หลายคนที่เคยไปเดินเที่ยวเล่นตลาดน้ำอัมพวา เมื่อเดินลัดเลาะเลียบคลองไปก็คงจะได้เห็นป้ายไม้สวย ๆ ที่เขียนไว้ว่า “สวัสดีอัมพวา” ตามด้วย “พิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อน” (มุมถ่ายรูปยอดฮิตของตลาดน้ำอัมวา)บริเวณห้องแถวไม้เก่าริมน้ำที่ภายในเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้เก่าก่อน แต่โบราณ ด้านหน้ามีกางเกงทรงเล สีสันสดใสวางขายอยู่ด้านหน้า สกรีนด้วยถ้อยคำเดียวกันที่ว่า “สวัสดีอัมพวา พิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อน”
พิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อน หากไม่รู้จริงๆ ก็คงคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ด้วยพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน เพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น บวกกับความเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ได้เก็บรักษาความเป็นอัมพวาเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน
จริงๆ แล้วแนวคิดเหล่านี้เกิดจาก คุณประทีป เอี้ยวพันธ์ ทนายความหนุ่มลูกแม่กลอง ที่เห็นว่าในอดีตที่ตลาดริมน้ำซบเซา บ้านเรือนเหลือแต่คนเฒ่าคนแก่กับคนที่อยู่อาศัยที่เช้ามาก็ออกไปทำงาน เย็นก็กลับมานอนเท่านั้น ข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่ในบ้าน เริ่มจะพังก็ทิ้งบ้างขายบ้างปล่อยให้ฝุ่นเกาะไม่สนใจลืมเลือนไปตามกาลเวลา คุณประทีปจึงใช้เวลาเก็บสะสมข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ ที่เคยเห็นเคยเล่นในอดีต ผสมกับความรักความชอบของเก่าอยู่แล้วด้วย ของสะสมเหล่านี้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวคุณประทีปจึงต้องการจะแบ่งปันให้คนอื่นๆ ได้ร่วมรำลึกถึงอดีตด้วย ก็เลยคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์และได้มาเช่าห้องแถวริมน้ำคลองอัมพวา ในราคาที่ไม่แพงนัก เปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อน” พอดีกับช่วงที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาทำการศึกษาเรื่องของอำเภออัมพวาและจังหวัดสมุทรสงคราม เจ้าของห้องแถวที่คุณประทีปมาเช่าเพื่อเปิดพิพิธภัณฑ์นั้น ได้ยกห้องแถวจำนวนหลายสิบห้องให้กับมูลนิธิ เมื่อห้องแถวที่เช่าได้เปลี่ยนมือจากเจ้าของเดิมเป็นมูลนิธิแล้วนั้น ในช่วงแรกคุณประทีปเองก็ยังไม่แน่ใจนักว่าจะสามารถเปิดพิพิธภัณฑ์ต่อไปได้หรือไม่ ในช่วงนั้นเองที่ตลาดน้ำอัมพวาค่อยๆ มีชื่อเสียงขึ้นมาได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มูลนิธิชัยพัฒนาก็อนุญาตให้คุณประทีปและพิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อนได้เปิดทำการต่อไป
คุณประทีป
สิ่งของจัดแสดง ในพิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อนนั้นจะไม่ใช่โบราณวัตถุ แต่เป็นของเก่าในอดีตที่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ เคยใช้ ในรุ่นของเราก็อาจเห็นของเหล่านี้วางทิ้งและเก่าพังอยู่หลังบ้าน เมื่อมองเข้าไปในพิพิธภัณฑ์อาจจะแบ่งการจัดแสดงได้สามส่วนใหญ่ๆ คือ 1. เครื่องมือทำมาหากิน 2. สินค้าในร้านค้าและของเล่น 3. หนังสือเก่าและรูปภาพเก่า
