ผู้คนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยมีหลากหลายเชื้อสาย เมื่อแบ่งออกเป็นภูมิภาคต่าง ๆ แล้ว มีอีกหลายเผ่าพันธุ์ที่เราไม่รู้จักและคุ้นเคย โดยส่วนมากแล้วมักจะอพยพมาจากถิ่นฐานเดิม แล้วมาตั้งรกรากอยู่บนผืนแผ่นดินไทย เพราะไทยเราเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์และสงบ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต่างพากันมาตั้งรากฐานอยู่ในเมืองไทย
และทริปนี้ ดูเอเซียดอทคอมก็พามาดูคนกลุ่มใหญ่ที่เรียกตัวเองว่า “ชาวไทยพวน” ซึ่งเขาเหล่านี้มีความเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม คำพูด ประเพณี ศิลปะ อาหาร ความเป็นอยู่ ฯลฯ และเป็นอีกชนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากประเทศลาวแล้วมาลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองไทย ชนกลุ่มนี้มีประวัติและชีวิตความเป็นที่น่าสนใจ เลยขอหยิบยกมาให้คุณ ๆ ท่าน ๆ ได้ศึกษาถึงวิถีชีวิตของเขาเหล่านี้ มาดูกันว่าความเป็นไทยพวนจะน่าสนใจในแง่มุมไหนกันบ้าง
ทริปนี้ดูเอเซียดอทคอม ขอนำเสนอความเป็นไทยพวนของจังหวัดแพร่ ซึ่งที่จังหวัดแพร่ได้จัดงานประเพณีเกี่ยวกับชาวไทยพวนขึ้นทุก ๆ ปี และที่นี่ถือเป็นชุมชนใหญ่ที่มีชาวไทยพวนอาศัยอยู่มากที่สุด นั่นก็คือ “บ้านทุ่งโฮ้ง” ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ส่วนงานประเพณีที่เขาเหล่านี้จัดขึ้นทุก ๆ ปีก็คืองาน “ประเพณีกำฟ้า” เป็นการจัดแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวไทยพวน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวพวนทั้งหมดทั้งมวล
งานประเพณีกำฟ้าครั้งนี้จัดขึ้นโดย เหล่าชาวไทยพวนทั่วประเทศ ที่มารวมตัวกันในงานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจังหวัดแพร่ได้จัดเป็นเจ้าภาพประจำทุกปี เพราะจังหวัดแพร่มีชาวไทยพวนอาศัยอยู่มากที่สุดเลยก็ว่าได้ และวัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทยพวนในจังหวัดแพร่ค่อนข้างที่จะเด่นชัด และมีความชัดเจนในด้านภาษา การแต่งกาย และชีวิตความเป็นอยู่
เริ่มต้นเมื่อเข้างานมา ก็ต้องขอไปกราบไหว้บรรพบุรุษของชาวไทยพวนกันก่อนเลยครับ “เจ้าชมพู” คือบรรพบุรุษแห่งตำนานกำฟ้า ซึ่งดูเอเซียดอทคอมนำเสนอในช่วงท้ายเรื่องกันต่อไป ผู้คนที่เข้ามาในงานนี้ต่างก็ต้องเข้ามากราบไหว้รูปปั้นของเจ้าชมพูกันก่อน แล้วจึงเข้าไปเที่ยวชมในงานกัน ประวัติของท่านก็มีให้ผู้คนที่สนใจได้ศึกษาในแผ่นศิลาจารึกตรงบันไดทางขึ้นไว้อย่างละเอียด ผู้ใดที่สนใจก็มาศึกษากันได้ที่นี่เลย
ภายในงานมีการจัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่หมู่บ้านได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน การดำเนินชีวิตประจำวัน อาหารในแต่ละมื้อ ข้าวของเครื่องใช้ ฯลฯ แต่ละซุ้มก็จัดได้อย่างตระการตา ตกแต่งด้วยแสง สี เสียง ประดับประดาไปด้วยดอกไม้นานาชนิด ภายในงานได้จำลองบ้านเรือนของชาวไทยพวนได้อย่างลงตัว สามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยพวนได้เป็นอย่างดี น่าสนใจมากครับ
