ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > พระพุทธไสยาสน์
 
พระพุทธไสยาสน์
พระพุทธไสยาสน์ (วัดขุนอินทประมูล)

           พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นพระอารามราษฎร์ ตั้งอยู่ หมู่ ๓ ตำบลบางพลัด อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ประกาศขึ้นทะเบียนมีฐานะเป็นวัด เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๐ มีเนื้อที่วิสุงคามสีมา ๘๐ ไร่เศษ แต่ก่อนที่จะเป็นวัดในปัจจุบัน ก็มีความเป็นมาที่ยาวนาน โดยเฉพาะองค์พระพุทธไสยาสน์ ซึ่งยาวที่สุดในประเทศไทย และน่าจะเก่าแก่ที่สุดด้วย (อาจจะมีพระพุทธรูปที่สร้างใหม่ ที่อาจจะมีความยาวมากกว่า แต่ถ้าทั้งยาวและเก่าแก่ ไม่มีองค์ใดจะเทียบได้ )
            ประวัติเดิมวัดเป็นเพียงสำนักสงฆ์ใช้เป็นที่วิปัสสนา สร้างเป็นเพิงพักเครื่องไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก นายช่างทั้งหลายก็คือ ชาวบ้าน บริเวณเดิมเป็นโคกสูงน้ำท่วมไม่ถึง ในสมัยโบราณเป็นแหล่งที่เวลาฤดูน้ำท่วม ในเดือน ๑๑ - ๑๒ ของทุกปี ชาวบ้านจะนำวัว ควาย มาเลี้ยงบริเวณนี้ โดยมาปลูกเพิงพักอาศัย พอสิ้นฤดูน้ำท่วมก็ต้อนควายกลับบ้าน
            สมัยโบราณยุคทวารวดี คือ กว่า ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณบ้านบางพลับจะตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล ซึ่งเป็นแนวผ่านมาจากนครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ไปจนถึงเมืองลพบุรีหรือละโว้ ต่อมาจึงกลายเป็นแม่น้ำน้อย ซึ่งมีคลองบางพลับ เป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย เชื่อกันว่าพอมาถึงยุคกรุงสุโขทัยรุ่งเรือง บ้านบางพลับเป็นชุมชนใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยเชื่อมกับคลองบางพลับ วัดขุนอินทประมูล ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองนี้
            ตำนานสิงหนวัติ  ได้กล่าวถึงประวัติการสร้างพระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูลไว้ว่า ในยุคที่สุโขทัยรุ่งเรือง พระยาเลอไทย สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ผู้เป็นพระราชบิดา ได้เสด็จมาละโว้ โดยเสด็จมาทางชลมารคเพื่อมานมัสการ พระฤาษีสุกกะทันตะ ณ เขาสมอคอน ในเขตกรุงละโว้ (ปัจจุบัน เขาสมอคอน อยู่ในอำเภอท่าวุ้ง ลพบุรี) พระฤาษีองค์นี้เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช และพระยามังรายมหาราช และเชื่อว่าน่าจะเป็นพระอาจารย์ของพระยำงำเมือง พ่อเมืองพะเยา ด้วย