เครื่องมือทำมาหากินที่จัดแสดง เป็นเครื่องมือของอาชีพที่ปรากฏในจังหวัดสมุทรสงคราม เช่นอาชีพทำสวน ทำนา ฯลฯ ในอดีตบริเวณอำเภออัมพวาและบางคณฑี เคยเป็นพื้นที่ปลูกใบยา ที่ใช้ในประกอบในการกินหมาก ใบยาจืดที่ดีต้องหั่นละเอียดและมีสีเหลืองทอง ในพิพิธภัณฑ์จะมีที่ใบยา มีดหั่นยา และตัวอย่างของยาจืดให้ได้ดูกันด้วย ถัดมาเป็นเครื่องมือในการทำนาข้าวในพื้นที่สวนของจังหวัดสมุทรสงคราม คุณประทีปเล่าว่า เมื่อแต่ก่อนนั้นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามก็มีการทำนา โดยในร่องสวนนั่นเองเป็นที่ปลูกข้าว บนร่องสวนก็ปลูกพืชล้มลุกหรือว่าต้นหมาก ต้นส้ม
ในพิพิธภัณฑ์จะมีถังสลับฟาดเอาเม็ดข้าวออกจากรวง โดยมีไม้ลักษณะเหมือนกระได และไม้ไผ่สานเป็นผืนเป็นที่กั้นไม่ให้เมล็ดข้าวเปลือกกระเด็นออกนอกถังได้ ต่อมาเป็นเครื่องสีฝัด ที่หลังจากฟาดข้าวจนออกหมดรวงแล้ว ก็นำเข้าเครื่องสีฝัด เพื่อพัดเอาเมล็ดข้าวเปลือกที่ลีบ หรือเสียให้ปลิวออกไปก็จะได้ข้าวที่มีคุณภาพ
การทำน้ำตาลมะพร้าวในสมุทรสงครามมีมาคู่กับอาชีพการปลูกมะพร้าว ในพิพิธภัณฑ์มีเครื่องมือเครื่องไม้สำหรับการทำน้ำตาลมะพร้าว มีไม้ตีถั่วที่ต้องอาศัยทักษะเป็นอย่างยิ่งเพราะอาศัยแรงเหวี่ยงของไม้ลงมาฟาดที่ตัวฟักถั่วแล้วเมล็ดถั่วก็จะหลุดออกมา
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือช่างไม้ที่มีฝีมือมากของอัมพวา อาทิ ใบเลื่อยไม้ขนาดต่างๆ มีใบเลื่อยแปลกอยู่หนึ่งอันคือ ใบเลื่อยที่ใช้เลื่อยสาหร่ายที่เติบโตอยู่ใต้ท้องร่องสวน เตารีดโรงงานหรือเตารีดที่ใช้น้ำมันเป็นตัวทำความร้อนในการรีดผ้า เครื่องพิมพ์ดีดเก่า ตราชั่งแบบแขวนที่ได้มาจากร้านขายยาและร้ายขายหมูในตลาด เครื่องชั่งเด็กที่ใช้แบบแขวนที่ซื้อมาในราคาเพียง 200 บาท ถังตวงข้าวเปลือกข้าวสาร ที่คุณประทีบให้ข้อสังเกตว่า เวลาที่เมื่อมีคนมาซื้อข้าวเราเขาจะใช้ถังไม้ที่ไม่มีที่จับตรงกลางถัง แต่ว่าถ้าเราไปซื้อข้าวที่ร้าน ถังที่ใช้ตวงข้าวให้เรานั้นจะมีที่จับตรงกลาง นั่นก็คือการเอาเปรียบของพ่อค้าอย่างหนึ่ง กะลาสำหรับตวงข้าวสาร ก็จะมีข้อตกลงกันระหว่างคนซื้อกับคนขายว่าจะใช้กะลาใบนี้ใบเดียวจนกว่ามันจะพังไปเพราะไม่อย่างนั้นหน่วยวัดหรือปริมาณก็จะไม่คงที่ ที่ปั้มลมสำหรับการทำทองและการหลอมเหล็ก ก็มีให้ชมทั้งแบบที่เหยียบให้ลมส่งไปตามท่อ และแบบปั้มลมด้วยมือ
เครื่องมือต่างๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้นอกจากจะมาจากบ้านของคุณประทีปเองแล้ว ยังได้มาจากการพบเห็นสิ่งของถูกวางทิ้งขว้างเอาไว้ก็เลยขอมาจากเจ้าของแล้วนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
สิ่งของจัดแสดงส่วนต่อมาคือ สินค้าในร้านค้าและของเล่น ส่วนใหญ่ของที่สะสมได้ก็เป็นเครื่องเล่นสังกะสีที่เด็กๆ สมัยก่อนชอบเล่นเป็นอย่างยิ่ง และในขณะนี้ก็กลายเป็นของเล่นที่หายากและมีราคาค่อนข้างสูง เช่น นกหวีดสังกะสีที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น คุณประทีบบอกว่ามันเหมือนกับเป็นของขายไม่ได้แล้วเหลือติดอยู่ในตู้ของร้านขายของในตลาดอัมพวานี่เอง คุณประทีบไปเห็นเข้าก็เลยซื้อมาทั้งหมด รวมถึงจี้ห้อยคอหลายรูปแบบที่จัดแสดงอยู่ในตู้ใบเดียวกันนั้นก็เป็นจี้ห้อยคอที่นิยมกันมากในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ยุคที่รณรงค์ให้รักชาติจี้ห้อยคอเหล่านี้ก็จะเป็นจี้ห้อยคอรูปในหลวงกับพระราชินี รูปธงชาติไทย รถแข่งสังกะสี หุ่นยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ที่ประดิษฐ์จากเศษของใช้เหลือๆ
นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ยังขายไม่ได้เหลือค้างไว้ในตู้สินค้าที่ร้านเช่น ผงซักฟอก ยาสระผม กิ๊ปติดผม เครื่องมือเย็บผ้า รูปภาพเก่าและหนังสือเก่า ที่ได้มาจากบ้านเก่าหลังเก่าในตลาดอัมพวา ทั้งหนังสือแบบเรียนเก่า หนังสือนิยาย และสมุดไทดำและสมุดไทขาว รวมทั้งหนังสืออ่านเล่นหลาย ๆแบบ
ในพิพิธภัณฑ์ถ้าไม่มีรูปเก่าเสียเลย ก็คงจะไม่มีกลิ่นอายของความโบราณของอดีตให้ได้เห็นกัน คุณประทีปนำรูปที่บ้านที่ถ่ายตั้งแต่สมัยยังอดีตมาจัดแสดง เวลาเดินทางไปที่ไหนเจอรูปเก่าก็เอากลับมาจัดไว้ที่พิพิธภัณฑ์บ้าง มีอยู่รูปหรือสองรูปคุณประทีปไปได้มาจากบ้านนายอำเภอเก่าบริเวณหัวแหลมที่อำเภอเมือง ซึ่งในขณะนั้นกำลังจะรื้อแล้ว คุณประทีปผ่านไปเห็นเข้าก็เลยขอรูปที่ติดอยู่ข้างพนังเอากลับมาติดที่พิพิธภัณฑ์อีกรูปหนึ่ง
การจัดการพิพิธภัณฑ์ของคุณประทีปไม่ได้เก็บค่าเข้าชม และมีรับฝากขายโปสการ์ดเล็กๆ น้อยๆ ส่วนผลิตภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์เองก็จะมีเสื้อและกระเป๋าที่พิมพ์คำว่า “สวัสดีอัมพวา”วางขายอยู่แต่ก็ไม่ได้ผลิตออกมาจำนวนมากมายอะไรนัก รายได้ส่วนใหญ่ของคุณประทีปนั้นมาจากการอาชีพทนาย และการทำงานส่วนตัวอื่นๆมากกว่า ส่วนการทำพิพิธภัณฑ์ก็ทำเพราะใจรักเสียมากกว่า
ด้วยความประทับใจในแนวคิดกับแรงบันดาลใจของคุณประทีบ รวมถึงความรู้ กับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับจากพิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อน ในครั้งนี้ ทำให้อดหวนคิดถึงวันวาน เก่าๆ สมัยยังเด็ก ที่เราเองก็ยังไม่เคยได้กลับไปมองเห็นคุณค่า ของสิ่งของบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้ระลึกถึงความทรงจำในอดีตได้เป็นอย่างดี
ในวันนี้ พิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อน อาจจะกลายเป็นแรงผลักดันทำให้ใครหลายคนเห็นคุณค่าของความเก่าแก่ ของวัตถุ และสิ่งของ โดยเฉพาะความทรงจำที่ได้จากการเก็บ เพื่ออนุรักษ์ หรือรักษา ที่จะทำให้เรากลายเป็นคนที่มองเห็นคุณค่าของสิ่งของรวมถึงคนรอบข้างด้วยนะครับ
ถ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยม และแวะเวียน อย่าลืมเขียนสมุดเยี่ยมที่พิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อนด้วยนะครับ ว่าครั้งหนึ่งได้มาเยือนที่แห่งนี้ ที่สำคัญอย่าลืมอุดหนุนกางเกงทรงเลสีสดของคุณประทีปด้วยนะครับ
การเดินทางไปตลาดน้ำอัมพวา
1.ทางรถยนต์
จากตัวจังหวัดใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 325 ทางเดียวกับไปอำเภอดำเนินสะดวกและอุทยาน ร.2 ประมาณ 6 กม ก่อนถึงสามแยกไฟแดง มีทางแยกทางซ้ายเข้า อ.อัมพวา ไปอีกประมาณ 800 เมตร. ทางแยกซ้ายมือ เข้าตลาดอัมพวา
2.รถประจำทาง
จากสถานีขนส่งสายใต้ รถสาย 996 กรุงเทพฯ-ดำเนินฯ เป็นรถปรับอากาศ ผ่านจังหวัดสมุทรสงคราม ถึง ตลาดอัมพวา สาย 976 กทม.-สมุทรสงคราม ถึงสถานีขนส่งสมุทรสงคราม ขึ้นรถประจำทางสาย 333 แม่กลอง-อัมพวา-บางนกแขวก ถึงตลาดอัมพวา
3.รถตู้
ขึ้นที่อนุสาวรีย์ชัยฝั่งถ.พหลโยธินใต้ทางด่วน ไปอัมพวา เป็นรถตู้สาย กทม-แม่กลอง
พิพิธภัณฑ์เมื่อวันก่อน ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย