ประเพณีปีใหม่ “โข่เซยี่ย” เมื่อครั้งหนึ่งที่เรามีโอกาสไปเมืองแม่ฮ่องสอน ดินแดนขุนเขาดอยสูง เพื่อติดตามกิจกรรมประเพณีที่สำคัญของชนเผ่าชาวเขา เผ่าลีซอ หรือ ลีซู คือ เทศกาลประเพณีปีใหญ่ลีซอ ซึ่งเราต้องเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านที่อยู่ลึกจากถนนใหญ่
เทศกาลฉลองปีใหม่ของลีซอ หรือ โข่เซยี่ยอาบา เป็นเทศกาลปีใหม่ที่มี ความสำคัญของชาวลีซอมาก ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นวันเริ่มต้นสำหรับชีวิตใหม่ และสิ่งใหม่ๆหรือเรียกว่าฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เข้ามากับตัวเอง ในงานเทศกาลปีใหม่ลีซอนั้นมีการจัดกิจกรรมหลายอย่างได้แก่ การทำบุญศาลเจ้า การขอศีลขอพรจากเทพเจ้าและจากผู้อาวุโส มีการละเล่นต่าง ๆ การร้องเพลง การเต้นรำเป็นต้น
เทศกาลฉลองปีใหม่ของชาวลีซอนั้นตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ของชาวจีนทั่วไป หมู่บ้านที่มีชาวลีซอตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ทำในวันนี้คือ
นึ่งข้าวเหนียว เพื่อตำข้าวปุ๊กในตอนเช้า เมื่อข้าวสุกแล้วก็นำข้าวเหนียวไปตำจนนุ่ม และโรยแป้งหรืองา เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวติดมือ และปั้นเป็นก้อนพอประมาณ ใส่ลงไปในใบตองที่เตรียมไว้ โดยทบไปตองไปมา หน้าละ 2 ก้อน จนกระทั่งใบตองหมดแผ่น จึงทำแผ่นใหม่เรื่อย ๆ จนหมด
ก่อนวัน “ป่าปาเตี๊ยะ” 1 วันช่วงเย็นต้องเตรียมต้นไม้ “โข่เซยี่ยและจึว” จะเลือกเอาจากต้นไม้ที่มีลักษณะงาม ลำต้นเรียวยาว สูงประมาณ 1.5 เมตร โดยนำต้นไม้มาปักกลางลานบริเวณบ้าน จากนั้นนำ “ป่าปา” และเนื้อหมูหั่นยาวประมาณ 6-7 นิ้ว “ซาซือ” แขวนที่เสา และจุดธูป 2 ดอก และมีการเตรียมไข่ต้ม และเส้นด้ายยาวขนาดที่จะมัดที่คอหรือข้อมือได้ เท่ากับจำนวนสมาชิกในบ้าน ผู้อาวุโสในบ้าน (จะเป็นผู้ชาย) เป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญ โดยการเอาไข่ต้มทั้งหมด และเส้นด้ายที่จะใช้มัดวางขนถ้วยที่ใส่ข้าวสุกที่วางบนผ้าอีกชั้นหนึ่ง ไปยืนเรียกขวัญที่หน้าประตูบ้านเมื่อทำพิธีเสร็จ จึงทำการผูกด้ายสายสิญจน์ และให้ไข่ต้มแก่สมาชิกคนละใบ เพื่อให้ขวัญที่อาจหลุดลอยไปจากร่างกายของเจ้าของได้กลับเข้าร่างของตน
สำหรับการตั้ง “โข่เซยี่ยและจึว” นั้น เพื่อเป็นการอันเชิญให้เทพผู้หญิงลงมาประทับ จะให้ศีลและพรแก่เจ้าของบ้าน และจะลงมาเยี่ยมเยียนปีละครั้งในตอนเช้าของวันแรกของวันปีใหม่ จึงต้องทำความสะอาดบ้าน ก่อนที่เทพองค์นี้จะลงมา เชื่อว่าหากบ้านไหนสกปรกจะไม่ให้พร นอกจากนี้ยังใช้สำหรับเป็นจุดศูนย์กลางในการเต้นรำรอบ ๆ ต้นอีกด้วย เพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ และขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากบริเวณบ้าน
