เข้าหน้าฝนหลายคนอาจจะนั่งกร่อย เดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก ได้แค่มองออกนอกหน้าต่าง แต่ใต้ฟ้าช่วงหน้าฝนแห่งนี้เองมีเรื่องมหัศจรรย์อีกมากมายรอให้สัมผัส
ใครจะรู้บ้างว่า หลังจากเม็ดฝนที่โปรยปรายไปแล้ว จะเนรมิตความสดชื่นของท้องฟ้า สายน้ำ ผืนป่า และพืชพรรณ ให้สวยงามมากขึ้น ดังนั้นข้ออ้างหน้าฝนจึงไม่ใช่อุปสรรคสำคัญของผู้ที่หลงรักการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ จ.เลย นั้นมีมุมมองแตกต่างไปจากการท่องเที่ยวในแบบเดิมๆ
“พี่จิ๋ม” หรือ คุณพัฒน์มาศ วงศ์พัฒนศิริ ผอ.ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. กล่าวว่า จ.เลย ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสีเขียว เพราะมีความโดดเด่นคือเป็นเมืองเกษตร โดยเฉพาะในเรื่องการทำนาบริเวณที่ราบและขั้นบันได เมื่อมองไปทางไหนก็จะมีแต่สีเขียวทั้งสิ้น
“ฤดูฝนของที่นี่จะมีเสน่ห์ พื้นที่เขียวขจีเต็มไปด้วยทะเลหมอก หรือจะไปบริเวณริมน้ำโขง บริเวณแก่งคุดคู้ บริเวณด่านซ้าย นาแห้ว นาด้วง เป็นพื้นที่บริสุทธิ์ เมื่อฝนตกจะมีความสวยงามมาก คนกรุงเทพฯ จะไม่ทราบเลยว่ากลิ่นดินเป็นเช่นไร เสียงนกร้องเป็นอย่างไร หากไม่มาที่นี่” ผอ.ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าว และว่า หรือใครจะเลือกเดินป่าก็เตรียมตัวแบกเป้เข้าป่าอีกครั้งได้เลย ไปชมความงามของธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีชื่อเสียงเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืช โดยเฉพาะไม้ดอกและกล้วยไม้มีมากกว่าที่ใดๆ อีกทั้งยังมีกุหลาบขาวให้ชม
แต่ด้วยเหตุสถานที่แห่งนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การที่จะมาเยือนนั้นต้องได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ก่อน เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูหลวง เมื่อเข้ามาได้แล้วยังมีเส้นทางเดินต่อเนื่องกัน นักท่องเที่ยวจะได้เดินผ่านป่าดงดิบ ลำห้วย ป่าสนสามใบ และทุ่งดอกไม้สลับทุ่งหญ้าหลายชนิด
“พี่จิ๋ม” บอกว่า เมื่อได้สัมผัสกลิ่นดินหลังฝนตกแล้วก็อย่าลืมไปเที่ยวสถานที่ไฮไลต์ของเมืองเลย คือเมืองเชียงคาน เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในสายตาของนักท่องเที่ยว เป็นชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาได้ยาวนานกว่า 100 ปี มีความเงียบสงบ บรรยากาศดี และยังคงความเป็นเอกลักษณ์ แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่มากจน เกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน
“ผู้คนที่เชียงคานก็เป็นมิตร อัธยาศัยดี และการไปเที่ยวที่เชียงคานก็ไม่แพงจนเกินกำลัง แต่เนื่องจากขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น อาจส่งผลให้เชียงคานอาจเปลี่ยนแปลงไป หากทุกคนไม่ช่วยรักษาเอกลักษณ์ การดำรงวิถีชีวิตในแบบของเชียงคาน” คุณพัฒน์มาศกล่าว และว่า การคมนาคมนอกจากเรือแล้ว คนที่นี่จะใช้จักรยานเป็นยานพาหนะยอดฮิต เราสามารถเห็นจักรยานรุ่นเก่าจอดเรียงอยู่หน้าบ้าน แถวเชียงคานอยู่ทั่วไป ส่วนการอยู่อาศัยคนที่นี่จะอยู่บ้านเรือนทรงไทยโบราณเกือบร้อยปี หากใครมีฐานะก็จะมีระเบียงหน้าบ้าน คนจนหน่อยก็มีแค่หน้าต่างเท่านั้น อาหารการกินส่วนใหญ่เป็นจำพวกปลาต่างๆ จากแหล่งน้ำโขงนั่นเอง
