เที่ยวชลบุรีทั้งที จะไม่มีอะไรติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านได้ไงล่ะครับ เมื่อมาชลบุรีและจะซื้อของฝากทั้งทีก็ต้องนึกถึง “ตลาดหนองมน” พลาดไม่ได้เลยครับ เพราะมาที่นี่คุณจะได้ของฝากทุกอย่างที่คุณต้องการ เค้ามีให้เลือกซื้อมากมายหลายอย่าง ทั้งอาหารคาว หวาน สด แห้ง รับรองว่าหนำใจคุณแน่นอน
หนองมน อยู่ไม่ไกลจากทางเข้าหาดบางแสน อยู่ใกล้กันเพียง 1 กิโลเมตรเศษ ๆ เท่านั้น เรียกกันจนติดปาก “ตลาดหนองมน” หรือที่ใคร ๆ รู้จักกันดี “ข้าวหลามหนองมน” หนองมนตั้งอยู่ในตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี ห่างจากตัวจังหวัดเพียง 11-12 กิโลเมตร คนที่นี่เค้าเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ตลาดแสนสุข” เป็นตลาดที่เจริญในด้านการค้าที่สุดในจังหวัดชลบุรี สองฟากฝั่งของถนนเต็มไปด้วยร้านค้าเรียงรายยาวสุดลูกหูลูกตากันเลยทีเดียว และแต่ร้านก็ละลานตาไปด้วยของฝากนานาชนิด มาที่นี่คุณได้ทุกอย่างที่ต้องการติดไม้ติดมือไม่มากก็น้อยล่ะครับ
ของฝากนานาชนิด อาทิเช่น กั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ทั้งแห้งและสด กะปิ ผลไม้กวน ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม ห่อหมก หอยจ๊อ แจงลอน ขนุนทอด ทุเรียนทอด กาละแมร์ ขนมอาลัว ขนมหม้อแกง ขนมจาก เครื่องจักรสาน หวาย ที่พลาดไม่ได้เห็นจะเป็นข้าวหลาม และยังมีอีกมากมายครับ ให้อธิบายคงยาวเป็นหางว่าวแน่นอน สรุปแล้วก็บอกได้คำเดียวครับ เยอะมากกกกกกกกก
“ข้าวหลามหนองมน” ว่ากันว่า ถ้าใครมาหนองมนไม่ซื้อข้าวหลามติดไม้ติดมือกลับไป หรือไม่ได้กินข้าวหลามหนองมน ก็เท่ากับว่ามาไม่ถึงหนองมน ข้าวหลามหนองมนขึ้นชื่อมากในเรื่องของความอร่อย ซึ่งก็แน่ล่ะครับ งานนี้ดูเอเซียดอทคอมจะพลาดชิมของอร่อย ๆ กันได้ยังไง เหอ ๆ ๆ (จริง ๆ แล้วอยากกินอยู่แล้วครับ) ชิมเกือบซะทุกรสแน่ะ ไม่ว่าจะเป็น ไส้เผือก ถั่วดำ เนื้อมะพร้าว ข้าวเหนียวดำ โอยยยยยยยย อิ่ม อืด ไปด้วยข้าวเหนียวซะแล้วครับ
รสชาติของข้าวหลามช่างละมุนลิ้นซะจริง ๆ หอม หวาน มัน กลมกล่อมทุกรสชาติเลยทีเดียว หลาย ๆ คน คงได้ลิ้มรสกันบ่อย ๆ แล้วนะครับ ดูด้านบนของกระบอกซิครับ เยิ้มไปด้วยกะทิ น่ากินสุด ๆ ไม่แปลกใจเลยที่ข้าวหลามหนองมนเค้าโด่งดัง มีชื่อเสียงมานาน ก็เพราะความอร่อยที่บอกใครไม่ได้นี่เอง กระบอกไม้ไผ่ก็เป็นอีกมนเสนห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ข้าวข้างในกระบอกหอมน่าทานมากยิ่งขึ้นด้วย ที่นี่เค้าไม่ได้เหลากระบอกไม้ไผ่เหมือนข้าวหลามที่อื่นครับ ไม่จะทานเค้าก็จะทุบให้เราเสร็จสรรพ แงะไม้ไผ่ออกด้านนึง ก็ทานได้แล้ว มี 3 ขนาดให้เลือกตามชอบใจ กระบอกเล็กกระบอกละ 20 บาท กระบอกกลางกระบอกละ 25 บาท กระบอกใหญ่ 3-4 กระบอก 100 บาท