            เมื่อพระยาเลอไทย นมัสการพระฤาษีแล้ว พักแรมอยู่ ณ เขาสมอคอน ๕ วัน ได้เสด็จมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำน้อย โดยจะเสด็จเป็นการประพาสทุ่ง เนื่องด้วยเวลาที่กำลังเสด็จนั้น น้ำเหนือบ่าเข้ามาท่วมทุ่งสวยนัก (เดี๋ยวนี้ไม่ท่วมทุ่งจนเป็นทะเลสมอคอนแล้ว เมื่อ ๕๐ ปี ที่แล้ว ผมอยู่ลพบุรี ไปวัดเขาสมอคอนจะเอารถจิ๊บไป ต้องรอให้น้ำลดเสียก่อน จึงจะไปได้) และยังไม่สามารถเสด็จทางเรือทวนน้ำขึ้นเหนือได้ จึงแวะประทับสร้างพลับพลา ณ โคกบางพลับ นี้
            ขณะประทับแรมอยู่ ณ โคกบางพลับ เกิดศุภนิมิตเห็นลูกไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นเหนือยอดไม้ หายไปในอากาศทางทิศตะวันออก เกิดความปิติโสมนัสดำริสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ด้วยคติที่ว่าเกิดศุภนิมิต ณ บริเวณที่พระองค์กำลังประทับแรมอยู่ จึงโปรด ฯ ให้นายบ้านเกณฑ์แรงงานทั่วแคว้น แถบลุ่มแม่น้ำน้อย ได้แรงงานมาประมาณพันเศษ ขุดหลุมกว้าง ๒๐๐ วา นำท่อนซุงนับร้อยท่อน ลงวางขัดกันเป็นฐาน แล้วขุดบ่อในทุ่งด้านหลัง เพื่อขุดดินเอามาถมทับจนสูงประมาณ ๓ วา (ปัจจุบันสระน้ำกว้างยังอยู่ด้านหลังของวัด) ให้ผู้คนอีกพวกหนึ่งระดมทำอิฐเผา (ทำในพื้นที่ที่ปัจจุบันเรียกว่า โคกเผาอิฐ และตำบลบ้านท่าอิฐ อ.โพธิ์ทอง)  การสร้างพระพุทธไสยาสน์ใช้เวลาประมาณ ๕ เดือน ก็แล้วเสร็จ เมื่อเดือน ๕ ปี พ.ศ.๑๘๗๐ องค์พระพุทธรูปยาว ๒๐ วา สูง ๕ วา (ปัจจุบัน ซ่อม สร้าง กันจนยาว ๒๕ วา สูง ๕ วา ๒ ศอก จึงยาวที่สุดในประเทศ) เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงพระราชทานนามว่า "พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิต" แล้วโปรด ฯ ให้นายบ้านเป็นผู้ดูแล แต่งตั้งทาสไว้ ๕ คน แล้วเสด็จกลับกรุงสุโขทัย
            เมื่อสิ้นยุคความรุ่งเรืองของกรุงสุโขทัยแล้ว องค์พระพุทธไสยาสน์ซึ่งสร้างกลางแจ้ง ถูกทอดทิ้งตากแดด ตากฝน และจะมีเพียงพระภิกษุ ที่ทรงวิทยาคุณมาใช้เป็นสถานที่ กระทำวิปัสสนากรรมฐาน โดยชาวบ้านจะร่วมบุญด้วยการสร้างเพิงพักอาศัย ให้พอได้ใช้เป็นสถานที่จำวัด และถวายภัตตาหาร
            สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ ยังมีนายอากร ตำแหน่งที่ ขุนอินทประมูล นายบ้านบางพลับ แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ (ปัจจุบันสะกด วิเศษชัยชาญ)  ซึ่งเวลานั้นเมืองอ่างทองยังไม่เกิด วิเศษไชยชาญก็คือ อ่างทอง ซึ่งมีการปกครองครอบคลุมถึงสิงห์บุรี และชัยนาท ขุนอินทประมูล เป็นคนจีน เดิมชื่อ เส็ง มีภริยาเป็นคนไทยชื่อ นาก ไม่มีบุตรสืบตระกูล เป็นผู้ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาสูงมาก ปรารถนาจะซ่อม สร้าง พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิต และสร้างวัดด้วย เพราะการสร้างพระพุทธรูป สร้างพระธาตุ หรือ พระบรมธาตุเจดีย์ หากไม่มีวัดดูแลรักษาไม่ช้า ก็จะพังไปตามกาลเวลา
