มวยไทยแรง!?! ต่างชาติฮิต เที่ยวเมืองไทย ดูมวยไทย…เรียนมวยไทย

0
ชาวต่างชาติยังคงสนใจมวยไทย

มวยไทย…มรดกไทย มรดกโลก 

วันนี้กระแสมวยไทย ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอันภาคภูมิใจของคนไทยยังคงแรงอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นแม่เหล็กชั้นดีดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมากให้เข้ามาในเมืองไทย

พวกเขานอกจากจะเข้ามาท่องเที่ยวชื่นชมความสวยงามของเมืองไทยแล้ว หลายคนยังต้องการดูนักมวยไทยชกกันแบบจะจะเต็มสองตาในสนามมวย ขณะที่อีกหลายคนมีความต้องการลึกไปกว่านั้น คือต้องการมาสัมผัสเรียนรู้มวยไทยแบบให้ถึงแก่นด้วยการสมัครเรียนมวยไทย ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ตามค่ายมวยต่างๆ อีกด้วย ซึ่งก็มีทั้งด้านบวกลบต่อแวดวงมวยไทยในบ้านเรา

สามารถ พยัคฆ์อรุณ ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักมวย

สามารถ พยัคฆ์อรุณ อดีตนักมวยไทยชื่อดังเจ้าของฉายา “เพชฌฆาตหน้าหยก” ที่ปัจจุบันหันมาเปิดโรงเรียนสอนมวยไทยของตัวเองในชื่อโรงเรียนสอนมวยไทยสามารถ พยัคฆ์อรุณ กล่าวว่า มวยไทยเป็นศิลปะ เป็นการต่อสู้มือเปล่าที่สามารถทำร้ายคู่ต่อสู้ได้ ดูเหมือนอ่อนช้อยแต่อาวุธรุนแรง ซึ่งชาวต่างชาติแม้จะเรียนมาหมดแล้วทั้งเทควันโด ยูโด คาราเต้ กังฟู แต่สุดท้ายก็ต้องมาจบที่มวยไทย ดังนั้นการขยายของค่ายมวยเพื่อรับชาวต่างชาติจึงเยอะตามไปด้วย

“ใครๆ ก็อยากเปิดค่ายมวยเพื่อรองรับชาวต่างชาติ คนพวกนี้หากจะมาเรียนมวยไทยจริงๆ ก็ต้องมาเรียนที่เมืองไทย เพราะถ้าเรียนกับฝรั่งที่บ้านเขามันไม่ได้เรียนกับต้นตำรับจริงๆ บางทีมาเรียนแล้วกลับไปสอน
(ที่บ้านของเขา) พวกนี้แม้จะมาเรียนนิดๆ หน่อยๆ ต่อยครั้งสองครั้ง ถ่ายรูปกลับไปบ้านเขาก็ไปเปิดยิมได้แล้ว” สามารถกล่าวด้วยสำเนียงเหน่ออันเป็นเอกลักษณ์

ปัญญา ไกรทัศน์

ส่วน ปัญญา ไกรทัศน์ หัวหน้ากลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมการท่องเที่ยว ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการมวยไทยมานานหลายสิบปี เปิดเผยว่า ค่ายมวยไทยสำหรับคนต่างชาติในปัจจุบันมีมากขึ้น โดยปัญญาได้แบ่งแยกไว้เป็น 3 ลักษณะด้วยกัน

ประเภทแรกคือ ค่ายมวยที่เปิดสอนต่างชาติที่เข้ามาเพื่อฝึกซ้อมมวยไทยจริงๆ โดยชาวต่างชาติเหล่านี้จะซ้อมอย่างจริงจัง ไม่ออกไปไหน เรียนและซ้อมมวยเพียงอย่างเดียว เวลาเรียนก็จะให้เพื่อนถ่ายรูปไว้ให้ จากนั้นเมื่อเรียนเสร็จแล้วก็จะบันทึกไว้ว่าแต่ละวันได้ทำอะไรไปบ้าง เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานนำไปต่อยอดเมื่อกลับประเทศ

