“ทองผาภูมิ”
อำเภอนี้ “ตะลอนเที่ยว” ยกให้เป็นหนึ่งในอำเภอที่มีชื่อ“รวย”ที่สุดในเมืองไทย ก็จะไม่ให้ชื่อรวยได้อย่างไร ในเมื่อชื่ออำเภอนี้มี”ทอง”(ผาภูมิ)ตีตราหราอยู่ ยิ่งตอนนี้ราคาทองพุ่ง ปริ่มๆบาทละ 25,000 ชื่อของอำเภอทองผาภูมิยิ่งฟังมหารวยขึ้นไปใหญ่
บ้านอีต่อง อดีตพื้นที่ทำเหมืองปิล๊อก
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีต”ทอง”แห่งอำเภอทองผาภูมิก็คือบรรดาแร่ต่างๆ ที่เป็นทรัพย์ในดินทำให้อำเภอแห่งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนร่ำรวยติดอันดับต้นๆของเมืองไทยในฐานะ“เมืองเหมือง”ที่อุดมไปด้วยเหมืองแร่ นำโดย“เหมืองปิล๊อก”(บ้านอีต่อง)อันลือลั่น
มาวันนี้แม้กิจการงานเหมืองจะเลิกราไปนานแล้ว แต่ในสายตาของ“ตะลอนเที่ยว”อำเภอนี้ยังคงมี“ขุมทอง”อยู่ โดยขุมทองที่ว่านั้นก็คือ ธรรมชาติ ขุนเขา ป่าไพร สายน้ำ และอากาศอันพิสุทธิ์ ส่งผลให้อำเภอทองผาภูมิวันนี้ มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยที่สูงพอตัว
พระพุทธรูป ภปร.
ผจญภัยเบาๆ
เมื่อบรรดาป่าไพร ขุนเขา สายน้ำ ลำธาร น้ำตก ในอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ต่างพากันเปล่งรัศมีความงามออกมาอย่างเต็มที่ในช่วงหน้าฝน “ตะลอนเที่ยว” จึงเห็นว่านี่คือโอกาสทองของการท่องเที่ยวผจญภัยแบบไม่กลัวเปียก กลัวเปื้อน
ว่าแล้วเราก็ไม่รีรอออกเดินทางฝ่าฝนมุ่งสู่ อ.ทองผาภูมิ โดยมีจุดหมายหลักอยู่ที่“น้ำตกภูเตย” น้ำตกค้นพบใหม่อันสุดอลังการในระดับน้องๆทีลอซู ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี เพิ่งเปิดตัวให้รับรู้กันเมื่อไม่นานมานี้
อย่างไรก็ตามก่อนจะไปตะลุยน้ำตก ในวันแรกของทริปเมื่อเดินทางมาถึงยังอำเภอทองผาภูมิ สิ่ง
สิ่งแรกที่เราทำก็คือการแวะสักการะ “พระพุทธรูป ภปร.” ที่ตั้งอยู่อยู่กลางแจ้ง ณ วัดทองผาภูมิ ต.ท่าขนุน ริมถนนเทศบาล เพื่อความเป็นสิริมงคล
พระพุทธรูป ภปร. เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองทองผาภูมิ มีพุทธสรีระงดงาม สมส่วน พระวรกายสีขาวนวล พระพักตร์อมยิ้มดูเปี่ยมศรัทธา ในพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอัญเชิญมาบรรจุไว้ในวันที่ 9 ม.ค. 29 เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิด “เขื่อนวชิราลงกรณ” หรือ “เขื่อนเขาแหลม” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนขึ้นชื่อของ อ.ทองผาภูมิ
ล่องแพ ผจญสายน้ำ
หลังไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัย เราอุ่นเครื่องในอารมณ์ซิงกูล่ากันด้วยการผจญภัยเบา เบา “นั่งช้าง-ล่องแพไม้ไผ่” ที่เป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนใน“หมู่บ้านหนองบาง”(ต.ลิ่นถิ่น)หมู่บ้านกลางป่าที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงช้าง โดยหลังจากขึ้นไปนั่งบนคอช้าง(ส่วนคนอื่นจะนั่งบนหลังช้าง) ลุ้นระทึก ให้มันพาเดินไปกินไป ตะลุยป่าลุยลำธารกันเป็นที่หวาดเสียวแล้ว เราต่อด้วยการถ่อแพไม้ไผ่ฝ่าสายน้ำ ล่องกลับไปยังจุดเริ่มต้น(จุดขึ้นช้าง)