วิธีเลือกซื้อข้าวหลามก็ไม่มีอะไรมากครับ เลือกข้าวหลามที่เผาสุกใหม่ ๆ หรือที่ยังอุ่นอยู่ ถ้ามีกลิ่นออกเปรี้ยว ๆ ไม่ควรซื้อ เลือกที่มีกลิ่นหอมของกะทิ แต่ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะแม่ค้าแต่ละร้านเค้าให้เราชิมอยู่แล้ว แต่ส่วนมากของเค้าใหม่กันทั้งนั้นครับ ก็แน่ล่ะครับ ข้าวหลามหนองมนเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่งอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีของเก่าหรือของเสียให้ได้เห็นกัน และอีกอย่างที่ไม่น่าพลาดเช่นกัน “ขนมจาก” และ “ขนมหม้อแกง” ที่มีวางขายควบคู่ไปกับข้าวหลาม จนกลายเป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ และสองอย่างนี้ก็ขายดีไม่แพ้กัน ขึ้นชื่อในความอร่อยเหมือนกันครับ
พร้อมกันนี้ดูเอเซียขอนำเสนอตำนานข้าวหลามหนองมน ซึ่งเป็นข้อมูลดี ๆ จาก www.manager.co.th เค้าได้บอกเล่าถึงตำนานของข้าวหลามหนองมนไว้อย่างละเอียด ข้อมูลเหล่านี้เองที่ทำให้เราได้กินข้าวหลามอร่อย ๆ มาอย่างยาวนาน ใครที่อยากรู้ประวัติ และตำนานของข้าวหลามหนองมนก็ลองศึกษากันดูนะครับ
มนต์เสน่ห์ข้าวหลามหนองมนและแหล่งรวมของฝากมากมายของขึ้นชื่ออีกอย่างนึงแล้ว “ขนมหม้อแกงหนองมน” มนต์เสน่ห์ข้าวหลามหนองมนและแหล่งรวมของฝากมากมายนักกินหลายๆคนต่างยกให้ข้าวหลามหนองมนเป็นหนึ่งในข้าวหลามในดวงใจที่กินเมื่อไหร่ก็อร่อยเมื่อนั้นมาวันนี้ข้าวหลามหนองมนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาช้านานก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แห่งรูปรสกลิ่นที่ชวนกินอยู่ไม่เสื่อมคลาย
เปิดตำนานบ้านหนองมน อันคำว่าชื่อ”หนองมน”นั้น หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าชื่อนี้ได้แต่ใดมา ซึ่งตามตำนานของหมู่บ้านแห่งนี้ก็ได้บันทึกเอาไว้ว่า หนองมน เดิมทีเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของ จ. ชลบุรี วันหนึ่งมีพระภิกษุรูปหนึ่งมาธุดงค์และได้ปักกลดค้างแรมข้างหนองน้ำแห่งหนึ่งในละแวกนั้น ซึ่งก็เป็นเวลาที่หมู่บ้านแห่งนี้และหมู่บ้านใกล้เคียงเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นพอดี ส่งผลให้ชาวบ้านต่างบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าชาวบ้านจะพยายามให้หมอกลางบ้านหรือหมอยาสมุนไพรก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยความวิตกกังวลชาวบ้านจึงอาราธนาพระธุดงค์ให้มาช่วยเหลือ พระธุดงค์รูปนั้นจึงได้ทำพิธีปลุกเสกน้ำมนต์ให้ชาวบ้านที่มาขอน้ำมนต์นำไปดื่มกินและประพรมตัวให้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยปรากฏว่าโรคร้ายหายไปไม่มีใครล้มป่วยอีก ชาวบ้านที่หมู่บ้านใกล้เคียงได้ยินกิตติศัพท์ในการรักษาโรคร้าย ต่างก็พากันมาขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อไปรักษาโรคร้ายในหมู่บ้านของตนบ้าง จนพระธุดงค์ไม่สามารถทำน้ำมนต์ให้เพียงพอกับความต้องการของชาวบ้านได้ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันขุดพื้นดินตรงที่พักของพระธุดงค์เป็นบ่อน้ำ ก่อนเชิญท่านมาทำพิธีปลุกเสกและหยดเทียนลงไปในบ่อน้ำนั้นชาวบ้านทั้งในและนอกหมู่บ้านนำน้ำในบ่อไปดื่มกินและรักษาโรคร้ายด้วยความศรัทธา