วันแรกสำหรับของการปีใหม่ ในวันนี้ ทุกบ้านจะต้องตื่นแต่เช้า เพื่อเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และเทพ “อาปาโหม่ว” โดยทุกบ้านต้องส่งตัวแทนไปร่วม 1 คน ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น อุปกรณ์ที่นำไป ได้แก่ ข้าวปุก 1 คู่ เหล้า 1 ขวด และเนื้อหมู 1 อัน เพื่อนำไปขอศีลพรจากเทพ “อาปาโหม่ว” ซึ่งเป็นเทพที่ปกป้องดูแลคนภายในหมู่บ้าน
พอสายก็เตรียมอุปกรณ์เพื่อไปร่วมพิธีดำหัว “มือหมือ” ซึ่งเป็นผู้นำพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดปีที่ผ่านมา และขอศีลพรจาก “มือหมือ” อีกด้วย จากนั้นจะมีการเต้นรำ ร้องเพลง โดยหนุ่มสาวจะแต่งกายด้วยชุดชนเผ่า และสวมเครื่องประทับอย่างสวยงามมาเต้นรำอย่างสนุกสนาน ผู้ใหญ่ก็จะร้องเพลง พูดคุยกัน จนกระทั่งดึก ก็จะมีการเต้นรำเวียนรอบบ้านทุกบ้าน เป็นการเฉลิมฉลอง และต้อนรับปีใหม่ ตลอดจนเพื่อให้พร และสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านต่าง ๆ โดยเจ้าบ้านจะคอยต้อนรับด้วยการนำขนม น้ำชา และเหล้ามาเลี้ยงขอบคุณ
วันที่สองสำหรับงานปีใหม่ ในวันนี้ชาวบ้านจะมาทำพิธีดำหัวผู้นำชุมชน เพื่อขอบคุณผู้นำชุมชนที่ดูแล และปกครองคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดปี ซึ่งพิธีกรรมและกิจกรรมเหมือนการดำหัว “มือหมือ” แต่จะไม่มีการ “โข่เซยี่ยจั๊วะ” จะร่วมกิจกรรม และเต้นรำตลอดวัน และตลอดคืนที่นี่
วันที่สามสำหรับงานปีใหม่ ในวันนี้ช่วงเช้าจะไปยังบริเวณศาลเจ้า เพื่อขอศีลขอพรจากเทพ ผู้ยิ่งใหญ่ที่ปกป้องดูแลไม่ให้เกิดสิ่งชั่วร้ายสำหรับคน
พิธีสำคัญในงานปีใหม่จะมีเพียง 3 วันเท่านั้น นอกจากนั้นจะสามารถจัดงานรื่นเริง เต้นรำ ร้องเพลง ได้เรื่อย ๆ ประมาณ 3 – 7 วัน หรือตามแต่คนในชุมชนอยากจะจัด
ขั้นตอนประเพณีปีใหม่ลีซอ ส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยได้เห็น เพราะเขาจัดทำขึ้นตามบ้าน หรือสถานที่สำคัญ ยกเว้นว่าเราได้รับข้อมูลหรือขั้นตอนต่างๆ ส่วนใหญ่เราจะพบเห็นชาวลีซอแต่งกายอย่างงดงาม ออกมาเต้นรำกันทั้งกลางวันและกลางคืน ล้อมวงเป็นวงใหญ่ โดยมีเสาไม้เป็นหลักวง “โข่เซยี่ยและจึว”
จังหวะการเต้นรำ ก็เป็นจังหวะเฉพาะของชนเผ่าลีซอ โดยมีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเต้นรำ ได้แก่ ซึง “ชือบือ” แคนน้ำเต้า “ฟู่วหลูว” มีหลายประเภท มีทั้งแคนสั้น และแคนยาว และขลุ่ย “จู่วหลู่ว” เป็นต้น เป็นตัวให้จังหวะในเต้นสลับเท้า และหมุนรอบตามวงกลม
ปีใหม่ลีซอ จัดว่าเป็นงานประเพณีของชนเผ่าชาวในประเทศไทย ที่มีสีสันมากที่สุด และมีการจัดงานตรงกับงานเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำทุกปี