วันนี้เป็นวันพักผ่อนที่เราใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ อยู่ในอำเภอแม่สะเรียง จึงหาที่เที่ยวมาให้รู้จักกันครับเป้าหมายเราคือไปอุทยานแห่งชาติแม่เงาไปเล่นน้ำกัน แต่เราจะแวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันก่อน นั้นก็คืออนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า ที่บ้านผาผ่า อำเภอสบเมย ผมขับรถมาจากแม่สะเรียง ตามคำบอกเล่าของเพื่อนก็เห็นป้ายอนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า พอเลี้ยวซ้ายเข้าไปก็จะเห็นว่าบริเวณกว้างมาก มีที่ตั้งประดิษฐานรูปปั้นพระครูบาผาผ่าอยู่ด้านหน้า ข้างๆ เป็นอนุสรณ์สถาน ที่พระราชทานเพลิงศพครูบาผาผ่า ส่วนฝั่งตรงข้ามจะมีศาลาและมีพระพุทธรูปปางต่างๆ และมีเจดีย์ที่พระธาตุของครูบาผาผ่า อยู่บนดอยสูง ต้องเดินบันไดพญานาคขึ้นไปไหว้พระเจดีย์และชมวิวเมืองสบเมยกันครับ
อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า
กราบไหว้อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่ากันครับ
ครูบาผาผ่าท่านเกิดปีเสือครับ
ครูบาผาผ่านั้นเป็นที่เคารพและเลื่อมใสของคนที่นี่มาก ถือได้ว่าท่านเป็นนักบุญของแม่สะเรียงครับ ดังเรื่องเล่าที่กล่าวขานกันนานมาว่า วันหนึ่งเด็กวัดและพระหน้อย(สามเณร) ได้เล่นซ่อนหากันตอนหัวค่ำ มีพระหน้อย รูปหนึ่งไปแอบเข้าไปนอนใต้เตียงของครูบาผาผ่า แล้วเผลอหลับไป พอสดุ้งตื่นขึ้นมาได้เห็นแสงตะเกียงและเสียงคนคุยกันก็เลยคลานออกมา พบตุ๊เจ้า 3 ต๋น (พระภิกษุ 3 รูป) ก็คือครูบาผาผ่า ครูบาศรีวิชัย และครูบาขาวปี นั่นเอง ทั้ง 3 รูป) กำลังนั่งคุยกันอยู่ พอเห็นสามเณรน้อยคลานออกมา ครูบาผาผ่าเลยบอกว่าอย่าได้เที่ยวไปพูดกับใครๆว่าเห็นครูบาทั้ง 3 นั่งคุยกันอยู่ จนกระทั่งครูบามรณภาพไปแล้วถึงได้ทราบเรื่องกัน นี่แหละคงเป็นต้นเหตุที่ได้ประเพณีทำต้นถวาย 3 ครูบานั่นเอง
อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยนายตา เอกจันทร์ และนายสุพจน์ วัชรวงศ์ เป็นสถานที่ที่ประชาชนในอำเภอสบเมย ให้ความเคารพและนับถือเป็นอย่างมาก เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ของอำเภอสบเมย โดยจัดกิจกรรมประเพณีวันรำลึกครูบาผาผ่าในบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาผาผ่าทุกปี
สถานที่พระราชทานประชุมเพลิง ครูบาเจ้าผาผ่า
ประวัติของ พระครูบาผาผ่า ( พระครูปัญญาวรวัตร )
- ตนบุญแห่งอำเภอแม่สะเรียง ผู้มีสมาธิจิตแก่กล้าแต่เยาวัย
- สามารถหยั่งรู้จิตใจของคนอื่นและเหตุการณ์ล่วงหน้าได้
- ผู้ถือมังสะวิรัติเคร่งครัดในพระกัมมัฎฐาน เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม
- เป็นพระภิกษุรูปเดียวที่ครูบาเจ้าศรีวิไชย ยกย่องประกาศเกียรติคุณว่า มีบุญญาธิการบารมีแก่กล้า แต่ไม่ชอบแสดงตนและยอมรับว่าเป็น “ ตุ๊น้อง ”
- วัตถุมงคลของท่านครูบา เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ให้ผลทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุเภทภัยอันตรายต่างๆ นานา
“ แม่สะเรียง ” ในอดีตมีชื่อเรียกว่า “ เมืองยวม ” คู่กับอำเภอขุนยวม เพราะคำว่า “ ยวม ” ก็คือ แม่น้ำยวม เมืองยวม อยู่ปลายแม่น้ำยวม เคยเป็นเมืองหน้าด่านเพื่อปกป้องอาณาจักรลานนาไทย มีอยู่หลายครั้งพม่าเคยยกกองทัพผ่านเมืองยวมไปตีเมืองเชียงใหม่ และกองทัพลานนาไทยส่วนหน้าก็ได้เคยมาสะสมกำลัง และเสบียงอาหารไว้ ณ ดินแดนแห่งแคว้นนี้ ก่อนที่จะยกกองทัพลานนาบุกตลุยข้ามแม่น้ำสาละวิน ไปฟากตะวันตกโดยได้มาพักที่ริมแม่น้ำสะเรียง และได้มาที่ วัดกิตติวงศ์ ซึ่งในอดีตเรียกว่า “ วัดชัยสงคราม ” เพื่อทำพิธีทางไสยศาสตร์ อาทิ อาบขาง สักยา ในทางคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดตามวิชาการสู้รบในครั้งกระโน้น ปรากฏว่าได้ผล และได้รับชัยชนะในการรบมาทุกครั้ง
