สักการะปฐมกษัตริย์ แห่งนครหริภุญชัย

0

ขึ้นเหนือมาก็หลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้แวะสักทีที่ลำพูน วันนี้เลยตั้งใจอย่างแน่วแน่ เพื่อมาสักการะแม่ญิง(สตรี) ผู้ทะนุบำรุงเมืองหริภุญชัย จนเจริญรุ่งเรืองมากว่าหลายร้อยปี 

ด้วยความชื่นชมและนับถือพระนาง หากดูเอเซียจะย้อนเวลาไปไหว้สักการะท่าน ก็คงเป็นไปไม่ได้ ทำได้เพียงแต่เดินทางมาไหว้สัการะพระนางที่อนุสาวรีย์ของพระนางที่ชาวลำพูนได้จัดสร้างไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ให้ผู้คนได้ที่มีความนับถือ มีความศรัทธา ได้แวะเวียนเข้ามากราบไหว้พระนาง และรำลึกถึงพระนาง โดย อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี แห่งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมารได้เสด็จมาทรงเปิดเมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2525 สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญชัย ผู้ทรงมีคุณธรรม และเป็นนักปราชญ์ผู้กล้า

ในส่วนของเรื่องราวของพระนางจามเทวี ดูเอเซียได้ค้นคว้าและศึกษามาพอสมควร โดยเรื่องราวของพระนางจะมีกล่าวถึงในตำนานต่าง ๆ หลายแห่งแตกต่างกันออกไป แต่จากตำนานพื้นเมืองเอง ได้กล่าวไว้ว่า พระนางจามเทวีทรงเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ลพราช ผู้ครองเมืองละโว้ ต่อมาพระฤๅษีวาสุเทพและพระฤๅษีสุกทันตะได้สร้างเมืองหริภุญชัยและแต่งตั้งให้นายควิยะบุรุษเป็นทูตพร้อมด้วยเครื่องบรรณาการ ไปทูลขอหน่อกษัตริย์จากเมืองละโว้ กษัตริย์เมืองละโว้ได้โปรดให้พระราชธิดาซึ่งอภิเษกสมรสแล้วกับเจ้าชายรามราชแห่งเมืองรามนคร และทรงพระครรภ์ได้ ๓ เดือน ไปครองเมืองแทน ซึ่งพระนางจามเทวีก็ทรงเต็มพระทัยที่จะเสด็จไปพร้อมกับพระมหาเถระที่ทรงพระปิฎก ๕๐๐ รูป หมู่ปะขาวที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล ๕๐๐ คน บัณฑิต ๕๐๐ คน พ่อค้าวานิช สมณชีพราหมณ์ และช่างต่าง ๆ อย่างละ ๕๐๐ คน รวมประมาณกว่า ๗,๐๐๐ คน

การเสด็จไปครองนครหริภุญชัยในครั้งนั้น พระนางจามเทวีเสด็จจากเมืองละโว้โดยขบวนชลมารค ซึ่งเป็นขบวนใหญ่ล่องไปตามลำแม่น้ำปิง ดังปรากฏเรื่องราวและชื่อสถานที่อันเกี่ยวกับพระนางจามเทวีหลายแห่งในปัจจุบัน เช่น บ้านตากก็ได้ชื่อมาจากสถานที่ที่น้ำซัดเข้าเรือ ทำให้เสื้อผ้าเปียกน้ำ จึงมีการหยุดพักและนำสิ่งของเสื้อผ้าออกตาก สถานที่ที่พระนางจามเทวีทรงระลึกถึงบ้านก็ได้ชื่อว่า จามเหงา แล้วเพี้ยนมาเป็นสามเงาในเวลาต่อมา ส่วนหน้าผาที่ขบวนใช้เป็นสถานที่อาบน้ำ ก็ได้ชื่อว่าผาอาบนาง หรือผานางอาบ และที่ดอยเต่าจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมเป็นเมืองร้าง เมื่อขบวนมาประทับแรม บรรดาเต่าป่าพากันมาแย่งอาหาร จึงได้ชื่อว่าดอยเต่า ส่วนเมืองฮอดก็ได้ชื่อมาจากการที่พระนางจามเทวีทรงถามชาวบ้านป่าแถบนั้นว่าอีกเท่าไรจึงจะฮอดลำพูน

