วัดมหรรณพาราม
วัดมหรรณพาราม
วัดมหรรณพาราม อยู่ริมถนนตะนาว หากเรามาจากสะพานผ่านฟ้า มาผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เลยต่อมาคือ สี่แยกคอกวัว เลี้ยวซ้ายจะเข้าถนนตะนาว หากวิ่งมาสัก ๕๐๐ เมตร
ทางซ้ายมือคือ วัดมหรรณพ์ เลี้ยวซ้ายเข้าไปจอดรถในลานจอดของวัดได้ค่าจอดชั่วโมงละสิบบาท
(แต่มักจะจอดกันเต็ม) หากที่จอดรถเต็ม ให้เลยไปนิดเดียวทางขวามือ มีลานจอดรถข้างศาลเจ้าพ่อเสือ
ลานนี้ราคาแพงหน่อยชั่วโมงละ ๓๐ บาท ผมจะพามาไหว้พระพุทธรูปสำคัญ ที่พระวิหารวัดมหรรณพ์
แล้วข้ามฟากไปไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือ ที่ถือว่าเป็นสถานที่มงคล ที่นิยมวิ่งไหว้กันในวันเดียวให้ได้
๙ แห่ง เดิมทีผมเคยเล่าไว้ไหว้มงคลสถาน ๙ แห่งคือ วัดพระแก้ว วัดเชตุพล ศาลหลักเมือง
ศาลเจ้าพ่อเสือ วัดสุทัศน์ วัดบวรนิเวศ วัดชัยชนะสงคราม วัดระฆัง สุดท้ายคือ
วัดสระเกศ ส่วนการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวของ กทม. ได้ไปเปลี่ยนเสียใหม่
๒ วัด คือ ตัดวัดบวรนิเวศออก อาจจะเห็นว่าอุโบสถวัดบวร ฯ ไม่ค่อยเปิด ตัดวัดสระเกศออกน่าจะเห็นว่าต้องขึ้นไปไหว้บนยอดภูเขาทอง
ต้องใช้เวลามากเดี๋ยวไหว้ไม่ครบ ๙ แห่ง ในวันเดียว แล้วไปเพิ่มอีก ๒ วัดคือ
วัดอรุณราชวราราม กับวัดกัลยาณมิตร ซึ่งอยู่เรียงกันไปทางฝั่งธน
วัดมหรรณพาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันออกของถนนตะนาว
แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ
วัดมหรรณพาราม ผู้สร้างคือ กรมหมื่นอุดมรัตนรังษี
(พระนามเดิม
พระองค์เจ้าอรรณพ) เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๓
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๓ เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๓
ในการสร้างครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้พระราชทานเงิน ๑,๐๐๐ ชั่ง
(แปดหมื่นบาท) การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จดีก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ ขึ้นครองราชย์ ได้พระราชทานเงินให้อีกจำนวน ๑,๐๐๐ ชั่ง และได้พระราชทานนามว่า
วัดมหรรณพาราม และทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระเจดีย์ขึ้น ๑ องค์ ที่หลังพระอุโบสถ
ซึ่งเป็นพระเจดีย์ใหญ่ที่สุดในวัดนี้
เดิมเมื่อสร้างวัดนั้นไม่ได้สร้างพระวิหาร คงสร้างแต่พระอุโบสถ เหตุที่สร้างพระวิหารเพราะเมื่อตอนสร้างวัดอยู่นั้น
