บึงฉวาก under water world thailand

0

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มองข้ามไปไม่ได้เมื่อมีโอกาสมาถึงจังหวัดสุพรรณบุรีก็คือ บึงฉวาก เพราะบึงฉวากมีธรรมชาติที่สวยงามและมีจุดเด่นที่น่าสนใจ ตรงที่มีสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งถือว่าเป็น Under Water World แห่งแรกของประเทศไทย ตามมานะครับ เรามาเที่ยวบึงฉวากกัน

บึงฉวาก บนพื้นที่กว่า 2,000ไร่ กินเนื้อที่ระหว่างอำเภอเดิมบาง-นางบวชจังหวัดสุพรรณบุรีไปอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เป็นบึงน้ำจืดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1-3 เมตร กลางบึงเต็มไปด้วยดอกบัวหลวง ทั้งสีขาวและสีชมพู บึงฉวากนั้นเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของสายน้ำท่าจีน เมื่อผ่านระยะเวลาและการทับถมของตะกอนดินโคลน จึงทำให้ส่วนหนึ่งของแม่น้ำแยกตัวออกมาเป็นบึงรูปโค้ง ฯพณฯบรรหาร ศิลปอาชา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำโครงการพัฒนาบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯทรงครองราชย์เป็นปีที่50 ได้จัดสร้างสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำขึ้นและเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาพฤติกรรมสัตว์น้ำที่สำคัญให้กับ นักวิชาการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจโดยทั่วไป เพื่อปลูกสร้างจิตสำนึกให้รู้จัก และรักษาทรัพยากร อันมีค่ายิ่งของไทย

พอดูเอเซียเลี้ยวรถเข้ามาในเขตของบึงฉวาก ก็สัมผัสได้ถึงความกว้างใหญ่ และร่มรื่น ริมฝั่งเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ พื้นดินปกคลุมด้วยใบหญ้าที่ได้รับการดูแลและตัดแต่งอยู่เสมอ สังเกตได้จากการวันที่มาได้พบเห็นคนงานคอยตกแต่งบริเวณริมฝั่งระหว่างทางเข้า ทางด้านขวามือจะมีร้านอาหารไว้คอยบริการอยู่หลายร้าน หากใครหิว ก็แวะทานก่อนก็ได้นะครับ 

ภายในบึงฉวากไม่ได้มีแค่เพียงสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ที่นี่ยังมีสวนสัตว์ขนาดย่อม มีกรงนกใหญ่ที่เลี้ยงนกไว้ในสภาพธรรมชาติและให้เราเข้าไปเดินชมกันในกรงได้เลย มีอุทยานผักพื้นบ้าน มีรีสอร์ท ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวสำหรับใครที่ต้องการพักค้างคืน สถานที่ทั้งหลายนี้ตั้งอยู่ตามแนวริมบึง ส่วนสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่ดูเอเซียจะพาไปชมนั้นอยู่ด้านในสุด

พอจอดรถได้ก็เดินมาถึงบริเวณหน้าทางเข้า ก็ต้องมาซื้อบัตรเข้าชมกันก่อน ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท ส่วนนักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ก็คนละ 10 บาท ที่นี่เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน วันธรรมดาเปิดทำให้เข้าชมคั้งแต่เวลา 10 โมงถึง 5 โมงเย็น ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 9 โมงถึง 6 โมงเย็น เด็กเล็กสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร ก็เข้าชมกันได้ฟรี ใครขี้เกียจเดินก็สามารถเช่ารถกอล์ฟขับไปได้ เค้ามีไว้บริการเหมือนกัน ราคาถ้าจำไม่ผิด ก็อยู่ที่ ครึ่งชั่วโมง 150 บาท 1 ชั่วโมงก็ 250 บาท หรือถ้าครอบครัวไหนมีผู้สูงอายุหรือผู้พิการมาด้วย เค้าก็มีบริการให้ยืม Wheel Chair กันแบบฟรีๆ