            ในขั้นต้น ขุนอินทประมูล ได้นำเงินส่วนตัวที่เก็บออมเอาไว้ประมาณ ๑๐๐ ชั่ง ออกมาสร้างวิหาร และสร้างเจดีย์ (ยังมีซากเหลืออยู่ให้เห็น) สร้าง ณ โคกใหญ่ ทางทิศตะวันออกสำเร็จเรียบร้อย ต่อมาเห็นว่าองค์พระพุทธไสยาสน์ ทรุดโทรมพังลงมาทุกวัน จนบางส่วนทลายลงมากองกับพื้นดิน จึงถากถางป่า ต้นไม้ ที่ขึ้นปกคลุมองค์พระพุทธไสยาสน์ สร้างหลังคาคลุมองค์พระพุทธรูป โดยจัดทำเป็นเสาอิฐ ก่อเครื่องบนเป็นเครื่องไม้ หลังคามุงด้วยหญ้าแฝก พอกันแดด กันฝน แล้วขยายองค์พระให้ยาวกว่าเดิม
            การซ่อม สร้าง ครั้งนี้ใช้เงินจำนวนมาก เงินที่เป็นทุนทรัพย์ส่วนตัวของขุนอินท ฯ ไม่พอ จึงต้องมีเจตนายักยอกพระราชทรัพย์จำนวนหลายร้อยชั่ง มาซ่อม สร้าง จนสำเร็จ ปิดบังความนี้ไม่ให้ทราบไปจนถึงพระนครศรีอยุธยา
            แต่ข่าวลือ ในการยักยอกพระราชทรัพย์ก็ลือไปจนถึง พระยาวิเศษไชยชาญ เจ้าแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จึงส่งคนมาสอบสวนได้ความจริง จึงนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยากลาโหม ขึ้นมาไต่สวน ขุนอินทประมูลไม่ยอมรับสารภาพ จึงถูกราชมัณฑ์ ลงทัณฑ์เฆี่ยน ๓ ยก ก็ไม่ยอมรับ อ้างว่าเป็นทรัพย์ส่วนตัวทั้งหมดที่นำมาซ่อม สร้าง ด้วยเกรงว่า หากรับสารภาพแล้ว บุญ กุศล ทั้งหมดที่ทำไว้จะตกแก่พระเจ้าแผ่นดิน
            ผลที่สุด ทนต่อการลงทัณฑ์ไม่ไหว เมื่อใกล้สิ้นใจได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ให้งดโทษ แล้วสารภาพว่า ยักยอกเงินพระราชทรัพย์ไปจริง "แต่มุ่งสร้างเพื่อเป็นการเสริมพระบารมี" ขุนอินทประมูล รับการลงทัณฑ์ไม่ไหว ก็สิ้นชีวิต เมื่ออายุได้ ๘๐ ปี พระยากลาโหมก็กลับไปถวายรายงานให้ทรงทราบ
            พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ เมื่อทรงทราบความตามที่กราบทูล ได้เสด็จขึ้นมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง เชื่อว่าขุนอินทประมูล มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สมกับที่ขุนอินท ฯ ตั้งใจไว้ จึงโปรดให้ฝังร่างของขุนอินทประมูลไว้ในเขตวิหาร ด้านหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ และทำพิธียกเกษทองคำหนัก ๑๐๐ ชั่ง (กรุงแตก พ.ศ.๒๓๑๐ พม่ามาเผาเอาทองคำไปหมด) ประดับเหนือเศียรพระพุทธรูป แล้วพระราชทานนามวัดว่า วัดขุนอินทประมูล และถวายพระนามพระพุทธรูปว่า พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล
