ชาวสกลนครมีการฉลองเทศกาลออกพรรษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆด้วยการสร้าง “ปราสาทผึ้ง” ถวายเป็นพุทธ บูชา โดยชาวสกลนครเอารวงผึ้งที่คั้นน้ำออกแล้วต้มให้เปื่อย ทำเป็นดอกไม้ต่างๆ มาสร้างเป็นปราสาท ซึ่งก่อนนั้นทำกันอย่างง่ายๆคือเอากาบกล้วยมาทำเป็นโครงปราสาทร้อยให้ติดต่อ กันด้วยตอกไม้ไผ่ เรียกว่า “แทงหยวก” จากนั้นประดับด้วยดอกผึ้งเป็นลวดลายต่างๆรวมทั้งเครื่องประดับอัน ได้แก่ ไม้ขีด กระดาษ ดินสอ ผ้าฝ้ายและผ้าแพร ฯลฯ
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันโฮม หรือวันรวมปราสาทผึ้งจากคุ้มต่างๆที่บริเวณวัด แต่ละคุ้มจะอยู่ซุ้มใครซุ้มมันรอบกำแพงวัด พอค่ำลงมีบรรดาหนุ่มๆจะมาเป่าแคน ดีดพิณและสีซอเดินเป็นกลุ่มๆไปรอบคุ้ม หนุ่มที่หมายตาสาวใดไว้ก็จะเข้าไป “แอ่ว” หรือจีบได้ โดยพ่อแม่ของสาวจะ ไม่ขัดขวางเหมือนวันปกติ รุ่งขึ้นจะมีการทำบุญตักบาตร เสร็จแล้วจัดขบวนแห่ปราสาทผึ้งแค่ละขบวนจะแห่ด้วยเกวียน ใช้คนเทียมแทนวัวควาย นางฟ้าปราสาทผึ้ง (ปัจจุบันเรียกเทพี) จะนั่งอยู่ตอนหน้าของเกวียน ตรงกลางเป็นปราสาทผึ้ง ขบวนแห่มีพิณ ฆ้อง กลองตามด้วยคนหนุ่มคนสาวและเฒ่าแก่ ประนมมือถือธูปเทียนแห่รวบพระธาตุเชิงชุมจนครบ ๓รอบเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ในปัจจุบันการทำปราสาทผึ้งและขบวนแห่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากรูปทรงของตัวปราสาท ผึ้ง และการประดับประดาได้วิจิตรพิสดารมากมีการออกแบบลวดลายต่างๆไม่เหมือนในอดีต ขบวนแห่ที่เคยใช้เกวียนก็เปลี่ยนเป็นรถยนต์และเปลี่ยนสถานที่รวมขบวนจากบริเวณวัดมาอยู่ที่สนามมิ่งเมือง แต่ละปีจะมีขบวนแห่ยาวเป็นสิบกิโลเมตร มีสิ่งแปลกๆใหม่ๆเพิ่มขึ้นในขบวนแห่ปราสาทผึ้ง คือ การแสดงเกี่ยวกับประเพณีโบราณของอีสาน เช่น การบุญข้าวสาก การตำข้าว การปรุงยาสมัยโบราณ รำมวยโบราณ การทำบุญข้าวประดับดิน และการปลุกพระ ตลอดจนถึงการแสดง
นรก-สวรรค์ ว่าคนที่ตกนรกทุกข์ทรมานอย่างไร และคนที่ขึ้นสวรรค์จะได้รับความสุขแค่ไหน หลังจากที่มีการทอดถวายปราสาทผึ้งแล้ว วันรุ่งขึ้นจะมีการแข่งเรือกันที่หนองหาน สำหรับการแข่งเรือนั้นเดิมเป็นการแข่งเอาความสนุกสนานและสืบทอดประเพณี ปัจจุบันเป็นการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงรางวัลกันมากกว่า
การแห่ปราสาทผึ้งของชาวสกลนครเป็นประเพณีเก่าแก่ โดยมีหลักฐานปรากฏอยู่ในตำนานเมืองหนองหาน (คือสกลนครในปัจจุบัน) กล่าวไว้ว่าในสมัยขอมเรืองอำนาจและปกครองเมืองหนองหาน ในแผ่นดินพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ ได้โปรดฯให้ข้าราชบริพารจัดทำต้นเผิ่ง(ต้นผึ้ง) ขึ้นใน วันออกพรรษา เพื่อแห่แหนคบงันที่วัดเชิงชุม (ปัจจุบันเรียกกันว่าวัดพระธาตุเชิงชุม วรมหาวิหาร) จากนั้นเมืองหนองหานได้จัดทำปราสาทผึ้งติดต่อกันมาทุกปี