล ๓๐,๐๐๐ เป็นจอมทัพ ไปตั้งรับพม่าที่เมืองกาญจนบุรี
(เมืองเก่า) รับทัพพม่า ๘๙,๐๐๐ คน ที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ ๓
ให้เจ้าพระยาธรรมา กับเจ้าพระยายมราช ถือพล ๕,๐๐๐ ไปตั้งรับที่ราชบุรี
ทัพที่ ๔
กองทัพหลวง จำนวน ๒๐,๐๐๐ ตั้งทัพอยู่ในกรุง
ฯ เป็นกองหนุน
การยุทธที่สำคัญคือ ทัพของกรมพระราชวังบวร ฯ หากแพ้ก็จะแพ้มาจนถึงกรุงเทพ
ฯ หากชนะก็จะชนะทัพหลวงพม่า กลยุทธใช้คนสามหมื่นสู้กับคนเกือบเก้าหมื่นได้คือ
ใช้ไม้ในป่าเมืองกาญจนบุรี เอามาทำเป็นกระสุนปืนใหญ่ แล้วรับสั่งว่าตราบใดไม้ยังไม่หมดป่าเมืองกาญจน์
ทัพไทยก็ไม่หมดกระสุนปืนใหญ่ กระสุนปืนใหญ่โบราณนั้น แม้จะเป็นเหล็ก ยิงออกไปแล้วก็จะไม่ระเบิดออก
ใช้ความหนักเป็นอาวุธสังหาร เมื่อใช้ไม้หนัก ๆ ก็จะมีผลใกล้เคียงกันกับกระสุนเหล็ก
กระสุนไทยยิงทำลายค่าย ทำลายหอรบ ทำลายหอตั้งปืนใหญ่ของพม่า
แต่งกองโจร ออกสกัดการหาเสบียงของพม่า และโจมตีกองเสบียงของพม่า
ทำคนน้อยให้ดูเป็นคนมาก ด้วยการส่งทหารลอบออกจากค่ายในตอนกลางคืน พอเช้าให้แต่งตัวสีเสื้อใหม่
ยกธงทิว เดินทัพเข้าค่ายแทบจะทุกวัน เหมือนมีกำลังพลมาเพิ่ม
ทัพพม่าถูกกระสุนไม้ไทยทำลายมากเข้า อดอาหารด้วย ทหารไทยโหมเข้าโจมตีทัพหน้าพม่าทัพที่
๔ และ ๓ แตกไปทั้ง ๒ ทัพ ทัพพระเจ้าปดุงติดในซอกเขา ในห้องภูมิประเทศทางลึกซึ่งจะเสียเปรียบฝ่ายตั้งรับ
คนมากก็เหมือนคนน้อย เลยถอดใจถอยทัพกลับ มาได้แค่นั้นเอง
ทัพพม่าทางด้านอื่น ส่วนมากก็พ่ายแพ้ทัพไทยที่ออกสกัดไว้ไม่ให้มาถึงกรุงเทพ
ฯ ส่วนทัพกรมพระราชวังบวร ฯ เมื่อพม่ายกทัพหลวงกลับไปแล้ว ก็ยกทัพลงไปช่วยทางใต้
วีรสตรีคือ ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทรที่รับทัพพม่าที่เมืองถลางสำเร็จก็เกิดขึ้นในครั้งนี้ และยังทรงยกไปตีได้ปัตตานี
ทำให้ได้ปืนใหญ่พญาตานี(อยู่หน้ากระทรวงกลาโหม) กลับมาด้วย เมื่อได้ปัตตานีแล้วก็เป็นผลให้
ไทรบุรี
กลันตัน ตรังกานู มาขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา
ขอจบสงครามเก้าทัพฉบับย่อเอาไว้เพียงเท่านี้ ผมจะพาไปด่านบ้องตี้ ที่ไม่ค่อยรู้จักกัน
และพม่าก็เคยยกเข้ามาเพียงครั้งเดียวคือ ศึก ๙ ทัพ โดยทัพที่ ๒ ของพม่าเข้ามาทางด่านบ้องตี้
ต่อไปผมจะพาไปด่านสิงขรบ้าง เส้นทาง หากมาจากสี่แยกในเมืองมาเลี้ยวซ้ายเข้าถนน