บรรดาบรรพบุรุษเราคือ ทหารหรือคนหาญ ก็ได้ไปเดินขวักไขว่ อยู่ในกรุงหงสาวดี และเด็ดดอกฟ้าเอาข้ามแม่น้ำ สาละวินมาเชยชม แต่ก็มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันที่บรรพบุรุษของเราได้วิ่งหนีจนป่าราบมาแล้วในสมัย หยิ่นหน่อง มหาราชเจ้ากรุงหงสาวดี ที่คนไทยเราเรียกว่า “บุเรงนองมหาราช ” แต่ทั้งหมดนี้มันก็เป็นเรื่องอนิจจังในอดีต ปัจจุบันไทยกับพม่าเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทสนม มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน
ซุ้มทางขึ้นไปชมพระเจดีย์พระธาตุครูบาผาผ่า
สูงนิดหน่อยครับ ออกกำลังกาย
ครูบาผาผ่าคือใคร
จากเมืองยวมสู่ลุ่มน้ำสาละวิน เขตแดนพม่า ในบรรดาพระอาจารย์ผู้เรืองเวทย์ เปี่ยมไปด้วยเมตตาบารมี มีศีลาจารวัตรยึดมั่น ในสัมมาปฏิบัติ ถือมังสาวิรัติเคร่งครัดในพระกัมมัฏฐาน มีสมาธิแก่กล้า มีเจโตปริญาณสามารถหยั่งรู้ จิตใจของคนอื่น และเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ในถิ่นแคว้นลานนาไทย หรือภาคเหนือก่อนโน่น เห็นมีครูบาผาผ่า หรือ พระครูปัญญาวรวัตร สำนักวัดผาผ่า อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ครูบาเจ้าศรีวิไชย ได้ยกย่องประกาศเกียรติคุณ ทั้งนี้จากการกล่าวขานของชาวพุทธ ทั้งชาวเรา ชาวเขา ในสมัยที่ครูบาเจ้าศรีวิไชยยังมีชีวิตอยู่ ชาวเรา – ชาวเขา แม่สะเรียงจำนวนมากได้หลั่งไหลกันไปทำบุญขอศีลขอพรกับท่าน ครูบาเจ้าศรีวิไชย ที่เชียงใหม่ และช่วยทำงาน เช่น สร้างทางขึ้นดอยสุเทพเป็นต้น และการคมนาคมในสมัยนั้นแสนทุระกันดาร ไม่มีถนนให้รถราวิ่งสะดวกอย่างปัจจุบันนี้ จากอำเภอแม่สะเรียงไปเชียงใหม่ ต้องเดินเท้า ใช้เวลาเดิน ๕ – ๗ วัน เดินขึ้นเขาลงห้วย ได้รับความลำบากยากเข็ญเป็นที่สุด ครูบาเจ้าศรีวิไชยได้เห็นความลำบากของพี่น้องชาวพุทธ อำเภอแม่สะเรียง ที่ต้องเดินทางไกลมาด้วยความลำบากเช่นนั้น จึงได้บอกว่า ต่อไปไม่จำเป็นจะต้องมาทำบุญขอศีลขอพรกับอาตมาถึงที่นี่ก็ได้ มีอะไรก็ให้ไปหา “ ตุ๊น้อง ” ที่ วัดดอยล้อม ที่เมืองยวม โน้นก็ได้ เพราะท่านก็มีบุญบารมีแก่กล้าทุกอย่างเหมือนกัน เพียงแม่ตุ๊น้องไม่ชอบแสดงตนเท่านั้น คำว่า “ ตุ๊น้อง ” หมายถึงท่านครูบาผาผ่านั่นเอง นับแต่นั้นมา บรรดาชาวพุทธ ทั้งชาวเรา – ชาวเขา อำเภอแม่สะเรียง ต่างพากันไปทำบุญให้ทานขอศีลขอพรกับท่านครูบาผาผ่ามากขึ้น
สมัยเมื่อ ๒๐ ปีก่อนโน้น การคมนาคมจากอำเภอแม่สะเรียงไปยังหมู่บ้านผาผ่า แสนทุระกันการ ไม่มีทางรถยนต์ไปถึงเหมือนปัจจุบันนี้ เราจะต้องเดินทางไปอีกด้วยเท้าเปล่าประมาณ ๑๕ กิโลเมตรเศษ แต่ประชาชนทั้งใกล้และไกล ทั้งชาวเรา – ชาวเขา ต่างก็มีอุตสาหะเดินทางไปทำบุญ ขอศีลพรจากท่านครูบาฯโดยมิได้ขาด มีบางคนบางพวกก็ไปขอยารักษาโรค ขอน้ำมนต์ ขอวัตถุอันเป็นมงคลเพื่อความสุขความสวัสดีแก่ตนและครอบครัว
ชาติกำเนิด ครูบาผาผ่าฯ นามเดิมชื่อ สวน นามสกุล คำภีระ เกิดที่หมู่บ้านผาผ่า ตำบลแม่คะตวน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๒ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ ปีฉลู บิดาชื่อนายปั่นมารดาชื่อนางธิ มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม ๔ คน
