บ้านควายไทย

0

“ควาย” ถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทย มีความผูกพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทยเรามาตั้งแต่สมัยก่อน จนถึงปัจจุบันนี้ควายก็ยังมีความผูกพันธ์กันคนไทยอยู่ดี ถึงแม้ว่าอาจจะน้อยลงกว่าเดิมมาก เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยเรามากขึ้น ทำให้เราเห็นความสำคัญของควายน้อยลง วันนี้ดูเอเซียจะพาไปรำลึกวิถีชีวิตเก่าๆของคนไทยที่ผูกพันธ์กับควายมาช้านาน ที่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ตามมากันเลยครับ

บ้านอนุรักษ์ควายไทย เกิดขึ้นบนเนื้อที่ 70 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อปลุกจิตสำนึกให้กับพี่น้องประชาชนได้ระลึกถึง “ควาย” สัตว์ที่อยู่คู่กับชาวนาของเรามาตั้งแต่สมัยก่อน ช่วยไถนา ทำให้เราได้มีข้าวมาไว้กิน ไว้ขาย ถือว่าเป็นการช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์อีกด้วย

ดูเอเซียมาที่จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างเดินทางก่อนจะมาถึงบ้านอนุรักษ์ควายไทย ก็ต้องขับรถฝ่าสายฝนที่จู่ๆก็ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ในใจก็นึกอยู่ว่า ฝนตกอย่างนี้จะเข้าชมได้หรือเปล่านะ แล้วเค้าจะมีอะไรให้เราดูบ้างไม๊เนี่ย แต่ตั้งใจไว้แล้วนี่นา เป็นไงเป็นกันสิ ขับรถฝ่าสายฝนมาได้ซักพัก ยังไม่ทันเลี้ยวรถเข้าบ้านอนุรักษ์ควายไทย ฟ้า ฝนก็เหมือนจะเป็นใจหยุดตกให้ เหมือนรู้ว่าถ้าฝนไม่หยุดตก ดูเอเซียคงเก็บเรื่องราวและภาพมาฝากมิตรสหายไม่ได้แน่ๆ

พอมาถึงที่หน้าบ้านอนุรักษ์ควายไทย ก็รีบตรงเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ก่อนว่า ข้างในยังพอจะเข้าไปดู ไปเก็บภาพได้ไม๊ ก็ได้รับคำตอบว่า ยังพอเข้าไปเก็บภาพได้บ้าง แต่ว่า ควาย อาจจะน้อยหน่อย เพราะฝนตก คนเลี้ยงควายก็พาควายเข้าคอกกันไปแล้ว ได้รับคำตอบอย่างนั้นก็ไม่รอช้าล่ะครับ รีบซื้อบัตรเข้าชม แล้วรีบจ้ำอ้าวเข้าไปข้างในทันที ส่วนราคาค่าบัตรเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาทเท่านั้นครับ

เข้ามาข้างในอย่างแรกที่สัมผัสได้ คือ ความร่มรื่น(และเฉอะแฉะกันตามสภาพ) เพราะมีต้นไม้เยอะพอสมควร ความรู้สึกที่ได้เหมือนหนีความวุ่นวายจากเมืองกรุงไปรับโอโซนตามชนบท ได้กลิ่นไอดินจางๆ สดชื่นดีครับ พื้นทางเดินอาจจะเดินได้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะค่อนข้างเฉอะแฉะเนื่องจากฝนที่ตกลงมา บางส่วนที่เป็นปูนก็ยังเดินได้ แต่ส่วนไหนที่เป็นพื้นดิน ก็เดินลำบากหน่อย ฝนตกลงมาทำให้พื้นดินลื่น เหยียบทีนึงเล่นเอายวบไปเหมือนกัน แต่ก็ได้อารมณ์ของท้องไร่ท้องนาดีครับ

