ทริปนี้ดูเอเซีย.คอมพาเพื่อน ๆ มาย้อนประวัติศาสตร์ชาติไทยที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยครับ เพื่อน ๆหลายคนอาจเคยได้รับรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโบราณสถานและโบราณวัตถุที่หลงเหลือไว้เป็นสมบัติของชาติ แต่สำหรับเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่ยังไม่เคยมีโอกาสมาเที่ยวชมก็ไม่ต้องเสียดายครับ เพราะทริปนี้ดูเอเซีย.คอมอาสาพาเพื่อน ๆ มาเที่ยวชมและย้อนประวัติศาสตร์เมืองศรีสัชนาลัยแห่งนี้เองครับ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย ในบริเวณที่เรียกว่า “แก่งหลวง” อุทยานปรัวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยครอบคลุมพื้นที่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารวิจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย สำหรับตัวเมืองโบราณศรีสัชนลัย ที่ถือเป็นศูนย์กลางตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ มีพื้นที่ทั้งหมด 45.14 ตารางกิโลเมตรครับ
แต่เดิมบริเวณนี้ชื่อว่า “เมืองเชลียง” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสันาลัย” ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญควรคู่แก่อนุรักษ์ไว้ เพื่อเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สำหรับบรรดานักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.สำหรับอัตราค่าเข้าชม ชาวไทยเสีย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท หรือนักท่องเที่ยวสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทยราคา 30 บาท ชาวต่างชาติราคา 150 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการนำยานพาหนะเข้ามาภายในอุทยาน จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการนั่งรถรางเที่ยวชมบริเวณอุทยาน ก็เสียค่าบริการคนละ 10 บาท หากต้องการปั่นรถจักรยาน ทางอุทยานก็มีให้เช่าครับ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดพระปรางค์ อยู่ภายในกำแพงเมืองเชลียงด้านทิศตะวันออก ห่างจากกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ และเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร มีโบราณสถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ลักษณะรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในสมัยอยุธยา บริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามีบันไดขึ้นองค์ปรางค์สู่ซุ้มโถง ผนังภายในองค์ปรางค์พบว่ามีร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังแต่ลบเลือนไปมาก ด้านหน้าองค์ปรางค์มีวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย และทางด้านขวามีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาที่มีลักษณะงดงาม กำแพงวัด เป็นศิลาและแท่นกลมขนาดใหญ่เรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 60 เมตร ยาว 90 เมตร
เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคายอด และเหนือซุ้มขึ้นไปปั้นปูนเป็นรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระธาตุมุเตา อยู่ด้านหลังปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้ว ลักษณะพระธาตุมุเตาเป็นเจดีย์ทรงมอญ ในการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้พบทองจังโกประดับส่วนยอดของเจดีย์ มณฑปพระอัฏฐารศ อยู่ด้านหลังของพระธาตุมุเตา เดิมน่าจะเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบท ต่อมาได้ซ่อมแซมดัดแปลง ภายในซุ้มคูหามีพระพุทธรูปยืนอยู่ เดิมมณฑปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
วิหารพระสองพี่น้อง อยู่ทางซ้ายมณฑปพระอัฏฐารศ ก่อด้วยศิลาแลง มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 2 องค์ อยู่บนแท่นพระ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าฐานวิหารสองพี่น้องก่อทับอาคารเดิมที่ก่อด้วยอิฐ และด้านข้างทางขวาของพระวิหารได้พบฐานรอยพระพทุธบาท โบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลัง โดยสร้างทับโบสถ์เดิม
วัดช้างล้อม เป็นวัดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางตัวเมือง บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง มีเจดีย์ทรงระฆัง หรือ ทรงลังกาเป็นประธาน ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนเต็มตัวหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก
ช้างที่ประดับอยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ มีขนาดใหญ่ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า ระหว่างช้างแต่ละเชือกมีเสาโคมไฟกั้นอยู่ ด้านหน้าช้างมีปูนปั้นรูปดอกบัวตูม เหนือฐานช้างปูนปั้น ลดชั้นเป็นเหลี่ยม ส่วนทางด้านหน้าเจดีย์ประธานมีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ผนังซุ้มมีรูปประติมากรรมรูปต้นโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป แต่พระพุทธรูปได้ถูกทำลายไปคงเหลือเพียงองค์เดียวทางด้านทิศเหนือ บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน 17 องค์
วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดช้างล้อม มีความสวยงามมากกว่าวัดอื่นในเมืองสุโขทัย เพราะมีเจดีย์แบบต่าง ๆ มากมายที่เป็นศิลปะสุโขทัยแท้ และเป็นศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัย วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีเจดีย์ประธานเป็นรูปดอกบัวตูม ( ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ )อยู่ด้านหลังพระวิหาร และมีเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ จำนวน 33 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ภายนอกกำแพงมีโบสถ์ และบ่อน้ำ
เจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะหลายแห่ง เช่น ลังกา และพุกาม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือ ฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถง ส่วนซุ้มโถงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตของพระพุทธเจ้า และเหล่าเทวดากษัตริย์ ส่วนซุ้มจรนัมด้านหลังของเรือนธาตุทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก สาเหตุที่เรียกว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวก็เนื่องจากได้พบเจดีย์จำนวนมากหลายแถวภายในวัด และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์สุโขทัย
วัดนางพญา ตั้งอยู่ใกล้กำแพงเมืองศรีสัชนาลัย ทางทิศใต้ มีเจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานทักษิณองค์เจดีย์ตกแต่งเป็นซุ้มพระก่อยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ซุ้มทางด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นไปสู่ภายในองค์เจดีย์ตรงกลางห้อง ภายในเจดีย์มีแกนเจดีย์ประดับลายปูนปั้น ด้านหน้าเป็นวิหารก่อผนังเจาะช่องแสง ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่สวยงามเป็นฝีมือชั้นครู ลวดลายที่ปรากฏเป็นลวดลายพรรณมพฤกษา ลายเทพพนม และที่เป็นลักษณะเด่น คือลายปูนปั้นที่ทำเป็นรูปกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง ลวดลายทั้งหมดเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น
การเดินมาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย หากเพื่อน ๆ มาจากตัวเมืองสุโขทัย ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 – 19 เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยาน อีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร หรือหากเพื่อน ๆ นั่งรถโดยสารประจำทาง มีรถสายสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ออกจากท่ารถที่ตลาดเทศบาลไปอุทยานทุกวัน นอกจากนี้เพื่อน ๆ สามารถใช้เส้นทางจากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยาน อีก 2 กิโลเมตรครับ
ดูเอเซีย.คอมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้ามาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยจะทำให้เพื่อน ๆ เกิดความรัก ความหวงแหน และเกิคความภาคภูมิใจในการเป็นชาติไทย และสำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังจะไปเที่ยวชม ดูเอเซียก็หวังว่าเพื่อน ๆ จะเก็บบันทึกความทรงจำดีออกมาจากอุทยานเท่านั้น โดยไม่เอาอะไรติดไม้ติดมือออกมา เพื่อคงไว้ซึ่งมรดกโลกอันล้ำค่าของชาติไทยครับ