ทุ่งสมอปูน สวรรค์บนดินของคนทาง

0

“ทุ่งสมอปูน” ป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือเส้นทางเดินป่าที่นักเดินป่ารุ่นเก่าๆ รู้จักเป็นอย่างดี เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ การเดินทางสะดวก เดินป่าไม่ยากนัก เพราะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 807 เมตรเส้นทางเดินป่า “ทุ่งสมอปูน” ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ โดยด้านพืชพรรณไม้ในช่วงหน้าฝน หรือช่วงปลายฝน เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นลานหินทรายกระจายอยู่ทั่วสันเขา มีสภาพป่าเป็นป่าแคระเนื่องจากต้นไม้ไม่สามารถหยั่งรากลงได้ลึก และในบริเวณลานหินทรายเหล่านี้ก็พบหมู่ดอกไม้ป่าหน้าฝนขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

ภาพความสวยงามของหมู่ดอกไม้บนเขาสมอปูน จึงเป็นที่หมายปองของนักเดินป่าที่ต้องการไปชมดอกไม้ธรรมชาติที่ขึ้นอยู่หลากชนิด และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การไปสัมผัสธรรมชาติป่าเขาที่สวยงาม อากาศบริสุทธิ์ โดยใช้เวลาเดินป่าประมาณ 2 วัน 1 คืน โดยใช้เส้นทางเดินขึ้นจาก กม.14 ด่านเนินหอม และกลับลงเส้นทางเดิมหรือ 3 วัน 2 คืน เป็นโปรแกรมเดินยาวจาก กม.14 ไปออกน้ำตกเหวอีอ่ำที่หน่วยเพกา โดยมีรูปแบบของเส้นทางที่เหมาะสมกับเงื่อนไขเวลาของแต่ละคนช่วงแรกของการเดินป่าจะผ่านป่าดงดิบ จะพบร่องรอยของช้างป่าอยู่บ้าง เป็นเส้นทางที่ค่อยๆ ไต่สูงขึ้น แต่ไม่ชันมากนัก จังหวะการก้าวเดินก็ย่างก้าวควรให้สม่ำเสมอ อย่าเร่งรีบ ปรับการหายใจให้สัมพันธ์กับการก้าวเดิน ก็ช่วยให้เราไม่เหนื่อย เส้นทางค่อนข้างชัดเจน และค่อยๆ ลาดชันขึ้นไป บางช่วงก็เป็นทางชันยาว จนกระทั่งมาถึงต้นน้ำที่เราต้องผ่านช่วงที่ชันที่สุด จะเป็นหน้าผาน้ำตก เราต้องปีนชั้นหน้าผาน้ำตกขึ้น ตัดเข้าป่าทึบที่หัวน้ำตก เมื่อพ้นจุดนี้ขึ้นไปแล้วอีกไม่นานก็จะถึงลานหินบนยอดเขาสมอปูน มีลักษณะเป็นลานโล่งกว้าง มีร่องหินเป็นแนวธรรมชาติ

ลานหินทางด้านตะวันออก เรียกว่า “ทุ่งหน้าผา” จะเป็นแนวหน้าผาที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้ ตามลานหินเราจะพบ “เอื้องม้าวิ่ง” ขึ้นเป็นกลุ่มเป็นกอ  มีสีสันสวยเด่นที่เราสามารถมองเห็นได้แต่ไกล นักถ่ายภาพที่หอบหิ้วกล้องขึ้นก็วางเป้ปักหลักถ่ายภาพกันเลย ลักษณะของภาพแล้วจะต้องเลือกถ่ายภาพมาโครเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้เวลาและความพิถีพิถันกันอย่างสุดฝีมือ

นอกจากนี้ยังเห็น “หญ้าปราบดอย” มีดอกสีม่วงสดสวยอยู่ด้วย ช่อดอกเป็นปุยมีเกสรเกสรสีเหลืองแทรกอยู่ด้วย บางกอจะมีแมงมุมมาถักใยคลุมดอกเอาไว้ เพื่อดักรอจับเหยื่อที่จะมาดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้