เห็นสายน้ำไหลเอื่อยๆอย่างนั้น แต่เราต้องออกแรงถ่อ ดัน กันไม่น้อยเลย โดยเฉพาะช่วงเข้าโค้งนี่ เหนื่อยเอาเรื่องเหมือนกัน
แล้วกิจกรรมวันแรกของทริปก็สิ้นสุดลง โดยค่ำคืนแรกนี้เรามี “ภูผาตาดโฮมสเตย์” ของ “พี่หมึก-ชำนาญ มณีวงศ์” เป็นสถานที่พักผ่อนหลับนอนท่ามกลางธรรมชาติแห่งผืนไพร และราตรีที่ไร้ดาวประดับ เพราะท้องฟ้าชุมน้ำฉ่ำเย็นไปด้วยสายฝนพรำ
จุดชมวิวเนินสวรรค์
ตะลุยน้ำตกภูเตย
เช้าวันใหม่…
หลังได้ข้าวต้มร้อนๆเติมพลัง “ตะลอนเที่ยว”กับคณะก็เดินทางสู่“น้ำตกภูเตย” ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองทองผาภูมิไปราว 30 กิโลเมตร
ระหว่างทางเราไปแวะชมวิวที่“เนินสวรรค์” ในอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งจากจุดนี้เมื่อมองลงไปจะเห็นทิวทัศน์ของขุนเขาสลับซับซ้อนอันกว้างไกล
เสร็จจากนี้คณะเราไปแวะ“หมู่บ้านภูเตย” รับ“ลุงพล-ณัฐพล แสงแก้วเขียว” ชายวัย 60 ผู้ค้นพบน้ำตกภูเตยอย่างเป็นทางการในปี 2528 เพื่อให้มาเป็นไกด์นำทางสู่น้ำตกภูเตย
“ตอนนั้นลุงกับเพื่อนชาวกะเหรี่ยงเข้าป่าไปหาหน่อไม้ แล้วเจอน้ำตกแห่งนี้เข้า” ลุงพลเล่าให้ฟัง
พื้นที่เกษตรกรรม ก่อนถึงทางเดินเท้าเข้าสู่ตัวน้ำตก
ช่วงแรกที่เจอน้ำตกลุงพลก็ไม่ได้สนใจคิดว่ามันจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่เมื่อได้มารู้จักกับพี่หมึกและได้เล่าให้ฟัง พี่หมึกเห็นในศักยภาพอันสูงล้ำ จึงร่วมมือกับทางททท.ผลักดันน้ำตกแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี
สำหรับน้ำตกภูเตยมีอีกชื่อหนึ่ง(ชื่อเดิม)ในภาษากระเหรี่ยงว่า “น้ำตกห้วยองเผาะ” ตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชนของหมู่บ้านภูเตย ช่วงก่อนเข้ารอยต่อเขตป่าจะเป็นพื้นที่ไร่กะหล่ำ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ของชาวบ้าน จากนั้นจะเป็นทางเดินเท้า ค่อยๆตัดลงจากพื้นที่ราบสู่ผืนป่าใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ที่เป็นดังทองธรรมชาติซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นที่ทำไร่ของชาวบ้าน
ปูตัวสีเหลือง
จากข้อมูลที่เราได้รับก่อนการเดินทางระบุว่า เส้นทางเดินป่าสู่ตัวน้ำตกเป็นเส้นทางเดินสบายๆชิลล์ๆ ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึงนั้น ใช้ไม่ได้กับการเดินป่าในหน้าฝนเช่นนี้ เพราะเพียงแค่เดินไปไม่ถึง 500 เมตร ผ่านจากป่าไผ่เข้าสู่เขตป่าโปร่ง เส้นทางก็เริ่มสมบุกสมบัน และมีหลากหลายรสชาติให้สัมผัส ทั้ง แฉะ เปียก ลื่น ล้มหัวทิ่มหัวตำ แต่งานนี้โชคยังดีที่ฝนไม่ตกแถมอากาศยังเย็นสบาย เวลาเดินจึงไม่เหนื่อยง่าย(แค่พอเหงื่อซึม) ทำให้เราพอมีเวลาหายใจหายคอสอดส่องดูสิ่งละอันพันละน้อยสองข้างทาง ไม่ว่าจะเป็น เห็ดหลากหลาย ปูตัวน้อยสีเหลืองแปลกตา ดอกไม้ริมทาง กระเจียวที่ออกดอกผลิบานทั้งสีขาว ส้ม แดง และ ฯลฯ
