ประเทศไทย อยู่ในที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่ดีเหมาะแก่การเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของอาเซียน ทั้งฮับทางด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การคมนาคม-ขนส่ง การศึกษา ฯลฯ เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นฮับในทุกๆ ด้านก็ว่าได้ แต่หากเราไม่มีระบบโครงข่ายการคมนาคม-ขนส่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับเชื่อมโยงประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าด้วยกัน เราก็อาจสูญเสียฮับให้ประเทศอื่นได้ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศลาวก็ออกมาประกาศว่าพร้อมที่จะเป็นฮับทางด้านลอจิสติกส์ในอาเซียน และพร้อมเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง
“ดร.จุฬา สุขมานพ” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ถึงโครงการที่จะรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่ง สนข.ศึกษาออกเป็น 4 ด้าน คือ 1.การปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่ง ณ ประตูการค้า หรือ Gateway เช่น ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ด่านชายแดน เป็นต้น ให้สามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเปิดเสรีอาเซียนและเชื่อมต่อกับภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปิดเสรี AEC 3 แนวทาง คือ ทางถนน ทางราง และพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างเมืองในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน 3.พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ และ 4.พัฒนาด้านกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ
สำหรับโครงการที่จะรองรับ AEC นั้นมีหลายโครงการ เช่น
1.โครงการการขยายช่องจราจรบนโครงข่ายทางหลวงอาเซียนให้เป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งเดิมมีทั้งหมด 6,693 กม.ปัจจุบันพบว่ามีบางช่วงที่เป็นคอขวด (2 ช่องจราจร) คือ ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงอ.แม่สอด-อ.เมือง จ.ตาก-จ.สุโขทัย และช่วง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก-อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น และช่วงอ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ฯลฯ ซึ่งจะมีการขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายคมนาคมให้สามารถรองรับการเดินทาง การขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 40,000 ล้านบาท
2.ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ เพื่อรองรับการเดินทางสู่เมืองหลักและการขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ทั้งหมด 5 สาย ระยะทางรวม 710 กม. วงเงินงบประมาณ 200,000 กว่าล้านบาท ให้แล้วเสร็จในปี 2563 ทั้งนี้มอเตอร์เวย์ 5 สายประกอบด้วย 1.สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 69,100 ล้านบาท 2.สายชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 89 กม. วงเงิน 14,895 ล้านบาท 3.สายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 45,886 ล้านบาท 4.สายนครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ ระยะทาง 118 กม.วงเงิน 38,290 ล้านบาท และ 5.สายบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 206 กม. วงเงิน 32,380 ล้านบาท โดย 2 สายที่มีความพร้อมที่สุดคือ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด
3.การก่อสร้างรถไฟรางคู่ หรือทางคู่ เนื่องจากต่อไปการขนส่งทางรางจะเข้ามามีบทบาทในการขนส่งมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางถนน ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง ที่มีประสิทธิภาพ ตรงต่อเวลา มารองรับการเดินทางทั้งขนคนและสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งหมด 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 873 กม.วงเงิน 71,351 ล้านบาท ให้เสร็จภายในปี 2559 ได้แก่ สายประจวบฯ-ชุมพร,สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, สายฉะเชิงเทรา-คลองเก้า-แก่นคอย, สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน, สายมาบกะเบา-ชุมทาง ถนนจิระ และสายลพบุรี-ปากน้ำโพ
นอกจากนี้ยังมีการเร่งรัดพัฒนาทางรถไฟสายใหม่เชื่อมโยงพื้นที่ตอนในของประเทศกับพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน ด่านการค้าที่สำคัญของประเทศ เช่นเส้นทางสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-มุกดาหาร และเส้นทางอรัญประเทศ-ปอยเปต และปรับปรุงทางรถไฟทางเดี่ยวที่เชื่อมท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นรางคู่และพัฒนาย่านรถไฟท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ระหว่างไอซีดีลาดกระบังกับท่าเรือแหลมฉบังให้สูงขึ้น
4.การพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าประเทศในภูมิภาคอาเซียนกับตลาดตะวันตก เช่น เอเชียใต้ แอฟริกา และยุโรป เป็นเส้นทางลัดลอจิสติกส์เส้นทางใหม่ของภูมิภาค โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้การขนส่งระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองเชนไนเดิมที่ต้องผ่านสิงคโปร์ใช้เวลา 6 วัน หากมีท่าเรือทวายจะลดลงเหลือ 3 วัน และการขนส่งระหว่างกรุงเทพฯกับยุโรปเหลือ 7 วัน หากโครงการนี้สำเร็จจะเกิดความสะดวก ประหยัดอย่างมาก เพราะจะช่วยร่นระยะทางจากท่าเรือทวาย-แหลมฉบัง-โฮจิมินห์ 1,304 กม. แต่เส้นทางนี้ยังมี Missing link ทางรถไฟอยู่ประมาณ 667 กม.
5.การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงโครงข่ายเมืองหลักไปสู่ภูมิภาคของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันการเดินทางระหว่างจังหวัดส่วนใหญ่ร้อยละ 59 ยังใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนการเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะมีเพียงร้อยละ 41 ของผู้เดินทางทั้งหมด ฉะนั้นการจัดวางยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลักในแต่ละภูมิภาคของประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งยังสามารถลดต้นทุนภาคการขนส่งของประเทศด้วย ประกอบด้วย
5.1 โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเชื่อมโยงเมืองหลัก เมื่อเศรษฐกิจชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแผนแม่บทในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของ สนข.มีทั้งหมด 4 เส้นทาง คือ สาย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 615 กม., กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กม., กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 211 กม.และ สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กม.
5.2 ปรับปรุงการใช้ประโยชน์พื้นที่ใช้สอยอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสาร ในเมืองหลัก และเมืองเศรษฐกิจชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการแยกพื้นที่สำหรับผู้โดยสารให้ชัดเจน ติดเครื่องปรับอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่รอขึ้นรถ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการ
5.3 โครงการก่อสร้างสถานีเชื่อมต่อการเดินทางขนส่งผู้โดยสารสาธารณะในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการเดินทางให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
6.การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมต่อด้านการท่องเที่ยว นี่ก็เป็นโครงการหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเสรีอาเซียนภาคบริการท่องเที่ยว รัฐบาลมีแนวคิดและนโยบายกำหนดบทบาทของเมืองหลักและเมืองรองในแต่ละภูมิภาคตามแนวระเบียบเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) และจากตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC)–จบ–
ที่มา : สยามธุรกิจฉบับวันที่ 26 – 28 ธ.ค.2555