ทั่วบริเวณลานหินยังพบกับ “เอื้องนวลจันทร์” มีสีเหลืองพลิ้วไสวตามสายลม ตามซอกหินยังพบ “ดอกดุสิตา” ขึ้นกระจายอยู่บางตา คงจะสู้ที่ทุ่งโนนสนไม่ได้ ความสมบูรณ์ของดอกไม้ชนิดนี้สู้กันไม่ได้ ที่ทุ่งโนนสนจะหนาแน่นกว่า และมีมากกว่าด้วย สำหรับที่ทุ่งสมอปูนเท่าที่ดูก็พอใช้ได้โลกธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของหมู่ดอกไม้ในช่วงฤดูฝน ที่เริ่มมีมวลดอกไม้ผลิบานตามลานหินบ้างแล้ว โดยเฉพาะ ดอกกระดุมเงิน จะขึ้นเป็นกลุ่มหนาตาเช่นกัน แต่ขนาดของดอกมีขนาดเล็ก ขึ้นกระจายตามลานหินและแหล่งน้ำซับทั่วไป

จากหัวเขาที่มีความสูงประมาณ 807 เมตร ลงไปสู่ที่ราบบนสันเขาที่มีลักษณะเป็นลานหินป่าแคระที่มีระดับความสูงประมาณ 700 เมตร จากระดับน้ำทะเล  จะมีลักษณะเป็นที่ราบเดินกันสบายๆ ในทำเลที่พักเราจะเลือกเอาบริเวณที่มีแหล่งน้ำ แถวบริเวณลานสุริยันต์ก็มีให้อยู่หลายจุด

สภาพป่าด้านบนเขาสมอปูนป่าแคระ ป่าเสม็ด ป่าทุ่งหญ้า และถัดลึกเข้าไปด้านในจะเป็นป่าดงดิบ ที่เชื่อมต่อกับเทือกเขาน้อยใหญ่ในอาณาเขตของผืนป่าเขาใหญ่ ที่กลายเป็นบ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่ามากมาย

ต่อจากทุ่งหน้าผา เราก็ยัง ลานสุริยันต์ เป็นลานหินทรายมีรูปทรงแปลกตา ช่วงปลายฤดูฝนจะมีดอกไม้ขึ้นหน้าตา หากเราชอบแสวงหา ตามแนวป่า ตามโขดหิน เราจะพบกล้วยไม้ประเภท เอื้องรวงข้าว ใบพัดสิงโตแดง กำลังผลิดอกบานอย่างสวยงามเช่นกัน นักท่องเที่ยวสามารถค้างแรมบนเขาสมอปูนได้ในบริเวณลานสุริยันต์ที่มีแหล่งน้ำ และยังชมทิวทัศน์จากยอดเขาได้อีก เพราะมีสภาพภูมิทัศน์โล่งกว้าง ไม่อึกอัดเหมือนกับป่าทึบ และมีบรรยากาศเงียบสงบบนสันเขาสมอปูนที่มีลักษณะเป็นที่ราบ สูงประมาณ 700 เมตร จากระดับน้ำทะเล แนวเทือกเขาเอียงลาดไปทางด้านตะวันออก จะพบทุ่งหญ้าอีกหลายแห่งที่เราอาจพบทุ่งดอกหงอนนาคได้เช่นกัน เป็นดอกไม้ที่สมบูรณ์อีกจุดหนึ่ง

บรรยากาศการตั้งค้างแรมบนสันเขาสมอปูน เราจะพบกับบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติล้วนๆ เวลาช่วงเย็นเราก็ได้เก็บบันทึกหมู่ดอกไม้และกล้วยไม้ได้หลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นเอื้องทอง เอื้องรวงข้าว เอื้องใบพัดสิงโตแดง หรือจะเป็นพันธุ์พืชชนิดอื่นๆ เท่าที่เห็นก็พบชนิดที่น่าสนใจเช่นกัน