สายน้ำยามหน้าฝนอันพร่างพรูของน้ำตกภูเตย
จากเขตป่าโปร่งเส้นทางพาเข้าสู่เขตป่าทึบอันร่มครึ้ม ได้ยินเสียงน้ำไหลอยู่ไกลๆ ทำให้“ตะลอนเที่ยว”เข้าใจว่า ถึงตัวน้ำตกแล้ว แต่ที่ไหนได้ เป็นลำธารกับแอ่งน้ำตกชั้นเตี้ยๆไม่ใช่ชั้นหลักที่เราต้องลุยน้ำฝ่าข้ามไป
งานนี้ลุงพลสร้างความมั่นใจด้วยการบอกว่า แกเตรียมเชือกมายึดโยงให้ขึงจับ ว่าแล้วลุงแกก็ดึงเชือกที่ว่าออกมาจากถุง
ยึดเชือกเส้นน้อยข้ามลำธาร
โอว…ให้ตายเถอะ เชือกมันเส้นกระติ๊ดเดียวชนิดผูกคอตายยังอาจจะขาดได้ แต่ลุงกับลูกน้องของแกก็ขมีขมันขึงเป็นราวให้พวกเรายึดโยงเดินข้ามธารน้ำไปแบบหวาดเสียว
ผ่านพ้นจากการตะลุยแอ่งน้ำไปแล้ว ใครที่คิดว่ามันจะมีแค่นี้ ขอบอกว่าคิดผิด เพราะตลอดเส้นทางมันมีแอ่งน้ำให้ต้องลุยกันอีกหลายแอ่ง แถมบางช่วงมันไม่ใช่แอ่งน้ำธรรมดา หากแต่เป็นน้ำตกขนาดย่อมที่ต้องย่ำลุยฝ่าลงไป
น้ำตกชั้น 1
อย่างไรก็ดีมันไม่ได้น่ากลัวหรือเป็นอันตรายแต่อย่างใด เพราะเป็นแอ่งน้ำตื้น พื้นเป็นหินปูน เดินไม่ลื่น แต่ก็จำเป็นที่จะต้องเดินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะพวกตากล้องทั้งหลายต้องหาอุปกรณ์กันน้ำมาให้ดี เผื่อพลาดพลั้งลื่นล้มลงไป จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนกล้องตัวใหม่
หลังเดินเลาะและลุยธารน้ำมาได้ประมาณ 2 ชั่วโมง เรามาถึงยังน้ำตกชั้นแรกที่มีขนาดไม่สูงมาก แต่ว่าก็น่ายลด้วยลีลาของสายน้ำยามหน้าฝนที่ถั่งโถมลงสู่แอ่งเบื้องล่าง จากนั้นเราหยุดพักกินข้าวเที่ยงกันใกล้ๆกับน้ำตกชั้นที่ 2 ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของป่าไพรและสายธารที่ไหลเย็นฉ่ำ
ข้ามสะพานซุง
งานนี้นอกจากข้าวกะเพราไข่ดาวที่กินเป็นพลังงานหลักในมื้อเที่ยงแล้ว ยังมีธรรมชาติอันพิสุทธิ์ที่อยู่รายรอบเป็นอีกหนึ่งพลังงานเสริม เป็นแรงให้มุ่งหน้าต่อไป
จากจุดกินข้าว หนทางข้างหน้าต้องเดินข้ามลำธารอีกแล้ว แต่ครั้งนี้ดีหน่อยตรงที่มีสะพานซุงกับราวไม้ไผ่ให้เดิน
เลาะเลียบแอ่งน้ำตก
ราวไม้ไผ่แม้ดูง่อนแง่นแต่มันก็ถือเป็นราวจับที่ดีที่สุดในยามนี้ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่สามารถยึดจับได้ เปรียบดังชีวิตในยามที่มืดมนไร้หนทาง ขอเพียงมีสิ่งเล็กๆมาให้ยึดเหนี่ยวเป็นความหวัง มันก็ช่วยเพิ่มพลังใจให้คึกคักขึ้นมาได้มากโขไม่น้อยเลย
พ้นจากลำธารไป เส้นทางนับจากนี้จัดหนักไปด้วยแอ่งน้ำตกเล็กๆที่ต้องลุยต้องฝ่า ชนิดที่ต้องเปียกโชกแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่บรรยากาศแบบนี้หรือ? ที่ใครหลายคนถวิลหา เพราะมันไม่สามารถหาได้ในห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย อีกทั้งยังเป็นความท้าทายวัดใจพิสูจน์ความกล้าของเราได้เป็นอย่างดี ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง???