รัชกาลที่ ๓ นอกจากพระราชทานเงินให้ ๑,๐๐๐ ชั่งแล้ว ยังโปรดให้เจ้าหน้าที่ทางเมืองเหนือเสาะหาพระพุทธรูปใหญ่
เพื่อจะทรงนำมาเป็นพระประธาน ได้มาสำรวจพบที่เมืองสุโขทัย จึงโปรดให้อัญเชิญมากรุงเทพ
ฯ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดมหรรณพาราม และมีพระประสงค์ให้ทันกับการฉลองพระอุโบสถ
และผูกพัทธสีมา แต่การนำพระพุทธรูปขนาดใหญ่ลงมากรุงเทพ ฯ ในระยะทางที่ไกลเช่นนั้น
จะนำมาได้ก็ด้วยการนำมาทางน้ำเท่านั้นคือ ต่อแพ บรรทุกแพล่องลงมาจากสุโขทัย
จะต้องล่องมาตามลำน้ำยม จนมาถึงปากน้ำโพแล้ว ล่องต่อมาตามลำน้ำเจ้าพระยา จนมาถึงกรุงเทพ
ฯ ต้องใช้เวลาหลายเดือน หลวงพ่อร่วงจึงมาไม่ทันกำหนดเวลา ที่พระอุโบสถแล้วเสร็จ
และพิธีผูกพัทธสีมา จึงมีรับสั่งให้สร้างพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
พระประธานจึงปั้นด้วยปูนด้วยลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๗ นิ้ว สูง ๕
ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานยาว ๒ วา ๓ ศอก ๓ นิ้ว กว้าง ๒ วา ๑ ศอก
๑ คืบ ๔ นิ้ว ฐานสูง ๒ ศอก ๑ นิ้ว ต่อฐานขึ้นไป ๓ ชั้น เรียกว่า บัลลังก์
ทำเป็นบัวหงาย บัวคว่ำ และกระจับลงรักปิดทองและประดับกระจกสีต่าง ๆ ผินพระพักตร์
ไปทางทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อสร้างพระพุทธรูปแล้ว ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถแล้ว ฉลองแล้ว
พระพุทธรูปที่ประสงค์จะนำมาเป็นพระประธาน จึงเดินทางมาจากสุโขทัยมาถึงกรุงเทพ
ฯ จึงได้สร้างพระวิหารขึ้น เพื่ออัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัยมาประดิษฐาน พระวิหารที่สร้างขึ้นนั้นก่อด้วยอิฐถือปูน
หลังคามุงลดสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องไทยปั้นลม และหน้ามุขทำด้วยปูน และประดับด้วยเครื่องกระเบื้องสีจานเบญจรงค์
ตรงกลางหน้ามุขทำเป็นรูปมังกร เพดานเขียนลายไม้ตาข่าย พระวิหารมี ๔
ประตู มีหน้าต่าง ๑๐ บาน ซุ้มประตู และหน้าต่างปั้นลายดอกไม้เครือ ลงรักปิดทอง
บานประตู และหน้าต่างเรียกว่า ลายคลื่นฟองน้ำ มีรูปสัตว์ต่าง ๆ ลงรักปิดทองประดับกระจก
หน้ประตูพระวิหารมีตุ๊กตาหินจีน ตั้งอยู่ข้างเสามุขสองข้าง ๆ ละ ๒ ตัว รวมเป็น
๔ ตัว หลังประตูพระวิหารมีตุ๊กตาหินจีน ตั้งอยู่ข้างเสามุขสองข้าง ๆ ละ ๒
ตัว รวมเป็น ๔ ตัว เช่นเดียวกัน พระวิหารยาว ๑๓ วา ๑๐ นิ้ว กว้าง ๘ วา ๕ นิ้ว
สูง ๑๐ วาเศษ และมาถึงสมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ได้ทำการปฎิสังขรณ์ และซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม
เปลี่ยนหลังคาจากมุงกระเบื้องไทยมาเป็นหลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบล้วน ทั้งพระอุโบสถ
และพระวิหาร มีกำแพงแก้วสูง ๔ ศอก ๑ คืบ ล้อมรอบ มีประตู ๗ ประตู ที่หน้าพระวิหารระหว่างศาลาการเปรียญกับโรงเรียนมีต้นโพธิลังกา
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ นำมาปลูกเอาไว้ ๑ ต้น พระธรรมเจดีย์เจ้าอาวาสปลูกไว้อีก
๑ ต้น
พระอารามหลวงแห่งนี้มีปูชนียวัตถุที่ดีเด่น และสำคัญยิ่งคือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร
ซึ่งนำมาจากกรุงสุโขทัย มหาชนจึงเรียกว่า หลวงพ่อพระร่วง
หรือเรียกกันจนติดปากว่า หลวงพ่อร่วง เป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัย ขนาดหน้าตัก
กว้าง ๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๑ วา ๓ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว องค์พระเป็นโลหะทอง
มีรอยต่อ ๙ แห่ง โดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อมที่รอยต่อ ชุกชีที่ประดิษฐานยาว
๒ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ถัดจากฐานขึ้นไปเรียกว่า บัลลังก์
ทำเป็นลายดอกบัวคว่ำบังหงาย และดอกไม้เครือกระจังลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสีต่าง
ๆ อัญเชิญมาจากสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓
หลวงพ่อร่วง เป็นพระพุทธรูปที่มีคุณลักษณะดีพิเศษหลายอย่างคือ
ประการที่ ๑ ดีทางศิลปะ มีพุทธลักษณะงดงามมาก พระพักตร์อิ่มเอิบ มองดูแล้วเหมือนยิ้มนิด
ๆ เป็นเหตุให้ชุ่มชื่นใจแก่ผู้ได้เข้ามาชมมานมัสการ นิ้วพระหัตถ์เรียวงาม
ทั้งองค์มีรอยต่ออยู่ ๙ แห่ง เป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าตามความนิยม ส่วนสัดขององค์พระไม่มีที่ไหนบกพร่องที่น่าตำหนิ
ยากที่จะหาช่างสมัยนี้สร้างทัดเทียมได้ ไม่ทราบอายุเอาแค่มาประดิษฐานอยู่ที่วัดมหรรณพ์ก็เป็นเวลานานถึง
๑๕๖ ปีแล้ว (พ.ศ.๒๕๔๙) หากนับย้อนไปถึงอดีตของกรุงสุโขทัยก็นานนับได้หลายร้อยปี
ประการที่ ๒ ดีทางด้านวัตถุ พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยเชียงแสน สุโขทัย มักสร้างด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์
หรือมีเนื้อทองคำปนอยู่ ในสมัยที่ชาวกรุงเทพ ฯ ฮือฮากันว่าพบพระพุทธรูปเนื้อทองคำที่วัดโน้นวัดนี้หรือเช่นที่วัดไตรมิตร