พร้อมกันนี้ยังมีการจำลองตลาด หรือคนที่เค้าเรียกกันว่า “กาดมั่วครัวแลง” แม่ค้าแม่ขายต่างนำอาหารพื้นเมืองหลากหลายชนิด มาวางขายภายในงานนี้ด้วย เป็นอาหารพื้นเมืองที่หากินได้ค่อนข้างยากสำหรับเรา ๆ แต่คนที่นี่อาหารแบบนี้จะเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย อาทิเช่น แกงหอยขม หลามบอน แกงแคเขียด ข้าวกั้นจิ้น ยำผักกาดดอง แอ๊บถั่วเน่า แกงฮังเล วัวน้อยนึ่ง นึ่งไข่มดแดง และอีกหลาย ๆ อย่างเลยครับ คงบรรยายกันอีกยาว เป็นอาหารพื้นเมืองแบบสุด ๆ ซึ่งบางอย่างอาจจะไม่คุ้นชื่อและหน้าตากันเลยทีเดียว แต่หน้าตาคงจะอร่อยอย่างที่ยาย ๆ ป้า ๆ เค้าโฆษณากันแน่ครับ เพราะเล่นเอาดูเอเซียท้องร้องจ๊อก ๆ กันเลยทีเดียว..หิวเลยแหละ(หุหุหุ)
ไข่ป่าม หอมดีจ้า
และยังมีการแสดงบนเวทีอีกมากมาย มีหลากหลายกิจกรรมที่ทางเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้งได้จัดขึ้น และปีนี้ก็เป็นปีที่มีการประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก เพื่อจะให้จังหวัดแพร่ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย งานในปีนี้เลยจัดค่อนข้างยิ่งใหญ่ทีเดียวครับ มีมหรสพต่าง ๆ รอบงาน เพราะดูเอเซียเดินเที่ยวมาทางท้าย ๆ งาน ดูผู้คนแล้วก็ครึกครื้นกันเป็นแถว สนุกมากเลยครับ
มาถึงอีกมุมหนึ่งของงาน ก็มีการจัดเล่นซะล้อ ซอ ซึงกันอยู่อย่างครื้นเครง มีการฟ้อนรำเข้ากับเสียงเพลงซอ มีการขับกล่อมเพลงซอ ฟังแล้วเพลิดเพลินไม่เบาเลยครับ ผู้คนต่างก็พากันปรบมือไปตามจังหวะ พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน มาถึงซุ้มนี้เค้าก็นำผัก ผลไม้ พื้นเมือง มาปลูกไว้ให้ดูกันแบบจะจะ กันเลย นี่เลยครับ..แปลงนาปลูกข้าวให้เราได้ดูกันด้วย เหมือนกับอยู่กลางทุ่งนายังไงยังงั้น ผักปลอดสารพิษก็มีให้เลือกซื้อกันแบบสด ๆ ถัดมาอีกซุ้ม มีบรรดาแม่บ้านมาสาธิตวิธีการทำผ้าหม้อห้อมให้ดูกันแบบสด ๆ เลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่ต้นไม้ที่ใช้ผลิต จนจบกระบวนการของการทำหม้อห้อม พร้อมด้วยการสาธิตการเพ้นท์ลวดลายลงบนผืนผ้า พร้อมกันนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ก็โชว์ฝีมือการทำไข่ป่าม หรือ ป่ามไข่ ลองชิมดูแล้วก็อร่อยได้ใจจริง ๆ ไม่ใช้น้ำมันในการทำซะด้วย เพราะเค้าใช้ใบตองแทนแล้วนั่นเอง กลิ่นหอมของใบตองช่างมีมนเสน่ห์ทำให้รสชาติของไข่ธรรมดา ๆ นั้นหอม น่ารับประทานขึ้นมาทันทีทันควัน …โอ้ ! งานเค้าเจ๋งดีครับ
ประวัติไทยพวน ไทยพวน คือ กลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวพวนในเมืองพวน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองพวนในปัจจุบันตั้งอยู่ที่เขตเชียงของ ทางตะวันออกของหลวงพระบาง ทิศเหนือของเวียงจันทน์ติดกับประเทศเวียดนาม ชนกลุ่มนี้ถ้าอยู่ในลาว เรียกว่า “ลาวพวน” เมื่อยู่ในประเทศไทยเรียกว่า “ไทยพวน” (พลเอกสายหยุด เกิดผล) เมืองพวนเป็นพวนโบราณเก่าแก่ ที่สร้างโดยขุนเจ็ดเจืองซึ่งเป็นโอรสองค์ที่ ๗ ของขุนบรม ในปี พ.ศ.๑๒๗๒ ขุนบรมได้เสวยราช เมืองหนองแส เป็นองค์ที่ ๔ พ.ศ.๑๒๗๔ ได้สร้างเมืองแถง หรือแถน (ในสิบสองจุไทย) ขึ้นเป็นราชธานีและได้ขยายเขตปกครองกว้างขวางออกไป พ.ศ.