เดินเข้ามาภายในก็จะมีตุ๊กตาดีสนีย์ลูนนี่ตูนคอยยืนยิ้มตอนรับทุกคนที่เข้ามาเยือน เดินเข้ามาเรื่อยๆก็จะมีตากล้องคอยแอบถ่ายรูปเราเพื่อนำไปสกรีนใส่จานทำเป็นของที่ระลึกไว้ให้เราได้ซื้อกลับบ้าน พอมาถึงอาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ตัวอาคารจะแบ่งออกเป็น 2 หลัง หลังที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยตู้ปลาน้ำจืด ขนาด 30 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ตู้ และตู้ปลาน้ำจืดขนาด 1 – 3 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 24 ตู้ แต่ด้วยว่าอาคารหลังที่หนึ่งจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้เพียง 50 ชนิดเท่านั้น จึงได้จัดสร้างอาคารหลังที่ 2 ขึ้นและทำทางเชื่อมอาคารเข้าหากัน ภายในตัวอาคาร ประกอบด้วย ตู้ปลาขนาดใหญ่ บรรจุน้ำได้ 400 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ตู้ สามารถเดินดูปลาได้รอบตู้ และมีอุโมงค์ลอดใต้ตู้สามารถชมความเคลื่อนไหวของสัตว์น้ำในตู้จาก อุโมงค์ได้ อุโมงค์มีความยาว ประมาณ 8.5 เมตร อุโมงค์ปลาน้ำจืด ตู้ปลาใหญ่นี้ใช้อะครีลิคในการสร้างตู้ ซึ่งอะครีลิคมีความหนาถึง 88 ม.ม. (3.5 นิ้ว) นอกจากตู้ปลาใหญ่แล้วยังมีตู้ปลาน้ำจืดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร อีก 30 ตู้ พันธุ์ปลาที่จัดแสดงส่วนใหญ่จะเป็นปลาน้ำจืดทั้งพันธุ์ปลาไทยและปลาต่างประเทศ นอกจากนั้นก็ยังมีปลาน้ำเค็มด้วย โดยแสดงไว้ในอาคารทั้งสองหลัง หลังที่ 1 จำนวน 3 ตู้ และในอาคารหลังที่ 2 จำนวน 7 ตู้

กว่าจะเก็บภาพมาให้เพื่อนๆดูได้เนี่ย สุดแสนจะลำบากเพราะ พอจะถ่ายภาพที่ไร ปลาก็ไม่ค่อยอยู่นิ่งให้ถ่าย ว่ายไปว่ายมา กว่าจะได้ก็เล็งแล้วเล็งอีก ก็ได้มาพอสมควร ดูกันเองแล้วกันครับว่าความสวยงามระหว่างปลาน้ำจืดกับปลาน้ำเค็มมันต่างกันยังไง ส่วนพันธุ์ปลาน้ำจืดที่น่าสนใจก็มี ปลาบึก ปลากะโห้ ปลาม้า ปลาเสือตอ ปลาช่อนงูเห่า ปลาตาบอด ปลากลับหัว ปลาไหลไฟฟ้า เดินดูปลาไปแต่ละตู้ก็จะมีข้อมูลของปลาในตู้นั้นๆ ให้เราได้อ่านและทำความรู้จักกับมัน เพราะปลาบางชนิด เราก็ไม่ค่อยได้เคยเห็น หรือไม่คุ้นหน้ามันเลยก็มี มาถึงอาคารที่ 2 ที่มีอุโมงค์ขนาดใหญ่ ให้เราได้ดูการเคลื่อนไหวและชีวิตของปลาใต้ท้องน้ำ เหมือนกับว่าเราได้ไปอยู่ใต้แม่น้ำจริงๆ ปลาแต่ละตัว ตัวใหญ่มาก นึกอยู่ในใจถ้าตกลงไป มันจะกินเราไม๊เนี่ย อ้อ! ลืมบอกไปเขากำลังจัดสร้างอาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำอาคารที่ 3 ทำเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ทั้งอาคารซึ่งจะเปิดให้เข้าชมได้ต้นปี 2552 นี้ถือเป็นของขวัญปีใหม่เลยทีเดียว ไว้สร้างเสร็จแล้ว ดูเอเซียจะพามาเที่ยวใหม่แล้วกันนะครับ

ออกมานอกตัวอาคาร เดินไปอีกหน่อยก็จะเป็นบ่อจระเข้ เป็นจระเข้น้ำจืด แต่ละตัวตัวใหญ่มาก บ้างก็นอนอ้าปากเรียงรายอยู่ริมฝั่ง บ้างก็นอนแช่น้ำอยู่ในบ่อ เดินๆไป ขาก็สั่นไปด้วย กลัวว่าถ้าตกลงไปคงไม่เหลือแน่ๆ ทั้งๆที่เค้าก็ทำทางเดินไว้ให้มั่นคง แข็งแรงอยู่แล้ว แต่ขาก็ยังเกร็งๆ อยู่ดี ในบ่อจระเข้นี้ เค้ามีการแบ่งบ่อพักจระเข้ เป็นบ่อฟักไข่ บ่ออนุบาลด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีการแสดงโชว์จระเข้ในวันเสาร์- อาทิตย์ น่าเสียดายที่ดูเอเซียไปวันธรรมดาเลยไม่ได้ดูโชว์ คงจะหวาดเสียวน่าดู