๓๒๓ เรื่อยมาจนพบป้ายบอกไปอำเภอไทรโยค ก็เลี้ยวซ้ายทางเข้าอำเภอไทรโยค
ข้ามทางรถไฟแล้วเลี้ยวซ้ายอีกที มีป้ายบอกไปปางช้าง ไปด่านบ้องตี้ ต้องวิ่งไปอีก
๒๕ กม. จึงจะถึงด่านบ้องตี้ มีกองร้อยตำรวจตระเวณชายแดน ตั้งรักษาเส้นทางก่อนจะถึงด่าน
ไปคราวนี้ผิดหวังเพราะตลาดขายของที่ชายแดนเลิกกิจการไปแล้ว เมื่อก่อนตั้งขายทุกวัน
พวกไม้แกะสลักวจะมีขายมาก ราคาถูกด้วย ผิดกับด่านสิงขรเมื่อก่อนไม่มีอะไรเลย
มีแต่ป่าเดี๋ยวนี้สิงขรกลายเป็นชุมชน ส่วนบ้องตี้ถนนดียันชายแดน แต่ไม่มีของขาย
ติดตลาดชายแดนเฉพาะวันเสาร์ต้นเดือน ตชด. บอกอย่างนั้น แต่ก็น่าไปเพราะป่าบริสุทธิ์เหลือเกิน
มีหมู่บ้าน ชุมชน มีวัด มีมัสยิด เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านจริง ๆ
ผมไปบ้องตี้ กลับมาขิมอาหารที่ร้านแถว ๆ หลังสถานีรถไฟ รสอาหารพอใช้แต่ไม่ถึงขั้นมาชวนชิมแก้หิวได้
เลยขอพามาชิมที่กรุงเทพ ฯ แถว ๆ ถนนลาซานหรือสุขุมวิท ๑๐๕
เส้นทางไปได้ ๓ เส้นทาง สะดวกเส้นไหนไปทางนั้น จุดหมายคือ สุขุมวิท ๑๐๕ หรือถนนลาซาล
ซอย ๗๕ เส้นทางแรกคือเส้นทางที่ผมไปจากบ้านลาดพร้าวในวันนี้ ผมขึ้นทางด่วนสายรามอินทรา
จ่ายสองเด้งไปลงปลายทางที่บางนา เมื่อลงแล้วก็ตามป้ายสมุทรปราการไปจนถึงทางกลับรถก็กลับรถมาลงถนนสายบางนา
- ตราด จะวิ่งผ่านด้านหลังของไบเทค พอเลยมาจะพบถนนแยกซ้ายคือถนนลาซาล วิ่งผ่านลาซาลซอย
๑ เรื่อยไปจนถึงซอยลาซาล ๗๕ เลยปากซอยไปอีกสัก ๒๐เมตร คือร้านโรงเตี้ยม โกปี้เนีย
จอดรถได้ริมถนนหรือในซอยลาซาล ๗๕ ร้านขนาด ๒ ห้อง มีห้องแอร์ที่ชั้นบน ย่านนี้มีร้านอาหารหลายร้านบอกเหตุว่าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้
เส้นทางที่ ๒ ไปตามถนนศรีนครินทร์เช่นจากบางกะปิเลี้ยวขวาผ่านแยกลำสาลี ไปตามถนนศรีนครินทร์ไปจนข้ามถนนสายบางนา
- ตราด วิ่งต่อไปจนพบสี่แยกให้เลี้ยวขวา (หากปิดเลยไปกลับรถ) เข้าถนนลาซาลวิ่งไปประมาณ
๕๐๐ เมตร จะถึงซอยลาซาล ๗๕ หากหันหน้าเข้าซอย ๗๕ ร้านจะอยู่ทางขวามือ
เส้นทางที่ ๓ ไปตามถนนสุขุมวิท จนถึงซอย ๑๐๕ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยคือ ถนนลาซาล
หรือสุขุวิท ๑๐๕ วิ่งไปจนบรรจบกับถนนศรีนครินทร์ ให้วิ่งตรงต่อไปอีกประมาณ
๕๐๐ เมตร กลับรถมาทางซอยเลขคี่ คือลาซาล ๗๕
มาชิมอาหารร้านนี้ต้องตั้งใจจะมาชิมติ๋มซำ ตามด้วยบ่ะกุ๊ดเต๋ แล้วพุ้ยข้าวสวยตามด้วยเคาหยก