๑๒๘๐ ให้โอรส ๗ องค์ไปสร้างเมืองต่าง ๆ ขุนเจ็ดเจือง ซึ่งเป็นโอรสองค์หนึ่งซึ่งสร้างเมืองพวน (เชียงขวาง) ขึ้น ดังนั้นที่ผ่านมาบรรดาลูกหลานพวนทั้งหลายเวลามีกินสลาก ทำบุญ มักจะเขียนเส้นสลากว่า “ทานไปหื้อปู่แถนย่าแถนเน้อ” ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการทาไปให้เจ้าเมืองแถน ผู้เป็นบรรพบุรุษของชาวพวนทั้งหลายอย่างแน่นอน (วิเชียร วงศ์วิเศษ : หนังสือไทยพวน) เมืองพวน คือ หนึ่งในจำนวนหลาย ๆ เมืองในประเทศลาว ที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อฝรั่งเศสเปิดศึกอินโดจีน ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือประเทศลาวทั้งหมด ชาวลาวพวนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถต่อการบังคับบัญชาของฝรั่งเศสได้ จึงดิ้นรนย้ายมาอยู่ในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และก่อนหน้านั้น ก็มีชาวลาวพวนมาอยู่ก่อนแล้ว พระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงกำหนดพื้นที่ให้ชาวลาวพวนตั้งถิ่นฐาน ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ คือ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร ลพบุรี นครนายก สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ปราจีนบุรี หนองคาย สระบุรี ฉะเชิงเทรา อุดรธานี เชียงราย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีไทยพวนอยู่อย่างหนาแน่น และอาศัยอยู่อย่างประปรายที่จังหวัดราชบุรี นครปฐม อ่างทอง จันทบุรี สมุทรปราการและกรุงเทพฯ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารว่า ในสมัยบ้านเมืองไม่เรียบร้อย ชาวไทยพวนถูกกวาดต้อนไปไว้ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย จากบัดนั้นจนถึงบัดนี้ ชาวไทยพวนก็ได้อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทยอย่างสงบสุข มีวิถีชีวิตและแบบแผนในการดำรงชีพ ผสมผสานกับชาวไทยอย่างสนิทสนมกลมกลืน อาจจะทั้งโดยใกล้ชิดเสมือนญาติพี่น้องหรือโดยการสืบเผ่าพันธุ์ด้วยการแต่งงาน ไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง หรือเดิมเรียกว่า บ้านทั่งโห้ง คำว่า “ทั่ง” หมายถึง ทั่งรองรับตีเหล็ก คำว่า “โห้ง” เป็นภาษาไทยพวน หมายถึง สถานที่ที่เป็นแอ่งลึกลงไปเป็นรูปก้นกระทะทั่งที่ถูกตีเป็นประจำ จึงทำให้มันเป็นแอ่งลึกลงไป คนพวนเรียกว่า “มันโห้งลงไป” ในสมัยก่อนนั้นคนพวนบ้างทุ่งโฮ้ง จะมีเตาตีเหล็กกันแทบทุกหลังคาเรือน เขาจึงเรียกว่า “บ้านทั่งโห้ง” ต่อมาได้เรียกเสียงเพี้ยนไปเป็น “ทุ่งโฮ้ง” และทางการได้เขียนเป็นทุ่งโฮ้งซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านปัจจุบัน จากคำบอกเล่าของคนแก่คนเฒ่าในหมู่บ้าน เล่าว่าบ้านทุ่งโฮ้งเป็นหมู่บ้านของชาวไทยพวนที่ถูกกวาดต้อนและอพยพมาจากแขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาวเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๔๐-๒๓๕๐ โดยคนกลุ่มแรกได้เดินทางมาถึงเมืองแพร่ และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงเมืองแพร่ ทางทิศเหนือด้านประตูเลี้ยงม้าปัจจุบัน คือวัดสวรรนิเวศปัจจุบัน โดยมีหลักฐานคือ บ่อน้ำไทยพวน อยู่มาระยะหนึ่งจึงได้ย้ายมาจากที่เดิม มาตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ บริเวณที่เป็นบ้านทุ่งโฮ้งใต้ปัจจุบัน ชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของตนเองคือ ภาษาพูด มีประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันและโดดเด่น คือประเพณีกำฟ้า และมีอาชีพที่นำรายได้และนำชื่อเสียงมาสู่ท้องถิ่นจังหวัดแพร่ คือ การผลิตผ้าหม้อห้อม ซึ่งมีลักษณะทั้ง 3 ประการนี้ ทำให้ชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ประวัติบ้านทุ่งโฮ้ง ชาติกำเนิด ชาวทุ่งโฮ้งเป็นไทยพวน เดิมอาศัยอยู่ที่เมืองพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาวในอดีต (ในปัจจุบันสาทาละนะลัด ปะชาทิปะไต ปะชาชนลาว) โดยอพยพมาอยู่บ้านทุ่งโฮ้ง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2377 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นเวลา 172 ปีมาแล้ว (นับถึงปี พ.ศ.2549)