ก็มีผู้คนมารบเร้าขอให้ทางวัดรอกรักและทองที่ปิดอยู่ที่องค์พระร่วงออก เพื่อพิสูจน์ดูเพราะเห็นว่า
องค์พระร่วงก็เป็นพระรุ่นเดียวกันกับพระที่พบมีเนื้อทอง ทางวัดจึงลอกทอง และรักออกดูตรงพระอุระเบื้องขวา
กว้างยาวประมาณ ๑ ศอก ปรากฎว่าเป็นสีทองเหลืองอร่ามดุจทองคำ จึงขอให้เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาพิสูจน์
ก็ลงความเห็นว่าเป็นเนื้อทองคำประมาณ ๖๐ การเปิดพระอุระเพื่อพิสูงน์เนื้อทอง
ได้เปิดทิ้งไว้ให้ประชาชนได้ชมอยู่ระยะหนึ่ง ต่อจากนั้นทางวัดก็จัดการลงรักปิดทองไว้ตามรูปเดิม
ประการที่ ๓ ดีทางศักิด์สิทธิ์ หลวงพ่อร่วงเป็นที่พึ่งทางใจแก่ชาวไทยและชาวจีนมิใช่น้อย
ปัดเป่าความทุกข์ให้แก่ผู้มากราบไหว้ขอพร มาบนบาน ได้ดีจนเลื่องลือไปทั่ว
การที่ผู้คนมากราบไหว้บนบานแล้วประสบความสำเร็จ ท่านเจ้าคุณพระศรีธรรมเมธี
เจ้าอาวาสท่านได้เขียนไว้ว่า "...จะด้วยเหตุบังเอิญหรือด้วยบุญวาสนาของผู้บนบานเองหรือด้วยพุทธานุภาพอันเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระร่วงก็เหลือเดา
การบนบานนั้น ๆ จึงมักจะสำเร็จผลตามความประสงค์เป็นส่วนมาก จึงทำให้ผู้นิยมนับถือท่านมากทั้งชาวไทยและชาวจีน
..." เดิมทางวัดไม่ได้เปิดพระวิหารให้คนเข้ามานมัสการ ได้แต่ยืนไหว้กันอยู่ที่หน้าประตูวิหาร
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทางวัดได้เปิดให้คนเข้ามานมัสการภายในพระวิหารได้ทุกวันเวลา
ผมจำเวลาไม่ได้แน่นอน คงระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ - ๑๗.๐๐
การไปบูชาพระร่วง เมื่อเข้าไปในวัดแล้วตรงไปยังพระวิหาร ทางงด้านหน้าทางขวามีเจ้าแม่กวนอิมยืนอยู่
เข้าประตูซ้ายจะพบธูปเทียนทองดอกไม้สำหรับบูชา การทำบุญที่วัดมหรรณพ์ ทุกจุดทำตามศรัทธาทั้งสิ้น
ตั้งตู้ไว้ให้หยอดปัจจัยเท่าไรไม่บังคับ หายากที่วัดจะทำดังนี้ ส่วนมากเห็นแต่ให้พ่อค้าแม่ค้ารับช่วงไปเก็บสตางค์
ตามใจชอบมากกว่าตามศรัทธา การจุดธูปเทียนบูชาต้องออกมาหน้าพระวิหาร มีแท่นบูชา
และคาถาบูชาหลวงพ่อพระร่วง ส่วนทองนั้นนำมาปิดที่ด้านหน้าของหลวงพ่อ ไม่ใช่องค์หลวงพ่อ
ด้านหน้ามีพระพุทธรูปมีพระสังข์กัจจายน์ มีสมเด็จโตและหลวงพ่อทวด ประดิษฐานอยู่ให้ปิดทองได้
ทางด้านซ้ายเช่นกันมีโต๊ะตั้งเครื่องบนบาน บนหลวงพ่อร่วงต้องบนด้วยว่าวจุฬา
ตะกร้อ และผ้าห่ม ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมต้องบนด้วย ๓ สิ่งนี้ วัดเลยจัดเอาไว้ให้พร้อม
เราไม่บนบาน เราเอาไปถวายหน้าหลวงพ่อเลยก็ได้ หรือบนบานแล้วสำเร็จแล้ว ก็กลับมานำไปถวายหลวงพ่อ