เมื่อพระธุดงค์เดินทางไปธุดงค์ที่อื่น ชาวบ้านต่างพากันอพยพมาอยู่ใกล้ๆ หนองน้ำกลายสภาพเป็นหมู่บ้านใหญ่ ส่วนบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้นนานๆ เข้าก็แผ่ขยายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ชาวบ้านจึงพากันตั้งชื่อว่า “หนองน้ำมนต์” และเรียกหมู่บ้านตามชื่อหนองน้ำนั้น ก่อนจะกลายเป็น“หนองมน” ในกาลต่อมา เพราะไม่มีหนองน้ำมนต์ให้เห็นอีก เนื่องจากหนองน้ำมนต์ได้กลายเป็นท้องไร่ท้องนาไปแล้วนั่นเอง
เริ่มมาเป็นข้าวหลามหนองมน กว่าที่ข้าวหลามหนองมน จะโด่งดังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวนั้น แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านหนองมนมีอาชีพทำนา เมื่อหมดหน้านาก็จะทำข้าวหลามเป็นของหวานกินกันตามอัตภาพ โดยจะนำข้าวเหนียวไปแลกกับน้ำตาลและมะพร้าวจากหมู่บ้านอื่น ส่วนไม้ไผ่ป่าก็หาตัดกันเองบนเขาบ่อยาง เมื่อมีงานประจำปีที่ศาลเจ้าหลังหนองมน จึงเกิดมีการค้าขายขึ้น พ่อค้าแม่ค้าส่วนจะขายข้าวหลาม ควบไปกับการขายอ้อยควั่นและถั่วคั่ว โดยในยุคนั้นมีขายกันเพียงไม่กี่เจ้า จนเมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ทำให้มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาเที่ยวบางแสนมากขึ้น เกิดร้านค้ามากมายเรียงยาวตามเส้นทางสายสุขุมวิท ต.แสนสุข จ.ชลบุรี ที่ไม่ว่าใครผ่านไปผ่านมาต้องแวะลงไปซื้อข้าวหลามติดไม้ติดมือกลับบ้าน ซึ่งปัจจุบันข้าวหลามหนองมนผ่านยุคผ่านสมัยมาเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว
ข้าวหลามหนองมนสูตรโบราณ หากพูดร้านข้าวหลามหนองมนระดับเป็นตำนาน”ร้านแม่เผื่อ”และ”ร้านแม่เหมือน”นับหนึ่งในร้านเก่าแก่ดั้งเดิมที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันทั่วตลาดหนองมนในนาม”ข้าวหลามจอมพล” เนื่องจากในสมัยจอมพลสฤษฏ์ และนายพลเนวิน แห่งประเทศพม่าเคยเรียกแม่เผื่อและแม่เหมือนไปเผาข้าวหลามให้กิน ข้าวหลามแม่เผื่อและข้าวหลามแม่เหมือนจึงกลายเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไปทั่วประเทศ
ปัจจุบันร้านแม่เผื่อมีปราณี ศรีป่าน ลูกสะใภ้เป็นผู้สืบทอดกิจการและสูตรโบราณของแม่เผื่อที่เสียชีวิตไป 10 กว่าปีแล้วปราณีเล่าว่า ข้าวเหนียวที่ร้านแม่เผื่อใช้ทำข้าวหลามเป็นข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู ส่วนข้าวหลามที่ร้านก็มีรสชาติ เค็มมัน หวานน้อย ซึ่งต่างจากร้านอื่นที่หวานมาก โดยทางร้านยังคงรักษาสูตรดั้งเดิมของแม่เผื่อไว้ทุกอย่าง ทุกขั้นตอน “ข้าวหลามที่ทางร้านทำขายมีเพียง 2 ไส้ คือ ไส้เผือกและไส้ถั่ว เพราะเป็นสูตรโบราณ ซึ่งหากเปลี่ยนไปทำไส้อื่นลูกค้าจะไม่นิยมเท่าไส้เดิมตามแบบฉบับของข้าวหลามหนองมน” ปราณีเล่า