อันธรรมดาผู้มีบุญญาธิการมักจะมีอุบัติเกิดผิดแผกกว่าคนอื่น ๆ เราจะไม่ขอเปรียบเทียบเช่น พระพุทธเจ้า ซึ่งประสูติที่สารวโนยานไม้รังคู่ โดยพระมารดาประทับยืนประสูติ จึงขอเปรียบเทียบกับนักบุญแห่งล้านนาไทย คือท่านครูบาเจ้าศรีวิไชย ขณะคลอดมีเสียงฟ้าร้องอึกคนึงไปทั่วทิศ ทั้งๆ ที่ไม่มีเค้าฝน ท่านจึงได้นามเมื่อเป็นเด็กว่า “อ้ายฟ้าฮ้อง ” ท่านครูบาผาผ่าก็เช่นเดียวกัน ท่านเกิดในขณะที่มารดาอุ้มท้องแก่ไปเก็บผักในสวนตอนเช้าเพื่อนำมาปรุงอาหาร ท่านก็คลอดจากครรภ์มาโดยง่ายดายไม่มีอาการทุรนทุราย จึงได้ชื่อว่า “เด็กชายสวน” เด็กชายสวน เป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อเกเร มีเมตตาธรรมแต่เยาวัย ไม่ทานเนื้อสัตว์ตัดชีวิต อายุ 17 ปี จึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรโดยมี ครูบาเต๋ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบรรพชาแล้วได้ศึกษาคำภีร์มูลกัจจายน์พระสูตรและพุทธมนต์คาถา และพระกัมมัฏฐาน จนมีความรู้ความสามารถและมีจิตเป็นสมาธิแก่กล้าแต่เยาวัย สามเณรสวน ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดผาผ่า ครูบาตุ้ย วัดห้วยสิงห์เป็นพระอุปัชณาย์ พระอธิการอินต๊ะวัดบ้านใหม่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้นามฉายาว่า “ปัญญาวโร ” แปลว่าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ เมื่ออุปสมบทแล้วก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดผาผ่า สืบแทนท่านครูบาเต๋จ๊ะมาจนสิ้นอายุขัย เมื่อท่านครูบาฯได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว ปรากฎว่ามีธนบัตรใบละหนึ่งบาทเก่า ๆ อยู่เพียง ๑๐๐ บาทเศษ
ท่านครูบาฯได้รักษาศีล วินัย อย่างเคร่งครัดมิได้ด่างพร้อย มีอยู่บ่อยครั้งท่านครูบาฯได้หลบความวุ่นวายในวัดที่มีคนไปกวนใจ หนีขึ้นเขาเข้าป่าจำศีลภาวนาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่ฉันอาหารเป็นเวลา ๓ – ๗ วัน จนเป็นที่ร่ำรือกันว่า ท่านครูบาฯได้สำเร็จญานสมาบัติมีเมตตาเปี่ยมล้น ท่านจึงเปรียบเสมือนสังฆราชสุข วัดพลับ หรือหลวงพ่อเงินวัดบางคลานแห่งโพทะเล ด้านการปกครองสงฆ์ ท่านครูบาฯก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล และเป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลแม่คะตวนมาเป็นเวลาอันยาวนานและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ “พระครูปัญญาวรวัตร ”เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๑ และท่านได้ถึงแก่มรณะภาพเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๐๔ รวมอายุได้ ๗๒ ปี แม้ว่าท่านครูบาฯจะได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้วก็ตาม แต่คุณความดีและบารมีอภินิหารยังปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ มีสาธุชนเป็นจำนวนมาก เมื่อทราบประวัติเกียรติคุณแล้ว ต่างก็แสวงหาวัตถุอันเป็นมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับท่านครูบาฯ
ในขณะที่ท่านครูบาฯยังมีชีวิตอยู่ ไม่เคยมีการสร้างพระผง หรือเหรียญของท่านเลย นอกจากผ้ายันต์ที่มีคนขอท่านก็ทำให้เป็นรายบุคคลไป
ขึ้นบันไดสูงมาจะพบพระธาตุเจดีย์ครูบาผาผ่า
ชมวิวบนเขาที่อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า
ที่ตั้งและการเดินทาง
อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลแม่คะตวน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากแม่สะเรียงไปทางเส้นทางสบเมยเส้นทางนี้เป็นทางเดียวกับทางไปจังหวัดตาก อนุสาวรีย์จะอยู่ซ้ายมือมีป้ายบอกให้เห็นเป็นเด่นชัด
ขอบคุณข้อมูลประกอบ aroilanna.blogspot.com