ไม่มีราคาหยอดตู้ตามศรัทธา ภายในพระวิหารมีพระสงฆ์ ๒ - ๓ รูป ดูแลอยู่ และทางด้านขวามีอาสนะให้พระสงฆ์นั่ง
เพื่อรับสังฆทาน ถังสังฆทานตั้งอยู่ด้านนอกหน้าประตูทางขวา ไปหยิบมาหยอดตู้ตามศรัทธา
หากเราไปก่อนเพล ซื้ออาหารไปถวายด้วย หรือจัดปิ่นโตใส่อาหารมาถวายยิ่งดี เพราะวันที่ไปครั้งหลังเห็นพระท่านนั่งฉันในพระวิหาร
คงจะเป็นอาหารที่ท่านรับบิณฑบาตรมาจากตอนเช้า ไหว้หลวงพ่อร่วงขอพร หรือจะบนบานท่าน
ถวายถาดตะกร้อ ว่าว ผ้าห่ม ถวายสังฆทาน อย่าลืมหยอดตู้ตามศรัทธา และให้เหมาะให้ควร
ไม่ใช่ถวายสังฆทาน ๒๐ บาท มีซองวางไว้ให้ เวลาถวายสังฆทาน ก็เอาปัจจัยใส่ซองถวายพระสงฆ์ต่างหากด้วย
ส่วนถวายวัดก็หยอดตามตู้
เมื่อเข้าประตูวัดมา ทางขวามือจะพบพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ ประทับยืน ซึ่งมีความเป็นมาคือ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงเพื่อสามัญชนทั่วไปเป็นแห่งแรกขึ้น
ณ วัดมหรรณพาราม มีชื่อว่า โรงเรียนวัดมหรรณพ์
เป็นการพระราชทานการศึกษาออกสู่ปวงชนเป็นครั้งแรก การศึกษาของชาติจึงเจริญออกไปทั่วประเทศ
ตราบเท่าทุกวันนี้ โรงเรียนวัดมหรรณพ์ จึงเป็นโรงเรียนหลวง
หรือโรงเรียนรัฐบาลเป็นแห่งแรก
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ทางกรรมการการศึกษา คณะครูอาจารย์ของโรงเรียนวัดมหรรณพ์
จึงดำริว่าเป็นปีมงคลที่โรงเรียนวัดมหรรณพ์ ได้ตั้งมาครบร้อยปี และการศึกษาของชาติที่ได้รับพระราชทานออกมาถึงประชาชนก็ครบร้อยปีเช่นเดียวกัน
ฉนั้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
และเฉลิมฉลองการสถาปนา จึงสมควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น เพื่อสักการะบูชาในบริเวณโรงเรียนวัดมหรรณพ์
และมีการจัดตั้งมูลนิธิปิยมหาราชานุสรณ์ เพื่อสนับสนุนการศึกษาของชาติต่อไป
ศาลเจ้าพ่อเสือ
ที่คนจีนนิยมมากราบไหว้กันมากยิ่งกว่าคนไทย จนนึกกันว่าเป็นเสือเทพของจีน
และอยู่ในมงคลสถานเก้าแห่ง ที่จะไปตระเวนไหว้ในวันเดียว จึงจะเกิดมงคล ความจริงแล้วเจ้าพ่อเสือเป็นเสือจริง
ๆ แต่ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมกลายเป็นศาลที่คนจีนดูแล
ลองดูจากประวัติที่เกี่ยวข้องกับการสร้างวัดมหรรณพ์ และศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งก็อยู่เยื้อง
ๆ กับวัดมหรรณพ์ สถานที่เมื่อเริ่มสร้างวัดนั้นแม้จะใกล้พระบรมมหาราชวัง แต่ทางด้านหลังวัดมหรรณพ์ก็ยังเป็นป่า
มีสัตว์อาศัยอยู่พวกเสือปลา เสือบอง อีเห็น กระต่าย งูเหลือม งูหลาม เป็นต้น