ลักษณะเด่นของชาวทุ่งโฮ้ง มีความขยันขันแข็ง อดทน ซื่อสัตย์สุจริต รักสงบ รักศักดิ์ศรีของความเป็นคน ไม่ยอมให้บุคคลอื่นดูถูกดูแคลน รู้รักสามัคคี ประกอบอาชีพในทางสุจริต
ด้านวัฒนธรรม มีภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง คือภาษาไทยพวน ใช้ในการสื่อสาร ไม่นิยมใช้ภาษาอื่น มีความเชื่อเรื่องภูตผีและดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าจะคุ้มครองปกปักษ์รักษาให้พ้นภัยต่าง ๆ นิยมบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนเอง และครอบครัว แม้กระทั่ง “ฟ้า” ก็ยกย่องให้เป็นของสูง จึงเกิดประเพณี “กำฟ้า” ตราบเท่าทุกวันนี้
การค้นหาความจริง เมื่อวันที่ 22-24 กันยายน 2549 นำโดยพระอธิการมานิต มุนิวังโส เจ้าอาวาสวัดทุ่งโฮ้งใต้ และนายนิศย์ สุขสีทอง รองนายกเทศมนตรีตำบลทุ่งโฮ้ง ได้นำพาชาวบ้านทุ่งโฮ้งจำนวน 16 คน ได้ไปสืบเสาะหาต้นตอของบรรพบุรุษไทยพวน ณ เมืองพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว เพื่อทำการค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพและอื่น ๆ ได้ทำการสอบถามเจ้าอาวาสวัดสันติภาพและวัดเพียวัด ซึ่งทั้งสองเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองพวน สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่หลายหมู่บ้าน และได้รับความอนุเคราะห์จากท่านคำสิง ตาชาวพวน เจ้าแขวงเชียงขวาง (ตำแหน่งไทยผู้ว่าราชการจังหวัด) ให้การต้อนรับพร้อมชี้แจงรายละเอียดเรื่องไทยพวน ให้คณะฟังด้วยความปิติอย่างยิ่ง
อาจารย์ศักดิ์ชาย รัชตวรคุณ ผู้ค้นคว้า/เรียบเรียง
ประวัติเจ้าชมพู เจ้าชมพู เป็นเจ้าเมืองพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาวในอดีต (สาทาละนะลัด ปะชาทิปะไต ปะชาชนลาว) องค์ที่ 43 ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.2325 รวมครองราชย์เป็นเวลา19 ปี สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2344 ที่เวียงจันทน์ตามประวัติเล่าสืบต่อกันมา“เจ้าชมพู” เป็นเจ้าเมืองที่ปราดเปรื่องเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นได้แก้ปัญหาลุล่วงด้วยความกล้าหาญและรอบคอบ
ด้านการปกครอง อบรมสั่งสอนให้ประชาชนมีความขยัน อดทน มีความสมานสามัคคี ประกอบอาชีพในทางสุจริต
ด้านการศาสนา ได้สร้างวัดวาอาราม ส่งเสริมให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียนศึกษาธรรมะเพิ่มเติม ได้กำหนด “ฮีต-คอง” ให้ประชาชนถือเป็นแนวปฏิบัติ