นอกจากนี้ปราณียังคงเลือกใช้วิธีการเผาข้าวหลามแบบโบราณด้วยการเผาฟืน เพื่อให้ข้าวเหนียวนุ่มทั่วกันจนถึงก้น ไม่เป็นก้อน พร้อมทั้งยังเป็นการคงความหอมของไม้ไผ่ไว้ ปัจจุบันปราณีเผาข้าวหลามเองไม่ไหว จึงให้ญาติพี่น้องเป็นคนรับผิดชอบดูแลเรื่องการเผาข้าวหลาม ซึ่งแม้ว่าการเผาข้าวหลามด้วยวิธีโบราณแบบเผาฟืนจะเป็นการเสียเวลามากก็ตาม แต่ข้าวหลามแม่เผื่อก็อยู่ในกระจาดพร้อมขายที่ตลาดหนองมนตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30 น. ทุกวัน และก็ได้รับการตอบรับจากทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าขาจรอยู่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ไหนๆก็พูดถึงร้านเก่าดั้งเดิมไปแล้ว คราวนี้ลองมาดูร้านข้าวหลามหนองมนในสูตรใหม่ รสชาติใหม่ๆที่”ร้านแม่เจริญ” กันบ้างร้านแม่เจริญ เป็นร้านข้าวหลามยุคใหม่ที่มีการปรับตัว ปรับรสชาติของข้าวหลามไปตามสมัยนิยมเพื่อให้ลูกค้าได้ลองลิ้มชิมรสข้าวหลามหนองมนรสชาติใหม่ๆ โดยมี ณัฐธิดา หอมหวล ผู้เป็นเจ้าของได้คิดค้นทดลองปรับเปลี่ยน ทั้งรสชาติและอุปกรณ์การผลิตไปตามความเหมาะสม ซึ่งเปลี่ยนร้านข้าวหลามธรรมดาให้กลายเป็นร้านข้าวหลามสะดวกซื้อ เพราะเปิดขายตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
ณัฐธิดา เปิดเผยว่า ด้วยเหตุที่ข้าวหลามร้านแม่เจริญเป็นข้าวหลามสอดไส้ ไม่ใช่ข้าวหลามโรยหน้าเหมือนเจ้าอื่น ทำให้มีวิธีการทำยาก สลับซับซ้อน ใช้วิธีและเทคนิคมาก ข้อสำคัญจะต้องดูเนื้อข้าวเป็น ทั้งยังต้องรู้จังหวะเวลาการใส่ไส้ในข้าวหลามระหว่างเผา ด้วยเหตุนี้ตนจึงต้องควบคุมการเผาเอง เพราะเป็นข้าวหลามสอดไส้ ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งทางร้านแม่เจริญจะควบคุมกระบวนการการทำข้าวหลามเองทุกอย่าง ตั้งแต่การตัดกระบอกไม้ไผ่เป็นบ้อง คั้นกะทิ จนกระทั่งวางขายที่แผงเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ณัฐธิดา บอกเคล็ดลับของการทำข้าวหลามว่า อยู่ที่การเลือกใช้ของดี ๆ ร้านแม่เจริญเลือกใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูพิเศษทำข้าวหลาม ตัวเดียวกับที่ใช้ทำข้าวเหนียวมะม่วง เพราะข้าวเหนียวจะเหนียวนุ่มพอดี เมื่อเผาแล้วข้าวเหนียวจะไม่แข็ง เพราะเครื่องปรุงในข้าวหลามที่ใส่ลงไปไม่ว่าจะเป็นเกลือ หรือน้ำตาลก็ตาม จะบีบรัดข้าวเหนียว หากใช้ข้าวเหนียวธรรมดาทำ ข้าวเหนียวจะแข็งคล้ายข้าวเหนียวดิบ
“สำหรับไส้ข้าวหลามของร้านแม่เจริญมีทั้งหมด 9 ไส้ ได้แก่ ไส้เผือก ไส้ถั่ว ไส้กล้วยตาก ไส้เม็ดบัว ไส้มะพร้าวอ่อน ไส้แปะก๊วย ไส้สังขยา และน้องใหม่อย่างข้าวหลามชาเขียว ที่คุณณัฐธิดาไม่ยอมตกยุคขอเกาะกระแสชาเขียว เอาใจวัยทีนใช้ข้าวญี่ปุ่นผสม ข้าวหลามชาเขียวที่ได้จะมีกลิ่นหอมของชาเขียว”ณัฐธิดาอธิบาย พร้อมเล่าต่อว่าสูตรข้าวหลามใหม่ๆเหล่านี้ตนได้คิดค้นขึ้นเองทั้งนั้น ส่วนจะมีข้าวหลามไส้ใหม่ๆอะไรออกมาอีกนั้น ณัฐธิดาบอกขอเวลาให้บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์สงบสุขก่อนแล้วค่อยคิดค้นทำข้าวหลามหน้าใหม่ออกสู่ตลาดหนองมนอีกครั้งหนึ่ง