            วัดขุนอินทประมูล ถูกทิ้งร้างจมอยู่ในป่าโคกวัด นานหลายร้อยปี จนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๐ เมื่อสมเด็จพระพุทธาจารย์ ( โต พรหมรังสี) วัดระฆัง เดินทางขึ้นมาตรวจสอบพื้นที่ เพื่อสร้างพระพุทธรูปนั่ง พระมหาพุทธพิมพ์ ณ วัดเกษไชโย อำเภอไชโย อ่างทอง ในตอนที่ขึ้นมานั้น เป็นฤดูน้ำหลาก สมเด็จ ฯ จึงให้ชาวบ้านแจวเรือ ลัดทุ่งมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล และพำนักค้างคืน ณ บริเวณโคกวัด ๑ คืน เมื่อกลับไปยังวัดระฆัง ที่กรุงเทพ ฯ แล้ว จึงเข้าถวายพระพรเรื่องพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล ให้รัชกาลที่ ๔ ทรงทราบ ซึ่งเป็นปีปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ เมื่อรัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล ถึง ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๒๑ และ ๒๔๕๐
            วัดขุนอินทประมูล ได้มีการพัฒนาอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ โดยพระอธิการสร่าง ธีรปัญโญ มาครองวัดเป็นเจ้าอาวาส ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์แรก ได้ซื้อที่ดินขยายเขตวัด สร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ และกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช มหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ และ พ.ศ.๒๕๑๘ พระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมานมัสการ ในปี พ.ศ.๒๕๑๙
            เส้นทางไปวัดขุนอินทประมูล ผมตั้งใจจะไปซื้อยาอายุวัฒนะ ที่ร้านขายยาจิตตไทย ในตลาดวิเศษไชยชาญ และกินอาหารกลางวัน ที่ร้านเก่าแก่ของตลาดนี้ ซึ่งผมชิมอาหารของเขามาตั้งแต่ร้านเขาอยู่ท่าน้ำของแม่น้ำน้อย แล้วย้ายมาอยู่ข้างนอก ใกล้ถนนใหญ่ คงจะนานร่วม ๓๓ ปี เพราะชิมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๗ จนพ่อครัวเอก หรือเจ้าของร้านและตัวผม ก็หง่อมด้วยกันทั้งคู่ แต่เจ้าของ ยังเข้าครัวปรุงอาหารเองเป็นส่วนใหญ่ ฝีมือไม่ตกเลย แถมยังมีอาหารใหม่ ๆ เพิ่มมาอีกเสมอ
            ไปคราวนี้ ผมเดินทางไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านรังสิต พอถึงประตูน้ำพระอินทร์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเอเชีย ไปผ่านทางแยกซ้ายเข้าอยุธยา เลยต่อไปจนถึงหลัก กม. ๑๐๑ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองอ่างทอง แต่ไม่เข้าบายพาส ตรงไปผ่านศาลหลักเมืองของอ่างทอง ทางซ้าย ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไป เลี้ยวขวาอีกทีเข้าถนนสายอ่างทอง - อ.โพธิ์ทอง (ระยะทาง ๙ กม.)  