มีหมู่บ้านเล็ก ๆ ชาวบ้านยากจน มีครอบครัวของยายผ่องกับนายสอนบุตรชาย นายสอนเข้าป่าเพื่อหาหน่อไม้
เก็บผักหักฟืนเช่นที่เคยปฏิบัติมา ปรากฎว่าสถานที่เคยเก็บผัก ตัดฟืน ไม่มีเลยและพรุ่งนี้ก็จะต้องเผาถ่านด้วย
เมื่อเดินไปเห็นซากกวางตายอยู่ เพิ่งตายใหม่ ๆ ลักษณะถูกเสือกัดตาย กินเนื้อยังไม่หมด
ความที่กลัวแม่จะอดจึงตัดเอาเนื้อกวางที่โคนขาไปสองก้อน แล้วเดินเลาะขอบหนองจะไปเก็บสายบัว
ก็ประจันหน้าเข้ากับเสือใหญ่ นายสอนชักมีดออกเตรียมสู้เพราะหนีไม่ทัน เสือโดดเข้าตะปบ
นายสอนแทงถูกที่ต้นคอ เสือเผ่นเข้าใส่อีกคราวนี้แทงถูกแสกหน้า เสือยิ่งโกรธเพราะเจ็บเข้าแล้วโจนใส่นายสอน
กัดจนแขนขาดติดปาก นายสอนโดดหนีลงน้ำ เสือไม่ตามลงไป แต่กลับไปกินแขนนายสอน
แล้วก็เดินกลับไปกินกวาง นายสอนรีบพยายามกลับบ้าน ไปได้แค่ประตูบ้านก็ล้มสลบ
ข้างยายแผ้วน้องยายผ่องเห็นยายผ่องร้องไห้ เพะราะห่วงที่ลูกชายคนเดียวหายไปตลอดคืน
เอาข้าวต้มมาให้มาพบนายสอนนอนอยู่ริมรั้ว จึงรีบบอกยายผ่อง แล้วให้ชาวบ้านมาช่วยกันหามไปรักษา
นายสอนฟื้นเอาเนื้อกวางให้แม่เล่าเรื่องให้ฟัง แต่ทนพิษบาดแผลไม่ไหวก็ตายในเวลาต่อมา
ยายผ่องจึงร้องขอชีวิตเสือ และจะเอาเสือไปเลี้ยงเป็นลูกแทนนายสอนที่ตายไปแล้ว
นายอำเภอก็สงสารเสือเลยรีบตัดสินใหม่ ยกโทษประหารให้ แต่เจ้าต้องไปเป็นลูกยายผ่อง
และต้องรับเลี้ยงดูยายผ่อง แทนลูกของแกที่ตายไปแล้ว เสือก็ลุกขึ้นยืนพยักหน้ารับหลายครั้ง
ยายผ่องก็จูงเสือกลับบ้าน เสือก็เข้าป่าหาอาหาร เอาหมูป่า เก้ง กวาง
และสัตว์อื่น ๆ มาให้ยายผ่องกินและเอาไปขาย และพวกหัวขโมยในหมู่บ้านก็กลัวเสือ
ไม่กล้าเข้ามาในหมู่บ้านยามวิกาล
เสือเคยหายไปจากบ้าน ๓ วัน ยายผ่องร้องไห้ไม่เลิก นายอำเภอกับปลัดโตมาเยี่ยม
ปลัดโตจึงรับอาสานายอำเภอออกตามเสือให้ ปลัดโตตามไปในป่า พบกลุ่มคนเป็นพวกเดียวกัน
กำลังล่าสัตว์ถามปลัดโตว่า มาทำไมในป่าคนเดียว ปลัดโตบอกว่ามาตามเสือพวกนั้นบอกว่ากำลังล้อมยิงเสือ
ปลัดโตจึงขอร้องไม่ให้ยิงเสือตัวนี้ เมื่อพวกนักล่ารับปากไม่ล่าเสือตัวนี้
ปลัดก็ออกตามและตะโกนเรียกชื่อเสือ บอกกับเสือว่า ให้รีบกลับบ้านยายผ่องกำลังเสียใจมากที่เสือหายไป
เสือก็กลับไปหายายผ่อง เอาหัววางที่เท้า ยายผ่องก็เอามือลูบหัวเสือ เสืออยู่กับยายผ่อง
๗ ปี ยายผ่องก็ตาย ชาวบ้านก็ช่วยกันเอาฟืนมากอง และชาวบ้านมาช่วยกันมากเป็นเชิงตะกอนเตี้ย
ๆ แต่กองฟืนโตมากจนเป็นกองไฟ กองใหญ่ระหว่างไฟลุกโหมเต็มที่ เสือก็ส่งเสียงร้อง