ประวัติประเพณีกำฟ้า ตามประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินสยาม มีโอกาสให้เจ้าชมพูยกทัพไปตีร่วมกับเจ้าเวียงจันทน์ ดีได้สำเร็จ ต่อมาเจ้าชมพูแข็งเมือง ไม่ยอมส่งส่วยให้เวียงจันทน์ และหลวงพระบางเหมือนเช่นเคย เจ้านนท์แห่งเวียงจันทน์โกรธมาก จึงส่งให้แม่ทัพชื่อเขียวไปปราบเมืองพวน เจ้าชมพูแพ้ถูกจับได้ และถูกสั่งประหารชีวิตด้วยหอก ขณะที่ทำการประหารนั้น เกิดเหตุอัศจรรย์ ฟ้าได้ผ่าลงมาถูกหอกหักสะบั้น เจ้านนท์เห็นว่า “เจ้าชมพู” เป็นผู้ที่มีบุญญาบารมี จึงสั่งให้ปล่อยกลับไปครองเมืองพวนดังเดิม ด้วยเหตุนี้ชาวไทยพวนจึงเห็นความสำคัญของฟ้า จึงเกิดประเพณี “กำฟ้า” ขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้งได้ยึดถือเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจนมาถึงปัจจุบัน
กำฟ้า หมายถึง การนับถือสักการบูชาฟ้า การแสดงกดเวทีตาต่อฟ้าที่ท่านได้คุ้มครองให้มีอายุยืนยาว ให้อยู่ดีกินดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาล มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ โดยชาวไทยพวนทุกคนจะหยุดทำงานทุกชนิด คือ หยุดทำไร่ ทำนา ทอหูก ปั่นฝ้าย ตีเหล็ก เป็นต้น แม้แต่อุปกรณ์เครื่องมือทำมาหากินก็ต้องเก็บเข้าที่ให้หมด คงเหลือแต่อุปกรณ์ในการหุงหาอาหารในแต่ละมื้อเท่านั้น ในวันกำฟ้า ชาวไทยพวนจะมีกิจกรรมร่วมกัน คือการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า การละเล่นในตอนกลางคืนและการพบปะสังสรรค์ระหว่างเครือญาติด้วยกัน ในวันกำฟ้า จะเริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าไปถึงค่ำ ผู้เฒ่าจะพูดกับสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ว่า “สูเอย กำฟ้าเน้อ อยู่สุข ขออย่าแซ (อย่าส่งเสียงดัง อย่าทะเลาะกัน) อยู่ดีมีแฮงเด้อ…เอ้อ (พูดเอง เออเอง)”
ประเพณีกำฟ้าไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง จะมี 3 ครั้ง
ครั้งแรก วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ใต้ เดือน ๕ เหนือเริ่มกำฟ้า (หยุดทำงานทุกชนิด) ตั้งแต่หลังจากรับประทานอาหารเย็นแล้วไปจนถึงวันรุ่งขึ้น ๓ ค่ำ หลังรับประทานอาหารเย็นแล้วจึงพ้นกำหนดในตอนเช้าของวันขึ้น ๓ ค่ำ จะมีการทำบุญตักบาตรที่วัด
ครั้งที่สอง วันขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๕ เหนือ เริ่มกำฟ้าหลังรับประทานอาหารเย็นแล้วไปจนถึง ๙ ค่ำ หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้วจึงพ้นกำหนด
ครั้งที่สาม วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ เริ่มพ้นกำฟ้าหลังรับประทานอาหารเย็นแล้วไปจนถึง ๑๔ ค่ำ หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้วจึงพ้นกำหนด
ประเพณีกำฟ้าเป็นมรดกแห่งสังคม ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพชนชาวไทยพวนที่แฝงไว้ด้วยคุณค่าแห่งความกตัญญูกตเวที การสร้างขวัญกำลังใจ ความสมานสามัคคีในหมู่คณะให้มีความเชื่อถือศรัทธาในพิธีกรรมบูชาฟ้า เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ จึงทำให้ชาวไทยพวนบ้านมทุ่งโฮ้งมีวัฒนธรรมอันเข้มแข็ง ยากมีวัฒนธรรมอื่นจะเข้าครอบงำได้
ปีหน้าก็อย่าพลาดมาเที่ยวกันนะครับ เค้าจะจัดในช่วงเดือนมกราคมของทุก ๆ ปี แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าวันที่เท่าไหร่ เพราะเค้าต้องอิงกับวันข้างขึ้น ข้างแรม ของไทยเราด้วย ของดี ๆ ประเพณีดี ๆ หาดู หาชม กันยากแบบนี้ นับวันก็ยิ่งจะเลือนหายไปบ้างแล้ว มาสนับสนุนประเพณีดีงามของไทยเราไว้ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานกันนะครับ มาที่นี่ มางานนี้ ได้รับแต่สิ่งดี ๆ กลับไปแน่นอนครับ