ในส่วนของการเผาข้าวหลามนั้นก็ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน ณัฐธิดาได้อธิบายถึงวิธีการทำข้าวหลามทั้งแบบโบราณและแบบสมัยใหม่ว่า”วิธีทำข้าวหลามนั้นเริ่มจากการแช่ข้าวเหนียว และถั่วดำไว้ก่อน เมื่อแช่ข้าวเหนียวได้ที่แล้วนำไปต้มให้สุก จากนั้นนำข้าวเหนียวสุกใส่กะทิที่ผสมเกลือกับน้ำตาลไว้แล้ว คลุกให้เข้ากัน นำไปใส่กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการเผา ซึ่งการเผาข้าวหลามที่หนองมน มี 2 วิธี คือ การเผาข้าวหลามแบบฟืน และแบบเตาแก๊ส”การเผาข้าวหลามแบบฟืนเป็นการเผาข้าวหลามแบบดั้งเดิม ที่ต้องวางเรียงข้าวหลามบนพื้นดินเป็นแถวยาว ใช้กาบมะพร้าว ฟืน และเศษไม้ไผ่ที่เหลือจากการทำกระบอกข้าวหลามมาสุม คนเผาต้องใช้แรงและพลังงานเยอะในการเผา ซึ่งกว่าจะได้ข้าวหลามมา ต้องใช้เวลาเผานานกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งยังต้องล้างเก็บ ทำให้ยากลำบาก คนทำข้าวหลามในปัจจุบันจึงเปลี่ยนจากการเผาข้าวหลามแบบโบราณมาใช้เตาเผาแทน”
ณัฐธิดาอธิบาย ก่อนเล่าต่อว่า ในส่วนของร้านแม่เจริญได้คิดค้นให้ช่างสร้างเตาเผาข้าวหลามขึ้น โดนได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจนใช้การได้มาประมาณ 20 ปีแล้ว ปัจจุบันคนเอาไปใช้ทั่วหนองมน เตาเผาที่ใช้เป็นตู้สี่เหลี่ยม ภายในเป็นช่องราง สำหรับใส่ข้าวหลามเรียงเป็นแถวตอนซึ่งต้องคอยปรับอุณหภูมิอยู่ตลอดเวลาอนึ่งหลังจากที่ข้าวหลามหนองมนเริ่มมีชื่อเสียง ในการหาไม้ไผ่มาทำข้าวหลามชาวบ้านหนองมนจะเลือกใช้ไม้ไผ่ป่าจากเขาบ่อยาง มาทำข้าวหลาม แต่ปัจจุบันไม่มีไม้ไผ่เหลือให้ตัดใช้ จึงต้องสั่งซื้อไม้ไผ่มาจากที่อื่นแทน โดยไม้ไผ่ที่ใช้ทำข้าวหลามมี 3 ชนิด คือ ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ป่า และไผ่สีสุก ซึ่งในปัจจุบันไม้ไผ่เมืองไทยเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ซ้ำในปัจจุบันยังเกิดวิกฤตต้นไผ่ออกดอก หรือไผ่ตายขุยมากกว่าปกติ ซึ่งนั่นหมายความว่า ไผ่กอนั้นจะตายทั้งกอภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี ที่ถึงแม้ว่าจะเกิดหน่อใหม่ขึ้นมาก็มีคุณภาพไม่เท่าเดิม
ในส่วนของไม้ไผ่ที่ใช้ทำข้าวหลามหนองมนในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่มาจาก 3 ที่ด้วยกัน คือ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดจันทบุรี และประเทศเขมร โดยจะมีคนนำมาส่งอีกที ไม้ไผ่ของประเทศไทยนั้นจะหอมและสวยกว่าไม้ไผ่เขมร นอกจากนี้ไม้ไผ่เขมรยังไม่มีเยื่อไผ่ เมื่อนำมาเผาจะไม่ได้กลิ่นหอมของเยื่อไผ่เหมือนไผ่ไทย บางครั้งไม้ไผ่ขาดตลาด เพราะคนต้องการใช้ไม้ไผ่เยอะ ซึ่งทำให้ณัฐธิดาเริ่มมองหาทางแก้ไข เพื่อไม่ให้ข้าวหลามหนองมนต้องสูญหายไป
สำหรับลมหายใจของข้าวหลามหนองมนในวันนี้ยังคงถือว่าดีอยู่ แต่ก็ไม่แน่ว่า วันหนึ่ง”ข้าวหลามหนองมน” อาจไม่ได้อยู่ในกระบอกไม้ไผ่อย่างทุกวันนี้ก็ได้ หากไม้ไผ่หมดไปจากป่า ข้าวหลามหนองมนหรือข้าวหลามจากที่อื่นๆอาจจะถูกย้ายไปใส่ในภาชนะประเภทอื่นแทน