ถนนสายนี้หากวิ่งไป ๓ กม. จะมีทางแยกซ้ายไปอีก ๙ กม. จะถึง อำเภอวิเศษไชยชาญ และถนนจะไปต่อยังสุพรรณบุรีได้ แต่พอถึงสามแยก ผมยังไม่เลี้ยวเพราะตั้งใจจะไปนมัสการ พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลด้วย ผมไปนมัสการมาหลายครั้งจำไม่ได้แล้วว่ากี่ครั้ง ไปทีไรกลับมาเขียนเล่าถึงวัด และการพัฒนาของวัด ไปคราวนี้ก็เช่นเดียวกัน เห็นการพัฒนาที่ทำให้วัดดีขึ้นกว่าเดิม เช่น เกิดศูนย์ขายสินค้าโอท๊อปขึ้นที่ทางเข้าวัด เมื่อจะไปวัดก็ยังไม่เลี้ยวซ้ายไปวิเศษชัยชาญ ผ่านสามแยกตรงไปอีก ๕ กม. ก็จะมีป้ายชี้ทางให้เลี้ยวขวาเข้าไปยังวัดเลี้ยวไปอีก ๒ กม. ผ่านร้านอาหารหลายร้าน เคยแวะชิมใช้ได้ จากนั้นก็ไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ ไปคราวนี้เห็นมีจีวรสีเหลืองอร่าม ห่มตลอดองค์และมีศาลา จำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน มีรูปปั้นของขุนอินทประมูล เมื่อก่อนไม่มี
            ไหว้พระแล้ว กลับออกมายังถนนใหญ่ เลี้ยวขวาไปผ่านวัดเกาะ หน้าวัดมีก๋วยเตี๋ยวเรือกะทิสด ขายด้วยมาใหม่ ไม่เคยเห็น ยังไม่ได้ชิมผ่านตัวอำเภอโพธิ์ทอง ไปแล้ว พอถึงริมคลองชลประทานก็เลี้ยวซ้ายไปอีก ๑๒ กม. (จะผ่านทางแยกขวาเข้าไปยังพระตำหนักคำหยาด)  ก็จะถึงวิเศษชัยชาญ ก่อนถึงจะข้ามสะพานข้ามแม่น้ำ พอลงสะพานก็เลี้ยวซ้ายไปทางศาลเจ้าโรงทอง ไปจอดรถแถว ๆ หน้าธนาคารกรุงเทพ ฯ ใกล้ปากซอยที่จะเข้าสู่ตลาดสด แต่ที่จอดรถจะหายาก สู่ลงสะพานแล้ววิ่งเลยไปสัก ๓๐ เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าประตูวัดนางในธัมมิการาม แล้วไปจอดรถหลังวัด เดินออกประตูหลังวัด จะไปโผล่เยื้อง ๆ ธนาคารกรุงเทพ ฯ แต่ตรงปากทางเข้าตลาด มีร้านขนมเก่าแก่ที่เชล์ชวนชิม อยู่ปากซอย เมื่อเข้าตลาดตรงไปยังเขตที่เป็นตลาดสด จะผ่านแผง รถเข็นขายของอร่อยแยะ เช่น ขนมเบื้อง ขนมดอกลำเจียก หมู เนื้อแดดเดียว ไปจนชนกับตลาดสด ที่เดี๋ยวนี้ไม่สด เพราะไฟไหม้ใหญ่เมื่อเร็ว ๆ นี้ไหม้ไปจนจรดริมแม่น้ำ แต่ตอนนี้ของอร่อยก็ยังมาตั้งแผงอยู่ ส่วนบริเวณตลาดก็กำลังก่อสร้างกันใหม่ น่าจะสร้างเป็นตึกแถว ขนมกง เจ้าเก่ายังอยู่ ร้านขนมชั้น ขนมหม้อแกง เจ้าอร่อยยังอยู่ ตลาดอาหารเช้าที่อยู่ไม่ไกลกัน (ไม่เกิน ๐๙.๐๐) ก็ยังมีโจ๊ก ปาท่องโก๋ ข้าวต้ม ข้าวแกง ก็ยังอยู่ ไม่ได้ไหม้ไปด้วย ที่หายเกลี้ยงคือ ตลาดสด
            เมื่อเดินถึงจุดที่เคยเข้าตลาดสดไปแล้ว เลี้ยวซ้ายไปผ่านร้านดั้งเดิม ผ่านไปแล้วก็เลี้ยวขวาไปทางท่าน้ำ ร้านขายยาที่ผมซื้อยาไปให้มารดาของผมกิน จนท่านจากไปเมื่ออายุ ๙๓ แม่ของผมกินยานี้อยู่นานกว่า ๒๐ ปี คือ ยาอายุวัฒนะ จากร้านจิตตไทย ซึ่งผมเองก็กินยานี้เช่นกัน และวันนี้ก็ตั้งใจจะไปซื้อยาอายุวัฒนะ และไปเยี่ยมด้วย เพราะตั้งแต่ไฟไหม้ แล้วซ้ำด้วยน้ำท่วมใหญ่ ก็ไม่เคยโผล่ไปเลย เขาโทรมาหาตอนไฟไหม้ว่า ร้านของเขาเกือบไหม้ แต่พอน้ำท่วมบอกว่าคราวนี้ หนีไม่พ้นน้ำท่วมสูง จากพื้นร่วม ๑๑ เมตร ยาที่ผมซื้อประจำคือ ยาอายุวัฒนะ เดี๋ยวนี้ขายกล่องละ ๗๐ บาท ไปคราวนี้มียาใหม่ ๆ แยะ ผมชอบกินยาไทยได้ผล ราคาถูก ร้านแนะนำว่ามียาลดไขมันหน้าท้อง และยาบำรุงกำลัง คนใจง่ายเลยซื้อมาทอดลองกินได้ผลดี