ไหว้ครูมวยไทย

ประเภทที่สอง เป็นค่ายที่เปิดรับชาวต่างชาติแบบฉาบฉวย เช่นมีทัวร์ต่างชาติมาลง ก็ให้มาลองเตะกระสอบทราย ตั้งท่าถ่ายรูป เมื่อได้รูปกลับไปก็สามารถนำไปอวดเพื่อนๆ ญาติพี่น้องในประเทศของเขาได้ว่า ได้มาเรียนมวยไทยที่เมืองไทยแล้ว

ส่วนประเภทสุดท้าย คือค่ายมวยที่เปิดเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยวและมาพักอยู่นานๆ เนื่องจากต่างชาติหลายคนที่มาอยู่เมืองไทยนานๆ ราคาที่พักจะสูงตามไปด้วย ดังนั้นจึงมีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งนิยมมาพักอยู่ในค่ายมวยแทน อย่างเช่น ค่ายมวยในภูเก็ต ก็จะมีที่พักให้สะดวกสบาย มีสถานที่ให้เรียนและฝึกซ้อมทั้งเช้าเย็น ส่วนชาวต่างชาติอาจจะซ้อมบ้างไม่ซ้อมบ้าง หรือออกไปท่องเที่ยวข้างนอกมากกว่า โดยใช้ค่ายมวยเป็นที่พักแทน ก็จะประหยัดค่าที่พักได้มาก

เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจ

ขณะที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาเรียนมวยไทย ปัญญาก็ได้แบ่งเป็น 3 ประเภทเช่นกัน ประเภทแรก คือ พวกที่มาเรียนมวยไทยเพื่อกลับไปเปิดค่ายมวยที่ประเทศตัวเอง ประเภทที่สองก็คือพวกที่เรียนมวยไทยเพื่อที่จะออกกำลังกาย ประเภทที่สามเรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ คือขึ้นชกมวยเพื่อให้ตัวเองดัง พอมีชื่อเสียงก็สามารถเข้าไปเป็นซีเคียวริตี้ หรือไปเป็นการ์ด ตามผับตามบาร์ หรือตามบ่อนกาสิโนได้

ด้านค่ายมวยที่มีชาวต่างชาตินิยมมาเรียนมวยไทยเป็นจำนวนมากอย่าง“ค่าย ส.วรพิน” ที่ตั้งอยู่ย่านถนนข้าวสารนั้น “เรือนแพ ส.วรพิน”หรือ เฉลิมพล ฉัตรคำ เทรนเนอร์ของค่ายนี้กล่าวว่า ทางค่าย ส.วรพิน เปิดรับสอนมวยไทยให้กับทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะมีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนเรื่อยๆ โดยมีมาจากทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น

เรือนแพ ส.วรพิน เทรนเนอร์ของค่าย

“บางครั้งก็มีการจัดทัวร์เข้ามาเรียนมวยไทยโดยเฉพาะ อาจจะอยู่ตั้งแต่ 2-3 วัน จนถึงครึ่งเดือน ส่วนชาวต่างชาติที่พักอยู่ในละแวกถนนข้าวสารแล้วเดินผ่านมา ก็สามารถเดินเข้ามาเรียนได้เลย โดยทางค่ายจะบอกให้เข้ามาในช่วงเวลาที่มีการฝึกซ้อมคือในช่วงเช้าเวลา 07.00-09.00 น. ส่วนช่วงบ่ายเวลา 15.00-17.00 น. แต่หากอยากเรียนตัวต่อตัวก็ต้องนัดอาจารย์มาเรียนช่วงกลางวันเวลาว่าง ส่วนมากนั้นก็จะสอนพื้นฐานในการเตะ ต่อย ศอก ให้ถูกวิธีแบบมวยไทย แต่สำหรับคนที่มีเวลามาเรียนมากขึ้น ก็จะสอนแม่ไม้ และเทคนิคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น” เรือนแพ กล่าว