ทุกคนได้พักผ่อนกันเต็มอิ่มหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยจากการขึ้นยอดเขามาในวันแรก เช้าวันรุ่งขึ้น เราได้พบกับบรรยากาศของสายหมอกที่แผ่ขาวโพลนไปทั่วยอดเขา เจ้าหน้าที่นำทางได้นำพาพวกเราออกเดินทางไปยังเป้าหมายแห่งใหม่ คือ คลองหินดาด ที่อยู่ไปทางตะวันออกของเขาสมอปูน

เจ้าหน้าที่นำทางพาพวกเราตัดป่าไผ่ เพื่อข้ามแนวเขาด้านตะวันออก ซึ่งต้องผ่านดงไผ่ปล้องอยู่พักใหญ่ จึงมาถึงร่องหุบเขาอยู่เบื้องหน้า เสียงน้ำไหลกระทบแก่งหินดังซู่ซ่าไม่ขาดสาย บนพื้นดินร่วนเราพบรอยกระทิงโทนขนาดใหญ่ คาดว่ามันคงขึ้นมาหากินหน่อไผ่ในแถวนี้

ลงถึงทุ่งหญ้าลานหินกว้างก็พบกอดอกเอื้องม้าวิ่งขนาดใหญ่ กำลังชูดอกสีม่วงสดใส นับช่อดอกดูมีอยู่เกือบ 10 ช่อดอก เราเลยต้องหยุดเก็บภาพความงดงามเหล่านั้นไว้อย่างเต็มที่

ถัดไปจากกอดอกม้าวิ่ง จะมีลำธารเล็ก ๆ ชาวบ้านเรียกว่า คลองฟันปลา มีสาขาแยกกันสองสาย เลยเรียกคลองสายนี้ว่า คลองฟันปลา 1 ส่วน คลองฟันปลา 2 เราจะต้องเดินข้ามเนินเขาอีกลูกหนึ่งไปถึงจะเจอบนเนินเขาระหว่างคลองฟันปลา 1 กับคลองฟันปลา 2 มีสภาพเป็นป่าไผ่ปล้อง มีช่องทางเดินจนกระทั่งลุเข้าหุบเขาร่อง คลองฟันปลา 2 มีสภาพเป็นลานหิน ลำธารน้ำ มีหมู่ดอกไม้เล็ก ๆ กระจายไปทั่ว

แวะพักทานอาหารเที่ยงที่คลองฟันปลา 2 ต่อจากนั้นก็ได้เดินทางกันต่อ เริ่มเข้าบริเวณทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาล มีอาณาพื้นที่นับพันไร่ ลักษณะภูมิประเทศโล่งกว้าง มีแนวป่ารายรอบข้าง มีลักษณะเป็นป่าแคระหรือเป็นป่าเบญจพรรณ เราเริ่มสนใจกับพื้นทราย ที่ปรากฏเป็นภาพมวลหมู่ดอกไม้อย่างจำนวนมาก กระดุมเงิน ชูดอกขาวสลอน บางแห่งเกาะกลุ่มขึ้นเป็นผืนใหญ่ มีสลับด้วยหยาดน้ำค้างขนาดเล็กเป็นดอกสีแดงสดสวย ถัดไปอีกหน่อยจะมีสวนหินขนาดย่อมวางเรียงรายอย่างเป็นธรรมชาติในบริเวณลานหิน มีดอกกระดุมเงินขึ้นเป็นหย่อม ๆ มีหยาดน้ำค้าง ดอกดุสิตา ขึ้นปะปนด้วย ไกลออกไปเราได้ยินเสียงลำธารไหลกระทบหินดังซู่ซ่า คาดว่าคงเป็นน้ำตกลานหินดาดก็คงเป็นเป้าหมายของการพักค้างแรมในวันนี้

แก่งหินดาด ที่เกิดขึ้นกลางคลองหินดาด มีลักษณะเป็นลานหินกว้างใหญ่ มีสายน้ำไหลหลากไปตามแนวร่องน้ำ ที่ไหลหลากลานหินคดโค้งเป็นแนวยาวลงมาไม่น้อยกว่า 300 เมตร ลดหลั่นลงมาเป็นระดับชั้นเล็ก ๆ ดูเป็นลักษณะแก่งธารน้ำ หากเป็นช่วงน้ำหลากจะดูยิ่งใหญ่ไม่น้อยเลย บรรยากาศของแก่งหินดาด นอกจากจะเป็นแก่งขนาดกว้างใหญ่แล้ว ยังมีชั้นน้ำตกขนาดเล็กอยู่ตอนล่างท้ายแก่ง เราก็เลือกหามุมถ่ายภาพมาได้หลายมุมเช่นกัน