ลุยฝ่าธารน้ำตก
จากน้ำตกชั้น 2 บริเวณจุดกินข้าว เราลุยผ่านน้ำตกชั้น 3,4,5 และ 6 มาแบบสมบุกสมบันพอตัวในระยะเวลาร่วม 2 ชั่วโมง ก่อนจะมาถึงยังชั้น 7 ที่ถือเป็นอีกหนึ่งชั้นไฮไลท์ มีความสูงร่วม 80 เมตร มีต้นไม้ยื่นโค้งมาเป็นฉากหน้า ให้กับสายน้ำตกใหญ่ที่ไหลยาวแผ่สยายเป็นสายลงมากระทบแอ่งน้ำเบื้องล่าง
สำหรับใครที่จะถือกล้องเดินลุยธารน้ำตกลงไปถ่ายรูป ขอให้ระวังตัวให้จงหนัก เพราะในลำธารเป็นเมือกโคลนอันสุดแสนจะลื่นเหลือหลาย
น้ำตกชั้น 7
หนทางที่ต้องเลือก
น้ำตกภูเตยมีทั้งหมดด้วยกัน 12 ชั้น นอกจากชั้น 7 แล้ว ยังมีชั้นไฮไลท์อยู่อีก 2 ชั้น คือชั้น 8 ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก กับชั้น 9 ที่อยู่ลึกลงไป น้ำตกชั้น 8 มีความสูงร่วม 100 เมตร ส่วนชั้น 9 เป็นชั้นที่สูงที่สุด มีความสูงร่วมราว 120 เมตร
อย่างไรก็ดีในหน้าฝนอย่างนี้การลงไปสู่ตัวน้ำตกทั้ง 2 ชั้น ถือว่าอันตรายเอาเรื่อง เพราะต้องปีนป่ายหน้าผาที่ทั้งลื่นทั้งสูงชันลงไป ดังนั้นพวกเราจึงเลือกยืนชมน้ำตกชั้น 8 ในมุมข้างๆ มองเห็นสายน้ำตกขาวฟูฟ่องท่ามกลางแมกไม้เขียวขจีรอบข้าง โจนทะยานหายลงไปในผืนป่าใหญ่ดูสบายตา คุ้มค่ากับการดั้นด้นลุยฝ่ามา ซึ่งนี่อาจไม่ใช่มุมมองน้ำตกชั้น 8 ที่สวยที่สุด แต่ก็ถือเป็นมุมที่ปลอดภัยที่สุด
สำหรับสิ่งนี้ ไยมิใช่เป็นเฉกเช่นเดียวกับการใช้ชีวิต เพราะหลายต่อหลายครั้ง เรามิอาจเลือกได้ในสิ่งที่ดีที่สุด แต่เราสามารถเลือกได้ในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด…
น้ำตกชั้น 8
*****************************************
-เนื่องจากน้ำตกภูเตย ยังไม่มีการสำรวจจริงจังอย่างเป็นทางการ การนับชั้นต่างๆของน้ำตกจึงไม่แน่นอน แต่ละคนอาจมีการนับชั้นน้ำตกแต่ละชั้นแตกต่างกันไป เพราะในเส้นทางมีแอ่งสูงๆในลักษณะน้ำตกขนาดเล็กอยู่หลายจุดด้วยกัน ในที่นี้จึงขออ้างอิงการนับชั้นน้ำตกตามคำบอกเล่าของลุงพลผู้ที่คุ้นเคยกับน้ำตกแห่งนี้ดีที่สุดคนหนึ่ง
-น้ำตกภูเตยจะสวยที่สุดในช่วงหน้าฝนหลังเข้าพรรษาเป็นต้นไป เพราะมีปริมาณน้ำมากและแรง แต่ว่าการเดินเท้าสู่ตัวน้ำตกค่อนข้างลำบากและสมบุกสมบันเอาเรื่องเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัย ขณะที่ช่วงปลายฝนต้นหนาวถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลทั่วไปในการเที่ยวน้ำตก เพราะทางเดินไม่ลื่น ไม่ยากลำบาก และยังมีสายน้ำในปริมาณที่พอเหมาะให้สัมผัสชื่นชม
-ผู้สนใจสัมผัสความงามของน้ำตกผู้เตย สามารถสอบถามเกี่ยวกับ ที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง และรายละเอียดอื่นๆในการเที่ยวน้ำตกและพื้นที่ใกล้เคียงได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200,0-3451-2500
่ขอขอบคุณข้อมูล www.manager.co.th