“พี่จิ๋ม” กล่าวว่า ททท. จ.เลย ได้จับมือกับประชาคมในพื้นที่ อาทิ จังหวัดเลย เทศบาล อำเภอ เชียงคาน และผู้ประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ โดยรณรงค์ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมกับจับมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ส่งเสริมให้มีการแยกขยะอย่างไร ทำบ่อดักไขมันอย่างไร เป็นต้น
รวมทั้งส่งเสริมให้ชาวเชียงคานเป็นเจ้าบ้านที่ดี และทำการตลาดให้ถูกทิศทาง พร้อมทั้งทำแผนที่เส้นทางจักรยานเลียบแม่น้ำโขงไปเยี่ยมชมจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ พร้อมทั้งในอนาคตจะมีแผ่นพับสำหรับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวอีกด้วย
“คุณพัฒน์มาศ” กล่าวว่า ทางด้านวัฒนธรรม จะมีการใส่บาตรข้าวเหนียวในยามเช้า พระสงฆ์จะเดินบินฑบาตกันแต่เช้ามืดประมาณ 6 โมงเช้า โดย ททท. จ.เลย ได้ส่งเสริมประเพณี ตักบาตรข้าวเหนียวให้ถูกวิธี และห้ามไปปะปนกับกับข้าว อย่างเช่นการตักบาตรข้าวเหนียวในหลวงพระบาง ประเทศลาว ที่มีความโด่งดังไปทั่วโลก เพราะเขามีการอนุรักษ์วัฒนธรรมและให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวตลอดเวลา โดยหากตักบาตรต้องนุ่งซิ่น จกข้าวเหนียวอย่างเดียว ดังนั้น เราจะต้องรักษาสิ่งเหล่านั้นให้อยู่ในเชียงคานไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบต่อไป
“เราต้องพยายามตอกย้ำคนที่ไปเที่ยว และชาวเชียงคานจะต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และไม่ต้องไปเกรงใจนักท่องเที่ยว เมื่อนั้นพวกเขาจะเคารพกติกาของคนในพื้นที่ จะได้เที่ยวเป็น ไม่ทำลายวัฒนธรรม และเข้าใจพื้นที่นี้ ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เช่น เมืองปาย ปางอุ๋ง หรือเมืองน่าน เป็นต้น” พี่จิ๋มกล่าวทิ้งท้าย
จ.เลย ถือเป็นต้นแบบ “7 Green Concept” ตามแนวคิดของ ททท. ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และผู้ประกอบการในพื้นที่ ต่างเข้ามาร่วมสร้างอนาคตให้แก่การท่องเที่ยวแบบใหม่ เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรักษาอัตลักษณ์ชุมชนได้อย่างสมดุล โดยเลือกใช้วิธีที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง
สำหรับเส้นทางมาเมืองเลย ทางรถยนต์ เส้นทางที่ 1: จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านตัวเมืองสระบุรี ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 203 ผ่านอำเภอหล่มสัก หล่มเก่า เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ ถึงตัวเมืองเลยใช้เวลาเดินทางประมาณ 7-8 ชั่วโมง
เส้นทางที่ 2: จากสระบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดขอนแก่น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 201 เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง ถึงตัวเมืองเลยได้เช่นเดียวกัน
หรือจะมารถทัวร์ ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-เลย ทุกวัน ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง รายละเอียดสอบถามที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 โทร. 0-2936-2852-66 www.transport.co.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ ททท. สำนักงานเลย โทร. 0-4281-2812
สรณะ รายงาน
ขอขอบคุณ http://www.thaipost.net