ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์

0

บ้านปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ เป็นแหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์โบราณที่อยู่คู่กับอัมพวามานานหลายปีแล้ว ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่เลียนแบบลวดลายศิลปะสมัยรัชกาลที่ 2 และใช้ศิลปะชั้นสูงในการออกแบบลวดลาย ที่ละเอียดอ่อนช้อย สีสันงดงาม จนทำให้บ้านปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ มีชื่อในหมู่เจ้านายชั้นสูง คหบดี บริษัทห้างร้าน และชาวต่างประเทศ

ครับ วันนี้ดูเอเซีย.คอมจะพาเพื่อนๆไปชมการทำเครื่องเบญจรงค์ ที่บ้าน “ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์” แต่ก่อนที่จะพาไปเที่ยวชมบรรยากาศภายในโรงงาน  เราจะพาไปทำความรู้จักกับบุคคลคนหนึ่งที่ก่อตั้งโรงงาน ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ขึ้น เขาผู้นี้มีความรู้ความสามารถในการทำเครื่องเบญจรงค์มาก แต่ก่อนที่เขาคนนี้จะประสบความสำเร็จในการทำเครื่องเบญจรงค์ จนมีโรงงานใหญ่โต มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจนถึงทุกวันนี้ เขาได้ผ่านชีวิตมามากมายหลายรูปแบบความพากเพียรพยามเท่านั้น ทำให้เขาได้ดีจนวันนี้อย่ารอช้าเลยครับเราไปทำความรู้จักเขาคนนี้กันเลยดีกว่า

คนที่เราจะพูดถึงคือ คุณลุงวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ  เจ้าของและผู้ก่อตั้งโรงงานปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์ อายุของลุงตอนนี้อยู่ในวัย 76 ปี แต่ลุงเขายังดูแข็งแรงขมักขเม้นแม้บางทีอาจแลดูอ่อนเหนื่อยไปบ้างแต่ก็พูดคุยอย่างกระฉับกระเฉง และเต็มไปด้วยความทรงจำอันสดใสในเรื่องราวชีวิตความเป็นมาของลุงกับการมาทำเครื่องเบญจรงค์คุณลุงวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ  เล่าให้เราฟังว่าเดิมลุงเขาเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.2470 ปัจจุบันตอนนี้ลุงก็อายุ 76 ปีเข้าแล้ว ลุง วิรัตน์ ศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 6 รับราชการเป็นครูประมาณ 7 ปี หลังจากนั้นก็แต่งงานกับแม่ค้าชาวสวนมะพร้าว จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาได้ลาออกมาเปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้ารับซื้อมะพร้าวบรรทุกเรือไปขายที่ปากคลองตลาด โดยอาศัยบ้านของน้าสาวภรรยาเป็นที่พัก

ในช่วงเวลานั้น ล้วนเต็มไปด้วยความลำบาก ลูกทั้ง 4 คน ที่มีอายุไล่ตามกันมาก็ยังเล็ก และทุกคนต้องเรียนหนังสือ ชีวิตจึงต้องเป็นหนี้เป็นสิน เหมือนผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ทั่วไปของประเทศ จนต้องขายที่ขายทางใช้หนี้ จนกระทั่งปี พ.ศ.2510 วิรัตน์ได้รู้จักกับพ่อค้าของเก่า คนหนึ่งจากกรุงเทพฯ ที่มาตระเวนหาซื้อของเก่า ประเภทถ้วยชามโบราณ เครื่องสังคโลก และเครื่องเบญจรงค์ต่างๆจากชาวบ้าน และพ่อค้าคนนี้เองที่ขอให้วิรัตน์ซึ่งอยู่ในย่านนี้มานานและรู้จักคนมากมาย ช่วยพาไปหาซื้อของเก่าตามบ้านของชาวบ้านตรงนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นให้วิรัตน์รู้จักกับของเก่า และเครื่องเบญจรงค์ แต่ก็ไม่ได้คาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้วิถีชีวิตของเขาและครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตในช่วงแรกเขามีคำถามกับตัวเองว่า ทำไมนะ ข้าวของเก่าๆ เหล่านั้นจึงขายได้ราคาดี ทำไมบางคนถึงยอมเสียเงินแพงๆ เพื่อซื้อถ้วยเพียงใบเดียวไปตั้งโชว์ แต่ต่อมาเมื่อได้ซึมซับสัมผัสกับของเก่ามากๆ เข้า เขากลับรู้สึกรักและมีความรู้สึกผูกพันลึกซึ้ง กับสิ่งของแต่ละชิ้น และเริ่มเข้าใจว่านี่คือการซื้อขายงานศิลปะของช่างโบราณที่ทำมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหาได้ยากมากในปัจจุบัน