            ตรงข้ามมีร้านขนมอร่อยอีก กาละแม ข้าวเหนียวแดง ขนมโสมนัส อร่อยนัก ทองหยิบ ฝอยทอง ฯ ต้องสั่งทำ

            ผมเคยแนะนำเขาว่าฝีมือระดับนี้ ย้ายร้านไปอยู่ริมถนนเอเชียไม่ดีหรือ บอกว่ามีที่ดินตรงถนนสายเอเชียแถวหลัก กม.๙๗ แต่ยังรักถิ่นที่อยู่มาตั้งแต่เกิดคือ วิเศษชัยชาญ แต่พอเจอไฟไหม้ใหญ่ ร้านไม่ไหม้แต่หวาดเสียว น้ำท่วมซ้ำเข้าไปอีก ก็เลยย้ายร้าน ผมแฟนพันธ์แท้ของเขา มาวันนี้จะมาชิมจึงตามไปกินที่ร้านใหม่ ร้านใหม่อยู่ริมถนนสายเอเชีย หากไปจากกรุงเทพ ฯ ร้านอยู่ทางขวามือตรง กม. ๙๗ พอดี ถนนกำลังจะเป็น ๘ เลน ต้องเลยไปกลับรถผ่านปั๊มเจตมา จอดรถสะดวก สุขา สร้างเป็นแบบผสมสะอาดถูกใจมาก สั่งอาหารที่เคยสั่งมาชิมเสียก่อน
            อย่าโดดข้ามไปราคามาตรฐานของกุ้งแม่น้ำคือ กก.ละ ๘๐๐ บาท สั่งมาเท่าจำนวนคนก็ได้เช่น กุ้ง ๓ ตัว "กุ้งทอดเกลือ" ฝีมืออย่างนี้ผมยกให้ที่บางปลาม้า  ทอดด้วยเนย เอามันกุ้งคลุกข้าววิเศษนัก เค็มด้วยเกลือ อย่าเติมน้ำปลาพริก
            มาใหม่ แกงส้ม ชะอมไข่ กุ้ง น้ำเข้มข้น ตักกุ้งทอดเกลือเข้าปากแล้ว ซดแกงส้มตาม
            ห่อหมกปลาคร้าว ไม่ค่อยจะมีทุกวัน ถามดูว่าวันนี้มีไหม หากมีรีบสั่งมาโดยเร็ว
            สลัดน้ำใส สลัดหมู เนื้อ อ่างทอง สิงห์บุรี มีเอกลักษณ์ของตัวเอง อร่อยก็แล้วกัน
            ผัดเผ็ดปลาดุก แล่เอาเนื้อมาทอดกรอบนอกนุ่มใน เนื้อติดก้างและก้างเอามาทอดกรอบก่อน แล้วจึงผัดด้วยเครื่องแกง ความลับ เนื้อติดก้างตรงปลายหางจะอร่อยที่สุด
            กระเพาะปลาน้ำแดง กุ่งทำกระเพาปลาเอง จากปลาน้ำจืด ซดร้อนๆ ชื่นใจ
            บ่ะเต็ง หากินยากนัก มีแต่เอามาใส่ข้าวต้มเครื่อง แต่ของกุ่ยสั่งมาเป็นจานได้เลย แถมเมื่ออิ่มแล้ว จะกลับบ้านแนะให้เดินไปตรงโต๊ะที่วางของขาย จะมีบ่ะเต็งกระป๋อง อย่าลืมซื้อกลับมาหาซื้อได้แห่งเดียว และยังมีน้ำมะขามบรรจุกระป๋องอีก จะสั่งมาเป็นเครื่องดื่มตอนชิมอาหารก็ได้รสดี เปรี้ยวหน่อย หวานนิด ร้านทำเองเช่นกัน
            ร้านนี้ไม่มีขนมหวาน มีแต่ขนมและเฉาก๊วย วิเศษชัยชาญ แม้จะไม่เลิศเท่าเฉาก๊วยชากังราว แต่ก็เยี่ยม รสใกล้เคียงกัน

.....................................................


| บน |

พระพุทธไสยาสน์: ข้อมูลพระพุทธไสยาสน์ ท่องเที่ยวพระพุทธไสยาสน์ ข้อมูลเที่ยวพระพุทธไสยาสน์


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์