เช้าวันรุ่งขึ้น ท่ามกลางอากาศสดใส เสียงสายน้ำของแก่งหินดาดก็ยังไม่ขาดหาย ท้องฟ้าไม่มีการส่อแววของฝนฟ้าแต่ประการใด แสงแดดยามเช้าทอดแสงอย่างอบอุ่น ในช่วงเวลาดังกล่าวเราจึงออกสำรวจหมู่มวลดอกไม้ที่อยู่ในละแวกลานหินดาด พบว่ามีจำพวกกระดุมเงินมากที่สุด มีดุสิตาแซมสลับในกลุ่มกระดุมเงิน หยาดน้ำค้างก็ขึ้นปะปนอยู่ด้วย ส่วนเอื้องนวลจันทร์พบเห็นตามชายทุ่งที่เป็นลักษณะลานหินพวกเราจึงเคลื่อนย้ายออกเดินทางมุ่งหน้าต่อไปยังเป้าหมายคือ น้ำตกเหวอีอ่ำ โดยมีเจ้าหน้าที่นำทางพาตัดทุ่งที่ราบกว้างใหญ่ จากน้ำตกลานหินดาดเราจะต้องข้ามคลอง จนทะลุออกมายังแนวป่าเสม็ด เป็นป่าแคระร่มรื่นอยู่ไม่น้อย พวกเราจึงสบายอารมณ์เมื่อได้หยุดพักคลายเหนื่อยคลายร้อน ถัดต่อมาถึงได้เดินทางกันต่อ ผ่านสวนหินธรรมชาติทางด้านชายทุ่ง ซึ่งมีรูปร่างแปลก ๆ บ้าง เป็นรูปทรงสะพานหินโค้ง

จนกระทั่งมาถึงคลองช้างคลาน อันเป็นต้นน้ำของน้ำตกเหวอีอ่ำ เราก็ได้พบกับ น้ำตกลอดหิน ที่ชาวบ้านเขาเรียกตามลักษณะของน้ำตกที่ได้ไหลผ่านซอกหินมาอีกด้านหนึ่ง หรือมีอีกชื่อหนึ่งที่กลุ่มนักท่องเที่ยวได้พบ และตั้งชื่อว่า น้ำตกบังเอิญ

การเดินทาง

เราต้องเดินทางไปจังหวัดปราจีนบุรี จะเดินทางด้วยรถทัวร์ประจำทางก็ได้ แต่ค่อนข้างใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่ถ้าจัดหารถส่วนตัวไปเองก็ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง สะดวกทั้งไปและกลับ

การติดต่อ

เขียนจดหมายไปที่ หน่วยพิทักษ์ป่าเขาใหญ่ ขญ.12 (เนินหอม) ปท.บ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ต้องแจ้งเป็นเวลาล่วงหน้า 10 วัน เพื่อทางเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมกำลังไว้ให้ หรือจะเอาลูกหาบก็ต้องระบุให้ชัดเจน
หรือโทร. ไปยังหน่วยเนินหอม  เบอร์ 01/ 218-0521 เป็นตู้สาธารณะบริเวณด่านเนินหอม

ช่วงเวลาที่เหมาะสม

ประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่น่าเที่ยว ราวช่วงเดือนตุลาคม จะมีดอกไม้ผลิบานมากที่สุด เราจะพบความหลากหลายของทุ่งดอกไม้ มีกล้วยไม้ ที่เกิดขึ้นตามลานหินทราย หลายชนิด จึงถือว่าช่วงเดือนนี้เป็นช่วงที่เหมาะที่สุด

ขอบคุณภาพจาก www.chomthai.com

เชิญแสดงความคิดเห็น