เอาล่ะครับ ยังไงก็เชิญชวนแล้วกัน ไปสุพรรณฯก็อย่าลืมแวะไปเที่ยวบึงฉวากแล้วกัน บนเส้นทางระหว่างอำเภอเดิมบาง- นางบวชจังหวัดสุพรรณบุรีไปอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาทกลางบึงเต็มไปด้วย ดอกบัวหลวง ทั้งสีขาวและสีชมพู และในราวเดือนกันยายน – พฤษภาคม จะเห็นเป็ดแดงฝูงใหญ่ลอยตัวจับกลุ่มอยู่ตามกอบัว ที่นี่คือ “บึงฉวาก” ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ามาตั้งแต่ ปี 252 เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ในพื้นที่ร่วม 2,000ไร่ นี้ไว้และด้วยความ หลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีในบึง . บึงฉวากจึงถูกจัดให้เป็น พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตาม อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีมาตั้งแต่ปี 2541 ลักษณะที่เรียกมีบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ กว้างไกล สุดสายตาว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตาม อนุสัญญาแรมซาร์นั้นก็คือ พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม น้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้าง ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมถาวรและชั่วคราว ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล แหล่งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล และทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดต่ำสุด น้ำลึกไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งบึงฉวากเข้าข่ายลักษณะดังกล่าวที่เป็นบึงน้ำจืดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1-3 เมตร

บึงฉวากนั้นเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของสายน้ำท่าจีน เมื่อผ่านระยะเวลาและการทับถมของตะกอนดินโคลน จึงทำให้ส่วนหนึ่งของแม่น้ำแยกตัวออกมาเป็นบึงรูปโค้ง มีขนาดใหญ่กินพื้นที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ก่อนหน้าที่จะประกาศให้บึงฉวากเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่านั้น นายจรินทร์ กาญจโนมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ในขณะนั้น ได้เข้ามาบุกเบิกพัฒนาพื้นที่รอบบึงเมื่อปี พ.ศ.2525 และเห็นว่าบึงฉวากมีธรรมชาติสวยงาม มีนกน้ำจำนวนมากมายอาศัยอยู่ จึงได้ประสานงานไปยังกรมป่าไม้ นับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2526 เป็นต้นมาเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากจึงได้รับการจัดตั้งขึ้นครอบคลุมพื้นที่ 3.2 ตารางกิโลเมตร บึงฉวากรับน้ำจากคลองและทุ่งนาใกล้ๆ จึงมีตะกอนดินโคลนไหลเข้ามาทำให้บึงตื้นเขินนานเข้าพืชน้ำก็ขึ้นรก และเกิดน้ำเน่าเสีย ในปี 2537 จังหวัดสุพรรณบุรี โดย ฯพณฯบรรหาร ศิลปอาชา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำโครงการพัฒนาบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ สภาพธรรมชาติในบึงฉวาก บึงฉวากเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์หลายชนิด สังคมพืชและสัตว์ที่พบในบึงและบริเวณโดยรอบ ต่างเอื้อต่อการดำรงอยู่ของกันและกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย เช่น นกอีโก้ง เป็นนกน้ำที่มีสีน้ำเงินอมม่วงสวยงาม ตัวใหญ่ ขายาวนิ้วตีนยาวเอาไว้เดินบนจอกหรือใบบัวโดยเฉพาะ อาหารโปรดของนกอีโก้ง ได้แก่ หอยโข่ง หอยเชอรี่ ซึ่งเป็นการช่วยกำจัดศัตรูในนาข้าวไปโดยปริยาย

ส่วนตามชายบึงที่มี พงอ้อ แขม ธูปฤาษี หญ้าชนิดต่างๆ มักจะมีนกน้ำหลายชนิดอาศัยทำรัง เพราะช่วยพรางตาได้ดี และบริเวณใต้น้ำก็มีพืชน้ำ เช่น สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายข้าวเหนียว เป็นแหล่งวางไข่ของปลาและแมลง ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำและเป็นอาหารของพวก เต่า ปลา นกน้ำ เมื่อดูบนฝั่งจะเห็นว่ามีพวกไม้ยืนต้น เช่น ตะขบน้ำ จิก สะแกนา ไผ่ พุทรา มะขามเทศ พืชเหล่านี้นอกจากจะช่วยยึดหน้าดินริมตลิ่งแล้วยังเป็นที่ให้นกอาศัยสร้างรังวางไข่ เช่น นกเขา นกกระจาบ