ต่อมา ลุงวิรัตน์ ก็เริ่มสนใจศึกษาโดยหาหนังสือเกี่ยวกับประวัติของของเก่ามาอ่าน บวกกับความสนใจเป็นพิเศษในสีสันอันสวยงามของเครื่องเบญจรงค์จึงทำให้เริ่มมีความรู้ในเครื่องลายเบญจรงค์มากขึ้น ต่อมาภายหลังลุงก็ได้ไปหาซื้อของเองจากชาวบ้าน เมื่อของเก่าย่านสมุทรสงครามเริ่มน้อยลง ก็เดินทางล่องใต้เลยเรื่อยไปตามจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคเหนือก็ไปทั่วทั้งอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง เมื่อได้ของมาแล้ว ก็ให้พ่อค้าจากกรุงเทพฯ มาซื้อต่ออีกที ของที่เหลือก็ได้นำไปขายเองบ้างที่ท้องสนามหลวง  แต่ก็จะมีของบางชิ้นที่ชำรุดหักพัง เขาก็จะหาวิธีและเทคนิคต่างๆ มาซ่อมแซมจนเหมือนเดิม พร้อมๆ กับศึกษาเรื่องการผสมสีให้เหมือนของเก่ามากที่สุด เพื่อต่อเติมลงลึกในรายละเอียดของลวดลายที่ขาดหาย ทั้งหมดคือการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปใช้บูรณะซ่อมแซมเป็นหลัก ซึ่งทุกขั้นตอนต้องอาศัยเวลา และความเพียรพยายามอย่างมากจนความชำนาญเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไปหลายปี จนลุงวิรัตน์ สามารถทำสินค้าชิ้นใหม่เลียนแบบลวดลายเก่าได้อย่างเหมือนจริงและสวยงามเรียกได้ใช้ว่าประสบการณ์ที่สั่งสมมาล้วนๆ

ในปี พ.ศ. 2530 ตอนนั้นถึงแม้ว่าลุงวิรัตน์จะอายุ 50 ปีแล้ว แต่คุณลุงยังมีความใฝ่รู้พากเพียรหาความรู้ใหม่ๆโดยการมาเรียนทำเครื่องปั้นดินเผาร่วมกับเด็กมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ศูนย์วิจัยของกรมวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้ข้อมูลใหม่ๆ นำมาพัฒนาสินค้าของตัวเอง และในปี 2534 เขายังได้รับโล่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศเชิดชูให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมภาคกลางตอนล่าง สาขาศิลปะ การช่างศิลปะ ช่างฝีมือ จังหวัดสมุทรสงครามนี่ก็เป็นประวัติคร่าวๆของลุง วิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ เป็นไงละครับกว่าจะเป็น ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ได้ อย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยทีเดียวนะครับ

บรรยากาศในบ้าน “ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์” เปิดประตูโล่งไว้ทั้งวัน เพื่อความสะดวกแก่ลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ ภายในมีพื้นที่กว้างขวางถึง 8 ไร่ เมื่อมองเข้าไปด้านขวามือจะเห็นบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ ซึ่งวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ เตรียมจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์ไทย ซ้ายมือเป็นบ้านหลังใหญ่ และโรงงานเล็กๆ ถัดไปจะเป็นเตาเผา และที่เห็นกำลังก่อสร้างอยู่ด้านใน คือบ้านอีกหลังหนึ่งของครอบครัว ทุกเช้าตั้งแต่เวลา 8.00 น. หนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งประมาณ 50 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะทยอยเข้าประตูรั้วบ้านหลังนี้เพื่อเข้ามาทำงาน ในห้องติดแอร์ด้านล่างของตัวบ้าน ทุกคนเป็นลูกหลานของชาวสวนมะพร้าว สวนส้ม สวนลิ้นจี่ ในเขตท้องที่อำเภออัมพวา และย่านใกล้เคียง บางคนจบการศึกษาแค่ชั้น ป.6 บางคนจบมัธยม หรือระดับ ปวช. เมื่อไม่มีโอกาสเรียนต่อ และไม่อยากเป็นชาวสวน ก็เข้ามาหางานทำที่โรงงานแห่งนี้

คุณลุงวิรัตน์กล่าวอีกว่าเมื่อเป็นโรงงานด้านศิลปะ คนที่เข้ามาต้องมีใจรักเป็นทุน และต้องมีความอดทนอย่างมากในการฝึกหัดเขียนลาย หลายคนที่ใจไม่เย็นพอก็เลิกรากันไปหลังจากฝึกอยู่ไม่กี่วัน แต่อีกหลายคนก็สามารถอยู่ต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า 10 ปี พร้อมๆ กับสะสมความชำนาญในเรื่องฝีมือเพิ่มขึ้นและช่วยฝึกสอน ถ่ายทอดวิชาให้รุ่นน้องอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันวิรัตน์ควบคุมดูแลอยู่เพียงห่างๆและเป็นผู้ดูแลหลักในเรื่องการผสมสีอย่างเดียวเท่านั้นในขณะที่บางคนเมื่อมีความเชี่ยวชาญระดับหนึ่งก็อาจจะออกไปตั้งโรงงานทำเองต่อไป

