นมัสการพระธาตุบังพวน พระธาตุเก่าแก่ที่หนองคาย
ทริปนี้ดูเอเซีย.คอมพาเพื่อนๆมาไหว้พระธาตุขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันถึงแดนอีสานเมืองพญานาคกันเลยเชียว พูดถึงพญานาคแล้วจะเป็นจังหวัดอื่นไปได้อย่างไร ก็ต้องจังหวัดนี้เลย….หนองคาย!!
จังหวัดหนองคายนอกจากจะเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในเรื่องเทศกาลบั้งไฟพญานาคแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันน่าจะอยู่ที่พระธาตุที่ดูเอเซีย.คอมจะพาเพื่อนๆไปเที่ยวชมเลย เพราะว่าพระธาตุแห่งนี้เป็นพระธาตุที่เก่าแก่และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวหนองคาย ทั้งยังมีประวัติความเป็นมาที่ไม่ธรรมดาอีกด้วย เล่ามาถึงขนาดนี้แล้ว ไปดูไปชมความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์กันเลยดีกว่าที่ วัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย
พระธาตุบังพวน เป็นพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่และสำคัญยิ่งของจังหวัดหนองคาย และเป็นพระธาตุที่สำคัญองค์หนึ่งของภาคอีสาน ประดิษฐานอยู่ ณ บ้านพระธาตุบังพวน ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า พระยาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหาน สกลนคร พระยาคำแดง เจ้าเมืองหนองหารน้อย อุดรธานี พระยาจุลณี พรหมทัต เจ้าเมืองจุลณี (ลาวเหนือ) พระยาอินทปัตนคร เจ้าเมืองอินทปัตนนนคร (เขมร) และพระยานันทเสน เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์หลวง (ตรงข้ามนครพนม) ได้ร่วมกันอุปถัมภ์ พระมหากัสสเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ อีก 500 องค์ ทำการก่อสร้างพระธาตุพนม แล้วเสร็จ และได้บรรลุพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด ต่อมาได้เดินทางไปสู่แดนพุทธภูมิ เพื่อไปอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า 45 พระองค์ นำมาประดิษฐานไว้ ณ สถานที่ 4 แห่งคือ บริเวณเมืองหนองคาย และเมืองเวียงจันทน์ หนึ่งในสี่แห่งนั้น คือพระธาตุบังพวน ซึ่งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาพักที่ร่มไม้ปาแป้ง (ไม้โพธิ) ณ ภูเขาหลวง อันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ พระธาตุบังพวนปัจจุบัน
จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า พระธาตุบังพวนได้มีการก่อสร้างสืบเนื่องกันมาสามสมัย คือ ฐานเดิมสร้างด้วยศิลาแลง ชั้นที่สองสร้างด้วยอิฐครอบชั้นแรก และต่อมาได้มีการก่อสร้างให้มีขนาดสูงใหญ่ขึ้น จากจารึกที่ฐานพระพุทธรูปที่ขุดได้ 4 องค์ ในจำนวนทั้งหมด 6 องค์ ระบุศักราชที่สร้างไว้ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2118 พ.ศ. 2150 พ.ศ. 2158 และ พ.ศ. 2167 และข้อความในจารึกเมื่อ พ.ศ. 2167 มีประวัติในการสร้าง โดยได้กล่าวถึงพระเจ้าโพธิสาลราช ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีราชธานีอยู่ที่นครเชียงทอง ซึ่งก็ตรงกับรูปแบบการก่อสร้างโบราณสถานในบริเวณวัดพระธาตุบังพวน ที่แสดงถึงอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง
พระธาตุบังพวนเป็นพระสถูปเจดีย์ ทรงเรือนปราสาทสี่เหลี่ยม เป็นองค์ประธานซึ่งมีชื่ออยู่ในศิลาจารึกว่า พระธาตุบังพวนพระเจดีย์ศรีสัตตมหาทาน ภายในวัดมีกลุ่มพระธาตุขนาดต่าง ๆ อีก 15 องค์ สันนิษฐานว่า คงจะสร้างในสมัยใกล้เคียงกันกับพระธาตุบังพวน มีวิหาร 3 หลัง อุโบสถ 1 หลัง สระน้ำ และบ่อน้ำโบราณ นอกจากนั้นยังมีโบราณสถานอีกกลุ่มหนึ่ง ภายในบริเวณเดียวกัน เรียกว่า สัตตมหาสถาน อันเป็นสถานที่ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธประวัติ เมื่อครั้งแรกตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สัตตมหาสถานที่สร้างขึ้นมาภายหลัง มีอยู่ 3 แห่งอยู่ ที่ประเทศพม่าหนึ่งแห่ง และที่ประเทศไทยสองแห่ง คือที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ และที่วัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคายแห่งนี้ สัตตมหาสถาน ที่วัดพระธาตุบังพวนยังมีครบถ้วนทั้งเจ็ดองค์ และมีแผนที่ตั้งเหมือนกันกับที่พุทธคยา ประมวลได้ดังนี้
พระโพธิบัลลังก์ ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลาง สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ เป็นพระสถูปทรงกลมสูงประมาณ สองเมตรครึ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ เจ็ดเมตรครึ่ง โพธิบัลลังก์หรือวัชรอาสน์นี้ เป็นอาสน์ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่ง เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิต จนบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อวันเพ็ญเดือนหก ก่อนพระพุทธศักราช 45 ปี ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎก กล่าวว่า พระพุทธองค์ได้ทรงประทับนั่งอยู่บนโพธิบัลลังก์นี้เป็นเวลา 7 วัน ทรงพิจารณาธรรมที่ตรัสรู้แล้ว คือ ปฏิจจสมุปบาท ทั้งสายเกิด และสายดับ กลับไปกลับมา
พระอนิมมิสเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐสอปูน ตามพุทธประวัติจากอรรถกถา กล่าวว่า เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จมาประทับยืนอยู่ ณ ที่นี้ แล้วทรงทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ ที่ให้ร่มเงาปกคลุมโพธิบัลลังก์ อยู่ 7 วัน
พระรัตนจงกรมเจดีย์ ที่พุทธคยาจะตั้งอยู่ระหว่างพระโพธิบัลลังก์กับพระอนิมมิสเจดีย์ แต่ที่วัดพระธาตุบังพวนนั้น พระรัตนจงกรมเจดีย์ตั้งอยู่ค่อนไปทางเหนือ เป็นพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐสอปูน มีลาดพระบาทก่อด้วยอิฐกว้างประมาณสองเมตรครึ่ง จรดพระอนิมมิสเจดีย์ ตอนกลางมีรอยพระพุทธบาทใหญ่ ตามพุทธประวัติจากอรรถกถา กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่อนิมมิสเจดีย์ ครบ 7 วัน แล้ว ได้ทรงเดินจงกรม เพื่อพิจารณาบรรดาสัตว์โลกที่จะเสด็จไปโปรด อยู่ 7 วัน
พระรัตนฆรเจดีย์ ที่พุทธคยา จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระโพธิบัลลังก์ แต่ที่วัดพระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นพระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐสอปูนขนาดใหญ่ ทรงปราสาทเรือนธาตุ มีซุ้มและพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามพุทธประวัติจากอรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด 7 วัน ทรงประทับอยู่ที่เรือนแก้วที่เทวดานิรมิตถวาย บังเกิดฉัพพรรณรังษีรอบพระวรกาย
พระอชปาลนิโครธเจดีย์ ที่พุทธคยาจะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ที่วัดพระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นพระสถูปเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม มีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎก กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงโต้ตอบกับพราหมณ์ผู้มีทิฐิมานะคนหนึ่ง ที่ชอบว่าคนอื่น ตามอรรถกถากล่าวว่า ทรงมีพุทธฎีกาต่อธิดาพญามาร 3 ตน มีนามว่า ตัณหา ราคา และอรดี ที่รับอาสาพญามารนามว่า วสวัตตี ผู้เป็นพ่อ มายั่วยวนพระพุทธเจ้า แต่ก็พ่ายแพ้อันตรธานไปในที่สุด พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ ที่นี่เป็นเวลา 7 วัน
พระมุจลินทเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่คู่กับสระน้ำ ที่พระธาตุบังพวน ได้สร้างวิหารแบบโปร่งไม่มีผนัง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่สระน้ำมีรูปปั้นพระยานาค 7 เศียร อยู่กลางสระ ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎกกล่าวว่า ช่วงนี้อยู่ในสัปดาห์ที่สามหลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ในช่วงเวลาที่ฝนตกพรำตลอด 7 วัน พญามุจลินทนาคราชได้ขึ้นมาขนดและแผ่พังพาน เพื่อบังลมและฝนให้ เมื่อพายุหายแล้ว ก็คลายขนด จำแลงกายเป็นมาณพน้อย ยืนประคองอัญชลีนมัสการพระพุทธเจ้า
พระราชายตนะเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เป็นพระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม และมีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิ เช่นเดียวกับ อชปาลนิโครธเจดีย์ ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎกกล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ 4 หลังการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับที่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกตุ) ณ ที่นี้ได้มีพ่อค้าสองคน มีนามว่า ตปุสสะ กับ ภัลลิกะมาพบ ได้ถวายข้าวสัตตุก้อน และสัตตุผง และได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธและพระธรรม เป็นสรณะ เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีพระสงฆ์พระธาตุบังพวน ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้าง และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยต่อมา แต่ไม่ต่อเนื่องนัก ในระยะหลังจึงทรุดโทรมมาก และได้พังทลายลงมา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2513 กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการบูรณขึ้นใหม่ โดยก่อคอนกรีตเสริมฐานเดิม ซึ่งที่ฐานล่างเป็นศิลาแลง ต่อมาเป็นฐานทักษิณ 3 ชั้น บัวคว่ำ 2 ชั้น ต่อด้วยปรางค์สี่เหลี่ยมบัวปากระฆัง บัวสายรัด 3 ชั้น รับดวงปลีบัวตูม แล้วตั้งฉัตร 5 ชั้น ฐานล่างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละประมาณสิบเจ็ดเมตร สูงถึงยอดฉัตรประมาณสามสิบสี่เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้ง สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน และร่วมยกฉัตรสู่ยอดพระธาตุบังพวน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ในเพ็ญเดือนสาม ของทุกปี จะมีงานเทศกาลนมัสการ พระธาตุบังพวน เป็นเวลา 5 วัน 5 คืน
ส่วนทริปหน้า ดูเอเซีย.คอมจะพาเพื่อนๆไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวใดที่น่าสนใจทั้งภายในแดนอีสาน และทั่วประเทศไทย ต้องติดตามกันนะจ๊ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.watprathatbangphuan.com/index.php
ขอบคุณภาพ 202.28.118.8