เดินไปเรื่อยๆ มองซ้ายมองขวา ไม่เห็นเจ้าควายซักกะตัว สงสัยจะเป็นอย่างที่เจ้าหน้าที่เค้าบอกไว้ ว่าคนเลี้ยงพาเข้าคอกกันแล้ว ดูเอเซียเลยต้องตามลุยไปหาเจ้าควายถึงที่คอกกันเลย สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่าจริงๆแล้วที่บ้านอนุรักษ์ควายไทย มีควายอยู่ 20 กว่าตัว แต่ที่ดูเอเซียเห็นอยู่ที่คอกมีอยู่สิบกว่าตัว ที่เหลือยังไม่กลับเข้าคอก หากจะรวมควายทั้งหมดในโครงการอนุรักษ์ควายไทยนี้ก็จะมีประมาณ 300กว่าตัว ส่วนควายที่เห็นมีทั้งควายเผือก ควาย 5 ขา (ขาที่5 งอกออกมาตรงแถวๆคอ) ควายแคระ เล็งๆดูไม่ค่อยมั่นใจนักว่าเป็นควาย เพราะแต่ละตัวอ้วนยังกะหมู แต่เผอิญมีเขา ก็เลยต้องเชื่อว่าควาย 555 เจ้าหน้าที่เลี้ยงควายบอกว่า วันๆมันเอาแต่กินกับนอน ที่นี่เค้าให้เจ้าหน้าที่เลี้ยงควาย 1คน ดูแลเลี้ยงควายแค่ 2 ตัว ควายที่นี่ถึงได้ตัวอ้วนนักไงล่ะ แถมแต่ละตัวผิวดีเสียด้วยสิ ไม่รู้ว่าใช้โลชั่นทาอ่ะป่าว..555 ควายที่นี่ก็เชื่องมาก เล่นได้ จับได้ รู้งาน คนไหนอยากถ่ายรูปคู่กับควายเจ้าหน้าที่เค้าสั่งให้หันหน้ามายิ้มให้กล้องได้เกือบทุกตัว บางตัวฉลาดถึงขั้นเอาไปถ่ายละครก็มี ตัวที่ผ่านงานละครถ้าจำไม่ผิด ชื่อ นวล กับชื่อ ปาน ผลงานล่าสุดก็เรื่อง “หมวยอินเตอร์” กับ “สะใภ้ลูกทุ่ง” อย่างนี้จะหาว่าควายฉลาดน้อยได้ยังไง

ก่อนมาถึงที่คอกของเจ้าควายทั้งหลาย ก็จะผ่าน “หมู่บ้านชนบท” เป็นบ้านเรือนไทยยกใต้ถุนสูงจัดแสดงไว้เพื่อให้เข้าใจถึงวิถีชีวติของชาวนาไทยในสมัยก่อนว่าอยู่กันอย่างไร ข้าวของ เครื่องใช้ภายในบ้านเป็นอย่างไร ตรงนี้ดูเอเซียก็เก็บภาพมาฝากด้วยเหมือนกัน ถัดเข้ามาอีกหน่อยก็จะเป็น “ลานการแสดง” ตรงลานนี้เค้าจะแสดงความสามารถของควาย จัดแสดงเป็นรอบๆไป วันธรรมดาก็จะแสดงประมาณ 2 รอบ ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะแสดงหลายรอบหน่อย เพราะนักท่องเที่ยวมาเยอะ ตรงลานการแสดงนี้ก็จะเป็นที่พิสูจน์ล่ะว่า ควาย ฉลาดน้อยจริงอย่างที่โบราณเค้าว่าหรือเปล่า ถัดไปอีกหน่อย ก็จะเป็น “แปลงทำนา” เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาถึงลักษณะของแปลงนา ลักษณะของต้นกล้า และวิธีการปลักดำต้นกล้า ตรงนี้สามารถทดลองทำนา และปักดำต้นกล้าได้ด้วย ใกล้ๆกันก็จะเป็น “ลานข้าว” ไว้ให้ทราบถึงวิธีการนำต้นข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมาแปลงสภาพเป็นข้าวเปลือกและข้าวสาร โดยตามแบบวิถีภูมิปัญญาไทย เช่น การนวดข้าว การตำข้าว การฝัดข้าว การสีข้าว และการใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นๆของต้นข้าว นอกจากนั้นก็ยังมีการสาธิตการหุงข้าวแบบโบราณอีกด้วย