“สี” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานแต่ละชิ้นสวยงาม ปัจจุบันมีสีคุณภาพราคาแพงจากต่างประเทศ เข้ามาเปิดสาขาขายในเมืองไทยมากมาย แต่เทคนิคสำคัญอยู่ที่ว่าจะผสมอย่างไรให้ได้อย่างที่ต้องการ เผาออกมาแล้วไม่ผิดเพี้ยนไป วิรัตน์ยืนยันว่าการเลียนแบบสีโบราณเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก และเขาได้ฝึกการผสมสีมานานกว่าจะได้เคล็ดลับออกมา งานศิลปะนั้นเมื่อสมาธิเกิดขึ้นกับผู้สร้างผลงาน ความเพลิดเพลินและความสุขก็จะตามมา การเขียน การวาด ก็จะต่อเนื่องสัมพันธ์กันอย่างราบรื่น แต่จริงๆ แล้วขั้นตอนการทำนั้นยากมากเช่น งานชิ้นเล็กๆ อย่างถ้วยกาแฟชุดหนึ่ง ช่างต้องใช้เวลาเขียนลายและลงสีประมาณ 3 วัน ต่อจากนั้นก็นำเข้าเตาเผาในความร้อนสูงอีก 5 ชั่วโมง บางชิ้นที่มีความต่อเนื่องของลายยากๆ ก็จะใช้เวลามากกว่านี้ ราคาโดยเฉลี่ยของถ้วยและจานรองชุดนี้อยู่ที่ 1,200-1,600 บาท แต่หากไปเห็นวางขายตามโรงแรมใหญ่ราคาอาจสูงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ซื้อไปจะกำหนดราคาในการขายต่อมากน้อยแค่ไหนงานชิ้นใหญ่ขึ้นก็ต้องใช้เวลามากขึ้นบางชิ้นเป็นอาทิตย์ บางชิ้นเป็นเดือน อารมณ์ช่างเขียนต้องต่อเนื่องราคาก็แพงขึ้นตาม ซึ่งปัจจุบันเบญจรงค์ ปิ่นสุวรรณ มีลูกค้าประจำจากกระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบุคคลชั้นสูงในเมืองไทยอีกมากมาย

เครื่องเบญจรงค์ของปิ่นสุวรรณจะยึดลายโบราณเป็นหลักการพัฒนาลายอาจมีบ้างแต่ไม่ใช่เรื่องหลัก บางลายช่างจะตกแต่ง ให้ดูสวยงามอ่อนช้อยขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการประยุกต์และสานต่อ งานทางด้านศิลปะ หากได้รับความนิยมก็เท่ากับว่าเป็นงานใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้และจะถูกสืบสานต่อไป ลุงวิรัตน์บอกว่า เราไม่สามารถพัฒนาลายได้มากนัก เพราะลูกค้าจะสั่งงานตามลายต่างๆ ที่มีอยู่ หรือเอาของของเขาที่มีอยู่แล้วให้เราทำตามนั้น เช่น ลายเทพพนมนรสิงห์ ลายก้านขด ลายบัวเจ็ดสี ลายดอกรัก แต่เมื่อเราประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง ของบางชิ้นที่เราไม่เคยเห็นก็จะมีลูกค้าที่วางใจเอามาให้เราซ่อมแซม หรือเอามาให้ดู ทำให้เราได้ลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเหมือนกัน อย่างเช่น ลายนกไม้พญาสุนทร ซึ่งเป็นงานสมัยรัตนโกสินทร์ ผมก็ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนัก

สถานที่ตั้ง ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์  

ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์ ตั้งอยู่ที่ 32/1 หมู่ 7 ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110

การเดินทาง

ไปตามทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตรที่ 36-37 (ตรงข้ามกับวัดจุฬาณี)จะมีป้ายบอกทาง เข้าไปประมาณ 300 เมตร ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ที่มีลวดลายละเอียดอ่อนช้อย สีสัน งดงาม เหมาะแก่การซื้อหาไปเป็นของฝากหรือของแต่งบ้าน เปิดทุกวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.00-17.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 08.00-12.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 3475 1322 หากเพื่อนๆคนไหนสนใจในผลิตภัณฑ์หรือต้องการชมกรรมวิธีและขั้นตอนการผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์สามารถเยี่ยมชมได้ตามวันเวลาที่กล่าวมา ดูเอเซีย.คอมขอแนะนำว่าสินค้าที่นี่มีคุณภาพและสวยงามทุกชิ้นผลิตออกมาด้วยความตั้งใจจริง เหมาะมากๆที่จะนำไปตกแต่งบ้านหรือเป็นฝากผู้หลักผู้ใหญ่เนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆรับรองว่าไฮโซ้ไฮโซแน่นอนครับพี่น้อง 

ขอบคุณภาพ ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์

เชิญแสดงความคิดเห็น