James Singer

ขณะที่ “James Singer” ชาวสกอตแลนด์ นักเรียนมวยไทยของค่าย ส.วรพิน ผู้มีนักมวยอย่าง “แสนชัย ซินบีมวยไทย” เป็นไอดอล เปิดเผยว่า ตนเคยอยู่ประเทศไทยประมาณ 2 ปี จากนั้นจึงกลับบ้านเกิดไป 3 ปี และเพิ่งกลับมาอยู่ที่เมืองไทยอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนการตัดสินใจมาเรียนมวยไทยเป็นเพราะตนชื่นชอบในศิลปะการต่อสู้ที่มีทั้งความเข้มแข็ง ความแข็งแรง และความสวยงาม การมาเรียนที่ประเทศไทยทำให้ได้เรียนรู้มวยไทยจากผู้ฝึกสอนจริงๆ และได้ฝึกซ้อมมวยไทยจริงๆ

ส่วนเซกัล อวีไฮ ชาวอิสราเอล วัย 32 ปี ครูฝึกโยคะที่หันมาสนใจมวยไทย และมาฝึกซ้อมที่ค่าย ส.วรพิน เปิดเผยว่า ตนได้มาเห็นมวยไทยและเกิดประทับใจ รักมวยไทยตั้งแต่เข้ามาเมืองไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว จากนั้นเมื่อมาเมืองไทยก็จะมาฝึกมวยไทยอยู่เรื่อยๆ

อบอุ่นร่างกายก่อนซ้อม

และนั่นก็คือเสน่ห์ของมวยไทยที่ชาวต่างชาติหลงใหล ที่ถือเป็นหนึ่งในแม่เหล็กกำลังแรงที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวเมืองไทย ดูมวยไทย และเรียนมวยไทยได้เป็นจำนวนไม่น้อย แต่กระนั้นแม้ศิลปะแม่ไม้มวยไทยของเราจะโด่งดังไปไกลในระดับโลกมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับมีความสนใจต่อศิลปะการป้องกันตัวประเภทนี้ในระดับค่อนข้างต่ำ ซึ่งสามารถ พยัคฆ์อรุณ ให้ความเห็นไว้ว่า คนไทยหรือเด็กไทยส่วนใหญ่จะหันไปสนใจศิลปะการต่อสู้ของชาติอื่นกันหมด อย่างเช่น เทควันโด คาราเต้ ส่วนคนที่สนใจมวยไทยหรือพ่อแม่ที่อยากให้ลูกมาเรียนมวยไทยจริงๆ นั้นก็มักหาโรงเรียนมวยมาสอนลูกไม่ได้ หากอยากให้เรียนจริงๆ จะต้องส่งลูกไปอยู่ที่ค่ายมวยเพื่อให้ไปเรียน แต่ก็จะกลัวลูกเจ็บ ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีเด็กไทยเข้ามาเรียนมวยไทยมากนัก

นอกจากนี้สามารถในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่กับมวยไทยมานาน กล่าวถึงวงการมวยไทยในยุคปัจจุบันว่า “วงการมวยไทยยังไม่พัฒนา มวยไทยบ้านเราเป็นพวกการพนันเสียมาก กรรมการตัดสินก็เลยค้านสายตาคนที่ดูมวยไม่เป็น จะตัดสินตามใจเซียน ถ้าเซียนว่าฝ่ายไหนเป็นต่อฝ่ายนั้นก็ชนะ จริงๆ ศิลปะมวยไทยหายไปเพราะเซียนด้วย กรรมการด้วย ก็อย่างทุกวันนี้ลองเตะไปซักห้าที โดนจับเหวี่ยงล้มทีเดียวแพ้เลย คือกรรมการเตือนทีเดียวแพ้เลย เพราะเซียนโห่ บ้านเรามันมีแต่ทรุดลง แต่ต่างชาติตอนนี้เขายอมรับมวยไทย น่าจะทั่วโลกแล้วครับ”

