ข้อมูลจากสํานักงานสวนสาธารณะ สํานักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ในปี 2553 บอกไว้ว่า เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่สีเขียวกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ขณะนั้นแล้วพบว่าอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจํานวนประชากรในกรุงเทพฯ เท่ากับ 4.09 ตร.ม./คน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอเกณฑ์ด้านพื้นที่สีเขียวว่าไม่ควรตํ่ากว่า 9 ตร.ม./คน นั่นหมายถึงว่า คนกรุงเทพฯ ต้องการพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีกมากกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว
นอกจากจะต้องเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว ที่สำคัญก็ยังต้องรักษาต้นไม้ที่มีอยู่ในตอนนี้ไว้อีกด้วย เพราะถึงแม้จะมีพื้นที่สีเขียวน้อยนิด แต่ในกรุงเทพฯ ก็ยังมีต้นไม้ใหญ่หลายต้นที่เก่าแก่อายุนับร้อยๆ ปี ที่หากเป็นคนก็ผ่านร้อนผ่านหนาวจนต้องเรียกว่าเป็น “ปู่ทวด” ต้นไม้เหล่านี้ยืนต้นผ่านวันเวลาและเรื่องราวต่างๆ มากมาย และบางต้นก็เติบโตมาพร้อมความ “เฮี้ยน” อีกด้วย แต่จะมีต้นไหนที่ใหญ่และเฮี้ยนด้วย ต้องไปชมพร้อมๆ กัน
ต้นตะเคียนทองที่วัดสุวรรณคีรี
มาเริ่มกันที่ต้นไม้ใหญ่และเก่าแก่อย่าง “ต้นตะเคียนทอง” ต้นไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเฮี้ยนมาทุกยุคทุกสมัย ต้นตะเคียนต้นนี้อยู่ภายในวัดสุวรรณคีรี ในซอยโรงพยาบาลเจ้าพระยา เขตบางกอกน้อย
ต้นตะเคียนสูงใหญ่ต้นนี้ขึ้นอยู่ในบริเวณที่จอดรถริมคลองบางกอกน้อย ข้อมูลระบุว่า มีอายุประมาณ 250 ปี เส้นรอบวงของลำต้น 4.7 เมตร และสูงถึง 35 เมตร แต่เดิมเป็นต้นตะเคียนคู่ เพราะขึ้นอยู่คู่กัน 2 ต้น แต่หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 อีกต้นหนึ่งจึงตายลง ทางวัดได้โค่นลงและนำไม้บางส่วนไปสร้างกุฏิพระ อีกส่วนหนึ่งนำมาแกะเป็นรูปเจ้าแม่ตะเคียนทองและนำมาไว้ในศาลซึ่งสร้างไว้ใต้ต้นตะเคียนต้นที่เหลือให้ผู้ที่ศรัทธาได้กราบไหว้ขอพรจากเจ้าแม่ตะเคียนกัน
ศาลเจ้าแม่สายทอง เจ้าแม่ตะเคียน
ศาลเจ้าแม่ตะเคียนที่สร้างไว้บริเวณโคนต้นตะเคียนนั้นชาวบ้านเรียกว่า “เจ้าแม่สายทอง” มีผู้คนนำพวงมาลัยดอกไม้มากราบไหว้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงบายศรีดอกไม้ และมีชุดไทยที่มีผู้นำมาถวายเจ้าแม่สายทองด้วยเช่นกัน จากการสอบถามชาวบ้านใกล้เคียงต่างบอกว่ามีผู้คนมากราบไหว้กันเป็นประจำเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์มาก และมีเรื่องเล่าชวนขนหัวลุกของผู้ที่นำกิ่งต้นตะเคียนที่หักตกอยู่บนพื้นไปแกะเป็นรูปผู้หญิง และหลังจากนั้นก็เกิดเรื่องประหลาดขึ้นเมื่อมีผู้พบเห็นผู้หญิงลึกลับในชุดไทยปรากฏตัวขึ้นกลางดึกบ่อยๆ
ต้นกร่างบริเวณชุมชนศรีสุริโยทัย
มาที่ย่านเจริญกรุงกันบ้าง ที่ชุมชนศรีสุริโยทัยซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ในซอยเจริญกรุง 57 มี “ต้นกร่าง” ขนาดใหญ่ ใหญ่ขนาดที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทต้นไม้ใหญ่ที่สุด ในโครงการประกวดต้นไม้ใหญ่ใน กทม. ปี 2554 โดยมีเส้นรอบวงของลำต้นยาวถึง 15.67 ม.