กับซดน้ำชาจีนร้อน ๆ เพราะต้องยกนิ้วให้สำหรับอาหารที่กล่าวถึง ติ๋มซำนั้นมีฝีมือระดับภัตตาคารชั้นสูง
แต่ราคานั้นระดับห้องแถวคือเข่งละ ๑๕ บาท หาติ๋มซำรสและราคานี้หายากมาก กินติ๋มซำอยากรู้ว่าเก่งแค่ไหน
สั่งซาลาเปามาชิมก็รู้แล้ว แป้งจะต้องละเอีนด นุ่ม "เคี้ยวไม่ติดฟัน" ใส้รสเข้ม
ลองติ๋มซำอร่อย ฮะเก๋าอร่อย ขนมจีบอร่อย อย่างอื่นอร่อยหมด ติ๋มซำในฮ่องกง
เขาบอกว่าเขามีประมาณ ๔๐ ชนิด แต่ร้านที่พาไปชิมวันนี้มีประมาณ ๓๐ ชนิด (โกปี้
ติ๋มซำ หยำฉา) ร้านนี้ดั้งเดิมขายกาแฟโบราณอยู่ศรีษะเกษ ได้รับเชลล์ชวนชิมรสกาแฟ
แต่ผมจะชวนชิมติ๋มซำ บ่ะกุ๊ดเต๊ เดาหยก และอาหารพวกเส้นหมี่ผัด ติ๋มซำเป็นอาหารจีนกวางตุ้ง
ดัดแปลงเป็นอาหารว่างเพื่อกินกับน้ำชา ส่วนหยำฉาหรือแตเตี้ยม หมายถึงการกินของว่างคู่กับน้ำชา
(จีน) สถิติคนกินติ๋มซำร้านนี้เขาบอกว่ามาคนเดียวกิน ๒๕ เข่ง ไม่ยอมสั่งอาหารอื่นเลย
ติ๋มซำ ต้องไปชี้เอาในตู้ที่วางโชว์ไว้ร่วมสามสิบชนิด เมื่อชี้แล้วเขาจึงจะเอาไปนึ่งอีกประมาณ
๑๐ นาที จะได้ชิมร้อน ๆ บ่ะกุดเต๊ ยกมาร้อนโฉ่ ใส่มาทั้งซีกโครงหมูเครื่องใน
เห็ดเข็มทอง ฟองเต้าหู้ เครื่องยาจีนหอมฟุ้งกินบ่ะกุดเต๋ ต้องได้ร้อน ๆ อย่างนี้เสริฟมาในหม้อดิน
หม้อละ ๘๐ บาท สั่งข้าวสวยมาด้วย จึงจะเข้ากัน เสริฟพร้อมซีอิ้วพริกชี้ฟ้าสด
พุ้ยข้าวสวยนุ่ม หอม ร้อน ๆ แล้วซดบ่ะกุดเต๋ตาม ๒ คนต่อ ๑หม้อกำลังดี หรือกลัวแย่งกันก็สั่งเสียคนละหม้อ
ซดกันให้สนุกไปเลย
เดาหยกหรือหมูอบ รองก้นจานด้วยผักดำที่หากินยาก ส่วนมากไปรองด้วยผักกาดดอง
ใช้หมูสามชั้นนึ่ง ต้องนึ่งให้เปื่อย นุ่ม แต่ต้องได้เคี้ยว
ติ๋มซำที่สั่งมาคือ ซาละเปา ฮะเก๋า ขนมจีบ ฝั่นโก๋ กุนเชียงใส่กุ้ง มะระยัดไส้
ปูจ๋า ปูอัดพันสาหร่าย หางหงษ์
อาหารที่สั่งมาอีกคือข้าวผัดปู "หมี่ผัดเบตง" หมี่ผัดฮกเกี้ยนที่ผัดกับผักไต้หวัน
ก๋วยเตี๋ยวหลอดฮ่องกง และหมี่ขาวผัดสิงค์โปร์ (ใส่ผงกะหรี่ เห็ดหอม กุ้ง แฮม)
อาหารทุกอย่างอร่อยหมด ราคาย่อมเยา กินอาหารเหลาราคาห้องแถว
ปิดท้ายด้วยกาแฟโบราณ ผมสั่งกาแฟร้อนเขาใส่ถ้วยไม่เหมือนใคร รสกาแฟเยี่ยม
หวานมัน ร้อน ถูกใจ หรือจะไปสั่งสมู๊ตตี้ ชาผลไม้ปั่นกับผลไม้สด กินแล้วเย็นไปถึงสมอง
.........................................................
|