ขึ้นฝึกซ้อมบนสังเวียน

ด้าน ปัญญา ให้ทรรศนะในเรื่องนี้ว่า ถ้าถามว่าวันนี้มวยไทยตกต่ำจริงไหม ก็คงจริง โดยปัญหาส่วนหนึ่งมาจากหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งป่าวประกาศออกไปทั่วโลกว่า ขณะนี้ประเทศไทยส่งเสริมมวยไทย แต่ข้อเท็จจริงก็คือโรงเรียนต่างๆ ไม่สนอง เพราะฉะนั้นตามโรงเรียนต่างๆ จะไม่มีค่ายมวย ครูที่สอนมวยไทยก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องมวยไทย ตอนตัวเองลงวิชาเรียนพลศึกษา ก็ไม่ได้เน้นเรื่องมวยไทยเพราะกลัวเจ็บ แต่อยู่ๆ พอวันหนึ่งโรงเรียนเปิดสอนมวยไทยตัวเองก็ไปสอน ทั้งๆ ที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเรื่องมวยไทย เพราะฉะนั้นเราก็เลยกำลังทำลายมวยไทยไป

ขณะที่เรื่องของปัญหาการทำลายศิลปะแม่ไม้มวยไทย นอกจากเรื่องของการพนันที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ตัวนักมวยไม่เน้นเรื่องการใช้ศิลปะแม่ไม้มวยไทยหากแต่เน้นเรื่องการใช้กำลังกอดรัดฟัดเหวี่ยง ปล้ำตี ขณะที่กรรมการก็ให้คะแนนตามเสียงเฮของเซียนมวย ซึ่งในเรื่องนี้ปัญญาได้ให้ทัศนะว่า ปัญหาความตกต่ำของมวยไทย ส่วนหนึ่งมาจากกรรมการห้ามมวย เพราะปล่อยให้นักมวยเข้าไปกอดรัด บางทีเค้ากำลังจะได้เสียแต้มกรรมการก็ไม่รู้เรื่องเข้าไปแยก บางทีกรรมการก็ไม่ทันเกม

บนเวทีจริง

ปัญญากล่าวต่อว่า ทุกวันนี้เราให้นักมวยต่อยกันเหมือนวัวชน บางยกทั้งยกไม่ทำอะไรนอกจากกอดกัน เลยทำให้มวยไทยเสื่อมลง คนดูก็บอกว่าไม่เห็นสนุกเลย ฝรั่งบอกว่าไหนมวยไทยตื่นเต้น เห็นกอดกันทั้งยกเลย ไม่เห็นทำอะไร ฉะนั้นฝรั่งก็เบื่อ พอไปเจอ Mix Martial Arts (MMA) ที่เลือดสาดเต็มเวที มันก็ประทับใจ
อันนั้นมากกว่า

“ตอนนี้เราอย่าไปทะนงตัวว่ามวยไทยเราเก่ง ถามว่ามวยไทยในต่างประเทศไปได้ไหม ได้ ไปได้ไกล แต่คนไทยต้องไปให้ไกลกว่านี้ วันนี้เราหลงทาง หลงตัวเอง คิดว่าเราเก่ง เราแน่ มันเลยไปได้ไม่ไกล ไปได้แค่คุย” ปัญญากล่าว

สาธิตแม่ไม้มวยไทย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ค่ายมวยไทยที่มีการเปิดสอนในบ้านเรามีอยู่ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิน 1,762 ค่าย (จากการสำรวจของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) มีค่ายมวยมาตรฐานที่พร้อมรับทัวร์จำนวน 443 ค่าย แบ่งเป็น ภาคกลาง 75 ค่าย ภาคเหนือ 116 ค่าย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 147 ค่าย และภาคใต้ 105 ค่าย

สำหรับค่ายมวยไทยในต่างประเทศจำนวน 36 ประเทศ (จากการสำรวจของสถานกงสุลใหญ่และสถานเอกอัครราชทูตไทย กระทรวงการต่างประเทศ) พบว่าค่ายมวยไทยมีมากถึงประมาณ 3,869 แห่ง โดย 5 ประเทศที่มีสถานที่สอนมวยไทยมากที่สุด คือ บราซิล 1,631 แห่ง, อิหร่าน 650 แห่ง, อินเดีย 256 แห่ง, โมร็อกโก 220 แห่ง และประเทศสหรัฐอเมริกา (เฉพาะรัฐ
แคลิฟอร์เนีย รัฐเนวาดา และรัฐอิลลินอยส์)190 แห่ง

ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th

ร่วมแสดงความคิดเห็น