ขบวนเสด็จของพระนางจามเทวีต้องรอนแรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานโดยขบวนชลมารค จากนั้นจึงขึ้นฝั่งเสด็จต่อไปด้วยขบวนช้าง ขบวนม้า เมื่อประทับแรม ณ ที่แห่งใดก็จะทรงสร้างศาสนสถานเป็นที่ระลึกไว้เสมอ จนมาถึงบ้านละมักจึงทรงหยุดพักขบวนเพื่อรอเสด็จเข้าเมืองลำพูนต่อไป รวมระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น ๗ เดือน

พระนางจามเทวีได้ทรงครอบครองเมืองหริภุญชัย หรือเมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๐๖ ทรงนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมืองหริภุญชัยเป็นอันมาก ทั้งทางด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม พระราชอาณาเขตแผ่ไพศาลไปทั่ว โดยมีเมืองหริภุญชัยเป็นศูนย์กลางการปกครอง ทรงครองราชย์ได้ ๕๒ ปี จึงเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ ๙๒ พรรษา มีผู้สืบเชื้อสายติดต่อกันมาถึง ๔๙ พระองค์ รวมระยะเวลา ๖๑๘ ปี จึงเสียพระนครให้แก่พญามังรายมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. ๑๘๒๔ ซึ่งอนุเสาวรีย์ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในมีลานกว้าง และเข้ามาจากด้านหน้า ทางขวามือจะมีร้านขายของที่ระลึก และพวกเครื่องรางต่างๆเพียง 2ร้าน และขายดอกไม้ธูปเทียน เพื่อนำมาไหว้พระนาง กำแพงด้านหลังจะมีการแกะลสักเรื่องราวความเป็นมาของเมืองในยุคต่างๆ ที่ผ่านมา สองข้างก็จะมีรูปปั้นช้าง-ม้าคูบารมีของพระนางอยู่ด้วย ภายในบริเวณอนุสาวรีย์แห่งนี้ จะมีศิลปินผู้พิการทางสายตา นั่งบรรเลงเพลงพิณ หรือ ปิน(ภาษาพื้นเมืองในภาคเหนือ) ขับกล่อม เพิ่มความเป็นเหนือๆ เข้าไปอีกมาก

หลังเสร็จจากการกราบไหว้อนุสาวรีย์พระนางแล้ว ดูเอเซียยังติดตามเพื่อไปกราบไหว้อัฐิของพระนาง ที่วัดจามเทวี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์แห่งนี้ กะคร่าวๆ จากอนุสาวรีย์สังเกตุป้าย ไปอ.สันป่าตอง ราวๆ 1กิโลเมตร ก็ถึง วัดจะอยู่ริมถนน ชื่อ ถ.จามเทวี

ซึ่งตามประวัติการสร้าง วัดจามเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดเจดีย์กู่กุด ได้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 เป็นฝีมือช่างละโว้ ลักษณะของพระเจดีย์ภายในวัดเป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย มีพระพุทธรูปปางประทานพรยืนเป็นชั้นๆ ชั้นละ 3 องค์ ด้านหนึ่งมี 5 ชั้น จึงมีพระพุทธรูปด้านละ 15 องค์ ทั้ง 4 ด้าน รวมเป็น 60 องค์

ตามตำนานเล่าว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระนางเมื่อปี พ.ศ. 1298 แต่เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบชัด ยอดพระเจดีย์หักหายไปชาวบ้านจึงเรียกว่า กู่กุด” หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ” นอกจากนั้นยังมีรัตนเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่ทางขวาของวิหาร สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระยาสรรพสิทธิ์ ฐานล่างสุดเป็นรูป 8 เหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.40 เมตร สูงจรดยอด 11.50 เมตร ตัวเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ด้านหลังของพระเจดีย์กู่กุด มีสถูปประดิษฐานพระรูปของ ครูบาศรีวิชัยไว้ด้วย

สุขใจและอิ่มใจครับที่ได้มากราบไหว้สตรีผู้ที่มีความสำคัญต่อการสร้างบ้านสร้างเมืองของเรา (ดูสิ..กว่าจะรวมกันขึ้นมาเป็นประเทศไทยได้ ไม่ได้ใช้เวลาแค่ 10 20ปี..  รักกันไว้เถิดครับพี่น้องชาวไทย)

สรุปการเดินทาง จากศาลากลางจังหวัดลำพูน
ไปอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ให้ไปทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร
ไปวัดจามเทวี หรือวัดกู่กุด หรือ วัดกุดกู่ ให้ไปทางทิศตะวันตก 1.5 กม. ตามถนนสายลำพูน-สันป่าตอง

ขอบคุณภาพ https://lamphuncity.go.th

เชิญแสดงความคิดเห็น