ถือว่าไม่ผิดหวังเลยนะครับ ถึงแม้ฝนจะเพิ่งตกไป ทำให้เดินลำบากซักหน่อย แต่ดูเอเซียว่ามันยิ่งได้บรรยากาศของชนบทจริงๆ ลองมาเที่ยวกันดูนะครับ มาชาร์ทพลัง มาศึกษาความผูกพันธ์ที่มีมายาวนานระหว่างคนกับควายที่ “บ้านอนุรักษ์ควายไทย” คุณๆจะได้อะไรกลับไปอีกเยอะ รับรองครับ

 การเดินทางไปบ้านควาย

บ้านควาย ตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี มีเนื้อที่ 114 ไร่ พื้นที่โครงการ 70% ของพื้นที่ทั้งหมด อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 129 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรี 20 กิโลเมตร ห่างจากตัว อ.ศรีประจันต์ ประมาณ 2 ก.ม.

การเดินทางโดยรถส่วนตัว

รถยนต์ สามารถใช้เส้นทางในการเดินทางได้หลายเส้นทาง ดังนี้

-จากกรุงเทพฯ ผ่านอ.บางบัวทอง ไปจนถึงตัวเมือง จ.สุพรรณบุรี หรือจากกรุงเทพฯ ผ่านนนทบุรี อ.บางบัวทอง ไปจนถึงตัวจ.สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 107 ก.ม.

-จากกรุงเทพฯ ผ่านจ.ปทุมธานี อ.ลาดหลุมแก้ว ไปจนถึงตัวเมืองจ.สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 115 ก.ม.

 -จากกรุงเทพฯ ผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงตัวเมืองจ.สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 132 ก.ม.

 -จากกรุงเทพฯ ผ่านจ.สิงห์บุรี อ.เดิมบางนางบวช จนถึงตัวเมืองจ.สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 228 ก.ม.

 -จากกรุงเทพฯ ผ่านจ.อ่างทอง ไปจนถึงตัวเมืองจ.สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 150 ก.ม.

 -จากกรุงเทพฯ ผ่านจ.นครปฐม อ.กำแพงแสนไปจนถึงตัวเมืองจ.สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 164 ก.ม.

การเดินทางโดยรถโยสารประจำทาง

บริษัท ขนส่ง จำกัด บริการรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีขนส่งหมอชิตกำแพงเพชร 2 และสถานีขนส่งสายใต้ไปจังหวัดสุพรรณบุรีทุกวันมีทั้งรถธรรมดา และปรับอากาศไว้บริการ

ติดต่อสอบถามราบละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 – 5378055

รถธรรมดา โทร. 02 – 4345557 – 8

รถปรับอากาศ โทร. 02-4351199-200

การเดินทางโดยรถไฟ

การรถไฟแห่งประเทศไทย มีขบวนรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปจ.สุพรรณบุรีทุกวัน วันละ 1 เที่ยวใช้เวลาประมาณ

3 ชั่วโมงในการเดินทางไปถึงสถานีรถไฟจ.สุพรรณบุรี และต้องต่อรถโดยสารไปอีก 20 นาทีโดยประมาณเพื่อไปเที่ยวชมบ้าน

อนุรักษ์ควายไทยที่ อ.ศรีประจันต์ ซึ่งอาจจะดูไม่ค่อยสะดวกในการเดินทางนักสำหรับผู้ที่จะคิดเดินทางโดยรถไฟ

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่

หน่วยบริการเดินทาง โทร. 02-2237010, 02-2237020

ขอบคุณภาพ เพจหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยและบ้านไทยรีสอร์ท จ.สุพรรณบุรี

เชิญแสดงความคิดเห็น