ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมศิลปะหนังใหญ่ของไทย เด็กยุคใหม่น้อยคนหนักที่จะรู้จักศิลปะชนิดนี้ ครั้งนี้ดูเอเซียดอทคอมได้มีโอกาสมาสัมผัสศิลปะหนังใหญ่ที่ยังคงเหลือและเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่ “วัดสว่างอารมณ์” จังหวัดสิงห์บุรีแห่งนี้ โดยก่อตั้งไว้เป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพราะปัจจุบันหลงเหลือศิลปะหนังใหญ่ ไว้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ทริปนี้ดูเอเซียขออาสามาเผยแพร่ศิลปะหนังใหญ่ให้เพื่อน ๆ ดูเอเซียได้รู้จักกันมากขึ้น
วัดสว่างอารมณ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดบางมอญ” ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี บริเวณวัด ทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกติดกับถนน สายสิงห์บุรี – อ่างทอง ห่างจากตัวจังหวัดสิงห์บุรีไปทางทิศใต้ ประมาณ ๑ กิโลเมตร
สาเหตุที่เรียกวัดบางมอญ เพราะเรียกตามชื่อหมู่บ้าน ตำบลต้นโพธิ์ แต่เดิมเรียกกันว่า“บ้านบาง มอญ” เนื่องจากบริเวณนี้เคยมีชาวมอญ นำสินค้ามาขายโดยล่องเรือมาลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อมาถึงจังหวัดสิงห์บุรี ได้จอดเรือพักกันที่นี่ คนทั่วไปจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านบางมอญ
วัดสว่างอารมณ์แห่งนี้ เป็นที่รวบรวมหนังใหญ่ที่มีความงามของตัวหนังประมาณ ๒๗๐ ตัว ตัวหนังใหญ่ส่วนหนึ่งได้มาจาก “ครูเปีย” เจ้าของหนังใหญ่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บางส่วนซื้อมาจากวัดตึก (อยู่ตรงข้ามกับวัดสว่างอารมณ์)ครูเปีย ผู้นำหนังใหญ่มาถวายหลวงพ่อเรือง และฝึกหัดการเชิด การพากย์ ให้แก่ชาวบ้านบางมอญด้วย ศิษย์ผู้ฝึกหัดเชิดและพากย์หนังจากครูเปียได้ดี และสามารถถ่ายทอดแก่บุตรหลานได้คือ นายนวม ศุภนคร อดีตกำนันตำบลต้นโพธิ์ ต้นสกุล “ศุภนคร”ซึ่งต่อมาได้บรรดาศักดิ์ เป็น “ขุนบางมอญกิจประมวญ” และบุตรชายของขุนบางมอญ กิจประมวญทั้ง ๕ คน สามารถเชิดหนังใหญ่ได้ทุกคนเมื่อขุนบางมอญกิจประมวญถึงแก่กรรม นาย เชื้อ ศุภนคร (ครูเชื้อ) บุตรชายคนโตได้รับช่วงการจัดการแสดงต่อ เมื่อตัวหนังใหญ่ ชำรุดเสียหายมาก นายเล็ก วินิจ จะเป็นคนซ่อม และสร้างเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๔๕ โดยใช้พื้นที่ชั้นบนของศาลาการเปรียญจัดแสดงตัวหนังใหญ่ โดยนำหนังใหญ่มาตรึงบนผืนผ้าขนาดใหญ่สีขาว ที่สร้างเป็นตู้ไม้พร้อมหลอดไฟส่องสว่างอยู่ภายใน เพื่อให้เห็นลวดลายของหนังใหญ่ได้ชัดเจนและสวยงาม โดยหนังใหญ่ที่จัดแสดงนี้ เป็นหนังใหญ่ชุดเก่าแก่ที่ไม่ได้นำมาเชิดแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็จัดเก็บเป็นคลัง โดยขึงตัวหนังไว้กับกรอบไม้แล้วแขวนไว้บนราว ซึ่งผู้ชมก็สามารถเลื่อนกรอบไม้เพื่อดูตัวหนังที่จัดเก็บไว้ได้เช่นกัน ภูมิปัญญาการแกะตัวหนังใหญ่ของวัดสว่างอารมณ์ ยังไม่ได้เลือนหายไปแต่อย่างใด ปัจจุบันยังมีผู้สืบทอดช่างแกะสลักตัวหนังอยู่ ลวดลายส่วนหนึ่งเป็นการลอกลายจากหนังชุดเก่าที่มีอยู่เดิม และบางส่วนได้ออกแบบลวดลายใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งลักษณะ ความงาม และความหมายของตัวหนังแต่ละตัวเอาไว้ หนังใหญ่ที่ยังคงมีชีวิตและเชิดเล่นกันอยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันเหลือเพียงสามคณะเท่านั้น คือที่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง วัดขนอน จังหวัดราชบุรี และวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี
หากเพื่อน ๆ ดูเอเซีย อยากเรียนรู้และสัมผัสกับลวดลายความงามของศิลปะหนังใหญ่ ศิลปะที่สวยงามและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และที่นี้เค้ายังมีการเรียนการสอนเชิดหนังใหญ่ด้วย มีทั้งเด็ก ๆ และวัยรุ่นสนใจเข้าไปศึกษาเล่าเรียนกันเยอะเหมือนกันครับ ยังไงก็ลองแวะมาดูได้ที่ “วัดสว่างอารมณ์” จังหวัดสิงห์บุรี แล้วเพื่อน ๆ จะเข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องอนุรักษ์ศิลปะชนิดนี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป
พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. และวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา ๐๘.๓๐ ๑๗.๐๐ น.
ขอบคุณภาพ oknation.nationtv.tv/blog/phaen