ต้นกร่างต้นนี้คล้ายมี 2 ต้น ต้นหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นเป็นต้นแม่ที่เติบโตมาก่อน มีอายุราว 200 ปีแล้ว ส่วนอีกต้นหนึ่งที่ขนาดลำต้นเล็กกว่าเป็นต้นลูกที่เกิดจากรากของต้นแม่ที่ขยายออกมา แต่กิ่งก้านสาขาของทั้ง 2 ต้น แผ่ขยายให้ความร่มรื่นแก่คนในชุมชนและคนที่สัญจรไปมา
ภายในศาลเสด็จพ่อเทพาดำทุ่ง
ที่บริเวณโคนต้นกร่างมี “ศาลเสด็จพ่อเทพาดำทุ่ง” ศาลเล็กๆ แต่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในชุมชนมาโดยตลอด จากการสอบถามคนในชุมชนที่นั่งเล่นอยู่ใต้ร่มเงาของต้นกร่างเล่าให้ฟังว่า คนในละแวกนี้ให้ความเคารพปู่ หรือเสด็จพ่อเทพาดำทุ่งกันทุกคน โดยจะช่วยกันดูแลทำความสะอาด จุดธูปเทียนบูชาและถวายดอกไม้เป็นประจำ และจะมีงานไหว้ปู่กันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ส่วนเรื่องการบนบานหรือขอพรนั้นส่วนมากก็จะมาขอกันเรื่องการงานการเรียน ขอให้ทำการงานสำเร็จ หรือขอให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ของถวายก็เป็นดอกไม้ พวงมาลัย หรือผ้าสามสี แต่จะไม่ถวายเนื้อหมูเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าปู่เป็นอิสลาม
ในเรื่องของความเฮี้ยนนั้น เล่าสืบต่อกันมาว่า ถ้าใครคิดจะตัดหรือทำลายต้นไม้ก็จะมีอันเป็นไปหรือเจออุปสรรคมากมาย เช่น ตอนที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยจะสร้างรั้ว และรั้วนั้นตามแนวเส้นตรงจะสร้างมาชนกับต้นกร่าง ในครั้งนั้นคนงานก่อสร้างเสียชีวิตไปหลายคน จนสุดท้ายทางโรงเรียนจึงต้องสร้างรั้วหลบต้นไม้ ปล่อยให้ต้นไม้อยู่นอกกำแพงรั้ว ไม่มีใครกล้าตัดเพราะกลัวอาถรรพ์จากต้นกร่างนี้
ต้นจันบริเวณกุฏิราย วัดราชาธิวาส
ส่วนที่ “วัดราชาธิวาส” ในซอยสามเสน 9 เขตดุสิต ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ เดิมชื่อวัด “สมอราย” ตามหลักฐานปรากฏว่าได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งที่วัดแห่งนี้ได้ถือเป็นจุดกำเนิดของคณะธรรมยุติกนิกาย ที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงริเริ่มขึ้น จนในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชาธิวาสวิหาร”
สำหรับต้นไม้เก่าแก่ที่วัดราชาธิวาสนั้นก็คือ “ต้นจัน” เป็นต้นไม้เก่าแก่อายุราว 200 กว่าปี ต้นจันต้นดังกล่าวปลูกอยู่บริเวณด้านหลังกุฏิราย คณะเหนือ ซึ่งเป็นเขตสังฆาวาสของวัดราชาฯ ผู้ดูแลวัดซึ่งอาศัยอยู่แถบวัดราชาตั้งแต่เด็กๆ เล่าให้ฟังว่า เห็นต้นไม้ต้นนี้เติบโตมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ ก็ได้มาวิ่งเล่นเก็บลูกจันแถวนี้อยู่บ่อยๆ แต่คนจะไม่ค่อยรู้จักต้นจันต้นนี้มากนักเพราะตั้งอยู่ในวงล้อมของกุฏิพระ
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดราชาธิวาส
แม้จะไม่มีเรื่องลึกลับเกี่ยวกับต้นจันต้นนี้ แต่ต้องยอมรับว่ารูปทรงของต้นจันโบราณนี้งดงามได้สัดส่วน มองแล้วรู้สึกได้ถึงความขรึมขลังและความสงบร่มเย็นขึ้นมาทันที
และนอกจากต้นจันแล้ว ที่วัดราชาธิวาสยังมีต้นไม้เก่าแก่อย่าง “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ปลูกในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นโพธิ์จากประเทศศรีลังกา ปลูกเป็นคู่กันทั้งสองด้านของพระอุโบสถ เรียกว่า “โพธิ์ลังกา” ซึ่งมีอายุราว 200 ปีเช่นกัน ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี จะมีพระราชวงศ์ผู้ใหญ่นำน้ำหอมไปประพรมที่ต้นโพธิ์ทุกปีเสมอมาถึงปัจจุบัน
ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ 200 ปี วัดชนะสงคราม
มาปิดท้ายกันที่ “วัดชนะสงคราม” ในย่านบางลำพู ก็มีต้นไม้เก่าแก่อย่าง “ต้นโพธิ์” ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังวัดติดกับทางออกสู่ถนนรามบุตรี ที่ผู้คนในแถบนี้รวมถึงนักท่องเที่ยวใช้เป็นทางเดินเท้าสัญจรเชื่อมระหว่างถนนพระอาทิตย์และถนนจักรพงษ์
ต้นโพธิ์ต้นนี้มีป้ายปักไว้ว่า “ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์อายุ 200 ปี” จากการสอบถามผู้ที่ค้าขายอยู่ใกล้กับบริเวณต้นโพธิ์ทำให้ทราบว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้อยู่คู่วัดมาเป็นเวลานานแล้ว ผู้ค้าเมื่อมาตั้งร้านค้าขายก็จะไหว้ต้นโพธิ์ก่อนเป็นประจำ
นอกจากนั้น คนทั่วไปก็ยังแวะเวียนมากราบไหว้ต้นโพธิ์มิได้ขาด และแน่นอนว่ามีคนมาขอเลขขอหวยด้วยเช่นกัน บางคนก็เอาแป้งมาโรยที่ต้นบ้าง มาขูดขอหวยบ้าง แต่ส่วนมากแล้วก็จะมาไหว้ขอพรกันเสียมากกว่า หากขอพรได้สมดังใจก็จะนำพวงมาลัยดอกไม้หรือผ้า 3 สี มาพันรอบต้นโพธิ์บ้าง และที่น่าสนใจก็คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินผ่านไปมาต่างให้ความสนใจกับต้นโพธิ์ต้นนี้ บ้างก็ยกกล้องถ่ายรูปขึ้นถ่าย บ้างก็ชี้ชวนกันดูศาลเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กับต้นโพธิ์ หรือผ้าแพรหลากสีสันที่ผูกไว้ที่โคนต้นกันอย่างสนอกสนใจ
ยังมีต้นไม้เก่าแก่ในกรุงเทพฯ อีกมากมายที่ใช้เวลาเติบโตนับร้อยปี ไม่ว่าจะเป็น “ต้นตะเคียน” บริเวณหน้าวัดราชบพิธซึ่งเป็นต้นไม้ที่รัชกาลที่ 1 ทรงปลูกไว้ “ต้นกร่าง” หน้าคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร วังท่าพระ ที่มีขนาดใหญ่ถึง 8 คนโอบ “ต้นไทรทอง” ที่โรงเรียนพระรามหกเทคโนโลยี เขตบางพลัด ที่มีเส้นรอบวงของลำต้นยาวถึง 16.50 ม. “ต้นโพธิ์” วัดมหาธาตุฯ เขตพระนคร ก็เก่าแก่ไม่แพ้ที่ไหน ส่วน “ต้นยางนา” ในวัดน้อยใน (ร.ร.ทีปังกรวิทยาพัฒน์) ก็มีความสูงมากถึง 33.24 ม. เลยทีเดียว ต้นไม้เหล่านี้ต้องดูแลให้ดีเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นต้นไม้เก่าแก่มีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังมีคุณค่าทางจิตใจของคนในชุมชน และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูล www.manager.co.th