นกที่อพยพมาอยู่ที่บึงฉวากทุกปี คือ เป็ดแดง ซึ่งจะเริ่มเห็นข้ามมาอยู่ที่บึงฉวากเป็นฝูง ใหญ่ในช่วงฤดูหนาวตอนกลางวันเราจะเห็นเป็ดแดงหลบพักอยู่ตามกอบัว พอตอนเย็นช่วงใกล้ค่ำก็จะบินโผขึ้นเป็นฝูงใหญ่ออกไปหากินตามทุ่งนา เวลามองไกลๆ จะเห็นว่าบินช้าหัวและคอจะหอยต่ำกว่าลำตัง พร้อมกับส่งเสียงวี๊ด วี๊ด นกเป็ดแดงที่เห็นในบ้านเรามีทั้งที่เป้นนกประจำถิ่นและย้ายถิ่นเข้ามาช่วงฤดูหนาว อาศัยตามทุ่งนา หนองบึง และทะเลสาบทั่วประเทศ พวกที่เป็นนกอพยพจะทยอยบินกลับในเดือนเมษายน และ นกปากห่าง ซึ่งเป้ฯนกขนาดใหญ่ ขนสีเทาเกือบทั้งตัวที่สะโพก ขอบปีก และหางเป็นสีดำ ปากใหญ่ เวลาหุบปากตรงกลางปากจะไม่ติดกัน ทำให้คาบหอยโข่งหรือหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นอาหารโปรดได้ถนัด นกปากห่างเป็นนกที่อพยพเข้ามาประมาณช่วยเดือนตุลาคม หากินและเลี้ยงลูกจนโตจึงจะพากันบินอพยพกลับราวๆ เดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีนกน้ำหลายชนิดที่ชองทำรังเป็นกลุ่มและอยู่ปะปนรวมกันบนกออ้อกอพง และต้นไม้ต้นเดียวกันหรือต้นใกล้ๆ กันเช่น นกแขวก นกกระทุง นกยางควาย นกยางกรอก นกยางเปีย นกยางโทนใหญ่ นกช้อนหอยขาว นกกาน้ำเล็ก โดยสร้างรังด้วยใบอ้อ ใบพงหรือกิ่งไม้เล็กๆ แบบหยาบๆ เป็นกลุ่ม เพื่อช่วยกันระวังภัยและหาอาหารอยู่ตามบึงหรือทุ่งนา เช่น ปลา กบ เขียด กุ้ง หอย ปู แมลง หนู และงูธรรมชาติอันงดงามทั้งหลายเหล่านี้ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านที่มาเที่ยวใน บึงฉวากและจะบันทึกอยู่เป็นความทรงจำที่สวยงามของทุกท่านตลอดไป นานเท่านาน

ขอบคุณข้อมูลจาก www.suphanburi.go.th

การเดินทางโดยรถยนต์ เริ่มจากถนนสายตลิ่งชัน – สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340) ระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 160 กิโลเมตร เมื่อถึงอำเภอเดิมบางนางบวช สามารถเข้าได้ 2 ทาง คือ

  1. บนทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 147 ด้านซ้ายมือ จะมีป้ายทางเข้าบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ และทางเข้าวัดเดิมบาง ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนซอยข้างวัด ข้ามแม่น้ำแล้วตรงไปเรื่อยๆ เมื่อถึง สามแยกตัดกับถนนเลียบคลองชลประทานให้เลี้ยวขวาไปตามถนนจนพบ สะพานข้ามคลองชลประทานด้านซ้ายมือให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแล้ว ตรงไปเรื่อยๆ จะถึงบึงฉวาก
  2. บนทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 151 ด้านซ้ายมือ จะมีป้ายทางเข้าบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนข้าม สะพานบึงฉวากแล้วตรงไปเรื่อยๆ เมื่อถึงสามแยกตัดกับถนนเลียบคลอง ชลประทานให้เลี้ยวขวาไปตามถนน จนพบสะพานข้ามคลองชลประทาน ซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแล้วตรงไปเรื่อยๆ จะถึงบึงฉวาก

การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง  สามารถขึ้นรถโดยสารสถานีหมอชิต – ท่าช้าง หรือสถานีรถ สายใต้ – ท่าช้าง แล้วสงที่ อำเภอเดิมบางนางบวช จากนั้นต้องเหมารถ ไปที่บึงฉวากอีกต่อหนึ่ง

ขอบคุณภาพ www.welovesuphan.com/th

เชิญแสดงความคิดเห็น