และวิ่งรอบกองไฟหลายรอบ ในที่สุดเสือก็กระโจนเข้าสู่กองไฟ ดิ้นทุรนทุรายตายตามแม่คือ
ยายผ่องไป นายอำเภอ และปลัดโตพร้อมด้วยชาวบ้าน ซึ้งในความกตัญญูของเสือ ที่มีดวงจิตสูงส่งเป็นอัจฉริยจิต
สถิตด้วยแสงธรรม จึงสร้างศาลประดิษฐรูปเสือใกล้ ๆ บริเวณหน้าวัดมหรรณพ์ เอากระดูกเสือบรรจุในแท่นปั้นรูป
ประดิษฐานบนแท่นอย่างสง่าน่าเกรงขาม อัญเชิญดวงวิญญาณเสือ ขอให้มาเป็นเทพเจ้าสิงสถิต
ณ ศาลวิมานทองแห่งนี้ แล้วติดป้ายไว้ที่หน้าศาลว่า ศาลเจ้าพ่อเสือ
ถนนตะนาวยกย่องให้เป็นถนนอาหารได้ เพราะมีร้านอาหารที่ควรแก่การชวนชิมหลายร้าย
เมื่อก่อนนี้ยกย่องกันว่า หมี่กรอบวัดมหรรณพ์ ร้านอยู่ก่อนถึงวัด แต่ยังมีอีกร้านที่เก่าแก่ขายมานานร่วมแปดสิบปี
แต่ความดังไม่เท่าข้าวเหนียวมูล ที่อยู่ตรงข้ามแพร่งภูธร
(ร้านกุ๊กสมเด็จ) มีวงเล็บเอาไว้ด้วย น่าจะเป็นสมเด็จที่สร้างวังไว้ตรงแพร่งสรรพศาสตร์
ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่ประตูวัง และคงจะเป็นพระองค์เดียวกับที่สร้างวัดมหรรณพ์
แต่กุ๊กสมเด็จคงจะเรียบร้อยไปนานแล้ว ทิ้งไว้แต่มรดกในฝีมือที่เลอเลิศในการทำอาหาร
ผมกินอาหารร้านนี้ครั้งแรก ตั้งแต่ยังไม่รู้จักว่าแอร์เป็นอย่างไร คือ ตอนที่จะไปรบเวียดนามเมื่อก่อนไป
พ.ศ.๒๕๑๑ ต้องไปติดต่อราชการบ่อย ๆ ที่กระทรวงกลาโหม ร้านนี้มีอาหารอร่อยทั้งไทย
จีน และฝรั่ง เส้นทางถนนตะนาวพอเลยศาลเจ้าพ่อเสือไป เลยแพร่งสรรพศาสตร์
เยื้องกับแพร่งภูธร
คือ ร้านข้าวเหนียวชื่อดัง เลยร้านข้าวเหนียว ก. ไปสัก ๑๐ เมตร ฝั่งเดียวกันคือร้านกุ๊กสมเด็จ
จานเด็ดต้องสั่ง อาหารเก่าแก่คือ หมี่กรอบ อมเปรี้ยวนิด ๆ หวานหน่อย เส้นละเอียดกรอบ
ปลากะพงผัดพริกไทดำ ปลาชิ้นโต ไร้ก้าง เผ็ดนิด เผ็ดอร่อยต้องกินกับข้าวสวยร้อน
ๆ
ไข่เจียวตะไคร้ เอามาแนมกับผัดปลากะพง หอมกลิ่นตะไคร้
ข้าวสามสี สามสีเพราะข้าวสามอย่างคือ ข้าวหมกสีเหลืออ่อน ข้าวผัดซ๊อส
ลูกเกดุสีชมพู ข้าวผัดผงกะหรี่สีเหลือง ทุกข้าวกลิ่นหมอกรุ่น กองมา ๓ กอง
ในถาดเดียวกัน
แกงจืดลูกรอก ซดร้อน ๆ เมื่อตักข้าวเข้าปากไปแล้ว
พงส์วารีทีละคำ เป็นจานแนะนำที่ควรสั่ง จานนี้น่ากิน มองดูก็เดาได้ว่าอร่อย
เพราะเอาปลาทอดเป็นชิ้นพอคำ ไม่ได้ถามว่าปลาอะไร แล้วคลุมด้วย (น่าจะ)
ผักคะน้าหั่นฝอยทอดกรอบ สวยสดด้วยการเอากะทิราดมาเป็นหย่อม ๆ เหมือนเอาองุ่น
หรือไข่เค็มวางประดับมาข้างบนใบผักทอด ต้องกินพร้อมกับปลา ผัก กะทิที่ราดมาข้างบน
อร่อยอย่าบอกใคร
....................................
|